Rompboy : แบรนด์สนีกเกอร์ที่พลิกวงการสตรีทของไทย

ไม่ว่าจะเป็นคนชอบแต่งตัวแบบไหน

เราเชื่อว่าในตู้เสื้อผ้าของคุณน่าจะมีเสื้อยืดอย่างน้อยหนึ่งตัวเสมอ

นี่คือเครื่องแบบสารพัดประโยชน์ ใช้ได้หลายวาระ ปรับแต่งได้หลายวิธีมีราคาตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักหมื่นให้เลือกสรร ใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และร่วมสมัยอยู่ตลอดเวลา เสื้อยืดมีประวัติมาอย่างยาวนานตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และยังคงมีคนใส่จนถึงปัจจุบัน

เราออกแบบเสื้อยืดได้หลายแบบตั้งแต่เนื้อผ้า ทรง สี และลาย บนเสื้อยืดที่เติมแต่งอะไรก็ได้ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้ที่ออกแบบ เสื้อยืดหลายตัวมีเอกลักษณ์โดดเด่นจนเป็นที่จดจำในสังคม เช่น เสื้อยืดลาย I <3 NY ซึ่งถูกออกแบบเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยว ด้วยดีไซน์ที่มีเพียงตัวอักษรเพียง 3 ตัวและหัวใจหนึ่งดวงกลายเป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วโลก ฉะนั้นแล้วการออกแบบเสื้อยืดจึงไร้ขอบเขตและขีดจำกัด จะสร้างความน่าจดจำหรือนำเสนอไอเดียต่างๆ ก็ย่อมเป็นไปได้ทั้งหมด

ในบ้านเรามีโครงการประกวดเสื้อยืดน่าสนใจหลายงาน เดือนที่ผ่านมา a day เองก็ร่วมกับ Yamaha จัดโครงการออกแบบเสื้อยืด QBIX T-SHIRT Design Contest เลือกเฟ้นหาทีมนักออกแบบเสื้อยืดรุ่นใหม่ มีกิจกรรม roadshow ที่สร้างแรงบันดาลใจและขับเคลื่อนไอเดียให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยในภาคต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมพบกับวิทยากรผู้ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์เครื่องแต่งกายและรองเท้าสัญชาติไทย
หนึ่งในนั้นคือ บู้-ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ นักดนตรีวง Slur เจ้าของแบรนด์ไทยที่น่าสนใจมากอย่าง Rompboy เราชวนบู้มาเล่าเบื้องหลังการสร้างแบรนด์ที่อาจไม่ถูกตำราการตลาด แต่ถูกใจทั้งผู้สร้างและผู้ใส่จนติดตลาดถึงทุกวันนี้

เริ่มจากหัวและตัวจรดปลายเท้า

“จุดเริ่มต้นจริงๆ แล้ว Rompboy เป็นแบรนด์เสื้อผ้ามาก่อน หลายๆ คนอาจจะรู้จักว่า Rompboy เป็นรองเท้า” บู้เริ่มบทสนทนา เขาเล่าต่อว่าเหตุผลในการทำแบรนด์ เริ่มจากการอยากหาอาชีพเสริม นักดนตรีส่วนใหญ่จะมีรายรับช่วงที่ปล่อยซิงเกิลหรือมีอัลบั้ม หลังจากนั้นการเงินจะไม่ค่อยสะดวกนัก บู้เองคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างขึ้นมาเป็นกิจการของตัวเอง

มือเบสหนุ่มเป็นคนชอบแต่งตัว สรรหาเสื้อผ้าแปลกๆ มาลองอยู่เสมอ วันหนึ่งเขาถูกใจกางเกงขาสั้นที่ถูกออกแบบมาสำหรับใส่ไปล่าสัตว์ มีช่องเก็บกระสุน พกซองปืน แต่บู้นำกางเกงนั้นมาประยุกต์ใช้กับนักดนตรีแทน เปลี่ยนช่องใส่ของให้เป็นช่องสำหรับใส่อุปกรณ์การเล่นคอนเสิร์ตอย่างปิ๊กหรือเอียร์ปลั๊กแทน กางเกงขาสั้นนี้ขายได้เฉพาะในหมู่นักดนตรี และเพื่อนสนิท ใช้เวลา 3 – 4 เดือนกว่าจะขายหมด แต่เมื่อถึงลอตที่ 2 กลับขายได้ไวมากขึ้น ไม่กี่ชั่วโมงก็หมดเกลี้ยง จนวันหนึ่งเขารู้สึกว่าเงินที่ได้จากขายเสื้อผ้าเริ่มแซงหน้ารายได้จากการเล่นดนตรีแล้ว

ขับเคลื่อนด้วยความชอบสู่ความสำเร็จ

บู้ลองทำเครื่องแต่งกายอื่นๆ จนวันหนึ่งเขาก็อยากลองทำสินค้าที่ตัวเองชอบมากที่สุด นั่นคือรองเท้า

รองเท้าผ้าใบของ Rompboy น่าจะเป็นสินค้าที่มีคนรู้จักมากที่สุดของแบรนด์ มีลักษณะเฉพาะนั่นคือ เป็นรองเท้าแฮนด์เมดแบบย้อนยุค ผลิตทีละคู่จำนวนจำกัด เต็มไปด้วยรายละเอียดและเรื่องราวที่คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าคนที่อินเรื่องประวัติศาสตร์รองเท้าจะต้องหลงรัก

“เราสนุกกับการทำงานแล้ว เราไม่กลัวเลยที่จะล้ม เราก็เริ่มจากศูนย์ เริ่มจากไม่มีเงินเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราไม่กลัวที่จะกลับมาเริ่มนับศูนย์ นับหนึ่งใหม่ไปเรื่อยๆ” บู้เล่า

“ตอนแรกที่ทำออกมาเรายังไม่เข้าใจนะว่าทำไมรองเท้าถึงดูไม่เสถียร ลักษณะเฉพาะไม่เหมือนรองเท้าทั่วๆ ไป ยังไม่ได้ทรงที่รู้สึกว่าสวยพอที่จะวางขาย กลายเป็นว่าเรายิ่งทำมันยิ่งไม่เหมือนภาพที่เราจินตนาการไว้จนรู้สึกอยากร้องไห้ เคยคิดว่าจะทิ้งแบบ ไม่อยากทำรองเท้าแล้ว เพราะลงเงินไปหลายแสนแล้ว มันมาได้แค่นี้แหละพอแล้ว แล้วเราก็คิดว่าตัวเองมาผิดทางหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็คือ เฮ้ย ไม่ได้ว่ะ มาขนาดนี้แล้ว ไม่อยากทำครึ่งๆ กลางๆ สุดท้ายก็ได้รองเท้าตามแบบและวางขาย แต่ปาไป 6 – 7 ดราฟต์ จริงๆ แล้วโดยทั่วไปโรงงานเขาจะให้แค่ 4 – 5 ดราฟต์เท่านั้น”

โปรโมตดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

“ทุกครั้งเวลาที่ผมจะออกสินค้าชิ้นหนึ่ง ผมไม่ได้มองว่ามันคือเสื้อผ้า แต่ผมจะคิดว่าทุกครั้งที่ออกมันเหมือนซิงเกิล” บู้เล่าถึงเวลาการทำงานที่เป็นส่วนผสมของความสำเร็จว่า การโปรโมตแต่ละครั้งจะทำยังไงให้สนุก สินค้าสื่อถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด และที่สำคัญทุกครั้งจะปล่อยเพลงออกด้วย เป็นลักษณะหนังโฆษณาหรือเอ็มวีก็ได้ เพราะเพลงก็เป็นสิ่งที่เราถนัด มีคอนเนกชั่นและเซนส์แบบนักดนตรีว่า เพลงแบบไหนที่จะเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด

ความจริงใจ ความเร้าใจ เสน่ห์ที่ลงตัว

“แม้ผมจะเริ่มต้นแบบมีแต้มต่อมากกว่า แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจกับสินค้าจริงๆ หรือไม่ได้อินกับการทำสิ่งเหล่านี้ ลูกค้าจะรับรู้ได้เลยว่าสินค้าไม่น่าใส่ ไม่ดี อาจจะขายได้ในช่วงแรกก็จริง แต่สุดท้ายแล้วคนก็จะบอกว่าแบรนด์นี้เฉยๆ หรือแบรนด์นี้ไม่ดีนะ จนหายไปไนที่สุด

“Rompboy มีเสน่ห์ของมันคือความเร้าใจ ผมพยายามทำเสื้อผ้าให้มันออกมาแบบ simple แต่มีลูกเล่นนิดๆ หน่อยๆ อันนี้ลูกค้าจะรู้สึก อย่างรอยตำหนิบางคนมองว่ามันเป็นข้อเสียหรือเปล่า หรือว่ามันเป็นสิ่งที่เราไม่ควรจะใส่เข้าไปในรองเท้าหรือเปล่า แต่ผมมองว่านี่แหละคือเสน่ห์ของแฮนด์เมด”

สัญชาตญาณ คือทฤษฏีของ Rompboy

“คุณใช้ทฤษฎีหรืออะไรในการดำเนินธุรกิจ” เราเชื่อว่าสิ่งที่พา Rompboy มาไกลได้ขนาดนี้คงไม่ได้เพียงแค่สินค้าดีหรือชื่อเสียงจากการเป็นนักดนตรีเท่านั้น

“ผมอ่านบทความเกี่ยวกับการทำธุรกิจมาบ้างนะ แต่ผมว่าสุดท้ายการทำธุรกิจของเราใช้สัญชาตญาณประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือมันคือสิ่งที่เราอ่านมาแล้วคิดว่าน่าจะใช่ ผมมองว่าการทำธุรกิจเหมือนกับการเล่นหุ้น คือไม่ว่าจะทำอะไรทุกอย่างมีความเสี่ยงหมด เพราะฉะนั้นแล้วผมคิดว่าทำสิ่งที่เรามั่นใจ รู้สึกว้าว ถ้ามี 2 สิ่งนี้ลูกค้าก็น่าจะชอบของที่เราทำ ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ คือหลักการคร่าวๆ”

รอยเท้าต่อไปในวันข้างหน้า

“ผมว่าจริงๆ แล้ว Rompboy มันแทบจะเป็นแค่อินโทร ถ้าเป็นเพลงเพลงนึงนะ มันอาจจะเข้าแค่เวิร์ส 1 เพราะว่าฮุกจริงๆ สำหรับผมเองมันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ หรือ Rompboy ไปโกอินเตอร์ สำหรับผมเนี่ย ถ้าผมตั้งเป้า ตั้งโกลจริงๆ ฮุกของผมคือทำยังไงก็ได้ให้โปรเจกต์

Rompboy back to school เนี่ยรู้จักในหมู่มาก เป็นแบรนด์หนึ่งที่คนจำได้แล้วว่ามันคือส่วนหนึ่งของยูนิฟอร์มไทย หรือว่าเมื่อพูดถึงรองเท้าผ้าใบก็เป็นแบรนด์หนึ่งที่นึกถึงขึ้นมาแรกๆ ตอนนี้ยังไม่ได้ถือว่าแบรนด์ประสบความสำเร็จนะ มองว่าเราค่อยๆ ทำไป เรียบเรียงเวิร์ส 1 ให้มันดี”

น้ำเสียงที่หนักแน่นและเต็มไปด้วยพลังของบู้-ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ ตอกย้ำกับเราว่าความสำเร็จของ Rompboy นั้นไม่ได้เกิดจากต้นทุนของการเป็นนักดนตรี แต่ความรักและใส่ใจในกระบวนการสร้างแบรนด์ คือส่วนผสมของความสำเร็จที่แท้จริง

roadshow ของบู้-ธนันต์ บุญญธนาภิวัฒน์ ยังไม่จบลง เจอกันได้อีกทีวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนโครงการออกแบบเสื้อยืด QBIX T-SHIRT Design Contest ยังคงเฟ้นหาและเปิดรับสมัครไอเดียเสื้อยืดของคนรุ่นใหม่ที่มีอายุตั้งแต่ 18 – 25 ปี ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 บาท รวมถึงเผยแพร่ผลงานบนนิตยสาร a day อีกด้วย! ถ้าสนใจอย่ารอช้า ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 19 กุมภาพันธ์ 2561 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/events/214262849141196/