เมื่อลายเสื้อยืดเล่าเรื่องของคนใส่

ถ้าลองเปิดตู้เสื้อผ้าที่บ้าน คุณเห็นอะไรบ้าง

เราเชื่อว่าทุกตู้เสื้อผ้ามีเสื้อยืดเพราะเป็นไอเทมแฟชั่นที่ใส่ง่าย จับคู่กับเสื้อผ้าอย่างอื่นก็ง่าย และยังบ่งบอกรสนิยมของเราได้ชัดเจน โดยให้สีและลายบนเสื้อยืดช่วยบอกเล่าตัวผู้ใส่ นับเป็นองค์ประกอบที่ไม่ได้ออกแบบกันง่ายๆ

ลายเสื้อยืดถือเป็นพระเอกที่ทำให้เสื้อยืดสักตัวขายออก การออกแบบลายเสื้อยืดจึงเป็นศิลปะแห่งการเดาใจว่าจะถูกใจคนใส่มั้ย ฟังดูไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากใครได้มาฟัง โอ-ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ พูดในกิจกรรม roadshow เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้ไอเดียแก่นักศึกษาในการออกแบบเสื้อยืด จัดโดยงานประกวดออกแบบเสื้อยืด QBIX T-SHIRT Design Contest คงได้รับความรู้เกี่ยวกับการออกแบบเสื้อยืดกลับไปไม่น้อย เราชวนโอมาจับเข่าคุยต่อเกี่ยวกับวิธีการออกแบบเสื้อยืดง่ายๆ ที่เน้นการเข้าใจความเป็นเสื้อยืดก่อนเป็นอันดับแรก และนี่คือเคล็ดลับที่โอแนะนำ

เสื้อยืดคล้ายกระดาษ แต่ไม่ใช่กระดาษ

หากใครชอบวาดภาพประกอบนับว่าได้แต้มต่อ เพราะการออกแบบเสื้อคือการตีความโจทย์เป็นภาพ และเกิดบนกระดาษก่อน แต่ลายบนกระดาษ ไม่ใช่สิ่งที่สามารถอยู่บนเสื้อได้ทั้งหมด อย่างที่โอเตือนตัวเองเสมอก่อนเริ่มลงมือออกแบบเสื้อยืด

“ลายสวยบนกระดาษแต่ไม่สวยบนเสื้อยืดก็มี สวยบนกระดาษอาจเอาไปเป็นโปสเตอร์ติดบ้านหรือเป็นภาพประกอบในหนังสือ แต่เอาไปอยู่บนเสื้อแล้วไม่กล้าใส่หรือไม่น่าใส่ก็มี นอกจากนี้ ลายเสื้อยังมีผลกับรูปร่างคนใส่ ถ้าใส่ลายแบบนี้จะดูผอม ลายอีกแบบจะดูอ้วน”

เพราะฉะนั้นต้องคอยเตือนตัวเองว่าลายเสื้อที่สวยบนกระดาษไม่ได้สวยบนเสื้อยืดเสมอไป คิดง่ายๆ ว่าถ้าลายแบบนี้อยู่บนเสื้อยืดแล้วจะกล้าใส่มั้ย วัดจากตัวเองก่อนก็ได้ ถ้าเรากล้าใส่ อย่างน้อยก็ได้ลูกค้าแน่ๆ แล้วคนหนึ่ง

ลายน้อยแต่ได้มาก ลายมากแต่อาจได้น้อย

หลังจากเตือนใจไว้แล้วว่าต้องออกแบบเสื้อให้ใส่ได้ ไม่ใช่แค่ให้สวย ทักษะจำเป็นอย่างหนึ่งเพื่อออกแบบเสื้อยืด โอบอกว่าคือการรู้จักตัดทอน

“เวลาวาดบนกระดาษเราซัดอะไรได้เต็มเหนี่ยว แต่บนเสื้อเราต้องตัดทอนองค์ประกอบต่างๆ ให้น้อยลง เราออกแบบเสื้อมาเยอะมาก แบบที่เราวาดเต็มมากกลับแพ้ลายง่ายๆ ที่เราไม่ได้ออกแบบมากมาย”

“ทุกวันนี้มีเสื้อที่เห็นแล้ว เฮ้ย ง่ายจังเลย เป็น typography คำเดียว เป็นตัวการ์ตูน เป็นรูปหัวใจ 1 ดวง วงกลม 1 วง อยู่บนเสื้อยืด มันดูง่ายมากในแง่ของการออกแบบ แต่มันอยู่บนเสื้อแล้วมันกลับอิมแพกต์ สวมใส่แล้วน่าสนใจ”

ความทรงจำและตัวตนที่จารึกอยู่ในเสื้อยืด

“แล้วโอชอบลายเสื้อยืดแบบไหน” เราถามถึงรสนิยมเสื้อยืดของโอเล่นๆ แต่คำตอบต่อมากลับนำไปสู่แนวคิดการออกแบบเสื้อยืดขั้นต่อไป

“typography น้อยๆ แต่เล่าเรื่องอาจจะเหมาะที่สุด”

คำตอบนี้เปิดโลกของเรา เพราะเราไม่เคยคิดเลยว่าเสื้อยืด ‘เล่าเรื่อง’ ได้ด้วย เทียบกับหนังสือแล้ว เสื้อยืดคือหนังสือเล่มหนึ่ง แต่ไม่ได้เล่าเรื่องของคนเขียน เสื้อยืดจะเล่าเรื่องของคนใส่

“เสื้อยืดก็เป็นงานศิลปะเหมือนกัน ต้องผสมทั้งความสวยงามและไอเดีย จะใส่ไอเดียอย่างเดียวจนดูธรรมดาหรือสวยจนไม่เล่าอะไรเลยไม่ได้”

“เสื้อยืดเป็นเหมือนสิ่งที่จารึกโมเมนต์นั้นๆ ไว้ มันสื่อความเป็นตัวตน เช่น มีวงดนตรีที่เราชอบมากมาจัดคอนเสิร์ต เราซื้อเสื้อยืดวงนั้นเก็บไว้ เราก็จะจดจำโมเมนต์นั้นได้เพราะเสื้อตัวนี้จารึกโมเมนต์นั้นไว้”

ให้ตัวอักษรช่วยเล่าความในใจ

ภาพวงดนตรีหรือการ์ตูนบนเสื้อช่วยบอกว่าคนใส่ชอบวงดนตรีหรือการ์ตูนอะไร แต่นอกเหนือจากนี้ เช่น อารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ อาจเล่าด้วยภาพได้ไม่ชัดเจนนัก ตัวอักษรจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สำคัญเพื่อทำให้เสื้อยืดของเราเล่าเรื่องได้อย่างชัดเจน ลายเสื้อแบบ typography จึงเป็นลายเสื้อที่โอแนะนำ

“เทรนด์ของเสื้อยืดตอนนี้มันเป็นการบอกเล่าอะไรที่ง่ายๆ แล้วก็ชัดเจน เราว่าคำเป็นสิ่งมาตรฐานที่ทำให้คนเข้าใจโดยไม่ต้องตีความ ขณะที่เวลาเล่าเรื่องด้วยภาพ มันไม่ชัดเจนเท่าเล่าเรื่องด้วยคำ อย่างเสื้อที่เขียนรูปผู้หญิงเซ็กซี่หรือเขียนรูปผู้หญิงลงไปจะให้ความรู้สึกหนึ่ง แต่เสื้อที่เขียนคำว่า love ลงไปก็ให้ความรู้สึกหนึ่ง ทั้งที่ต้องการสื่อสารเรื่องความรักอยู่เหมือนกัน แต่การเขียนคำว่า love มันสื่อสารตรง เข้าใจง่ายกว่า”

เข้าใจเทรนด์ และไม่ลืมเข้าใจคนใส่เสื้อยืด

แฟชั่นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่ต่างจากความชอบของคนเรา การออกแบบเสื้อยืดสักตัวจึงต้องเกาะกระแสไว้บ้างเพื่อออกแบบเสื้อให้ตรงใจคนใส่ และการจะเข้าใจกระแสได้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ นอกจากกระแสแล้ว คนใส่เสื้อยืดของเราคือคนที่เราต้องคิดถึงด้วย และพวกเขาจะมองว่าเสื้อยืดสวยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับช่วงวัยของพวกเขาเอง

“ความสวยของเสื้อยืดแตกต่างไปตามวัย ช่วงที่เราวัยรุ่น อายุน้อยกว่านี้ เราจะชอบลายเสื้อเยอะๆ หนักๆ เราคิดว่าใส่เสื้อที่ดูกึ่งๆ คอมิกได้โดยไม่เคอะเขิน แต่พอโตขึ้นมาเรากลับชอบเสื้อยืดที่มันเรียบขึ้น“

“สินค้าเดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงบ่อย เสื้อยืดตัวนึงไม่ได้อยู่ในกระแสนานๆ เหมือนสมัยก่อนแล้ว เทรนด์เสื้อยืดตัวนี้หมดไป เสื้อยืดตัวใหม่ก็เข้ามา เพราะฉะนั้นก็คือทำอะไรที่อิงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน และถึงจะไม่มีประสบการณ์ออกแบบเสื้อยืด แต่เดี๋ยวนี้เรามีเว็บไซต์ให้เข้าไปดูเสื้อยืดทั่วโลกได้ ดูเยอะๆ จะรู้ว่าแบบไหนเขาใส่กัน ถ้าเราเห็นเยอะเราก็จะเอาข้อมูลเหล่านั้นมาปรับใช้ในงานออกแบบได้เยอะไปด้วย”

ทั้งหมดนี้เป็นเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ในการออกแบบลายเสื้อยืดฉบับ โอ-ธีรวัฒน์ เฑียรฆประสิทธิ์ สิ่งที่โอย้ำมากที่สุดในการออกแบบทั้งหมด คือการถามตัวเองเสมอว่าลายที่ออกแบบมาใส่ได้จริงมั้ย ถ้ารู้สึกว่าประสบการณ์ยังไม่พอ ลองวัดจากความชอบและความอยากใส่เสื้อยืดลายนั้นๆ ด้วยตัวเราเองก่อนก็ได้

เมื่อได้รู้แนวคิดการออกแบบเสื้อยืดกันแล้ว ตอนนี้เราก็มีเวทีประกวดเสื้อยืด QBIX T-SHIRT Design Contest ให้นักศึกษาระหว่างอายุ 18 – 25 ปีได้ลองอวดฝีมือกัน ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 บาท รวมถึงเผยแพร่ผลงานบนนิตยสาร a day อีกด้วย! ถ้าสนใจอย่ารอช้า ส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 19 กุมภาพันธ์ 2561 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/events/214262849141196/

AUTHOR