คุยกับเด็กสมัยนี้แบบ ‘อัศวิน’ ECD จาก GREYnJ UNITED

Highlights

  • หนึ่ง–อัศวิน เป็นครีเอทีฟผู้อยู่เบื้องหลังโฆษณาหนอนชาเขียวสุดฮิตเมื่อสิบปีก่อน รวมทั้งโฆษณา เธอเธอ หรือ Friendshit โฆษณาแอป K PLUS สุดกวนที่มาแรงสุดๆ ในปีนี้
  • ครีเอทีฟรุ่นใหญ่คนนี้มองว่าสำหรับเด็กสมัยนี้ การเรียนในห้องเรียนอาจไม่สำคัญเท่าการรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร
  • ครีเอทีฟที่เก่งคือครีเอทีฟที่พยายามเข้าใจโจทย์ให้ได้มากที่สุด และรู้จักการรักษาสแตนดาร์ดการทำงานของตัวเอง
  • การรู้จักตั้งเป้าหมายให้กับการทำงาน คือเคล็ดลับที่ทำให้ครีเอทีฟคนนี้มีความสุขและสนุกกับงานมากขึ้นเรื่อยๆ และรักษาแพสชั่นของตัวเองได้อย่างสม่ำเสมอ

สิบปีก่อน ไม่มีใครไม่รู้จักโฆษณาหนอนชาเขียวที่มาของวลี ‘ชิเมโจได๋’ ที่นับว่าติดหูคนดูในยุคนั้น

รู้หรือไม่ว่างานโฆษณาที่ประสบความสำเร็จชิ้นนี้มีคนเบื้องหลังคนเดียวกับโฆษณาแอพฯ Mobile Banking ที่แมสที่สุดแห่งปี 2018 อย่าง Friendshit นอกจากวลี ‘แกแมสแล้วว่ะ’ นอกจากจะดัง ยังสร้างข่าวดีให้วงการโฆษณาไทยด้วยการคว้ารางวัลสิงโต Cannes Lions 2018 มาถึง 3 ตัว

หนึ่ง–อัศวิน พานิชวัฒนา Executive Creative Director จาก GREYnJ United คือคนเบื้องหลังที่เราหมายถึง ในวงการโฆษณาเขาคือครีเอทีฟสายอาร์ตไดฯ รุ่นใหญ่ผู้โชกโชนด้วยประสบการณ์เกือบ 20 ปีในวงการโฆษณา รอยยิ้มสนุกๆ และพลังงานที่เราสัมผัสได้จากชายคนนี้ฉุกให้เราสงสัยว่าตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา เขารักษาความสุขและความสนุกที่มีต่อการทำงานได้ยังไง แล้วครีเอทีฟคนนี้คิดกับชีวิตวัยเด็กของตัวเอง และเด็กสมัยนี้ (แบบเรา) อย่างไร


เด็กสมัยนั้น กับเด็กสมัยนี้

“สมัยนี้การเรียนแทบจะไม่ได้สำคัญเท่าเราอยากทำอะไร ผมอิจฉาเด็กๆ สมัยนี้ เขาอยากทำอะไรก็ทำได้เลย โอกาสเขามีเยอะมากกว่าคนรุ่นผมอยู่แล้ว ตอนเด็กๆ ผมอยากเรียนสถาปัตย์ แต่ดันเรียนสายวิทย์ไม่รอด เลยเปลี่ยนไปเรียนสายศิลป์ เด็กยุคนั้นมีสิทธิ์สอบเอนทรานซ์ได้แค่ครั้งเดียว เพราะงั้นผู้ใหญ่ก็จะยิ่งเป็นห่วงว่าเราจะเลือกทางเดินชีวิตได้ไหม ยิ่งเรียนสายศิลป์ ผู้ใหญ่อาจจะมองว่าเราเลือกคณะได้น้อยลง แต่ผมว่ามันไม่เสมอไปนะ เด็กหลายคนเขารู้ตัวมาก่อนแล้วว่าอยากจะเรียนอะไร

“มีวันหนึ่ง เรานั่งวาดฟิกเกอร์อยู่ อาจารย์เดินมาข้างหลังผม ‘อัศวิน คุณเปลี่ยนใจตอนนี้ยังทันนะ’ โอ้โห เราก็มองสิ่งที่เราวาด ทำไมเราวาดได้แย่ขนาดนี้เลยเหรอ สองวันหลังจากนั้นผมไม่ไปเรียนเลย ผมดาวน์มาก สุดท้ายเรารู้สึกว่าเราชอบอันนี้แหละ ก็เลย pick up ตัวเอง ลุกขึ้นมานั่งเขียนเส้นตรง เส้นนอน วงกลม วงรี จนแม่นึกว่าเป็นบ้า (หัวเราะ) ผมไม่รู้ว่าอาจารย์พูดเพราะอะไร ผมรู้แต่ว่าผมไม่ยอม ผลคือปีนั้นผมก็ได้เรียนสิ่งที่อยากเรียน

“มองจากวันนี้ ผมเรียกมันว่า ‘โมเมนต์ Now’ มันเป็นโมเมนต์ที่ขึ้นอยู่กับว่า ณ เวลานี้ เราลงมือทำหรือยัง ถ้าชอบมันแต่เราไม่ทำมัน แถมยังคิดไปเองว่ายังไงเราก็ทำมันได้ อย่างนี้เราก็จะรอมันไปเรื่อยๆ แต่พอถึงเวลาต้องทำ เอ้า เราทำมันไม่ได้หรือพอเจอของจริงแล้วเราอาจจะไม่ได้ชอบมันก็ได้ คีย์ของโมเมนต์ Now คือ คุณไม่จำเป็นต้องทำให้มันสำเร็จตั้งแต่แรกหรอก ทำให้แน่ใจว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบก่อน”

คนทำโฆษณาสมัยนั้น กับคนทำโฆษณาสมัยนี้

“เมื่อก่อนคนทำโฆษณา โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับหนังหลายๆ คน ทุกคนต้องเข้าวงการโฆษณาก่อนเพื่อเรียนรู้และค้นหาตัวเอง พอรู้ตัวเองแล้วค่อยแตกตัวไปทำอาชีพที่อยากทำจริงๆ เหมือนเราถูกฟอร์ซเข้าระบบ เหมือนรถที่ต้องผ่านรูคอคอดอันนี้ก่อนถึงจะออกไปถนนอื่นได้ แต่สมัยนี้มันกลับกันนะ คุณอยากทำอะไร คุณลงมือเลย พอรู้ว่าชอบจริงแล้วค่อยลงดีเทลอีกที

“ผมเป็นคนให้ความสำคัญกับโอกาส เหมือนว่าเราเจอคนเก่งแต่ไม่มีโอกาส หรือบางคนที่ไม่เก่งแต่โอกาสดีมาเยอะ เพราะงั้นเมื่อไหร่ที่โอกาสเข้ามา ผมจะไม่ยอมปล่อยมันไป ช่วงทำงาน ผมย้ายงานบ่อยมาก เฉลี่ยปีละหนึ่งที่เลย เป็นมนุษย์หนึ่งปี (หัวเราะ) ย้ายตามเจ้านาย ย้ายเพราะคนชวนบ้าง บางทีย้ายไปอยู่สองอาทิตย์ก็รู้เลยว่าไม่ชอบก็ย้ายต่ออีก ผมไม่อยากข้ามโอกาสแล้วกลับมารู้สึก ‘รู้งี้’ ทีหลัง ผมเลยคิดว่าเราควรลองมันทุกอย่าง ไม่มีใครบอกว่าทำแล้วต้องอยู่กับมันตลอดไป คือถ้าชอบก็ดีไป ถ้าไม่ชอบก็เปลี่ยน แค่นั้น

“ไม่ชอบไม่ได้แปลว่าไม่ดีนะ มันแปลว่าเราไม่สามารถใช้ความสามารถของเราได้เต็มที่ บริษัทไม่ผิดแค่จริตของเราไม่เหมือนกัน เพราะงั้นเราก็ต้องหาที่ที่เข้ากับจริตของเรา พอเจอแล้วก็ต้องเรียนรู้และหาวิธีเอาจริตของเราออกมาใช้ให้เต็มที่ แต่หลังๆ ผมก็ฝึกที่จะอยู่นานขึ้น เพราะอายุด้วยมั้ง (ยิ้ม) นี่ก็เป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำหรับผม

“การทำงานอย่างเต็มที่ในช่วงสองสามปีแรกสำคัญนะ อีกความหมายหนึ่งของ Now คือคุณอยากทำอะไร คุณทำให้เต็มที่ดูก่อน ถ้าคุณมัวรอ ‘ไม่อยากทำแล้ว อยากไปลองใช้ชีวิตแบบอื่นดูบ้างเผื่อจะเต็มที่กว่า’ ในมุมผม การทำแบบนี้มันจะทำให้คุณช้ากว่าคนอื่น เพราะทุกๆ ปี ไม่ว่าจะอาชีพอะไรก็ตามจะมีเด็กจบใหม่เข้ามา ถ้าคุณเป็นเด็กที่ยังไม่ได้ข้ามเป็นซีเนียร์ พอเด็กๆ แซงหน้าคุณไป คุณก็มานั่งเศร้าเสียใจอีก มันไม่เวิร์กเลย”

สิ่งที่ครีเอทีฟที่เก่งควรมี

“ผมแยกเป็นสองเรื่อง ผมมองว่าครีเอทีฟไม่ได้เก่งแตกต่างกันหรอก แต่ใจที่เขาให้กับงานต่างกัน คือคุณตั้งคำถามกับมันบ้างรึเปล่า ครีเอทีฟที่เก่งต้องเข้าใจโจทย์ก่อน เข้าใจกระทั่งความเป็นมนุษย์เลยด้วย เพราะหน้าที่ของเราคือคุยกับมนุษย์

“ตอนเด็กๆ ผมจะคิดแบบ thinking out of the box ขายไอเดียประหลาดๆ แต่การทำงานจริงคือคิดอะไรที่บ้านที่สุดนี่แหละ เพราะมนุษย์จะเข้าใจได้ง่ายที่สุด มันดูน่าเบื่อ แต่หน้าที่เราคือทำยังไงก็ได้ให้ต่างหรือเปล่า ไม่ใช่เริ่มจากการทำให้มันแหวกก่อนเพื่อให้เขารู้ว่ามันครีเอทีฟ นึกภาพง่ายๆ ตลาดเพลง เรามีแต่เพลงรักเต็มไปหมดเลย แต่มันจะมีไม่กี่เพลงเท่านั้นแหละที่เด้งขึ้นมา แม้ว่าเนื้อหาจะเป็นความรักเหมือนเดิม แต่มันมีวิธีเล่า วิธีสร้างความรู้สึกที่ไม่เหมือนเดิม นี่คือครีเอทีฟที่ดีสำหรับผม

“อันดับสอง ครีเอทีฟที่เก่งจะต้องมีสแตนดาร์ด ซึ่งไม่เกี่ยวกับการได้รางวัลนะ สแตนดาร์ดที่ว่าคืองานทุกชิ้นที่เขาทำออกแล้วมันใช่ มันถูกต้องกับโจทย์ นี่คือคนเก่ง สมมติคุณเป็นนักกอล์ฟอันดับหนึ่งของโลก แต่ปีถัดมาคุณไม่ติดอันดับอะไรเลย มันสู้นักกอล์ฟที่คว้าอันดับที่ 5 มาได้จากทุกๆ ทัวร์นาเมนต์การแข่งขันไม่ได้หรอก

“นอกจากความเข้าใจกับสแตนดาร์ดแล้ว การมีแพสชั่นก็สำคัญนะ เพราะแพสชั่นในการทำงาน มันจะทำให้เรา long run มุ่งไปกับงานได้นานขึ้น”

รักษาแพสชั่นด้วยการตั้งเป้าหมาย

“ช่วงสามปีแรกของการทำงาน ผมอยากลาออกทุกวันเลย เพราะตอนนั้นผมไม่รู้เลยว่าตัวเองทำงานไปเพื่ออะไร รู้แต่เราทุ่มเทกับงานทุกชิ้น ‘ได้ทำในสิ่งที่รักแล้วไง กูลุยเลย’ แต่เวลาเจอลูกค้าที่ไม่เข้าใจความสร้างสรรค์ ความสวยงามของสิ่งที่เราคิด ผมจะรู้สึกว่างานนี้แม่งไม่สนุกเลย

“โชคดีที่ได้เจอรุ่นพี่คนหนึ่ง เขาบอก ‘หนึ่งเคยเห็นอนุสาวรีย์คนทำโฆษณาหรือเปล่า แล้วมึงคิดว่าอาชีพพวกเรามันสำคัญขนาดนั้นไหม มึงอาจจะคิดว่าอาชีพนี้เปลี่ยนโลก ไม่จริงหรอก นักวิทยาศาสตร์เก่งกว่ามึงอีก’ หลังจากได้ฟัง ผมทบทวน นั่งย่อยตัวเองครั้งใหญ่เลย ตอนแรกผมคิดว่าอาชีพผมคือครีเอทีฟที่ทำงานสร้างสรรค์อย่างเดียว แต่จริงๆ ผมคือนักโฆษณา หน้าที่ของผมคือ ‘ขายของของเขาให้ดีที่สุดและขายมันอย่างสร้างสรรค์’ พอตาสว่างผมก็ทำงานสนุกขึ้นเรื่อยๆ เพราะรู้เป้าหมายของตัวเอง

“ยิ่งทำงานเยอะขึ้นก็มีเพื่อนที่เป็นอาจารย์ชวนไปสอนน้องๆ บ่อยขึ้น มันทำให้ผมได้รู้ว่าเด็กๆ สมัยนี้เขาคิดกันแบบไหน ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ กลายเป็นการสอนเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกันมากกว่า ผมชอบนะ ยิ่งเราขยันดูนั่นดูนี่ อ่านหนังสือ ยิ่งโลกกว้างขึ้นก็ยิ่งทำให้ผมสนุกและมีแพสชั่นกับมัน”

รางวัลไม่สำคัญเท่ากับการทำงานให้ดี

“จริงๆ ยอมรับว่าตอนเด็กๆ อยากได้รางวัลมากนะ (หัวเราะ) เพราะรางวัลมันคือตัวการันตีว่า ‘กูเก่งนะเว้ย’ แต่พอทำงานมาถึงระดับหนึ่งแล้ว ผมว่าเรื่องพวกนี้มันไม่สำคัญเลย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำโจทย์ที่เราได้รับออกมาดีที่สุดในทุกๆ ข้อจำกัด เชื่อไหม หลังจากที่ผมตั้งใจทำอะไรพวกนี้ ผมเลิกคิดเลยว่าจะทำยังไงให้ไวรัล หรือทำยังไงให้ได้รางวัล แค่ผลมันถูกต้อง ลูกค้าชม มีคนพูดถึง มีคนชอบ อันนี้คือความสุขที่แท้จริงแล้วนะ

“อย่างงาน Friendshit ตอนได้รางวัล D&AD มาทุกคนคาดหวังแล้วล่ะว่าเราต้องได้คานส์ โอเค โมเมนต์ที่ได้คานส์มาก็ดีใจประมาณหนึ่ง แต่ตอนที่พวกเรานั่งๆ กันอยู่ มีกรรมการเดินมาสะกิดไหล่ถามว่า ‘Are you friendshit ?’ พอบอกว่าใช่ปุ๊บ เขาบอก ‘ฉันชอบงานคุณมากเลย ขอถ่ายรูปหน่อยสิ’ แล้วก็เรียกกรรมการคนอื่นมาถ่ายรูปกับเราด้วย หรือมีครีเอทีฟสังกัด Grey Group โครเอเชีย เดินมาบอกว่างานเราดังมากในเว็บไซต์ของที่นู่น ความรู้สึกตรงนั้นอิ่มกว่าตอนขึ้นเวทีไปรับรางวัลอีก”

สิ่งที่อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่

“อย่าเพิ่งเชื่อว่าสิ่งที่น้องคิดและสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงจะเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นครีเอทีฟ หรือทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ อย่าลืมว่าทุกคนมี Power of Now อยู่ อยากเป็นอะไรก็ไปลองครับ ไม่ต้องรอให้เวลาผ่านไปเป็นปีสองปีแล้วค่อยลอง ไม่อย่างนั้นน้องจะจมอยู่กับ ‘สิ่งที่คิด’ พอทำจริงแล้วภาพมันไม่เหมือนกับที่เราฝันมันเฮิร์ตนะ ถ้าไม่ใช่ น้องก็เปลี่ยน หรือบางทีผลมันอาจจะดีกว่าที่น้องเคยคิดก็ได้

“อีกเรื่องที่อยากฝากคืออย่าไปยึดติดกับเงินมาก ยึดติดกับสิ่งที่เราชอบจริงๆ ก่อน เพราะเราต้องอยู่กับมันอีกนาน”

ข่าวดีสำหรับน้องๆ มัธยมที่กำลังตามหาความฝัน ค้นหาหนทางและอาชีพที่ใช่ของตัวเอง วันที่ 27-28 ตุลาคมนี้ ชวนไป ‘ฟูมฟักฝันเฟส : อนาคตที่ใช่ ต้อง Right Now!’ เทศกาลแนะแนวที่มีรุ่นพี่จากหลากหลายสาขาอาชีพ รวมทั้งหนึ่ง–อัศวิน ครีเอทีฟรุ่นใหญ่ใจดีคนนี้ มาเล่าประสบการณ์ชีวิต และถ่ายทอดวิธีคิดของพวกเขาให้กับน้องๆ ทุกคนอย่างไม่มีกั๊ก ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/foomfukfunfest/

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย