‘นคร-สวรรค์’ แด่ความเศร้า และความรักที่ผ่านเลย

Highlights

  • นคร-สวรรค์ คือเรื่องราวอย่างส่วนตัวที่สุดของ พวงสร้อย อักษรสว่าง ผู้กำกับเจ้าของผลงานมิวสิกวิดีโอเพลง ‘ยามวิกาล’ และ ‘รอยกะพริบตา’ ของ Greasy Cafe
  • นคร-สวรรค์คือเรื่องราวที่โคจรอยู่รอบๆ ‘แม่’ ผู้ที่ในโลกแห่งความเป็นจริงได้จากโลกนี้ไปแล้ว หนังตัดแบ่งออกเป็นสองส่วนชัดเจน ระหว่างส่วนที่เป็น ‘เรื่องจริง’ ซึ่งบันทึกประสบการณ์ชีวิตของผู้กำกับจริงๆ กับส่วนที่เป็น ‘เรื่องแต่ง’
  • และแม้ว่าจะเจือไปด้วยความเศร้าเพียงใด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านคร-สวรรค์เป็นหนังที่อบอวลไปด้วยความรัก

นคร-สวรรค์ น่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ผมเดินเข้าโรงหนังไปโดยไม่แน่ใจว่าควรจะจัดการความรู้สึกอย่างไร สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะผมเคยได้พบกับ ‘แม่’ ตัวละครที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ในชีวิตจริงๆ และแม้จะเป็นเพียงการกล่าวทักทายแค่สั้นๆ ไม่เคยปฏิสัมพันธ์อะไรมากไปกว่านั้น แต่ผมกลับพบว่ามันไม่ง่ายนักต่อการเตรียมใจ ด้วยเพราะ นคร-สวรรค์ คือเรื่องราวที่โคจรอยู่รอบๆ ‘แม่’ คนเดียวกันนี้ ‘แม่’ ผู้ที่ในโลกแห่งความเป็นจริงได้จากโลกนี้ไปแล้ว

คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า นคร-สวรรค์ คือเรื่องราวอย่างส่วนตัวที่สุดของ พวงสร้อย อักษรสว่าง ผู้กำกับสาวที่เคยฝากชื่อไว้ในมิวสิกวิดีโอเพลง ‘ยามวิกาล’ และ ‘รอยกะพริบตา’ ของ Greasy Cafe

หนังเริ่มต้นด้วยวิดีโอที่บันทึกจากกล้องคอมแพกต์ที่ถ่ายโดยตัวพวงสร้อยเอง จับจ้องไปยัง ณ ขณะหนึ่งที่เธอและแม่เดินทางไปเยี่ยมพ่อที่เป็นเกษตรกรสวนยางอยู่ทางภาคใต้ บทสนทนาที่รับ-ส่งกันระหว่างพ่อ แม่ ลูก ดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ ปราศจากการจัดวาง ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกันอย่างเก้ๆ กังๆ แต่แล้วหนังก็ตัดสลับไปยังท่าเรือเล็กๆ บริเวณปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ถ่ายผ่านกล้องคุณภาพสูงรายละเอียดคมชัด เราเห็นชายผมขาวยืนคุยกับคนขับเรือ และภรรยาอย่างเป็นมารยาท คำพูดของพวกเขาดำเนินไปอย่างเป็นกระบวนการ ก่อนที่หนังจะตัดกลับมายังวิดีโอที่ถ่ายด้วยกล้องคอมแพกต์อีกครั้ง หวนคืนสู่สวนยางในภาคใต้ที่พ่อ แม่ ลูกเดินคุยกันไปเรื่อยเปื่อย

ที่ภาคใต้ มันคือโลกที่สมาชิกของครอบครัวนี้คล้ายจะได้อยู่กันพร้อมหน้า แต่ที่นครสวรรค์ มันกลับเป็นโลกแห่งการบอกลา นั่นเพราะผู้เป็นแม่ได้อำลาจากโลกนี้ไปแล้ว ที่ปากน้ำโพจึงเหลือแค่เพียงพ่อ ลูก และญาติๆ โดยสารกันไปบนเรือลำน้อยๆ เพื่อปล่อยเถ้ากระดูกของแม่ลงสู่ปากแม่น้ำซึ่งเป็นจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำน่านกับแม่น้ำปิง ปากแม่น้ำที่เชื่อกันว่าเป็นเส้นทางไปสู่สวรรค์

นคร-สวรรค์ ตัดแบ่งตัวตนออกเป็นสองส่วนชัดเจน ระหว่างส่วนที่เป็น ‘เรื่องจริง’ ซึ่งบันทึกประสบการณ์ชีวิตของผู้กำกับจริงๆ กับส่วนที่เป็น ‘เรื่องแต่ง’ กล่าวคือ พวงสร้อย พ่อ และแม่ ที่ปรากฏในสวนยางทางที่ภาคใต้ คือตัวตนจริงๆ ของพวกเขา ในขณะที่เหตุการณ์ล่องเรือไปลอยอังคารนั้นคือส่วนของ ‘เรื่องแต่ง’ ที่มีการใช้นักแสดงจริงๆ มารับบทพ่อ ลูก และญาติๆ มีการจัดวางมุมกล้องอย่างประณีต และมีการเขียนบทสนทนาระหว่างตัวละครบนเรือขึ้นมาใหม่ 

เราอาจเคยเห็นการล้อเล่นระหว่าง ‘เรื่องจริง’ กับ ‘เรื่องแต่ง’ ในโลกภาพยนตร์อยู่บ้าง จะด้วยวิธีการตั้งคำถาม หรือยั่วล้อกับคนดูให้ครุ่นคิดว่า เหตุการณ์ที่เขากำลังจับจ้องอยู่นี้เป็นเรื่องจริง หรือเพียงสิ่งประกอบสร้าง แต่ นคร-สวรรค์ กลับไม่ได้สนใจที่จะโยนความเคลือบแคลงนี้ให้คนดูแต่อย่างใด พูดให้ถูกคือ หนังจงใจขีดเส้นแบ่งให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ส่วนไหนคือเรื่องจริง ส่วนไหนคือเรื่องแต่ง (มีฉากสั้นๆ ที่หนังจงใจแทรกภาพเหตุการณ์จริงๆ มาในส่วนของเรื่องแต่ง เพื่อจะย้ำเตือนกับคนดูว่า ภาพที่กำลังเห็นตรงหน้าเป็นเรื่องแต่งที่กำลังพยายามจำลองความจริงอยู่) 

ในขณะที่ ‘เรื่องแต่ง’ แสดงให้เห็นช่วงเวลาที่แม่ได้จากไปแล้ว พวงสร้อยกลับเลือกจะใช้โลกของ ‘เรื่องจริง’ แสดงให้เห็นรายละเอียดชีวิตอันรุ่มรวยของแม่ขณะที่ยังมีลมหายใจ เราได้รู้จักตัวละครแม่อย่างสนิทชิดใกล้ก็จากวิดีโอที่พวงสร้อยบันทึกแม่และครอบครัวของเธออยู่เรื่อยๆ นคร-สวรรค์ อนุญาตให้คนดูได้รู้เห็นความสัมพันธ์ในพื้นที่ส่วนตัวอย่างที่สุดของครอบครัวนี้ กล่าวคือ ‘โลกของเรื่องจริง’ เป็นช่วงที่เราจะรับรู้ได้ถึงความสนิทสนมกันระหว่างตัวละคร ทว่า ‘โลกของเรื่องแต่ง’ ที่แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง หากทว่าปฏิสัมพันธ์ของตัวละครกลับมีแต่ความเฉยชา และห่างเหิน ราวกับว่าพวกเขาล้วนต้องมาโดยสารเรือลำนี้อย่างจำใจ

ที่ปากน้ำโพ ตัวตนของแม่ที่บัดนี้คือเถ้าถ่านไม่ได้สูญหายไป ร่องรอยของชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รักใคร่ปรากฏชัดในคำนึงคิดของตัวละคร พร้อมๆ กับความรู้สึกต่อผู้จากไปที่ถั่งโถมเข้ามาหาพวกเขาในระดับที่ไม่เท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อที่พยายามจะทำความรู้จักกับลูกตัวเองใหม่อีกครั้ง น้องสาวที่หวนรำลึกถึงวันที่เคยทะเลาะกับพี่สาวในวัยเด็ก หรือกระทั่งลูกสาวที่หลังจากที่แม่ตายจากไปก็ต้องพบกับความยุ่งวุ่นวายจนคล้ายจะลืมเศร้า

ประโยคหนึ่งปรากฏในโลกของเรื่องแต่งซึ่งตัวลูกสาวถามกับเพื่อนว่า “หรือเราไม่ได้ร้องไห้ให้เห็นมากพอ” คือบทสรุปต่อแนวคิดเรื่องความเศร้า และความตายของ นคร-สวรรค์ ได้เป็นอย่างดี นั่นเพราะว่าประโยคสั้นๆ นั้นได้แสดงให้เห็นว่า แม้ตัวละครในเรื่องล้วนถูกความเศร้ากัดกิน หากถึงที่สุดแล้วพวกเขากลับเลือกถอยห่างออกสู่พื้นที่ซึ่งพวกเขาจะได้อยู่ตามลำพัง เพียงเพื่อจะได้ปลดปล่อยน้ำตาออกมาโดยลำพัง ปราศจากซึ่งการรับรู้มองเห็นจากใครๆ 

แต่แม้ว่าจะเจือไปด้วยความเศร้าเพียงใด ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นคร-สวรรค์ เป็นหนังที่อบอวลไปด้วยความรัก โดยเฉพาะกับความรักต่อแม่ที่ได้จากโลกนี้ไป ในแง่หนึ่ง การที่พวงสร้อยเลือกจะนำเสนอภาพของแม่แค่เฉพาะใน ‘โลกของเรื่องจริง’ คือคำยืนยันในตัวเองต่อความคำนึงที่บริสุทธิ์ และชัดเจน แม่ไม่ได้ถูกแทนที่ด้วยนักแสดงใดๆ และตัวตนของแม่ก็ไม่ได้ถูกจำลองซ้ำเหมือนตัวละครอื่นๆ ภาพของแม่ไม่ได้ถูกตัดสลับอยู่ระหว่างโลกทั้งสองใบ หากปรากฏชัดเจนอยู่ในโลกของความจริงที่เป็นเพียงอดีตไปแล้วเท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดแล้วต่อการที่คนดูจะได้ประทับแม่ของพวงสร้อยอย่างชัดเจนภายในใจ

หลังจากที่หนังจบลง ผมพบว่าการเตรียมใจของผมเป็นไปอย่างล้มเหลว ไม่เพียงแต่ผมจะสูญเสียน้ำตาอยู่หลายที โดยเฉพาะกับฉากที่ได้เห็นแม่ของพวงสร้อยปรากฏขึ้นตรงหน้า ค่ำนั้นผมเดินออกจากโรงด้วยความไม่เต็มใจจะอยากบอกลา ด้วยเพราะในขณะเดียวกับที่ผมคล้ายจะได้รู้จักตัวตนของผู้หญิงคนหนึ่งมากขึ้น ผมก็ค่อยๆ ระลึกขึ้นได้ว่า คำทักทายสั้นๆ ที่เคยกล่าวกับแม่ของพวงสร้อยเมื่อหลายปีก่อน จะคือคำพูดเดียว และคำพูดสุดท้าย 

แด่อดีตที่ไม่เคยจะได้รู้จักกัน แด่ความเศร้าที่เกิดขึ้นย้อนหลัง แด่ความทรงจำต่อวานวันบริสุทธิ์…

AUTHOR