จากกามิกาเซ่สู่รักติดไซเรน มอง T-pop ผ่านมุม 2 โปรดิวเซอร์ผู้สร้างทุกเพลงป๊อปที่คุณรัก

Highlights

  • หาก คุกกี้เสี่ยงทาย คือเพลงแห่งปี 2018 เพลงประกอบละคร My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน อย่าง 'รักติดไซเรน' นั้นก็เป็นเพลงแห่งปี 2019 อย่างไม่ต้องสงสัย จากยอดวิวในยูทูบ การติดอันดับในสตรีมมิงแพลตฟอร์ม และกระแสการคัฟเวอร์ในโซเชียลจนกลายเป็นปรากฏการณ์ยืนยันได้ดี
  • เอฟู–ณรงค์ศักดิ์ ศรีบรรฎาศักดิ์วัชรากรณ์ และ ก๊อป–ธานี วงศ์นิวัติขจร คือโปรดิวเซอร์ผู้อยู่เบื้องหลังเพลงป๊อปสุดฮิตเพลงนี้ และแน่ใจว่าหลายคนคงคุ้นชื่อพวกเขาดีในฐานะของผู้บริหารและโปรดิวเซอร์ของศิลปินค่ายกามิกาเซ่ ค่ายเพลงที่ครองใจเด็กวัยรุ่นไทยในอดีต
  • ในโมงยามที่หา T-pop ไม่ค่อยเจอ รักติดไซเรน ทำให้เราหวนคิดถึงบีตมุ้งมิ้งแบบกามิกาเซ่อีกครั้ง และพาลเอาใจช่วยให้ T-pop แบบไทยๆ บูมขึ้นมาอีกที
  • แต่การทำเพลงสักเพลงให้ปังไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องแลกกับอะไร ไปฟังเอฟูกับก๊อปได้ในบทสนทนานี้

กรุงเทพฯ ปี 2550 เกิดเหตุกลุ่มวัยรุ่นราว 20 คนรวมตัวกันประท้วงหน้าสยามเซ็นเตอร์ ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาเป็นใคร มาจากไหน แต่ละคนนั้นดูมีคาแร็กเตอร์ที่ชัดเจนพอๆ กับจุดยืน แตกต่างหากก็กลมกลืนเป็นกลุ่มเดียวกัน

ชอบมาขัด ชอบมาขัด ชอบมาขัดใจ เดี๋ยวสะบัด เดี๋ยวสะบัด เดี๋ยวสะบัดให้! พวกเขากู่ร้องช่วยกันอย่างแข็งขัน พร้อมท่าเต้นดุดันที่ใครดูก็อยากลุกเต้นตาม

ถ้าคุณเติบโตมากับบีตสุดกระชากของเพลง ‘ขัดใจ’ และจำเอ็มวีเปิดตัวศิลปินยูนิตใหม่ในสังกัดอาร์เอสตัวนี้ได้…เราคือเพื่อนกัน

‘กามิกาเซ่’ อาจเคยเป็นชื่อที่ใช้เรียกกองกำลังทางอากาศของญี่ปุ่น แต่เวลานั้นมันกลายเป็นชื่อของกลุ่มศิลปินเลือดใหม่ที่มาเพื่อระเบิดกรอบจำกัดของวงการเพลง ภายใต้การดูแลของ เอฟู–ณรงค์ศักดิ์ ศรีบรรฎาศักดิ์วัชรากรณ์ (Mr.T-Pop) และ ก๊อป–ธานี วงศ์นิวัติขจร (ก๊อป Postcard) สองหัวเรือใหญ่ที่เป็นทั้งผู้บริหารและโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินทุกเบอร์ในค่าย นำทีมโดยรุ่นเราที่เคยมีผลงานมาก่อนอย่างโฟร์-มด ตามมาด้วยศิลปินใหม่ที่ทยอยเปิดตัวอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ เฟย์ ฟาง แก้ว, หวาย, พายุ, ชิลลี่ไวท์ช็อค, ขนมจีน, มิล่า และเคโอติก

เอฟูและก๊อปในตอนนั้นไม่เคยจินตนาการว่า ค่ายเล็กๆ ที่พวกเขาสร้างกำลังจะกลายเป็นหนึ่งในยุครุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์เพลง T-pop

ตกหลุมรัก, MSN, รักไม่ได้หรือไม่ได้รัก คือชื่อเพลงบางส่วนที่พุ่งทยานสู่อันดับต้นๆ ของชาร์ตวิทยุเพลงแล้วเพลงเล่า กามิกาเซ่กลายเป็นตัวแทนของเด็กวัยรุ่นยุคนั้น ด้วยคาแร็กเตอร์อันหลากหลาย ไลฟ์สไตล์ที่คล้ายกัน รวมถึงการมีคอมมิวนิตี้ออนไลน์ที่เปิดให้แฟนคลับได้ใกล้ชิดศิลปินสุดๆ อย่างเว็บ zheza.com ผลักดันให้กามิกาเซ่สามารถเข้าไปนั่งในใจของเด็กวัยรุ่นหลายคน

กว่า 10 ปีที่ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน เด็กหลายคนในวันนั้นเติบโตมาพร้อมกับเพลงของค่ายกามิกาเซ่ในยุครุ่งเรืองและเสื่อมถอย แม้กระทั่งวันนี้ที่ค่ายปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ แต่เอ็มวีเพลงของกามิกาเซ่ก็ยังมีคนไปคอมเมนต์ว่า ‘20xx ก็ยังฟัง ใครคิดถึงกามิกาเซ่มารวมกันตรงนี้’ อยู่เลย

คาแร็กเตอร์หนึ่งของเพลงกามิกาเซ่ที่เราคิดว่าจับใจเด็กในวันนั้นคือ การเป็นเพลงสีขาวที่มองทุกอย่างในแง่บวก แม้จะอกหักหรือโดนทำร้าย เพลงของกามิกาเซ่ก็ยังหาวิธีปลอบวัยรุ่นจนได้ ไม่แปลกที่เด็กวันนั้น ผู้ที่กลายเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ ก็ยังฟังและตกหลุมรักเพลงค่ายนี้จนปัจจุบัน

รวมไปถึง บอส–นฤเบศ กูโน และ แตง–ภัทรนาถ พิบูลย์สวัสดิ์ สองผู้กำกับซีรีส์แนวโรแมนติกเรื่องล่าสุดของค่ายนาดาวฯ ‘My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน’ หลังจากเขียนบทเสร็จ เมื่อต้องคิดถึงเพลงประกอบที่ให้อารมณ์ฟีลกู้ดสักเพลง ทั้งคู่คิดไปถึงบีตใสๆ สไตล์กามิกาเซ่เหมือนกัน

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ ‘รักติดไซเรน’ เพลงที่บอสกับแตงตัดสินใจให้ทีมโปรดิวซ์เก่าอย่าวเอฟูกับก๊อปดูแล แถมยังได้ศิลปินในสังกัดนาดาวฯ ที่คาแร็กเตอร์เข้ากับเพลงสุดๆ อย่างแพรวาณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์ และไอซ์–พาริส อินทรโกมาลย์สุต มาร้องให้

อาจพูดได้ว่าเดินหมากถูก เพราะในระยะเวลาแค่เดือนเดียว เพลงนี้ทำยอดวิวในยูทูบไปได้กว่า 60 ล้านวิว ขึ้นอันดับหนึ่งในสตรีมมิงชื่อดังอย่าง JOOX หลายสัปดาห์ มีคนคัฟเวอร์การร้องและเต้นเต็มโซเชียล และกลายเป็นเพลงประเภท ‘ไปที่ไหนใครๆ ก็เปิด’ 

นี่คือเครื่องชี้วัดได้ดีว่าเพลงนี้ไม่ใช่แค่เพลงประกอบซีรีส์ แต่คือปรากฏการณ์

ความสำเร็จนี้เองที่พาให้วันนี้เรามานั่งคุยกับผู้ให้กำเนิดเพลงนี้ทั้งสองคน ณ บ้านของเอฟูในขณะที่ฟ้าฝนกำลังโหมกระหน่ำ หากนับย้อนไป เป็นเวลา 12 ปีแล้วตั้งแต่เราได้ยิน ‘ขัดใจ’ ครั้งแรก เราสงสัยว่าอะไรทำให้เพลงสไตล์กามิกาเซ่กลับมาดังเป็นพลุแตก และในมุมมองของพวกเขา ทิศทางของ T-pop ในวงการเพลงไทยปัจจุบันเป็นยังไง 

ก่อนอ่าน โปรดเข้าสู่ช่องทางสตรีมมิงที่ท่านสะดวกที่สุด เปิดเพลง รักติดไซเรน ปล่อยให้เมโลดี้บรรเลง และมาหาคำตอบในบทสนทนานี้พร้อมๆ กัน

 

รักติดไซเรน เปรี้ยงมาก คนดู 60 ล้านวิวใน 1 เดือน ติดอันดับต้นๆ ของบริการสตรีมมิงแทบทุกสำนัก คุณรู้สึกยังไงบ้างที่กระแสดีขนาดนี้

เอฟู : ถามความรู้สึกใช่มะ รู้สึกแน่นอกอะ มันงง

 

คือตอนแรกคุณไม่ได้คาดหวังเลยว่ามันจะเปรี้ยง

เอฟู : ไม่มีใครคาดหวังเลย เพราะส่วนตัวเราคิดว่าเพลงนี้เป็นเพลงสไตล์ยุคก่อน ซึ่งต่างจากเพลงฮิตยุคนี้ที่เป็นอีกแบบหนึ่ง เราคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ก็อาจชอบฟังฮิปฮอป ไม่เคยได้ยินเพลงแนวที่เราทำ เราเลยเซอร์ไพรส์มากนะที่เขาฟังแล้วชอบ เพราะคิดว่าแนวนี้คนฟังอาจไม่เยอะแล้ว ไม่น่าจะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ คิดแค่ว่าทำเพลงเพื่อประกอบละคร

 

จุดเริ่มต้นของ รักติดไซเรน เกิดขึ้นยังไง

เอฟู : ตอนแรกเรายังไม่ได้รับทำ แต่นัดเจอทีมนาดาวฯ ก่อน คุยนอกเรื่องไม่ได้คุยงานอะไรเลย (หัวเราะ) คุยเสร็จเจ้าบอสผู้กำกับก็เล่าว่า เนี่ย เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ตอนเล่าแววตาเขามีแพสชั่นวิบวับๆ เราก็เฮ้ย นี่มันเหมือนคนที่เราเคยรู้จัก เหมือนทีมกามิกาเซ่เก่าที่เล่าอะไรจะอินแบบนั้น เราก็เลยอิน ยอมรับงาน

 

โจทย์แรกที่ผู้กำกับให้มาเป็นยังไง

เอฟู : พอทีมนาดาวฯ ให้โครงเรื่องและบทมา เราอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะเวลาแต่งเพลงเราต้องวิเคราะห์ตัวละคร ตีโจทย์ให้ออก เพลงนี้จะดูคาแร็กเตอร์ ดูความคิดของตัวละครเป็นหลัก ตัวผู้ชายมีแรงจูงใจอะไร นิสัยเป็นยังไง เจอเหตุการณ์แบบไหนแล้วจะเป็นยังไง เช่น ในละครจะเป็นเหตุการณ์แบบพ่อแง่แม่งอน ซันนี่จะคิดอะไร จะพูดภาษายังไงนะ ไม่อย่างนั้นก็เน็ตกาก เนี่ยคือซันนี่ มันยากตรงที่เราต้องแปลภาษาละครมาเป็นภาษาเพลง 

ก๊อป : จริงๆ ตอนนี้เรากับเอฟูมีค่ายที่ดูแลอยู่คนละค่าย แต่ว่าก็ทำงานร่วมกันได้ เพลงนี้เป็นเพลงแรกหลังจากที่ไม่ได้เขียนด้วยกันมานานประมาณ 5 ปี พอเอฟูส่งเดโมมาให้ เราก็โอ้โห คุ้นมาก เพลงอย่างนี้ เมโลดี้แบบนี้ ใช้เวลาแต่งไม่นานครับ เพราะเขียนด้วยความแฮปปี้และความเข้าใจ เหมือนเจอตัวเราเองที่ไม่ได้เจอนานแล้ว จำได้เลยว่านั่งเขียนตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตีหนึ่ง จริงๆ ประมาณชั่วโมงกว่าๆ เอง 

เอฟู : ต้องบอกว่าเป็นเพลงที่เราปล่อยให้มือมันเล่นไป ปกติแล้วตอนแต่งเพลงจะคอยตีมือตัวเอง เพราะมันเหมือนกามิฯ อย่าพยายามกามิฯ มันโบราณ (หัวเราะ) ปกติเวลาเราทำงาน มันเป็นคอมเมอร์เชียล ส่วนใหญ่ที่เจอมา เขาก็แบบ เฮ้ย เอฟู มาทำงานกับเรานะ แต่เราไม่อยากได้เพลงแบบกามิฯ เราก็…เออะ (สตันท์ไปนิดหนึ่ง) คือลายมืออะ เขียนอะไรก็เป็นกามิฯ เราทำเพลงยังไงก็เป็นกามิฯ บางทีเราก็รู้สึกอึดอัดเหมือนกันที่ต้องกดมันไว้

สิ่งที่เราประทับใจจากงานนี้คือ บอสบอกเราตั้งแต่แรกเลยว่า อยากทำอะไรก็ทำเลยนะ

แล้วคุณก็ได้ปลดปล่อยจริงๆ ตอนเราฟังครั้งแรกก็รู้สึกถึงกลิ่นอายของเพลงกามิกาเซ่ลอยฟุ้งไปทั้งเพลงเลย 

เอฟู : เราคิดว่าเพราะเคมีด้วยที่ทำให้งานมันออกมาโฟลว์ เจ้าบอสกับเจ้าแตง ผู้กำกับและคนเขียนบท เดิมทีก็เป็นแฟนคลับกามิกาเซ่อยู่แล้ว เรามองว่าค่ายนาดาวฯ กับกามิกาเซ่เคมีมันใกล้เคียงกันนะ เพราะจริงๆ พวกเราก็เป็นแฟนคลับจีดีเอช จีทีเอช เมื่อก่อนก็ดูตั้งแต่ แฟนฉัน หนังคุณย้งนี่ดูเกือบทุกเรื่อง ตอนทำโปรเจกต์นี้มันคลิกกันโดยไม่ต้องคุยอะไรกันมากเหมือนงานอื่นๆ โดยนิสัย โดยเคมี พอส่งศิลปินมา เจอไอซ์กับแพรวาก็คล้ายๆ ศิลปินกามิฯ เลย สนุกสนาน เป็นคน positive ไอ้เจ้าพาริสมันเหมือนพายุเด๊ะเลย เจ้าแพรวาก็เหมือนเนโกะจัมพ์ เราว่ามันลงตัว คือตัวเราไม่ได้ตั้งใจให้เป็นกามิฯ หรอก แต่มันเป็นลายมือ เราไปทำแล้วแอบเปลี่ยนชื่อ คนยังรู้เลย 

 

ในด้านการแต่งเนื้อร้องล่ะ คุณตีความจากบทซีรีส์ยังไง

ก๊อป : ผู้กำกับก็จะบอกว่าให้เอาช่วงนี้ของซีรีส์มาเล่า เป็นช่วงที่พระเอกนางเอกไม่มั่นใจกันแล้ว คือเรื่องมันแฟนตาซีใช่ไหม เราอ่านบทแล้วก็ลงลึกไปด้วยตัวเองว่า ซีรีส์เขาพยายามจะบอกอะไรนอกจากเรื่องแฟนตาซี มันเป็นเรื่องจริงของคนที่เป็นแฟนกัน คนเราพออยู่ด้วยกันนานๆ มันก็เริ่มเบื่อ ต้องเข้าไปหาความจริงของหัวใจกันแล้ว แม้แต่การมีพลังมหัศจรรย์ มีปาฏิหาริย์ เรียกให้มาเจอกันเมื่อไหร่ก็ได้ มันยังไม่สามารถทำให้คนเรารักกันได้ตลอดเลย

 

ซึ่งก็นำมาสู่เนื้อเพลงที่พูดถึงประเด็นนี้

ก๊อป : ใช่ เป็นตัวเริ่มตอนที่เขียนเนื้อ มันมีฮุกสองท่อน ท่อนหนึ่งร้องว่า อยากอธิษฐานให้ปาฏิหาริย์วันนั้นกลับมาได้ไหม ซึ่งท่อนนี้จะโดดกว่าอีกท่อนที่ธรรมดากว่าคือ ไม่ได้อยากถามแต่แค่อยากรู้ เราจึงเลือกท่อนธรรมดาขึ้นมาก่อน เพราะคิดว่าเพลงมันจะติดหูกว่า เอาเรื่องของจิตใจมาก่อนเรื่องปาฏิหาริย์

 

เท่าที่ฟังคือท่อนฮุกผู้หญิงเป็นคนร้องนำ

เอฟู : ใช่ เพราะเพลงนี้คาแร็กเตอร์ผู้หญิงเป็นหลัก

ก๊อป : เหมือนเป็นคำถามจากผู้หญิง ไม่ได้อยากถามแต่แค่อยากรู้

เอฟู : เป็นเพลงของแพรวา ของใหม่ ของทานตะวัน เราใช้มุมมองของคนนั้นเป็นหลัก ความซับซ้อนต่อมาคือการเป็นเพลงประกอบซีรีส์ เพราะฉะนั้นต้องดีไซน์ด้านการ arrange ดนตรี เราอยากให้เพลงนี้แต่ละซีน แต่ละท่อน มันจะอยู่ได้กับทุกซีน พอจะล้ม ฉากกุ๊กกิ๊ก ฮุกมาเลย หรือคอเมดี้หน่อย ก็ขึ้นท่อนแรปมา หรืออย่างอินโทรเนี่ยเราใช้ orchestration ในการเขียน วงซิมโฟนีออเครสตร้าใหญ่ เขียนเป็นโน้ตออกมาเลย แล้วก็ดีไซน์ เพราะว่าพวกนี้จะไปอยู่ในละคร ท่อนดราม่ามันจะมาละ สีไวโอลินกันแบบน้ำตาแตก คือเพลงนี้จะใช้งานได้เกือบทุกซีน เป็นเพลงธีมของละคร

เรารู้สึกว่าเพลงนี้ไม่ใช่แค่ซัพพอร์ตเรื่อง แต่มันยังประสบความสำเร็จในฐานะเพลงป๊อปเพลงหนึ่งที่เอกเทศมากๆ คุณตั้งใจไว้แบบนี้หรือเปล่า

เอฟู : อันนี้เรียกว่าเป็นดีเอ็นเอของเราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเขียนเพลงอะไรในโลกนี้ วิธีคิดก็ไม่ได้เขียนแค่ซัพพอร์ตสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ว่าเขียนแล้วนึกถึงคนฟัง ทั้งหมดทั้งปวงคือนึกถึงคนฟัง ฟังแล้วจะรู้สึกยังไง

 

เราแอบเห็นว่าคุณทำเวอร์ชั่นคัฟเวอร์ของแก้วกับโทโมะด้วย ทำไมถึงเลือกสองคนนี้มาคัฟเวอร์

เอฟู : เพราะชาวเน็ตเรียกร้อง (เน้นเสียง) เราอ่านคอมเมนต์เกือบทุกคอมเมนต์ เพราะเราอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น คนที่เขาฟังรู้สึกยังไง แล้วทุกก็จะพูดว่าคิดถึงโทโมะกับแก้ว อยากให้มาร้องเพลงนี้ ก็คิดถึงกันนี่ เราก็เลยชวนโทโมะกับแก้วมาร้อง ทำเล่นสนุกๆ กันไหม ร้องๆ แล้วก็ถ่าย แล้วก็จบ

ก๊อป : เอฟูคิดเหมือนที่คนฟังคิดนั่นแหละ เดาได้ว่าคนฟังพอเห็นเพลงนี้ก็ต้องอยากเห็นคู่ชาย-หญิง ซึ่งสัญลักษณ์ของกามิฯ ก็จะเป็นคู่นี้ที่ชัดเจนที่สุด มันมีเพลงที่ร้องลักษณะอย่างนี้ ฟีลกู้ดๆ มีความแทงใจกัน งอนกัน

เอฟู : แก้วชอบเพลงนี้ ชอบมาก อยากร้อง

ก๊อป : ศิลปินเก่ากามิฯ ทุกคนชอบเพลงนี้ ก็เพลงสไตล์พวกเขานั่นแหละ

 

จากกระแสของ รักติดไซเรน ตอนนี้ รวมไปถึงคลับบางที่ที่เขาพานักร้องเก่าๆ ของกามิกาเซ่มาเล่นคอนเสิร์ตบ่อยๆ จากจุดนี้ทำให้เรารู้สึกว่า เอ๊ะ หรือคนไทยจะโหยหาเพลงแนวกามิกาเซ่นะ คุณคิดยังไงกับเรื่องนี้บ้าง

เอฟู : อันนี้มันเริ่มมาจากว่าเด็กยุคที่ไม่เคยฟังเพลงกามิกาเซ่หันมาฟัง เพราะคลิปหนึ่งที่เป็นคนเกลียดเพลงกามิฯ แต่เต้นได้ทุกเพลง เราก็เฮ้ย เด็กรุ่นนี้มันรู้จักด้วยเหรอ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร คงแป๊บๆ เป็นกระแส แต่ปรากฏว่ามีการจ้างศิลปินเก่าๆ ของกามิกาเซ่ไปเล่นในคลับ เพราะมีกระแสเรียกร้อง เราก็เซอร์ไพรส์นะ

เราว่าที่หลายคนคิดถึงเพราะสำหรับบางคน เพลงกามิกาเซ่คือซาวนด์แทร็กชีวิตเขา มียุคที่เราฟังเพลงแบบนั้นแล้ววันหนึ่งได้กลับมาฟัง มันจะทัชมาก กลิ่นแบบนี้ ซาวนด์แบบนี้ วิธีร้องแบบนี้ ฟังปุ๊บรู้สึกว่าเราจะกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

ก๊อป : เราว่ากามิกาเซ่เหมือนน้ำมันที่อยู่ใต้ดินตลอด เราเห็นภาพนี้ตลอดเวลาเลยนะ เรารู้สึกว่าเพลงกามิกาเซ่ไม่ได้ไปไหน แล้วเด็กที่ฟังวันนั้นก็ยังอยู่ ยังรักยังเสพเพลงแบบนี้อยู่ เพียงแต่ว่ารอวันที่มันระเบิดเท่านั้นเอง มันคือน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่เต็มไปหมด

ตอนนี้นับว่าระเบิดหรือยัง

ก๊อป : ระเบิดนะ เพลงเก่าๆ ถูกดันขึ้นมาฟังโดยเด็กรุ่นใหม่ชัดเจนมาก จากที่ไปสัมผัสด้วยตัวเอง วันนี้ลูกเราหรือศิลปินเด็กๆ ทำเหมือนว่าเพลงกามิฯ ไม่ใช่เพลงแปลกปลอมสำหรับเขาแล้ว พอ รักติดไซเรน มา ทุกวันนี้พวกเขาเปิดเพลงกามิฯ กันทั้งวัน จากปกติที่เปิดเพลงเกาหลีทั้งวัน ตอนนี้เปลี่ยนไปเลย

 

สิ่งนี้ทำให้เรานึกไปถึงขั้นว่า T-pop อาจจะบูมอีกครั้งเหมือนยุคกามิกาเซ่ได้เลย ในมุมของคุณ คุณมอง T-pop วันนี้เป็นยังไง

ก๊อป : เราคิดว่าแนวเพลงตอนนี้มันค่อนข้างหลากหลายมากนะ เราไม่แน่ใจว่า T-pop มันยังมีอยู่หรือเปล่า ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น รู้สึกเหมือนแค่ว่า T-pop มันก็คือเพลงป๊อปที่คนไทยส่วนใหญ่ฟัง แต่ตอนนี้แนวเพลงค่อนข้างกระจัดกระจายอยู่เหมือนกัน เพลงป๊อปที่เด็กฟังมีหลายแนว หลายแบบ หลายเลเวล เยอะไปหมดเลย 

เอฟู : ถ้าให้นึกเร็วๆ ว่าศิลปินที่แทนคำว่า T-pop ยุคนี้เป็นใครบ้าง ที่เราเห็นตอนนี้มีก็เก่ง–ธชย ประทุมวรรณ กับปราง–กัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล ที่ทำอยู่ คือผสมความเป็นไทยที่เขาตั้งใจที่จะทำจริงๆ 

ก๊อป : เรานึกถึงทีเจนะ เพราะว่าเขาเป็นคนทำเพลงป๊อปแบบที่คนไทยจะเสพ มีความลงตัว แล้วก็รู้ว่าเพลงแบบนี้ เมโลดี้แบบนี้ คนฟังจะชอบ ในมุมเรา เรารู้สึกว่าอันนี้คือ T-pop คนไทยฟังแบบนี้

ถ้าเพลง T-pop ได้รับอิทธิพลมาจาก K-pop อันนี้เราจะถือว่าเป็น T-pop อยู่ไหม

เอฟู : อิทธิพลเอามาได้ คุณจะเป็นอะไรก็ได้ในโลก แต่ความเป็นไทย รากเหง้ามันอยู่ โดยวิธีคิด มุมมองของเพลง สำเนียงการร้อง วิธีของการทำเมโลดี้ อยู่ที่ว่าเราทำแล้วคนรู้สึกไหม มันยากตรงนี้ 

ก๊อป : เรื่องภาษาก็เหมือนกัน มันไม่ใช่แค่ภาษาไทยอย่างเดียว แต่ในความคิดเรา มันเป็นการพูดแบบคนไทยพูด พระเอกแบบซันนี่เป็นพระเอกแบบไทยๆ ชาวบ้านก็เก็ต โผงผาง พูดจากวนตีนนิดหน่อย ยอกย้อนกับนางเอก คำเชยๆ พ่อแง่แม่งอน นี่คืออาการคนไทยไง แล้ว รักติดไซเรน มันชัดตรงที่เป็นผู้ชาย-ผู้หญิง มีการโต้ตอบ เล่นมุก หยอดกันประมาณนี้ ผู้หญิงไทยก็จะมีความปากแข็งนิดหน่อย

เอฟู : เพลงที่ชัดมากๆ ในอดีตคือ เหงาปาก, ชู้ทางไลน์ เห็นวิธีคิดไหม ในโลกนี้มันไม่มีใครคิดแบบคนไทยไง เรื่องชู้เรื่องอะไรอย่างนี้

 

การมีศิลปินหลายๆ แนวเยอะขึ้น มันแปลว่าคนฟังเพลง T-pop น้อยลงไหม

ก๊อป : ไม่ๆ เพราะเดี๋ยวนี้คนฟังเลือกมีเดียเองได้ ศิลปินไม่จำเป็นต้องขายได้ล้านวิวทุกคนแล้วยุคนี้ บางทีขายได้แค่นี้แต่มีแฟนคลับที่เหนียวแน่นก็อยู่ได้แล้ว มันก็มีแตกออกไปเยอะแยะ ยิ่งมีเยอะก็ยิ่งเบื่อเร็ว ก็เลยต้องมีอะไรหลายๆ อย่างให้เขาฟัง

เอฟู : เราว่าคนดูได้กำไร ยิ่งศิลปินเยอะยิ่งดี ไม่มีผลหรอก เพราะมันไม่เกี่ยวกัน 

ที่ผ่านมา ทั้งก่อนหน้ายุคกามิกาเซ่ หรือในยุคกามิกาเซ่เอง หรือแม้กระทั่งในยุคนี้ มีคนพยายามทำเพลงแนว T-pop เหมือนกัน แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จเทียบเท่า คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร 

ก๊อป : เขาอาจจะไม่ได้พยายามทำแบบเราก็ได้นะ อาจทำเพลงวัยรุ่นปกติ แต่ว่าทำไมเพลง รักติดไซเรน มันถึงสำเร็จโดยเร็ว เพราะว่าเคยมีกลิ่นแบบนี้ซึ่งชัดเจนอยู่ พอมันเหมือนกันเลยรับรู้โดยง่าย ในขณะที่เพลงอื่นๆ แบบอื่นๆ อาจต้องใช้เวลาในการรับรู้ มันก็มีหลายเพลงที่ยอดวิวมันก็สูงกว่านี้นะ แต่เพลงนี้มันเข้าถึงทุกคนทันที

เอฟู : รักติดไซเรน มันเป็นปรากฏการณ์ ในขณะที่หลายเพลงที่มียอดวิว 200-300 ล้านวิว ฮิตแต่ยังไม่เรียกว่าปรากฏการณ์นะ ปรากฏการณ์คือสิ่งที่ทุกคนพูดถึง ต้องออกมาทำอะไรสักอย่างกับเพลงนี้ สังเกตว่าในโลกโซเชียลโพสต์ถึง มีการออกมาเต้น ร้องคัฟเวอร์ นี่เป็นแค่สิ่งสะท้อนให้เห็นว่าปรากฏการณ์คืออะไร ก่อนหน้ายุคเราก็จะมียุคพี่เบิร์ด เพลง แฟนจ๋า นั่นคือยุคแอนะล็อกของการฟังเทปและซีดี แต่ยุคใหม่คือคนดูยูทูบ มีโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ 10 ปีมานี้ เราว่ามีอยู่ 4 เพลงเอง

เพลงแรกคือ ขอใจแลกเบอร์โทร ทั้งบ้านทั้งเมืองต้องเต้น ต้องร้องเพลงนี้ เพลงที่สองคือ รักต้องเปิด(แน่นอก) เพลงที่สามคือ คุ้กกี้เสี่ยงทาย เพลงที่สี่คือ รักติดไซเรน 

 

ใน 4 เพลงนี้คุณทำทั้งรักต้องเปิด(แน่นอก) และรักติดไซเรน รู้สึกยังไงที่ทำเพลงระดับปรากฏการณ์ได้ถึง 2 เพลงในรอบไม่กี่ปี

เอฟู : ประหลาดกับตัวเองเหมือนกันนะ เคยคิดว่าชีวิตหนึ่งของคนแต่งเพลงคนหนึ่ง แม่งคงทำได้ไม่กี่ทีหรอก ทีหนึ่งก็ถือว่าบุญแล้ว แต่นี่โคตรฟลุก เป็นครั้งที่ 2 ใน 6 ปี มันจะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำปรากฏการณ์ได้อีก ซึ่งมันไม่ใช่แค่เราด้วยไง มันคือทั้งองคาพยพ ตั้งแต่ศิลปิน ค่ายเพลง คนฟัง เราว่ามันหมุนมาเจอกันพอดี

จุดร่วมที่เพลงปรากฏการณ์เหล่านี้มีเหมือนกันคืออะไร

เอฟู : ทำให้คนฟังมีอารมณ์ร่วม สังเกตว่าเพลงพวกนี้จะมีท่าเต้น เนื้อหาจะเป็น positive สนุกสนานบันเทิง แล้วมีท่าเต้นที่ทุกคนเต้นได้ ตั้งแต่ แน่นอก, ขอใจเธอแลกเบอร์โทร, คุกกี้เสี่ยงทาย, รักติดไซเรน สังเกตว่าทุกคนสามารถทำได้ ทุกคนฟังแล้วรู้สึกว่าเป็นเพลงของเขา ไม่ใช่เป็นของใคร แต่ทุกคนร้อง ‘เพลงของกู’ (เน้นเสียง) นึกออกไหม ทุกคนร้องได้โดยไม่เคอะเขิน สนุกกับมันเต็มที่ 

ก๊อป : ไม่ใช่แค่คนไทย แต่บางทีดังไกลไปถึงคนต่างชาติ อย่างตอน แน่นอก เราก็แอบภูมิใจว่า เราทำให้คนรัสเซียและประเทศต่างๆ มาร้องเพลงภาษาไทยได้ ตอนนั้นมันไปทั่วโลก ไม่รู้มันไปได้ไงเหมือนกัน อาจเพราะโซเชียลนี่แหละ

 

พูดถึงชาวต่างชาติ การที่คุณจะทำเพลงสักเพลงให้สำเร็จ คุณจะนึกถึงกลุ่มคนฟังที่ไม่ใช่แค่ในประเทศหรือเปล่า คิดถึงจุดนี้บ้างไหม

เอฟู : โดยธรรมชาติเราคิดถึงอยู่แล้ว ไม่ได้คิดว่ามันต้องดัง แต่เราคิดถึงว่าไม่ใช่คนไทยก็รู้สึกได้ สังเกตว่าด้วยเมโลดี้ การทำเพลง มันจะเป็นเทรนด์โลกที่คนทั้งโลกรู้สึก โลกเขาฟังเพลงแบบไหนเราจะพยายามเป็นแบบนั้น ดังนั้นคนทั้งโลกฟังในพาร์ตภาษาไม่รู้เรื่อง แต่เขาฟังดนตรี วิธีร้อง เขาก็อินได้ แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

หลังๆ เพลงเราเลยต้องมีชื่อภาษาอังกฤษ เพราะเรารู้ว่าต้องตั้งชื่อภาษาอังกฤษให้ค้นหาได้ง่าย และจะมีซับฯ ภาษาอังกฤษซึ่งแปลมาแบบได้ใจความเลย จนถึงเพลง รักติดไซเรน เราก็ทำอย่างนั้น 

เพราะลึกๆ แล้วเราก็อยากให้คนไทยหรือประเทศไทยเป็นที่รู้จัก เพราะว่าเราก็มองโมเดลเกาหลีที่เขาสร้างชาติโดย แดจังกึม โดย My Sassy Girl โดย SUPER JUNIOR, SNSD เราคิดว่าประเทศเราเป็นประเทศเล็กๆ คนจะรู้จักไทยแลนด์เพราะพัทยา พัฒน์พงษ์ เหรอ มันก็ไม่ใช่ นึกออกปะ พอหนังเรื่องอะไรพูดถึงการท่องเที่ยวก็พูดถึงพัทยา คือเราคิดว่าวัฒนธรรมเรามีอะไรมากกว่านั้น เรามีความคิดแบบไทยๆ สนุกแบบไทยๆ แล้วจะส่งต่อไปถึงคนอื่นให้รู้จัก เราเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งที่อาจทำให้ทั้งโลกรู้ว่ามีประเทศเล็กๆ อยู่ตรงนี้ เรามีแบบนี้ เรามีสตรีทฟู้ด คิดแบบนี้ สนุกแบบนี้ เราขอเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนก็โอเค

 

คุณคิดว่าอะไรที่จะทำให้คนทำเพลง T-pop ในยุคนี้อยู่รอด

เอฟู : การที่คนฟังเข้าใจว่าอาชีพนี้อยู่ได้เพราะเงินเล็กๆ น้อยๆ จากยูทูบ หลักๆ คือยูทูบกับสตรีมมิง เรื่องงานจ้างว่ากันไปอีกอย่าง เพราะศิลปินดังๆ เท่านั้นที่อยู่ได้ นอกนั้นศิลปินทุกวันนี้คือเป็นลูกค้าคนสำคัญของมาม่า อย่างเมืองนอกถ้าจะสนับสนุนศิลปิน ในยูทูบเขาจะมีปุ่มบริจาคให้ศิลปิน แต่เมืองไทยไม่มีฟังก์ชั่นนี้ไง

จริงๆ เราว่าแฟนคลับอยากจะสนับสนุนศิลปิน แต่มันไม่มีซีดีให้ซื้อ มันไม่มีอะไรเหลือนอกจากการดูโฆษณา เมื่อก่อนเราเสพมหรสพ เราต้องเสียเงินไปดูหนังกลางแปลง ลิเก ยุคถัดมาคือยุคของเทป ซีดี ก็ต้องซื้อ แล้วคนที่ลงทุนก็มีเงิน อยู่ได้ แต่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว ตกงานกันเป็นแถว เพราะการลงทุนเพลงหนึ่งเป็นแสนเลยนะ แล้วคิดดูการมาของยูทูบหรือ JOOX มันพอไหม มันไม่พอหรอก โดยเฉพาะถ้าคนดูเขาไม่เข้าใจ เห็นโฆษณาแล้วกดข้ามเลย แต่เขาไม่รู้ว่านั่นคือรายได้ของเรา

1 วิวเราได้ไม่ถึงสตางค์ แล้วโฆษณาจะมีเต็มที่แค่ 30 เปอร์เซ็นต์ สมมติล้านวิว โฆษณาจะมีแค่ 3 แสนวิว แล้วคิดดูว่า 3 แสนวิวนั้นถูกข้ามไป จะดูจริงๆ แค่กี่วิว โอ้โห แล้วเพลงหนึ่งกว่าจะคืนทุนในแง่การทำเพลงกับการทำเอ็มวีต้องมี 50 ล้านวิวขึ้นไป คิดตามว่ามีศิลปินที่เจ๊งเพราะผลิตเพลงที่ยอดไม่ถึง 50 ล้านวิวกี่หมื่นเพลง

ถ้าแฟนคลับเข้าใจ ดูเขาซะหน่อย ไม่ต้องเสียตังค์ซื้อ แต่ช่วยดูเขาแค่ 6 วินาทีเอง อย่างน้อยก็สนับสนุนเขา 

แล้วในฐานะคนทำเพลง คุณคิดว่าอะไรทำให้ T-pop สามารถอยู่รอดได้ต่อไป

เอฟู : นอกจากการสนับสนุนจากคนฟัง ทุกๆ แนวแหละไม่ใช่แค่ T-pop ถ้าคนมันฟัง เราก็อยู่ได้ ในฝั่งคนทำเพลง ถ้าตั้งใจทำจริงๆ ก็ต้องทำตอบโจทย์คนฟัง

ก๊อป : แต่บางคนอาจจะแข็งแรงถึงขนาดทำเพลงตอบโจทย์ตัวเองนี่แหละ แต่มันไปตอบโจทย์คนดูด้วย ก็มีไง แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องคิดถึงคนฟังว่า อะไรที่เขาเสพ เขาชอบอะไร

เอฟู : เราคิดว่าคนไทยยังไงก็ชอบอะไรที่มันเป็น happiness เป็นอะไรที่มุ้งมิ้ง ฟีลกู้ด เหมือนละครน่ะ พอทำแอ็กชั่นแบบฝรั่งขึ้นมาก็ไม่น่าเชื่อ มันก็จะออกแนวแบบ หือ อะไรวะ ถ้าเป็นแอ็กชั่นก็ต้องเป็นบั้งไฟฟิล์ม แบบหม่ำอะไรยังงี้ เราทำสื่อเรารู้อยู่แล้ว รสชาติคนไทย

 

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน