ไม่ใช่เรื่องแปลก – วันนี้คนในสังคมคงรู้แล้วว่าพื้นที่สีเขียวสำคัญขนาดไหนสำหรับคนเมือง
ไม่ใช่เรื่องแปลก – หลายคนเริ่มออกมาพูดและเขย่ากระแสนี้เพื่อให้รอบๆ ตัวเกิดความตระหนัก
ไม่ใช่เรื่องแปลก – ปัจจุบันเราเห็นการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรต่อมิอะไรมากมาย
แต่
ไม่ใช่เรื่องปกติ – ที่จะมีใครสักคนอยากรู้จริงๆ ว่าพื้นที่สีเขียวสำคัญกับเมืองอย่างไรในทุกๆ มิติ
น่าเศร้า, แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปกติ – ที่การเคลื่อนไหวเพื่อช่วยเหลือเรื่องเหล่านี้จะประสบความสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรมได้
และถ้ามีเรื่องไม่ปกตินี้เกิดขึ้น
เราคิดว่าการตกตะกอนซึ่งวิธีการของคนที่ทำได้น่าจะเป็นอะไรที่ควรค่าแก่การสืบค้น
นั่นเป็นเหตุผลที่เราเดินทางไปเชียงใหม่เพื่อสนทนากับ ปอ–ภราดล พรอำนวย ผู้ริเริ่มโปรเจกต์ ‘มือเย็นเมืองเย็น’
1
พระอาทิตย์เพิ่งลาขอบฟ้า สวนทางกับการมาของอากาศเย็นสบาย
ความบังเอิญที่เหมือนละครแต่ไม่ใช่ เราพบกับปอครั้งแรกใต้ต้นไม้ใหญ่ที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งนอกเมืองเชียงใหม่โดยไม่ได้นัดหมาย
ตามหลักการ เราควรได้คุยกับเขาในอีก 2 วันหลังจากนี้ แต่จากอีเวนต์ที่รีสอร์ตจัดขึ้น เราเข้าร่วมในฐานะสื่อ ส่วนปอเข้าร่วมในฐานะนักดนตรีแจ๊สที่ถูกเชิญมาเล่นในงาน เราจึงได้พบกันก่อนกำหนด
หลายคนรู้จักปอจากบทบาทนี้และอีกหลายๆ บทบาท
เขาเป็นนักดนตรีแจ๊สผู้ก่อตั้ง North Gate Jazz Co-Op บาร์แจ๊สชื่อดังประจำจังหวัดเชียงใหม่
เขาเป็นนักเขียน ผลงานหนังสือ ลมใต้ปอด ของเขาว่าด้วยเรื่องการเดินทางของปอกับแซกโซโฟนจากเชียงใหม่ไปรัสเซียด้วยรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียน
และกับบทบาทล่าสุด เขาเป็นนักเคลื่อนไหวหลักของโปรเจกต์ ‘มือเย็นเมืองเย็น’ โปรเจกต์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้วเพื่อรณรงค์ให้คนตระหนักและหันมาปลูกต้นไม้เยอะๆ และเรื่องนี้เองคือสาเหตุที่เรามาเชียงใหม่เพื่อคุยกับปอ
“ดีเลยที่มาคุยกันเรื่องนี้ ผมกำลังต้องการบอกต่ออยู่พอดี” ปอบอกกับเราสั้นๆ ก่อนขึ้นเวทีไปบรรเลงตัวโน้ตขับกล่อมคนฟัง
คืนนั้นบทเพลงแจ๊สขับขานท่ามกลางต้นไม้เขียว อากาศเย็นสบายโอบกอดเรา
2
สองวันถัดมาท่ามกลางอากาศร้อนจัดในตัวเมือง เรานัดพบปอที่ใต้ต้นไม้ใหญ่แถวคูเมือง ชายหนุ่มรูปร่างสูงโปร่งปรากฏตัวด้วยท่าทีสบายๆ พร้อมทักทายเราอย่างเป็นกันเอง
“หนีควันฝุ่นจากกรุงเทพฯ มาเหรอ เป็นไง ลำบากไหม” แทนที่จะได้เปิดการสนทนา แต่ปอชิงถามเราก่อน
“น่าจะเหมือนเชียงใหม่ที่มีหมอกควันทุกปีหรือเปล่า” เราตอบกลับเป็นคำถามเพื่อขอความเห็น
“ผมว่าคำถามนี้เกี่ยวกับทั้งตัวรัฐ ตลาดทุน และสังคมวัฒนธรรมเลยนะ พอสังคมวัฒนธรรมถูกให้ค่าน้อย มันเลยเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้นมาทั้งเชียงใหม่และกรุงเทพฯ เลย”
ถ้าได้รู้จักปอ จะรู้ว่าบทสนทนาแบบนี้เป็นเรื่องปกติ
ในเรื่องง่าย เขามักมองให้ยากเพื่อให้เห็นภาพรวมเสมอ แต่พอเป็นเรื่องยาก เขาก็มักจะคิดสังเคราะห์วิธีแก้ให้ง่าย และกับโปรเจกต์มือเย็นเมืองเย็นที่เขาเริ่มต้นเมื่อราว 4 ปีก่อนก็เช่นกัน
“มือเย็นเมืองเย็นเกิดจากความคิดแบบง่ายๆ” ปอเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้น
“ผมขับมอเตอร์ไซค์อยู่ในคูเมืองเนี่ยแหละแล้วเกิดรู้สึกร้อน ผมคิดแค่ว่าถ้ามีปัญหาเรื่องอากาศก็ปลูกต้นไม้ คิดแค่นั้นเอง เพราะจะช้าจะเร็วมันก็ต้องปลูก ไม่มีทางอื่น”
“แค่เพราะร้อนแค่นั้นเหรอ” เราถามแย้ง
“พื้นที่สีเขียวมันลดลงด้วย เราไม่ได้พูดถึงต้นไม้อย่างเดียว แต่รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำที่ทำให้อุณหภูมิเมืองเย็นขึ้นมากกว่าต้นไม้อีก การขยายตัวของเมืองเชียงใหม่ทำให้เราเสียพื้นที่ตรงนี้ไปเยอะ และยิ่งร้อน ต้นไม้ในเมืองที่ยังเหลือก็อ่อนแอลงไปอีก
“ผมเข้าใจนะ ทุกตารางนิ้วของความเป็นเมืองมีค่า เราไม่ได้อยากให้ทางเดินทุกที่เต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดนั้น แต่เราแค่ไม่ได้ออกแบบผังเมืองให้มันเข้มเข็งเลย มีแต่การขยายตัวแต่ลดต้นไม้ ซึ่งผังเมืองก็สะท้อนถึงเรื่องการเมืองที่อ่อนแออีก เราไม่รู้ว่าใครจะรับผิดชอบความเสียหายตรงนี้ เราไม่มีการพูดคุยกันอีกต่างหาก สรุปว่าเราขาดองค์ความรู้จนทำให้เมืองร้อนขึ้นและเสียต้นไม้ดีๆ เยอะเกินไป”
การทำให้ตัวเองรู้ นี่เองคือก้าวสำคัญของมือเย็นเมืองเย็น
3
เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้และการทำให้เมืองเย็นขึ้น ในปีแรกของมือเย็นเมืองเย็น ปอคุยกับผู้รู้ทั่วเชียงใหม่ และในปีที่ 2 เขาโบกรถเดินทางทั่วประเทศ 3 เดือน
การเดินทางในครั้งนั้นพาเขาไปเจอปราชญ์ชาวบ้านที่รักสิ่งแวดล้อมกว่าสิบชีวิต ตั้งแต่ดาบวิชัยที่ศรีสะเกษ ลุงโชคที่เขาแผงม้า ทีมโมเดลไร่แม่ฟ้าหลวงที่ดอยตุง ครูตี๋ที่แม่น้ำของ และอาจารย์เจี๊ยวที่สมุทรสงคราม องค์ความรู้ที่ได้มาจากคนที่ลงมือทำ ทำให้เขาสามารถมองภาพรวมของปัญหานี้ได้กว้างขึ้น
“ผมได้เรียนรู้ว่าคำว่า ต้นไม้ มันสัมพันธ์กับหลายมิติ ใช่ เราอยากปลูกต้นไม้ แต่การปลูกต้นไม้ต้องมีองค์ประกอบ คุณมีที่ให้เขาหรือเปล่า ต้นไม้ไม่ได้โตไปตรงๆ แต่มันแผ่กิ่งก้าน ดังนั้นคุณพร้อมดูแลหรือเปล่า
“มันเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับโลกน่ะ ต้องมีน้ำ ต้องมีคนปลูก ต้องมีเมล็ดพันธุ์ ต้องมีองค์ความรู้ ผมพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จะสร้างกันได้ง่ายๆ ดังนั้นกับมือเย็นเมืองเย็นเลยเป็นเหมือนการทดลองมากกว่า”
มือเย็นเมืองเย็นเกิดจากปอผู้เป็นคนริเริ่มกับพรรคพวกที่อยากเห็นเมืองดีขึ้น ทุกคนค่อยๆ เติมแต่งมือเย็นเมืองเย็นขึ้นมาและสิ่งที่พวกเขาทำนั้นก็มีหลากหลาย ตั้งแต่การให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกต้นไม้ การจัดหาเมล็ด การจัดการแหล่งน้ำ การสื่อสารเพื่อให้คนมารวมกันปลูกต้นไม้ได้จริง สุดท้ายหนึ่งในอีเวนต์ใหญ่ที่พวกเขาทำได้สำเร็จคือการชวนคนมาปลูกต้นไม้รอบคูเมืองเชียงใหม่ได้ถึง 800 ต้น
“ดูมือเย็นเมืองเย็นทำหลายอย่างมาก แล้วคุณเองนิยามสิ่งที่ทำว่าอะไร” เราถาม
“ผมคิดว่าหลักๆ ที่เราทำคือออร์กาไนซ์” ปอตอบ แต่ก่อนที่เราจะถามว่าทำไม เขาก็ชี้แจงต่อ
“จริงๆ แล้วเรื่องจิตใจน่ะไม่ยากหรอก คนที่เขาอยากปลูกต้นไม้มีเยอะอยู่แล้วนะ แต่หลังจากนั้นแหละที่ยากเพราะมันต้องมีการออร์กาไนซ์ ไม่ว่าหลักการจะดีแค่ไหน ถ้าไม่มีออร์กาไนซ์ก็ทำไม่ได้ มือเย็นเมืองเย็นเข้ามาเป็นตัวกลางตรงนี้ เราเข้ามาขยับให้ความคิดกลายเป็นการทำได้จริงเชิงระบบ
“ยกตัวอย่างว่าผมไปเจอต้นไม้ที่โดนซีเมนต์ทับราก ถ้าเราจะแก้ เราต้องเห็นมันทั้งระบบให้ได้ เราต้องมองให้เห็นว่าต้นไม้ต้นนี้คือต้นอะไร อะไรอยู่ข้างใต้ มีท่อน้ำไหม ใครเป็นคนเทซีเมนต์ ใครเป็นคนรับผิดชอบพื้นที่นี้ นี่หน้าบ้านใคร และอีกมากมาย เราต้องลากเส้นให้เห็นความสัมพันธ์ว่าจากต้นไม้ต้นหนึ่งที่โดนซีเมนต์ทับราก มันเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไรและการที่จะแก้ไขมันต้องไปคุยกับใครบ้าง การเข้าไปคุยก็เป็นเรื่องการสื่อสารให้เขาเห็นภาพตาม พอเขาเห็นภาพชัด เราก็จะแก้ไขได้
“ออร์กาไนซ์คือเรื่องแบบนี้ ยิ่งถ้าเรารวมคนที่เชื่อในบางอย่างร่วมกันได้ มันจะเกิดพลัง และพลังที่ก้าวข้ามกรอบความคิดเดิมๆ ที่เคยมีมาได้
“ถ้ารอให้รัฐจัดการ รัฐก็จะมีกลไกแบบรัฐ ถ้าให้ NGO เขาก็จะมีกลไกแบบ NGO หรือถ้าให้เอกชนก็จะมีกลไกแบบเอกชน คือแต่ละอันก็ทำงานได้ในแบบของมันนะ แต่กับปัญหาใหม่ๆ อย่างเรื่องต้นไม้ที่เกิดขึ้น ผมรู้สึกว่าบางทีถ้ารอให้หน่วยงานเหล่านี้ทำ มันจะช้าไปหรือติดพันธกิจของแต่ละที่ ดังนั้นสิ่งจำเป็นคือภาคประชาชน ชนชั้นกลาง คนรุ่นใหม่ และพลังการออร์กาไนซ์ เราสามารถช่วยกันแก้ปัญหาให้ฉับพลันทันท่วงทีได้
“คนทุกคนฝันถึงความเปลี่ยนแปลงแหละ แต่การทำจริงต้องใช้ทั้งเวลาและการจัดการ”
4
หลังจากสนทนากันสักพักใต้ต้นไม้ใหญ่ ปอพาเราขึ้นรถกระบะคู่ใจเพื่อไปทัวร์รอบคูเมืองเชียงใหม่
ถ้าสังเกตคูเมืองเชียงใหม่ตอนนี้ เราจะเห็นต้นไม้ต้นเล็กๆ ขึ้นอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่จำนวนมาก นี่เป็นผลงานของปอและทีมมือเย็นเมืองเย็นใน 4 ปีที่ผ่านมา จากความพยายามทั้งหมดของพวกเขา ปัจจุบันมันกำลังออกดอกออกผล (และออกใบ) แล้ว
“แล้วการออร์กาไนซ์ให้เกิดขึ้นจริง มันเกิดปัญหาระหว่างทางบ้างหรือเปล่า” เราเสียมารยาทชวนปอคุยหลังพวงมาลัยระหว่างชมต้นไม้
“หลายอย่างเลย” ปอตอบพร้อมชี้ให้เราดูต้นไม้ต้นหนึ่งที่โตขึ้นหนีร่มของต้นไม้ใหญ่เข้าหาแสง
“ไม่ใช่ว่าที่เราทำจะไม่เจอปัญหา แต่ทุกครั้งที่เราเจอ ผมมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนต้นไม้ที่โตไปแล้วติดอะไรสักอย่าง เขาก็ไปอีกทางหนึ่ง เหมือนเด็กน้อยที่กำลังโตเข้าหาแสงน่ะ ถ้าคุณอยากทำอะไรใหญ่ๆ คุณก็ต้องค่อยๆ ขยับไปหาจังหวะที่ลงตัว ผมเป็นนักดนตรีใช่ไหม เวลาเราจะอิมโพรไวส์ ผมต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมก่อนว่าเพื่อนเล่นอะไรกันอยู่ ตัวไหนเราเสริมได้เราก็เสริม เป็นเรื่องแบบนั้นมากกว่า”
“ถ้าให้ถอดบทเรียน คิดว่าทำไมมือเย็นเมืองเย็นถึงสร้างแรงเขย่าได้มากขนาดนั้น” เราถามเพื่อให้ปอลองตกผลึก
“ทั้งชื่อและงานทั้งหมดที่เราทำจริงๆ มันเกิดจากหลายส่วนนะ แต่คำพูดที่เราจำได้ดีที่สุดเลยคือคำพูดของพะตีจอนิ ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ ที่อำเภอแม่วาง แกพูดว่า ‘อยู่ที่ไหนก็ปลูกที่นั่น’ ถึงขั้นตอนออร์กาไนซ์จะยาก แต่ผมยึดหลักการตรงนี้เป็นหลัก มันง่ายแต่มันแน่นอน ถ้าเราอยู่ที่นี่และปลูกที่นี่ก็แปลว่าเราดูแลรักษาได้ เราเข้าใจมันได้และจะเห็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยตรง
“หลายคนอาจจะคิดว่าขอบเขตของบ้านคือภายในรั้วที่เราอยู่ แต่ความคิดของคนที่อยู่กับธรรมชาติในยุคสมัยหนึ่ง ขอบเขตของบ้านไม่ใช่แค่รั้วนะ แต่บ้านของพวกเขาคือภูเขาทั้งลูก ดังนั้น ‘อยู่ที่ไหนปลูกที่นั่น’ มันสามารถหมายถึงพื้นที่ที่ใหญ่กว่าตัวเรามากๆ เลย แต่ถ้าเรามองที่ที่เราอยู่แค่ในรั้ว เวลามีปัญหา เราจะไม่เห็นผลประโยชน์ร่วมกันของมนุษย์เลย ขอบเขตแนวคิดนี้ทำให้เราถูกตีกรอบ อย่างเรื่องต้นไม้เป็นต้น”
“สุดท้ายที่เราทำ เราก็หวังว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้นะ เราเห็นแหละว่าต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยก็น่าจะมีคนที่ได้รับไม้ต่อจากเราไปเรื่อยๆ เหมือนทุกเรื่องที่ดีขึ้น เขาก็ใช้เวลากันเป็นร้อยปี ดังนั้นถ้าตอนนี้เรามีความหวังอยู่ เราก็ทำเถอะ คนที่รับไม้ต่อเขาจะได้พลังเหมือนที่เราได้มา ก่อนหน้านี้มีคนทำมาก่อนเราตั้งเยอะ ดังนั้นมันจะส่งต่อกันแบบนี้เรื่อยๆ เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง”
ทันทีที่พูดจบ รถกระบะของปอก็จอดหน้าร้าน North Gate Jazz Co-Op ของปอพอดี
“ต้นไม้ต้นแรกที่ผมปลูกอยู่ตรงข้ามร้านนี่เอง”
5
“นี่เป็นต้นยางนา เดี๋ยวถ้ามันโตเต็มที่มันจะกลายเป็นต้นไม้ใหญ่” ปอแนะนำให้เรารู้จักกับต้นไม้ต้นแรกที่เขาปลูกเองกับมือ
ปอเล่าติดตลกว่ากว่าต้นยางนาจะอยู่ตรงนี้ได้ เขาก็ต้องปลูกเป็นต้นที่สอง เพราะพอปลูกต้นแรกไม่กี่วัน ต้นไม้ก็ถูกขุดหายไป ปอเอาเรื่องนี้ลงเฟซบุ๊กพร้อมกับปลูกต้นยางนาใหม่ สุดท้ายเรื่องนี้ก็เป็นกระแสจนไม่มีใครกล้าลักพาต้นยางนาให้หายไปอีก
“หลังจากทำมา 4 ปี เวลาเห็นต้นไม้ที่เกิดจากเราตอนนี้ คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง” เราถามคำถามสุดท้ายเพื่อให้ปอได้สรุปใจความ
“เราเห็นมันทุกวัน เราอยู่ที่นี่ เราขับรถผ่าน เราก็เห็นมันทุกวัน ผมว่าสิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์นะ เราปลูกจริง รดน้ำจริง และเห็นมันโตขึ้นจริงๆ ผมค้นพบทั้งในแง่ของความรู้และจิตวิญญาณระหว่างมนุษย์กับโลกโดยตรง ไม่ใช่แค่เรามาปลูกแล้วก็จบไปแต่เราเรียนรู้ไปพร้อมกับต้นไม้ที่ปลูกเสมอ”
ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่า แต่เรารู้สึกว่าต้นยางนาตรงหน้ากำลังค่อยๆ เติบโต
เช่นเดียวกับปอที่กำลังค่อยๆ เติบโต
และภายใต้แสงแดดยามบ่าย
เรารู้สึกว่าเชียงใหม่กำลังเย็นขึ้น