ไปเก๊าไม้กับเค้ามั้ย? ตามไปฟังวิธีคิดงานออกแบบเจ้าของรางวัลยูเนสโกโดยทีม Kaomai Estate 1955

Highlights

  • เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์การยูเนสโกเอเชีย-แปซิฟิกได้ประกาศรายชื่องานออกแบบที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม สาขาการออกแบบใหม่ในบริบทมรดก ประจำปี 2018 และหนึ่งในชื่อที่อยู่ในลิสต์นั้นมีโครงการ ‘Kaomai Estate 1955’ รวมอยู่ด้วย
  • เราได้สนทนากับสถาปนิก 3 คนผู้อยู่เบื้องหลังของโครงการ ทั้ง 3 คนเห็นตรงกันว่าบริเวณเก๊าไม้แห่งนี้มีคุณค่าทั้งทางด้านวัตถุและเรื่องราวอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่พวกเขาต้องทำคือรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้และเสริมสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น
  • ปัจจุบันโครงการ Kaomai Estate 1955 ประกอบไปด้วยทางเดินประวัติศาสตร์ที่จะทำให้ผู้ชมเข้าใจความเป็นมาของที่นี่ คาเฟ่โรงบ่มที่ดัดแปลงมาจากโรงบ่มแฝดและลานอเนกประสงค์ที่ไว้ทำกิจกรรมซึ่งเป็นพื้นที่ตรงกลาง

ผนังกำแพงที่ปกคลุมไปด้วยต้นตีนตุ๊กแกเขียวชอุ่มคือสิ่งที่ใครหลายคนจำได้เกี่ยวกับ ‘เก๊าไม้ ล้านนา รีสอร์ท’

รีสอร์ตแห่งนี้ตั้งอยู่บนถนนเชียงใหม่-ฮอด อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ความร่มรื่นและเหล่าต้นไม้นานาพันธุ์คือสิ่งดึงดูดให้ใครหลายคนต่างปักหมุดที่นี่เป็นจุดหมาย ภาพถ่ายกับกำแพงเขียวกลายเป็นลายเซ็นที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องมาเก็บภาพไว้เป็นความทรงจำสักครั้งเมื่อมาถึงเชียงใหม่

เก๊าไม้ ล้านนา

เก๊าไม้ ล้านนา

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ความสำเร็จของเก๊าไม้ถูกต่อยอดไปไกลกว่านั้น

องค์การยูเนสโกเอเชีย-แปซิฟิก ประกาศรายชื่องานออกแบบที่ได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage Conservation) สาขาการออกแบบใหม่ในบริบทมรดก (New Design in Heritage Contexts) ประจำปี 2018 และในลิสต์นั้นมีชื่อ Kaomai Estate 1955 รวมอยู่ด้วย

Kaomai Estate 1955 คือชื่อโครงการที่เป็นส่วนต่อขยายของเก๊าไม้ ล้านนา รีสอร์ท พูดให้เข้าใจง่ายคือบริเวณด้านหลังกำแพงเขียวที่หลายคนจำได้ พวกเขาปรับปรุงพื้นที่ตรงนั้นที่แต่ก่อนเป็นโรงงานบ่มใบยาสูบเก่ากลางป่าอายุกว่า 60 ปี ให้กลายเป็นทางเดินประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ และคาเฟ่

ฟังผ่านๆ อาจดูขัดแย้ง เพราะการเปลี่ยนโรงบ่มเป็นสามสิ่งที่ว่าดูช่างไม่เข้ากับชื่อรางวัล ‘อนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม’ เอาเสียเลย แต่ถ้าทราบเบื้องหลัง เราจะเข้าใจที่มาของการเปลี่ยนแปลงนี้มากขึ้น

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เชิญเดินตามเส้นทางที่ถูกปกคลุมด้วยเงาไม้และใบหญ้า

เรากำลังเดินตามรอยการออกแบบของผู้อยู่เบื้องหลัง Kaomai Estate 1955

เก๊าไม้ ล้านนา

เริ่มต้นกับเค้ามั้ย? จุดเริ่มต้นจากธุรกิจถึงธรรมชาติ

ถ้าจะเข้าใจโครงการ Kaomai Estate 1955 ในทุกองค์ประกอบ เราคงต้องเล่าย้อนกลับไปกว่า 60 ปีก่อน

เล่าให้ฟังอย่างง่าย พื้นที่บริเวณนี้เป็นโรงบ่มใบยาสูบเก่าของบริษัท แม่ปิงยาสูบ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 ในเวลานั้นโรงบ่มยังทำมาจากไม้ขัดฉาบปูน ก่อนจะค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้อิฐในการสร้างโรงบ่มใหม่ จนเมื่อปี พ.ศ. 2529 คุณธวัช เชิดเสถียรกุล เข้ามาซื้อกิจการโรงบ่มยาสูบนี้พร้อมเปลี่ยนวัสดุสร้างโรงบ่มใหม่ให้เป็นอิฐบล็อกแทน แต่เนื่องจากปัญหาด้านตลาดยาสูบ กิจการโรงบ่มจึงมีอันต้องปิดลงในเวลาต่อมา

แต่นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของต้นไม้ที่ค่อยๆ ขึ้นปกคลุมเก๊าไม้แบบในปัจจุบัน

คุณธวัชค่อยๆ เปลี่ยนแปลงโรงบ่มที่ไม่ใช้แล้วให้กลายเป็นที่พักจากโอกาสที่เกิดขึ้น เขาเริ่มปลูกต้นตีนตุ๊กแกและดูแลต้นไม้อื่นๆ โดยรอบให้งอกงาม เมื่อเสริมกับใจที่รักในธรรมชาติอยู่แล้วทำให้ที่นี่ค่อยๆ มีบรรยากาศที่รื่นรมย์มากขึ้น สุดท้ายหลังจากปิดโรงบ่มไป 2 ปี พื้นที่แห่งนี้ก็กลายเป็นที่พัก เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาพักผ่อนกายใจได้

กิจการที่ดำเนินท่ามกลางธรรมชาติสืบเนื่องต่อมาอีกหลายปี จนถึงรุ่นลูกของคุณธวัชอย่าง คุณจักร เชิดเสถียรกุล ที่เข้ามารับช่วงดูแลต่อจากพ่อ วิสัยทัศน์ของคุณจักรทำให้เก๊าไม้ ล้านนา รีสอร์ท เริ่มกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปแบบในปัจจุบันด้วยการเปลี่ยนที่นี่ให้เป็นบูทีกรีสอร์ต และคุณจักรนี่เองที่เป็นคนริเริ่มโครงการ Kaomai Estate 1955 ให้เกิดขึ้นเมื่อปี 2559 พร้อมกับนำทีมสถาปนิกจากหลายๆ องค์กรมารวมตัวกันเพื่อพัฒนาให้ที่นี่กลายเป็นภาพในฝัน

และพวกเขาก็ทำสำเร็จแล้วในวันนี้

เก๊าไม้ ล้านนา

เดินไปกับเค้ามั้ย? ทางเดินประวัติศาสตร์จากอดีตถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันถ้าเราอยากสัมผัส Kaomai Estate 1955 อย่างเต็มที่ นำชัย แสนสุภา แนะนำว่าให้เราเริ่มต้นที่ส่วนในสุดของทางเดินประวัติศาสตร์

นำชัยเป็นภูมิสถาปนิกของ Shma SoEn หนึ่งในทีมสถาปนิกที่เข้าปรับปรุงพื้นที่ของเก๊าไม้ หน้าที่หลักของเขาคือการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบทั้งหมดของโครงการ ทำมาสเตอร์แพลนและวางโครงสร้างเส้นทางประสบการณ์ที่คนที่เข้าชมจะได้พบเจอ

นี่เองจึงเป็นที่มาของทางเดินประวัติศาสตร์ที่เรากำลังเดินอยู่

“ที่นี่มีของดีอยู่แล้ว” นำชัยบอกกับเราเป็นประโยคแรกระหว่างที่เท้าของเราเดินย่ำอยู่บนพื้นกรวด

“สำหรับผม เก๊าไม้มีทั้งของที่จับต้องได้อย่างตัวอาคารและต้นไม้ และสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างบรรยากาศหรืออารมณ์ ที่นี่มีสิ่งสำคัญที่สุดคือหลักฐานทางช่วงเวลาและการเปลี่ยนผ่าน เหตุนั้นเอง เราจึงอยากสื่องานออกแบบของเราออกมาโดยยังรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้และทำเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น”

เก๊าไม้ ล้านนา

ถ้าเราเริ่มต้นเดินจากจุดแรกของเส้นทาง เราจะเข้าใจคำบอกเล่าของนำชัยเป็นอย่างดี

เมื่อมองดูโรงบ่มไม้ขัดที่อยู่ข้างเรา เราจะสังเกตได้ว่าโรงบ่มนี้มีสภาพเก่าและพังที่สุด ตรงกับความตั้งใจของนำชัยที่อยากให้คนที่เข้ามาได้เริ่มต้นเดินจากจุดแรกเริ่มของเก๊าไม้เมื่อกว่า 60 ปีก่อน หลังจากนั้นทางเดินพื้นกรวดจะพาเราเดินลัดเลาะใต้ร่มไม้ไปเจอกับโรงบ่มอิฐที่เป็นพิพิธภัณฑ์และคาเฟ่ซึ่งเป็นของใหม่สุดตามลำดับ

“เราวางลำดับการเดินให้เป็นเหมือนการเดินทางย้อนเวลาจากจุดเริ่มต้น โรงบ่มแรกที่เราเห็นเป็นตัวแทนของยุคเก่า เหมือนเราดูหนังที่เริ่มต้นด้วยฉากแฟลชแบ็ก หลังจากนั้นเราจะค่อยๆ เจอโรงบ่มที่ใหม่ขึ้นอย่างโรงบ่มอิฐธรรมดาและโรงบ่มอิฐบล็อกจนมาถึงยุคปัจจุบัน

เก๊าไม้ ล้านนา

เก๊าไม้ ล้านนา

เก๊าไม้ ล้านนา

“ทั้งหมดที่เราทำจะเป็นทางเดินเฉยๆ ที่ไม่ได้บอกอะไรผู้ชมมาก เหมือนให้คนดูได้สืบค้นไปในยุคต่างๆ ของเก๊าไม้ที่ซ่อนตัวอยู่” นำชัยเล่าให้เราฟังก่อนจะมาหยุดที่ลานใกล้คาเฟ่ บริเวณนี้เองที่เป็นจุดสุดท้ายและอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญของ Kaomai Estate 1955

“ก่อนหน้านี้ที่ตรงนี้เป็นที่จอดรถของรีสอร์ตครับ แต่เรามองว่าบริเวณนี้คือตรงกลางที่เชื่อมทุกสิ่ง ตั้งแต่โรงบ่มทุกยุค โรงเก็บของด้านข้าง คาเฟ่และผนังเขียวของรีสอร์ตที่ใครหลายคนรู้จัก ความหลากหลายตรงนี้ทำให้เราตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็น open space เราสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้ได้ทั้งการจัดงานเลี้ยง งานแต่งงาน ตลาดนัดช่วงวันหยุดหรือเป็นจุดนัดพบ ความยืดหยุ่นของพื้นที่ทำให้เจ้าของสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้ในหลายๆ ด้าน”

เก๊าไม้ ล้านนา

นั่งพักกับเค้ามั้ย? จากโรงบ่มถึงคาเฟ่ห้องกระจกรอบด้าน

จุดดึงดูดสายตาที่สุดของ Kaomai Estate 1955 คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากคาเฟ่โรงบ่ม

ถ้าพิจารณาด้วยสายตาดีๆ โรงบ่มแห่งนี้แตกต่างกับโรงบ่มโดยรอบอยู่พอสมควร ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ของเก๊าไม้ดู เราจะพบว่าโรงบ่มนี้เป็นโรงบ่มแฝด เหตุเพราะโรงบ่มเก่าอันเดิมเกิดไฟไหม้ ทำให้มีความจำเป็นต้องสร้างอีกหลังไว้คู่กัน เมื่อโครงการ Kaomai Estate 1955 เกิดขึ้น บริเวณนี้จึงถูกเลือกมาทำเป็นคาเฟ่

เมื่อเดินเข้าไป เราจะพบว่าคาเฟ่แห่งนี้มี 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นเคาน์เตอร์บาร์พร้อมที่นั่ง ชั้นบนเป็นที่นั่งพร้อมระเบียงที่ยื่นออกไปด้านนอก ผนังด้านหนึ่งของคาเฟ่ชั้นบนจะประกอบไปด้วยภาพเก่าของเก๊าไม้ที่เป็นเหมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ผนังอีกด้านจะมีวัสดุตัวอย่างแปะอยู่ซึ่งเป็นตัวแทนของช่วงเวลาในแต่ละยุค เมื่อบวกกับผนัง 2 ด้านที่เป็นกระจกใสให้แสงลอดผ่าน ความรู้สึกของเราเมื่อเดินเข้ามาที่คาเฟ่เลยคล้ายกับการเดินเข้าไปในโรงบ่มจริงๆ อย่างไรอย่างนั้น

“โครงสร้างอาคารของที่นี่มีลักษณะเฉพาะอยู่แล้ว” กรชวัล ชวนะวิรัช สถาปนิกที่รับผิดชอบงานออกแบบในส่วนของคาเฟ่โรงบ่มบอกกับเรา “สำหรับเรางานนี้ง่ายมาก เพราะเรารู้สึกว่าสถานที่ตรงนี้ใหญ่กว่าดีไซน์”

เก๊าไม้ ล้านนา

เก๊าไม้ ล้านนา

เก๊าไม้ ล้านนา

ในแง่การปรับปรุงพื้นที่ คาเฟ่แห่งนี้ดูจะมีงานที่ต้องปรับปรุงมากที่สุดถ้าเทียบกับทุกจุด แต่คำว่า ‘สถานที่ใหญ่กว่าดีไซน์’ ที่กรชวัลบอกกับเรา มันแสดงออกมาผ่านการออกแบบที่เกิดขึ้นตรงหน้า แม้จะเป็นส่วนที่มีงานต้องทำเยอะที่สุด แต่เขายืนยันกับเราว่าสิ่งที่ต้องทำกลับเป็นการทำให้น้อยที่สุดต่างหาก

“สิ่งนี้เหมือนเป็นโจทย์ของพื้นที่อยู่แล้ว ต้นไม้ที่นี่สวย สถานที่ก็มี เราแค่ต้องเก็บของเก่าให้ได้มากที่สุดและเสริมของใหม่เท่าที่จำเป็น

“อย่างหลังคาของเดิมที่เป็นไม้ซึ่งไม่ครอบคลุมและกันฝนไม่ได้ เราก็แค่เอาโครงสร้างเหล็กมาเสริมโครงสร้างเดิม เราใช้เหล็กเพราะมันง่ายต่อคนของที่นี่ในการซ่อมแซมในอนาคต หรือการที่เราอยากให้แสงเข้าเพราะโรงบ่มดั้งเดิมมันมืด เราก็เติมกระจกเข้าไป ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน” ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ยิ่งกรชวัลเล่าต่อไป เรายิ่งได้รู้ว่าในความง่ายของเขานั้น มีความตั้งใจอันเต็มเปี่ยมอยู่ในงานออกแบบชิ้นนี้

เก๊าไม้ ล้านนา

เก๊าไม้ ล้านนา

“จริงๆ แล้วเราไม่อยากให้อาคารหลังนี้เด่นเกินพื้นที่ครับ แค่การทำเป็นคาเฟ่ก็เด่นพออยู่แล้ว ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเราใช้ต้นไม้บังตรงฐาน เราทำเพื่อจงใจลดความเด่นและให้มันกลมกลืน สังเกตได้ว่าถ้าถ่ายรูป คาเฟ่โรงบ่มจะดูเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่ มากกว่าเป็นอะไรไม่รู้ที่โผล่ขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่เข้ากับโดยรอบ เราอยากให้ที่นี่มีความรู้สึกคล้ายชาวบ้านมาปลูกอาคารตามป่า

“อย่างอิฐที่เอามาทำเคาน์เตอร์ในคาเฟ่ เราก็เอามาจากเศษอิฐที่เหลือจากการทุบผนัง เราพยายามเสิร์ฟทุกอย่างให้สอดคล้อง เราไม่ได้อยากให้ตรงนี้เป็นที่โชว์งานของสถาปนิก เพราะถ้าเราทำได้ อาคารนี้จะเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ คนเมืองที่เข้ามาเห็นจะรู้สึกอีกแบบ เขาจะรู้สึกผ่อนคลายเหมือนได้หนีความเป็นเมือง ดีกว่าโชว์ตัวอาคารจนมีความเป็นเมืองมากไป”

เก๊าไม้ ล้านนา

อยู่กับเค้ามั้ย? ออกแบบแบบพอดีจากต้นไม้ถึงอาคาร

จากการสนทนากับสถาปนิกทั้งสอง เราพบว่างานออกแบบของพวกเขาทั้งคู่ต่างเสิร์ฟต้นทุนเดิมของสถานที่ที่เก๊าไม้มีอยู่แล้ว

ไม่ว่าจะเป็นการทำทางเดินประวัติศาสตร์ที่ยึดเอาสิ่งที่มีอยู่เดิมเป็นตัวโชว์ หรือการดัดแปลงขนานใหญ่จากโรงบ่มเป็นคาเฟ่ พวกเขายังพยายามให้หลายๆ อย่างคงเดิมมากที่สุด แต่ถ้าจะหาใครสักคนที่เล่าเบื้องหลังงานออกแบบนี้ได้อย่างครอบคลุม เราคิดว่า พชรพรรณ รัตนานคร น่าจะเป็นคนนั้น

พชรพรรณเป็นหนึ่งในทีมจาก PAVA architects กลุ่มสถาปนิกที่เข้ามารับผิดชอบมาสเตอร์แพลนและการดัดแปลงในส่วนพิพิธภัณฑ์ ที่น่าสนใจตรงความเป็นมาของงานออกแบบที่อนุรักษ์ของเดิม เธอบอกกับเราว่ามันจำเป็นมากๆ ที่ต้องเริ่มจากการรู้จักพื้นที่ตรงนี้จริงๆ เสียก่อน

เก๊าไม้ ล้านนา

“ความตั้งใจแรกของเราคือการรักษาคุณค่าทั้งหมดของที่นี่ไว้ ดังนั้นเนื้องานเลยกลายเป็นแบบที่ต้องรวมหลายศาสตร์ไว้ด้วยกัน” เธอเริ่มเล่าถึงแนวคิดงานออกแบบในภาพรวมของ Kaomai Estate 1955 ให้เราฟัง

“เราเริ่มจากการศึกษาว่าที่นี่มีความเป็นมาอย่างไรเพื่อจะนำเรื่องราวมาถ่ายทอดในส่วนของพิพิธภัณฑ์ เราไม่ได้มองว่าพิพิธภัณฑ์เก๊าไม้เป็นแค่ตึกหลังเดียว แต่เรามองว่าพื้นที่ทั้งหมดต่างหากที่เป็นพิพิธภัณฑ์ได้ เราสามารถเดินดูทั้งหมดนี้ได้พร้อมเสพเรื่องราวความเป็นมาตามเส้นทางประวัติศาสตร์ที่วางไว้  นอกจากนี้เรายังทำการสำรวจสิ่งมีชีวิตโดยรอบ เราค้นพบว่าที่นี่มีต้นไม้กว่า 100 สายพันธุ์ และสัตว์มากกว่า 50 สายพันธุ์ เราทำรีเสิร์ชค่อนข้างเยอะเพื่อจะได้รู้จักวิธีที่จะดูแลให้ดีที่สุด ทั้งสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ และสัตว์ป่า”

การดูแลที่พชรพรรณเล่าให้ฟังนั้นจริงๆ มีหลายส่วนมากที่ทาง Kaomai Estate 1955 ได้ลงมือทำ ตั้งแต่การทำ building conservation ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาประเมินสภาพโรงบ่มก่อนว่าจะต้องซ่อมแซมอย่างไรและเพิ่มเติมวัสดุอะไรลงไปถึงจะดีที่สุด หรืออย่างในกรณีของต้นไม้ ทางทีม PAVA architects ก็ได้มีการเชิญรุกขกรมาช่วยประเมินและดูแลตามหลักที่ถูกต้อง รวมถึงนักพฤกษศาสตร์ที่เข้ามาระบุพันธุ์ของต้นไม้พร้อมติด tag ป้ายชื่อไว้

เก๊าไม้ ล้านนา

เก๊าไม้ ล้านนา

เก๊าไม้ ล้านนา

“นี่เป็นหลักการสำคัญของเก๊าไม้ เรารู้สึกว่าต้นไม้กับตึกควรอยู่ด้วยกันได้ แต่ละจุดเราจะประเมินกันแบบ case by case แต่ละต้น แต่ละตึกจะไม่เหมือนกัน” เธอชวนเราคุยระหว่างเดินอยู่ใต้ร่มไม้ในโครงการ

“เป็นไปได้จริงๆ ใช่ไหมที่ธรรมชาติจะอยู่รวมกับอาคารสูง” เราถามเพื่อให้เธอสรุปใจความ

“สำหรับเราที่นี่มีคุณค่าของมัน ดังนั้นทุกอย่างที่เราออกแบบ เราก็อยากให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่ได้รู้สึกจบในตัว ที่นี่จะเป็นที่ที่เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เก่าๆ เขาจะได้เห็นว่าคุณค่าแต่เดิมนั้นเป็นอย่างไร เหนืออื่นใดคือเราอยากให้คนที่มาได้รู้ว่าระหว่างตึกและต้นไม้ ถ้าเราคิดกับมันจริงๆ บางทีเราไม่จำเป็นต้องเลือกก็ได้ ในงานออกแบบไม่ได้มีความจำเป็นที่ใครต้องเป็นพระเอกขนาดนั้น เพราะบางทีมันอยู่ด้วยกันได้ หรือถ้าต้องเลือก ก็ต้องเป็นการเลือกหลังจากเราศึกษาจนเข้าใจจริงๆ” พชรพรรณบอกกับเราก่อนที่เธอจะชี้ให้เห็นต้นไม้ต้นหนึ่งที่อยู่แนบชิดกับโรงบ่ม ทั้งสองสิ่งเป็นหลักฐานอย่างดีถึงงานออกแบบที่เธอพูดถึง

เก๊าไม้ ล้านนา

เก๊าไม้ ล้านนา

หลังจากเดินชมโครงการ Kaomai Estate 1955 จนครบ สิ่งที่เราคิดขึ้นมาได้อย่างแรกคืองานออกแบบที่ดีนั้นไม่ได้แปลว่าจะต้องออกแบบให้มากด้วยจำนวน

สิ่งที่ทีม Kaomai Estate 1955 แสดงให้เราเห็นและเราคิดว่าเป็นจุดสำคัญนั่นคือการทราบถึงคุณค่าเดิมของต้นทุนที่มี เก๊าไม้ ล้านนา เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และภูมิทัศน์ที่ดีงามอยู่แล้ว ดังนั้นในบางครั้งงานออกแบบที่เสิร์ฟกับของเดิมเพื่อเพิ่มคุณค่าแต่ไม่ทำลายก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด

ท่ามกลางยุคที่มีของใหม่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน งานออกแบบของ Kaomai Estate 1955 เป็นเหมือนกับเสียงบอกเล่าให้เรารู้ว่าการรักษาของเดิมให้คงอยู่ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน

อย่างน้อยต้นไม้ที่เลื้อยเลาะอยู่ข้างโรงบ่มตรงหน้าก็บอกเราแบบนั้น

และตราบใดที่มีคนเข้าใจมัน ทั้งคู่ก็คงจะอยู่ร่วมกันไปได้อีกนาน

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!