The Post : เสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน

Director: Steven Spielberg
Region: USA
Genre: Drama / Thriller

มีอาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกผมไว้ว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากในการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีคือการรับผิดชอบคำพูดของเราเมื่อได้กล่าวมันออกไป แต่ถ้าเราได้รับหน้าที่ในการพูดความจริงที่ใครต่างก็ไม่กล้าพูด และการบอกสิ่งนั้นออกไปอาจตามมาด้วยปัญหามากมายที่คาดเดาไม่ได้ เราจะกล้าพูดสิ่งนั้นและอยากจะรับผิดชอบกับสิ่งที่เราพูดออกไปอยู่มั้ย

ช่วงต้นปีของทุกปี ผมจะตั้งหน้าตั้งตารอดูหนังมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงทยอยประกาศผลรางวัลต่างๆ ให้กับภาพยนตร์และนักแสดงที่ทำผลงานออกมาได้น่าประทับใจ ซึ่งรางวัลที่มีคนพูดถึงและยิ่งใหญ่มากที่สุดรางวัลหนึ่งก็คือรางวัลออสการ์ และ The Post ก็เป็นหนังที่ได้รับการจับตามองเป็นอย่างมากในการประกาศผลรางวัลในปีนี้ เพราะเป็นการเจอกันครั้งแรกของนักแสดงมากฝีมือ ทั้งเมอรีล สตรีป (Meryl Streep) และทอม แฮงก์ (Tom Hanks) ที่ต่างเคยคว้ารางวัลนี้มาแล้ว แถมหนังยังตกอยู่ในมือของผู้กำกับพ่อมดแห่งวงการหนังอย่างสตีเว่น สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) อีก ซึ่งก็เป็นไปตามคาด The Post ได้เข้าชิงรางวัลใหญ่ถึง 2 รางวัล คือ Best Picture และ Actress in a Leading Role

The Post เป็นหนังที่สร้างมาจากเรื่องจริงในช่วงต้นยุค 70 เมื่อแคทเธอรีน เกรแฮม (Katharine Graham) หรือเคย์ รับบทโดยเมอรีล สตรีป ต้องมารับช่วงดูแลกิจการหนังสือพิมพ์ The Washington Post ต่อจากสามีที่ได้เสียชีวิตไป และต้องรับมือกับการตัดสินใจที่ยากที่สุดเมื่อเบน แบรดลี (Ben Bradlee) รับบทโดยทอม แฮงก์ บรรณาธิการของ The Washington Post ต้องการจะ ‘ตีพิมพ์’ Pentagon Papers ซึ่งเป็นเอกสารลับที่เปิดเผยว่าสหรัฐอเมริกามีส่วนร่วมในสงครามเวียดนามมานานมากแล้ว ซึ่งรัฐบาลได้พยายามปกปิดเรื่องนี้กับประชาชนมาโดยตลอด แต่การตีพิมพ์เอกสารลับนั้นมีเดิมพันสูงมากที่อาจเป็น ‘ภัยต่อความมั่นคงของชาติ’ และทำให้ทีมงานหลายคนในบริษัทมีสิทธิ์เข้าคุกเข้าตาราง

ด้วยความรักในการทำงานหนังสือพิมพ์ คำถามผุดขึ้นในใจของเคย์ว่าหน้าที่สื่อที่ต้องตีแผ่ความจริงให้ทุกคนได้เห็น ไม่ใช่การโดนปิดหูปิดตาไปอยู่เรื่อยๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กันไม่ใช่หรือ การตัดสินใจว่าจะตีพิมพ์ Pentagon Papers หรือไม่ จึงเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่มากเกินกว่าที่ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งจะรับได้

ตัวหนังช่วงแรกๆ อาจจะเดินเรื่องช้าและเต็มไปด้วยบทสนทนาพร้อมกับชื่อตัวละครจำนวนมากจนเราตามไม่ทันบ้าง แต่พอมาถึงกลางเรื่องที่เครื่องติดแล้ว ผมพบว่าตัวเองหายใจไม่ทั่วท้องและละสายตาจากหนังไปไม่ได้เลย ความเข้มข้น บีบคั้นหัวใจ ฮึกเฮิม และปลาบปลื้มใจ ถาโถมเข้ามาเต็มๆ ในช่วงหลังของหนัง

เมอรีลรับบทของเคย์ได้อย่างน่าประทับใจด้วยบทที่นิ่งและลึกมากขึ้น การรับบทเป็นหญิงสาวที่ไม่ได้ทำงานเก่งอะไร แต่ก็พยายามประคับประคองบริษัทไปให้ได้ดีที่สุดเท่าที่เธอทำได้ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยข้อกังขาจากเพื่อนร่วมงานและความกดดันจากสถานการณ์บีบคั้น ทุกสายตา ทุกการเคลื่อนไหวของเธอได้ออกแบบและสร้างความหมายจากความรู้สึกลึกซึ้งผ่านภาษากายเหล่านั้นออกมาได้อย่างละเอียดลออและน่าขนลุกมากๆ การแสดงของเมอรีลที่แตกต่างกับตัวตนจริงๆ ของเธอเอามากๆ และเป็นการแสดงที่น้อยแต่เต็มไปด้วยรายละเอียดในแต่ละฉากนี่แหละที่ทำให้เราอดใจไม่ได้เลยที่จะช่วยเชียร์ให้เธอได้รางวัลในปีนี้อีกครั้ง

อีกสิ่งหนึ่งที่มีเสน่ห์อย่างมากในหนัง คือการเล่าเรื่องที่ทำให้คนนอกวงการอย่างเราได้รู้วิธีการทำงานของสื่อสิ่งพิมพ์สมัยก่อน ตั้งแต่การประชุมคัดเลือกพาดหัวข่าวหน้าหนึ่ง การร่างเนื้อหาและออกแบบเอาต์ไลน์หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ไปจนถึงรายละเอียดขั้นตอนวิธีการพิมพ์ ที่สปีลเบิร์กทำภาพออกมาเล่าเรื่องให้ดูแล้วเพลิดเพลินและรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของสื่อสิ่งพิมพ์สมัยก่อน

จากความร้อนระอุทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นในประเทศเราเองหรือสถานการณ์ทั่วโลก ก็เรียกได้ว่า The Post เป็นหนังที่ออกมาได้ถูกจังหวะเวลา ตัวสปีลเบิร์กเองก็ต้องการสื่อสารความเห็นทางการเมืองออกมาผ่านการทำหนังเรื่องนี้ เขาเคยให้สัมภาษณ์ติดตลกไว้ว่า “ผมไม่รู้จะพูดอะไรเกี่ยวกับทรัมป์ นี่คือหนทางของผมในการตอบโต้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้น” และ “ผมไม่ทวีต ผมถ่ายหนัง”

เมื่อดูหนังจบแล้ว ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงเกิดคำถามในใจว่า ทุกวันนี้สื่อมวลชนทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีหรือยัง เพราะจริงๆ แล้ว ถึงแม้สื่อจะมีเพียงแค่หมึกพิมพ์และกระดาษ แต่สิ่งเหล่านั้นก็มากพอที่จะเป็นอำนาจเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ขึ้นมาได้

ผมนึกถึงเหตุการณ์เมื่อกลางปี 2017 เมื่อ The New York Times ได้อุทิศหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์เพื่อพิมพ์คำโกหกของโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงการตีพิมพ์ครั้งนั้นจะไม่ได้สร้างการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอะไรที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็เริ่มทำให้คนตระหนักถึงความไม่เอาไหนของผู้นำประเทศตัวเอง ซึ่งพอย้อนกลับมามองประเทศไทยแล้วก็ได้แต่ถอนใจที่สื่อของเราไม่ได้ทำหน้าที่นั้นได้ดีมากนัก

ในขณะที่สื่อต่างประเทศนั้นตีข่าวเรื่อง ‘นาฬิกาเจ้าปัญหา’ กันอย่างครึกโครม สื่อส่วนหนึ่งในประเทศยังคงสนใจเรื่องรักๆ เลิกๆ ของดารานักร้อง หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประหลาดๆ ที่ช่วยให้ชาวบ้านได้ตีเลขเด็ดในแต่ละงวด เรามองว่าเหตุผลหนึ่งก็เพื่อความอยู่รอดของสื่อเองที่คงไม่กล้าเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงกับอำนาจบางอย่าง ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้และสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข่าวการจับกุมกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องความเห็นต่าง การพาตัวเองเข้าไปนอนในคุกก็อาจจะไม่คุ้มกับการเขียนข่าวเหล่านั้นสักเท่าไหร่

แม้ว่าตอนจบของ The Post จะสร้างแรงฮึกเหิมและความหวังในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเปิดเผยเรื่องราวที่ไม่ถูกต้องในประเทศเราขึ้นมาบ้าง แต่ความหวังเหล่านั้นเมื่อทบทวนดูดีๆ ก็ยิ่งทำให้เราได้แต่ท้อใจกับอนาคตของประเทศมากไปกว่าเดิม ตั้งแต่การจับกุมกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องความเห็นต่าง การบล็อกเว็บข่าวของสำนักพิมพ์ชื่อดังต่างประเทศ (ที่ดูเหมือนจะตีแผ่ข้อเท็จจริงและวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมากว่าสำนักข่าวในประเทศเรา) หรือแม้กระทั่งการที่ผู้นำประเทศออกปากด้วยตัวเองให้เลิกถามคำถาม และพูดแกมบังคับให้หยุดทำข่าวเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ยิ่งทำให้เราหมดหวังในการถามหาเสรีภาพ ออกความเห็น และตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลในประเทศเรามากขึ้นทุกที

ที่แย่ไปกว่านั้นคือทุกคนจะค่อยๆ ชินชากับประโยคที่ว่า ‘อย่าไปยุ่งกับเขาเลย อย่าไปทำข่าวเรื่องนี้เลย อันตรายซะเปล่า’ จนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าในอนาคต สื่อของประเทศเราก็คงไม่สามารถแตะต้องสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ ทั้งที่ความจริงแล้ว สื่อคือฟันเฟืองสำคัญที่จะย้ำเตือน ‘สิ่งที่ถูกต้องและควรจะเป็น’ ให้กับคนในประเทศได้ดีที่สุด

AUTHOR