30 ปี Jurassic Park ฝูงไดโนเสาร์ที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล

เชื่อว่าแทบทุกคนบนโลกทุกวันนี้ หากไม่นับรวมเด็กน้อยที่เพิ่งเกิดไม่กี่ปี ไม่ว่าจะอายุเท่าไรคงต้องเคยดู ‘Jurassic Park’ หนังดังจากยุค ‘90 อย่างน้อยครั้งหนึ่งหรือสักซีนสองซีน ไม่ว่าจะในรูปแบบวิดีโอจนมาเป็นวีซีดี ดีวีดี บลูเรย์ สตรีมมิง หรือดูจากฟรีทีวีที่เวียนมาฉายอยู่หลายรอบตามช่องต่างๆ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา  

และสำหรับทุกคนที่ร่วมยุคสมัย ถึงจะผ่านวันเวลามานมนาน แต่ครั้งที่เข้ามาฉายในบ้านเราเมื่อ 31 กรกฎาคม 2536 ตามหลังอเมริกาแค่เดือนเดียว หนังเรื่องนี้ของผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก ได้ฝากความทรงจำไว้มากมาย ไม่ใช่แค่เด็กๆ ที่ต่างชอบไดโนเสาร์กันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่สำหรับผู้ปกครองที่พาบุตรหลานไปชมก็คงตื่นตาและตื่นใจไม่รู้ลืมเช่นกัน 

ในช่วงที่เรื่องนี้เปิดฉาย สตีเวน สปีลเบิร์ก ไม่ใช่นามที่คนไทยไม่รู้จัก เพราะถูกนำมาแปะในการประชาสัมพันธ์พร้อมไปกับชื่อหนังอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นที่กำกับเองหรืออำนวยการสร้าง ไม่ต่างจากผู้กำกับที่มียุคเหลื่อมกันอย่าง แซม เพกคินพาห์ ชื่อที่ใช้รับประกันความมันของหนังบู๊ หรือผู้สร้างเจ้าของฉายา ‘เจ้าบุญทุ่ม’ อย่าง ดิโน เดอ ลอเรนติส ซึ่งหมายถึงหนังเรื่องนั้นเป็นโปรแกรมยักษ์ สปีลเบิร์กก็คือชื่อที่ถูกนำมาใช้รับประกันความบันเทิงสำหรับหนังมีอะไรแปลกๆ ไม่เหมือนใคร โดยเริ่มจาก ‘Jaws’ หนังซัมเมอร์ของอเมริกาเหนือเมื่อปี 2518 ก่อนจะเข้ามาฉายบ้านเราในปีถัดมา 

แต่หลังจาก Jaws ผู้ชมคนไทยก็ห่างหายไม่ได้ดูหนังใหม่ของสปีลเบิร์กอีกเลย ทั้ง ‘Close Encounter of the Third Kind’ (2520) หนังที่ทำให้ได้ชิงออสการ์ผู้กำกับครั้งแรก และ ‘1941’ (2522) หนังตลกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ความล้มเหลวครั้งแรกทั้งในแง่รายได้และคำวิจารณ์ของสปีลเบิร์ก เพราะทั้ง 2 เรื่องออกฉายในช่วงสตูดิโอใหญ่ หรือ ‘เมเจอร์’ ของฮอลลีวูดหยุดส่งหนังเข้ามาในบ้านเรา เพื่อประท้วงการขึ้นภาษีฟิล์มจากเมตรละ 2 บาทกว่า เป็น 30 บาท ของรัฐบาลชุด ‘ปฏิรูป’ เมื่อปลายปี 2519 กว่าจะได้ดูก็ต้องรอหลังจากนั้นอีก 5 ปี หนังเมเจอร์จึงเริ่มกลับเข้ามาอีกครั้ง และทั้ง 2 เรื่องก็ไม่ต่างจาก ‘Star Wars’ (2520) ของ จอร์จ ลูคัส เพื่อนของสปีลเบิร์ก ทั้งหมดกลายเป็นหนังเก่าต้องรีบระบายของเมเจอร์ จนกระทั่ง ’ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า’ หรือ ‘Raiders of the Lost Ark’ หนังดังประจำซัมเมอร์ปี 2524 ที่สร้างโดยลูคัสเข้ามาฉายในบ้านเราปีถัดมา รวมทั้งการมาถึงของเครื่องเล่นวิดีโอในขณะนั้น ก็สร้างเครดิตให้สปีลเบิร์กถูกจดจำในหมู่ผู้ชมชาวไทยอีกครั้ง

“คนแบบสปีลเบิร์กไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย” ลูคัสบอกกับนิตยสาร Time เมื่อปี 2540 “เมื่อคนพวกนี้ลงมือทำอะไรก็จะเกิดสิ่งที่น่าทึ่ง เหมือนเวลาเราพูดถึงไอน์สไตน์ หรือ ไทเกอร์ วูด เขาไปไกล…ไกลแสนไกลกว่าคนทำหนังยุคเดียวกัน” ลูคัสกล่าวถึงเพื่อนด้วยบางคำที่นำมาจาก Star Wars และหลังจากภาคแรก สปีลเบิร์กก็ทำขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าให้กับลูคัสฟิล์มอีก 3 ภาค จนกลายเป็นหนังภาคต่อที่เขาเคยกำกับเอาไว้มากที่สุด 

แต่คำกล่าวของลูคัสก็ฟังดูเหมือนอวยตามมารยาท หากไม่ได้คำนึงถึงผลตอบรับของผู้ชมกับรายได้จากหนังหลายเรื่องของสปีลเบิร์ก นับตั้งแต่ต้นจนถึงปีนั้น ไม่มีอะไรทำให้เป็นคำยกยอเกินจริง แม้ระหว่างนั้นจะไม่ใช่แบบนั้นเสมอไปก็ตาม 

ด้วยเครดิตตั้งแต่ Jaws ก่อนจะตอกย้ำด้วยสถิติใหม่ด้านรายได้จาก ‘E.T. The Extra-Terrestrial’ (2525) ที่กลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดเท่าที่โลกเคยมี ไม่ว่าสปีลเบิร์กจะขยับทำหนังเรื่องใด ล้วนแต่ได้รับความสนใจ นายทุนต่างให้ความไว้วางใจ นอกจากกำกับ ในเวลานั้นเขาเลยผันไปเป็นผู้สร้างหนังดังระดับคลาสสิกเอาไว้หลายเรื่อง เช่น ‘Poltergeist’ (2525)  ‘Back to the Future’ (2528-2533) หรือ ‘Gremlins’ (2527-2533) เป็นตัวอย่าง 

แต่ในฐานะคนทำหนัง สปีลเบิร์กก็มีความพยายามในการสลัดภาพ ‘ปีเตอร์ แพน’ ชายผู้ไม่รู้จักโตแบบที่สื่อมวลชนเรียก (รวมทั้งตัวเองในบางบทสัมภาษณ์) ด้วยหนังที่มีเนื้อหาหนักและเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ทั้ง ‘The Color Purple’ (2528) ชีวิตรันทดของสาวผิวดำที่ทำให้ได้ชิงออสการ์ผู้กำกับอีกครั้ง ตามด้วย ‘Empire of the Sun’ (2530) กับความพยายามอีกหนในการนำเสนอเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และ ‘Always’ (2532) หนังแฟนตาซีดราม่าผสมโรแมนติก

ทั้งหมดถูกปล่อยออกฉายในช่วงปลายปี ปลายฤดูที่สตูดิโอมักปล่อยหนังเนื้อหาซีเรียสหรือหวังชิงรางวัลออกมา แต่ทุกเรื่องก็ทำแฮตทริกในความล้มเหลว ทั้งรายได้และคำวิจารณ์ที่มีดีเลวปนกันไป ผิดกับความบันเทิงเพียวๆ ที่สปีลเบิร์กทำออกมาระหว่างผลงานเหล่านั้นอย่างภาคต่อของ ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า ทั้ง ‘Indiana Jones and the Temple of Doom’ (2527) และ ‘Indiana Jones and the Last Crusade’ (2532) ล้วนทำเงินถล่มทลาย

และราวกับต้องการประชดที่ถูกเรียกว่า ปีเตอร์ แพน หรือทำเป็นแต่หนังตลาดหลอกเด็ก พอเข้าสู่ช่วงทศวรรษที่ 1990 สปีลเบิร์กเลยเลือกทำ ‘Hook’ (2534) หรือ ปีเตอร์ แพน ฉบับที่กลายเป็นพ่อคน นำแสดงโดย โรบิน วิลเลียมส์ หนังประสบความสำเร็จด้านรายได้ เข้าชิงออสการ์ 6 สาขาแต่ชวดหมด กระทั่งในปี 2536 ก็เหมือนจะเป็นปีทองของสปีลเบิร์กอย่างแท้จริง ด้วย Jurassic Park หนังที่ถูกวางไว้เป็นโปรแกรมซัมเมอร์ กับ Schindler’s List หนังที่ฉายปลายปีเดียวกันที่ทำออกมาเพื่อหวังจะกวาดออสการ์ 

หากไม่รวมหนังทีวีกับ ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า ที่เป็นหนังผจญภัยมากกว่า ภายหลังเพียรเล่าถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 มา 2 เรื่องแต่ไม่มีใครสนใจ ในที่สุดสปีลเบิร์กก็ประสบความสำเร็จด้วยหนังขาวดำ Schindler’s List คว้ารางวัลสำคัญบนเวทีออสการ์มาได้ถึง 7 ตัว รวมทั้งหนังยอดเยี่ยมและผู้กำกับของสปีลเบิร์ก ส่วน Jurassic Park ในคืนเดียวกันก็ได้ออสการ์ด้านเทคนิคมา 3 ตัว แต่มากกว่าเกียรติยศที่วัดด้วยตุ๊กตาทอง มันคือหนังทำเงินระดับปรากฏการณ์ที่เหนือกว่าทั้ง Jaws หรือ E.T. เป็นหนังแบบที่เคยสร้างชื่อ เป็นความบันเทิงประจำซัมเมอร์ที่น่าจดจำ เพราะมันคือช่วงเวลาแห่งการทำลายบางขอบเขตของโลกภาพยนตร์  

นับแต่มนุษย์รู้จักสื่อแขนงใหม่อย่างภาพยนตร์เมื่อกว่า 100 ปีก่อน หนึ่งในความมหัศจรรย์หาไม่ได้ในชีวิตจริงอย่างไดโนเสาร์ถูกนำขึ้นจอมาแล้วตั้งแต่ปี 2457 ทั้งในแบบไลฟ์-แอ็กชันและแอนิเมชันหรือหนังการ์ตูน นั่นคือ ‘Brute Force’ ของ ดี. ดับบลิว. กริฟฟิท ที่เล่าเรื่องของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ มีไดโนเสาร์ตัวมหึมาก้มๆ เงยๆ ให้ดูอยู่ช็อตเดียว ส่วนอีกเรื่องเป็นไดโนเสาร์ตัวเมียชื่อ ‘Gertie the Dinosaur’ หนังการ์ตูนลายเส้นของ วินเซอร์ แม็กเคย์ ที่มาแนะนำและร่วมแสดงกับเจ้าไดโนเสาร์คอยาวด้วย

ไดโนเสาร์เริ่มมีชีวิตชีวาและมิติมากกว่านั้น ด้วยฝีมือของ วิลลิส โอ’ไบรอัน ที่ใช้เทคนิคสต็อปโมชัน หรือขยับข้อต่อแต่ละส่วนของหุ่นจำลองทีละเฟรม สร้างสรรค์ไดโนเสาร์เอาไว้ในยุคหนังเงียบเช่น ‘The Ghost of Slumber Mountain’ (2461) และ ‘The Lost World’ (2468) แต่ผลงานคลาสสิกที่ฮือฮาไปทั้งโลกคือ ‘King Kong’ ในปี 2476 ซึ่งมีไดโนเสาร์ปรากฏตัวอยู่หลายพันธุ์ และในเวลาต่อมาเทคนิคสต็อปโมชันของโอ’ไบรอัน ก็ได้ เรย์ แฮร์รีเฮาเซน ลูกศิษย์ของเขามารับช่วงต่อ สร้างชื่อให้ตัวเองด้วยการเนรมิตทั้งสัตว์ประหลาด และไดโนเสาร์ไว้ในหนังแฟนตาซีหรือไซไฟหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ‘The Valley of Gwangi’ (2512) ซึ่งปรากฏร่องรอยอยู่ในบางช็อตของ Jurassic Park    

เมื่อสปีลเบิร์กตัดสินใจซื้อสิทธิ์นิยายของ ไมเคิล ไครช์ตัน ที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ หรือต้นฉบับของ Jurassic Park เทคนิคที่เขาเลือกในการสร้างไดโนเสาร์ จำเป็นต้องให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากความรู้สึกในครั้งแรกที่ผู้ชมได้เห็นฉลามขาวใน Jaws หรือมนุษย์ต่างดาวใน Close Encounter of the Third Kind รวมทั้งเอเลียนใน E.T. สปีลเบิร์กจึงเลือก สแตน วินสตัน ที่เพิ่งสร้างผลงานเจ๋งๆ ไว้ใน ‘Terminator 2: Judgment Day’ (2534) ให้มาสร้างหุ่นไดโนเสาร์ขนาดเท่าจริงมีกลไกบังคับทั้งแบบเต็มตัวและบางส่วนเพื่อถ่ายในระยะใกล้ ส่วนภาพกว้างเขาเลือกใช้เทคนิคสต็อปโมชัน แต่มีการนำซีจีมาช่วยตกแต่งภาพ เชื่อมแต่ละเฟรมให้เคลื่อนไหวเนียนขึ้นโดยทีมงานไอแอลเอ็ม แล็บสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ของลูคัส แต่ผลที่ออกมายังไม่ได้ดังใจสปีลเบิร์ก

ก่อนหน้านั้น ถ้าย้อนไปมีการนำซีจีจากคอมพิวเตอร์มาใช้ในหนังก่อนแล้วหลายปี และก็เกี่ยวข้องกับ Jurassic Park โดยตรง เพราะเรื่องแรกที่แสดงภาพดิจิทัลหรือ ‘พิกเซล’ แบบที่เราคุ้นตากันในวันนี้ คือ Westworld เมื่อปี 2516 หนังที่เขียนบทและกำกับโดยอดีตคุณหมออย่าง ไครช์ตัน โดยนำมาใช้เป็นภาพแทนสายตาหุ่นยนต์คาวบอยที่แสดงโดย ยูล บรินเนอร์ นอกจากนั้นพล็อตเรื่องนี้ก็คล้ายเหลือเกินกับเรื่องราวใน Jurassic Park เพราะในขณะที่ Jurassic Park เล่าเรื่องวันสยองเมื่อเกิดอุบัติเหตุจนทำให้ไดโนเสาร์หลุดออกมาจากกรง หุ่นยนต์คาวบอยใน Westworld ก็คือส่วนหนึ่งของสวนสนุกที่เกิดควบคุมไม่ได้ เลยทำให้กลายเป็นเครื่องจักรไล่ล่าฆ่านักท่องเที่ยว

แต่หลังจากนั้นจนถึงวันที่ Jurassic Park เริ่มโปรเจกต์กระทั่งปิดกล้องซึ่งใช้เวลากว่า 2 ปี ก็มีหนังที่นำเทคนิคนี้มาใช้ให้เห็นบ้างแล้ว โดยในปี 2524 ไครช์ตันนำมาใช้อีกครั้งกับ ‘Looker’ เพื่อแสดงภาพสแกนร่างกายมนุษย์แบบเต็มตัว และในปี 2535 ก็มี The Lawnmover Man หนังเล่าเรื่องการทดลองสร้างยอดมนุษย์ที่สามารถผ่านเข้าไปได้แม้แต่ในโลกไซเบอร์ แต่ที่จัดว่าน่าจดจำที่สุดคือ ‘The Abyss’ ในปี 2532 ของ เจมส์ คาเมรอน เขานำมาใช้สร้างมวลน้ำขึ้นรูปเป็นใบหน้าแสดงอารมณ์ต่างๆ เลียนแบบนักแสดงอย่าง แมรี เอลิซาเบท มาสทรานโตนิโอ ก่อนจะนำมาใช้อีกครั้งกับหุ่นยนต์ไร้รูปใน ‘The Terminator 2: Judgment Day’ 

แต่กับสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ของ Jurassic Park ต่างจากทั้งหมดที่ผู้ชมเคยดู บวกกับความเข้าใจจังหวะในการสื่อสารกับคนดูของตน สปีลเบิร์กสามารถทำให้รู้สึกได้แบบเดียวกับครั้งแรกที่ได้เห็นสิ่งแปลกประหลาดจากหนังเรื่องก่อน ไม่ว่าจะเป็นฉลามขาวหรืออีที หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะจากประสบการณ์ที่ผู้ชมทั้งโรงครางฮือออกมาพร้อมกัน ด้วยตื่นตะลึงกับภาพที่ปรากฏตรงหน้าของบราเคียวซอรัสตัวมหึมา ในช็อตเปิดตัวไดโนเสาร์แบบเต็มๆ ครั้งแรก คือเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นในโรงหนังทั่วโลก เทคนิคใหม่ของไอแอลเอ็ม สามารถคิดค้นสิ่งที่สปีลเบิร์กต้องการได้สำเร็จทันเวลา นอกจากนั้นยังเผื่อแผ่ไปยังหนังเรื่องอื่นอีกมากที่ตามมา  

Jurassic Park ทำเงินถล่มทลายในทุกประเทศที่เปิดฉาย ทุกโรง-ทุกเครือในบ้านเรา ทั้งสแตนด์อะโลนและมัลติเพล็กซ์ เปิดโรงฉายหนังเรื่องเดียวพร้อมกันหมด เป็นปรากฏการณ์ที่หาได้ไม่บ่อยนักในยุคนั้น สปีลเบิร์กเขี่ย E.T. ของตัวเอง ขึ้นอันดับ 1 หนังทำเงินตลอดกาลหรือทำเงินมากที่สุดในโลกเรื่องใหม่ กระแสไดโนเสาร์ระบาดไปทั่ว ชื่ออย่างทีเร็กซ์หรือแร็ปเตอร์ ไปจนถึงดีเอ็นเอ หรือการโคลนนิงกลายเป็นคำที่คนทั่วไปรู้จักนับตั้งแต่นั้น 

และสำหรับวงการหนังโลก ไดโนเสาร์ของสปีลเบิร์กคือการปักธงบนดินแดนใหม่ให้จินตนาการ ความเป็นไปของหนังทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยแฟนตาซี สิ่งที่เคยมีหรือไม่มีอยู่บนดาวดวงนี้ ทุกมุมมองที่ไม่สามารถพบในชีวิตจริง ล้วนเกิดขึ้นได้ด้วยเทคนิคดิจิทัล      

“เราจะควบคุมชีวิตไม่ได้ ชีวิตต้องการอิสรภาพ ต้องการขยายขอบเขตจำกัด” จิระนันท์ พิตรปรีชา ถอดคำของ ดร.เอียน มัลคอล์ม หรือ เจฟ โกลด์บลัม ไว้ในตอนหนึ่งของบทแปล Jurassic Park 

และด้วยอิสรภาพของนักฝันอย่างสปีลเบิร์ก ขอบเขตของจินตนาการในโลกภาพยนตร์จึงหายไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว  

AUTHOR