Samui Song : กับความรักเรายกนิ้วนาง ส่วนนิ้ว__เรายกให้ชีวิต

หลังๆ เวลาดูหนังสักเรื่อง ผมจะคิดมากเสมอเวลาใครถามว่าหนังเรื่องนี้ดีไหม หนังเรื่องนี้เป็นอย่างไร และควรต้องไปดูหรือเปล่า ผมรู้สึกว่าการจะเลือกเสพสื่ออะไรสักอย่าง รสนิยมเป็นสิ่งจำเป็น เรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบหลักๆ ในการเพลิดเพลินกับหนังสักเรื่อง ความชอบและไม่ชอบของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันทำให้ผมไม่ค่อยกล้าใช้ไม้บรรทัดของตัวเองบอกต่อใครสักเท่าไหร่

และยิ่งเป็นหนังของ เป็นเอก รัตนเรือง ผมยิ่งต้องคิดมากขึ้นเป็นสองเท่า

เปล่าเลย ผมไม่ได้จะบอกว่าหนังที่ผ่านมาของเป็นเอกไม่ดี แต่ผมผู้ซึ่งชื่นชอบหนังของเขาและแนะนำให้เพื่อนหลายคนได้ดู กลับได้ยินเสียงชื่นชมพอๆ กับหลายคนที่บอกว่านี่คือหนังอะไร (วะ) ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ผมจะเกิดความลังเลว่า Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ หนังเรื่องที่ 9 ของเขาจะเหมือนกับเรื่องก่อนๆ หรือเปล่าที่มีทั้งคนที่ชอบพอๆ กับคนที่ดูไม่เข้าใจ

แต่หลังจากที่ดูจบ ผมได้แต่เขกกะโหลกที่ตัวเองคิดผิด

Samui Song คือหนังของเป็นเอก ที่ยังคงเป็นหนังของเป็นเอก แต่ครั้งนี้ผมคิดว่าหลายคนจะเข้าใจและเพลิดเพลินไปกับมันได้อย่างไม่ยากเย็น

Samui Song ไม่มีสมุยสำหรับเธอ เล่าเรื่องของ วิยะดา (พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) นักแสดงสาวผู้แต่งงานกับ เจโรม (สตีเฟ่น เซดนาอุย) สามีชาวต่างชาติซึ่งคลั่งไคล้ลัทธิประหลาดที่นำโดยท่านเจ้าลัทธิ (ปู-วิทยา ปานศรีงาม) ความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ พังลงจากความศรัทธาที่ไร้เหตุผลของสามีทำให้วิยะดาตัดสินใจจ้างวาน กาย (เดวิด อัศวนนท์) ชายแปลกหน้าที่เธอบังเอิญรู้จักเพื่อให้สามีหายไป เรื่องราวที่เหมือนจะราบรื่นกลับต้องพลิกผันเมื่อแผนการของกายไม่เป็นอย่างที่คิด สุดท้ายวงล้อแห่งโชคชะตาเริ่มหมุนและพัดพาพวกเขาทั้ง 4 คนไปสู่เรื่องราวที่ไม่อาจคาดเดา

หลายคนคงคิดว่าพล็อตเรื่องนี้คงมีหนังไทยน้อยเรื่องที่กล้าหยิบจับมาทำ แต่อะไรแบบนี้แหละที่เป็นเอกมักจะแสดงฝีมือให้เราเห็นเสมอ การดำเนินเนื้อเรื่องของหนังเป็นไปด้วยจังหวะที่ทำให้เรารู้สึกพอดี การเล่าเรื่องที่เพิ่มความกดดันแทรกเข้ามาเป็นระยะเพื่อความเข้มข้นของเนื้อหา รวมถึงตลกร้ายแบบเป็นเอกยังคงโผล่มาสร้างสีสัน จังหวะที่ไม่ซับซ้อนมากทำให้เราเดินตามหนังไปได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ได้ง่ายเกินให้เราเดินนำหน้าหนังจนคาดเดาทุกอย่างได้

องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้หนังดึงเราอยู่ตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่หลุด พอดีกับจังหวะจะโคนที่ไม่ฉูดฉาดจนเกินไป ถ้าเปรียบหนังของเป็นเอกช่วงแรกๆ เป็นอาหารรสชาติจัดจ้าน Samui Song คงเป็นอาหารรสชาติกลมกล่อมที่เกิดจากฝีมือที่สะสมมาตลอดหลายปีของเป็นเอก แม้มันจะดูต่างไปจากเดิมบ้าง แต่พอชิม เรายังคงบอกได้ว่านี่แหละ คือรสชาติของเป็นเอก

อีกอย่างหนึ่งที่อดชื่นชมไม่ได้ ซึ่งน่าจะเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้การดำเนินเรื่องในหนังเป็นไปได้อย่างราบรื่น คือการแสดงของนักแสดงหลักทั้ง 4 คน เดวิดยังคงทำให้เราทึ่งกับพลังอันล้นเหลือ หลายซีนในหนังเรื่องนี้ทำเอาเรานึกถึงบทบาทของฮาเวียร์ บาร์เดมในหนังเรื่อง No Country for Old Man อย่างไรอย่างนั้น รวมถึงสตีเฟ่น เซดนาอุย ที่เล่นดีงามเสียจนเราต้องเอาชื่อเขามาเสิร์ชดูว่าเป็นใครมาจากไหน ดาราไทยระดับฮอลลีวูดอย่างวิทยา ปานศรีงาม ก็ยังทำให้เราทึ่งได้อีกครั้ง แม้จำนวนนาทีที่ปรากฏตัวจะน้อย แต่ผมเชื่อว่าเมื่อดูจบ ทุกคนจะตราตรึงกับบทบาทเจ้าลัทธิของเขาเป็นแน่ พลังในการเยื้องย่าง ท่าทาง และสำเนียงคำพูด ที่เขาแสดงออกมาล้วนส่งมาถึงผู้ชมเต็มร้อย

และที่ขาดไม่ได้คือ พลอย เฌอมาลย์ เรื่องส่วนใหญ่ดำเนินไปผ่านตัวละครวิยะดาเป็นหลัก แม้เราจะไม่ได้เห็นหน้าพลอยในช่วง 2 ปีหลัง แต่การกลับมาครั้งนี้ในบทหญิงสาวที่แสนสลับซับซ้อน เธอกลับแบกมันได้อย่างไม่เคอะเขิน ผมรู้สึกว่าพลอยทวงคืนสปอตไลต์ที่ควรจะได้จากการแสดงอย่างแท้จริง

เป็นเอกมักบอกเราเสมอว่าตอนเขาเขียนบทหนังอะไรก็ตาม เขามักไม่ได้คาดหวังหรือคิดไว้ก่อนว่าหนังเรื่องนี้จะให้อะไรกับผู้ชม ส่วนใหญ่สิ่งเหล่านี้มักจะตามมาหลังจากเขาเขียนเสร็จแล้วเสียมากกว่า และผมคิดว่าหนังเรื่องนี้คงจะสร้างฟังก์ชั่นเดียวกัน

Samui Song สะท้อนแง่มุมต่อผู้หญิงผ่านมุมมองต่างๆ ในสังคมไทย ผู้หญิงในเรื่องนี้ล้วนเป็นตัวแทนของบางสิ่ง ทั้งผู้หญิงที่ถูกมองว่าเป็นวัตถุ ผู้หญิงที่สู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ผู้หญิงในบทบาทของเพศแม่ ผู้หญิงที่ถูกกระทำ หรือแม้กระทั่งผู้หญิงที่เป็นฝ่ายกระทำ หลายบทบาทเป็นกระจกสะท้อนความไม่เท่าเทียมในสังคมที่หลายคนยังคิดว่าผู้ชายเป็นใหญ่

จุดจบสุดท้ายของหนังทำเอาผมต้องหยุดคิดว่าจริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิงหรอก การถือตนเป็นใหญ่แบบผิดๆ อาจเลยเถิดจากเรื่องเพศไปจนถึงความเป็นมนุษย์ ในสังคมไทยทุกวันนี้เราถูกกดขี่จนถามหาความเท่าเทียมยากเหลือเกิน หลายครั้งเราต้องจำใจยอมเลือกทางที่ ‘เขา’ เหล่านั้นยื่นมาให้ โดยลืมไปว่าจริงๆ แล้วเรามีสิทธิ์เลือกได้มากกว่านั้นหรือเปล่า

หลังจากดูจบและตกตะกอนคิดอยู่นาน ผมเลื่อนสายตาไปสบตากับวิยะดาบนโปสเตอร์ Samui Song อีกครั้ง วิยะดาส่งยิ้มมีเลศนัยพร้อมยกนิ้วนางที่สวมแหวนแต่งงานให้กับความรัก แต่ในอีกนัยหนึ่งก็แสดงถึงการถูกตีกรอบการเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ผมคิดต่อว่าถ้าให้เธอเลือกได้จริงๆ โดยไม่ต้องห่วงกองเซนเซอร์ เธอจะยกนิ้วไหนให้กับความรักและการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมแบบนี้กันแน่นะ

เธอจะยกนิ้วโป้งเพื่อบอกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันดีแล้ว

เธอจะยกนิ้วชี้เพื่อชี้กล่าวโทษฟ้าที่ทำเธอเป็นแบบนี้

เธอจะยกนิ้วกลางเพื่อก่นด่าให้กับความเฮงซวยห่วยแตกทั้งหลาย

เธอยังคงยกนิ้วนางเพื่อแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของสตรีและการถูกใส่ความเป็นเจ้าของ

เธอจะยกนิ้วก้อยเพื่อเป็นการสัญญาถึงตัวตนที่ไม่มีวันจางหาย

หรือเธอจะกำหมัด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแข็งข้อและไม่ยอมอีกต่อไป

และเราล่ะ จะยกนิ้วอะไร หรือแค่ก้มหน้าเก็บงำความรู้สึกต่อไปโดยไม่แสดงออกอะไรเลย

จะเลือกทางไหน ก็ขึ้นอยู่ที่มือของเราแล้วล่ะ

AUTHOR