SOLO : A STAR WARS STORY – ยุคไร้กฎหมายและจักรวาลตกสำรวจของสตาร์วอร์

Director : Ron Howard
Region : USA
Genre : Action / Adventure / Fantasy

เห็นได้ชัดว่า Lucasfilm ภายใต้เงายักษ์ใหญ่ของ Walt Disney ยังไม่ใจแข็งปล่อยทิ้งคาแรคเตอร์นักขนของเถื่อนชื่อกระฉ่อน ฮาน โซโล ไปได้ง่าย ๆ ถึงฮานจะจากไปด้วยน้ำมือของลูกชายแท้ๆ ใน The Force Awaken (2015) แต่ในโลกธุรกิจ คาวบอยอวกาศผู้มีชีวิตโลดโผนยังคงมีชีวิตอยู่และมีโอกาสที่จะมีลมหายใจต่อไปได้ตลอดกาล ถ้านายเหนือหัวดิสนีย์เห็นสมควรว่าลมหายใจของเขามีมูลค่ามหาศาลเพียงไหน

SOLO : A Star Wars Story เป็นการส่งไม้ต่อคาแรคเตอร์อันโด่งดังที่แฟนๆ Star Wars ทั่วโลกจับตามอง ทั้งจาก แฮริสัน ฟอร์ด ไปสู่ อัลเดน เออเร็นริช ในบท ฮาน โซโล และ ปีเตอร์ เมย์ฮิว ไปสู่ Joonas Suotamo ในบท ชิวแบคก้า เพราะทั้งฟอร์ดและเมย์ฮิวอายุอานามรวมกันเกือบ 150 ปีเข้าไปแล้ว คงถึงเวลาที่พวกเขาจะส่งต่อบทบาทที่สร้างชื่อเสียงให้กับพวกเขาสู่เด็กรุ่นใหม่ ซึ่งอาจมีบ้างที่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจนักแสดงรุ่นใหม่จะทำให้เกิดกระแสบวกลบสลับกันไปตั้งแต่การประกาศสร้างจนถึงก่อนฉาย (และอาจดำเนินต่อไปเรื่อยๆ หลังหนังฉายในหมู่แฟนหนังหรือนักวิจารณ์) แต่หลังจากที่เราได้ชม ความคิดของเราในฐานะแฟนคลับสตาร์วอร์คนนึงคิดว่า SOLO : A Star Wars Story ไม่ได้เลวร้ายหรือน่าผิดหวังแต่อย่างใด ซ้ำยังสนุกตื่นเต้นอย่างเหนือความคาดหมายไปมากเสียด้วยซ้ำ

รอน ฮาวเวิร์ด รับช่วงต่อในฐานะผู้กำกับหลังจาก ฟิล ลอร์ด และ คริสโทเฟอร์ มิลเลอร์ ออกจากโปรเจกต์ โดยสองนายหลังได้ชื่อเป็น Executive Producer แทน ฮาวเวิร์ดถ่ายทำใหม่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์จนหนังจบลงด้วยทุนสร้างกว่า 250 ล้านดอลลาร์ อัดแน่นไปด้วยฉากแอ็คชั่นโลดโผนโจนทะยานชนิดแทบไม่มีเวลาให้พัก การก่อร่างสานต่อหรือทำลายความสัมพันธ์ระหว่างฮานและตัวละครอื่นๆ หรือมุกตลกที่แฟนๆ คุ้นตาจากความกะล่อนของพระเอกหนุ่ม ฮาวเวิร์ดผู้มีชื่อเสียงจากงานคอเมดี้ แอคชัน ดราม่า และแฟนตาซี สามารถผสมผสานแนวทางที่ตนถนัดได้อย่างลงตัวและน่ายกย่องในฐานะภาค Spin-Off ที่ตื่นตาตื่นใจที่สุดภาคหนึ่ง ผ่านเส้นเรื่อง ตัวละคร รวมถึงองค์ประกอบทางภาพยนตร์อื่นๆ

SOLO : A Star Wars Story ใช้สไตล์ของหนังคาวบอยตะวันตกเป็นแก่นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคบ้านป่าเมืองเถื่อนไร้กฎหมาย การค้าทาส นักล่าค่าหัว ผู้มีอิทธิพลครองเมือง หรือฉากปล้นรถไฟที่เป็นภาพจำของหนังคาวบอยตะวันตก ซึ่งประสบความสำเร็จ เพราะมันลงล๊อคเหมาะสมกับพื้นเพและเส้นทางของตัวละคร ฮาน โซโล มาโดยตลอด จากที่เราเห็นเขาโลดแล่นอยู่ในการต่อสู้ระหว่างด้านมืด-ด้านสว่างใน Star Wars ที่เน้นหนักไปที่โทนสงครามและการเมือง แต่การผจญภัยในโลกที่เขาจากมาอันเต็มไปด้วยความโสมมและอิทธิพลเถื่อน กลายเป็นประเด็นรองที่มาเสริมเส้นเรื่องหลักเท่านั้น ใน SOLO : A Star Wars Story จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เห็นการผจญภัยส่วนที่ขาดหายไปที่ฮาวเวิร์ดทำได้ไม่ด้อยไปกว่าเส้นเรื่องหลักเลย

สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างคือการใช้ Practical Effects หรือเอฟเฟกต์ทำมือที่จับต้องได้รวมถึงกลไกการขยับได้จริงโดยไม่พึ่ง Visual Effects บนคอมพิวเตอร์มากนัก (หรือไม่พึ่งเลย) อันเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์ที่สำคัญของแฟรนไชส์สตาร์วอร์ ความปราณีตแต่ไม่ไหลลื่นสมบูรณ์แบบของ Practical Effect นี้เองที่ส่งให้ SOLO : A Star Wars Story มีความดิบเถื่อนสมจริงอย่างที่หนังควรจะเป็น โดยเฉพาะฉากสถานที่และเหล่ามนุษย์ต่างดาวที่เท่ สวยงาม ดุดัน มีเอกลักษณ์และลูกเล่นแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นตัวละครหลักหรือตัวประกอบก็ตาม และยิ่งสวยงามน่าตื่นตาที่สุด เมื่อเทคนิค Old School อย่าง Practical Effect ทำงานร่วมกับ Visual Effect สมัยใหม่

นอกจากความบันเทิงสุดเหวี่ยงจากฉากแอคชัน และฉากไล่ล่าที่หนังใส่มาแบบแทบไม่มีเวลาให้พัก หนังยังมีประเด็นรองสนุกๆ ที่สร้างคำถามที่เราแทบไม่เคยเอะใจสงสัยมาก่อนในโลกของสตาร์วอร์เลย คือ ประเด็นสิทธิมนุษย (?) ชนในหุ่นดรอยด์ ที่ว่าหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างมาเพื่อช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในจักรวาล จำเป็นต้องมีปากมีเสียงหรือมีเสรีภาพหรือไม่ ตัวละคร L3-37 (Motion Capture โดย ฟีบี้ วอลเลอร์-บริดจ์) คือหุ่นดรอยด์ที่ตั้งคำถามดังกล่าวและเป็นดรอยด์หัวกบฎที่ง่วนอยู่กับการเรียกร้องเสรีภาพให้เพื่อนดรอยด์ตลอดเวลา ต่างจากตัวละครดรอยด์เชื่องๆ ในไตรภาคก่อนที่เราคุ้นเคยอย่าง R2-D2, C-3PO หรือ K-2SO (Rogue One) ที่ถึงจะมีความคิดอ่านของตนเองเป็นปัจเจก แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงดรอยด์ที่รับใช้เจ้านายอย่างไร้ข้อกังขาเท่านั้น

L3-37 คือประเด็นใหม่ที่สตาร์วอร์ไม่เคยพูดถึงมาก่อนและสร้างคำถามตามมาว่า อะไรคือสิ่งที่หล่อหลอมให้ดรอยด์ตัวหนึ่งมีความคิดและพฤติกรรมเรียกร้องหาเสรีภาพสุดโต่งขนาดนั้น รวมถึงคำถามโลกแตกชวนถกเถียงว่า มันสามารถทำได้และจำเป็นต้องทำหรือไม่ สำนึกรักชีวิตและเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์มีจริงในหุ่นดรอยด์หรือไม่ เพราะถึงจะมีความคิดอ่านอย่างไร แต่ความจริงทางชีวภาพหุ่นดรอยด์ก็ไม่ได้มีชีวิต ต่างจากกองทัพโคลนหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ของสตาร์วอร์ การกดขี่ที่ L3-37 มองเห็นเป็นการกดขี่จริงๆ หรือทั้งหมดคือหน้าที่โดยกำเนิดของหุ่นดรอยด์แต่แรกอยู่แล้ว

ปัจจุบัน Walt Disney หันมาสนใจจักรวาลสตาร์วอร์ที่ไม่มีอัศวินเจไดมากขึ้น ทำลายขนบความคิดเดิมๆ และมุ่งหน้าสู่สิ่งใหม่ซึ่งชัดเจนอย่างมากใน The Last Jedi (2017) แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงย่อมนำมาซึ่งความขัดแย้ง ทำให้กลุ่มแฟนคลับทั่วโลกต้องมาติดตามกันต่อว่าทิศทางของสตาร์วอร์ในอนาคตที่แทบไม่เหลืออัศวินเจไดมาสร้างสีสันอีกแล้วจะเป็นอย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Walt Disney ก็ยังไม่ตัดท่อน้ำเลี้ยงตัวเองและพัฒนาภาคสปินออฟที่เข้มข้นไม่แพ้เส้นเรื่องหลักอย่าง ROGUE ONE (2016) หรือกับ SOLO : A Star Wars Story เรื่องนี้เองก็ตาม

ที่สำคัญคือเหล่าภาคสปินออฟไม่เพียงพาเราไปในพื้นที่ตกสำรวจในจักรวาลอันกว้างใหญ่ของสตาร์วอร์เท่านั้น แต่ยังเก็บรายละเอียดเรื่องราวให้คนดูเข้าใจความเป็นมามากขึ้น เช่นเดียวกับ SOLO : A Star Wars Story ที่มีหน้าที่ตอบคำถามเรื่องที่มาที่ไปของ ฮาน โซโล รวมถึงเป็นเชื้อไฟแห่งกองทัพกบฎที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งการสวมบทบาท ฮาน โซโล ของ อัลเดน เออเร็นริช ไม่เป็นสองรองจากสมัย แฮริสัน ฟอร์ด แถมหนังยังให้ความบันเทิงได้ด้วยตัวเองเพียงพอที่จะไม่ต้องพึ่งฉากกวัดแกว่งกระปี่แสงของเจไดแต่อย่างใด

แต่สุดท้าย เส้นทางของ SOLO : A Star Wars Story ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของแฟนสตาร์วอร์ รวมถึงกระแสที่ไม่สู้ดีนักทำให้หนังทำเงินไม่มากในสหรัฐอเมริกาและเป็นหนังจากแฟรนไชส์สตาร์วอร์ที่ทำเงินเปิดตัวน้อยที่สุดตั้งแต่ภาค Revenge of the Sith (2005) ชวนให้ติดตามกันต่อไปว่าจักรวาลสตาร์วอร์ที่อยู่นอกเหนือดราม่าครอบครัว Skywalker จะต่อยอดไปได้ไกลแค่ไหน และภาคสปินออฟของเหล่าตัวละครที่จะตามมาอย่าง Boba Fett (คอนเฟิร์มการสร้างแล้ว) หรือ Obi-Wan Kenobi (ที่ยังไม่มีข่าวออกมาแน่ชัด) จะประสบความสำเร็จมากน้อยต่างจากโซโลเพียงใด

ภาพ IMDb

AUTHOR