History Palette: หนังสือประวัติศาสตร์อ่านสนุก ที่ชวนทุกคนไปรู้จักอดีตผ่านสีสัน

ถ้าอยู่ๆ มีใครสักคนขอให้แนะนำหนังสือ non-fiction ที่หยิบเรื่องใกล้ตัวมาเล่าแบบสนุกๆ เข้าใจง่าย แต่ไม่เบาสมองจนเกินไป เราคงยื่น ‘History Palette ประวัติศาสตร์มีสี’ ให้เลยตอนนี้

ประวัติศาสตร์อาจเป็นเพียงภาพสีขาว-ดำ พูดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เป็นเหมือนเพียงตัวอักษรที่วางเรียงกันยาวเหยียด แค่มองก็รู้สึกง่วงแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้พาเราไปรู้จักประวัติศาสตร์ในอีกแง่มุมหนึ่ง แน่นอนว่ามันมีสีสันอยู่ในนั้นด้วย นั่นจึงทำให้หนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้ดูน่าสนุกขึ้นมา

History Palette ประวัติศาสตร์มีสี คือหนังสือลำดับที่สอง ของ ‘เตย-มนสิชา รุ่งชวาสนนท์’ นักเขียนเรื่องราวประวัติศาสตร์น่าสนุกผ่านสิ่งของชิ้นเล็กชิ้นน้อย อย่าง World War Tools สงครามโลกในสิ่งของ นอกจากนี้ยังขยายจักรวาลเรื่องเล่า อย่างการเป็นเจ้าของคอลัมน์ Past Forward ในเว็บไซต์ a day, โฮสต์รายการ อดีต l ของ l ปัจจุบัน ใน a day PODCAST และผู้ร่วมก่อตั้งเพจ พื้นที่ให้เล่า

เตยบอกตั้งแต่ช่วง Intro ในหนังสือว่า “มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบบอกเล่าเรื่องราว” เราหยิบเอาของที่มีอยู่ในธรรมชาติมาสร้างความหมายใหม่ๆ แล้วคนในสังคมก็ตกลงร่วมกันตามนั้น นั่นเลยเป็นเหตุผลที่เรารู้สึกดีใจเวลาที่ได้รับดอกไม้ เพราะสังคมยกให้มันเป็นตัวแทนของความรัก กลับกันเราคงแอบกำหมัดอยู่ในใจถ้ามีใครสักคนให้ของมีคม เพราะมันสื่อถึงความอันตรายและน่ากลัว

เช่นเดียวกับ สี ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนเราสร้างความหมายให้ด้วย สีในแต่ละยุคสมัยบรรจุความคิดและความเชื่อของคนในสังคมเข้าไป สีจึงไม่ใช่แค่เพียงคลื่นความถี่ที่สะท้อนเข้าดวงตาเท่านั้น แต่ยังบรรจุเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เราอาจเคยหลงลืมไป 

หนังสือขนาดกะทัดรัด ประมาณ 200 กว่าหน้า พาเราท่องไปในประวัติศาสตร์หลายยุคสมัยที่ให้ความหมายของแต่ละสีต่างจากที่เรารู้จัก เช่น สีชมพูเคยเป็นสีของเด็กผู้ชาย สีน้ำตาลเคยอยู่ในสถานะสีราคาแพงเพราะทำจากศพ สีเขียวที่เคยคร่าชีวิตของผู้คน และเรื่องราวอีกหลายสีที่เรายังไม่เคยรู้มาก่อน

สีและการแย่งชิงความหมาย

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้คือฉบับปรับปรุงของบทความในคอลัมน์ Past Forward ที่เน้นเรื่องราวของสีโดยเฉพาะ ผ่านเรื่องราวหลากหลายแง่มุมอย่างเต็มอิ่ม เราจะได้รู้จักแต่ละสีผ่านมุมมองของคนในอดีต บางครั้งก็แตกต่างจากปัจจุบัน บางครั้งความหมายของสีเหล่านั้นก็ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน จนทำให้เราร้อง “อ๋อ” ขึ้นมา

หากใครคุ้นเคยกับเกร็ดประวัติศาสตร์จาก Past Foward, อดีต ของ ปัจจุบัน หรือ พื้นที่ให้เล่า จากมนสิชา คงเข้าใจดีว่าเรื่องราวส่วนใหญ่จะเน้นไปที่เรื่องราวประวัติศาสตร์ของตะวันตก แต่สไตล์การเล่า และความเป็นสากล ก็ทำให้เรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ไกลตัวจากเราเกินไปนัก

แต่ละบทของหนังสือบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของแต่ละสีแยกกันอย่างชัดเจน นั่นจึงทำให้เราสามารถอ่านตามลำดับ หรือเลือกอ่านตามบทที่สนใจได้โดยไม่เสียอรรถรส

 ในหนังสือเปิดด้วยสีที่ความสำคัญกับมนุษยชาติมากที่สุด อย่างสีดำ ซึ่งเป็นสีที่มีจุดเริ่มต้นยาวนานพอๆ กับการมีอยู่ของมนุษย์เนื่องจากเป็นสีที่ทำได้ง่ายที่สุด แถมยังเป็นสีที่ถูกนำมาใช้กับการบันทึกและการเขียนอ่าน ซึ่งกลายเป็นสื่อกลางที่ส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่นมาถึงปัจจุบัน

แต่นอกจากความสำคัญในแง่การจดบันทึกแล้ว สีดำยังเป็นสีที่มีความหมายในสังคมอีกหลายมุม อย่างด้านแฟชั่น ซึ่งเคยได้รับความนิยมในช่วงศตวรรษที่ 14 เนื่องจากมีการคิดค้นเทคนิคการย้อมใหม่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ชุดสีดำเป็นชุดที่ชนชั้นสูงในยุคกลางไม่เคยเหลียวแล เนื่องจากสีสดใสมีราคาแพงกว่ามาก 

สีดำยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ทางอำนาจด้วย อย่างในศตวรรษที่ 16 ที่จักรวรรดิสเปนครองพื้นที่ใหญ่ จนสามารถบอกได้ว่าเครื่องแต่งกายแบบใดที่ยุโรปตะวันตกควรสวมใส่ ซึ่งนั่นคือเครื่องแต่งกายสีดำ โดยมอบความหมายให้เป็นสีแห่งอำนาจและเกียรติยศ 

แต่หลังจากศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ชาวยุโรปก็กลับมาสนใจแฟชั่นที่มีสีสันสดใสอีกครั้ง จากความรุ่งเรืองของฝรั่งเศสจนเกิดเป็นการปะทะ และเปลี่ยนผ่านแฟชั่นระหว่างยุคสมัยอย่างชัดเจน หลังจากความพยายามของฝรั่งเศส จากหลุยส์ที่ 14 ก็ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีภาพลักษณ์หรูหราและสนุกสนาน ก่อนที่อังกฤษจะเข้ามาช่วงชิงตำแหน่งนี้ไปในศตวรรษที่ 19

นี่เป็นเพียงแค่เรื่องราวบางส่วนในบทแรกเท่านั้น แต่ก็ทำให้เห็นถึงความพยายามในการครอบครองความหมายของคนที่มีอำนาจซึ่งผลัดเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่เรื่องสี ที่ถึงจะเป็นสีเดียวกันแต่ก็ถูกให้คุณค่าต่างกันไปในแต่ละยุค 

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับสีอื่นๆ เช่นกัน อย่างสีชมพู ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นสีของเด็กผู้ชายมาก่อนที่จะกลายเป็นตัวแทนของเด็กผู้หญิงในยุคนี้ ซึ่งผู้เขียนก็ได้สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ทุกวันนี้คุณค่าและความหมายของสีชมพูเปลี่ยนไปตามกาลเวลา คำถามที่ว่าสีชมพูจะข้ามผ่านกำแพงแห่งอคติ และกลายเป็นสีที่สร้างพลังผ่านความหมายใหม่ๆ ได้หรือไม่นั้น เราคงต้องติดตามอีกยาว” 

“เพราะถึงที่สุดแล้วชมพูก็เป็นแค่เฉดสี แต่สังคมนี้ต่างหากที่เป็นผู้ตีค่าและมอบความหมายให้” 

สีสันของหนังสือประวัติศาสตร์

สิ่งที่เราชอบในหนังสือเล่มนี้คือการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้น่าสนใจด้วยการเล่าผ่านสีสัน

สำหรับคนที่ไม่ได้รู้จักประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง (อย่างเรา) และเป็นเพียงผู้ชื่นชอบอ่านเรื่องราวประวัติศาตร์มือสมัครเล่น หนังสือเล่มนี้ทำให้เราสนุกกับเรื่องราวในอดีตอย่างง่ายดาย

แม้เรื่องราวฉากหลังจะปรากฎบริบทสังคมในอดีตที่เราไม่ค่อยคุ้นเคยนัก หรือชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยคุ้นหู แต่ด้วยวิธีการเล่าที่เข้าใจง่าย และปรับปรุงมาจากบทความบนเว็บไซต์ออนไลน์ทำให้ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าใจประวัติศาตร์ได้ไม่ยากเย็นเกินไป

เช่น ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อเมริกามีปรากฏการณ์ตามล่ากลุ่มรักร่วมเพศ และเรียกช่วงนั้นว่า “ความหลอนสีลาเวนเดอร์ (Lavender Scare)” เพราะขณะนั้นอเมริกาอยู่ในช่วงกลัวคอมมิวนิสต์ แต่แทนที่จะไปตามหากลุ่มคนนิยมคอมมิวนิสต์เพียงอย่างเดียว กลับมีคำสั่งให้ตามล่าหาข้าราชการที่มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันด้วย โดยอ้างว่าเสี่ยงต่อการทำข้อมูลรั่วไหล 

หรือเหตุการณ์รวมชาติของเยอรมัน นำมาสู่การคิดค้นสีน้ำเงิน ที่มีชื่อว่าปรัสเซียนบลู ซึ่งถูกนำเสนอในภาพทหารจำนวนมากสวมเครื่องแบบสีน้ำเงินเข้ม โดยโทนสีนี้ถูกค้นพบในปี 1704 จากนักผสมสี โยฮันน์ ยาคอบ ดีสบาค (Johann Jacob Diesbach) ซึ่งเหตุการณ์ค้นพบนี้ก็ได้เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์สีน้ำเงินไป ให้สังเคราะห์ง่าย ราคาไม่แพง และไม่เป็นพิษ  แต่ละเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ค่อยๆ ร้อยเรียงต่อกัน โดยมีสีเป็นตัวดำเนินเรื่อง ขณะเดียวกันก็พาให้เราเห็นภาพรวมของแต่ละยุคสมัย นับตั้งแต่ยุคกรีก โรมัน ยุคกลาง ช่วงสงครามโลก จนขยับเข้าใกล้ยุคปัจจุบันในต้นศตวรรษที่ 20

หนังสือเล่มนี้นอกจากจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์อ่านสนุกที่ไม่ว่าใครก็สามารถอ่านได้ง่ายๆ แล้ว ยังมีบางช่วงที่ชวนให้เรากลับมาตั้งคำถามต่อความหมายของสีในปัจจุบันว่าเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนแล้ว ขณะเดียวกันการปะทะทางความคิด และการช่วงชิงความหมาย ยังทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่สีที่อยู่รอบตัวเรา

AUTHOR