‘บทประพันธ์สำหรับเปียโนและแท่งถ่าน’ : โชว์ที่ดึงเอาดนตรีคลาสสิกลงมาจากหิ้ง

Highlights

  • Concerto for Piano & Charcoal : บทประพันธ์สำหรับเปียโนและแท่งถ่าน’ คือการแสดงของ MontienDept ที่พวกเขาทั้งสองจะใช้การเคลื่อนไหวของแท่งถ่านและเสียงเปียโนสร้างโชว์ที่แหกจากกรอบเดิมๆ ของดนตรีคลาสสิก
  • แนวคิดพื้นฐานเรื่องการแหกกรอบนี้เกิดจากที่ทั้งคู่เห็นความสำคัญของการเอาศิลปะลงมาจากหิ้งให้คนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมและสนุกไปกับมันได้
  • สุดท้ายแล้ว MontienDept ให้ความเห็นว่าศิลปะมีความสำคัญต่อคนทั้งในแง่ของสุนทรียะและการเข้าใจที่มาของความรู้สึกต่างๆ

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยและเยี่ยมชมการเซตอัพงานแสดง ‘Concerto for Piano & Charcoal : บทประพันธ์สำหรับเปียโนและแท่งถ่าน’ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

งานแสดงชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะการแสดง ครั้งที่ 7 ภายใต้การสนับสนุนของ BACC และสถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย เรื่องราวทั้งหมดจะถูกถ่ายทอดโดย 2 ศิลปินในชื่อ ‘MontienDept’ คือ ‘โอ๊ต มณเฑียร’ ศิลปิน นักเขียน และนักวาดภาพประกอบชาวไทย กับ ‘โจนัส เดปท์’ นักเปียโนชาวเบลเยียม พวกเขาทั้งสองคนเกริ่นไว้อย่างสั้นๆ ว่านี่คือโชว์ที่จะเอาบทประพันธ์คลาสสิกของโมซาร์ตมาดัดแปลงให้ร่วมสมัยด้วยการผสมผสานเสียงดนตรีกับลายเส้นเข้าด้วยกัน พร้อมยืนยันว่านี่คืองานศิลปะแบบใหม่ที่ยังไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อนในโลก

วันที่เราไปถึง โอ๊ตและโจนัสกำลังเตรียมตัวสำหรับการแสดง เราแอบสังเกตเห็นว่าบรรยากาศทั้งหมดในพื้นที่กว้างของสตูดิโอชั้น 4  มีเพียงสีขาวและดำ ตั้งแต่เปียโนสีดำหนึ่งหลัง และผนังสีขาวสำหรับวาดขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางห้อง แท่งชาโคลสีดำและคีย์เปียโนที่เป็นสีขาว โอ๊ตในชุดสีขาวและโจนัสในชุดสีดำ เหมือน MontienDept กำลังจะบอกเราว่าทุกสิ่งมีทั้งขาวและดำ ขาดสีใดสีหนึ่งไปไม่ได้ ประหลาดใจเหมือนกันที่เรากลับรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับภาพเบื้องหน้าได้อย่างง่ายดาย อาจเพราะเมื่อสีสันถูกลดทอนอย่างชัดเจน มันทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีอะไรที่ซับซ้อนเกินจะเข้าใจ

บางทีโชว์พวกเขาทั้งสองคนอาจเป็นเช่นนั้น

ดนตรีคลาสสิกอาจเป็นเช่นนั้น

และศิลปะก็อาจเป็นเช่นนั้น

ไอเดียตั้งต้นของ Concerto for Piano & Charcoal : บทประพันธ์สำหรับเปียโนและแท่งถ่าน’ คืออะไร

โอ๊ต : จริงๆ เราสองคนเริ่มทำงานด้วยกันในนาม ‘MontienDept’ มา 2 ปีแล้ว เขาเป็นนักเปียโน เราเองก็วาดรูป แต่ด้วยความที่เราอยากทำงานด้วยกันก็เลยลองรวมกันดู แต่ที่ผ่านมาหลายๆ ครั้งก็จะเป็นการแสดงในรูปแบบของเพลงที่เราวาดตามอารมณ์ แต่ว่างานนี้ค่อนข้างต่างไป เราอยากสร้างไวยากรณ์ที่เราสามารถใช้ด้วยกันได้

โจนัส : ไอเดียแรกมาจากคลาสสอนวาดรูปของโอ๊ตที่ผมไปเป็นแบบ ผมได้ยินเสียงแท่งชาร์โคลที่วาดลงไปบนกระดาษ ผมรู้สึกว่าเสียงเหล่านี้เหมือนกับเพลง นั่นเป็นครั้งแรกที่เราคิดว่าน่าจะลองใช้เครื่องมือนี้ในโชว์ ไม่ใช่เพื่อให้เกิดงานภาพอย่างเดียว

วิธีการเตรียมตัวของคุณทั้งคู่แตกต่างจากโชว์ก่อนหน้านี้ยังไงบ้าง

โอ๊ต : จากไอเดียตรงนี้เราคิดว่ามันน่าสนใจดี  ถ้าแท่งชาร์โคลจะกลายเป็นหนึ่งในเครื่องดนตรี เราเลยเริ่มเรียนดนตรี ทำความเข้าใจกับทุกอย่าง หาความหมายที่ซ่อนอยู่หลังโน้ตแต่ละตัว พอเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่เราก็พบว่ามีหลายๆ อย่างที่เชื่อมโยงกับงานวาดของเรา

โจนัส : เราได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ได้หายใจพร้อมๆ กัน เราซ้อมจนได้รู้สึกถึงท่วงทำนองเดียวกันโดยไม่ต้องมองตากัน เหมือนเราใช้เวลาร่วมกันผ่านการเคลื่อนไหวและเสียงดนตรี

เหมือนเป็นการปรับคลื่นของคุณทั้งคู่ให้ตรงกัน

โอ๊ต : ใช่เลย คีย์ของเราคือคำว่า synergy มันคือคำหลักที่เราใช้อธิบายงานของ MontienDept นั่นคือการจูนคลื่นเข้าหากันทั้งในลักษณะของคลื่นเสียงและพลังงานที่เราใส่ลงไปในการแสดงด้วย

โจนัส : สำหรับผม มันน่าสนใจว่าพอเป็นแบบนี้ ปลายทางไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด อย่างนักดนตรีเวลาเล่นโน้ตตัวแรก เราจะรู้อยู่แล้วว่าโน้ตตัวสุดท้ายคืออะไร หรือเหมือนกับนักวาดที่อาจจะมีภาพสุดท้ายในหัวอยู่ แต่สิ่งที่สำคัญมันคือการจัดการช่วงเวลาพิเศษระหว่างนั้นร่วมกัน

ทำไมครั้งนี้พวกคุณถึงเลือกใช้บทประพันธ์ของโมซาร์ตในการแสดง

โอ๊ต : เราเลือกโมซาร์ตเพราะเขาถือเป็นกบฏทางดนตรีในยุคของเขา ก่อนหน้ายุคของเขา ดนตรีเป็นเหมือนแบ็กกราวนด์ แต่โมซาร์ตเป็นคนแรกๆ ที่ฉีกออกมาทำเพลงที่ดึงดูดคนให้ตั้งใจฟัง โจนัสพูดเสมอว่าถ้าโมซาร์ตยังมีชีวิตอยู่ เขาคงจะทำอะไรแบบที่เราทำนี่แหละ นั่นคือการฉีกขนบของความเป็นดนตรีคลาสสิก เราเลือกให้เป็น concerto (การประชันกัน) ด้วย ไม่ต้องไปเล่าถึงอะไรที่เป็นเรื่องราว แต่เนื้อหาของมันคือไดนามิกระหว่างผู้บรรเลงสองคน

กลัวไหมว่าการฉีกกรอบขนบเดิมๆ อาจทำให้เกิดกระแสไม่ยอมรับได้

โจนัส : (หัวเราะ) ถ้ากบฏแล้วต้องมีฟีดแบ็กด้านลบ มันถึงจะถือว่าเราบรรลุเป้าหมายนะ

โอ๊ต : นั่นเป็นเหตุผลที่เราร่วมงานกับ BACC เพราะเรารู้สึกว่าครั้งนี้ไม่ใช่แค่คอนเสิร์ตทั่วไป มันคือการแสดง มันคือการสร้างภาษาใหม่ เราคิดว่าศิลปะร่วมสมัยควรเป็นกบฏด้วยนิยามของมันอยู่แล้ว คนเลยน่าจะสามารถเข้าใจในสิ่งที่เราอยากจะสื่อสารได้ในบริบทนี้ และเท่าที่เราดู เรายังไม่เห็นมีใครทำงานแบบนี้ในเลเวลนี้มาก่อน

สำหรับ MontienDept, การฉีกกรอบหรือการเป็นกบฏสำคัญอย่างไร

โจนัส : สำคัญมาก ผมคิดว่านักดนตรีควรจะกลับไปเข้าไปที่พื้นฐานว่านักประพันธ์เพลงเขาต้องการอะไรกันแน่ แล้วเอาสิ่งนั้นมารวมกับเรื่องราวของตัวเองใส่มุมมองตัวเองลงไปในการแสดงด้วย อย่างโมซาร์ตก็เป็นกบฏ เขาเปลี่ยนดนตรีที่เคยเป็นแบ็คกราวด์ให้กลายเป็นตัวชูโรง หรือในปัจจุบันที่ช่องว่างระหว่างดนตรีแบบอนุรักษ์นิยมกับสังคมสมัยใหม่มันกว้างมากขึ้นไปทุกที คนไม่เชื่อมโยงกับคอนเสิร์ตแบบดั้งเดิมอีกแล้ว รูปแบบของมันไม่ได้เข้ากับชีวิตยุคนี้ อย่างในยุโรปมันยากมากเลยที่จะทำอะไรแตกต่างจากวัฒนธรรมเดิมเพราะคนคุ้นชิน ดังนั้นผมคิดว่าประเทศไทยเป็นที่ที่ดีในการทดลองและฉีกกรอบเดิมๆ ของดนตรีคลาสสิกนะ

คุณทราบไหมว่าที่ประเทศไทยเรามีปัญหานี้อยู่เหมือนกันกับดนตรีไทยเอง

โจนัส : แน่นอนที่สุด สำหรับผมเครื่องดนตรีไทยยอดเยี่ยมมาก น่าเสียดายที่เราอิงกับวัฒนธรรมเก่ามากไป ดังนั้นถ้ามีใครสักคนในวงการที่เป็นกบฏในยุคใหม่นี้ก็คงดี หรือบางทีน่าจะลองเอาดนตรีไทยไปเล่นในยุโรปดูบ้างนะ

เทียบกับดนตรีคลาสสิก เหมือนคนที่เข้ามาชมอาจจะต้องการพื้นฐานทางด้านศิลปะพอควร แล้วกับโชว์นี้ คนที่มีพื้นฐานศิลปะไม่เท่ากันเขาจะได้อะไรต่างกันไหม

โอ๊ต : เราคิดว่านี่ไม่ใช่คอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกหรืออะไรที่เคยเข้าใจมา มันเป็นอะไรที่ใหม่ เราอยากให้ลองทิ้งอคติไว้ที่บ้าน เปิดใจ แล้วมาสัมผัสประสบการณ์ มาแลกเปลี่ยนกัน เรารู้สึกว่าถ้าเพลงเพราะ ยังไงคนก็ซาบซึ้งนะ เหมือนคุณไม่จำเป็นต้องจบปริญญาด้านหนังมา คุณก็ดูหนังสนุกได้

โจนัส : ผมรู้สึกว่าโชว์นี้เป็นการแสดงมากกว่าคอนเสิร์ต เรามีการใช้ระบบแสง อิเล็กทรอนิก และงานด้านวิชวลมากระตุ้นคนดูให้สนุกกับเรา คุณสามารถถ่ายรูปได้ ลุกเดินได้ ปรบมือตอนไหนก็ได้ เราไม่ได้บังคับ เราอยากให้คนรู้สึกมีอิสระกับพื้นที่ของเรา

สุดท้ายแล้ว MontienDept คิดว่าการดึงเอาศิลปะลงมาจากบนหิ้งจะเกิดผลดีอะไรในวงกว้างบ้าง

โจนัส : ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องดีเลยที่ศิลปะอยู่ไกลจากสังคมสมัยใหม่  ไม่ว่าจะศิลปะแขนงไหนก็ตามก็ควรมาอยู่ใกล้ชิดกับสังคม ตอนนี้ช่องว่างมันกว้างเกินไป แต่ถ้าเราทำได้ เราจะได้สุนทรียะที่ทำให้เรามีชีวิตมากขึ้น ที่สำคัญคือเหนือกว่าศิลปะ ผมคิดว่ามันคือปรัชญาที่ว่าคุณสามารถหาความอิสระให้ตัวเองได้

โอ๊ต : เอาจริงๆ เราอยู่ในสังคมที่มีศิลปะอยู่รอบตัวเราตลอด  แล้วทำไมเราถึงไม่ทำความเข้าใจสิ่งนี้ที่อยู่รอบๆ ตัวเราล่ะ? อีกอย่างที่อยากบอกคืองานนี้เป็นงานที่ได้รับทุนจาก BACC ซึ่งหลังจากปีนี้ ทุนนี้จะไม่มีแล้ว ดังนั้นการที่ตอนนี้มีทุน มันคือการแสดงวิสัยทัศน์ของ BACC ที่ดีมาก เขาสนับสนุนให้เราทำลายกำแพงระหว่างประชาชนและการแสดงศิลปะ แต่อนาคตที่นี่จะได้รับงบซัพพอร์ตน้อยลง น่าเสียดายนะ เรารู้สึกว่าสังคมต้องมีพื้นที่แบบนี้ เราต้องมีความเข้าใจว่าเพลงที่เรารู้สึกว่าเพราะ มันเพราะเพราะอะไร อะไรที่เรารู้สึกว่าสวย สวยเพราะอะไร เราจะไม่มีโมเมนต์แบบนี้ถ้าไม่มีศิลปะ ไม่มีพื้นที่ให้ศิลปินมาทำให้คุณเห็นแล้วทำความเข้าใจกับสิ่งรอบตัว ดังนั้นถ้าทำได้เราก็อยากให้คนที่มีกำลังแสดงให้ผู้ใหญ่เห็นนะว่าพวกเราไม่ใช่ว่าไม่สนใจศิลปะ เราสนใจและอยากเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองเราจริงๆ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก