MINI LIVING Urban Cabin บ้านเล็กในเมืองใหญ่กับความครีเอทีฟที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต

MINI LIVING Urban Cabin บ้านเล็กในเมืองใหญ่กับความครีเอทีฟที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต

ทำไมแบรนด์รถยนต์ถึงลุกขึ้นมาทำโปรเจกต์สร้างบ้าน เรานึกในใจด้วยความฉงนตั้งแต่แวบแรกที่ได้ยินชื่อโปรเจกต์ MINI LIVING Urban Cabin ของแบรนด์ MINI

เจ้า Cabin หน้าตาทันสมัยนี้ ปัจจุบันตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นส่วนหนึ่งของงาน China House Vision ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปมาเยี่ยมชม เพียงแต่บ้านหลังนี้จะมีความแปลกแตกต่างจาก ‘บ้าน’ ที่เราเคยเห็นสักหน่อย อย่างเช่นผนังที่เจาะเป็นรูด้านบนตัวบ้านที่ติดกระจกไว้หลายชิ้น การมีชิงช้ากลางบ้าน หรือแม้แต่พื้นที่บ้านอันเล็กจิ๋วเพียง 15 ตารางเมตร

คล้ายจะไม่ใช่บ้านสำหรับอยู่อาศัยที่เราคุ้นเคย แต่รายละเอียดน่าสงสัยเหล่านั้นกลับถูกออกแบบมาเพื่อช่วยค้นหาคำตอบสำหรับการมีชีวิตต่อไปในอนาคตในเมืองใหญ่ ในโลกที่ทรัพยากรและพื้นที่จำกัดแต่มีผู้คนเพิ่มมากขึ้นทุกวินาที ว่าบ้านที่พวกเราจะอยู่ร่วมกันได้ดีควรเป็นแบบไหน

MINI มีสโลแกนของโปรเจกต์นำเสนอที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่นี้ว่า BIG LIFE, SMALL FOOTPRINT

ทำไมแบรนด์รถยนต์ถึงลุกขึ้นมาทำโปรเจกต์สร้างบ้าน คำตอบไม่ใช่เรื่องไกลตัวพวกเราเลย

อะไรเล็กๆ น้อยๆ

mini ที่ไม่ได้หมายถึงชื่อแบรนด์สัญชาติอังกฤษ แปลว่า อะไรเล็กๆ กะทัดรัด

แต่จุดเริ่มต้นของแบรนด์ MINI ไม่ได้มีความเล็กเป็นแค่ลูกเล่น ช่วง ค.ศ. 1950 เป็นยุคที่อังกฤษเต็มไปด้วยรถราขนาดใหญ่และเครื่องแรง ราคาค่างวดของรถจึงสูงขึ้นตามไป ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่เกิดวิกฤตการณ์คลองสุเอซ ส่งผลมาสู่ปัญหาราคาน้ำมันแพงลิบในยุโรป รถยนต์ MINI จึงเกิดขึ้นในฐานะยานพาหนะขนาดเล็กที่พาสมาชิกครอบครัวเดินทางไปด้วยกันได้ โดยภายในห้องโดยสารยังต้องนั่งสบายและประหยัดน้ำมัน

ภาพจาก www.telegraph.co.uk

ในสายตาเรา น่าจะตั้งแต่ตอนนั้นเองที่แนวคิด creative use of space หรือการบริหารสเปซอย่างฉลาดเข้ามาเป็นหนึ่งในหัวใจการทำงานของแบรนด์

ใช้ให้ ‘น้อย’ เพื่อสร้างผลกระทบที่ ‘เล็ก’ แนวคิดนี้อยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เราเริ่มเผลอทำตัว ‘ใหญ่’ เกินความจำเป็น ไม่ใช่แค่รถรา แต่ยังรวมถึงพื้นที่ทุกแห่งหนบนโลกที่เราก้าวเท้าเข้าไปเหยียบไปอยู่ ยิ่งเมืองเติบโต ความแออัดเบียดเสียดและมลภาวะต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

เพื่อแก้ปัญหา การเป็นนกน้อยทำรังแต่พอตัวย่อมเป็นเรื่องดี แต่คำถามคือ แล้วรังเล็กแบบไหนที่จะทำให้เรายังใช้ชีวิตได้อย่างปกติและมีความสุข

เมืองที่มีความเป็นบ้านน้อยลง

MINI เดินสายทำโปรเจกต์ MINI LIVING Urban Cabin มาตั้งแต่ปี 2016 โดยเจาะจงเลือกเมืองใหญ่ของโลกที่มีประชากรหนาแน่น ได้แก่ ลอนดอน นิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส และล่าสุดก็คือปักกิ่ง

ปักกิ่งเป็นเมืองเก่าแก่ที่ทุกวันนี้อัดแน่นไปด้วยตึกสูงทันสมัย กำลังเดินหน้าไปสู่ความเป็น supercity เคียงข้างกับเมือง Tianjin ซึ่งมีประชากรรวมกันกำลังจะพุ่งทะลุเลข 130 ล้าน นอกจากนี้ปักกิ่งยังเป็นหนึ่งในเมืองซึ่งที่อยู่อาศัยราคาสูงที่สุดในโลก

ท่ามกลางความเจริญ มรดกจากยุคก่อนอย่าง ‘หู่ทง’ (Hutong) ก็กำลังถูกรุกไล่ หู่ทงคือย่านบ้านเก่าแบบดั้งเดิมของปักกิ่งที่ตั้งอยู่รายล้อมพระราชวังต้องห้ามที่ในปัจจุบันเป็นทั้งบ้านและสถานที่ท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ ผู้คนท้องถิ่นในพื้นที่มักมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิด เมื่อมองรูปแบบที่อยู่ แม้จะเป็นบ้านเก่าชั้นเดียวของคนธรรมดาก็มีพื้นที่เปิดโล่งส่วนกลาง มีลานบ้านให้ทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ทุกวันนี้บ้านขนาดย่อม ตรอกขนาดเล็กกำลังถูกแทนที่ด้วยตึกสูงอย่างตะวันตก เพื่อแสดงความเจริญก้าวหน้าให้โลกภายนอกได้เห็น

สิ่งที่น่าสนใจคือ ชาวต่างชาติบางส่วนซึ่งย้ายมาทำงานในปักกิ่งและมีฐานะดี กลับนิยมที่จะอยู่อาศัยในบ้านเก่า โดยบางคนให้เหตุผลถึงความสบายและความสวยงามที่มากกว่าอพาร์ตเมนต์ มิหนำซ้ำ บ้านเก่ายังมีพื้นที่สวนซึ่งหาได้ยากยิ่งแล้วในบ้านกลางเมืองใหญ่ ด้วยปริมาณบ้านเก่าที่เหลือน้อยลง ทำให้ราคาความสุขในบ้านลักษณะนี้ยิ่งสูงเกินเอื้อม  

ถ้าไม่อยู่ในตึกอพาร์ตเมนต์ที่เกิดขึ้นเพื่อจุคนได้มากกว่า ก็ต้องออกไปตามหาบ้านราคาย่อมเยาในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์กลางเมืองมากขึ้นๆ และผจญกับการเดินทางที่เหน็ดเหนื่อย

ท่ามกลางเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ Urban Cabin ของ MINI LIVING จึงลองเปิดพื้นที่ออกแบบที่อยู่ที่ทั้งสะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างหู่ทงและทำให้ผู้คนได้แชร์พื้นที่ร่วมกัน ให้พื้นที่ทางใจของคนขยายใหญ่ขึ้นเหมือนเช่นแต่ก่อน

จงวาดภาพบ้านในฝันที่อยากอยู่

ในบ้านทุกหลังที่ MINI LIVING เคยสร้างขึ้น พวกเขาจะออกแบบและทำงานร่วมกับสถาปนิกในพื้นที่ เพื่อให้ที่อยู่นั้นสะท้อนเอกลักษณ์พื้นถิ่น อย่างรอบนี้ก็เป็นบริษัท PENDA ที่เชื่อว่าสถาปัตยกรรมจะเป็นตัวเชื่อมผู้คนเข้ากับธรรมชาติ วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

Urban Cabin ประจำสาขาปักกิ่ง เกิดขึ้นภายใต้ธีม Reflection หมายถึงการสะท้อนวัฒนธรรมการอยู่อาศัยแบบดั้งเดิมของหู่ทง ตัวบ้านมีลักษณะเป็นห้อง 2 ห้องที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่อย่างเชื่อมต่อ สะท้อนการหลอมรวมกันของพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่ส่วนตัวแบบที่หู่ทงเป็น

บ้านหลังนี้สร้างขึ้นในรูปแบบไมโครอพาร์ตเมนต์ที่มีพื้นที่ 15 ตารางเมตร แต่มีการใช้กลไก pull, fold, rotate และ stick กับสิ่งของและการตกแต่งภายในห้อง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้พลิกแพลงการใช้งานด้วยตัวเองภายใต้พื้นที่จำกัด ตัวอย่างเช่น ผนังที่มีรูและหมุดให้ขยับปรับปลี่ยนตำแหน่งอุปกรณ์ ผนังบางส่วนหมุนได้ และอาจพลิกกลับมาเป็นโต๊ะหรือเป็นช่องหน้าต่างให้แสงผ่าน แม้แต่เตียงก็สามารถสไลด์ออกมาได้

ความสนุกคืออีกแก่นหนึ่งในการออกแบบของ MINI LIVING พื้นที่ชุดเชื่อมต่อตรงกลางบ้านจึงมีชิงช้าให้นั่งเล่น ย้อนไปสู่ความเยาว์วัยและความทรงจำในอดีต เมื่อแหงนมองขึ้นไปจะพบกระจกเทเลสโคปสะท้อนที่หลังคา เห็นมุมมองอื่นๆ จากจุดที่นั่งอยู่ หากมองจากภายนอก กระจกเหล่านี้จะทำให้คนนอกตัวบ้านมองเห็นภาพสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งท้องฟ้า ต้นไม้ หรือผู้คนที่อยู่ใกล้ๆ โดยแต่ละภาพที่เห็นจะสะท้อนวิวโดยรอบออกมาในมุมมองที่แตกต่างกัน

เมสเสจที่ซ่อนอยู่ในการออกแบบนี้คือ การทำให้เรามองเห็นและคำนึงถึงชุมชนและผู้คนที่รายล้อมตัวเรา ทำอย่างไรเราจึงจะยังเชื่อมต่อกันได้ในเมืองใหญ่ที่ทุกอย่างหมุนไปอย่างรวดเร็ว และอะไรคือสิ่งที่สำคัญในชีวิตเรา ทั้งทางกายภาพและจิตใจ  

รายละเอียดเหล่านี้เองคือตัวอย่างความหมายของคำว่า BIG LIFE, SMALL FOOTPRINT แม้จะอยู่ในกรอบเงื่อนไขของเมือง แต่ความหมายของพื้นที่และการใช้ชีวิตไม่จำเป็นต้องเล็กตามไปด้วย และนี่คือโจทย์ที่เราสามารถนำมาขบคิดต่อได้ในทุกโอกาส ว่าเราจะอยู่อาศัย ทำงาน และมีปฏิสัมพันธ์กับเมืองที่เราอยู่อย่างไร

ในอนาคต MINI LIVING Urban Cabin ในเมืองใหญ่ทั้ง 5 แห่งจะเชื่อมโยงกันในฐานะ Global Village โดยเมืองใหญ่ที่ 5 ได้แก่เซี่ยงไฮ้ และบ้านในแบบฉบับ MINI ที่นั่นจะเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด Co-living ที่อยู่อาศัยได้จริงในที่สุด

แม้เวลานี้บ้าน MINI LIVING แต่ละหลังจะยังเป็นโปรเจกต์ที่มีอายุชั่วคราว แต่เมื่อความคิดสร้างสรรค์ได้ทำงานภายใต้ข้อจำกัดที่เราเผชิญหน้าอยู่ในเวลานี้ ใครจะรู้ว่ามันอาจทำให้เราเข้าใกล้การใช้ชีวิตที่ยืดหยุ่นและเป็นมิตรต่อสิ่งรอบข้างมากขึ้นก็เป็นได้ จริงไหม

#MINI #MINILiving #BigLifeSmallFootprint #UrbanCabinTour #GlobalVillage #ADVERTISEMENT #UrbanLiving #Beijing

 

AUTHOR