จากเสียงระเบิดในหัวของเจ้ย อภิชาติพงศ์ สู่การดีไซน์เสียง bang! ที่ Tilda Swinton ได้ยินใน Memoria

ในห้วงยามแห่งความตึงเครียดและสิ้นหวังของบ้านเมืองเรา หนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นและน่ายินดีที่สุดคือ Memoria (2564) หนังยาวลำดับล่าสุดของ เจ้ย–อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ หนังเรื่องนี้นับเป็นหนังเรื่องแรกของเจ้าตัวที่พูดภาษาต่างประเทศ (อังกฤษกับสเปน) และถ่ายทำนอกประเทศไทย หนังเล่าถึงเรื่องของเจสสิก้า (Tilda Swinton) หญิงสาวที่ออกเดินทางไปยังประเทศโคลอมเบียและพบว่าเธอได้ยินเสียง ‘ปัง!’ (หรือ bang!) รบกวนตลอดเวลา

ในด้านหนึ่ง Memoria จึงเป็นหนังที่มีธีมว่าด้วย ‘เสียง’ เป็นหลักสำคัญ ทั้งในฐานะตัวละครหนึ่งของเรื่องและในฐานะแรงผลักที่ทำให้เจสสิก้าออกค้นหาคำตอบเพื่อทำความเข้าใจเสียงปริศนาในหัวของตัวเอง

หลังจากหนังฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ก็กวาดเอาเสียงปรบมือกราวใหญ่นานหลายนาทีเต็มหลังฉายจบ ไม่น่าแปลกอะไรที่หลายคนจะให้ความสนใจไปยังการออกแบบเสียงซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของตัวหนัง โดยเฉพาะเมื่อเป็นที่รู้กันว่าเสียง bang! ที่ได้ยินนั้นเป็นเสียงที่เกิดขึ้นในหัวของผู้กำกับจากอาการ exploding head syndrome ก่อนจะถูกถ่ายทอดและสร้างออกมาเป็นเสียงให้เราได้ยินในภาพยนตร์ ซึ่งการจะหยิบจับเอา ‘เสียงในหัว’ ให้ออกมาเป็น ‘รูปธรรม’ นั้นไม่ง่ายเลย และมันย่อมต้องใช้ความมุ่งมั่นและทุ่มเทของทีมงานเสียงอย่างมากในการสร้างสรรค์เสียงเช่นนี้ออกมา

Memoria

อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร เป็นนักออกแบบเสียงคู่บุญของอภิชาติพงศ์และเป็นหนึ่งในทีมงานที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ เขาร่วมงานกับอภิชาติพงศ์ครั้งแรกในหนังเรื่อง สัตว์ประหลาด! (2547) ก่อนหน้านั้น อัคริศเฉลิมเป็นนักศึกษาปริญญาตรีด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์จาก Academy of Art University ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เขาใช้เวลาระหว่างเรียนทำหนังทดลอง สลับกับรับงานเป็นช่างเสียงในกองถ่ายและเริ่มตัดต่อเสียงให้นักเรียนในชั้น จนอีกไม่กี่ปีต่อมาเขาก็รู้จักกับอภิชาติพงศ์ คนทำหนังชาวไทยที่กำลังเริ่มทำโปรเจกต์หนังเรื่องใหม่อย่าง สัตว์ประหลาด! และได้กลายมาเป็นต้นธารของการทำงานด้วยกันอย่างยาวนานนับแต่นั้นมา

หลายครั้งหลายหนตลอดการสนทนากับเรา อัคริศเฉลิมเอ่ยขอบคุณทีมงานที่กอดคอสร้างเสียงในหนัง Memoria มาด้วยกันอย่าง Koichi Shimizu นักดีไซน์เสียงชาวญี่ปุ่นที่ทำงานคู่กับเขาในฐานะคนออกแบบเสียง, Javier Umpierrez มือตัดต่อเสียง และ Richard Hocks คนมิกซ์เสียงที่ร่วมงานกับอภิชาติพงศ์มาตั้งแต่ แสงศตวรรษ (2551) รวมทั้งทีมงานวางแอมเบียนต์ชาวเม็กซิกันอีกหลายชีวิต

“ผมไม่อยากเทคเครดิตคนเดียว” เขาย้ำหลายครั้ง “ทุกคนมีส่วนสำคัญมากๆ ในการออกแบบเสียงครั้งนี้”

และนี่คือเรื่องราวการเดินทางของเสียง bang! ที่เกิดขึ้นกับอภิชาติพงศ์ และได้รับการสลักเสลาจากทีมงานจนกลายมาเป็นเสียงที่เราได้ยินอย่างเป็นรูปธรรมในหนังลำดับล่าสุดของเขา ผ่านคำบอกเล่าของอัคริศเฉลิมในฐานะตัวแทนทีมเสียงซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้

คุณเริ่มออกแบบเสียงให้หนังของอภิชาติพงศ์ตั้งแต่เมื่อไหร่

ย้อนกลับไปตอนพี่เจ้ยทำ สุดเสน่หา (2545) ผมยังไม่รู้จักพี่เจ้ยเลย ทั้งที่ช่วงเวลาเดียวกันนั้นพี่เจ้ยกับผมอยู่อเมริกาเหมือนกัน ตอนนั้นจะมีสามคน คือมีพี่เจ้ยอยู่ที่ชิคาโก พี่ลี ชาตะเมธีกุล (คนตัดต่อ) อยู่อีสต์โคสต์ฝั่งขวาแถวรัฐเมน ส่วนผมอยู่ฝั่งซ้ายคือแคลิฟอร์เนีย แล้วเพื่อนผมที่เป็นเพื่อนกับพี่ลีก็เลยแนะนำว่าถ้าผมกลับไทยก็ให้มาเจอพี่ลีสิ พอกลับไทยก็ได้มาเจอกัน พี่ลีก็แนะนำให้ไปเจอพี่เจ้ยที่กำลังหาคนอัดเสียงตอนจะทำโปรเจกต์ สัตว์ประหลาด! อยู่

ก่อนหน้านี้ผมเคยทำหนังสั้นและเคยถือไมค์บูมในกองถ่ายมาก่อน ไม่ได้ทำหน้าที่อัดเสียง คนละตำแหน่งกันเลย แต่ก็ไม่ได้บอกพี่เจ้ยหรอก (หัวเราะ) ผมส่งพอร์ตโฟลิโองานต่างๆ เป็นวิดีโอเทป VHS ไปให้เขาดู เป็นหนังทดลองล้วนๆ เลย แกก็บอกว่าโอเค ชวนมาทำหนังด้วยกัน สัตว์ประหลาด! เลยเป็นเรื่องแรกที่ผมได้ทำงานกับพี่เจ้ย

ฟังก์ชั่นของเสียงในหนังแต่ละเรื่องของอภิชาติพงศ์แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน

หนังของพี่เจ้ยหลักๆ แล้วจะไม่ใช้เสียงสังเคราะห์ (synthesizer) ที่มาจากการกดคีย์บอร์ดหรือเครื่องดนตรีต่างๆ แต่เราจะเอาเสียงที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น เอาเสียงเสือร้องมายืดให้มันยานกว่าปกติ หรือเอาเสียงลมกับเสียงต่างๆ ในธรรมชาติมาซ้อนทับกันคล้ายการคอลลาจภาพแล้วสร้างเป็นเสียงใหม่ขึ้นมา ผมว่ามันเหมือนการปรุงอาหาร เหมือนเอาสูตรอาหารหลายๆ อย่างมาผสมกันดูแล้วชิมว่าเป็นยังไง เออ อันนี้กินได้ อันนี้ประหลาดดี อีกอย่างคือหนังพี่เจ้ยชอบใช้เสียงต่ำๆ ทุ้มๆ อย่างเสียงเบส มันจึงมีความเป็น rumble (เสียงก้องกังวาน) เยอะมาก

ส่วนตัวผมจะชอบเสียงที่มี noise หรือมีความสกปรก เป็นความไม่สมบูรณ์ของการอัดเสียง มันคือการที่เวลาอัด เราเร่งเสียงให้ดังจนเกิด noise grain (เสียงแตกพร่าหรือเสียงซ่าๆ) ขึ้นมา เราชอบเสียงแบบนี้และพี่เจ้ยคงชอบเสียงแบบนี้เหมือนกัน คงรู้สึกว่าไปด้วยกันได้ สมัยนั้นเราจะเรียกกันว่าเป็นแนวสารคดี เพราะการอัดเสียงสารคดีนั้นมันไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย อะไรมันรกเข้ามาก็ต้องรกแบบนั้น

ภาพจากกองถ่าย แสงศตวรรษ

ตอนทำ สัตว์ประหลาด! มันมีอุบัติเหตุหรือมีความไม่ตั้งใจเยอะ มีหลายซีนเลยนะที่ผมโยนๆ ไปแล้วก็คิดว่าโอเค ใช้ได้ มีการใช้สัญชาตญาณเยอะ เราไม่สามารถอธิบายว่าที่วางเสียงไปตรงนี้มันดีนะ แต่เราจะลองโยนเสียงเข้าไปแล้วดู และใช้เทคนิคยืดเสียงแบบที่ได้ยินในช่วงซีนท้ายๆ ของเรื่อง ตอนนั้นเราอยากลองด้วยแหละ มันเป็นยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่งเข้ามาไม่กี่ปี โปรแกรมซอฟต์แวร์เกี่ยวกับเสียงมันเพิ่งออกมา เราเลยอยากทดลองอะไรใหม่ๆ ด้วย เทียบกันกับ Memoria เสียงมันจะสะอาดมากขึ้น คิดว่าเพราะเราอายุเยอะขึ้นแล้วเลยมีความลดโทนลงมา

กับเรื่อง Memoria มันเหมือนการเอาเสียงที่พี่เจ้ยมีกับเสียงที่ผมมีมาผสมกันกลับไปกลับมาแล้วพัฒนาให้เป็นเสียงอีกแบบหนึ่ง คือพี่เจ้ยเขาจะวางเสียงมาก่อนแล้วผมค่อยวางเสียงของผมผสมเข้าไป หรือบางครั้งเขาก็ส่งมาแต่ภาพแล้วให้ผมลองทำเสียงดู ซึ่งอันนี้แหละยากเพราะต้องเอาเสียงในหัวเราออกมาให้ได้ เสียงมันเลยไปได้หลายทางมาก แต่สนุก

ขั้นตอนการออกแบบเสียง bang! ใน Memoria เป็นยังไงบ้าง

Memoria ต่างจากเรื่องก่อนๆ เพราะตัวเรื่องมันคนละแบบ มันมีความอยู่ในหัวของผู้กำกับมากกว่า เราต้องแปลสิ่งที่เขาได้ยินออกมาเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงที่สุด คือก่อนหน้านี้พี่เจ้ยเขามีอาการ exploding head syndrome คือได้ยินเสียงระเบิดในหัวตอนตื่นนอน ดังนั้นเสียงที่ได้ยินนี้มันคือการแปลเสียงในหัวนั้นออกมาที่ลำโพงมากกว่า

ก่อนหน้านี้ผมกับพี่เจ้ยทำโชว์ Fever Room (นิทรรศการศิลปะ installation art ของอภิชาติพงศ์) ซึ่งมีทีม duck unit เเละ Koichi Shimizu ทำด้วยกัน มันเป็นโชว์โรงละครที่เราทำมาตั้งแต่ปี 2558 และไปจัดตามเทศกาลเกี่ยวกับโรงละครทั่วโลกปีละ 2-3 ครั้ง พี่เจ้ยเขาบอกให้ผมทำเสียงระเบิดในหัวที่เขาได้ยินตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แกอธิบายว่ามันเหมือนเสียง ‘ปุบ’ ดังก้องๆ ในหัวตอนตื่น มากกว่านั้นมันยังออกมาจากในหัว มีลักษณะสะท้อน มีความเป็นเหล็ก เป็นโลหะ เป็นปูน เป็นคอนกรีต เราก็หาซาวนด์เอฟเฟกต์ที่มันมีลักษณะตามที่เขาบอกแล้วลองวางลงไป ซึ่งบางทีวางไปแล้วมันก็ยังไม่ใช่เสียงในหัวของเขาด้วย

อัคริศเฉลิมและ Koichi Shimizu

ความยากคือเสียงในหัวของเขากับเรามันไม่เหมือนกัน อย่างเสียงที่บอกว่ามีความเป็นโลหะ แต่ความเป็นโลหะของเขากับของเรามันก็ไม่เหมือนกัน เลยต้องส่งเสียงไปให้พี่เจ้ยเลือกหลายๆ แบบว่าชอบอันไหน อันไหนใกล้เคียงที่สุด แล้วเราก็เอาอันนั้นมาปรับตามที่เขาอยากได้

แต่เสียงที่ผมทำตอนนั้นเป็นการทำอย่างคร่าวๆ เพื่อเอาไปใส่ในโชว์ Fever Room แล้วมันก็ถูกพัฒนามาให้ใกล้เคียงกับเสียงที่พี่เจ้ยได้ยินในหัวมากที่สุดตอนทำ Memoria นี่เอง ผมส่งเสียงแบบที่ใกล้กับเสียงในหัวพี่เจ้ยที่สุดให้ Koichi Shimizu ที่ออกแบบเสียงคู่กับผมให้เขาดีไซน์เพิ่มเพื่อเสริมให้มันแน่นขึ้น เสียง bang! ที่เราได้ยินในตัวอย่างหนัง Memoria ก็มาจากเสียงที่โคอิชิดีไซน์โดยใช้เครื่องโมดูลาร์ (เครื่องสังเคราะห์เสียง) มาสร้างเป็นเสียงที่เราได้ยินในตัวอย่างหนัง ดังนั้นมันจึงเป็นเสียงผสมระหว่างเสียงของโคอิชิกับเสียงในหัวจากอาการ exploding head syndrome ของพี่เจ้ย

ผมไม่อยากเทคเครดิตคนเดียวเพราะโคอิชิก็ช่วยทำด้วย และที่หนังออกมาดีได้มันก็ต้องมีคนมิกซ์เสียงที่ดี ซึ่งคนมิกซ์เสียงคือคุณ Richard Hocks จากกันตนา ซาวด์ สตูดิโอ ที่เขามิกซ์ให้หนังของพี่เจ้ยมาโดยตลอด ช่วงมิกซ์เสียงเป็นอีกช่วงที่ยากมากๆ เพราะก่อนหน้านั้นเราดูเป็นซีนๆ ไปแล้วก็รู้สึกว่าชอบเสียงแล้ว แต่พอเอามาดูยาวทั้ง 2 ชั่วโมง 15 นาทีกลับพบว่ามีปัญหา มันจึงต้องดูแบบยาวๆ ทั้งเรื่องหลายรอบมาก ตรงนี้แหละที่เป็นจุดที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้ฝีมือของริชาร์ดเข้ามาช่วย

รวมๆ แล้วกับหนังเรื่องนี้เราใช้งานห้องมิกซ์เสียงกันไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง

Memoria
อัคริศเฉลิมและ Richard Hocks

แล้วกระบวนการทำงานเป็นยังไง ลำบากไหม เข้าใจว่าด้วยเงื่อนไขของโควิด-19 อาจทำให้มีเรื่องระยะทางเป็นตัวแปรสำคัญตอนทำงานด้วย

จริงๆ แล้วผมกับพี่เจ้ยไม่เคยนั่งทำเสียงด้วยกันแต่ใช้วิธีการส่งเสียงไปมาทางอินเทอร์เน็ต พอวันมิกซ์เสียงค่อยมาเจอกัน เพราะพี่เจ้ยอยู่เชียงใหม่ ผมอยู่กรุงเทพฯ แล้วเราทำงานแบบนี้มาหลายเรื่อง จริงๆ พี่เจ้ยเป็นซาวนด์ดีไซเนอร์ที่เก่งมากคนหนึ่งเลย และเป็นคนตัดต่อภาพที่เก่งมากด้วย เคยพูดกับแกว่าถ้าวันหนึ่งผมทำหนังผมจ้างพี่ทำซาวนด์ดีไซน์นะ (หัวเราะ) แกก็เงียบๆ ไป บอกว่าพี่ไม่ค่อยมีเสียงซาวนด์เอฟเฟกต์นะ

ผมว่าการออกแบบเสียงมันอยู่ที่ว่าตัวเรื่องมายังไง เขาจำเป็นต้องใช้เราไหม เราจำเป็นต้องช่วยเขาไหมเพื่อให้เขาไปต่อได้ หรือแม้แต่ถ้าตัวเราเองรู้สึกว่าฉากนี้มันต้องการเสียงจริงๆ เช่น หนังบางเรื่องถ้าเนื้อเรื่องอ่อนหรือตัดต่อมาไม่เนียน ยืดเยื้อ ก็อาจบอกผู้กำกับว่าขอสกอร์ตรงนี้ได้ไหม เพราะผมไม่ได้ทำสกอร์ ผมตัดต่อเสียงไง

ตอนออกแบบเสียงให้หนัง The Edge of Daybreak

เวลาผมดีไซน์เสียงให้หนังผมแทบไม่เคยอ่านบทเลย มีที่อ่านก็น้อยมาก ผมชอบทำไปเลยมากกว่า คือหนังมาก็ลุยไปกับมันเรื่อยๆ เราไม่คิดเยอะและไม่ค่อยชอบวางแผนก่อน บางคนเขาชอบวางเป็นแผน พล็อตว่าจะเอาองค์ประกอบอะไรมาใส่บ้าง ให้ผมทำแบบนั้นก็ได้แต่แค่รู้สึกว่ามันไม่สนุก การไปค้นหาระหว่างทางน่าสนุกและได้อะไรใหม่ๆ มากกว่า เพราะบางทีผมมักบังเอิญไปเจอเสียงแบบนี้แบบนั้น มันสนุก เหมือนการได้ค้นพบสมบัติบางอย่าง

แต่ในขณะเดียวกัน การไม่อ่านบทมันก็ต้องมีพื้นฐานที่ดีก่อน คือต่อให้เราไม่อ่านบทแต่เราต้องทำทุกอย่างให้มันฟังได้ ดูได้ และเป็นที่ยอมรับได้เป็นอย่างแรกเสียก่อน

มันจะไม่เหมือนกับการควานหาอะไรกลางอากาศแบบไม่มีจุดหมายเหรอ

(นิ่งคิด) ไม่นะ ผมรู้สึกว่าต่อให้ไม่อ่านบทแต่เรามีพื้นฐานแน่น มีมาตรฐานประมาณหนึ่งก่อนแล้วเราจะรู้ว่ามันขาดอะไรไป ตรงนี้มีเพลงไหม เอาอะไรมาช่วยได้บ้าง

การแสดงของนักแสดงนำใน Memoria มีผลต่อการออกแบบเสียงไหม

ทิลด้าเป็นคนที่แสดงหนังแล้วน่าดู เคยมีจุดที่บางทีดูๆ อยู่ผมก็รู้สึกว่าไม่มีเสียงนี้ผมก็โอเคนะ ไม่ต้องพยายามเอาเสียงที่ผมดีไซน์ไปใส่ก็ได้ ให้เขาอยู่ของเขาอย่างนั้นไปน่ะดีแล้ว (ยิ้ม) แต่มันไม่ได้ไง เพราะมันคือภาพยนตร์ มันคือ cinema เราก็ต้องผลักให้มันไปได้อีกจุดหนึ่ง ไม่งั้นจะกลายเป็นว่าให้ทิลด้านำอยู่คนเดียว ซึ่งจริงๆ เรามาด้วยกันเป็นทีมนะ

กับเรื่องนี้เราทำเสียงไปเยอะมาก ผสมนั่นนี่ แล้วพอถึงจุดหนึ่งจะรู้กันเองว่าอันนี้ใช่-ไม่ใช่ บางทีมันเยอะไปหรือน้อยไปจนถึงขั้นว่าเอาออกไปเถอะถ้าเสียงอยู่ตรงนั้นแล้วมันไม่ทำงาน อย่ามีดีกว่า เราแค่ต้องหาจุดตรงกลางให้ได้ ซึ่งนี่แหละที่ยาก

Memoria

ผมคิดเสมอว่าการทำเสียงเหมือนเราทำอาหาร เราต้องผสมๆ และเดาไปว่าชอบรสชาติแบบไหน เสียงมันมีความยากตรงที่ทุกคนมีเสียงในหัวของตัวเอง ชอบเสียงไม่เหมือนกัน ชอบความแหลม ความดัง ความทุ้มไม่เหมือนกัน อย่างหนังของพี่เจ้ยสังเกตได้เลยว่าเสียงจะไม่ค่อยแสบหู จะค่อนข้างทึบๆ เน้นเสียงเบส เพราะพี่เจ้ยบอกว่าฟังแล้วสบาย (หัวเราะ)

แต่อย่างผู้กำกับบางคนผมใส่เสียงเบสไปแล้วเขาไม่เอาก็มีนะ ชอบเสียงแหลมๆ คมๆ กัดหู หรือฟังแล้วแสบๆ ก็มี มันเป็นความชอบส่วนตัว และคนเหล่านั้นมาดูหนังพี่เจ้ยอาจไม่ชอบก็ได้ ทำไมฟังไม่รู้เรื่องเลย ซึ่งผมว่ามันไม่จำเป็นต้องฟังรู้เรื่องขนาดนั้น

หนังพี่เจ้ยมีอะไรให้ดูในเฟรมตลอดเวลา ดูนักแสดงว่าเป็นยังไง ดูว่าผนังมีรูปอะไรไหม มันมีสิ่งให้ดูเยอะ

สุดท้ายแล้วการออกแบบเสียงให้ Memoria ทำให้คุณได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ บ้างไหม

จำได้ว่าหลังจากที่ทำเสร็จผมอยากจะ early retire เลยครับ (หัวเราะ)

จริงๆ เเล้วการทำงานในหนังเรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าผมต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้นไปอีก เพื่อที่จะได้ตามทันกับโลกภาพยนตร์ที่หมุนไปในทางที่ผมไม่สามารถรู้ได้ว่ามันจะไปทางไหน หนังเรื่องนี้รู้สึกว่าได้ความรู้ใหม่ในเรื่องของการใช้เสียงกับเวลาว่ามันมีผลกับอารมณ์เเละความรู้สึกได้หลายรูปแบบ เช่น เงียบเท่าไหร่ถึงจะพอดี เเละรู้สึกขึ้นมาว่าการวางเสียงของเรามันมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามอายุเราด้วย

แต่ในทางกลับกัน ทั้งที่ซับซ้อนแบบนั้น ผลลัพธ์ที่ออกมามันกลับฟังดูเรียบง่ายขึ้นกว่าเดิมมากเลย

AUTHOR