แง้มดูซีนและพูดคุยกับเจ้าของผลงาน The ExtraOrdinary Journey with Moleskine

งาน a day Zine’s Exhibition ‘Make A Zine: ตอน ExtraOrdinary’ จบลงไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนอื่นเราต้องขอขอบคุณทุกๆ คนที่มาเจอกันและมาปล่อยตัวตนลงในซีนทุกเล่มกันอย่างสุดฝีมือ ทำให้เราได้เห็นว่าซีนมีความเป็นไปได้หลากหลายไม่รู้จบเลยล่ะ

วันงานเราเชื่อว่าหลายคนคงอยากมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจ แนวคิดในการทำซีนกัน แต่อาจมีเวลาไม่มากพอ (ส่วนนี้เราจะนำไปปรับปรุงในปีหน้านะ) วันนี้เราเลยขออาสาพาทุกคนไปพูดคุยกับศิลปินที่เราชวนมาทำซีนในโปรเจกต์ ‘The ExtraOrdinary Journey with Moleskine’ กันก่อน มาดูกันว่าเจ้าของผลงานแต่ละคนเขาเริ่มต้นสร้างสรรค์ซีนกันยังไง

01

My Micro Journey โดย COLLAGECANTO (บัว-วรรณประภา ตุงคะสมิต)

“ประมาณ 2-3 ปีก่อน เราเคยทำโปรเจกต์ที่ชื่อว่า ‘เซลล์’ เป็นผลงานตัดกระดาษบันทึกสิ่งที่เราไปเที่ยวมา ใช้บันทึกอารมณ์ความรู้สึกช่วงนั้น พอ a day จะจัดงานซีน ช่วงนั้นเรากำลังจะไปเที่ยวพอดี เลยคิดว่าจะเอาสิ่งที่ได้จากการไปเที่ยวมาทำเป็นซีนดีกว่า เอาโปรเจกต์เซลล์ที่ทิ้งร้างไว้หลายปีมาปัดฝุ่น เพราะเราถ่ายทอดภาพออกมาไม่เก่ง วาดรูปก็ไม่เก่ง เลยคิดว่าถ้าทำอย่างอื่นอาจจะไม่เวิร์ก

“ส่วนตัวเราชอบดูพวกภาพจานทดลอง ภาพจากการส่องกล้องจุลทรรศน์อยู่แล้ว ชอบอะไรที่เป็นรายละเอียดเล็กๆ เวลาเราไปเที่ยว เราก็จะจำภาพของน่ารักข้างทาง หรืออะไรที่คนไม่ค่อยสนใจกัน ซีนแต่ละหน้าของเราเลยอยากให้เป็นเหมือนเวลาเราส่องกล้องจุลทรรศน์ ตัดกระดาษเป็นช่องไว้ให้ส่องดูก่อนว่าภาพในหน้าถัดไปเป็นอะไร ว่าจะทำภาคสองต่อ เปลี่ยนที่เที่ยวไปเรื่อยๆ (ยิ้ม)”


02

An ExtraOrdinary Journey with Grandma โดย ปลาย-ยอดฉัตร บุพศิริ

“ซีนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคุณยาย ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบของความทรงจำ สถานที่ สิ่งของ และกิจกรรมที่เราทำด้วยกัน ก่อนหน้านี้ตั้งใจว่าจะทำเป็นหนังสือภาพอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีโอกาสได้รวมไอเดีย รวมเล่มทั้งหมดสักที พอมีโปรเจกต์นี้ก็เลยเป็นตัวบังคับว่าจะต้องทำได้แล้วนะ รวมทุกอย่างที่คิดไว้ตั้งนานนั้นได้แล้ว

“เราใช้เวลาทำประมาณ 21 วัน จดไว้ทุกวันเลยว่าแต่ละวันทำอะไรบ้าง อยากรู้ว่าตัวเองใช้เวลากับมันเท่าไหร่ สามชั่วโมงที่ทำเลยรู้สึกว่าเป็นสามชั่วโมงที่มีคุณภาพมาก เราโฟกัสกับงานมาก และพองานเสร็จสมบูรณ์ก็ชอบ สนุกดี มันทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานต่อไป ส่งเสริมการทำงานของเรา การทำแบบนี้มันดีต่อนักวาด ต่อคนทำงานสร้างสรรค์มาก มันควรจะมีช่วงเวลาหนึ่งที่มานั่งทำงานแบบนี้

“ตอนนี้ก็ซื้อสมุดเล่มที่สองมาแล้ว แบบเดียวกันเลย จะทำเป็นเล่มต่อที่พัฒนามาจากงานนี้ให้เป็นเล่มจริง กะว่าจะส่งสำนักพิมพ์จริงๆ ด้วยเลย”


03

Bangkok Fantasy โดย Lafyna

“ตั้งแต่เราทำงานภาพประกอบมา เราไม่เคยทำงานที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ บ้านเกิดของเราเลย ซีนนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้สำรวจกรุงเทพฯ ในพื้นที่ต่างๆ ที่แตกต่างกัน เช่น ความต่างเรื่องศาสนา ความแตกต่างเรื่องคนพื้นถิ่น สิ่งไหนที่เราสนใจเราก็เอามาวาดเก็บไว้เป็นเหมือนไดอารี่

“ตัวเล่มของซีนนี้มันเป็นกระเป๋า เราคิดว่าสมุดมันก็เป็นเหมือนกระเป๋าเดินทาง แทนการเดินทางไปที่ต่างๆ ของเรา”


04

i’ll follow the sun vol.2 โดย Juli Baker and Summer

“จริงๆ เล่มนี้ไม่ได้มีคอนเซปต์อะไรขนาดนั้น เราแค่ตั้งใจให้มันเป็น travel journal ของเราตอนไปเที่ยวเกาหลี เราเห็นอะไร นึกอะไรออกก็วาดเลย

“สำหรับเรา งาน Make A Zine เป็นจุดเริ่มต้นให้เราได้เขียนหนังสือเลยนะ เราเคยทำซีนเล่มแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ชื่อ i’ll follow the sun แล้วก็มาขายที่งานนี้ เสร็จงานเราก็เล่าให้พี่ๆ ที่สำนักพิมพ์ a book ฟังว่าเราอยากจะทำหนังสือแล้วก็เอาซีนเล่มนี้ให้พี่เขาดูซึ่งมันก็ต่อยอดให้เราได้ทำหนังสือออกมาจริงๆ

“ซีนมันไม่มีกฎอะไรเลยนะ แค่กระดาษแผ่นใหญ่ๆ พับครึ่งแล้ววาดมันก็เป็นซีนแล้วอ่ะ ไม่ต้องวาดก็ได้ เขียนหรือขยำก็ได้ ขอแค่เรามีอะไรที่อยากจะเล่า”


05

Internet Explorer โดย Sy Chonato

“เราทรีตสมุดเป็นสมุดจดจริงๆ ไม่ได้เป็น art piece เรารู้สึกว่าพอมันเป็นสมุด หนังสือ หรือสเกตช์บุ๊ก ทุกคนจะคิดว่าต้องวาดสวยๆ บางคนซื้อสมุดมาแพงแล้วไม่กล้าวาดลงไปเพราะมันไม่สวย แต่จริงๆ เราคิดว่าคนมันต้องกล้าเขียน อย่างเราก็ไม่ได้วาดรูปสวย แค่วาดพอได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็ลบได้ถูกปะ ต่อให้มันเละ เขียนผิดก็ฆ่าไป สุดท้ายมันจะแม่นขึ้นเอง

“โปรเจกต์นี้เขาให้สมุดเราเล่มนึงให้เราทำอะไรก็ได้เกี่ยวกับการเดินทาง แล้วเราอยู่แต่บ้านกับชอบเล่นอินเทอร์เน็ต เรารู้สึกว่าอินเทอร์เน็ตสนุกเพราะมันรวมความหลากหลายของคนเอาไว้และยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราได้เรียนรู้คนยุคเรา เราเลยคิดว่าน่าจะมีคนบันทึกเรื่องนี้เก็บไว้บ้าง สุดท้ายเราก็เลยทำซีนที่รวมสิ่งที่เราพบจากที่นี่

“หน้าที่เราชอบมาก เราเข้าไปดูเว็บไซต์เดทติ้งออนไลน์ที่คนเขาใช้หาคู่กัน คนเขาจะเขียนเรียงความกันว่าอยากได้คู่แบบไหน แล้วมีคนนึงเขียนประมาณว่า ‘ไม่เป็นไรนะ ถ้าคุณจะหายไปเพราะว่าเราไม่รู้จักกัน ยังไงก็อยู่ห่างไกลกัน’ ฟีลมันแบบเหมือนคุยกันแล้วก็หายไป เราว่ามันฟีลอินเทอร์เน็ตมากๆ”

นอกจาก 5 ศิลปินที่เราไปพูดคุยกับเขามาแล้ว ยังมีซีนของศิลปินอีกหลายคนทั้ง Sundae Kids, ตอง-ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ ที่มาบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางสุดพิเศษแบบเฉพาะตัวกันอีกด้วย ใครที่พลาดมาชมซีนสุดเจ๋งของศิลปินในโปรเจกต์ ‘The ExtraOrdinary Journey with Moleskine’ ตอนนี้ซีนของพวกเขาทุกคนยังมีจัดแสดงที่นิทรรศการ ‘Moleskine Journey Exhibition II: The ExtraOrdinary’ ที่ Moleskine Pop-up Store ชั้น 2 เกษรวิลเลจ ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 สิงหาคม 2561 สิบโมงเช้าถึงสองทุ่มนะ

AUTHOR