เช้าวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีฝนตกหนัก พยากรณ์อากาศบอกว่ากรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีเมฆเป็นส่วนมากกับมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ ฉันแอบเก็บความกังวลไว้ในใจและภาวนาให้เรา ‘เดินชมเมืองเก่า’ กันในตอนบ่ายได้อย่างราบรื่น
ตลอดการเดินทางมาที่ Once Again Hostel จุดนัดพบแรกของนักเดินผู้หลงรักในมนต์เสน่ห์ของเมืองเก่า จากเม็ดฝนใหญ่ๆ ตอนนี้เหลือเพียงสายลมเอื่อยๆ ที่พัดเอาความชื้นมาด้วย เมฆยังคงหนาตาตามที่พยากรณ์อากาศได้บอกไว้ ฉันเก็บอาการตื้นเต้นไว้ไม่อยู่ อาจเป็นเพราะฟ้าฝนได้ยินคำภาวนาของฉันแล้ว และฉันกำลังจะได้ร่วมเดินทางไปกับทุกๆ คนในวันนี้
สมาชิกทุกคนมาพร้อมหน้ากันตอนบ่ายสามโมงกว่าๆ ตามเวลานัด หลังจากแนะนำตัวกันสั้นๆ พร้อมบอกเหตุผลที่มาเข้าร่วมกิจกรรม Old Town Walk เนย-สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล วิทยากรสาวจาก Trawell Thailand และ MAYDAY! ได้บอกแผนการเดินทางคร่าวๆ ให้เราฟัง วันนี้เนยรับหน้าที่เป็นผู้นำทริป ‘เข้าตามตรอกออกซอยลับ’ และไม่ลืมที่จะถือถุงใส่เสื้อกันฝนที่ครบตามจำนวนผู้ร่วมเดินทางติดตัวมาด้วย ดูเหมือนว่าสายฝนจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินชมเมืองเก่าเพื่อนำประสบการณ์มาต่อยอดเป็นซีนซึ่งจะจัดแสดงในเทศกาลหนังสือทำมือ Make a Zine ครั้งที่ 3 ตอน ExtraOrdinary ในวันที่ 28 กรกฎาคม ที่กำลังจะมาถึง
สถานที่แรกที่เนยพาเราไปคือวิหารภิกษุณี ที่ตั้งอยู่ในวัดเทพธิดารามวรวิหาร ภายในวิหารมีรูปปั้นพระภิกษุณีจำนวน 52 องค์ประดิษฐานอยู่บนแท่นหินอ่อนเบื้องหน้าพระประธาน เข้าใจเลยว่าทำไมเนยถึงชอบบรรยากาศของที่นี่ เพราะบทสวดมนต์ที่เปิดให้ฟังตลอดทั้งวัน คลอกับลมเย็นๆ ที่พัดเข้ามาตามช่องหน้าต่างภายในวิหาร ชวนให้จิตใจนิ่งสงบตามไปด้วยอย่างบอกไม่ถูก
เราพากันข้ามถนนมหาไชย ตรงเข้าตรอกเล็กๆ ด้านหลังร้านน้ำอบนางลอย เส้นทางนี้พาเรามาพบกับศาลาโรงธรรม ซึ่งเคยเป็นสถานที่ผลิตงานหัตถกรรมชิ้นสำคัญอย่างสายรัดประคด อันเป็นที่มาของชื่อ ‘บ้านสายรัดประคด’ เนยอธิบายว่าประคดคือแผ่นผ้าหรือด้ายที่ถักกันเป็นแผ่นยาว ใช้สำหรับคาดเอวหรืออกของพระภิกษุสงฆ์ “สมัยก่อนสาวๆ จะมานั่งรวมตัวเพื่อทอสายรัดประคดกันที่นี่ หนุ่มๆ จากป้อมมหากาฬก็จะมาแซวมาจีบ” เนยเล่าเรื่องน่ารักๆ ที่เคยได้ยินมาให้เราฟัง
เดินออกมาอีกหน่อยก็จะมาถึงชุมชนป้อมมหากาฬ เนยเล่าประสบการณ์ที่เคยทำงานกับ Mahakan Model ว่า ชาวบ้านเคยพยายามที่จะทำป้อมมหากาฬให้เป็นสวนสาธารณะที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้ แต่ด้วยปัญหาหลายๆ อย่าง สุดท้ายชาวบ้านก็จำเป็นจะต้องย้ายออกไป แม้จะแอบเสียดายที่ไม่มีบ้านไม้เก่าโบราณให้ได้เห็นกันแล้ว แต่ต้นไม้ใหญ่ที่ชาวชุมชนช่วยดูแลกันมาเสมอก็ยังคงยืนต้นสวยงามให้ร่มเงากับเราได้เป็นอย่างดี
พอมุ่งหน้าออกมาทางถนนราชดำเนิน ข้ามมายังซอยวัดปรินายก เราก็สะดุดตากับทีวีที่ตั้งยื่นออกมาตรงหน้าต่างชั้น 2 ของร้านชำ “ข้างๆ เป็นร้านข้าว พอทุกคนมารวมตัวกันก็จะเปิดทีวีดูด้วยกันที่นี่” นั่นคือคำบอกเล่าจากเนยซึ่งเคยถามไถ่เจ้าของร้านชำด้านล่างมาก่อน เราพากันเดินเลียบคลองบางลำพูมาเรื่อยๆ ตลอดเส้นทาง เนยพูดถึงความเข้มแข็งของชุมชนในย่านนี้ให้ฟังหลายเรื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการร่วมมือกันพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน
สายลมเย็นๆ เริ่มพัดแรงขึ้นและดูเหมือนว่าฝนอาจจะตกลงมาในไม่ช้า เราต่างเร่งจังหวะการเดินขึ้นอีกนิดจนมาถึงถนนสามเสน เนยชวนให้พวกเราดูตามป้ายร้านค้าของถนนเส้นนี้ ที่น่าสนใจเพราะใช้ฟอนต์กันอย่างหลากหลาย เราเดินเข้าซอยสามเสน 1 ผ่านวัดสังเวชวิศยาราม ลัดเลาะมาตามซอยสามเสน 3 และซอยบางลำพู จนมาถึงถนนพระสุเมรุ
เนยพาเราเดินเข้าตรอกเขียนนิวาสน์ แนะนำให้รู้จักกับบ้านแม่เปี๊ยก ชุดโขนละครสวยๆ ของกรมศิลป์หลายชิ้นคือฝีมือของช่างปักจากบ้านนี้
“มาเดินเที่ยวกันหรอหนู” คุณลุงคนหนึ่งเอ่ยทักออกมาจากร้านค้าฝั่งตรงข้าม
“มาเดินชมเมืองเก่ากันค่ะ”
“บ้านเก่าแก่ที่สุดอยู่ในซอยนี้นี่แหละ ดูตรงกระจกที่เป็นสีๆ นะ”
คุณลุงชี้นำให้เราเดินเลาะตามซอยเล็กๆ นี้เข้าไปอีก จนเจอบ้านเก่าตามคำบอกเล่าที่มีลักษณะเป็นกระจกเหมือนกันอยู่หลายหลัง แม้ไม่แน่ใจว่าหลังไหนเป็นหลังที่เก่าแก่ที่สุด ก็อดดีใจไม่ได้อยู่ดีที่มีโอกาสได้เห็นบ้านเก่าเหล่านี้
เราเดินกันมาจนถึงถนนพระอาทิตย์ พระอาทิตย์กำลังจะตก และดูเหมือนว่าจะไม่มีฝนตกลงมาอีกแล้ว เนยพาเราเดินเข้าซอยชนะสงคราม ผ่านวัดชนะสงครามออกมาทางถนนจักรพงษ์ ก่อนจะเลี้ยวมาถึงถนนราชดำเนิน เนยไม่ลืมที่จะแนะนำพิพิธภัณฑ์เหรียญที่อยากให้ทุกคนได้มาถ้ามีโอกาส
ที่สุดท้ายของทริปวันนี้ เนยพาเรามาทานอาหารเย็นที่ห้องอาหารกิมเล้ง ร้านอาหารเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บนถนนตะนาว สี่แยกคอกวัว เราได้ลิ้มลองเมนูแนะนำชุดใหญ่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์หลายอย่างตลอดการเดินทางในวันนี้ระหว่างมื้ออาหารกับนักเดินชมเมืองเก่า นอกจากทุกคนจะชอบเดินและหลงรักในมนต์เสน่ห์ของเมืองเก่าแล้ว สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือความประทับใจที่มีต่อผู้คนในพื้นที่ที่พยายามช่วยกันรักษาชุมชนของพวกเขาให้ยั่งยืนต่อไป
ภาพ พชรธร อุบลจิตต์