transformation ฟังดูผิวเผินอาจไม่ใช่ศัพท์ที่เกี่ยวข้องใดๆ กับนิตยสารแม้แต่น้อย แต่ถ้าพูดถึงหนังสือ หรือภาพยนตร์ sci-fi สักเล่มก็ไม่แน่ แต่ปี 2018 กลับเป็นปีแห่ง transformation สำหรับวงการนิตยสาร ทั้งนิตยสารกระแสหลักและนิตยสารอินดี้ทั้งหลาย ในปีหนึ่งๆ มีงานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับวงการนิตยสารโลกอยู่ไม่กี่ที่ อาทิ Distripress, Stack Award, Modern Magazine Conference แนวทางที่ทั้งสามงานเดินไปในทิศทางที่คล้ายคลึงกัน คือการให้ความสำคัญกับการ transformation การกลับหัวกลับหางในการทำนิตยสารออกมาสักเล่ม และเริ่มมีการกระตุ้นให้คิดกลับทางจากในสิ่งที่เคยทำดั้งเดิม
ในอดีต และอาจจะยังคงเป็นอยู่ในปัจจุบัน นิตยสารหนึ่งเล่มจะมีลำดับขั้นตอนการทำงานที่เรียงเป็นลำดับ เกือบทั้งหมดเริ่มต้นจากการทำเนื้อหา ออกแบบปก และสุดท้ายคือการทำปกนิตยสารหลังจากทุกอย่างขึ้นรูปชัดเจนแล้ว ทั้งสามงานมีการอภิปรายไปในทิศทางคล้ายคลึงกันนั่นคือ ทำไมเราไม่เริ่มทำนิตยสารจากการทำปกก่อนล่ะ
Jeff Taylor ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Courier จากลอนดอน พูดในงาน Modern Magazine Conference 2018 ที่ Hall for Cornwall กลางกรุงลอนดอนเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า
ท่ามกลางความถดถอยของสื่อสิ่งพิมพ์ สิ่งที่เราต้องการมากที่สุดคือการเบนความสนใจของคนอ่าน ดังนั้นเราต้องออกไปพบคนอ่าน และทางหนึ่งที่ดีที่สุดที่จะให้โอกาสตัวเองได้ดีที่สุดคือการมีปกที่โดดเด่น และที่ Courier เราคิดเรื่องปกกันแบบ f..king hard เราพยายามออกแบบปกตลอดจนเลย์เอาต์ของทั้งเล่มเพื่อเจาะกลุ่มคนที่อ่านหนังสือน้อย (Design for people who don’t read much.)
Ian Birch ผู้เขียนหนังสือ Uncovered: Revolutionary Magazine Covers และ Olivia Ahmad บรรณาธิการ Varoom Magazine ได้พูดถึงการออกแบบปกว่า ปกเปรียบดั่งดวงตาที่เป็นหน้าต่างของหัวใจ ทำไมเราจึงไม่ทุ่มเทเวลา กำลัง และทรัพยากรทั้งหมดเพื่อการทำปกดีๆ ออกมา ปกที่ง่ายต่อการจดจำและปกที่สร้างอารมณ์ร่วมแก่คนอ่านเพียงแค่มองเห็น ทำไมปกถึงต้องเป็นสิ่งสุดท้ายที่ทำออกมา การออกแบบนิตยสารมีขั้นตอนมากมาย แต่ในเมื่อสิ่งนั้นถึงยุคสมัยปัจจุบันมันไม่สามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อีกต่อไป อาจถึงเวลาที่เราต้องคิดทฤษฎีการทำนิตยสารใหม่ แทนที่จะยอมเดินซ้ำไปในทางเดิมๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะได้ผลลัพธ์แบบเดิม
นอกเหนือจากความสำคัญเรื่องปกที่พูดกันอย่างแพร่หลาย ฟากงาน Distripress นอกเหนือจากความสำคัญของการ transformation นิตยสารให้ต่างไปจากเดิมแล้วนั้น ทุกคนต่างประสบปัญหา เดียวกันในตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้นิตยสารออกสู่สายตาคนอ่านได้เร็วและครอบคลุมที่สุด นิตยสารเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอายุสั้นกว่าหนังสือเล่มมาก นิตยสารรายเดือนอาจมีอายุไม่ถึง 30 วันบนชั้นวาง บางที่อาจวางเพียง 25 วัน แถมถ้านิตยสารเล่มนั้นๆ ถูกส่งไปวางแผงช้ากว่ากำหนดจำหน่ายจริง ยิ่งทำให้อายุของนิตยสารบนแผงยิ่งน้อยลงไปอีกเช่นกัน และนี่คือปัญหาหลักของผู้ผลิตนิตยสาร
สืบเนื่องจากยอดจำหน่ายนิตยสารกระแสหลักที่ลดลงต่อเนื่อง ผู้จัดจำหน่ายหลายรายเริ่มขายกิจการหรือเกิดการควบรวม บางเจ้าอาจเลิกกิจการจัดจำหน่ายไปเลย ซึ่งนั่นดูไม่ต่างจากสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือได้เกิดขึ้นแล้วในบ้านเราที่จำนวนแผงวางนิตยสารมีจำนวนน้อยลง แต่คงเป็นเรื่องไก่กับไข่ และยากจะบอกว่าอะไรเกิดก่อน และอะไรกระทบจากอะไร บ้างว่าเพราะนิตยสารขายน้อยลง จึงทำให้ร้านค้าต้องแสวงหาทางรอดด้วยการผันไปขายสินค้าอื่น และนั่นคือการเบียดพื้นที่ของนิตยสารให้น้อยลงถึงหายไปเลย แต่แน่นอน ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือผลลัพธ์ของบรรยากาศที่ตกต่ำและดูดพลังผู้อยู่ในกระบวนการ supply chain ของนิตยสารเล่มอย่างหนักหน่วง และลากยาวไปถึงว่านิตยสารที่ต้องการกลับไม่ได้ กลับได้เป็นอย่างอื่น แถมจำนวนไม่แน่นอน เหล่านี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นทุกที่
แล้วคำถามก็ถูกส่งต่อกลับมาที่จุดเดิมคือต้อง transformation เราต้องเปลี่ยน แบบที่ Carol Montpart บรรณาธิการ The Plant Magazine บอกว่า สำหรับเธอการ transformation คือ re-invention of design โดยปกต้องไร้กาลเวลา มีความแปลก สร้างความสัมพันธ์ระหว่างนิตยสารและคนอ่าน ตอนนี้เลยจุดที่จะต้องมานั่งถามว่าระหว่างนิตยสารกระแสหลักกับนิตยสารอินดี้ อะไรตก อะไรโต ถ้าจะให้แปลตรงๆ ตัว เราเคยมีคำถามตัวโตๆ ว่า independent หรืออิสระ แล้วเราอิสระจากอะไรจริงๆ แน่นอนเราอาจอธิบายถึงนิตยสารที่ไร้กรอบ แต่ท้ายสุดแล้วเราก็ยังคงอยู่ในกรอบที่ใหญ่กว่านั้น เป็น commercial framework ที่ชี้วัดความสำเร็จและความล้มเหลวของนิตยสารเล่มนั้น เพราะในความเป็นจริงทุกคนสามารถเกิดได้ และทุกคนก็สามารถดับได้ ดังนั้นปีนี้จึงเป็นช่วงเวลาของคำถามที่ว่า อะไรคือความหวัง และหนึ่งในนั้นคือการยกเอาเรื่องของ transformation สิ่งที่ Ian บอกน่าสนใจทีเดียวว่า เวลานี้ ทางเลือกสุดท้ายที่เราควรหยิบขึ้นมาสู้กับดิจิทัลคือการออกแบบปกให้เด่นและดีขึ้นไปอีก
Now that social media has replaced magazines as a primary engine of popular culture, it seemed the ideal time to chronicle and celebrate some of the industry’s key moments. Where better to focus than on covers?