Rock Paper Scissors Store ร้านป็อปๆ ที่จะเป็นโอเอซิสสำหรับคนรักแมกกาซีน

ยามบ่ายวันศุกร์ของเดือนพฤษภาคม เดือนที่ความร้อนและความชื้นพุ่งทำลายสถิติ แสงแดดที่เจิดจ้าก็อาจแพ้ให้กับความสดใสของร้าน Rock Paper Scissors Store ที่บอกกับเราว่าตัวเองเป็นร้านสำหรับ Magazine, Things, และ Coffee เจ้าของร้าน ย้วย-นภษร ศรีวิลาศ ออกมาต้อนรับเราเข้าไปในพื้นที่เล็กๆ ที่เธอคัดสรรและจับวางสิ่งละอันพันละน้อยอย่างตั้งใจให้ออกมาน่ารัก น่าหยิบ ไปทุกมุม โดยมี เฟิร์ม-เฟื่องฟู จิรัฐติวาณิชย์ คอยกระตุ้นเราด้วยกลิ่นกาแฟคั่วอ่อนให้คึกคักรับกับความมีชีวิตชีวาไปกับร้านของพวกเขา

ในยุคที่คนกล่าวว่าสื่อสิ่งพิมพ์นั้นตายแล้ว แต่ย้วยตอบกับเราว่า ยังมีผู้ผลิตแมกกาซีนหน้าใหม่เกิดขึ้นทั่วโลก พอเราพลิกหน้าแมกกาซีนในร้านอ่านประกอบการเล่าเรื่องของยอดนักขายแบบเธอก็ทำให้เคลิบเคลิ้มจนเงินในกระเป๋าเกือบปลิวออกไปโดยไม่รู้ตัว ด้วยความเป็นนักสัมภาษณ์ที่มีประสบการณ์คนหนึ่งของวงการคอนเทนต์ มีเพจของตัวเองที่ชื่อ ‘น้องนอนในห้องลองเสื้อ’ รวมทั้งพ็อกเกตบุ๊กของตัวเอง ‘ห้องลองเสื้อ’ และ ‘LOVEZINE เรื่องจริงหวังแต่ง’ (เขียนร่วมกันกับคุณเฟิร์มสามี) ทำให้ไม่ว่าเธอแนะนำเล่มไหน เราก็ยากจะอดใจที่จะไม่สนุกไปกับเธอ

จากจุดเริ่มต้นนำหนังสือมือสองของตัวเองไปเปิดร้าน Pop-up ในอีเวนต์ที่ theCOMMONS เมื่อปี 2022 แล้วพบว่ามีคนที่สนใจแมกกาซีนต่างประเทศที่ ย้วย-นภษร ศรีวิลาศ ชื่นชอบและเก็บสะสมอยู่ในไทยจำนวนไม่น้อย จึงเริ่มนำเข้ามาขายในรูปแบบออนไลน์และได้รับเสียงตอบรับอย่างดี ขยับขยายฐานนักอ่านจากคนที่ติดตามผลงานให้กว้างขึ้นและเป็นที่พูดถึงปากต่อปาก แม้แต่ชาวต่างชาติก็ดั้นด้นตามหาร้านนี้ด้วยเช่นกัน 

แน่ละว่าความฝันที่จะเปิดร้านแมกกาซีนในยุคที่แทบทุกอย่างถูกโยกย้ายขึ้นไปอยู่บนโลกดิจิทัล คนทั่วไปเองก็มองว่าสื่อสิ่งพิมพ์มันไม่เซ็กซี่และเป็นที่นิยมอีกต่อไป แต่ทำไมยังมีคนทำสิ่งพิมพ์หน้าใหม่ที่อยากเปิดร้านแมกกาซีนและลงทุนลงแรงทำเรื่องราวสนุกให้ได้ตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ 

ก่อนที่จะสนุกไปกับการท่องโลกแมกกาซีนต่างๆ ทั่วโลก เราสะดุดตากับความป็อป สีสันฉูดฉาด ที่เธอบอกว่าไม่ต้องการให้ร้านแห่งนี้มินิมัลหรือเคร่งขรึมเหมือนภาพจำเดิมๆ 

“คอนเซ็ปต์ก็มาจากความชอบเรื่องสีสัน สิ่งแรกก่อนที่จะมีร้านคือเก้าอี้โซฟาสีเขียวที่กดสั่งมาก่อนที่จะเกิดร้านนี้ขึ้นด้วยซ้ำ เมื่อมาเจอโลเคชันที่ถูกใจก็ตั้งโจทย์ในใจว่าอยากให้ร้านมีพื้นสีสดจึงบอกกับผู้รับเหมาให้ไปคิดต่อแล้วได้ออกมาเป็นพื้นสีแดงสดประกบอยู่กับโซฟาสีเขียวอย่างที่เห็น” 

ส่วนเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ก็ค่อยๆ งอกตามมา ไม่ว่าจะเป็น ตู้ใส่หนังสือสีฟ้าสว่างตั้งเด่นพิงไปกับผนังสีเหลือง เธออยากให้ร้านนี้ได้ฟีลแบบร้านขายของชำจึงสั่งทำตู้ไม้วินเทจที่โค้งเข้ามุมพอดีกับห้อง จับคู่มากับเคาน์เตอร์ไม้มุมชงกาแฟ เงยขึ้นมองโคมไฟ Sowden จากอิตาลี แบรนด์นำเข้าที่ชอบเป็นการส่วนตัว เตะตาคนที่แวะอยากซื้อไปใช้บ้างก็เลยผันตัวเป็นผู้นำเข้ามาขาย แถมขายดีอีกด้วย

ด้วยนิยามของร้านมีสามอย่างคือ Magazine Things และ Coffee ที่ดูแลโดยคุณเฟิร์มสามีที่เปิดโรงคั่ว Hands and Heart Coffee Roasters แต่ Rock Paper Scissors Store ยังเรียกตัวเองว่าเป็นร้านที่เน้นขายแมกกาซีนเป็นหลักแต่เติมความชอบเรื่องอื่นๆ ของทั้งคู่สอดแทรกไว้ในมุมต่างๆ ของร้าน โดยยึดหลักการที่ว่าของที่คัดสรรมานี้ก็เพื่อทำให้การอ่านรื่นรมย์และสนุกขึ้นนั่นเอง

“หลักที่เราเลือกหนังสือที่จะเอาเข้ามาคือ เล่าเรื่องอะไร เนิร์ดแค่ไหน และวิธีการเล่าเป็นอย่างไร” 

ด้วยความที่ทำงานด้านการขีดๆ เขียนๆ สัมภาษณ์คนมากมาย เธอเก็บสะสมแมกกาซีนที่ชอบเอาไว้เก็บเป็นแหล่งอ้างอิง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือหาซื้อยากที่ไม่ได้มีขายทั่วไป ความหลงใหลในการเล่าเรื่องที่มีคอนเซ็ปต์สนุกๆ ออกนอกกรอบแบบเด็กเนิร์ดที่เล่าเรื่องเดียวเจาะลึกทั้งเล่ม ตัวอย่างเช่น Science of the Secondary จากสิงคโปร์ เล่มที่เล่าเรื่องแก้วก็เจาะรายละเอียดทุกมุม ทุกมิติของแก้วจนแอบคิดในใจว่า นี่จะเล่าทำไมนะ แต่วิธีการเล่าแบบนี้ก็น่าสนใจจนทำให้เราวางไม่ลงเช่นกัน

ถึงแม้ว่าการใช้ติ๊กตอกจะช่วยทำให้หลายๆ แบรนด์เข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้น ซึ่งคนทำคอนเทนต์แบบเธอรู้ดีว่ายอดขายโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่จะเพิ่มขึ้นแน่ๆ ไม่มากก็น้อย แต่ก็ยังยืนยันที่จะไม่กระโดดลงไปในสนามนี้ เพราะไม่ต้องการให้คนอ่านซื้อแมกกาซีนนี้ไปเพียงเพราะมันได้รับความนิยม แต่อยากให้หนังสือและคนอ่านที่ต้องการได้มาพบกัน 

“Tagline ของร้านเราเขียนไว้ว่า Every book has its own influence หนังสือแต่ละเล่มมีอิทธิพลกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน”

“เราจะเล่าให้คนที่มาที่ร้านฟังก็จะรู้สึกสนุกและซื้อกลับไป บางทีคนที่แวะมาเพราะร้านกาแฟแต่ฟังคอนเซ็ปต์ของแมกกาซีนแล้วก็อินจนโดนเราป้ายยาซื้อกลับบ้านไปเกือบทุกราย ไม่มีคนที่เข้าแล้วกลับไปมือเปล่าแน่นอน ไม่มีใครรอดเลย (หัวเราะ)”

เมื่อเราถามถึงวลีที่คนทั่วไปแปะป้ายอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะนิตยสารที่ถูกนิยามว่าเป็นสื่อที่ตายแล้ว เธอตอบโดยไม่ต้องใช้เวลาคิดกับเราว่า 

“สิ่งพิมพ์มันไม่ได้ตาย สิ่งที่จะตายก็คือพวกเรานี่แหละคนซื้ออย่างเราเพราะมีแต่ของน่าซื้อเต็มไปหมดเลย ซื้อไม่ไหวแล้วมันเยอะมาก (เน้นเสียง)” 

สิ่งพิมพ์ที่จะตายก็คงเป็นสิ่งพิมพ์บางประเภท ส่วนพ็อกเกตบุ๊กยังรอดและขายดีอยู่ สิ่งพิมพ์ที่จะตายไปคือแมกกาซีนกระแสหลักเพราะอาศัยเทรนด์และช่วงเวลา แต่หนังสือที่ร้านนำมาขายถึงแม้จะเป็นแมกกาซีนแต่เนื้อหาที่มีความ Timeless และไม่สามารถหาอ่านได้ในกูเกิล

“ถ้าให้ตอบคำถามนี้จากสิ่งที่เราเห็นมันสวนทางกับสิ่งที่เราได้ยินมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา เห็นการเปลี่ยนผ่านจากสิ่งพิมพ์เป็นสื่อออนไลน์เพราะไม่มีคนซื้อ ไม่มีคนอ่าน ในต่างประเทศมีแมกกาซีนอินดี้เกิดขึ้นมากมายที่ขายดี เล่าเรื่องได้สนุก ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งพิมพ์ไม่ได้ตาย แต่เปลี่ยนวิธีคิดเพราะจะเห็นว่าพ็อกเกตบุ๊กยังอยู่รอด แต่คนที่ตายคือเจ้าใหญ่ในทุกวงการที่ไม่ปรับตัว”

สำหรับร้านแมกกาซีนเล็กๆ อินดี้แห่งนี้ การจะยืนอยู่ได้ท่ามกลางธุรกิจเครือข่ายร้านจำหน่ายหนังสือเจ้าดังๆ คงเป็นความใกล้ชิดและไว้ใจกันระหว่างคนอ่าน คนขาย และคนทำ ที่เป็นความสัมพันธ์ยึดโยงกันไว้ 

“ความประทับใจที่ได้รับมาจากลูกค้าเก่า จากเริ่มแรกที่ซื้อเพราะความเชื่อใจ กลับมาซื้อซ้ำเล่มที่เขาสนใจจริงๆ และการได้รับคำขอบคุณจากลูกค้าที่นำหนังสือแบบนี้เข้ามา”

“สำหรับความประทับใจอีกส่วนคือการที่ได้ติดต่อตรงกับคนทำมากมายจากคนที่เป็นแฟนคลับได้กลายมาเป็นเพื่อนกับคนทำ แค่สั่งซื้อหนังสือแต่กลับได้รู้เรื่องราวของคนทำเยอะขึ้น ตัวอย่างล่าสุด คนทำหนังสือในลอนดอนที่เราสั่งหนังสือเขามาขายแล้ววันหนึ่งแวะมาหาที่ร้าน ทำให้ได้เจอหน้ากัน คุยกันถึงเบื้องหลังการทำหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เราเองก็ได้เป็นกำลังใจให้คนทำและฟีดแบ็กกลับไปหาเสมอว่าหนังสือดีมาก ขายดี ขอให้ทำต่อไปนะ ในฐานะที่เป็นคนทำมาก่อน คำเหล่านี้ที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่เป็นกำลังใจมากไม่ให้เรา Burnout กันไปก่อน ถ้าชอบเล่มไหนเราก็อยากบอกให้เขารู้บ่อยๆ สิ่งที่ประทับใจเกิดขึ้นกับทั้งคนมาซื้อและคนที่ทำทุกคนที่เจอ ได้คุย ได้ขาย ได้กลายเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ”

“คนทำสิ่งพิมพ์เหมือนมี ‘ภาษาสากล’ ที่คนทำจะเข้าใจกันและกันไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก คนทำสิ่งพิมพ์ก็ยังกรี๊ดสิ่งพิมพ์กันอยู่” 

ภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษากลางที่ช่วยทำให้สิ่งพิมพ์จากซีกโลกหนึ่งสามารถข้ามเขตแดนระหว่างกันและกัน อีกทั้งยังทำให้ยอดขายไม่จำกัดอยู่แค่ภายในประเทศ 

แม้ในช่วงนี้ยอดขายและการตอบรับจะยังเป็นที่น่าพอใจ แต่ทั้งคู่ ย้วย และ เฟิร์ม ก็ยังคงต้องสังเกตและจับตาความเปลี่ยนแปลง

“ช่วงเฝ้าระวังของร้านเปิดใหม่ เราอยากให้เขาจดจำได้ว่าถ้าอยากได้หนังสือที่เล่าเรื่องสนุกๆ แล้วนึกถึงชื่อร้านของเรา ไม่ต้องอ่านจบทุกหน้าก็ได้เพราะเป็นหนังสือที่เหมาะกับการใช้อ้างอิงทำงาน ถ้าเบื่อเรื่องเล่าที่มีอยู่ในท้องตลาดว่าทำไมถึงเล่าให้สนุกว่านี้ไม่ได้ หนังสือเหล่านี้ช่วยเติมออกซิเจนได้ ลูกค้าเหล่านี้จะมีทั้งที่เป็นนักอ่านและเป็นคนทำงานสื่อ โดยเฉพาะคนทำงานสื่อที่เข้ามาก็จะตื่นเต้นมาก ทำไมกระดาษถึงเล่าได้ขนาดนี้ทำให้มีไฟอยากกลับมาทำงานพิมพ์ด้วยกระดาษอีกครั้ง เราก็อยากเป็นโอเอซิสให้กับคนอ่านและคนทำ”

ตลอดการสนทนาเราเองสัมผัสได้ถึงออร่าความสนุก สดใส มีชีวิตชีวาที่ส่งผ่านมาทางสีหน้าและความแอ็กทีฟของเธอ จึงอยากรู้ว่าการเปิดร้านนี้มอบความสุขให้เธออย่างไร ก็ได้รับคำตอบที่ทั้งเติมไฟและน่าอิจฉากลับมา 

“ความสุขอยู่ทุกที่เลยอะ ก่อนหน้านี้เราก็เป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนคนอื่นๆ เรามีความฝันมาตลอดว่าอยากเปิดร้านแบบนี้ เล่าให้ใครฟังเขาก็หัวเราะกลับมาว่าจะขายได้เหรอ เปิดร้านกาแฟดีกว่าไหม ไม่มีใครเชื่อเลย แต่เรามีแฟนที่เชื่อแล้วก็ช่วยกันทำมันขึ้นมา พอทำออกมาแล้วก็มีความกลัวว่าจะขายไม่ได้ พอเริ่มขายได้ บอกต่อ มันก็เหมือนเป็นรางวัลเล็กๆ ให้เรารู้ว่าจริงๆ ก็ยังมีคนที่ชอบเหมือนกันกับเรา มันสนุกหมดเลยนะ ทุกเช้าที่ตื่นมาอยากมาเปิดร้านหรือมันอาจจะยังอยู่ช่วงโปรโมชันก็ได้ที่เรายังสนุกอยู่นะ แต่ว่าต่อให้ขายหมดไปแล้วก็ยังมีล็อตอื่นๆ ที่รอให้เราอ่านอยู่อีกเยอะเต็มไปหมด นี่แหละเป็นความสนุก” 

“ถ้าให้กลับไปทำสื่อก็ไม่ทำแล้ว เพราะได้เงินจากการขายของดีกว่า ตอนจ่ายก็จ่ายเยอะเหมือนกันนะ (ยิ้มหวาน) แต่ว่ามันดีอะ เรารู้ตัวแล้วว่าชอบขายของเพราะเป็นของที่อิน แนะนำให้เป็นผู้ประกอบการ หาเรื่องที่อินแม้จะมีทั้งขายดีและขายไม่ดี เราเป็นพวกสุขนิยมที่ทำงานในออฟฟิศอยู่ดีๆ แล้วอยากทำแมกกาซีนก็ออกมาสมัครงานกับบริษัททำนิตยสาร อยากเล่าเรื่องก็มาเป็นคนเล่าเรื่อง อยากทำอะไรก็ทำเลย แต่มารู้ตัวว่าการทำงานสื่อทำให้ Self-esteem เราต่ำลง รู้สึกไม่มีความฝันแล้วว่าอยากทำอะไร แต่ร้านหนังสือก็เป็นความฝันลึกๆ ในใจที่ไม่กล้าบอกใคร พอมามีแฟนชีวิตก็เปลี่ยน ทุกอย่างก็ดีขึ้น (หัวเราะเขินๆ) 

“ที่จะบอกคือแนะนำให้มีแฟนใช่ไหมล่ะ” เราถามสวนกลับไป  

“ใช่ ที่จะบอกคือแนะนำให้มีแฟนเป็นผู้ประกอบการค่ะ แล้วชีวิตจะดีขึ้นทุกด้าน” (ยิ้มหวานจนคนโสดแบบเราอิจฉา)

ก่อนกลับเราได้ลองกาแฟของที่ร้านที่เธอย้ำนักย้ำหนาว่ากาแฟคั่วอ่อนที่ร้านนี้หวาน ดื่มง่าย แล้วก็ต้องประหลาดใจเพราะคนที่ไม่ดื่มกาแฟแบบเราสามารถจิบกาแฟแบบนี้ได้ ไม่ขม แถมสดชื่นอีกด้วย 

เรื่อง: จันจิรา ยีมัสซา ภาพ: พิชญุตม์ คชารักษ์ และ เจน


ร้าน Rock Paper Scissors Store

– ตั้งอยู่ในซอย สุขุมวิท 39 (อาคาร ดี.เอช.แกรนด์ ทาวเวอร์) 

– สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ หรือจะใช้บริการรถไฟฟ้าลงที่สถานีพร้อมพงษ์ แล้วต่อมอเตอร์ไซค์เข้ามาอีกไม่ไกล 

– เปิดเวลา 13:00-18:00 น.

– ปิดทุกวันอังคาร

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ