มาดี บุญชื่น : ชายผู้รับจ้างขนงานศิลปะจนได้แสดงงานศิลปะในหอศิลป์

Highlights

  • มาดี บุญชื่น หรือโชค คือชายผู้มีอาชีพขับรถรับจ้างขนงานศิลปะ เมื่อ 2 ปีก่อน เขาเริ่มหัดทำงานศิลปะด้วยตัวเอง กระทั่งได้แสดงงานในนิทรรศการความงามนิรนาม ที่ห้องจัดแสดงหลักชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
  • ทุกวันนี้โชคขับรถขนงานศิลปะเป็นงานหลัก และมีอาชีพเสริมเป็นการขับรถขนของประเภทอื่น แต่ยังไงศิลปะก็ยังเป็นสิ่งที่เขาอยากทำงานด้วยมากที่สุด
  • งานศิลปะของโชคมีความไม่เหมือนใคร เพราะเขามักหยิบเอาเรื่องราวการเอารัดเอาเปรียบในสังคมมาบอกเล่าเพื่อระบายความเครียดในใจ

ว่ากันว่าอยู่ใกล้คนแบบไหน เราก็จะกลายเป็นคนแบบนั้น

เรื่องราวของ มาดี บุญชื่น หรือ โชค ทำให้เรานึกถึงคำกล่าวที่ว่า เพราะชายวัยเลขสี่คนนี้คือผู้ที่รับจ้างขับรถขนงานศิลปะมาเป็นเวลากว่าสิบปี ตั้งแต่งานนักศึกษาส่งอาจารย์ งานส่งประกวดของศิลปินรุ่นเล็ก ไปจนถึงงานศิลปะมูลค่าเหยียบล้านของชาติชาย ปุยเปีย

ในหนึ่งสัปดาห์ เขามีคิววิ่งรถแทบไม่เว้นวัน และมีคนโทรมาจ้างงานไม่ขาดสาย แต่ก่อนจะเป็นที่ต้องการอย่างทุกวันนี้ โชคผ่านงานมาหลากหลาย ทั้งรับเหมาก่อสร้าง เชื่อมหลังคา ขับรถรับจ้างทั่วไป กระทั่งโชคชะตาพาให้เขาได้มาเจอกับนักศึกษาศิลปะและเริ่มต้นขับรถขนงานศิลปะตั้งแต่นั้น

มาดี บุญชื่น

เช้านี้เรานัดพบกันที่ร้านกาแฟชั้น 1 หอศิลปกรุงเทพฯ เมื่อถึงเวลา เขาบอกผ่านสายโทรศัพท์ว่ากำลังเดินลงจากนิทรรศการชั้น 8 เพื่อมาเจอ

ว่ากันว่าอยู่ใกล้คนแบบไหน เราก็จะกลายเป็นคนแบบนั้น, อาจไม่ต่างกับโชคที่มีโอกาสคลุกคลีกับศิลปะและศิลปินจนริเริ่มทำงานศิลปะของตัวเอง และได้จัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของ นิทรรศการความงามนิรนาม ที่ชั้น 8 หอศิลปกรุงเทพฯ ร่วมกับคนไทยและญี่ปุ่นอีกหลายสิบชีวิตที่ล้วนไม่ได้ร่ำเรียนศิลปะมาโดยตรง แต่สร้างงานที่เปี่ยมไปด้วยพลังและแรงบันดาลใจ

บางสิ่งที่ทำให้โชคได้เจอกับศิลปะอาจเป็นโชคชะตา แต่เราเชื่อว่าการได้แสดงผลงานครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะความตั้งใจ

มาดี บุญชื่น

คำว่า ‘จิตรกรโชคดี’ ที่ติดอยู่ที่รถของคุณหมายความว่ายังไง

น้องๆ ที่เราขนงานให้เขาเป็นคนเรียก เขาบอกว่างานไหนพี่โชคขนให้ชอบได้รางวัล เราก็เลยเอามาทำเป็นสติกเกอร์ติดรถ (หัวเราะ)

ทำไมมาทำงานขับรถส่งของตั้งแต่แรก

ไอ้เรื่องการขับรถส่งของคือเราใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็กเพราะเป็นคนชอบขับรถ แรกๆ ที่เข้ากรุงเทพมาก็มาฝึกเดินไฟฟ้า สักพักพ่อก็ทำงานรับเหมาก่อสร้างเราก็มาฝึกกับพ่อ ดูแบบ อ่านแบบ พออายุประมาณ 14-15 พ่อก็ปล่อยให้นำคนงาน แต่มันดื้อ หัวแข็ง สักพักเริ่มเบื่อก็เลยเก็บเงินดาวน์รถ

ตอนนั้นขับรถเป็นหรือยัง

ขับรถเป็นตั้งแต่อายุ 12 แล้ว เพราะตอนอยู่บ้านนอกน้าเรามีรถสิบล้อหน้ายาวไว้บรรทุกอ้อย เวลาน้าขับเราก็นั่งสังเกตเขาแล้วก็มาหัดเองตอนที่น้าไปไร่ แย่งกันสองคนกับลูกน้า ตอนนั้นไม่มีใครสอนด้วย แต่อารมณ์คนอยากขับเป็นไง เราก็เอารถจอดไว้นิ่งๆ หัดเหยียบคลัช เข้าเกียร์ให้มันคล่อง บางทีไปโรงงาน ลูกของน้าจะขับรถเข้าโรงงาน เราก็ขับรถกลับบ้าน 

มีอยู่ครั้งหนึ่งเราขับรถบรรทุกอ้อยสูงๆ เข้าไปในโรงงาน ก่อนจะเข้าเขาต้องเรียกคิวแต่ละคัน เสมียนก็มองหาว่าคนขับอยู่ไหนว้าเพราะหัวเรายังไม่พ้นหน้าต่างเลย (หัวเราะ) เขาก็บอก “โห ไอ้หนู โหนพวงมาลัยไหวได้ไง” (หัวเราะ)

แล้วมาขนงานให้นักศึกษาศิลปะได้นานหรือยัง

น่าจะ 10-11 ปีแล้ว ตอนนั้นเราขับรถรับจ้างทั่วไป ขนผัก ขนดอกไม้จากปากคลองตลาด มีอยู่วันหนึ่ง จำไม่ได้ว่าเป็นเด็กเพาะช่างหรือเด็กศิลปากรฝั่งท่าพระเดินมาหารถขนงานศิลปะไปส่งอาจารย์ จังหวะนั้นเขามาเจอเราก็เลยรู้จักกัน ให้เบอร์กัน หลังจากนั้นก็ขนงานให้เขามาเรื่อยๆ

นอกจากนั้นมันจะมีคนที่ขนงานศิลปะเหมือนกัน เวลาเขาวิ่งรถไม่ทันเขาก็แนะนำเราไปแทน ก็เลยยิ่งรู้จักเด็กๆ พอรุ่นหนึ่งเรียนจบเขาก็ส่งเบอร์เราต่อให้รุ่นน้องๆ

มาดี บุญชื่น

เขาขนงานไปไหนกัน

ถ้าเป็นเด็กๆ ก็ขนงานจากวิทยาเขตหนึ่งไปส่งอาจารย์อีกวิทยาเขต แล้วก็มีแบบที่ขนงานส่งประกวด สมัยก่อนคณะจิตรกรรม ศิลปากรเขายังเรียนอยู่ฝั่งวังท่าพระกัน เวลาส่งประกวดบางงานก็จะต้องขนจากฝั่งนี้ไปส่งที่นครปฐม แรกๆ เที่ยวละ 200-300 เราก็ช่วยๆ กันไป พอวิ่งไปวิ่งมาก็เริ่มรู้จักนักสะสม คนซื้องาน ขายงาน

ทำงานนี้อยู่นานไหมกว่าจะได้ขนงานให้ศิลปินใหญ่

หลายปีอยู่นะ อย่างพี่ชาติชาย (ชาติชาย ปุยเปีย) ตอนแรกเราก็ไม่รู้จักเขาหรอก มารู้จักเพราะเพื่อนเขาที่เป็นศิลปินเห็นรถเราขนงานได้ มีหลังคาเขาก็เดินมาขอเบอร์ รู้สึกว่าช่วงนั้นพี่ชาติชายเขาขาดรถ เพื่อนเขาก็เลยแนะนำเรา ด้วยความที่พี่ชาติชายเขารุ่นใหญ่ เขาก็เอาเบอร์เราให้เพื่อนๆ ไป ก็เลยได้งานเพิ่ม

เวลาพี่ชาติชายมาจ้าง เขาจะบอกว่า ‘โชค แกต้องมาขนงานพี่นะ ไม่ต้องรับงานอื่นเลยนะ’ งานอื่นเราก็จะโยนให้เพื่อนไปแต่ของพี่ชาติชายเราไปเอง วันไหนต้องไปขนงานของพี่ชาติชายราคา 30-40 ล้าน คืนนั้นเราจะนอนไม่หลับเลย ตื่นเต้น เพราะงานเขาไม่ใช่ถูกๆ แค่ได้อยู่ใกล้ ได้ขน แค่นี้ก็ถือว่าเป็นบุญแล้ว เราก็ดีใจด้วยที่เขาไว้ใจเรา

คิดยังไงกับคนที่ไม่เข้าใจว่าทำไมงานศิลปะถึงมีราคาแพง

เราว่าเขาไม่ได้อยู่ใกล้ ไม่ได้คลุกคลีกับศิลปะมากกว่า อย่างที่เราเคยได้ยินมา พ่อแม่บางคนเขาก็จะบอกว่าเรียนไปทำไม แต่ถ้าได้คลุกคลีเขาน่าจะเข้าใจ ลองไปทำงานให้เขาเห็น เอางานไปแสดงแล้วชวนเขามางานเปิดเพื่อโชว์ว่าศิลปะมันต้องเปิดงานแบบนี้ ต้องมีคนมาดูแบบนี้ มันสำคัญขนาดไหน เขาน่าจะเข้าใจมากขึ้นนะ

มาดี บุญชื่น

คุณเข้าใจคุณค่าของงานศิลปะตอนไหน

เวลาเราขนงานขึ้นรถเราจะต้องเอาเชือกผูกงานไว้กับรถ ซึ่งมันมีแรงกดทำให้กรอบเป็นรอยเชือก พอเราเห็นแบบนี้เราก็เลยไปหาหมอน ผ้าห่มถูกๆ มารอง ซื้อมาจากแถวๆ หลังพาต้า

เราเริ่มเข้าใจคุณค่าของงานตอนที่เชือกเป็นรอยนี่แหละ พอเรามาคิดว่าศิลปินเอางานไปใส่กรอบครั้งหนึ่งเขาหมดไปกี่บาท บางคนนี่หมดไป 5,000-6,000 เลยนะเพื่อเอามาส่งประกวดโดยที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองจะได้รางวัลไหม แล้วยังต้องเสียค่ารถอีก ถ้าเป็นเรา เราเสียตั้ง 5,000-6,000 ถ้าเราไม่ดูแล ไม่เห็นคุณค่า ไม่รักไม่หวงมัน เราจะทำไปเพื่ออะไร 

นี่ไม่นับว่าศิลปินใช้ใจทำขึ้นมาด้วยนะ ดังนั้นไม่ว่างานของศิลปินจะแพงหรือไม่แพง แต่สำหรับเรามันต้องรักษาให้ดี เปรียบเทียบนะ อย่างเราชอบสะสมพระเครื่อง เราก็มองว่าคนที่แกะขึ้นมานี่ก็ช่างมานะแกะเสียเหลือเกิน เราชอบความพยายามของเขา หรือเคยเห็นคนที่ทำไซดักปลากับสุ่มไก่จำลองอันเล็กๆ ไหม มันอาจจะใส่ไก่ของจริงไม่ได้ เอาไปดักปลาจริงๆ ไม่ได้ แต่เรามองว่ากว่าเขาจะเหลาไม้จนมันเป็นเส้นเล็กๆ แล้วทำขึ้นมาได้

เหมือนคุณค่าอย่างหนึ่งของศิลปะคือความพยายาม

ใช่ๆ อย่างการเหลาไม้ใหญ่ๆ เพื่อทำไซขนาดจริงก็ง่ายกว่ามาเหลาไม้ให้เล็กเพื่อทำไซขนาดจิ๋ว เราว่านี่คือคุณค่า มันคือความบรรจง ความละเอียด บางทีเราไปเจอไซเล็กๆ เราก็ซื้อเก็บไว้นะ หรืองานศิลปะเอง กว่าจะได้แต่ละชิ้นก็เหมือนกัน

เวลาไปขนงานแล้วได้เห็นศิลปินที่รักงานนะ เขาจะห่อ ดูแล ระวังงานก่อนที่จะขึ้นรถเรา แล้วพอขึ้นรถเราก็ระวังให้เขาอีกทีหนึ่ง เราอยากเจอคนแบบนี้ เวลาได้เจอจะตื่นเต้น มันจะสบายใจ (หัวเราะ)

ไม่เกร็งเหรอ

อืม (คิดนาน) เราก็อธิบายความรู้สึกไม่ถูกเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะเรารักงานของเรา เราก็ดีใจที่ได้เห็นเขารักงานของเขา มันตื้นตัน แต่ก็พูดออกมาเป็นคำพูดไม่ถูก

มาดี บุญชื่น
มาดี บุญชื่น

ขนงานศิลปะแล้วได้ไปดูงานในนิทรรศการบ้างไหม

ก็ไปดูบ้างถ้าว่าง อย่างงานน้องๆ ที่เราขนให้เราก็ตั้งใจมากว่าพองานเปิดแล้วจะมาดู อยากมาแสดงความยินดีเพราะสนิทกัน แต่พอถึงเวลาก็มีงานวิ่งรถ ไปไม่ได้ (หัวเราะ) บางทีงานเปิด 5-6 โมงเราก็อยู่ต่างจังหวัด มาไม่ทัน แต่น้องมันก็เข้าใจว่าพี่ขนของอยู่ โชคคิวทองครับ (หัวเราะ)

คุณซื้องานศิลปะบ้างไหม

ไม่มีครับ อยากซื้ออยู่แต่ไม่มีตังค์ (หัวเราะ) บางทีชิ้นที่เราอยากได้มันก็แพงนะ ราคาตั้ง 30,000-40,000 อยากได้ แต่ก็อย่างว่า

เคยวิ่งแบบไม่หยุดเลยติดกันกี่วัน

มีงานทุกวันนะ แล้วแต่ว่าจะมีกี่งานเท่านั้นเอง สมัยก่อนวิ่งขนดอกไม้บ้าง วิ่งขนอย่างอื่นบ้าง ก็จะมีทั้งที่วิ่งกลางวันและกลางคืน อย่างตอนเช้า สมมติไปวิ่งขนดอกไม้ไปงานแต่งเราก็จะนัดเช้าเลย เสร็จแล้วเราก็จะวิ่งเลยไปนครปฐมเพื่อขนงานศิลปะ พอดึกก็ไปขนดอกไม้จากงานแต่งกลับ กว่าจะเก็บเสร็จก็ตี 1 ตี 2 กว่าจะได้เข้าบ้าน

ทุกวันนี้คุณขนงานศิลปะอย่างเดียวเลยไหม

หลักๆ จะเป็นงานศิลปะ แต่จ๊อบเสริมก็ส่งดอกไม้บ้าง ส่งพวงหรีดตามงานศพ บางทีก็ขนของย้ายบ้าน

มาดี บุญชื่น

คุณคิดราคาค่าขนงานยังไง

ช่วงท่ีวิ่งรถใหม่ๆ เด็กๆ ขนงานไปส่งอาจารย์เราก็คิดเที่ยวละ 200-300 ช่วยๆ กันไป เพราะถ้าคิดตามระยะทางเด็กมันไม่ไหวหรอก นึกออกไหมว่างานนี้มันไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ เราก็ต้องช่วย แต่ถ้าขนงานที่ก่อให้เกิดรายได้ก็ต้องตามมาตรฐาน เช่น งานขนดอกไม้ไปจัดงานแต่งงาน เซตงานฉากละคร

กับงานศิลปะ เขาลงทุนมาแล้วทั้งซื้อสี ซื้อผ้าใบ ทำเฟรม เทอมๆ หนึ่งก็ไม่ใช่ถูกๆ นะ น้องๆ มันเล่าให้ฟังว่าไหนจะค่าเทอม ค่าสี ค่าเช่าบ้าน บางคนทำงานขึ้นมา ขนงานไปแสดง ไปประกวดก็ไม่รู้จะขายได้หรือเปล่า พอขนไปแสดงเสร็จ อีกเดือนก็ต้องขนกลับ จากค่าขน 1,000 ก็ต้องเป็น 2,000 อย่างน้อยก็ต้องมี 2,000 เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่เหมือนงานที่ก่อให้เกิดรายได้อื่นๆ ที่เขามาจ้าง

ถามว่ามันเกี่ยวกับเราไหม จริงๆ ก็ไม่เกี่ยวนะ แต่เราก็คิดแบบช่วยๆ ทำเหมือนลูกหลาน เขาก็มีภาระ เราก็มีภาระ ช่วยๆ กันให้ต่างคนต่างไปรอดดีกว่า

ขนงานอย่างอื่นดูจะได้เงินเยอะกว่าศิลปะ ทำไมยังเลือกทำงานนี้

ถ้าพูดตามหลักการก็คือใครโทรหาเรา เราก็ไปขนทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นของอะไร แต่ถ้าถามว่าใจรักอะไรเราก็อยากขนงานศิลปะอยู่แล้วเพราะมันได้เห็นงานของแต่ละคน ได้เห็นว่าคนอื่นคิดอะไร เราอยากถามอยากรู้ ว่าภาพนี้เขาจินตนาการอย่างไร คิดอย่างไรถึงได้ออกมาเป็นแบบนี้ อยากเปรียบเทียบกับตัวเองว่าความคิดเราไม่เหมือนกับเขาตรงไหน

ขนงานมานาน คุณหัดทำงานศิลปะตั้งแต่เมื่อไหร่

น่าจะ 2 ปีกว่าแล้ว ช่วงนั้นเราออกต่างจังหวัดไปเจอวิวสวยๆ ก็คิดว่าทำยังไงถึงจะเก็บวิวมาได้ เราอยากวาด บันทึกว่าเราไปตรงนี้มา ตอนนั้นเราขนของไปแม่เมาะ ขากลับ พอถึงอยุธยามันเป็นเวลาประมาณ 5-6 โมงเย็นตะวันกำลังจะตก เรามีกระดาษกับสีอะคริลิกพกไว้อยู่หลังรถ เราก็เลยนั่งแวะข้างทางแล้ววาด รู้สึกว่าวันนั้นจะได้ 3 ชิ้น

หลังจากนั้น พอเราไม่มีอะไรทำเราก็มานั่งเขียน นั่งวาด ฆ่าเวลายามว่าง ไม่งั้นตอนว่างๆ เราก็จะนั่งคิดนู่นคิดนี่ แต่พอเรามาหัดวาดรูป ใจเราก็เริ่มจดจ่อกับสิ่งที่เราทำ เพลินไปกับตรงนี้

ตอนนั้นทำไมถึงมีอุปกรณ์วาดรูปติดรถไว้

เราอยากวาดบรรยากาศยามเช้า ยามเย็น แสงมันสวย เคยถามเด็กๆ ที่ทำงานศิลปะเขาก็บอกว่าพี่โชคก็หัดเขียนงานไปเลย เหมือนเป็นบันทึกการเดินทาง เราก็เลยลองดู ไปหาซื้อสีแถวท่าพระ แรกๆ ก็เป็นสีอะคริลิก เขียนไปเขียนมาก็มาเห็นงานของอาจารย์วสันต์ สิทธิเขตต์ เราชอบมากเลย แกเขียนพวกบรรยากาศแบบไวๆ เหมือนเขียนง่ายนะแต่เราทำแบบเขาไม่ได้ (หัวเราะ) เราเลยชอบสีน้ำ ก็เลยเริ่มมาหัดเขียน เขียนไปเขียนมาก็ลองเขียนปากกามั่ง มันดี บางทีจังหวะกระดาษไม่มี กระดาษสีน้ำหมด มีปากกาอยู่ใกล้มือก็เขียน เหมือนจังหวะนั้นเราอยากพักผ่อนสมอง แต่บางทีเครียดๆ เราก็จะเขียนระบาย 

ระบายเรื่องแบบไหน

บางทีพอมาเจอเรื่องราวที่มันไม่ถูกต้องแต่เราไปว่าเขาไม่ได้ เราก็เก็บเป็นแรงบันดาลใจมาวาด เช่นภาพ ‘ใครมาทำป้า’ คือเราเห็นคนมาเอาเปรียบป้าคนหนึ่งที่อายุเยอะแล้ว เขาเอาแรงมาแลกกับเงิน ไม่ได้มาเป็นทาส เราเห็นแล้วไม่ชอบ แต่จะให้เราอารมณ์ขึ้นแล้วเดินไปด่ามันก็ไม่ใช่เรื่องของเรา ถ้าเราไปว่าเข้ามันก็ยิ่งเป็นเรื่อง เราก็เลยเก็บมาระบายในภาพ

บางทีเราก็คิดว่าทำไมต้องเอาเรื่องของคนอื่นมาคิดปวดหัว ทำไมไม่เขียนภาพว่าตัวเองอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร แต่อาจเป็นเพราะเราไม่ชอบเรื่องเอาเปรียบมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ที่จำได้แม่นเลยคือตอนอยู่ ป.3 มีเด็กโตที่ซ้ำชั้นมาแกล้งเราเพราะเราตัวเล็กกว่า เรานั่งเขียนหนังสืออยู่เขาก็เอาดินสอแหลมๆ มาทำกระดาษเราขาด เราก็ต้องเขียนใหม่ หาเรื่องมาแกล้งทุกวันจนวันหนึ่งเรากลั้นไม่ไหวแล้ว ก็เลยคิดในใจว่าเป็นไงเป็นกัน เคยเห็นลูกข้างไหมที่เขาปาเล่นกัน มันจะมีแกนมันจะเป็นตะปูแหลมๆ เราก็แทงเขา ตั้งแต่นั้นเขาไม่กล้าทำอะไรเราอีกเลย แต่เราก็โดนครูทำโทษทั้งคู่นะ

โตแล้วยังโดนเอาเปรียบอีกไหม

โดนอยู่แล้ว สมัยที่วิ่งรถใหม่ๆ ตอนนั้นเขาให้ไปขนพริกจากแถวปากคลองไปประมาณสายสี่ เราเรียกไป 600 เขาจะให้ 300 พริกก็ไม่ใช่เบาๆ นะ เต็มรถเลย เขาบอกว่าพอขับรถไปถึง เขาอยากให้เราเอาตาชั่งมาชั่งพริกแต่ละถุง คิดดูว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ เราก็เลยไม่รับงานนี้ บอกว่าไม่สะดวก คนในสังคมส่วนใหญ่มันก็เป็นแบบนี้คือไม่ให้ค่าแรงสมน้ำสมเนื้อ เขาจ้างเรา 600 เขาไม่ขาดทุนอยู่แล้วเพราะพริกที่ขนไปมันก็ก่อให้เกิดรายได้ ไม่เหมือนงานศิลปะ

แต่เราคิดว่าถ้าเราพลาดโมโห บันดาลโทสะใส่เขาไปเราก็จบเลย ติดคุก เสียอนาคต สู้เอาความโกรธมาทำเป็นงานดีกว่า มันช่วยให้ผ่อนคลายได้เยอะเลย ทำให้อารมณ์เราเย็น ไม่ต้องไปสู้รบปรบมือ ไม่ต้องไปดื่มเหล้าด้วย เพราะเราไม่กินเหล้า ขอแค่ความเป็นส่วนตัวสักพัก ใครอย่ามายุ่งเลยช่วงนั้น

ตอนหัดวาดกลัวผิดบ้างไหม

แรกๆ ก็กลัวนะ อายด้วย คิดว่าเขียนแล้วเขาจะว่าเราไหม เราเคยถามอาจารย์ศิลปะว่าผมอยากไปเรียนได้ไหม แกก็บอกว่าไม่ต้องไปเรียนหรอก เขียนตามแบบโชคนี่แหละ ศึกษาไปเรื่อยๆ เขาบอกว่ากลัวไปเรียนแล้วพี่โชคจะเกร็ง กลัวความผิดความถูก จากเขียนแล้วจะสบายใจขึ้นอาจจะเครียดก็ได้ เราก็เลยสบายใจ

ถามว่าอยากเขียนสวยๆ เหมือนเขาไหม ก็อยากนะ แต่เราคงไม่มีเวลาหรอก ไหนจะต้องมาขนงานอีก เขียนแค่แป๊บๆ ก็พอ นอกจากวันไหนเราไม่มีงานก็ค่อยเขียนเล่นเต็มที่ เวลากลับบ้านตอนเย็นๆ ขับรถมาเหนื่อยๆ แฟนเรา ลูกเรา เขาก็ไม่เข้ามายุ่งเพราะเราอยากอยู่คนเดียวเงียบๆ หาวิธีตัวเองให้สบายใจ

เวลาโพสต์งานจะมีคนเข้ามาบอกว่า เจ๋งพี่ ชอบ มีคนบอกให้พี่โชคเขียนเรื่อยๆ จุดนี้มันก็ทำให้เรามีความมั่นใจจะทำต่อไป เวลาวาดรูประบาย เด็กๆ ที่รู้จักกันมันก็บอกว่านี่มันเป็นศิลปะ เพราะมันเกิดมาจากไอเดียพี่

ความเครียดในแต่ละวันมาจากไหน

บางทีก็เกิดจากขับรถ รถติดอะไรแบบนี้ บางทีมันไม่ได้ตามเวลาที่เราวางไว้ก็มีคนโทรมาตาม เราก็ไม่ได้ว่าเขานะเพราะมันผิดที่เราแต่เราก็เครียด บางทีก็โมโหตัวเอง แต่ถามว่าเครียดเรื่องการขนงานไหมก็ไม่นะ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเวลา เรื่องรถติดมากกว่า

ฝรั่งเขาเข้าใจนะ ขนาดเขาตรงต่อเวลามาก ตอนขนงานเราเคยโทรไปบอกเขาว่ารถติดมากเลยตรงแยกอโศก เขาก็บอกเลยว่าไอเข้าใจ ประเทศไทยรถเยอะ แกเป็นศิลปินพูดไทยคล่องเลยนะ บอกว่า “พี่โชคไม่ต้องซีเรียส” แต่เดี๋ยวนี้เขากลับไปอยู่ประเทศเขาแล้ว

คุณได้แสดงงานในนิทรรศการความงามนิรนามได้ไง

เรารู้จักกับอาจารย์ก้อง (สืบแสง แสงวชิระภิบาล) ภัณฑารักษ์ของงาน เคยเล่าเรื่องงานที่ทำให้เขาฟังหรือเอางานให้เขาดูนี่แหละ เขาไม่รู้มาก่อน พอเห็นเขาก็ถามว่าเขียนมานานยัง บอกให้เราลองเอามาแสดงดู

ดีใจไหมที่เขามาชวน

อายมากกว่าเพราะเรายังไม่อยากแสดงแต่อยากฝึกไปก่อน แต่อาจารย์ก้องก็บอกแสดงไปเถอะ เราก็เลยมั่นใจมากขึ้น ไปก็ไป แต่ถ้าถามจริงๆ ก็ยังไม่พร้อมขนาดนั้น

พอเห็นงานตัวเองติดกับงานคนอื่นรู้สึกยังไง

เขิน ยังเขินอยู่ (หัวเราะ)

ภูมิใจไหม

ถามว่าภูมิใจไหม ภูมิใจนะ ยิ่งวันที่เปิดงานมีคนเดินมาสองคนเหมือนจะเลยงานเราไปแล้ว เขายังถอยหลังกลับมาดู มาพิจารณาใกล้ๆ เหมือนสงสัยอะไรสักอย่าง ตอนนั้นเราโคตรดีใจเลย แล้วก็มีคนญี่ปุ่นเขามาดูงานที่เราวาดด้วยปากกา ได้คุยกันอยู่ แกบอกแกชอบเส้นปากกา ให้นามบัตรเราไว้ด้วยนะ

ได้ยินมาว่าวันก่อนมีคนจะมาซื้องานแต่คุณไม่ยอมคิดราคาด้วย

เราให้อาจารย์ก้องจัดการ บอกไปว่าอาจารย์ไม่ต้องมาถามผมหรอก เพราะผมไม่คิด ผมแค่อยากเขียน อยากระบาย ไม่ได้ตั้งใจจะขาย ถ้าคนที่อยากได้มาคุยกับผม เผลอๆ ผมให้ฟรีด้วยนะ ความรู้สึกเราเป็นแบบนั้น เพราะเราแค่อยากทำให้เกิดความสบายใจกับตัวเองเฉยๆ รู้สึกเพลิดเพลินกับมันก็พอแล้ว


ตามไปดูงานของโชคได้ในนิทรรศการ ‘ความงามนิรนาม Thailand and Japan ART BRUT: Figure of Unknown Beauty’ ห้องนิทรรศการหลักชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม – 3 พฤศจิกายน 2562

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย