Nijo Castle : เมื่อปราสาทมรดกโลกของเมืองเกียวโตต้องรับบทเป็นอาร์ตแกลเลอรี่

ปราสาทนิโจ (Nijo Castle) คือหนึ่งในลิสต์สถานที่ท่องเที่ยวเกียวโต 101

แต่หลายคนอาจมองข้ามเพราะไม่อินกับงานปราสาท สถาปัตยกรรมภายนอกก็ไม่โดดเด่นขนาดที่เห็นแล้วร้องอ๋อเหมือนวัดทองหรือวัดน้ำใสเพื่อนร่วมจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ที่นี่ก็ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO แถมเป็นมรดกโลกที่เก่าแต่ตัว ส่วนหัวใจร่วมสมัย ในขณะที่กำลังบูรณะอาคารทั้งภายในและภายนอกครั้งใหญ่ นิโจใจกล้าจัด Contemporary Art Exhibition ไปพร้อมๆ กัน เชิญคนมาปีนนั่งร้าน เลี้ยวเข้าตำหนักลับ สัมผัสหลายพื้นที่ที่เคยหวงห้ามไว้ให้เฉพาะผู้เกี่ยวข้อง

เพียงเท่านี้ ศิลปะร่วมสมัย การบูรณะโบราณสถาน และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็ดูจะกลายเป็นเรื่องเดียวกัน

Art

ศิลปะที่ว่านี้คือ Asia Corridor ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน Culture City of East Asia โครงการศิลปะระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมของ 3 ประเทศคือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2014 ปีนี้เกียวโตได้เป็นตัวแทนของประเทศ ปราสาทนิโจถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานหลัก ใช้พื้นที่ทั้งอินดอร์และเอาต์ดอร์แสดงผลงานหลายสไตล์ของศิลปินจาก 3 ประเทศ ซึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์ของผลงานทั้งหมดทำมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ (ยาโยอิ คุซะมะ (Yayoi Kusama) ก็มาแจมด้วยนะ!)

ความสนุกที่เราปลื้มเป็นพิเศษคือความคอนทราสต์และเซอร์เรียลของสิ่งที่ไม่น่าจะอยู่ด้วยกันได้ เช่น หัวไชเท้ายักษ์นอนพังพาบอยู่ในห้องครัวของปราสาทอายุ 400 ปี การเปลี่ยนพื้นไม้เป็นกระจกเงาทั้งห้อง การสร้างเรือโนอาห์ (ที่เราคิดเอง) ไว้กลางสวนญี่ปุ่น หรือห้องที่เราตั้งชื่อ (ให้เองอีกแล้ว) ว่า ทุ่งเสื่อทาทามิแห่งความตาย เพราะเขาใช้เครื่องปั้นดินเผาหลอนๆ วางกองที่พื้นเล่าเรื่องราวขยะที่เหลือจากห้องครัว แถมยังมีงานที่แอบหยอกล้อการเมืองนิดๆ แซวความตึงเครียดระหว่าง 3 ประเทศหน่อยๆ ด้วย

Art x Restoration

หันมาดูมุมงานอนุรักษ์กันบ้าง

งานบูรณะปราสาทนิโจเริ่มมาตั้งแต่ปี 2011 ด้วยงบมหาศาลหนึ่งหมื่นล้านเยน ซึ่งถือเป็นการบูรณะเต็มรูปแบบครั้งแรกตั้งแต่สร้างขึ้นเมื่อ 400 ปีก่อน ตอนนี้มีหลายส่วนที่งานเสร็จแล้ว เปิดโชว์ความวิจิตรแบบออริจินอลให้ชมกันอย่างเต็มภาคภูมิ เช่น ประตูคะระมง (Kara-mon) ซึ่งเป็นประตูทางเข้าออกพระราชวังชั้นในที่ไฮโซที่สุด รวมงานแกะสลักลงรักปิดทองสัญลักษณ์สิ่งมงคลทั้งหลายไว้เป๊ะปัง

ส่วนภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังในตำหนักนิโนะมะรุโกะเต็น (Ninomaru-goten) ที่ถือเป็นไฮไลต์ที่อยากจะไหว้ขอให้ลองเข้าไปดูกันเถอะ มีบางส่วนถูกถอดไปบูรณะ บางส่วนเป็นงานเลียนแบบ (replica) แต่โดยรวมก็ยังถือว่าตระการตาเลอค่าอลังการ ซ่อนนัยและสตอรี่เวรี่เจแปนนีสไว้ในทุกลายเส้น

แต่เดี๋ยวก่อน! ตอนเดินเข้าออกเขตปราสาทนิโจ ฝากแหงนมองประตูฮิงะชิโอเตะมง (Higashi Ote-mon) ซึ่งเป็นทางเข้าหลักด้วยสักนิด ภายนอกดูเฉยๆ ภายในจริงๆ ก็ไม่มีอะไรเท่าไหร่ เพราะเป็นป้อมยามระวังภัย ไม่ค่อยอลังการทางด้านงานศิลป์สักเท่าไหร่ แต่ถ้าใครชอบหนังสงครามอาจจะอินหน่อยๆ เพราะมีช่องสำหรับยิงธนูและปืนให้สำรวจอย่างใกล้ชิด แต่สิ่งเลอค่าที่หาดูยากคือเบื้องหลังงานอนุรักษ์อันละเอียดละเมียดละมุนแบบฉบับชาวญี่ปุ่น การนำวัสดุต่างๆ เช่น กระเบื้องหลังคาเก่าแก่ โครงหลังคาไม้แท้ๆ อายุนับร้อยปีมาจัดแสดง บอกเล่าเรื่องราวของงานอนุรักษ์แบบง่ายๆ ไม่ต้องมีพื้นฐานก็ดูเพลิน โดยเก็บค่าเข้าชมเพิ่มแค่ 400 เยนเพื่อนำไปเป็นใช้ในการบูรณะต่อไป

ใช่! ทั้งงานอาร์ตกรุบกริบและงานนิทรรศการเก่าแก่ต่างจัดขึ้นที่นี่ ส่วนหนึ่งก็เพราะเงินหนึ่งหมื่นล้านเยนที่ได้มาในตอนแรกไม่พอน่ะสิ

ตัวอย่างเทศกาลศิลปะที่ประสบความสำเร็จในการดึงคนไปสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นชัดๆ คือ Setouchi Triennale จากย่านที่นักท่องเที่ยวไม่ค่อยรู้จัก กลับกลายเป็นสถานที่สุดฮิปยอดฮิตในหมู่ชาวต่างชาติทันที ถือว่าจังหวะลงตัวที่ปีนี้งาน Asia Corridor ของ Culture City of East Asia เวียนมาถึงคิวเกียวโต แถมผังในเขตปราสาทยังเป็นทางเดินเชื่อมกันสอดคล้องกับคอนเซปต์งานพอดี

เส้นทางชมงานเป็น one way (ที่ไม่บังคับ) หลอกให้เราเข้าๆ ออกๆ ตัวอาคาร วนไปรอบๆ สวนและคลองจิ๋วเพื่อเดินชมสถาปัตยกรรมเก่าแก่กว่า 400 ปีหลายตึกแบบเนียนๆ จากหลายมุม บางจุดไม่เคยเปิดให้คนนอกเข้าชมมาก่อน พูดตามตรงว่าโครงไม้เก่าแก่ของอาคารแอบขโมยซีนผลงานศิลปะบ้างเล็กน้อย และขอชื่นชมความใจกว้างที่ให้เราใกล้ชิดหายใจรดผลงานได้อย่างอิสระ

งานนี้ได้ประโยชน์หลายต่อ นอกจากจะได้เงินจากค่าตั๋วเข้าปราสาทและค่าเข้าชมงานศิลปะ มรดกโลกยังได้ภาพลักษณ์คูลๆ ฮิปๆ ขยายฐานแฟนคลับเพิ่มไม่มากก็น้อย เดินเพลินมากว่าครึ่งวันจะไม่เห็นความดีงามของกันและกันบ้างเชียวเหรอ

Art x Restoration = Renovated Cultured

เป็นที่รู้กันว่าจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีความตึงเครียดทางประวัติศาสตร์และการเมืองอยู่ไม่น้อย

ในทางกลับกัน ทั้ง 3 ประเทศกลับมีความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งยาวนาน ทั้งอิทธิพลเรื่องภาษา สถาปัตยกรรม และความเชื่อต่างๆ ชาวอาร์ตเลยมองว่า นี่แหละ ถึงเวลาแสดงพลังของงานศิลป์!

พวกเขาคิดว่าการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมจะช่วยให้สื่อสารกันง่ายขึ้น เผลอๆ อาจจะก้าวข้ามความขัดแย้งและเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นจนต่อยอดไปสู่ความสัมพันธ์อันดีที่ยั่งยืนและส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ

ความร่วมมือของ 3 ประเทศนี้น่าจะแข็งแกร่งทีเดียว เกาหลีเพิ่งบรรจุวิชาการละครเป็นวิชาบังคับเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้เยาวชนรุ่นหลังใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่ในการพัฒนาประเทศ ส่วนจีนเป็นตลาดใหญ่อยู่แล้ว มีคนเก่งๆ พร้อมปล่อยของจำนวนมาก ผู้รับผิดชอบงานฝั่งญี่ปุ่นเลยมองว่านี่เป็นโอกาสดีที่ญี่ปุ่นจะได้ผลักดันตัวเองก้าวข้ามขนบที่คุ้นชิน

และถ้าเป็นไปได้ก็อยากสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ร่วมกัน

ในขณะที่ส่วนต่างๆ ของปราสาทนิโจกำลังได้รับการบูรณะ การจัดการต่างๆ กลับมุ่งให้เกิดสิ่งใหม่ที่เป็นสากล สามารถสื่อสารข้ามเชื้อชาติและค่านิยมเก่าๆ

พวกเขากำลังบูรณะของเก่าให้คงสภาพเดิมเพื่อสร้างอนาคตใหม่ร่วมกัน

AUTHOR