Techno Hoyo : ท่องแดนสุขาวดีสุดไฮเทคและสัมผัสแสงแห่งธรรมผ่าน Projection Mapping

**เอาล่ะ ก่อนจะเข้าเรื่องกัน ขออธิบายก่อนว่าศาสนาพุทธในญี่ปุ่นเป็นคนละนิกายกับบ้านเรา วัดเป็นธุรกิจในครอบครัว พระสามารถกินเหล้า แต่งงาน มีลูกเมียได้ทั่วไป ขอให้อ่านโดยเปิดใจกว้างอ้าสุดวงแขน และถ้าจะให้ดี ลองดูคลิปงานของท่านเกียวเซ็น อาซากุระ ก่อนอ่านจะอินขึ้นมา 15 เปอร์เซ็นต์นะ**

คนในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะหนุ่มสาวในหลายประเทศน่าจะมีระยะห่างกับศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ ที่ญี่ปุ่นก็เช่นกัน คนสูงอายุที่ปกติเป็นขาประจำก็เริ่มตายจากไปบ้าง สังขารไม่อำนวยให้ออกมานอกบ้านแล้วบ้าง สรุปคือคนไปวัดน้อยลงทุกปีจนสัมผัสได้ แต่ละวัดจึงเลือกใช้แผนมาร์เก็ตติ้งต่างกันตามถนัด เช่น ทำเครื่องรางที่เข้ากับความทุกข์ของคนยุคใหม่อย่างเครื่องรางเพิ่มความสวย เครื่องรางลดความอ้วน หรือเครื่องรางตัดใจให้เลิกรัก บ้างก็ให้ใช้พื้นที่วัดจัดงานเทศกาลกาแฟกรุบกริบเพื่อดึงความสนใจจากวัยรุ่นอ้อมๆ

แต่แผนการที่เด็ดขาดแหวกขนบได้ลงตัวสุดๆ เราขอยกให้ท่านเกียวเซ็น อาซากุระ (Gyosen Asakura) แห่งวัดโชองจิ (Shō-onji) ในจังหวัดฟุกุอิ อดีตดีเจที่ตอนนี้รับบทเป็นเจ้าอาวาสผู้ใช้ดนตรี แสงสี และโซเชียลมีเดียเผยแพร่พระพุทธศาสนา!

ไลฟ์สวดพระสูตรของท่านมีคนเข้ามาดูเกือบ 20,000 คนนะ พี่เขาไม่ได้มาเล่นๆ !

เกียวเซ็นชอบเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้นเลยไปทำงานเปิดแผ่นเป็นดีเจและจัดไฟเวทีคอนเสิร์ตตั้งแต่เรียนจบม.ปลายจนอายุ 24 ปีถึงกลับมาช่วยกิจการทางบ้าน และเพิ่งรับตำแหน่งเจ้าอาวาสรุ่นที่ 17 ต่อจากพ่อเมื่อปี 2015 เขาเริ่มหาทางแก้ไขปัญหาเรื้อรังนี้ทันที โดยวิเคราะห์จากตัวเองสมัยวัยรุ่นที่เคยรู้สึกต่อต้าน ไม่อยากเป็นพระ เพราะทั้งดูน่าเบื่อ เคร่งครัด และแสนเชย แต่แล้วเขาก็ได้ค้นพบว่างานเพลงกับงานพระมีจุดร่วมที่เหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อ คือ ‘การสื่อสารและการส่งมอบสิ่งที่ดีให้กับผู้คน’

เมื่อตัวเขาในวัย 40 ตอนปลายต้องหาทางสื่อสารกับคนหนุ่มสาว เกียวเซ็นจึงเลือกใช้เครื่องมือที่ตนเองเคยทุ่มเทชีวิตในวัยหนุ่มอย่างศาสตร์แห่งแสงสีเสียง ที่สำคัญ นี่เป็นภารกิจที่ท้าทายอดีตศิลปินจัดไฟมืออาชีพไม่น้อย เพราะเขาบอกว่าคนสมัยก่อนจุดเทียนหน้าพระพุทธรูปต่างๆ เพราะเมื่อเปลวไฟจากแสงเทียนส่องกระทบทองคำเปลวแล้วมันดูสวยสงบใจ ดังนั้นเขาจึงอยากลองหาแสงแบบใหม่ที่ส่องจับใจคนสมัยนี้ดูบ้าง

ว่าแล้วก็ทุ่มเงินกว่า 600,000 เยนเพื่อมาจัดหาอุปกรณ์เบื้องต้น โดยนำแรงบันดาลใจจากการแสดงของวง Perfume และเพลงวงโปรด Yellow Magic Orchestra มาจัดแจงใส่จังหวะเพลงเทคโนแดนซ์ให้กับบทสวด ออกแบบไฟ ทำ projection mapping ให้เข้ากับเพลง เพิ่มลูกเล่นให้ทั้งผนังและแท่นบูชา เนรมิตให้วัดไม้ที่อายุกว่า 540 ปีกลายเป็น ‘ดินแดนสุขาวดี’ สุดคึกคักให้ผู้คนได้ตีความกันได้อย่างสนุกสนานตามอัธยาศัย โดยเรียกสิ่งนี้ว่า ‘Techno Hoyo’

คนชอบมีมาก คนด่ากลับมีน้อยจนน่าตกใจ วันแรกมีแค่คนแถวบ้านมาเพียง 60 คน แต่คนก็บอกกันปากต่อปาก ผลจากการอัพคลิปลงยูทูปทำให้ได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ มากมายทั้งในและนอกประเทศ ทำให้งานครั้งล่าสุดมีคนมาถึง 250 คน และต้องเพิ่มรอบตามรีเควส

เราไม่แน่ใจว่าเป้าหมายที่อยากจะทำให้คนสนใจพระพุทธศาสนามากขึ้นของเกียวเซ็นได้ผลมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ มีคนสนใจ Techno Hoyo เพิ่มขึ้นเยอะมาก เปิด crowdfunding เพื่อเอาเงินไปซื้อพวกโปรเจคเตอร์ projection mapping software ฯลฯ ซึ่งทะลุยอดในเวลาอันรวดเร็ว (งานสวดทำนองเสนาะนี้เปิดให้ชมฟรี วัดไม่ได้เงิน) นอกจากนี้ยังได้ไปขึ้นเวทีโชว์ในงานเทศกาลใหญ่ประจำปีของเว็บไซต์เผยแพร่วิดีโอสัญชาติญี่ปุ่น Niconico ที่ตั้งใจนำ internet culture สู่โลกแห่งความจริง นำคนที่ชอบเสพคลิปประเภทต่างๆ มาพบเจอกันและสร้างการสื่อสารแบบเห็นหน้า ซึ่งตรงกับความต้องการของเกียวเซ็นพอดีที่อยากสื่อสารเรื่องพระพุทธศาสนากับคนรุ่นใหม่ด้วยภาษาที่พวกเขาเข้าใจและสนุกไปด้วยได้

ถ้ามองบทบาทของวัดในฐานะศูนย์รวมชุมชน เราว่าเกียวเซ็นประสบความสำเร็จมาก เพราะคนที่ไปดูงาน Techno Hoyo ของเขามีตั้งแต่เด็กน้อยไปจนถึงคุณตาคุณยายวัย 80 ปี บางครอบครัวกระเตงกันมาทั้ง 3 เจนเนอเรชั่น ให้อารมณ์มาเที่ยวงานมหรสพแถวบ้านชิลๆ ถ้าคนส่วนมากหันหน้าเข้าหาวัดตอนอยากกำจัดความทุกข์ การทำให้คนอยากไปฟังพระสวดเพื่อความสุขสนุกสนานก็เป็นเรื่องที่เจ๋งไม่น้อยเลยนะ

โอเค มันอาจจะการตลาดที่พี่เขาคิดมาเพื่อให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอด สิ่งที่ดีคือเขาไม่ได้บิดเบือนคำสอนหรือมุ่งไปทางที่งมงาย แต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์นำเสนอศาสนาด้วยการสื่อสารแบบใหม่ เรียกว่าแก่นแท้ยังคงเดิม เพิ่มเติมคือแพ็กเกจที่เข้าถึงได้ ที่กล้าพูดแบบนั้นเพราะมีคุณยายคนหนึ่งเดินเข้ามาบอกเกียวเซ็นว่า

“ถ้าดินแดนสุขาวดีดูน่าสนุกแบบนี้ ฉันก็พร้อมไปโลกนั้นแล้วนะ”

ใครจะคิดว่าเพลงเทคโนกับ projection mapping จะเอามาใช้เตรียมใจรับมือกับความตายได้ รูปแบบการนำเสนออาจจะแหวกขนบสุดขั้ว แต่ยังคงสร้างความสงบให้จิตใจได้เหมือนเดิม


ภาพ
clubberia.com/ja/news/6106/, higan.net/now/2017/09/kohgen_kyoto/, show-on-g.com/about, grapee.jp/290045

AUTHOR