Smart Ball : ตู้ปาจิงโกะสุดวินเทจที่ปลอดบุหรี่และเป็นมิตรกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

ชอบมีคนมาถามหาสถานที่เที่ยวลับๆ สุดอันซีนในโตเกียว ถ้าบอกให้ไปอาซาคุสะ (Asakusa) ต้องโดนหาว่าประชดแน่ๆ แต่เราพูดจริงนะ เพราะที่ ‘Mimatsukan’ นี่ทั้งลับและเลอค่าทางวัฒนธรรม เป็นร้านเกม Smart Ball ตู้เกมดีดลูกแก้วเก่าแก่ที่หลงเหลือเพียงแห่งสุดท้ายในโตเกียวเชียวนะ!

ท่ามกลางความคึกคักของย่านช้อปปิ้งที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวและร้านขายของที่ระลึกญี่ปุ่นนานาชนิด ความวินเทจแบบเจแปนนีสแท้ๆ ซ่อนตัวอย่างสงบเสงี่ยมอยู่ไม่ไกลจากร้านดองกิโฮเต้สาขาบิ๊กเบิ้ม Mimatsukan ไม่มีป้ายชื่อร้าน สีม่วงอ่อนซีดของกำแพงและสติกเกอร์เก่าๆ ที่แปะกระจกไว้ว่า ‘เกมลูกบอลชื่อดัง’ แทบไม่สามารถเรียกร้องความสนใจจากคนที่เดินผ่านไปมาแถวนั้นได้ แต่ถ้ามองเข้าไปด้านในจะเห็นความคึกคักของโลกอีกใบที่ดำเนินไปช้าๆ แบบไม่แคร์สิ่งเร้าวูบวาบด้านนอก

ภายในร้านมีตู้เกมเรียงเป็นตับ เครื่องแนวนอนเรียกว่าสมาร์ทบอล เครื่องแนวตั้งเรียกว่าอะเรนจ์บอล (Arrange Ball) การตกแต่งให้บรรยากาศคล้ายงานวัดชวนให้คิดถึงหนังเรื่อง Always นิดหน่อย ห้ามสูบบุหรี่เพราะลูกค้าส่วนมากเป็นพ่อแม่พาลูกๆ มานั่งเล่นเกมด้วยกัน ปะปนไปกับคู่หนุ่มสาวที่มานั่งอี๋อ๋ออ้อล้อกันเงียบๆ เราจะได้ยินเสียงก๊อกแก๊กของลูกบอลสลับกับเสียงเฮของเด็กๆ เป็นระยะ ที่นี่มีคุณลุงคุณป้าช่วยกันคุมร้าน 2 คน ทำทุกอย่างตั้งแต่รับลูกค้า ทอนเงิน ซ่อมเครื่อง เติมบอลในตู้

คุณป้ายิ้มแย้มชี้ชวนให้เราไปนั่ง พร้อมสอนวิธีเล่นเป็นภาษาอังกฤษอย่างไม่คล่องแคล่วแต่เข้าใจได้ง่าย คุณป้าบอกว่า “มีอะไรก็เรียกนะ เครื่องมันเก่าแล้ว เล่นๆ ไปเดี๋ยวก็ค้าง ต้องคอยแงะเครื่องตลอด เพราะร้านเปิดมาตั้งแต่ปี 1948 จนบริษัทผู้ผลิตเครื่องเจ๊งไปหมดแล้ว ทุกวันนี้ต้องพยายามซ่อมกันเอง อันไหนที่ไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องยอมปล่อยเขาไป ใช้เท่าที่มี”

ว่าแล้วก็รีบไปแงะเครื่องให้ลูกค้าคนอื่นต่อ

สมาร์ทบอลคืออะไร? สมาร์ทบอลเป็นเหมือนพินบอลที่อาโนะเนะ เป็นตู้ปาจิงโกะรุ่นคุณปู่ที่ถูกจับวางในแนวนอน ไม่ใช้ไฟฟ้า ไม่มีความหวือหวาของกราฟิก มีเพียงแกนจับที่ยังใช้สปริงสำหรับดึงและปล่อยลูกบอลสีสดใสและมีขนาดใหญ่กว่าลูกเหล็กของปาจิงโกะไปตามหน้ากระดานที่มีพินปักอยู่เป็นสิ่งกีดขวาง หลักการและวิธีเล่นนั้นแสนเรียบง่าย ดีดลูกบอลให้เข้ารู คุณก็จะได้ลูกบอลไหลออกมาเป็นรางวัล

ค่าเล่นที่นี่คิดเกมละ 300 เยนพร้อมลูกบอลตั้งต้นจำนวนหนึ่ง เราจะเลือกเล่นตู้ไหนก็ได้ ตู้ที่ร้านคุณป้ามี 3 แพตเทิร์น มีรูแบบ 5 คะแนนและ 15 คะแนน (จำนวนลูกบอลที่จะไหลออกมาเป็นรางวัลนั่นแหละ) ในความเรียบง่ายมีความแอดวานซ์ บางรูมีฟังก์ชันลับ ลงรูนี้แถมฟรีเปิดรูข้างๆ เพิ่มโอกาสให้ด้วย เป็นเกมที่ตั้งใจออกแบบมาให้เล่นกันช้าๆ ตรงข้ามกับปาจิงโกะ เช่น การใช้ลูกบอลขนาดใหญ่ทำให้ไม่สามารถยิงต่อเนื่องรัวๆ อัดกันแบบปาจิงโกะ แกนที่มีให้ดึงก็ปรับอะไรไม่ได้นอกจากการส่ง / ผ่อนแรงของเรา คุณป้าซึ่งเห็นเราวืดรัวๆ ลูกบอลไหลคืนท่อเรื่อยๆ เดินมาบอกว่า “จริงๆ แล้วมันมีเทคนิคนะ” นางอมยิ้มกรุ้มกริ่ม แต่ไม่ยอมบอกไปมากกว่านั้น

เราไม่แน่ใจว่าปาจิงโกะกับสมาร์ทบอลใครเกิดก่อนกัน แต่สมาร์ทบอลผงาดขึ้นมาฮอตฮิตในช่วงปี 1950 ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดยุคทอง (ช่วงแรก) ของปาจิงโกะพอดี สมัยก่อนนู้น ปาจิงโกะเคยเป็นเกมแบ๊วๆ สำหรับเด็ก แต่พอเข้าสู่ช่วงสงครามโลก ปาจิงโกะถูกห้ามเล่นห้ามผลิต เมื่อสิ้นสุดสงครามนางจึงกลับมาใหม่ พร้อมยกเครื่องเลเวลอัพสลัดภาพลักษณ์ใสๆ กลายเป็นความบันเทิงสำหรับผู้ใหญ่เต็มตัว และแน่นอนว่าเป็นที่นิยมมากกกก ช่วงยุค 1950 ปาจิงโกะจึงโดนคุมเข้มเป็นพิเศษ เพราะมีปัญหากับยากูซ่า ปัญหาสังคมครอบครัวแตกแยกเพราะติดการพนัน รัฐบาลเลยออกกฎห้ามแลกของเป็นเงินสด ห้ามใช้เครื่องแบบไฟฟ้า สมาร์ทบอลเลยได้แจ้งเกิด

แต่ก็น่าสงสารนิดหน่อย ดังเปรี้ยงอยู่แค่ 4 ปีก็จ๋อยยาว ในขณะที่ปาจิงโกะกลับมาทวงบัลลังก์อย่างยิ่งใหญ่และยั่งยืนจนถึงปัจจุบัน จากสถิติจำนวนตู้เกมทั่วประเทศประจำปี 2016 ของสมาคมตู้เกมลูกกลมญี่ปุ่น ปาจิงโกะมี 2,800,000 เครื่อง ส่วนสมาร์ทบอลนั้นมีแค่ 244 เครื่อง (นอกจากที่ Mimatsukan ก็ต้องไปหาเล่นเอาตามเมืองออนเซ็นต่างๆ)

คุณป้าเห็นเราเริ่มยิงเข้าเป้า นางเดินเข้ามาแสดงความยินดี ชวนคุยโน่นนี่พร้อมเอาหน้านิตยสารที่ทางร้านได้ลงมาอวด และสำทับว่า เรานั้นแสนโชคดีที่มาวันนี้ เพราะนอกจากเกมนี้จะมีที่นี่ที่เดียวในโตเกียว ปกติร้านนี้เปิดแค่เสาร์-อาทิตย์ เที่ยงตรงถึงหนึ่งทุ่มเท่านั้น ถ้ามาวันจันทร์ก็ไม่ได้เจอกันแล้ว

ในความอินดี้มีความสมถะ คุณลุงคุณป้าคงเน้นอยู่กันแบบพอเพียงสินะ ตู้ก็พังๆ ได้เงินทีละไม่กี่ร้อย เปิดอาทิตย์ละ 2 วัน วันละ 6 – 7 ชั่วโมง นี่ใช้ชีวิตรอดในโตเกียวได้จริงหรอ? เราอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า รอยยิ้มของลุงกับป้าจะอยู่กับร้านได้อีกนานแค่ไหน

“วันธรรมดาลุงเขาเหนื่อยมากแล้ว ก็เลยมาเปิดร้านนี้ไม่ไหว ทั้งกิจการโรมแรม ร้านอาหาร อาคารให้เช่า โอ๊ย! วุ่นวายไปหมด ว่างแค่เสาร์-อาทิตย์เนี่ยแหละ จะปิดก็เสียดาย เพราะรับช่วงต่อมาจากพ่อสามี แถมเหลือที่สุดท้ายในโตเกียวแล้วด้วย”

“อ้อ! เดือนหน้าร้านจะปิด 3 อาทิตย์นะจ๊ะ ป้าจะไปเยี่ยมลูกสาวที่ปารีส” ป้าเสริมเรียบๆ

เฮ้ย! เกมพลิก เอาความสงสารของฉันคืนมา นี่มันผ้าขี้ริ้วห่อเจ้าสัวอาซ้อแห่งอาซาคุสะนี่หว่า สบายใจได้เลยว่า ถ้าตู้ไม่พังหมดเสียก่อน ร้านไม่เจ๊งแน่นอน

“อ้าว งั้นร้านนี้ก็เหมือนเป็นงานอดิเรกของคนรวยสินะคะ?” เราโพล่งถามกลับไปด้วยความช็อคลืมมารยาททั้งหลายทั้งปวง

ป้าหัวเราะร่วน ไม่ตอบ แล้วเล่าต่อว่าเคยไปเมืองไทยเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้วและชอบกินทุเรียนมาก

“เห็นแบบนี้ ป้าอายุจะ 70 แล้วนะ” ป้าไม่ยอมกลับไปคุยเรื่องคนรวย

“โห ดูไม่ออกเลยค่ะ ขอเคล็ดลับหน่อย” สาวไทยเปิดการ์ดประจบทันที

“ร้านนี้ไง ป้ามาสูบพลังชีวิตจากเด็กๆ ที่นี่ทุกอาทิตย์เลย” ป้าหัวเราะร่วนอีกครั้ง พร้อมทำมือกวักๆ บนหัวเด็กๆ แถวนั้น

นี่สินะ ‘เฮฮาปาจิงโกะ’

AUTHOR