35 COFFEE : กาแฟคั่วปะการังที่รินด้วยหัวใจของนักธุรกิจผู้รักถิ่นฐานบ้านเกิด

ช่วงนี้เห็นคนไทยไปเที่ยวโอกินาวากันเยอะ ได้แวะกินกาแฟกรุบกริบกันบ้างรึเปล่านะ?

ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวสายคาเฟ่ ชื่อของ 35 COFFEE (อ่านว่า ซัง-โกะ คอฟฟี่) น่าจะเคยผ่านตากันมาบ้าง เพราะมีขายหลายที่ทั้งตามคาเฟ่ ร้านอาหาร โรงแรมและสถานีรถไฟต่างๆ แถมยังมีคาเฟ่และคอฟฟี่สแตนด์เป็นของตัวเอง

อ้อ! พีกสุดคือมีคาเฟ่ในถ้ำด้วยนะ

แต่ความพิเศษของ 35 COFFEE ไม่ได้อยู่ที่ร้านเท่ๆ อินทีเรียสวยๆ หรือการคัดสรรเมล็ดกาแฟดีๆ จากทั่วโลกมาคั่วและชงให้สาวกคาเฟอีนได้ฟินกันอย่างเดียว จุดยืนที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือคอนเซปต์การเป็นกาแฟสายอนุรักษ์ที่ทุกอย่างถูกคิดและค้นคว้ามาอย่างละเอียดเบียดตีคู่มากับความตั้งใจ

35 COFFEE ใช้ซากปะการังในท้องถิ่นเป็นเชื้อเพลิงในการคั่ว และประกาศแบ่งผลกำไร 3.5 เปอร์เซ็นต์ ไปใช้จัดกิจกรรมฟื้นฟูปลูกปะการังเพิ่มเติม นี่จึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ 35 COFFEE เพราะ ซัง แปลว่า สาม, โกะ แปลว่า ห้า รวมกันเป็นคำว่าซังโกะ พ้องเสียงกับคำว่า ‘ปะการัง (珊瑚)’ พอดี

ไอเดียเรื่องกาแฟที่แสนเป็นมิตรกับธรรมชาติใต้ท้องทะเลเริ่มต้นเมื่อปี 2008 โดย มุเนะซะดะ โอฌิโระ ชายวัย 40 นิดๆ เจ้าของกิจการชาและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเล็กๆ ที่มีพนักงานเพียง 25 คน เขาต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มาดึงดูดกลุ่มวัยรุ่น พอดีลูกน้องที่เฝ้าร้านมาเล่าให้ฟังว่า ลูกค้าซึ่งส่วนมากเป็นนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำที่หลงรักฟ้าใสทะเลสวยของที่นี่มักบ่นเป็นเสียงเดียวกันเรื่องทะเลสกปรกขึ้นทุกปีและปะการังตายไปเยอะมาก เขาจึงเริ่มสนใจเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติในท้องถิ่น พอพบว่าปัจจุบัน ทะเลโอกินาวามีปะการังเหลือเพียง 1 ใน 10 เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว แถมซากปะการังจำนวนมากเหล่านั้นต้องถูกกำจัดทั้งหมด เพราะตามกฎหมายไม่อนุญาตให้นำออกไปทิ้งจังหวัดอื่น มุเนะซะดะเลยยิ่งได้แรงบันดาลใจ

เขาทำเรื่องขอใบอนุญาตซื้อซากปะการังเหล่านั้นเพื่อหาทางนำกลับมาใช้ใหม่ ประจวบเหมาะกับกระแสคาเฟ่กำลังมาแรง มีคนดื่มกาแฟทุกวัน ความรู้ในการคั่วก็มีอยู่แล้ว บวกกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาโอกินาวาปีละถึง 6 ล้านคน การขายกาแฟที่คั่วจากซากปะการังจึงดูเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุด

กาแฟที่นี่เป็นแบบคั่วกลาง ใช้อุณหภูมิสูงกว่า 200 องศาเซลเซียสส่งความร้อนไปยังถังคั่วทรงกระบอกแกนนอนผ่านซากปะการังอีกที ผลที่ได้คือกาแฟหอมรสละมุน แต่ภารกิจในการกอบกู้น้องๆ ปะการังไม่ได้สำเร็จง่ายขนาดนั้น เขาพบว่าการใช้ปะการังทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่งผลให้ต้นทุนสูงตามไปด้วย

ตอนแรกมุเนะซะดะเกือบยอมแพ้เพราะคิดว่าคงขายไม่ได้ แต่คิดอีกที ‘มันอร่อยนะ!’ เขาจึงนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟช่วยชิมด้วยเพื่อความแน่ใจและได้รับคำชมเปาะกลับมาว่ารสกลมกล่อม ดื่มง่าย ไม่เข้มจนเกินไป มุเนะซะดะจึงเริ่มนำกาแฟไปวางขายตามร้านขายสินค้าท้องถิ่น และเสิร์ฟตามมื้ออาหารเช้าของโรงแรมต่างๆ เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟฟันธงมาให้ด้วยว่า ‘นี่มันกาแฟที่เหมาะกับการทานคู่อาหารเช้าชัดๆ’

35 COFFEE ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ธุรกิจและการอนุรักษ์ ภายในเวลาแค่ 2 ปีครึ่ง มุเนะซะดะสามารถขยายสาขาได้นับสิบและปลูกปะการังไปมากกว่า 2,000 ต้น โดยที่น้องๆ มีชีวิตรอดและเติบโตอย่างแข็งแรงมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เขาตั้งใจส่งเสริมและปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์อย่างจริงจัง ทุกครั้งที่จัดกิจกรรมจะประกาศเชิญชวนผู้สนใจมาเข้าร่วมและอัพเดตชีวิตใต้ทะเลของเหล่าเบบี๋ผ่านเว็บไซต์ของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ แถมยังทำ collaboration กับแบรนด์หรือสินค้าอื่นๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น กาแฟคั่วปะการังคอลลาเจนที่สกัดจากสับปะรดซึ่งปลูกในโอกินาวา ส่วนแบรนด์ของตัวเองก็ขยายไลน์สินค้าให้ครอบคลุมถึงกลุ่มคนที่ไม่ดื่มกาแฟ แต่อยากมีส่วนร่วม เช่น ชา แก้ว เสื้อยืด หรือกระเป๋า

ถ้าเราเป็นปะการังในโอกินาวาคงรู้สึกขอบคุณที่มุเนะซะดะมีหัวด้านการตลาดและเชื่อสิ่งที่อาจารย์สมัยมหาวิทยาลัยสอนเรื่องแนวโน้มการเข้าสู่สังคมคนแก่ของญี่ปุ่น เขาจึงเบนเข็มจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาสู่วงการอาหารเพื่อสุขภาพ เรื่องกาแฟก็ถือว่าอ่านเกมขาด

อิงจากสถิติของสมาคมกาแฟญี่ปุ่นซึ่งบอกว่าในปี 2016 คนญี่ปุ่นบริโภคกาแฟมากถึง 470,000 ตัน และโอกินาวาคือจังหวัดที่คนบริโภคกาแฟมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งถือว่าไต่ขึ้นมาเร็วมากจากอันดับที่ 24 ในปี 2013 แถมมุเนะซะดะยังเล็งเห็นการใช้ประโยชน์จากกฎห้ามนำปะการังออกนอกจังหวัด ทำให้กาแฟของเขาเป็นสินค้าสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่ ‘โอกินาว่าโอนลี่’ อย่างแท้จริง

ถ้าเราเป็นมุเนะซะดะก็คงไม่นึกเสียใจที่หันหลังให้วงการอสังหาฯ เพราะธุรกิจที่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็ช่วยสร้างที่อยู่อาศัยให้เหล่าสัตว์น้ำใต้ทะเลเหมือนกัน

ยิ่งถ้าเหล่าปะการังทั้งหลายกลับมาคึกคักดังเดิมเมื่อไหร่ ถึงไม่ใช่นกฟีนิกซ์ ก็ยืดอกพูดได้เต็มปากเลยว่า ‘Rise from the Ashes’

35coffee.com

AUTHOR