Airbnb ญี่ปุ่นแบบโบราณรุ่นเก๋า เก่าจริง

Airbnb ห้องพักแบบที่เจ้าของแบ่งห้องให้คนอื่นมาเช่าระยะสั้น กลายเป็นทางเลือกยอดนิยมมากในหลายประเทศ ญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน แต่พักหลัง นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งจากที่ไหนสักแห่งอาจจะสนุกเอิ๊กอ๊ากเกินงามไปนิด แถมไม่เคารพกฎของอพาร์ตเมนต์นั้นๆ จนทำให้เพื่อนบ้านที่เป็นผู้อยู่อาศัยระยะยาวร้องโอ้! และมีน้ำโห ออกมาร้องเรียนทวงความสงบสุขกลับคืน และด้วยความที่การเช่าช่วงแบบ Airbnb ก็ยังไม่ถูกกฎหมายในญี่ปุ่นซะทีเดียวแม้จะขายดี๊ดีก็ได้แต่แอบเช่ากันอย่างซ่อนเร้น ช่วงนี้ก็ลุ้นกันไปเพราะท่าทีจากทางรัฐก็ดูจะเปิดกว้างให้ธุรกิจประเภทนี้ไม่น้อย ตอนนี้เริ่มมีการวางแผนหาจุดร่วมที่ลงตัวยิ้มได้กันทุกฝ่าย

ระหว่างที่คนกลุ่มนึงตบตีกันเรื่องกฎหมาย คนอีกกลุ่มต่อสู้แย่งชิงกันจองห้องชิกๆ ราคาดีโลเคชันทอง เราขอแนะนำ ‘Machiya’ (町家) ทางเลือกใหม่ให้คนที่ชอบนอนบ้านคนอื่นอยากเสพความเป็นญี่ปุ่นเน้นๆ ถูกกฎหมายชัวร์ๆ เดินเชิดหน้าเข้าเช็กอินอย่างองอาจและยังมีส่วนช่วยอนุรักษ์สถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของญี่ปุ่น

Machiya คือทาวน์เฮาส์แบบโบราณของญี่ปุ่น บรรยากาศคล้ายเรียวกัง มีประตูบานเลื่อนกระดาษ พื้นเสื่อทะทะมิ ไฟสีเหลืองนวลรับกับไม้ซึ่งเป็นวัสดุหลักที่ใช้ภายในอาคาร ส่งเสริมบรรยากาศอบอุ่นอย่างเป็นธรรมชาติและกลิ่นอายของวันวาน

พอนำอาคารเก่าแก่อายุเป็นร้อยปีมาปรับเป็นโรงแรมกึ่งโฮมสเตย์ที่ยังคงอนุรักษ์โครงสร้างเดิมแถมเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน พลันบังเกิดความกรุบกริบเก๋ไก๋เจแปนนีสสไตล์ได้ขึ้นมาในทันใด บางที่เล่นใหญ่จัดไพรเวทเวิร์กช็อปเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่หาเรียนได้ยากให้ถึงบ้านเลยด้วย มีทั้งพิธีชงชายอดฮิต ศิลปะป้องกันตัว ละครโนห์และอื่นๆ เรทราคาแตกต่างกันไป มีตั้งแต่แบบเช่าเหมาหลังหารกันมาแล้วตกคนละไม่กี่พัน ไปจนถึงแบบหรูหราไฮโซโบว์ติดเพชรราคาหลายหมื่นที่มาพร้อมกับอนเซ็นไม้สนส่วนตัวที่ระเบียง

จุดเริ่มต้นของการนำบ้านเก่ามาโมใหม่เกิดจากความต้องการปกป้องและอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าแก่เหล่านี้ที่จำนวนลดน้อยลงทุกปีอย่างน่าใจหาย ในเมืองหลวงเก่าอย่างจังหวัดเกียวโตและนารา ยังพอมีอาคารแบบนี้หลงเหลืออยู่บ้าง ที่เกียวโตมีเหลือเกือบ 5 หมื่นหลัง แต่ก็โดนทุบทิ้งไปปีละหลายพันซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาสังคมคนแก่ พอผู้อยู่อาศัยเดิมจากโลกไป เหลือไว้เพียงสิ่งก่อสร้างที่อายุมากไม่แพ้กัน แม้จะเสียดายแต่ถ้าทิ้งไว้ให้ซ่อมซ่อก็อาจจะกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของมิจฉาชีพ

ทางรอดที่เรียบง่ายที่สุดของบ้านที่ไม่มีคนอยู่คือ หาคนมาอาศัย องค์กรท้องถิ่น เหล่าศิลปิน และนายทุนหลายทีมเลยช่วยกันวางแผนรีโนเวตบ้านเหล่านี้ให้ดึงดูดใจคนรุ่นใหม่ รูปแบบการอยู่อาศัยในบ้านเหล่านี้มีทั้งผู้อยู่จริงอยู่ยาว อยู่ประเดี๋ยวประด๋าวแบบนักท่องเที่ยว มีทั้งการแบ่งพื้นที่เป็นห้องเล็กๆ ให้ศิลปินทุนน้อยใช้ทำสตูดิโอ แกลเลอรี่ หรือจะเช่าเปิดร้านมุ้งมิ้งขายของแฮนด์เมดอะไรก็ว่าไป

เหนือสิ่งอื่นใดคือ การปรับปรุงอาคารเหล่านี้ยังช่วยส่งเสริมการส่งต่อองค์ความรู้ในหมู่ช่างไม้ญี่ปุ่นให้ได้มีโอกาสเทรนคนหนุ่มรุ่นใหม่มาเรียนรู้เทคนิคงานไม้ของบ้านแบบโบราณซึ่งก็เป็นความรู้อีกแขนง แตกต่างจากเทคนิคปัจจุบันหรือเทคนิคการสร้างวัดและศาลเจ้าดั้งเดิม ระหว่างที่นอนพักชิลล์ๆ ลองแหงนหน้ามองเสามองคานมองเพดานขอบประตูกรอบหน้าต่าง ก็น่าจะฟินกับรายละเอียดของงานไม้ที่ลุงๆ ทุ่มเทซ่อม ถือเป็นกำไรอีกอย่างของการเข้าพักที่นี่

“เราไม่จำเป็นต้องทิ้งของที่เก่าแล้วเสมอไป ทำให้มันสนุกขึ้นมาก็ได้นี่” ทีมฟื้นฟูบ้านเก่าเขาว่าไว้แบบนั้น

ภาพ Iori Machiya Stay

AUTHOR