ช่วงปีใหม่ นอกจากคนญี่ปุ่นจะไปไหว้พระ ทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ ทานอาหารเซ็ตเมนูพิเศษสำหรับปีใหม่โดยเฉพาะ และแหกขี้ตาตื่นแต่เช้าไปต่อคิวซื้อ lucky bag หน้าห้าง ยังมีอีกอย่างที่เด็กน้อย (ใหญ่) ต่างรอคอย นั่นก็คือ ‘โอะโทะฌิดะมะ’ (Otoshidama) หรือพูดง่ายๆ ‘เงินแต๊ะเอีย’ ของขวัญปีใหม่นั่นเอง คนญี่ปุ่นบอกว่า มันเป็นคล้ายๆ
วัฒนธรรมในการเกื้อกูลกัน เช่น ทั้งปีอาจจะไม่ค่อยได้เจอหลาน พอเจอกันทีก็ให้เงินเหมือนเป็นการช่วยค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ หรือให้เงินเป็นของขวัญที่สอบผ่าน เรียนจบ อะไรก็ว่าไป
ระบบการแจกเงินแสนบันเทิงนี้ก็ง่ายๆ คือผู้ใหญ่ให้เด็กนั่นแหละ จะเป็นพ่อให้ลูก น้าให้หลาน อาจารย์ให้ลูกศิษย์ก็ได้
ขอแค่แก่กว่าเงินหนาพอเป็นอันใช้ได้ (แต่ก็มีซับซ้อนซ่อนเร้นนัยยะทางสังคมบ้างบางกรณี เช่น เป็นลูกน้องเขาจะเอาเงินใส่ซองให้ลูกเจ้านายก็ดูไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง)
ก่อนจะเอาเงินใส่ซองให้กันอย่างปัจจุบัน เมื่อก่อนเขาให้โมจิ (แป้งเหนียวหนึบๆ สีขาวๆ นุ่มๆ ) กัน ที่มาคือเขาเชื่อกันว่า ทุกปีใหม่ท่านเทพเจ้าจะแวะมาเยี่ยมบ้านแต่ละหลังแล้วมอบ ‘วิญญาณ’ ให้ (ไม่ใช่การเอาผีบ้านผีเรือนมาแจกนะ
เป็นเหมือนการถ่ายทอดพลังในการใช้ชีวิตในแต่ละปีให้มนุษย์มากกว่า) และเจ้าโมจิก้อนกลมโค้งมนน่าเอ็นดูก็คือ
ที่สิงสถิตย์ของเทพเจ้านั่นเอง จากนั้นในฐานะหัวหน้าครอบครัว คุณพ่อ (จะเป็นอาม่าหรือใครก็ได้ที่ใหญ่สุดในบ้าน)
จะต้องแบ่งพลังวิญญาณที่ได้รับจากเทพเจ้าให้คนในครอบครัวอีกที ซึ่งคำว่า โทฌิดะมะ (Toshidama) เป็นคำพ้องเสียงแปลได้ทั้ง วิญญาณประจำปี (歳魂) และเงินแต๊ะเอีย (年玉) แต่บางทฤษฎีก็บอกว่า เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่าของขวัญประจำปี (Toshinotamamono, 年の賜物) ในฐานะเด็กไทย ขอบอกว่าจะทฤษฎีไหนก็ได้ แค่เปลี่ยนจากโมจิมาเป็นเงินก็ดีใจมากแล้ว
คนญี่ปุ่นเองก็เหมือนจะไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามันเปลี่ยนจากโมจิมาเป็นเงินตั้งแต่เมื่อไหร่ พอดูจากหลักฐานเอกสารต่างๆ ก็พบว่าเริ่มมีการให้เงิน ให้ของขวัญกันและกันในช่วงปีใหม่มาตั้งแต่สมัยเอะโดะ (1603 – 1868) บางคนก็บอกว่า คงเพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟูมากช่วงปี 1950 – 1990 คนญี่ปุ่นมีเงินเป็นฟ่อน เลยจับพับใส่ซองกันได้รัวๆ อย่างสบายใจ
แต่มีเงินแล้วต้องมีความรู้ด้วย เพราะวิธีพับแอบเข้มงวดนิดหน่อย ต้องเริ่มจากหันธนบัตรด้านที่มีหน้าคนขึ้น พับ 3 ทบโดยใช้ขวาทับซ้าย (คือพับซ้ายก่อน แล้วเอาขวาทับ งงไหม? เรางง 555) บางทีซองเล็กมาก พับ 4 ทบก็มี แต่เขาว่ามันไม่มงคล ควรหลีกเลี่ยง พับเสร็จแล้วเอาด้านนั้นแหละ ใส่ซอง (ที่หันด้านหน้าออก) ไปเลย ห้ามคว่ำ ห้ามกลับหัว
ในฐานะที่เราไม่ได้เป็นทั้งคนให้และคนรับ ความเพลิดเพลินที่พอจะหาได้ (มากด้วย) ในช่วงที่ทุกคนสนุก (และทุกข์) กับเงินแต๊ะเอียนี้คือ การเหล่ดูซองหลากดีไซน์ที่มีทั้งสายเท่ สายแบ๊ว สายขนบและสายสนุก ดีไซน์และลวดลายซองของแต่ละปีมีทั้งแบบพื้นฐานที่ใช้สัญลักษณ์สิ่งมงคลต่างๆ เช่น ทีมไผ่-บ๊วย-ต้นสน ตุ๊กตาล้มลุก (ความมุ่งมั่น) ปลาไท (โชคดีมีชัย) น้ำเต้า (เรื่องสุขภาพ) และสัตว์ตามปีนักษัตรนั้นๆ ลองแวะไปร้านเครื่องเขียนดูสิ สนุกมาก เก๋ กรุบกริบ จนอยากซื้อมาส่งจดหมาย นับถือใจคนออกแบบที่ทำให้ซองเล็กๆ กรุบกริบขึ้นได้ทุกปี
ส่วนเนื้อหาที่สำคัญที่สุดและคนน่าจะอยากรู้ที่สุดในบทความนี้น่าจะเป็น จำนวนเงินที่จะใส่ซอง
คนญี่ปุ่นช่างละเอียดอ่อน แค่จะให้เงินเด็กปีใหม่ ถึงกับมีแบบสำรวจหาค่าเฉลี่ยจำนวนเงินที่คนใส่ให้เด็กในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งผลสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้
เด็ก 0 – 3 ปี เฉลี่ย 1,000 – 2,000เยน
เด็กป.1 – 4 ไม่เกิน 3,000 เยน
เด็กป.5 – 6 3,000 – 5,000 เยน
เด็กม.ต้น 5,000 เยน
เด็กม.ปลาย 5,000 – 10,000 เยน
เด็กมหา’ลัย 10,000 เยน (ต่ำสุดคือ 5,000 เยน ถ้าจะให้ 3,000 เยน เขาบอกว่าอย่าให้เลยดีกว่า อายเขา)
ดูแล้วการใส่ซองให้น้องๆ เด็กๆ ชาวญี่ปุ่น (ที่อายุต่ำกว่า18) อาจจะไม่ทำร้ายกระเป๋าสตางค์ของเราเท่าไหร่ เลยขอแถมเรื่องการใส่ซองเงินงานแต่งงานของคนญี่ปุ่นด้วยละกัน ที่นี่แต่งงานกันดุมาก ใส่ซองขั้นต่ำก็สตาร์ทที่ 30,000 เยนเชียวนะ (เพื่อนบอกว่าถ้ายังเป็นนักเรียนอยู่ 10,000 เยนก็พอได้ พอถามว่าแล้วนักเรียนป.โทล่ะ นางนิ่ง เอียงหัว และเงียบไป…)
บวกลบคูณหารค่าเครื่องบิน ค่าโรงแรม การส่งใจและคำอวยพรผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็อาจจะเป็นตัวเลือกที่ไม่เลว (แต่ในทางกลับกัน แขกที่ไปร่วมงานจะได้เซ็ตของขวัญขนาดใหญ่รวมดาวสินค้ามงคลกรุบกริบที่เจ้าภาพเตรียมไว้ตอบแทน)
ทั้งซองเงินเด็กและซองใส่เงินงานแต่งงานก็เก๋ไก๋อลังการไม่แพ้กัน ไปซื้อมาให้คนไทยบ้างก็น่ารักดีนะ
ภาพ: frame-illust.com, azukichi.net, zuiyo.co.jp, pinimg.com, omni7.jp, rank.cd-cdn.com, furukawashiko.com, marry-xoxo.com, rakuten.co.jp, midori-store.net