3..2..1 หลังจากเสียงนับถอยหลังจบลง เข็มนาฬิกาของปี 2025 ก็เริ่มเดินอีกครั้ง
นี่คือวันแรกของการเริ่มต้นปีใหม่ที่ใครหลายคนเฝ้ารอ แม้ปีที่ผ่านมาจะหนักหน่วงแค่ไหน แต่สุดท้ายมันก็แค่เมื่อวานที่ผ่านพ้นไป ปีใหม่ปีนี้มาเริ่มต้นสิ่งใหม่ เหมือนเช่นดอกทานตะวันที่หันหน้ารับแสงใหม่เสมอกันเถอะ!
ทานตะวันสีเหลืองสด บานสะพรั่งต้อนรับการมาเยือนของแสงอาทิตย์
เป็นดังสัญญาณบอกให้เรารู้ว่า ‘วันใหม่ได้เริ่มขึ้นอีกครั้ง
ทานตะวันอาจเป็นตัวแทนของความสดใส แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีความหมายที่ลึกซึ้งกินใจ จึงไม่แปลกที่หลายคนจะยกให้มันเป็นดอกไม้ช่อโปรดในดวงใจ ไม่เว้นแม้กระทั่งจิตรกรเอกระดับโลกอย่าง ‘วินเซนต์ แวนโกะห์’

ท่ามกลางรูปวาดกว่า 2,000 ชิ้น ตลอดชีวิตของศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์คนนี้ ภาพเซต Sunflowers คือหนึ่งในมาสเตอร์พีซที่แม้คุณจะไม่ใช่คนในแวดวงศิลปะ ก็ต้องเคยเห็นภาพดอกทานตะวันสีเหลืองชูช่อโดดเด่นในแจกันอย่างแน่นอน ผลงานระดับโลกชิ้นนี้ เคยสร้างสถิติภาพวาดที่มูลค่าสูงที่สุดในโลกมาแล้ว เมื่อปี ค.ศ.1987 ด้วยมูลค่ากว่า 1.2 พันล้านบาท
ทานตะวันอาจเป็นแค่ดอกไม้ธรรมดาสำหรับใครหลายคน แต่ไม่ใช่สำหรับแวนโกะห์ ผู้ใช้ทั้งชีวิตอยู่กับการฝึกฝน ลองผิดลองถูกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อเนรมิตดอกทานตะวันให้มีชีวิตผ่านการใช้สีเหลืองหลายเฉด จนกลายเป็นเทคนิคเฉพาะที่ไม่เคยมีจิตรกรคนใดทำมาก่อน และทำให้เขากลายเป็น ‘ศิลปินที่วาดภาพดอกทานตะวันได้ดีที่สุด’ สมกับความตั้งใจ
แม้จะเข้าสู่ปี 2025 แล้ว แต่ Sunflowers ยังคงทรงคุณค่าในหัวใจเสมอ ดอกไม้สีเหลืองเหล่านั้นบันทึกคำอวยพรของแวนโกะห์เอาไว้อย่างไม่จางหาย “จงลุกขึ้นยืนใหม่อีกครั้ง เช่นเดียวกับทานตะวันที่หันหน้ารับแสงใหม่เสมอ” ตามไปค้นหาความหมายเบื้องหลังทานตะวันเหล่านี้ไปพร้อมกัน
ดอกไม้ที่ก่อร่าง สร้างศิลปินผู้ยิ่งใหญ่
ภาพดอกทานตะวันสีเหลืองหลายสิบดอก ที่ชูช่อแย่งกันโดดเด่นอยู่ในแจกันสีเหลืองเฉดเดียวกันกับพื้นหลัง นี่คือ Sunflowers ของแวนโกะห์ศิลปินผู้นำลัทธิ Post-Impressionism ที่เราคุ้นเคย แต่จริงๆ แล้วภาพเซตนี้ยังมีทานตะวันในเวอร์ชันอื่นที่หลายคนอาจไม่เคยรู้
แวนโกะห์วาดภาพเซตนี้เอาไว้ 2 ชุดด้วยกัน ชุดแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1887 เป็นภาพทานตะวันที่วางอยู่บนพื้นทั้งหมด 5 ภาพ และอีกเซตหนึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1888 – 1889 เป็นภาพทานตะวันในแจกันทั้งหมด 7 ภาพ โดย 4 ภาพแรกเป็นภาพวาดใหม่ และ 3 ภาพหลังคือภาพที่ลอกเลียนแบบจากภาพเดิม
จะเห็นได้ว่า ทานตะวันเป็นดอกไม้ที่อยู่กับแวนโกะห์ในทุกๆ ช่วงของชีวิต เปรียบดังสมุดบันทึกบนผืนผ้าใบที่เขาใช้เก็บบันทึกความทรงจำทั้งสุขและทุกข์ ว่ากันว่าในช่วงที่แวนโกะห์หัดวาดภาพแรกๆ ทานตะวันคือดอกไม้ดอกแรกที่เขาเริ่มฝึกวาด ท่ามกลางเสียงครหาของเพื่อนจิตรกรที่มองว่าทานตะวันทั้งหยาบและแข็งทื่อ ไม่มีความสวยงามเหมือนดอกไม้ชนิดอื่น แต่เพราะความไม่เหมือนใครนี้เอง ที่ดึงดูดความสนใจจากแวนโกะห์
เขาฝึกวาดทานตะวันหลายต่อหลายครั้ง ลงสีหลายต่อหลายหน จนสร้างดอกทานตะวันในลายเส้นของตัวเองแบบที่ศิลปินคนไหนก็ลอกเลียนแบบไม่ได้ ด้วยเทคนิคการใช้สีที่น้อยแต่มาก แม้จะมีแค่สีเหลือง แต่การเล่นกับน้ำหนักของสี ก็ทำให้ภาพวาดธรรมดาดูมีชีวิตขึ้นมาทันที Sunflowers จึงกลายเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวที่สะท้อนความเป็น ‘แวนโกะห์’ ออกมาได้ชัดเจนที่สุด เหมือนอย่างที่เขาเคยเขียนจดหมายถึงน้องชายอย่าง ‘ธีโอ แวนโกะห์’ ในปี ค.ศ 1889 ด้วยความภาคภูมิใจว่า
“The sunflower is mine”
ถึงจะผิดหวังแค่ไหน ก็ไม่มีวันร่วงโรย
ปัจจุบัน ‘แวนโกะห์’ อาจเป็นจิตรกรดังก้องโลกที่ไม่มีใครไม่รู้จัก แต่ถ้าย้อนกลับไปในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ เขาคือศิลปินโนเนมไร้ชื่อที่อยู่กับความผิดหวังมาทั้งชีวิต ตลอด 37 ปีที่เขามีลมหายใจ มีเพียงภาพวาดเดียวเท่านั้นที่ขายได้ แถมยังขายในราคาถูกแสนถูก
ชีวิตการเป็นศิลปินของแวนโกะห์ไม่ได้สดใส จัดจ้านเหมือนอย่างภาพที่เขาวาด แต่มันกลับค่อนไปในทางหม่นหมองเสียด้วยซ้ำ ก่อนจะหันมาจับพู่กันวาดภาพ แวนโกะห์เคยเป็นนายหน้าขายภาพวาดร่วมกับน้องชายอย่างธีโอ แต่เพราะเป็นคนไม่มีวาทศิลป์ในการชักจูงลูกค้า ทำให้เขาโบกมือลาอาชีพนี้ไป พร้อมกับได้โรคติดตัวอย่าง ‘ภาวะซึมเศร้า’ กลับมา หลังจากนั้นเขาก็ตัดสินใจเบนสายไปพึ่งศาสนา แต่ก็ต้องผิดหวังอีกครั้ง เพราะสอบเข้าโรงเรียนสอนศาสนาไม่ผ่าน
แวนโกะห์ในวัย 27 ปี ตัดสินใจเริ่มชีวิตใหม่อีกครั้งด้วยการวาดภาพ ผลงานในช่วงแรกของเขาส่วนใหญ่เป็นภาพวิวและวิถีชีวิตของชนชั้นกรรมกร รวมไปถึงดอกทานตะวันเซตแรกที่วางอยู่บนพื้น ก็ถูกวาดในช่วงเวลาที่ชีวิตของเขาถูกกระหน่ำไปด้วยความผิดหวัง

แวนโกะห์นำภาพวาดของตัวเองไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะ แต่กลับถูกเหล่านักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นในแง่ลบ ทำให้เขาตัดสินใจหนีความวุ่นวายของกรุงปารีส ไปพักใจอยู่ในเมืองอาร์ล ที่อยู่ทางใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งก่อนที่เขาจะไป แวนโกะห์ได้วาดภาพดอกทานตะวันเหี่ยวเฉาวางอยู่บนพื้น ซึ่งเขาเลือกใช้สีเฉดน้ำตาลแทนสีเหลือง เพื่อแทนความสิ้นหวังและท้อแท้ในชีวิต แต่แม้จะเหี่ยวเฉาแค่ไหน จะเห็นได้ว่ากลีบของทานตะวันไม่ได้ร่วงโรยเหมือนอย่างที่ควรจะเป็น เพราะแวนโกะห์ยังคงเชื่ออยู่ลึกๆ เสมอว่า ในวันข้างหน้าจะต้องมีวันที่เขาได้เบ่งบานอย่างแน่นอน
ทานตะวันในแจกัน แทนช่วงเวลาที่เบ่งบานที่สุดในชีวิต
แม้จะผ่านมรสุมในชีวิตมาหนักหน่วงแค่ไหน แต่ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ หลังจากที่แวนโกะห์ตัดสินใจย้ายไปเมืองอาร์ลในปี ค.ศ. 1888 และเช่าบ้านสีเหลืองอยู่กับ ‘พอล โกแกง’ (Paul Gauguin) เพื่อทำเป็นสตูดิโอสำหรับศิลปิน นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้องฟ้าสวยงามที่สุดในชีวิตของเขา
ณ บ้านสีเหลืองหลังนี้เอง เป็นจุดกำเนิดของภาพวาด Sunflowers เซตที่ 2 เพียงแต่ทานตะวันในครั้งนี้ ไม่ได้ถูกวางทิ้งขว้างบนพื้นอีกต่อไป แต่มันอยู่ในแจกันสวยงาม กลายเป็นดอกไม้ที่สดใสเหมือนเช่นที่ควรจะเป็น โดยแวนโกะห์เคยเขียนจดหมายไปหาน้องชายอย่างธีโอ เพื่อระบายความสุขที่อัดแน่นอยู่เต็มอกว่า
“ฉันกำลังวาดรูปหนึ่งอยู่ แต่คิดว่านายคงไม่แปลกใจเท่าไหร่
หากรู้ว่าฉันกำลังวาดรูปอะไรอยู่ ใช่แล้ว ฉันกำลังวาดรูปดอกทานตะวัน”
นอกจากทานตะวันจะเป็นตัวแทนของความสุขแล้ว แวนโกะห์ยังใช้มันเป็นตัวแทนของมิตรภาพอันแน่นแฟ้นระหว่างเขากับเพื่อนรักอย่าง ‘พอล โกแกง’ โดยแวนโกะห์มอบภาพทานตะวันในแจกันให้กับโกแกง แทนคำขอบคุณที่มาร่วมกันสร้างชุมชนศิลปะที่เมืองอาร์ลนี้ด้วยกัน ซึ่งภาพนี้เองก็ได้รับคำชมจากโกแกงว่า “completely Vincent” หรือ “นี่คือ วินเซนต์ที่แท้จริง”

จิตวิญญาณอันแน่วแน่ ที่ถ่ายทอดผ่าน ‘สีเหลือง’
‘สีเหลือง’ ถือเป็นสีที่แวนโกะห์คลั่งไคล้เป็นพิเศษ งานส่วนใหญ่ของเขามักมีสีเหลืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในชิ้นงาน ตั้งแต่ Sunflowers, The Yellow House, The Sower with Setting Sun, Bedroom in Arles หรือแม้กระทั่งผลงานดังอย่าง Starry Night ก็มีการใช้สีเหลืองแทนดวงดาวที่สุกสกาว

แม้สีเหลืองจะเป็นสีที่เห็นได้บ่อยในยุคปัจจุบัน แต่ถ้าย้อนกลับไปในคริสต์ศตวรรษที่ 18 – 19 สีนี้ถือเป็นสีใหม่ในวงการศิลปะ แวนโกะห์ถือเป็นศิลปินคนแรกๆ ที่นำสี Chrome Yellow หรือสีที่มีการผสมสารเคมีโครเมียมมาใช้ ทำให้ได้เฉดสีที่มีความสดที่มากกว่าสีทั่วๆ ไป โดยแวนโกะห์มีการพูดถึงการใช้สีชนิดนี้ ในจดหมายถึงศิลปินอาร์โนลด์ โคนิง เมื่อปี ค.ศ. 1889 ที่บรรยายถึงภาพดอกทานตะวันว่า
“ทาสีด้วยสีเหลืองโครเมียม 3 สี สีเหลืองสด สีเหลือง
และสีเขียวเวโรนีส และไม่มีอะไรอื่นอีก“
ทำให้ภาพวาดของแวนโกะห์มีเอกลักษณ์ที่ความจัดจ้านของสี แต่น่าเสียดายที่พอกาลเวลาผ่านไป ผลงานมีความซีดจางลงไปกว่าเดิม เนื่องด้วยในยุคนั้นไม่มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้รักษาความคงทนของเม็ดสีไว้ได้ ทำให้ภาพวาดที่เราเห็นในปัจจุบัน สีไม่สดเหมือนเช่นต้นฉบับ
แต่การริเริ่มใช้สีใหม่ของแวนโกะห์ในครั้งนั้น ถือเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมในวงการ Impressionism ให้กลับมาเรืองรองอีกครั้ง ผลงานหลังจากนั้นมีการเริ่มใช้สีที่สว่างและสดขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการสีน้ำมัน โดย BBC ถึงกับเคยยกย่องว่า ถ้าไม่มีแวนโกะห์ในวันนั้น วงการศิลปะอาจไม่มีเฉดสีเหลืองหลากหลายเช่นวันนี้
แวนโกะห์ ใช้ชีวิตในฐานะศิลปินอยู่เพียงแค่ 10 ปี ก่อนจะจากไปอย่างเดียวดายภายในบ้านของตัวเอง พร้อมทิ้งปริศนาที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า เขาฆ่าตัวตาย หรือโดนฆาตกรรมกันแน่? แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีชีวิตที่สั้นกว่าคนทั่วๆ ไป แต่ผลงานของเขาก็ทำให้ชื่อของ ‘วินเซนต์ แวนโกะห์’ กลับมามีชีวิตอีกครั้งในฐานะจิตรกรเอกระดับโลกที่หลายคนยกย่อง
แวนโกะห์ คือตัวแทนของความพยายามและไม่ย่อท้อ ต่อให้เขาจะเผชิญหน้ากับความผิดหวังมากแค่ไหน แต่วันรุ่งขึ้นเขาก็ยังคงตื่นขึ้นมาด้วยความหวัง และสร้างสรรค์ผลงานเหมือนเช่นเดิม ดังภาพเซต Sunflowers ที่มองเผินๆ เราอาจเห็นแค่ดอกทานตะวันที่เตรียมจะโรยรา แต่ถ้ามองลึกเข้าไปตรงแจกัน จะเห็นใบอ่อนของดอกไม้ ที่เตรียมผลิบานในวันข้างหน้า ดังนั้นมาใช้ชีวิตทุกวันในปีนี้ ด้วยความหวังที่เต็มเปี่ยมเหมือนทานตะวันของแวนโกะห์กันเถอะ!