ฝากที, ฟ้า, ขาหมู, เกาะร้างห่างรัก, จำทำไม, เปิดเพลงไหน เปิดเมื่อไหร่ ก็ยังสวยงาม, เธอไม่อาจเอารักไปจากหัวใจ, เพลงของเรา, คนอ่อนไหว, ซ่อนหา, เผด็จเกิร์ล
สำหรับเรา ความทรงจำที่มีต่อ Tattoo Colour ชัดเจนที่สุดในวัยมัธยมปลาย เพลงของพวกเขาทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมทางที่ดีในระดับเปิดเพลงไหนก็ร้องตามได้ตลอด เมื่อมีเวลานั่งฟังเนื้อเพลงดีๆ รายละเอียดยังมีทั้งเนื้อหาสุดกวนตามประสาผู้ชายห่ามๆ ในเพลงจังหวะคึกคัก เมื่อเปลี่ยนแทร็กไปฟังเพลงช้า เพลงของพวกเขาก็ทำให้เราเห็นภาพผู้ชายธรรมดาที่เผลอโทษฟ้าฝนในวันที่ความรักไม่เป็นใจ
ทั้งหมดนั้นคือฝีมือการจรดปากกาเขียนคอร์ด เมโลดี้ และเนื้อเพลงของ รัฐ พิฆาตไพรี มือกีตาร์ประจำวงที่รับหน้าที่นี้มาตั้งแต่วันที่ Tattoo Colour ยังเป็นแค่ความฝันเด็กชาย 4 คนเมื่อ 11 ปีก่อน
ในวันที่อัลบั้มชุดที่ 5 ของพวกเขา สัตว์จริง เพิ่งปล่อยออกมาให้เราฟังกัน 13 บทเพลงล่าสุดทำเรานึกย้อนไปถึงวันที่นั่งรถบัสฉิ่งฉับไปทะเลกับเพื่อนก๊วนใหญ่ ที่เมื่อไหร่เปิดเพลง ขาหมู ขึ้นมา เราก็จะลุกขึ้นเต้นกันที่เบาะหลัง และกอดคอร้องตามกันดังลั่นเมื่อท่อน ฟ้า ถ้าไม่ส่งมาให้เธอมีใจ ดังขึ้น
มาอ่านแผนที่การเดินทางที่รัฐเขียนมาตลอด 11 ปีดูกันว่า ทำไมไม่ว่าเราจะฟังเพลงของ Tattoo Colour ครั้งไหน เมื่อไหร่ก็ยังสวยงาม
จุดหมายที่ 1 : เพลงต้องมีที่มามากกว่าว่าใครร้อง
รัฐโตมาในครอบครัวที่พ่อเป็นนักดนตรี คุ้นเคยภาพที่พ่อหยิบกีตาร์มาเล่นกลางวงเหล้ากับเพื่อนๆ ตั้งแต่เด็ก และคุ้นชินกับการเปิดเทปของศิลปินที่รุ่งเรืองในยุคนั้นอย่าง The Carpenters, The Beatles, Bee Gees หรือแม้แต่เพลงเพื่อชีวิตแบบไทยๆ อย่างวงคาราบาวกับน้าหมู-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
“เราเริ่มเล่นกีตาร์จากหนังสือเพลงที่พ่อซื้อมา เวลาดูเนื้อเพลงจากหนังสือเพลงหรือปกเทป มันจะมีบอกว่าใครแต่งเนื้อ ทำนอง ใครเรียบเรียง เพลงที่ชอบ เราก็อยากรู้ว่าใครแต่ง ปกติใครชอบเพลงไหนอาจชอบแค่ว่าเพลงนี้เพราะจัง ใครร้อง แต่เรารู้สึกว่าเพลงมีที่มามากกว่านั้น ที่เพราะๆ นี่ใครเป็นคนสร้างขึ้นมา และถ้ามีชื่อว่าเพลงนี้แต่งโดยเรา ได้อยู่ในตำแหน่งนั้น เราว่าเท่กว่าเราเป็นนักร้อง เป็นพี่เบิร์ด ธงไชย เสียอีก”
จุดหมายที่ 2 : ผมไม่ได้อยากเป็นมือกีตาร์ อยากเป็นนักแต่งเพลงมากกว่า
วิธีแต่งเพลงของเด็กชายรัฐในวัย ป.5 คือการลองผิดลองถูก เขาหัดเล่นกีตาร์โดยเริ่มจากลอกทางเดินคอร์ด (Chord Progression) ในบางท่อนของเพลงที่ชอบมาก่อนแล้วเอามาปรับ ตัด ต่อ รัฐสนุกกับการฟังและไล่จับคอร์ดให้ได้ซาวนด์ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนความรู้สึกได้
“ช่วงนั้นเราต้องเล่นกีตาร์เพราะมันเป็นเครื่องมือไว้ฝึกแต่งเพลง เราสนุกตรงที่ได้สร้างอะไรขึ้นมาใหม่ ดูว่าเพลงที่เราชอบใช้คอร์ดแบบไหน แล้วจับเอาท่อนฮุกของเพลงนี้มาต่อกัน ถ้าต่อไม่ติด เป็นคนละคีย์ ก็ปรับคีย์เสียงให้เป็นคีย์เดียวกัน เหมือนได้ฝึกทฤษฎีดนตรีด้วยตัวเอง พอมีคอร์ดก็ตามด้วยเมโลดี้ ส่วนเนื้อเพลงยังไม่ค่อยแต่ง แต่พออยากให้พ่อ แม่ น้องชายฟัง จะไปฮึมฮัมตามคอร์ดเขาอาจไม่เข้าใจ สุดท้ายเราเลยจำเป็นต้องเขียนเนื้อร้องบางอย่าง ดอกไม้ ดาว ฟ้า เธอรักฉัน ฉันรักเธอ อะไรก็ยัดลงไป เอาให้คล้องจองไว้ก่อน”
จุดหมายที่ 3 : เราเล่นห่วยกว่าคนอื่น เราต้องแต่งเพลงเอง
เพลงแรกที่รัฐแต่งและอัดเสียงด้วยตัวเองง่ายๆ คือเพลงอำลาให้เพื่อน ม.ต้น ตอนที่เขาย้ายจากลำปางมาขอนแก่น สถานที่ที่ทำให้เขาพบกับเพื่อนร่วมวง Tattoo Colour ในปัจจุบันทั้ง ดิม (หรินทร์ สุธรรมจรัส), จั๊ม (ธนบดี ธีรพงศ์ภักดี) และตง (เอกชัย โชติรุ่งโรจน์) ที่จับพลัดจับผลูมาร่วมห้องซ้อมและเลยเถิดไปถึงการทำอัลบั้มใต้ดินด้วยกันตั้งแต่ช่วง ม.4
“เราเข้าไปก็เกร็งๆ เพราะตำแหน่งเขาครบอยู่แล้ว แต่มันมีเหตุการณ์ที่ต้องไปประกวดวงดนตรี เขาจะส่งซีดีเพลงมาแผ่นหนึ่งให้เราเอาไปทำในแบบของตัวเอง ตอนนั้นพวกเราเป็นวงดนตรีที่เล่นไม่เก่งจริงๆ ที่ขอนแก่นเขาเล่นดนตรีกันเก่งมากเลยนะ เราไม่มีทางสู้วงที่เก่งได้เลย งั้นเราต้องแต่งเพลงแล้วล่ะ อย่างน้อยจะได้เรียกคะแนนกรรมการได้ เหมือนว่ามันน่าจะโอเคมั้ง คงดูตื่นเต้นสำหรับกรรมการว่ามีวงดนตรีมัธยมธรรมดาเล่นเพลงที่แต่งเอง เพื่อนๆ ก็เริ่มสนใจและตามไปฟังไปเชียร์ตามเวทีประกวดต่างๆ เพลงเราก็แต่งเรื่อยๆ จนรวมเป็นอัลบั้มเต็ม ทำซีดีขายในโรงเรียนในชื่อวง I Scream 479”
จุดหมายที่ 4 : เขียนแผนที่ให้เพลงป๊อปที่ฟังไม่ยากและไม่เชย
จาก I Scream 479 มาเป็น Tattoo Colour ภายใต้รั้ว Smallroom แบบงงๆ (รัฐบอกเราอย่างนั้น) จากการที่พวกเขาขอออดิชันกับค่ายตอนที่ได้มาเวิร์กช็อปจากการประกวดทำเพลงโฆษณา ภาพของ Tattoo Colour ที่รุ่ง-รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ โต้โผใหญ่ของ Smallroom คิดไว้คือวงดนตรีป๊อบวัยรุ่นที่มีกลิ่นอายของเพลงเพราะฟังสบาย แต่ใส่ซาวนด์ล้ำๆ เป็นเพลงที่ไม่ยากมากแต่ก็ไม่เชย อัลบั้มแรกที่แจ้งเกิดพวกเขา Hong Ser จึงทั้งใหม่และสดตั้งแต่วิธีการทำงานและเนื้อหาของเพลง ความที่รัฐไม่เคยแต่งเพลงจริงจังมาก่อนทำให้จะเล่าเรื่องอะไรก็เล่าได้ด้วยภาษาและท่าทีที่สนุก ไม่ต้องเก๊กเท่
“เรายังพยายามทำสิ่งที่ชอบ เราชอบฟังคอร์ดก็ฟังและเขียนให้ไม่หลุดจากกรอบที่พี่รุ่งตั้งใจไว้ ค่อนข้างมั่นใจว่าเราใช้คอร์ดได้ดี น่าจะช่วยทำให้เพลงต่างๆ ยังเป็นแบบเราและเพลินหูได้”
“เนื้อหาก็หยิบมาจากเรื่องของเรา เพื่อนในวง หรือกลุ่มเพื่อนสนิทที่มีนิสัยใกล้กัน อย่าง ฝากที มาจากดิมที่เคยมีแฟนแล้วเลิกกันไป แฟนใหม่ของผู้หญิงคนนั้นก็มาเคืองดิมทั้งที่ไม่เกี่ยวกันแล้ว เลยคุยกับดิมว่าเดี๋ยวกูเขียนเรื่องนี้ให้ หรือ เกาะร้างห่างรัก ไปดูหนังเรื่อง Cast Away งั้นเขียนเรื่องติดเกาะดีกว่า ตลกดี ค่ายเขาให้เราแต่งมาก่อน เพลงไหนชอบหรือไม่ชอบก็ว่ากัน เมื่อก่อนเราจะงอแงมาก ให้แก้เราก็ไม่แก้ ไม่ใช่หยิ่งแต่เพราะแก้ไม่เป็น งั้นแต่งใหม่เลยละกันนะพี่ การแต่งใหม่กับการแก้เพลงได้ประโยชน์คนละอย่าง
ถ้าแต่งใหม่ เราก็ได้ฝึกคิดหาอะไรใหม่ๆ เรื่อยๆ”
“เราไม่ได้เป็นคนเขียนเนื้อเพลงดี แต่พี่เชาว์ (เชาวเลข สร่างทุกข์) เคยสอนว่าการเล่าเรื่องแบบเพลงป๊อปให้เริ่มจากหัวข้อแล้วเขียนแผนที่ให้มัน วางแผนว่า Verse จะเล่าเรื่องอะไร Pre-hook จะเล่าอะไร ท่อนฮุกจะเล่าอะไร เอาให้ชัดแล้วเราจะไม่มั่วหรือสลับท่อนกัน ถ้าเขียนว่าท่อน Verse เล่าเนื้อหาแค่นี้ก็เล่าเรื่องนี้ ถ้าหลุดต้องตบกลับมา หรือถ้าแวะปั๊มน้ำมันแล้วเท่ก็แวะได้แล้วรีบกลับมา การที่เรามีแผนที่ทำให้ทุกเพลงของเราไม่มีเพลงไหนที่ปล่อยไหลเลย”
จุดหมายที่ 5 : ความหมายใกล้เคียงกัน แต่ร้องแล้วไม่ใกล้กัน
สำหรับรัฐ การแต่งเพลงช้ากับเพลงเร็วคือการวาดแผนที่คนละเส้น เขาไม่ได้จงใจให้ภาษาของเพลงสองแบบแตกต่าง แต่อาจเป็นไปเองตามเจตนาตอนเขียนว่าอยากให้บรรทัดไหน ท่อนไหนเศร้าในเพลงช้า ส่วนเพลงเร็วก็รู้ทีท่าว่าหยอดมุกตรงไหนถึงจะได้เนื้อเพลงกวนๆ
“เพลงเร็วจะเขียนทำนองยากเพราะต้องคิดเยอะมาก ต้องดูจังหวะ อัดซ้ำเรื่อยๆ แต่พอได้ทำนองแล้วอยากเขียนอะไรก็เขียน ประชดประชันยังไงก็ได้ นึกหน้าดิมว่าอยากให้มันร้องอะไร ส่วนเพลงช้า ทำนองเสร็จก่อน แต่เนื้อเพลงแต่ละคำนี่ไม่รู้แก้กันกี่รอบเลย คำบุพบทบางอย่าง เช่น แต่ ที่ อยู่ ใน จะ บางทีอาจดูย้ำคิดย้ำทำ แต่สำหรับเราพวกนี้มีผล เราขอแก้คำว่า ‘จะ’ ตรงนี้ออกไป เปลี่ยนเป็น ‘ที่’ ได้ไหม คำพวกนี้ถ้าอ่านประโยค ความหมายใกล้เคียงกัน แต่จะมีปัญหาเวลาร้องกับเมโลดี้แล้วไม่เพราะหรือเปล่า ร้องคำนี้น่าจะเพราะกว่าไหม”
จุดหมายที่ 6 : คนฟังต้องเชื่อว่าเราเป็นคนแบบนั้น
Tattoo Colour เป็นวงดนตรีที่เติบโตตามเวลา ภาพของเพื่อนผู้ชายปากเสียขี้นินทา 4 คน อาจชัดเจนในอัลบั้มแรกๆ อย่าง Hong Ser และ ชุดที่ 8 จงเพราะ แต่พอมาถึงอัลบั้มที่ 3 ตรงแนวๆ พวกเขาเริ่มอยากทดลองใส่เพลงที่มีเนื้อหาจริงจังและคิดกับมันเยอะขึ้น รวมถึงเนื้อหาที่พูดก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้น
“เวลาเขียนเพลงประชดประชันจะสนุกกว่าเขียนเพลงรักซึ้งๆ หรือให้กำลังใจคน เราไม่ถนัดเพราะไม่ใช่คนประเภทนั้นจริงๆ เราชอบซ้ำเติมคนด้วยซ้ำ ไม่ได้จะบอกว่า ‘สู้นะ เราจะไปด้วยกัน’ แต่เป็น ‘เราจะไปเละด้วยกัน’ แม่บอกว่าทำไมไม่เขียนเพลงสร้างสรรค์สังคมหน่อย แต่ผมว่าเพลงแบบนั้น ทั้งคนเขียนและคนฟังต้องเชื่อด้วยว่าเราเป็นคนแบบนั้นจริงๆ ต่อให้เราสรรหาคำมาเขียนแล้วให้ดิมร้อง คนก็ไม่เชื่อ”
“ตอนทำอัลบั้มที่ 3 เราพยายามจะแอ๊บจริงจังมากขึ้น เราเฮฮากับอัลบั้มที่ 1 กับ 2 ไปแล้ว ถ้าจะมาเฮฮาอีกจะทำทำไม ก็ไปฟังอัลบั้มนั้นสิ พี่รุ่งก็บอกว่าทำไมไม่ทำแบบที่คนชอบกัน ตอนนั้นเราก็ดื้อเอา อยากทำ อย่างเพลง ลับสุดยอด เราพูดว่าไม่มีทางไปค้นใจผู้หญิงคนหนึ่งได้ ไม่ใช่ประชดกวนตีนแล้ว หรือ เธอไม่อาจเอารักไปจากหัวใจ ก็คิดภาพว่าผู้หญิงเดินเข้ามาในบ้าน บอกเลิกเราแล้วเก็บของไปทีละอย่าง จะเอาชีวิตเราไปด้วยก็ได้ แต่เอารักเราไปไม่ได้ เริ่มคิดเยอะมากอีกระดับ มันเป็นช่วงเวลาที่ตัวเราอายุมากขึ้น
ไปเจอสังคมภายนอกที่โหดร้ายมาแล้วหลังจากอัลบั้ม 2 ที่ทุกอย่างโอเวอร์โหลดมาก ทั้งปาร์ตี้ สังคมกลางคืน หรือสื่อ แล้วทำให้คนโง่ๆ 4 คนช้ำไปเลย”
“พอมาอัลบั้ม POP DAD เราไม่ตื่นเต้นกับอะไรแล้ว เราเข้าใจแล้วว่าชีวิตต้องเจออะไรบ้าง ก็ทำให้ภาษากับซาวนด์เรานิ่งขึ้น ไม่หวือหวา อัลบั้มนี้อัดดี มิกซ์เสียงดี เรียบร้อย แต่เราก็นิ่งสุดได้แค่นั้นนะ ผ่านมา 2-3 ปี มาถึง สัตว์จริง เราก็ไม่อยากนิ่งแล้ว แต่ต้องใช้คำว่าเราเติบโตขึ้น จะไม่ไปเละเทะอย่างตอนนั้นแล้ว”
จุดหมายที่ 7 : ยิ่งตันยิ่งต้องขยัน
ถึงจะแต่งเพลงมาเกือบร้อย แต่รัฐบอกเราว่าอัลบั้มล่าสุดเป็นช่วงเวลาที่เขาเจอความมืดบอดและไอเดียตีบตันที่สุดจนคิดว่าจะไม่สามารถเขียนเพลงเป็นอัลบั้มได้อีกแล้ว
“ช่วงนั้นยังทำเพลงให้คนอื่นได้ แต่พอกลับมาทำให้วงปุ๊บ มืดตึ้บ จนช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้วที่วงดนตรีไม่มีงาน เรากับดิมเลยไปบวชสั้นๆ 9-10 วัน ก็ได้พักและหยุดเครียดอะไรไปเลย สึกมายังไม่มีเพลงเหมือนเดิม แต่มีกำลังใจจากคนรอบข้างและปณิธานว่าเราจะขยันขึ้นกว่าเดิมเยอะมากๆ อ่อนไม่ได้เลย ต่อให้ตันก็ต้องมีอะไรโง่ๆ ออกมาจนได้เดโมมาจำนวนหนึ่ง พอผ่านล็อตใหญ่เราก็โล่งแล้ว ถามว่าไอเดียตันแล้วทำยังไง สำหรับเราคือไปบวช (หัวเราะ)”
จุดหมายปลายทาง : ลองฟังความตั้งใจจากผู้ชายบุคลิกแบบนี้
“อยากให้เห็นว่าเรา 4 คนที่เป็นผู้ชายบุคลิกแบบนี้ จริงๆ แล้วเวลาทำงาน พวกมันตั้งใจมากๆ เลยนะ ไม่รู้ว่ามากกว่าคนอื่นไหม แต่ถือว่ามากที่สุดแล้วกว่าการทำงานอื่นๆ คนจะไม่ค่อยเชื่อว่าเวลาพวกเราตั้งใจทำงานหน้าตาเป็นยังไง ก็พยายามพิสูจน์จากผลงานเพลง ถ้าฟังแล้วรู้ว่าเราตั้งใจแค่ไหน เราจะรู้สึกขอบคุณและดีใจมากเลย”
หยุดฟัง 5 บทเพลงที่รัฐเขียนแผนที่การเดินทางมาให้เรา
01 อากาศร้อนๆ (อัลบั้ม Hong Ser / ปี 2549)
อากาศร้อนๆ ตอนบ่ายๆ
กับวันสุดท้ายที่เธอลาไป
“ตอนแรกเราอยากให้เพลงนี้เป็นซิงเกิ้ลแรกของ Tattoo Colour เลยด้วยซ้ำ ไม่รู้ยังไงพี่รุ่งก็ไม่เลือกทั้งที่ต่อสู้มานาน เป็นเพลงที่เราแต่งกับดิม แชร์ไอเดียกัน ตอนนั้นยังอยู่ที่ขอนแก่น ดิมบอกว่าอยากมีเพลงที่ตั้งคำถามว่าทำไมอกหักต้องหนาวเหน็บด้วยล่ะ อกหักตอนร้อนๆ ได้ไหม เป็นความรู้สึกบ่นๆ เลยเขียนท่อนแร็ปมาให้ดิมร้อง ถือเป็นเพลงแร็ปแรกๆ ของ Smallroom ด้วย เราคิดว่าเพลงนี้บอกตัวตนของวงตอนนั้นได้ดี ถ้าคนได้ฟังเพลงนี้เป็นเพลงแรกก็น่าจะเข้าใจ Tattoo Colour ทั้งหมดในเพลงเดียว”
02 จำทำไม (อัลบั้ม ชุดที่ 8 จงเพราะ / ปี 2551)
แต่ทำไม ทำไมต้องจำ
เมื่อเธอไม่คิดจริงใจ
“เพลงนี้ไอเดียมาจากเราเองที่มีแฟน ไปทำไม่ดีกับเขาไว้เยอะและทิ้งเขาอีก ทั้งที่ตัวเราแย่ขนาดนั้นเขาก็ยังพยายามจะดึงเราไว้ หลังจบเรื่องไปสักพักเรามาย้อนคิดก็รู้สึกว่าน่าเขียนนะ แต่บิดเป็นมุมมองของเขาแทนว่าเราแย่ขนาดนี้จะยังจำเพื่ออะไร เพราะส่วนใหญ่เวลาคนฟังเพลง จะชอบคิดว่าตัวเองเป็นตัวละครหลักอยู่แล้วและจะยิ่งอิน ถ้าเล่าจากมุมเราว่าเลวขนาดนี้มารักทำไม จะเป็นเพลง Big Ass ไปหน่อย เวลาคนฟังเพลงจะชอบคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกทำร้ายเสมอ น่าจะเข้าถึงง่ายกว่า ที่ชอบคือพอเราเปลี่ยนเรื่องแบบนี้คนก็อินกับมันจริงๆ ด้วย”
03 แปรผกผัน (อัลบั้ม ตรงแนวๆ / ปี 2553)
ความรักกับเวลา
มันแปรผกผันกันหรือไง ยิ่งนานเท่าไหร่รักยิ่งน้อยลง
“ไอเดียตอนเขียนเนื้อเพลงนี้สนุกดี ช่วงนั้นเราหาว่าจะเล่าอะไรดี ไปอ่านหนังสือคณิตศาสตร์แล้วเจอคำว่าแปรผกผัน ก็เอามาเขียนเล่นๆ เปรียบเทียบตัวแปร x, y, z ว่าเป็นความรัก ความเหงา และเวลา เทียบแล้วมันก็มีเหตุผลลงล็อกพอดี ตอนเขียนก็เขียนเป็นสมการก่อนมาใส่เมโลดี้ และเพลงนี้ทำกับพี่ต้า Cyndi Sui ด้วย เป็นซาวนด์หนึ่งที่เราไม่เคยทำ Urban Electronics คูลๆ หน่อย”
04 คนอ่อนไหว (อัลบั้ม POP DAD / ปี 2557)
เหงาๆ ซ้ำๆ ชีวิตคนอ่อนไหว
ไม่มีอะไรง่ายดาย
“เพลงนี้แต่งให้ตัวเองด้วยนิดๆ และแต่งให้พี่รุ่งด้วย เพราะพี่รุ่งเป็นคนอ่อนไหวมาก ช่วงนั้นแกเจอมรสุมชีวิตเยอะทั้งเรื่องในค่าย สุขภาพ เลยหยิบคำนี้มาว่าผู้ชายที่ดูเป็นผู้นำแข็งแรง จริงๆ เขาอ่อนไหวนะ ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ เราก็เครียด นั่งร้องไห้คนเดียว ผสมทั้งเรื่องตัวเองและเรื่องความรักเข้าไป และเพลงนี้ก็ซาวนด์ดี มีเมโลดี้ของกรูฟและเครื่องเป่า”
05 หลับลึก (อัลบั้ม สัตว์จริง / ปี 2560)
และฉันจะนอน นอนกอดความเจ็บช้ำ
จนกว่าใจจะพัง จนกว่าจะหมดหวังที่รอฉันอยู่
“เราอยากใช้เพลงนี้เป็นตัวแทนของอัลบั้ม สัตว์จริง เหมือนกัน เป็นเพลงแรกๆ ที่ทำแต่ดันเสร็จเป็นเพลงสุดท้าย ทำเพลงนี้เสร็จปุ๊บแล้วไปทำเพลงอื่นเรื่อยๆ กลับมาฟังอีกทีก็รู้สึกว่ายังไม่ดี ยังขาดอะไรบางอย่างตลอด เราลบเพลง ขึ้นใหม่เยอะมาก ตั้งแต่เมโลดี้เดิมที่ไม่ได้อ้อนขนาดนี้ เนื้อเพลงก็แก้ 4 ดราฟท์เลยที่เป็น 4 เรื่องเลย ดราฟท์แรกใกล้เคียงกับเวอร์ชันล่าสุดที่สุดแต่ไม่ได้เล่าชัดขนาดนี้ เราอยากให้เพลงนี้กวนตีน เราอกหักและรู้ทุกอย่างว่าต้องทำอะไร แต่ไม่ไป เข้าใจรึเปล่า ซึ่งดราฟท์เก่าๆ มันกวนตีนกว่านี้อีกนะแต่เราไม่แน่ใจว่ามากไปหรือเปล่า ดนตรีก็แก้เยอะมากทั้งจากร็อก อัลเทอร์เนทีฟ กีตาร์ จนมาลงตัวที่เวอร์ชันนี้”
“ทุกขั้นตอนในอัลบั้มเลยมีเพลง หลับลึก วนอยู่ในหัวเราตลอด ไม่ว่าทำอะไรก็พะวงกับเพลงนี้ว่าจะแก้มันยังไง เราเลยผูกพันกับเพลงนี้มากที่สุดในอัลบั้ม”