กินไป คุยไป กับ ‘Lunch with the FT’ หนังสือรวมบทสัมภาษณ์คนดังระหว่างมื้ออาหาร

Highlights

  • Lunch with the FT คือหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ที่ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ Financial Times ภายใต้คอลัมน์ชื่อเดียวกัน โดยหนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2556 แต่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเมื่อไม่นานมานี้โดยสำนักพิมพ์ openbooks
  • นอกจากความดีงามในฐานะหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ เรามองว่านี่เป็นตำราเรียนอย่างดีสำหรับคนที่ทำอาชีพเล่าเรื่อง รวมถึงเกร็ดความรู้ในเล่มก็น่าสนใจ เพราะบทสัมภาษณ์เหล่านี้เป็นเหมือนบันทึกเหตุการณ์ที่เวลาเรามองย้อนกลับไปดูก็มักจะได้ข้อคิดอะไรกลับมาเสมอ

ถ้าเปรียบการอ่านหนังสือ Lunch with the FT เป็นการทานอาหาร ตอนนี้ผมกำลังอยู่ในสภาพที่อิ่มกำลังดี

ไม่มากเกิน ไม่น้อยเกิน 

อธิบายอย่างคร่าวๆ นี่คือหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ Financial Times ภายใต้คอลัมน์ชื่อเดียวกัน ในความเป็นจริงแล้วหนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2556 แต่ถูกแปลไทยออกมาเมื่อไม่นานมานี้โดยสำนักพิมพ์ openbooks

ในแง่ของเนื้อหา หน้ากระดาษกว่า 700 หน้าในหนังสือเล่มนี้คือบทสัมภาษณ์เรียบเรียงล้วนๆ จากคนหลากหลายวงการ ตั้งแต่คนทำงานสร้างสรรค์ คนในวงการการเมือง ไปจนถึงนักคิดและนักกีฬา ทั้งหมดถูกคัดสรรและรวบรวมไว้ถึง 52 ชิ้นให้อ่านกันอย่างจุใจ

แต่ทำไมการอ่านหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์เมื่อ 6 ปีที่แล้วถึงน่าสนใจจนต้องหยิบมาแนะในตอนนี้–นี่คือสิ่งที่ผมอยากหยิบมาเล่า

และถ้าเปรียบการอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นการทานอาหาร

บรรทัดต่อไปคงเป็นสิ่งที่เรียกว่า…

 Lunch with the FT

แม้บทสัมภาษณ์ทั้ง 52 ชิ้นจะถูกกำหนดรูปแบบเป็นการเขียนเรียบเรียงเหมือนกัน แต่เนื่องจากบทสัมภาษณ์ทั้งหมดนี้เกิดจากกองบรรณาธิการ 41 คนที่ไปสัมภาษณ์ในบรรยากาศและสถานที่ต่างกัน งานเขียนทั้งหมดจึงมีรูปแบบวิธีการเล่าในแง่ของรายละเอียดที่หลากหลาย แม้บทสัมภาษณ์ทั้ง 52 ชิ้นจะถูกกำหนดรูปแบบเป็นการเขียนเรียบเรียงเหมือนกัน แต่เนื่องจากบทสัมภาษณ์ทั้งหมดนี้เกิดจากกองบรรณาธิการ 41 คนที่ไปสัมภาษณ์ในบรรยากาศและสถานที่ต่างกัน งานเขียนทั้งหมดจึงมีรูปแบบวิธีการเล่าในแง่ของรายละเอียดที่หลากหลาย แม้บทสัมภาษณ์ทั้ง 52 ชิ้นจะถูกกำหนดรูปแบบเป็นการเขียนเรียบเรียงเหมือนกัน แต่เนื่องจากบทสัมภาษณ์ทั้งหมดนี้เกิดจากกองบรรณาธิการ 41 คนที่ไปสัมภาษณ์ในบรรยากาศและสถานที่ต่างกัน งานเขียนทั้งหมดจึงมีรูปแบบวิธีการเล่าในแง่ของรายละเอียดที่หลากหลาย

 

ออร์เดิร์ฟ

ก่อนจะกล่าวถึงเนื้อใน ผมขออนุญาตเปิดต่อมรับรสกันก่อนด้วยความเป็นมาและความพิเศษของ Lunch with the FT

ในบทอินโทรของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของคอลัมน์ไว้คร่าวๆ ว่า ในปี 2547 บรรณาธิการของ Financial Times สุดสัปดาห์เกิดไอเดียว่าเขาอยากได้คอลัมน์สัมภาษณ์ที่แตกต่างไปจากแบบเดิมๆ เขาอยากให้ตัวหนังสือเหล่านี้ดูมี ‘ชีวิตชีวา’ มากขึ้น และเมื่อขบคิดกันสักพัก พวกเขาก็ค้นพบรูปแบบการทำงานใหม่ที่มีขั้นตอนง่ายๆ ไม่ได้สลับซับซ้อน

หนึ่ง กองบรรณาธิการเลือกคนที่อยากสัมภาษณ์ในวงการไหนก็ได้

สอง คนที่ถูกสัมภาษณ์เลือกร้านอาหารเพื่อนั่งสนทนากันพร้อมทานอาหารไปด้วย

และสาม Financial Times จ่ายค่าอาหารทั้งหมดเพื่ออิสรภาพในการเขียน

 Lunch with the FT

ในเวลานั้นรูปแบบการสัมภาษณ์แนวนี้ถือว่าใหม่ แต่ก็เป็นหลักการง่ายๆ ที่ Financial Times ใช้เริ่มต้นคอลัมน์และทำมันต่อเนื่องเรื่อยมา โดยบทความทั้งหมดจะถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของการเขียนเรียบเรียง เราจะได้อ่านทั้งการบรรยายฉากในร้านอาหาร ท่าทางของผู้ถูกสัมภาษณ์ อาหารที่พวกเขากิน และคำบอกเล่าที่บางครั้งก็ลงลึกจนตื่นตาตื่นใจ การผสมกันของการนำเสนอรูปแบบใหม่และการสัมภาษณ์แบบเก่านี้เกิดเป็นความนิยมที่ทำให้คอลัมน์มีชีวิตชีวาขึ้นสมกับที่พวกเขาคาดหวังไว้

หลักฐานอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่าพวกเขามาถูกทางคือ ตลอดเวลากว่าสิบปีหลังจากคอลัมน์เปิดตัวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ผู้อ่านหลายคนได้สถาปนาตัวเองเป็นแฟนตัวยงที่เฝ้ารอทุกสัปดาห์ว่าครั้งนี้คอลัมน์จะพาพวกเขาไปสนทนากับใคร ที่ไหน คอลัมน์สัมภาษณ์ที่มีมื้ออาหารเป็นสื่อกลางนี้ดำเนินมาหลายปี จนกระทั่งปี 2556 ที่เป็นวาระครบรอบ 125 ปีของ Financial Times พวกเขาจึงตัดสินใจรวบรวมและคัดเลือกบทสัมภาษณ์ ‘คลาสสิก’ จำนวน 52 ชิ้น เพื่อนำมาพิมพ์รวมเล่ม นี่เองเป็นต้นทางของหนังสือ ฉบับแปลไทยที่อยู่ตรงหน้าผม

ยิ่งภายใต้ความละเมียดละไมในการทำหนังสือของสำนักพิมพ์ openbooks ผสมกับสำนวนแปลไทยของคนทำสื่อวัยเก๋าอย่าง ‘สมชัย สุวรรณบรรณ’ นี่จึงเปรียบเหมือนอาหารที่จัดจานเป็นเลิศ แถมหน้าตาของอาหารยังน่ากิน เย้ายวนชวนให้ลิ้มรสชาติ

อย่ากระนั้นเลย เริ่มรับประทานกันเลยดีกว่า

เมนคอร์ส

ในฐานะคนที่ชอบอ่านบทสัมภาษณ์และทำงานสัมภาษณ์มาบ้าง สิ่งแรกที่ผมคิดเมื่อได้อ่าน Lunch with the FT คือ ‘นี่เป็นตำราเรียนการสัมภาษณ์ที่ดีมาก’ 

แม้บทสัมภาษณ์ทั้ง 52 ชิ้นจะถูกกำหนดรูปแบบเป็นการเขียนเรียบเรียงเหมือนกัน แต่เนื่องจากบทสัมภาษณ์ทั้งหมดนี้เกิดจากกองบรรณาธิการ 41 คนที่ไปสัมภาษณ์ในบรรยากาศและสถานที่ต่างกัน งานเขียนทั้งหมดจึงมีรูปแบบวิธีการเล่าในแง่ของรายละเอียดที่หลากหลาย

บางคนเปิดเรื่องด้วยฉากในร้านอาหาร บางคนเล่าเรื่องระหว่างทางด้วยเมนูที่สั่งอย่างละเอียด หรือบางคนก็ลงท้ายบทสัมภาษณ์ด้วยแง่คิดที่เล่นกับสถานการณ์ตรงหน้าอย่างเฉียบคม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นตัวอย่างที่ในฐานะของคนทำงานเล่าเรื่องสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นสื่อไหนๆ

แต่พอถึงตรงนี้ หลายคนคงเกิดคำถามต่อมาว่าถ้าไม่ใช่คนที่สนใจวิธีการเหล่านี้ล่ะ นี่ยังเป็นหนังสือที่น่าอ่านสำหรับคนทั่วไปอยู่หรือเปล่า

 Lunch with the FT

เมื่อลองเปลี่ยนมุมมองการอ่านเป็นความรื่นรมย์ของเนื้อหาอย่างเดียว โดยส่วนตัวแล้วผมว่าเนื้อหาทั้งหมดทำหน้าที่นี้ได้ดีทีเดียว

แม้คนที่ถูกสัมภาษณ์ทั้ง 52 คนจะมาจากหลายวงการ ตั้งแต่แฟชั่น การเมือง ธุรกิจ ไปจนถึงกีฬา ตามปกติแล้วกราฟความสนใจของคนอ่านจะขึ้น-ลงตามเรื่องที่พวกเขาสนใจและคนที่พวกเขารู้จัก แต่กับหนังสือเล่มนี้ต่อให้ไม่ใช่คนที่เรารู้จักมาก่อน เรื่องราวของแต่ละคนก็ยังอยู่ในขั้น ‘คลาสสิก’ ตามเกณฑ์ที่ Financial Times เลือกให้พวกเขามาอยู่ในเล่ม ดังนั้นเมื่ออ่านบทสัมภาษณ์เหล่านี้เราจะได้รับประสบการณ์ตื่นตาตื่นใจ ทั้งในแง่การรู้ลึกในเรื่องที่เราสนใจอยู่แล้วและการรู้กว้างในหัวข้อที่ไม่เคยรู้มาก่อน

ยกตัวอย่างภาพคนดังจากในเล่มที่ผมชอบเป็นน้ำจิ้มคือ บทสัมภาษณ์ของ Domenico Dolce และ Stefano Gabbana เจ้าของแบรนด์แฟชั่นระดับโลก Dolce & Gabbana

ในบทสัมภาษณ์นี้ Vanessa Friedman ผู้สัมภาษณ์เดินทางไปคุยและทานอาหารกับทั้งคู่ถึงสตูดิโอของพวกเขาที่เมืองมิลาน บทสนทนาที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่เรื่องแฟชั่น การทำงานร่วมกันแม้จะยุติความสัมพันธ์หลังจากใช้ชีวิตร่วมกันมา 23 ปี ไปจนถึงอนาคตของแบรนด์ที่พวกเขาร่วมกันสร้าง คำบอกเล่าทั้งหมดเกิดขึ้นที่ห้องรับรองที่ผนังเป็นลายเสือดาวโดยมีสุนัขลาบราดอร์ของทั้งคู่เป็นพยาน

 Lunch with the FT

อีกหนึ่งน้ำจิ้มที่ผมอยากยกขึ้นมาคือคนที่ผมเพิ่งรู้จักจากการอ่านบทสัมภาษณ์ในหนังสือเล่มนี้ แต่ความสนใจของผมต่อคำพูดของเธอกลับมีสูงมาก นั่นคือ Yuko Tojo หลานสาวของนายพล Hideki Tojo นายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ถูกประหารโดยการแขวนคอในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ David Pilling เดินทางไปสนทนากับเธอถึงโตเกียว การตั้งคำถามของเดวิดเผ็ดร้อนสวนทางกับอาหารฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ตรงหน้า เขาถามถึงความถูกต้องของสิ่งที่ปู่เธอทำ รวมถึงมุมมองของยูโกะเองที่มีต่อสงครามและหลายแสนชีวิตของชาวญี่ปุ่นที่สูญเสียไปในสงคราม การสัมภาษณ์นี้นอกจากที่เธอจะตอบคำถามนั้นแล้ว เธอยังเอาชิ้นส่วนที่เหลืออยู่ของนายพลฮิเดกิขึ้นมาให้เดวิดดูอีกต่างหาก!

เมื่อความอินต่อผู้ถูกสัมภาษณ์ผสมรวมกับความน่าสนใจและวิธีการเล่าที่มีเสน่ห์เหล่านี้ Lunch with the FT ได้กลายเป็นอาหารแสนอร่อยและควรค่าแก่การแนะนำให้ใครมาลิ้มลองจริงๆ

ของหวาน

อีกหนึ่งอย่างที่ Lunch with the FT ไม่ได้แนะนำไว้แต่ผมอยากชวนให้คนอ่านทุกคนได้ลองทำคือ การสืบหาเรื่องราวต่อจากการสัมภาษณ์ในหนังสือเล่มนี้

ทุกบทสัมภาษณ์ในเล่มจะระบุวันเวลาที่บทสัมภาษณ์นี้ตีพิมพ์ไว้ ดังนั้นในแง่หนึ่งตัวอักษรทั้งหมดที่ร่ายเรียงบนหน้ากระดาษจึงเปรียบเหมือนบันทึกเหตุการณ์ในวันเวลาเหล่านั้นไปในตัว ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน สำหรับผมนี่คือความบันเทิงอย่างยิ่งยวด

ในตอนท้ายของทุกบทสัมภาษณ์ นอกจากบิลค่าอาหารที่คอลัมน์จะสรุปว่ามื้ออาหารนี้มีอะไรบ้างและราคาเท่าไหร่ ทางสำนักพิมพ์ openbooks ยังใส่เชิงอรรถสำหรับบางคนที่ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเทียบกับคำพูดที่พวกเขากล่าวไว้เมื่อครั้งอดีต ซึ่งถ้าเราเอาข้อมูลเหล่านั้นมาค้นหาต่อ เราจะค้นพบชุดความรู้ที่เป็นเหมือนหนังสืออีกเล่มให้ศึกษา

ยกตัวอย่างเช่น Saif Gaddafi ลูกชายของผู้นำลิเบีย Muammar Gaddafi ที่ให้สัมภาษณ์ยกยอสิ่งที่ตัวเองทำในเวลานั้นว่า เขาพยายามวางตัวเป็นสื่อกลางระหว่างชาติตะวันออกและตะวันตก แต่ในเชิงอรรถตอนท้าย หนังสือมาเฉลยให้เรารู้ว่าเมื่อปีที่แล้ว ซาอิฟถูกจับในสงครามกลางเมืองที่พรากชีวิตพ่อของเขา ซ้ำร้ายยังถูกตัดสินประหารชีวิตแต่ได้รับการปล่อยตัวในเวลาตัวมา สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเกร็ดสนุกๆ ที่ทำให้ผมตื่นเต้นเมื่อรู้ว่าเจ้าชายจากบทสัมภาษณ์ในวันนั้นต้องตกระกำลำบากก่อนกลายเป็นผู้สมัครสู้ศึกเลือกตั้งของประเทศลิเบียในปีนี้

ถึงแม้ดูภายนอกหนังสือเล่มนี้จะมีหน้ากระดาษกว่า 700 หน้าจนทำให้หลายคนเบือนหน้าหนีให้กับความยาวและตั้งคำถามต่อความน่าสนใจ แต่สำหรับคนที่ได้ลิ้มรสชุดอาหารเซตนี้แล้ว คงต้องบอกว่าโดยส่วนตัวผมคิดว่าเนื้อในของมันคุ้มค่ากับราคาและสิ่งที่ได้จริงๆ

เพราะนอกจากหนังสือเล่มนี้จะทำให้อิ่มกำลังดี นี่ยังเป็นอีกหนึ่งความดีงามบนหน้าหนังสือรวมบทสัมภาษณ์ที่ผมอยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่านและลิ้มรสมันอย่างละเมียดละไม

คำเตือน! ตัวหนังสือเหล่านี้อร่อยนะ ระวังจะติดใจ


สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ shop.onopen.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่