บุพเพสันนิวาส ๒ โจทย์ที่ยากแต่อยากปะทะของ ปิ๊ง-อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม

ความดังระดับปรากฏการณ์ของละครโทรทัศน์เรื่อง บุพเพสันนิวาส เมื่อปี พ.ศ. 2561 นั้น เชื่อว่าทุกคนคงยังจำกันได้ดี

ไม่ว่าจะความเป็นไวรัลของคำฮิตอย่าง ‘ออเจ้า’ โป๊ป-เบลล่า กลายเป็นคู่ขวัญคู่ใหม่ เหล่านักแสดงนำในเรื่องได้รับการพูดถึง เพลงประกอบเป็นที่นิยม ตัวนิยายขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำหลายรอบ ฯลฯ เรียกว่าความฟีเวอร์ของละครเรื่องนี้ทำให้ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกลายเป็นคอนเทนต์หรือสินค้าที่ขายได้

เมื่อมีการประกาศออกไปว่า บุพเพสันนิวาส จะถูกนำมาสร้างเป็นเวอร์ชั่นภาพยนตร์โดยค่าย GDH ต่อให้ไม่ได้เป็นคนในวงการคุณก็น่าจะพอรู้ว่า อย่างน้อยๆ ความสำเร็จของมันก็ต้องไม่น้อยหน้าของเดิม

นี่คือสิ่งที่ถูกโยนมาที่ ปิ๊ง-อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม ซึ่งขออนุญาตใช้คำเรียกแบบสมัยก่อนว่า ‘หนึ่งในผู้กำกับแฟนฉัน’ เพราะปีนี้เป็นวาระครบ 20 ปีที่เขาทำหนังมาทั้งในฐานะผู้กำกับ คนเขียนบท และนักแสดง (แฟนฉัน เริ่มทำปี พ.ศ. 2545 ฉายปี พ.ศ. 2546)

ปิ๊งบอกกับเราว่า ที่ผ่านมาเขาได้เจอกับรูปแบบของฟีดแบ็กมาหมดแล้ว ฉะนั้นเรื่องความกดดันไม่ได้อยู่ในมายด์เซ็ตการทำงานของเขา แต่โจทย์ที่ยากและความท้าทายของลักษณะงานที่ไม่เคยทำอย่างนี้ต่างหาก คือสิ่งที่เชื้อเชิญให้เขาอยากเอาตัวไปปะทะ 

ณ GDH ในเช้าวันฝนกระหน่ำ ระหว่างที่หนังเรื่อง บุพเพสันนิวาส ๒ ยังอยู่ในช่วงโพสต์โปรดักชั่น เรานั่งคุยกับผู้กำกับของหนังเรื่องนี้ถึงวิธีคิดและวิธีการทำงานของเขา 

ทำหนังเสร็จเรื่องหนึ่งมันจะรู้สึกโล่งตอนไหน เช่น ตอนปิดกล้องหรือตอนตัดต่อเสร็จ 

โอ้โห ไม่เลย นี่ผมยังทำซีจีไม่เสร็จ ทำมา 8 เดือนแล้ว เป็นเรื่องที่ทำซีจีเยอะที่สุดตั้งแต่บริษัทนี้เคยทำมา คือเรากำลังสร้างสิ่งที่ไม่มีใครเคยเห็น ในที่นี้หมายถึงตัวผมเองด้วย เพราะยุคสมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่มีภาพถ่าย มีแต่รูปวาด ภาพถ่ายเก่าที่สุดก็คือประมาณ ร.4 พวกวัดวาอารามอะไรก็เหมือนเดิม แต่อย่างแม่น้ำเจ้าพระยามันไม่เหมือนเดิม เราได้แต่จินตนาการว่าสีของน้ำมันจะเหมือนตอนนี้มั้ย อากาศของ 180 ปีที่แล้วมันน่าจะดีกว่านี้นะ ความยากคือ สิ่งที่เราจะต้องพูดคุยกับคนที่สร้างภาพนี้ขึ้นมา ฉากไม่เท่าไหร่ ยังไงก็จินตนาการอยู่แล้ว หนังพีเรียดผมว่าส่วนใหญ่เขาก็สร้างจากจินตนาการ สร้างจากหลักฐานเท่าที่จะหาได้ แต่ว่าความเป็นจริงเป็นยังไงไม่มีใครรู้ ซึ่งอันนี้ก็เหมือนกัน ซีนใหญ่ของเราเป็นฉากริมแม่น้ำเจ้าพระยาหมดเลย ซึ่งตลิ่งมันเป็นไงวะ เราก็ได้แต่ดูรูปวาด หรือรูปถ่ายเก่าๆ เท่าที่พอจะมี แต่เราต้องสร้างมันขึ้นมาในงานซีจี ความยากคือทำยังไงถึงจะดูแล้วไม่ขัดหูขัดตา อันนี้ใช้เวลา

แล้วยังมีพาร์ตแฟนตาซีที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษทางภาพเยอะ ทีมซีจีเข้ามาทำกับเราตั้งแต่วันแรกที่ยังไม่เปิดกล้องเลย จนกระทั่งปิดกล้องตัดต่อเสร็จตั้งแต่ปลายปี 2564 ก็ทำมาตลอด สมมติถ้าเรามีกำลังคนและเงินเหมือนหนังฝรั่งก็อาจจะเร็วแล้ว เพราะว่าเขาใช้คนเป็นพันคน เคยเห็นมั้ยเอนด์เครดิตของพวกหนังมาร์เวล แต่ของเราใช้ 4 บริษัทมาทำซีจีหนังเรื่องนี้ กำลังคนของแต่ละบริษัทก็สุดเท่านี้ ซึ่งก็ยังไม่เท่ากำลังของเครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องจะใช้ในการเรนเดอร์งาน บางช็อต 1 วินาที เรนเดอร์ครึ่งวัน เพราะเราใช้ซีจีสร้างขึ้นมาทั้งภาพเลย ถามว่ายากมั้ย ประมาณหนึ่ง แต่มันต้องใช้เวลาด้วย

คุณได้รับการชักชวนหรือได้รับการมอบหมายให้มากำกับเรื่องนี้ยังไง

โปรดิวเซอร์ คือพี่วรรณ (วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์) อยากจะทำโปรเจกต์นี้ ช่วงประมาณกลางปี 2019 ก็มีการโทรคุยกันกับผู้ใหญ่ของทางช่อง 3 และทางพี่หน่อง-อรุโณชา ภาณุพันธุ์ บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น แต่ไม่รู้ว่าเขาจะสนใจมั้ย พอทางช่องกับทางพี่หน่องสนใจ พี่วรรณก็เลยโทรมาถามผมว่า สนใจอยากทำมั้ย ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเขาถึงอยากให้ผมมาทำ ต้องไปถามพี่วรรณเอง (หัวเราะ) 

ตอนนั้นคุณทำอะไรอยู่

ก็เขียนครับ คือผู้กำกับที่นี่ถ้าไม่รับจ๊อบงานทำโฆษณา ทำ MV หรือว่ามีธุรกิจส่วนตัว ก็จะพยายามเขียนทรีตเมนต์ หรือเขียนเรื่องเพื่อมาเสนอที่ออฟฟิศ เพื่อให้ออฟฟิศพิจารณาดูว่าสามารถเอามาทำเป็นหนังหรือทำเป็นอะไรต่อได้มั้ย ตอนนั้นก็เขียนอยู่หลายๆ อัน แต่ยังไม่ได้ยื่นอะไรเลย ยังเขียนไม่เสร็จ

ก่อนหน้านั้นคุณได้ดู บุพเพสันนิวาส เวอร์ชั่นละครมั้ย 

เคยผ่านตา และได้ติดตามว่าละครประสบความสำเร็จยังไง เราก็พยายามวิเคราะห์ว่าเพราะอะไร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่พอเขาชวนทำโปรเจกต์นี้เราสนใจทันที เพราะยังมีอะไรที่เราไม่เคย explore เหตุผลที่ละครประสบความสำเร็จคือ มันเป็นละครพีเรียดที่เป็นโรแมนติกคอมเมดี้ ซึ่งเป็นส่วนผสมที่ยังไม่เคยเห็น ปกติแล้วโรแมนติกคอมเมดี้บริโภคง่ายมากสำหรับคนดูไทย แล้วพอมาแมตช์กับแฟนตาซี ประวัติศาสตร์ เลยเหมือนเป็นรสชาติใหม่ หลังจากนั้นเราก็เพิ่งมารู้ว่ามันเป็นมาตั้งแต่หนังสือแล้ว

ตอนที่พี่วรรณชวน ก็ตัดสินใจไม่นาน เพราะรู้สึกว่าเราไม่เคยทำคอนเทนต์ที่เป็นพีเรียดมาก่อน ก่อนหน้านั้นทางพี่วรรณหรือทางบริษัทก็เคยถามว่า อยากทำโปรเจกต์โน้นนี้มั้ย แต่ยังไม่มีโปรเจกต์ที่ดึงดูดเรามากพอที่จะเอาชีวิตไปแลกกับมัน คือการทำหนังเรื่องหนึ่งมันหมดไป 2-3 ปี ซึ่งพอเป็นโรแมนติกคอมเมดี้แบบที่เราเคยทำๆ มา เราเคยทำอะไรแบบนั้นมาแล้ว รู้สึกว่าถ้าต้องทำหนังแล้วต้องอยู่กับมันไปอีกนานๆ ผมอยากจะทำอะไรที่มันต่างไปจากที่เราเคยทำ

พอมีโปรเจกต์นี้เข้ามาแล้วรู้สึกว่ามีชาเลนจ์อะไรเต็มไปหมดเลย ซึ่งตอนที่ชวนเรายังไม่รู้เลยว่าสเกลจะเล็กจะใหญ่ หน้าตาจะออกมาเป็นยังไง สิ่งที่อยู่ในหัวรู้แค่ว่า มันเป็นละครที่ประสบความสำเร็จ เป็นพีเรียดที่เป็นโรแมนติกคอมเมดี้ซึ่งเป็นรสชาติใหม่ แล้วความท้าทายคือ เราจะทำยังไงให้มันต่าง และเราต้องรับผิดชอบในความที่มันจะต้องซัคเซสให้ได้ด้วย อาจจะเทียบไม่ได้กับของเดิม แต่อย่างน้อยต้องไม่น้อยหน้า ต้องไม่ทำให้บริษัทหรือทางช่อง 3 กับบรอดคาซท์ฯ ผิดหวัง เราก็ตอบรับด้วยความท้าทาย หลังจากนั้นถึงค่อยมาไล่ดูละครเหมือน revise ใหม่หมด ซื้อหนังสือมาอ่านด้วย ทั้ง บุพเพสันวาส และ พรหมลิขิต รวมถึงหาข้อมูลอื่นๆ อ่านเพิ่มด้วย หมดไปครึ่งปี

คุณหาข้อมูลเพิ่มเติมด้านไหนบ้าง

ก็ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั้งหลาย คือมันต้องเริ่มตั้งแต่ว่าเราจะทำอะไรกับมัน ซึ่งกระบวนการกว่าที่จะมาถึงว่า เราจะเลือกยุคสมัยไหน ไอเดียอะไร ซึ่งไอเดียเป็นได้หมดเลย ตั้งแต่ว่าเอาพี่หมื่นกับการะเกดนี่แหละ แต่เป็นอีกมัลติเวิร์สหนึ่ง มันเป็นได้หมดเลย ใช้เวลาเป็นครึ่งปีเลยที่เราพยายามหาว่าจะไปทางไหนดี 

คือตอนคุณได้รับโจทย์มายังไม่มีสตอรี่เลย

ยังไม่มีอะไรเลยครับ เคยเขียนไปคนละโลกเลยก็มี กว่าจะมาเป็นอันนี้ ช่วงก้อนแรกผ่านไปประมาณครึ่งปี รวมอ่านรวมทำการบ้านทั้งหมด ผมเขียนบทเองกับทีมสองชุด แต่ผมว่าก็ไม่ถือว่าเริ่มต้นจากศูนย์เสียทีเดียว มันเหมือนผู้กำกับที่ได้รับไอรอนแมนหรือสไปเดอร์แมนมา คือมีตัวละครที่คนดูรู้จักอยู่แล้ว หนังจีดีเอชถ้าลองดูโครงสร้าง ทุกเรื่องจะมีช่วงเสียเวลาในตอนต้นกับการทำให้คนดูรู้จักมัน เพราะมันคือหนังใหม่ แต่เรื่องนี้ไม่ต้อง จะเป็นการโยนคำถามใส่คนดูมากกว่าว่ายังจำคนคนนี้ได้อยู่หรือไม่

พอเขียนสตอรี่ให้มันเป็นการกลับชาติมาเกิด เหมือนทำให้คุณเล่นอะไรได้ง่ายขึ้นเยอะเลย 

ตอนที่เลือกคือมันเป็นไปได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ไซด์สตอรี่ของพี่หมื่นกับการะเกดในมุมที่เราไม่เคยเห็น จะพลิกมุมมองหรือจะเล่าเรื่องจากฝั่งใดฝั่งหนึ่งก็ได้ พยายามหาหลากหลายทางมาก หรือแม้แต่ยุคสมัยก็พยายามที่จะอ่านว่า เอายุคไหนดี มีหมดครับ สงครามโลก สงครามเวียดนาม หรือยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เราก็มาพบว่า การกลับชาติมาเกิด มันเข้าใจง่ายสำหรับคนดูไทย ไม่ต้องอธิบายเยอะ 

อีกอย่างมันจะมีโจทย์อยู่ว่า เราต้องไม่ไปกระทบกระเทือนละครเรื่อง พรหมลิขิต ที่เขาถ่ายทำคู่ไปด้วย ต้องไม่ไปสปอยล์ หรือทำให้สตอรี่ไลน์ของเขาเละ เพราะว่าหนังสือ บุพเพสันนิวาส กับ พรหมลิขิต มีความเกี่ยวเนื่องกัน ถ้าเราไปแทรกอันใดอันหนึ่งของเขา เราต้องไม่ทำให้เขาเสีย ก็เป็นโจทย์ที่ยากเหมือนกัน เช่น หนังสือกับละครเขาย้อนมาด้วยดวงวิญญาณ ถ้าอยู่ๆ เราไปเอาตัวละครตัวใดตัวหนึ่งของเขามาทำการเดินทางข้ามเวลาอีก มันจะทำลายเส้นตัวละครของหนังสือทั้งสองเล่มนี้ เราเลยต้องหาอันใหม่ไปเลย ก็เลยมาลงตัวที่การกลับชาติมาเกิด ในยุคสมัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทั้งสองเรื่อง คือยุคต้นรัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ตาม element สำคัญของความเป็น บุพเพสันนิวาส ต้องมีแฟนตาซี ต้องมีการเดินทางข้ามเวลา เราก็เลยสร้างตัวละครขึ้นมาใหม่อีกตัวหนึ่งเลย เป็นวัยรุ่นยุคปัจจุบัน

ดูคุณทำการบ้านเรื่องประวัติศาสตร์ซีเรียสเหมือนกัน

ช่วงแรกยอมรับเลยว่ากูเกิลแหลกลาญ ใช้กูเกิลเป็นหลัก เพื่อที่จะเซ็ตอัพว่ามีอะไรน่าสนใจ ตอนแรกรู้สึกผิดเหมือนกันนะ ว่าเราจะทำการบ้านแค่นี้จริงๆ เหรอ แต่หลังจากนั้นพอเรามาทำการบ้านที่ซีเรียสมากขึ้น ไม่ว่าจะห้องสมุดหรืออะไรก็ตาม ปรากฏว่าเราก็เจอในกูเกิลมาหมดแล้วทั้งนั้น แล้วพอเราประกอบร่างทุกอย่างเสร็จ เข้าสู่ขั้นตอนของการตรวจสอบความถูกต้อง เราก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาจากทางอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะโบราณคดี มาเป็นคณะเลย ซึ่งมีอาจารย์ที่เป็นเพื่อนกับคุณรอมแพง เจ้าของบทประพันธ์ด้วย

สเกลจากละครมาเป็นหนัง คุณต้องปรับวิธีการถ่ายทำหรือการแสดงยังไงบ้าง 

ในละครจะเล่าเยอะ ไทม์ไลน์ของเรื่องเยอะมาก แต่หนังมันเยอะแบบนั้นไม่ได้ หนังต้องเลือกเล่าโมเมนต์ใดโมเมนต์หนึ่ง อันนี้คือสิ่งที่ต่างกับละคร 

จริงๆ เจตนาเราไม่ได้คิดว่าจะต้องสเกลเล็กหรือสเกลใหญ่ เราอยากทำสคริปต์ที่ทำอย่างไรให้คนดูละครดูแล้วยังรู้สึกว่าได้ดูสิ่งที่เขาชื่นชอบอยู่ แต่ขณะเดียวกันคนที่ไม่เคยดูละครหรือคนที่ดูหนังก็ต้องรู้สึกว่าเขาไม่เสียเวลานะ ซึ่งเราต้องไม่ทำให้คนดูผิดหวัง ทำให้เขารู้สึกว่าจากที่ดูทีวีอยู่บ้าน ถ้าจะต้องออกมาดูในโรงแล้วมันคุ้มค่า คือเราก็ต้องเขียนให้มันเป็นหนังที่สนุกให้ได้ แต่ว่าเขียนไปเขียนมากลายเป็นว่ามีความใหญ่โตอะไรบางอย่างที่มันเลยเถิด โชคดีที่สคริปต์สามารถทำให้บริษัทรู้สึกว่าน่าสนใจที่จะลงทุน ก็เลยมีการขยายสเกลออกมาจนเป็นหนังฟอร์มใหญ่

ส่วนเรื่องการแสดง นักแสดงถ้าเคยเล่นทั้งหนังทั้งละครมา ส่วนใหญ่ก็จะแยกได้ว่าวิธีการไม่เหมือนกัน ไวยากรณ์ของละครจะเล่าผ่านการพูด เพราะโครงสร้างของการดูละครจะดูระยะไกล จะไม่โฟกัส ต้องสามารถรีดผ้าไปแล้วก็ยังเข้าใจได้ ตัวละครก็ต้องพูดเมสเสจสิ่งที่จะเล่าให้คนดูฟังอย่างน้อย 3 ครั้ง จะในวาระเดียวกันหรือจะเปลี่ยนซีนแล้ว ก็ยังต้องพูดเมสเสจเดิมอยู่ เพราะไวยากรณ์ของละคร คือต้องทำให้ต่อให้คนดูไม่ได้เงยหน้าขึ้นมาดูก็ยังเข้าใจ ซึ่งซีรีส์ฝรั่งหลายๆ เรื่องก็เป็นนะ ก็คือต้องใช้วิธีเล่าเรื่องผ่านการพูด ผ่านบทสนทนา 

แต่หนังจะไม่เหมือนกัน หนังจะใช้อารมณ์ สายตา การแสดง คัตติ้ง หรือภาพในการเล่า เพราะฉะนั้นวิธีการแสดงของนักแสดงก็จะไม่เหมือนกัน ซึ่งผมว่านักแสดงเขาแยกได้นะ แต่ตัวสคริปต์กับตัวผู้กำกับก็ต้องดูด้วย ถ้าไม่ไปยุ่งหรือทำการบ้านอะไรกับเขาเลย ผมว่าก็อาจจะมีความเป็นละครอยู่ เพราะจะมีอะไรหลายๆ อย่างที่ตอนเวิร์กช็อป เราพยายามจะแยกให้เขาเห็นว่า  ถ้าพูดอย่างนี้มันจะเป็นละครนะ ซึ่งไม่ใช่การบอกว่าผิดหรือถูก แต่มันจะไม่เข้ากับสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ยิ่งเราออกแบบให้ตัวละครเขาไม่เหมือนเดิม ซึ่งตัวโป๊ปหรือตัวเบลล่าเองก็ต้องเวิร์กช็อปเยอะเหมือนกัน แต่สองคนนี้เหมือนคู่กองหน้าที่เล่นฟุตบอลด้วยกันมาเป็นสิบปี เวลาเขาเล่นอะไรด้วยกันมันง่ายมาก   

เรื่องนี้ถ่ายตอนโควิดหรือเปล่า สร้างความลำบากให้คุณยังไงบ้าง 

ใช่ครับ เป็นช่วงหมดเฟส 3 ประมาณกุมภาพันธ์ ปี 2021 พอเริ่มถ่ายไปได้ 2 เดือน เข้าเฟส 4 แล้วก็ล็อกดาวน์ไป 6 เดือน ต้องหยุด กลับมาถ่ายอีกทีตอนกลางเดือนตุลาคม ผมไม่ลำบากมาก แต่มันมีการเซ็ตฉากไปเรียบร้อยแล้ว บริษัทน่าจะเดือดร้อนกว่าที่จะต้องเจรจาในการที่จะเก็บฉากนี้ไว้ เพราะมันเป็นฉากใหญ่ที่ลงทุนสูง เซ็ตไว้ที่โกดังแห่งหนึ่ง สร้างและใช้เงินไปแล้ว แต่พอเจอเดลต้าก็ต้องหยุดไป 6 เดือน มันก็มีค่าใช้จ่ายที่จะต้องดูแลให้ฉากนั้นอยู่รอเรา ซึ่งบอกไม่ได้ว่าต้องรออีกนานเท่าไหร่ถึงจะกลับมาถ่ายได้

นอกนั้นก็ เบลล่าผอมลงครับ ไม่เหมือนเดิม (หัวเราะ) ตอนถ่ายไม่รู้สึก แต่พอตอนตัดรู้สึก อาจจะเพราะเราอยู่กับฟุตเทจเยอะด้วย แต่ผมว่าคนดูดูไม่ออก และก็มีการเปลี่ยนแปลงของทีมงานที่พอเรากลับมาถ่าย ทีมงานหลายๆ คนเขามาไม่ได้แล้ว 

มีอย่างอื่นอีกมั้ยที่ถือว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ๆ นอกจากโควิด

ความร้อนกับยุงครับ คือพอเป็นหนังพีเรียด ไม่มีที่ไหนที่เราจะไปถ่ายแล้วมันมีแอร์ แล้วยิ่งต้องสร้างฉากให้เป็นยุคโบราณ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นกลางแจ้งทั้งหมด กลางวันร้อนแบบหน้าผมขึ้นฝ้า แดงเป็นแผนที่เลย ร้อนราวตกนรก ส่วนกลางคืนจะกลายเป็นกองทัพยุง ผมผ่านการตอบคำถามเรื่องอุปสรรคในทำงานมาเยอะมาก ผมรู้สึกว่าจริงๆ แล้วอุปสรรคของการสร้างหนังแต่ละเรื่องมันมีแหละ การถ่ายหนังหรือการทำงานอะไรก็ตาม มันคือการทำให้ความคิดของเราออกมาเป็นรูปธรรม ซึ่งก็คือการแก้โจทย์หรือการไปแก้ปัญหา ผมเลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่อุปสรรคหรอก มันเป็นสิ่งที่เราจะทำไม่ใช่เหรอ ไม่ว่าจะฝนตก โลเคชั่นไม่ได้ มันก็เป็นปกติของการทำงาน แต่ว่าร้อน 40 องศากับยุ่งเยอะ คืออุปสรรคในการทำงานของจริงครับ

พวกนักแสดงหนักกว่าเยอะ เพราะชุดเขาด้วย ข้างในผมคิดว่าเปียกถึงตาตุ่มเลย ขนาดเราอยู่ในเต็นท์ที่มีกำบังยังไม่ไหว มีซีนหนึ่งที่ถ่ายริมแม่น้ำ ตอนเช้ามะม่วงยังเขียวอยู่ สักบ่ายสองมะม่วงเหลืองเลย เป็นมะม่วงที่นักแสดงประกอบต้องถือเข้าฉาก 

ทำงานมาขนาดนี้ คุณน่าจะเอาอยู่ทุกปัญหา

ไม่ครับๆ เราอยากทำเรื่องนี้เพราะมันชาเลนจ์สิ่งที่เราไม่เคยทำ คือเราอยากปะทะมากว่าจะมีอะไรบ้าง ถามว่าเอาอยู่มั้ย ไม่อยู่หรอกครับ ถ้าเอาอยู่ผมน่าจะทำงานได้เร็วกว่านี้ น่าจะสบายๆ กว่านี้ แต่ว่ามันคือการเรียนรู้ของทั้งเราและทีมงาน เรารู้สึกว่าต้องพึ่งพาคนเยอะในการมาช่วยให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นภาพ ผมว่าผู้กำกับหนังตอนที่เขาทำเรื่องใหม่ๆ ไม่ว่าจะสเกลเล็กหรือสเกลใหญ่ มันจะมีความชาเลนจ์ มีความท้าทายของเขาอยู่ทุกคน แต่การที่จะมาบอกว่า โอ๊ย เรื่องแบบนี้ทำประจำ สบาย ผมว่าไม่น่าใช่ อันนั้นไม่น่าจะเป็นความท้าทายในการทำอาชีพนี้ อะไรที่มันรูทีนไปแล้ว เพราะคนดูเปลี่ยนตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะทำหนัง แต่งเพลง หรืออะไรก็ตาม ถ้าเรายังทำเหมือนเดิม ผมว่ามาสายอาชีพนี้ไม่รอด

แต่ถ้าสมมติเราทำรายการทีวีที่มันอยู่มือแล้ว ก็จะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง แต่ถามว่าคนทำรายการทีวีที่ต้องทำคล้ายๆ แบบเดิมไปเรื่อยๆ ความท้าทายของเขาคือทำยังไงถึงจะอยู่ได้และคุณภาพไม่ตก วิธีคิดก็จะไม่เหมือนกัน

ยังมีชาเลนจ์อื่นๆ สำหรับคุณอีกมั้ยในโปรเจกต์นี้

ความเป็นหนังสเกลใหญ่ เราไม่เคยทำหนังสเกลใหญ่ขนาดนี้มาก่อน ก็ดีนะ แต่ข้อเสียของผู้กำกับที่นี่คือไม่ว่าจะเป็นสเกลเล็กหรือใหญ่ เรามักจะคิดเกินงบอยู่เสมอ (หัวเราะ) มันก็จะมีความตบตี ความถอนหายใจ จริงๆ เราอยากทำอะไรที่ไปไกลกว่านี้นะ เพราะเราอุตส่าห์มีโอกาสทำคอนเทนต์ที่เอื้อให้เราทำอะไรแปลกใหม่ได้ แต่ว่าความเก่งหรือไม่เก่ง หรือความสามารถของผู้กำกับ อยู่ที่การคอนโทรลงบประมาณนี่แหละ อยู่ที่การควบคุมแล้วเลือกว่าถ้าจะเอาฉากนี้ จะโชว์วิชวลแบบนั้นแบบนี้ แต่สุดท้ายงบไม่เหลือไปถ่ายการเล่าเรื่อง ผมว่าต่อให้คุณจะภูมิใจวิชวลอันนั้น แต่ตัดต่อมาแล้วสิ่งที่สำคัญของหนังคือการเล่าเรื่องแล้วคุณเล่าได้ไม่จบ กลายเป็นว่าพาร์ตที่คุณควรจะทำให้ดีกว่านี้คุณทำไม่ได้เพราะคุณเอางบไปลงกับสิ่งที่คุณอยากจะโชว์วิชวลอันนั้นไปแล้ว สำหรับเรารู้สึกว่าแบบนี้ไม่ได้แปลว่าผู้กำกับคนนั้นทำงานไม่ดีนะ แต่มันต้องบริหารให้ได้ ถามว่ามีความต้องการอยากจะเห็นความโลดโผนของภาพมากกว่านี้มั้ย มี แต่เราต้องทำให้หนังเล่าเรื่องให้ได้ก่อน 

คิดว่าตัวเองทำได้ดีขึ้นมั้ยถ้าเทียบกับที่ผ่านๆ มา เรื่องการคอนโทรลต่างๆ

ถ้านับเรื่องล็อกดาวน์หรือที่เราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่โลกนี้ยังควบคุมไม่ได้ ไม่ได้ใช้คำว่าท้อ หรือไม่อยากทำแล้วว่ะ เราตัดเรื่องนี้ออกไปเลย เพราะรู้อยู่แล้วว่าเราเลือกที่จะปะทะสิ่งนี้เอง แต่ว่ามันกินชีวิตเยอะมากเลย (หัวเราะ) ตั้งแต่เริ่มเขียนแล้ว ไม่เคยทำหนังที่เราต้องมานั่งอ่าน ต้องมาตบตีกับตัวเองและคนรอบข้างเยอะอะไรขนาดนี้มาก่อน ระหว่างที่ทำจนถึงตอนนี้ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง เป็นโปรเจกต์ที่ภูมิใจมากนะ ไม่ใช่เรื่องของสเกลงาน หรือว่าเป็นการต่อยอดความสำเร็จของ บุพเพฯ ใดๆ แต่เป็นเรื่องที่สุดท้ายระหว่างทางที่เราทำสคริปต์กับการที่เราถ่ายนาน ผมได้ค้นพบเมสเสจหลายๆ อย่าง ที่ ณ โมเมนต์ที่เราสามารถใส่ลงไปในสคริปต์แล้วเห็นนักแสดงเขาทำสิ่งนั้นออกมาได้ เป็นเมสเสจที่ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้ผมอยากพูดกับคนดู ถ้าคนดูได้รับสารนี้ไปแล้ว แล้วเขาเห็นด้วยกับผม ผมจะภูมิใจมาก ซึ่งมันเป็นเมสเสจที่เกิดจากการตบตีกับคนมามากมายเลยนะ

อย่างที่บอก เราเลือกที่จะปะทะกับมัน แล้วเราสู้กับมันมาจนเสร็จแล้ว หมายความว่ารอดชีวิต ยังไม่ตาย แต่ว่าผลลัพธ์เป็นยังไงยังไม่รู้ ความสุขก็คือว่าเรารอดแล้ว แล้วโปรดิวเซอร์ที่เขาโยนสิ่งนี้มาให้เรา ก็คือว่าเราทำให้เขาไม่ผิดหวัง… หรือเปล่า? (หัวเราะ) ไม่รู้ แต่เท่าที่มีการฉายรอบทดสอบไปในบริษัท ฟีดแบ็กก็ออกมาดี แต่ว่าเราก็ยังวัดผลไม่ได้จนกว่าจะมีคนดูจริงๆ ได้รับชมแล้วฟีดแบ็กกลับมา ซึ่งถ้าชื่นชอบกันก็ดี 

ภาพ > ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

AUTHOR