‘โลกซึมเศร้า’ หนังสือของโยฮันน์ ฮารี ที่บอกว่าโรคซึมเศร้าคือเรื่องที่โครงสร้างทางสังคมต้องถูกตั้งคำถาม

Highlights

  • ‘Lost Connections’ หรือโลกซึมเศร้าคือหนังสือที่โยฮันน์ ฮารีเขียนขึ้นเพื่อหาคำตอบให้กับความไม่เข้าใจที่ว่า ทำไมตลอดหลายสิบปีที่เขากินยาต้านเศร้าเรื่อยมา เขาถึงยังไม่หายจากภาวะซึมเศร้าเสียที?
  • ฮารีจึงออกเดินทางเพื่อพูดคุยกับผู้คนในวงการต่างๆ ที่น่าจะให้คำตอบกับเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักสังคมศาสตร์ และเหล่าผู้คนที่คล้ายจะหายขาดจากภาวะซึมเศร้า จนกลายมาเป็นเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ และวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าในสังคมปัจจุบัน
  • เนื้อหาในหนังสือนี้ท้าทายกับความรู้กระแสหลังของโรคซึมเศร้าอยู่พอสมควร สารพัดข้อมูลที่ปรากฏบนหน้ากระดาษไม่เพียงแต่จะคัดง้างคำอธิบายที่เราคุ้นเคย หากยังถึงขั้นถอนรากความเชื่อเดิมๆ ทิ้งไป

กว่า 13 ปีที่ชีวิตของโยฮันน์ ฮารี ดำเนินควบคู่ไปกับภาวะซึมเศร้า ในวันแรกที่มั่นใจว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้านั้น ฮารีกำลังยืนร้องไห้อยู่ริมชายหาดเพราะถูกคนที่เขาตกหลุมรักปฏิเสธ

แน่นอนล่ะว่าเป็นใครก็ย่อมจะเสียใจเป็นธรรมดาหากถูกคนที่รักปฏิเสธความรู้สึก ทว่าฮารีกลับควบคุมน้ำตาของตัวเองไม่อยู่ หยุดยั้งความเศร้าของตัวเองไม่ได้ ความเจ็บปวดถาโถมเข้ามาจนยากจะทนไหว และการอันตรธานหายไปจากโลกก็คล้ายจะเป็นความคิดที่เข้าท่า ในชั่วขณะนั้นเอง เพื่อนคนหนึ่งของฮารีที่มองเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดก็พูดกับเขาว่านายรู้ใช่ไหมว่าคนส่วนใหญ่ไม่เป็นแบบนี้กัน

และตอนนั้นเองที่ผมเข้าใจกระจ่างราวกับมีดวงตาเห็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งในชีวิต ผมหันไปหาเพื่อนและพูดว่าฉันเป็นโรคซึมเศร้า! มันไม่ใช่ความคิดในหัวที่ฉันมโนไปเอง! ฉันไม่ใช่คนอมทุกข์ ฉันไม่ได้อ่อนแอ แต่ฉันเป็นโรคซึมเศร้า!’” ฮารีบอกกับเพื่อนด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น

‘Lost Connections’ หรือโลกซึมเศร้าคือหนังสือที่ฮารีเขียนขึ้นเพื่อหาคำตอบให้กับความไม่เข้าใจของเขาที่ว่า ทำไมตลอดหลายสิบปีที่เขากินยาต้านเศร้าเรื่อยมา เขาถึงยังไม่หายจากภาวะซึมเศร้าเสียที บวกความไม่เข้าใจที่ว่า ทำไมอยู่ๆ ผู้คนมากมายถึงพากันรู้สึกซึมเศร้าและวิตกกังวลอย่างรุนแรง อะไรคือปัจจัยที่นำมาซึ่งปรากฏการณ์นี้

“…ผมค่อยๆ สังเกตว่า ยาพวกนั้น (ยากระตุ้นประสาท, ยาต้านโรคซึมเศร้า) ปรากฏในชีวิตของใครหลายคนมากขึ้น เป็นยาที่หมอสั่ง อนุญาต และแนะนำให้กิน ทุกวันนี้ยาพวกนั้นอยู่รอบตัวเรา 1 ใน 5 ของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกากินยารักษาโรคจิตเวชอย่างน้อยหนึ่งขนาน เกือบ 1 ใน 4 ของหญิงกลางคนในสหรัฐอเมริกากินยาต้านซึมเศร้า เด็กผู้ชายในโรงเรียนมัธยมปลายของสหรัฐอเมริการาว 1 ใน 10 ได้รับยากระตุ้นประสาทฤทธิ์แรงเพื่อช่วยให้มีสมาธิ…”

ในยุคหนึ่ง การใช้ยาประเภทนี้ถูกรับรู้ว่าเป็นความไม่ปกติ แต่เรื่องนี้กลับคือความปกติในสังคมปัจจุบันเราต่างยอมรับโดยไม่ต้องพูดให้เปลืองน้ำลายว่า ผู้คนจำนวนมากรอบตัวเราเศร้าหมองเสียจนพวกเขารู้สึกว่าต้องกินสารเคมีที่ออกฤทธิ์รุนแรงทุกวันเพื่อตั้งสติและประคองจิตใจฮารีกล่าว

ด้วยข้อสงสัยมากมายที่มีในหัว ฮารีจึงออกเดินทางเพื่อพูดคุยกับผู้คนในวงการต่างๆ ที่น่าจะให้คำตอบกับเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักสังคมศาสตร์ และเหล่าผู้คนที่คล้ายจะหายขาดจากภาวะซึมเศร้า การเดินทางของฮารีที่กลายมาเป็นเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ได้นำมาซึ่งข้อโต้เถียงสำคัญ ต่อความเข้าใจและวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าในสังคมปัจจุบัน

โลกซึมเศร้า คือหนังสือที่ท้าทายกับความรู้กระแสหลักของโรคซึมเศร้าอยู่พอสมควร สารพัดข้อมูลที่ปรากฏบนหน้ากระดาษไม่เพียงแต่จะคัดง้างคำอธิบายที่เราคุ้นเคย หากยังถึงขั้นถอนรากความเชื่อเดิมๆ ทิ้งไป นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้เขียนมุ่งมั่นจะทำลายสิ่งที่เราเชื่อเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอย่างไร้หัวจิตหัวใจ

ตรงกันข้าม ฮารีย้ำเตือนอยู่เสมอว่า การจะรับเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และเขาก็ไม่ได้คาดหวังให้ผู้อ่านต้องเชื่อทุกอย่างโดยทันที เพราะเขาเองก็ยังต้องเผชิญกับความยากลำบากในกระบวนการเขียนหนังสือเล่มนี้ไม่ต่างกัน

การเดินทางครั้งนี้ไม่ง่ายเลยสำหรับผม อีกเดี๋ยวคุณจะได้เห็นว่า ผมยึดติดกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าของตัวเองว่ามีสาเหตุจากสมองบกพร่อง ผมต่อสู้เพื่อเรื่องเล่าในแบบฉบับของตัวเอง ผมปฏิเสธอยู่นานแสนนาน ไม่ยอมมองหลักฐานที่คนอื่นนำเสนอ นี่ไม่ใช่การค่อยๆ เปลี่ยนผ่านสู่วิธีคิดใหม่อย่างละมุนละไม มันเป็นการต่อสู้ฟาดฟัน

โลกซึมเศร้า คือหนังสือที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ฟาดฟัน หนึ่งในคำอธิบายที่แพร่หลายที่สุดของโรคซึมเศร้าคือสารเคมีในสมองไม่สมดุล’ ทว่าระหว่างบทสนทนาของฮารีกับ ศาสตราจารย์โจแอนนา มอนครีฟฟ์ จิตแพทย์ชาวอังกฤษ และผู้วิพากษ์ประเด็นการใช้ยาเพื่อการบำบัดทางจิต (Psychopharmacology) มอนครีฟฟ์กลับย้ำชัดว่าไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสารเคมีไม่สมดุล

เธออธิบายว่า เรามักจะเข้าใจว่ายาต้านอาการซึมเศร้าช่วยปรับสมองให้สมดุลตามธรรมชาติ แต่เธอบอกว่านั่นไม่จริง และความคิดที่ว่า สารเคมีไม่สมดุลคือต้นเหตุของความทุกข์ทรมานทางจิตใจ เป็นมายาคติจากบริษัทยา

ศาสตราจารย์เออร์วิง เคิร์ช แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด คือนายแพทย์อีกคนหนึ่งที่ช่วยยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทยาคือตัวการสำคัญที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังยาต้านเศร้า โดยข้อมูลที่เขาค้นพบคือ สิ่งที่เรียกว่าอคติในการตีพิมพ์’ (publication bias)

งานวิจัยส่วนใหญ่ที่ศึกษาว่ายารักษาโรคทั่วไปได้ผลหรือไม่นั้นมักได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทผลิตยาเจ้าใหญ่ๆ บริษัทเหล่านี้ทำการวิจัยเพื่อเหตุผลข้อเดียวคือ อยากส่งเสริมการขายยาเหล่านี้เพื่อทำกำไร นั่นคือเหตุผลที่บริษัทยาทำงานวิจัยอย่างลับๆ และหลังจากนั้นก็ตีพิมพ์เฉพาะผลวิจัยที่ทำให้ยาของพวกเขาดูดี หรือทำให้ยาของคู่แข่งดูแย่ลง พวกเขาทำแบบนี้ด้วยเหตุผลแบบเดียวกับที่ (สมมติว่า) เคเอฟซีจะไม่มีวันเผยแพร่ข้อมูลที่ระบุว่าไก่ทอดไม่ดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน

เคิร์ชพบว่า บริษัทยาเลือกตีพิมพ์งานวิจัยเพียงบางส่วนที่จะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขา เช่น ในการทดสอบยาโพรแซ็ก แม้ว่าผู้วิจัยจะแจกยาให้กับผู้ป่วย 245 คน แต่บริษัทยากลับตีพิมพ์ผลลัพธ์แค่ 27 คนจากคนไข้ทั้งหมด คือกลุ่มที่ใช้ยาแล้วได้ผลเท่านั้น โดยที่เมื่อลองคำนวณว่า ผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านเศร้าอาการดีขึ้นแค่ไหนเมื่อเทียบกับคนที่ใช้ยาเม็ดแป้ง (placebo) เขาพบว่า แม้ยาต้านซึมเศร้าจะส่งผลให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาการดีขึ้นจริงๆ ทว่าตัวเลขของอาการที่ดีขึ้นกลับเป็นแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น

ความน่าตกใจก็คือ เมื่อเคิร์ชตีพิมพ์ข้อค้นพบลงในวารสารวิทยาศาสตร์ แทนที่เขาจะโดนโจมตีจากนักวิจัยเจ้าของงานวิจัยต่างๆ แต่ในความเป็นจริง นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากกลับโล่งใจ และละอายใจ

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งเขียนว่า ฤทธิ์ของยารักษาโรคซึมเศร้าเหล่านี้ซึ่งในความเป็นจริงมีเพียงน้อยนิดนั้นเป็นความลับเล็กๆ ที่น่ารังเกียจในวงการมาเป็นเวลานานก่อนที่งานของเออร์วิงจะตีพิมพ์ เออร์วิงคิดว่าเขามีข่าวใหญ่น่าตื่นตะลึงที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน ทว่าแท้จริงแล้ว เขาเพียงแค่ค้นพบสิ่งที่หลายคนในวงการเก็บงำมาตลอด

คำถามคือ เมื่อยาต้านเศร้าอาจไม่ใช่คำตอบเดียว แล้วทางออกจากภาวะซึมเศร้าอยู่ตรงไหนล่ะ

ข้อเสนอสำคัญของฮารีในหนังสือเล่มนี้คือ ในการจะพิจารณาภาวะซึมเศร้าของใครสักคนหนึ่ง เราจำเป็นต้องคำนึงถึงสามปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ ชีววิทยา จิตวิทยา และสังคม

ฮารีชี้ว่า เมื่อพูดถึงภาวะซึมเศร้าในปัจจุบัน เรามักให้ความสำคัญกับปัจจัยทางชีววิทยาเป็นอันดับแรก ปัญหาคือ เมื่อปัจจัยทางชีววิทยาถูกเน้นหนักเช่นนี้ ความเข้าใจต่อภาวะซึมเศร้าจึงถูกลดทอนให้เรียบง่ายลง จนละเลยความซับซ้อนอื่นๆ

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้กำลังจะบอกให้เราปฏิเสธปัจจัยทางชีววิทยาทิ้งไป เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นความจำเป็นต่อการพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ควบคู่กันด้วย

เพราะเราวางกรอบปัญหาผิดมาโดยตลอด ที่ผ่านมาเลยเจอวิธีแก้ที่ไม่สมบูรณ์ ถ้าโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาของสมองเป็นหลัก การมุ่งเน้นมองหาคำตอบในสมองก็ย่อมสมเหตุสมผล แต่ถ้าโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาเรื่องการใช้ชีวิตของเรามากกว่า เราก็จำเป็นต้องมองหาคำตอบจากตรงนี้ จากในชีวิตของเรา ซึ่งผมอยากรู้ว่าควรจะเริ่มตรงไหนดี

 

สอดคล้องกับที่ ดร.เดเร็ก ซัมเมอร์ฟิลด์ จิตแพทย์ชาวแอฟริกาใต้บอกว่า เวลาที่เขารักษาคนไข้หายคือตอนที่เขาพยายามจะแก้ปัญหาจากสถานการณ์ทางสังคมของพวกเขา ไม่ใช่ที่สมอง

ฮารีมองว่า ทางออกจากภาวะซึมเศร้าไม่อาจหยุดนิ่งอยู่กับปัจจัยทางชีววิทยาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องควบคู่ไปกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย นั่นจึงนำมาซึ่งแนวทางในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ 7 ข้อที่ฮารีอธิบายว่า คือยาต้านซึมเศร้าทางสังคม และทางจิตวิทยา ซึ่งตรงกันข้ามกับยาต้านซึมเศร้าทางเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ท่ามกลางแนวทางการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทั้ง 7 ข้อ ผมคิดว่า ข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจคือการที่ฮารีชี้ให้เห็นว่า คุณลักษณะของสังคมปัจจุบันคือ การที่เราต่างหวาดหวั่นต่อความไม่มั่นคงของอนาคตพวกเขาเหนื่อยล้าและรู้สึกราวกับว่าความกดดันนั้นทวีขึ้นทุกปี เป็นเรื่องยากที่จะเข้าร่วมการต่อสู้ครั้งใหญ่ในเมื่อทุกวันนี้แค่ใช้ชีวิตในแต่ละวันก็เหมือนกำลังดิ้นรนต่อสู้อยู่แล้ว การขอให้ใครสักคนกัดฟันสู้ต่อในห้วงยามที่เขาสู้จนหมดแรงแล้วนั้นแทบไม่ต่างอะไรกับการเยาะเย้ยถากถางดีๆ นี่เอง

ระหว่างเขียนหนังสือเล่มนี้ ฮารีได้ค้นพบการทดลองหนึ่งที่ออกแบบมาเพื่อคืนเวลาให้กับผู้คน และช่วยให้พวกเขากลับมามั่นใจต่ออนาคตได้อีกครั้ง โดยการทดลองที่ว่าเกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ในเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งในแคนาดาที่มีประชากรเพียง 17,000 คน เท้าความก่อนว่า ในช่วงเวลานั้น ประชาชนชาวแคนาดากำลังรู้สึกกังขาต่อแนวคิดรัฐสวัสดิการที่รัฐบาลค่อยๆ ผลักดัน ด้วยเป้าหมายของรัฐสวัสดิการคือ การคุ้มครองและรองรับประชาชนทุกคนให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคง ไม่ให้มีใครต้องยากจน หากชาวแคนาดากลับมองว่า ภายใต้การพยายามผลักดันแนวคิดนี้ของรัฐบาล พวกเขากลับมองเห็นแต่ความไร้ประสิทธิภาพ ไม่มีใครเชื่อว่า รัฐสวัสดิการจะครอบคลุมประชากรทุกคนได้จริงๆ

ก่อนหน้านี้รัฐสวัสดิการทำหน้าที่อุดช่องโหว่ด้วยการอุ้มที่อยู่ต่ำกว่าระดับที่กำหนดและดันพวกเขากลับขึ้นไปในระดับที่เหมาะสม แต่มีคนตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าความไม่มั่นคงคือการมีเงินไม่พอใช้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราให้เงินทุกคนอย่างเพียงพอโดยไม่มีพันธะผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าทุกปีประชาชนชาวแคนาดาทุกคนไม่ว่าเด็กหรือแก่จะได้รับเช็คเป็นจำนวนเงินที่เพียงพอสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยยอดเงินจำนวนนี้เป็นตัวเลขที่คำนวณมาอย่างรอบคอบ คราวนี้คุณก็จะมีเงินพอใช้ แต่ไม่มากพอสำหรับซื้อของฟุ่มเฟือย พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่า รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (universal basic income) แทนที่จะกางตาข่ายไว้คอยรองรับคนที่หล่นลงมา พวกเขาเสนอให้ยกระดับพื้นที่ที่ทุกคนอยู่ให้สูงขึ้นแทน

การทดลองที่เกิดขึ้นในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ คือการที่ชาวเมืองจะได้รับเงินจากรัฐบาล 19,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ น่าเสียดายว่า หลังจากที่เวลาผ่านไปสามปี อำนาจของรัฐบาลแคนาดาก็ได้เปลี่ยนมือจากฝั่งเสรีนิยมไปอยู่ในฝั่งอนุรักษนิยมแทน การทดลองนี้จึงเป็นอันต้องสิ้นสุดลง แต่ถึงอย่างนั้น ระยะเวลาเพียงสามปีก็เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นผลลัพธ์ของรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า

ฮารีเล่าว่า ผู้คนในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ต่างยืนยันว่า ไม่เพียงแต่เงินที่ได้รับจะช่วยให้พวกเขาหลุดพ้นจากสภาพง่อนแง่นไร้ความมั่นคงได้เป็นครั้งแรกในชีวิตเท่านั้น แต่มันยังขจัดความเครียดจากการต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นปลิดทิ้ง อีกผลลัพธ์หนึ่งของการทดลองที่ฮารีเห็นว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ

โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลในชุมชนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนโรคซึมเศร้ารุนแรงและความผิดปกติทางสุขภาพจิตอื่นๆ ที่เคยหนักหนาสาหัสจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ลดลงร้อยละ 9 ภายในเวลาเพียงสามปีเมื่อรายได้ในแต่ละเดือนมั่นคงขึ้น ความเครียดในชีวิตประจำวันจึงค่อยๆ ถูกทุเลาลงไป ในขณะที่ภาพของอนาคตที่เคยเลือนพร่าก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าช่วยเพิ่มอำนาจเล็กๆ ให้กับผู้คนในเมือง

กล่าวคือ เมื่อผู้คนมีรายได้เพียงพอ พวกเขาจะกล้าที่จะลุกขึ้นปฏิเสธงานหรือคุณภาพชีวิตใดๆ ที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวพวกเขา โดยที่ในระยะยาว รายได้พื้นฐานถ้วนหน้าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ลง และมันอาจช่วยลดอัตราการเกิดโรคซึมเศร้าอันเป็นผลสืบเนื่องจากฐานะทางสังคมที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่แม้ผลลัพธ์การทดลองนี้จะฟังดูเข้าท่าเพียงใด ฮารีก็ไม่ลืมที่จะย้ำเตือนถึงความท้าทายต่อการผลักดันนโยบายรัฐสวัสดิการในสังคมปัจจุบัน

เราต้องยอมรับตรงๆ ว่านี่คือข้อเสนอที่ราคาแพงลิ่ว การประกันรายได้ที่แท้จริงต้องใช้เงินก้อนใหญ่จากมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งยังเป็นเป้าหมายที่ห่างไกลในขณะนี้ แต่ข้อเสนอโครงการที่สร้างความเป็นอารยะทุกชิ้นล้วนเริ่มจากความฝันในอุดมคติทั้งนั้น ตั้งแต่รัฐสวัสดิการ สิทธิสตรี ไปจนถึงความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ถ้าเราเริ่มถกเถียงหารือกันตั้งแต่วันนี้ โดยมองว่าโครงการนี้เป็นยาต้านซึมเศร้าชนิดหนึ่ง เป็นหนทางรับมือกับความเครียดที่คุกคามไปทั่วและฉุดให้เราจมลงในห้วงความทุกข์ และในระยะยาวมันจะช่วยให้เรามองเห็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราหดหู่เศร้าหมองกันตั้งแต่ต้นนี่เป็นวิธีการกู้คืนอนาคตที่มั่นคงให้แก่คนที่ไม่อาจมองเห็นอนาคตของตนเอง และเป็นหนทางในการกู้คืนพื้นที่หายใจของพวกเราทุกคน เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมของเราเอง

อย่างที่ได้กล่าวไปว่าข้อเสนอที่ผมยกมานี้เป็นเพียงหนึ่งข้อเล็กๆ ของแนวทางการฟื้นฟูความสัมพันธ์ 7 ข้อ ในฐานะยาต้านซึมเศร้าทางสังคมและทางจิตวิทยา และแม้ว่าจะยังมีข้ออื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง หากนั่นก็ไม่ได้แปลว่า อีก 6 ข้อที่เหลือจะไม่สำคัญแต่อย่างใด เพียงแต่สาเหตุที่ผมเลือกข้อเสนอที่ว่าด้วยความไม่มั่นคงต่ออนาคตมาพูดถึง เพราะมันสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ปัจจัยทางสังคมส่งผลต่อภาวะซึมเศร้ายังไง

ฮารีชี้ว่า ภายใต้การยึดถือคำอธิบายทางชีววิทยาเพียงอย่างเดียวที่มองว่า ต้นเหตุของภาวะซึมเศร้าคือสารเคมีในสมองไม่สมดุล ไม่เพียงจะเป็นการยัดเยียดให้ปัจเจกต้องรู้สึกว่า ร่างกายของพวกเขาบกพร่อง แต่ยังเป็นการผลักความรับผิดชอบทั้งหมดต่อการเยียวยาตัวเองไปยังบุคคลหนึ่งๆ อย่างไม่สนใจไยดี

ถึงตรงนี้ ไม่ได้แปลว่าฮารีกำลังบอกให้ทุกคนเลิกกินยาต้านเศร้า เพราะเขายืนยันว่า “…แต่นั่นไม่ได้แปลว่ายาต้านซึมเศร้าไม่ได้ไม่มีอะไรดีเลย นักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือบางคนให้ความเห็นว่า ยาต้านซึมเศร้าช่วยบรรเทาอาการให้คนไข้กลุ่มเล็กๆ ได้ชั่วคราว และเราไม่ควรเลิกใช้ยานี้ เรื่องหลอกลวงคือคำกล่าวที่อ้างว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองไม่สมดุล และบอกว่าหนทางรักษาอันดับแรกสำหรับคนส่วนใหญ่คือยาเคมีต้านซึมเศร้า ข้อมูลดังกล่าวทำเงินให้อุตสาหกรรมยากว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักว่าทำไมเราถึงยังใช้ยาตัวนี้กันอยู่

พูดอีกอย่างคือ เสรีนิยมใหม่เป็นอุดมการณ์สำคัญที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลัง ผ่านคำประกาศของมาร์กาเรต แทตเชอร์ ที่กล่าวไว้ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าสังคมหรอก มีแต่ปัจเจกบุคคลและครอบครัวของพวกเขา” นั่นทำให้ปัจเจกชนกลายเป็นคำตอบของทุกอย่าง

 

ที่ผ่านมาเราผลักการแก้ปัญหาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลให้เป็นภาระของคนไข้เพียงผู้เดียว เราสั่งสอนหรือหลอกล่อพวกเขาโดยบอกให้เขาพยายามมากขึ้น (หรือไม่ก็กินยาต้านซึมเศร้าซะ) แต่ถ้าปัญหาไม่ได้เกิดจากพวกเขาฝ่ายเดียว พวกเขาย่อมแก้คนเดียวไม่ได้ เราต้องรวมพลังเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของเราร่วมกัน เพื่อขจัดสาเหตุของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลที่สร้างความทุกข์ใจอย่างล้นเหลือ

ความเศร้าเป็นเรื่องปกติ คือสิ่งที่ย้ำเตือนว่าเราคือมนุษย์คนหนึ่งที่มีอารมณ์ความรู้สึก มีความรักได้ มีความผูกพันได้ เจ็บปวดได้ และร้องไห้เป็น ความเศร้ามีระยะเวลาของมัน สั้นบางยาวบ้าง แตกต่างกันไป โดยระยะเวลาที่สั้นยาวไม่เท่ากันนี้ ก็ไม่ได้แปลว่ามนุษย์คนหนึ่งจะผิดปกติกว่ามนุษย์อีกคนแต่อย่างใด

โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องที่ปัจเจกจะต้องรับผิดชอบด้วยตัวคนเดียว ไม่ใช่ความบกพร่องทางร่างกายของใครคนหนึ่งคนใด ในสังคมปัจจุบันที่ผู้คนนับล้านๆ ต่างเผชิญหน้ากับความโดดเดี่ยว วิตกกังวล และซึมเศร้า การตัดขาดจากสังคมไม่ใช่ทางออก แต่เป็นการเชื่อมโยงกับผู้คนต่างหากที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อปัจจัยต่างๆ อันเป็นต้นเหตุของภาวะซึมเศร้า

แน่นอน นั่นไม่ใช่เรื่องที่ทุกๆ คนจะทำกันได้ และฮารีก็ย้ำชัดว่า เขาไม่ได้กำลังบอกว่าผมทำได้แล้ว คุณก็ทำได้เช่นกันเพราะในความเป็นจริง มนุษย์ทุกคนต่างมีเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป เขากล่าวว่า

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ควรและต้องไม่พูดถึงการแก้ปัญหาโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลโดยพิจารณาแค่ความเปลี่ยนแปลงเชิงปัจเจกบุคคลเท่านั้น การบอกคนอื่นว่าวิธีแก้อยู่ที่การปรับเปลี่ยนชีวิตของคุณเพียงอย่างเดียวหรือขึ้นอยู่กับวิธีนี้เป็นหลักถือเป็นการปฏิเสธหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมได้เรียนรู้ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ เมื่อคุณเข้าใจแล้วว่าโรคซึมเศร้าถือเป็นปัญหาที่สังคมมีร่วมกันในระดับหนึ่ง ซึ่งมีสาเหตุจากบางอย่างที่ไม่ถูกต้องในวัฒนธรรมของเรา ก็เป็นที่ชัดเจนว่าสังคมต้องหาวิธีแก้ร่วมกันในระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน เราต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของเราเพื่อให้คนจำนวนมากขึ้นได้มีอิสระที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของตัวเขาเอง

สำหรับฮารี โรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นแค่เรื่องของปัจเจก หากยังเป็นเรื่องที่สังคมต้องเข้าใจ ในแง่นี้ ทางออกจากโรคซึมเศร้าจึงไม่ได้อยู่ที่ความรับผิดชอบของปัจเจกเพียงผู้เดียว แต่โครงสร้างทางสังคมเองก็ต้องถูกตั้งคำถาม เปลี่ยนแปลง และแก้ไข

อาจฟังดูไม่ง่ายนัก แต่ก็เช่นเดียวกับแนวคิดรัฐสวัสดิการ สิทธิสตรี และความเท่าเทียมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เสียเลย

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

ชีวิตต้องมีสีสัน