12 ครีเอเตอร์ไทยบินลัดฟ้าหาความรู้ เสริมไอเดียด้านการออกแบบคาแรกเตอร์ ณ ประเทศญี่ปุ่น กับทริป LINE STICKERS CONTEST 2022

โตเกียวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะตามมิวเซียมและสวนสาธารณะต่างๆ นั้น คึกคักไปด้วยผู้คน และเต็มไปด้วย vibe ของความเป็นครอบครัว คุณจะเห็นพ่อแม่พาลูกๆ เดินชมมิวเซียม เด็กๆ ปั่นจักรยานตามท้องถนน บ้างซ้อมเบสบอลในสนาม เช่นเดียวกับหนุ่มสาวที่ใช้เวลาพักผ่อนหย่อนใจไปกับกิจกรรมนอกบ้าน

a day มีโอกาสไปเยือนโตเกียวในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ซึ่งอากาศหนาวกำลังดี กับทริป LINE STICKERS CONTEST 2022 ที่ LINE ประเทศไทย พาครีเอเตอร์ผู้ชนะการแข่งขันทั้ง 12 คน เดินทางไปหาความรู้ เสริมไอเดีย และร่วมเวิร์กช็อปถึงประเทศญี่ปุ่น พร้อมเก็บเรื่องราวที่น่าสนใจมาฝากในสกู๊ปพิเศษชิ้นนี้

การประกวดในหัวข้อ ‘สติกเกอร์ต้องมี’

ก่อนอื่นคงต้องเล่าว่า ทริปนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม LINE STICKERS CONTEST 2022 ประกวดทำสติกเกอร์ LINE ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว มาในหัวข้อ ‘สติกเกอร์ต้องมี’ 

วิธีการแข่งขันคือ ในรอบคัดเลือก ผู้เข้าร่วมประกวดจะต้องออกแบบสติกเกอร์ภายใต้หัวข้อดังกล่าว จำนวน 3 แอ็กชัน พร้อมคำบรรยายถึงแนวคิดของผลงาน โดยคณะกรรมการจะเป็นผู้คัดเลือกผู้ประกวด 30 คนมาแข่งในรอบสุดท้าย ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้ มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 800 ผลงาน

จากนั้นทั้ง 30 คนนี้จะได้รับเวิร์กช็อปที่ออฟฟิศของ LINE ประเทศไทยก่อน ก่อนที่จะออกแบบสติกเกอร์ทั้งเช็ตเพื่อวางขายจริงในตลาด เพื่อแข่งขันการขายสติกเกอร์ยอดนิยม ภายใต้หัวข้อต่อไปนี้ คนละกี่หัวข้อ กี่เซตก็ได้ 

  • LOVE & Caring (สติกเกอร์ส่งรัก)
  • Everyday (สติกเกอร์ใช้ได้ทุกวัน)
  • Sarcastic (สติกเกอร์จิกกัด)
  • Working (สติกเกอร์ทำงาน)
  • Minimal (สติกเกอร์มินิมอล)

และผู้ที่มียอดขายสูงสุด 12 อันดับจะเป็นผู้ชนะการแข่งขันได้ร่วมทริปเดินทางไปญี่ปุ่น 

ทริป LINE STICKERS CONTEST 2022 ครั้งนี้ ผู้ชนะทั้ง 12 คนจะได้เข้าชมสถานที่สร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบต่างๆ อาทิ พิพิธภัณฑ์จิบลิ (Ghibli Museum), พิพิธภัณฑ์ SNOOPY, พิพิธภัณฑ์ FUJIKO F. FUJIO นักวาดการ์ตูนผู้โด่งดัง เจ้าของผลงานโดราเอมอน รวมไปถึง teamLab Planets TOKYO และย่าน Tokyo Character Street 

นอกจากนี้ยังมีไฮไลต์อยู่ที่การเข้าร่วมเวิร์กช็อปเพื่อพัฒนาต่อยอดสำหรับครีเอเตอร์ กับทีม LINE STICKERS ประเทศญี่ปุ่น ณ LINE Corporation Headquarter พร้อมรับฟังบรรยายเกี่ยวกับแผนปัจจุบันและแนวทางในอนาคตของ LINE STICKERS โดย นาโอโตโมะ วาตานาเบ (Naotomo Watanabe) Executive Officer, LINE Corporation ประเทศญี่ปุ่น

อิสรี ดำรงพิทักษ์กุล หรือ บี ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ Consumer Business, LINE ประเทศไทย กล่าวถึงทริปนี้ว่า 

“การเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาดูงานและร่วมเวิร์กช็อปในทริป LINE STICKERS CONTEST 2022 ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อดึงดูดและสนับสนุนครีเอเตอร์หน้าใหม่ของไทยให้มีแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานและพัฒนาผลงานเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นครีเอเตอร์ระดับมืออาชีพที่สามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจลิขสิทธิ์ต่างๆ ได้ โดยมี LINE เป็นพันธมิตรสำคัญในการช่วยส่งเสริมทักษะและสร้างโอกาสทางธุรกิจควบคู่กัน” 

คุณหมีสีน้ำตาลกับท้องฟ้าที่เป็นสีฟ้าของโตเกียว  

“เห็นฟ้าที่นี่แล้วเข้าใจเลยว่าทำไมฟ้าในการ์ตูนญี่ปุ่นถึงเป็นแบบนั้น” ส้ม-ณัฐรดา สุวรรณ เอ่ยขึ้น ขณะเดินถ่ายรูปเล่นอยู่ในพาร์กริมทะเลย่านโอไดบะ

เธอคือ 1 ใน 12 ผู้ชนะ LINE STICKERS CONTEST 2022 ที่ได้ร่วมทริปมาในครั้งนี้ และนี่เป็นการมาเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกของเธอ

ส้ม-ณัฐรดา สุวรรณ 1ใน 12 ครีเอเตอร์ผู้ชนะ LINE STICKERS CONTEST 2022

“คือท้องฟ้ามันสวยมาก หนูรู้สึกเลยว่าเขาอยู่ในที่ที่ดี อยู่ในสถานที่ที่ท้องฟ้าเป็นสีฟ้า ทุกอย่างสวยงาม สิ่งแวดล้อมรอบข้างดี”

จุดนี้ทำให้เธอได้ข้อคิดสำคัญที่เอาไปกับการทำงานพัฒนาคาแรกเตอร์ได้

“เราสามารถเอาทุกๆ อย่างที่เราเจอในชีวิตประจำวัน ท้องฟ้าที่เป็นสีฟ้าสวย ดอกไม้ข้างทางที่น่ารัก มาทำให้คาแรกเตอร์ของเราไปพบเจอกับสิ่งๆ นั้นได้ อย่างคุณหมีที่หนูวาดก็สามารถเอาไปพบเจอกับท้องฟ้าที่สวย ทุ่งดอกไม้ หรืออะไรก็ได้ ถ้าเราไปเจอสิ่งดีๆ เราก็มีแรงบันดาลใจ มีไอเดียเพิ่มขึ้นในการสร้างคาแรกเตอร์ของเรา”

ปัจจุบันส้มมีสติกเกอร์ LINE ขายอยู่ในระบบประมาณ 10 เซต ซึ่งเธอบอกว่าถือว่าน้อยถ้าเทียบกับคนอื่นๆ ส่วนสติกเกอร์เซตที่ชนะการประกวดของส้มอยู่ในหัวข้อ Working (สติกเกอร์ทำงาน) โดยวาดเป็นหมี คาแรกเตอร์หลักที่เธอใช้มาตั้งแต่แรก แต่ปรับให้มีหลายสีตามวันทำงาน และใช้คำอย่าง กาแฟมั้ยงับ, บรีฟมาเลยค่า, ลาที่ดีคือลาออก, เอางานมาอีก, เมื่อไหร่จะสิ้นเดือน, งานไม่เยอะแน่นะวิ, งงมากนะ, เกียมกลับบ้าน ซึ่งเป็นเซตที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตการทำงานจริง

สติกเกอร์เซตที่ชนะการแข่งขันสติกเกอร์ยอดนิยมของส้ม

“หนูทำงานประจำอยู่ด้วยช่วงนั้น แต่ตอนนี้ฟรีแลนซ์รับงานกราฟิกกับวาดรูป ก็เอาคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันตอนทำงานมาใช้ เพราะว่าที่ทำงานก็ใช้ไลน์ในการพูดคุยติดต่อกันเหมือนกัน หนูก็เลยใช้คำที่น่าจะใช้บ่อยกับคำที่ใช้กับเพื่อนร่วมงาน”

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ส้มเริ่มวาดสติกเกอร์ LINE เมื่อปลายปี 2564 เพราะตอนนั้นต้องการหาเงินไปรักษาแมวจรป่วยแถวที่ทำงาน 

“เอาตรงๆ จุดเริ่มต้นก็คืออยากหาเงินเพิ่ม เพราะว่าหนูเคยวาดภาพตอนเด็กๆ ขายเป็นโลโก้ในอินสตาแกรม แล้วก็ห่างไปนานหลายปีมากๆ ช่วงนั้นทำงานประจำอยู่ที่หนึ่ง แล้วแมวที่เป็นแมวจรป่วยหนัก ต้องใช้เงินรักษาเป็นจำนวนมาก หนูก็เลยกลับมาวาดรูปอีกครั้งหนึ่ง อยากหาเงินรักษาแมว หนูวาดเป็นคุณหมีสีน้ำตาล แล้วก็คุณหมีสีน้ำตาลนี้มาตลอดเลย รู้สึกว่ามันดูอบอุ่น ดูขนฟู ดูอ้วนดี แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงปลายปี ช่วงคริสมาสต์พอดี ก็เลยวาดให้มันเข้ากับเทศกาลด้วย แบบให้คุณหมีใส่ชุดซานต้า จนได้เซตคริสมาสต์ขึ้นมาเป็นเซตแรก”

ส้มเริ่มจากลองหาในยูทูบเอา ว่าการทำสติกเกอร์ LINE ต้องทำยังไง ย่อภาพประมาณไหน แล้วก็ลองทำของตัวเองดู โดยตอนนั้นใช้เวลาทำประมาณเดือนกว่าๆ เพราะต้องทำงานประจำไปด้วย

“ผลตอบรับตอนแรกๆ เป็นเพื่อนรวมทั้งครอบครัวช่วยซัพพอร์ต เพราะว่ารู้ว่าทำเพื่อหาเงินรักษาแมว ตอนนั้นได้เงินประมาณ 7,000 บาท แต่ว่าสุดท้ายแมวตัวนั้นก็ไม่รอดอยู่ดี”

มาญี่ปุ่นกับ LINE ทริปนี้ส้มอินทุกอย่าง ใช้เวลากับทุกที่นานๆ  

“เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก รู้สึกว่าที่ญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญกับเรื่องคาแรกเตอร์มาก และมีมิวเซียมที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับคาแรกเตอร์นั้นๆ เยอะ หนูชอบสนูปปี้มิวเซียมมาก โดยเฉพาะห้องเวลคัมที่มีฉายโปรเจกเตอร์ ดีมากเลย เข้าไปก็ได้เห็นสนูปปี้หลายแบบ ที่ค่อยๆ พัฒนามาจนมีสนูปปี้หน้าตาแบบนี้ ได้เห็นว่าเขาก็ปรับมาเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ใช้เวลาเหมือนกัน เพราะว่าของเราแรกๆ ก็ผิดพลาดเหมือนกัน” 

อีกที่หนึ่งที่ส้มประทับใจมากๆ คือ teamLab

“ชอบ teamLab มากเลย หนูรู้สึกว่าหนูกับเนย (เพื่อนครีเอเตอร์อีกคน) ใช้เวลาในนั้นนานมากกว่าคนอื่นเลย คือเลิศมาก หนูกับเนยเดินอยู่ในบ่อที่มันมีฉายภาพปลาจนเท้าจะเปื่อยอยู่แล้ว เพราะมันสวยมาก กับอีกห้องหนึ่งที่เป็นดอกไม้เหมือนบ้านหมุนก็ดีมาก เขาใช้กระจกมาทำให้มันดูกว้าง แต่จริงๆ ห้องไม่ได้กว้างขนาดนั้น หนูก็นอนอยู่กับเนยสองคนในนั้นนานมาก แล้วทุกคนก็นอนกัน กลัวคนเหยียบหัวเหมือนกัน เพราะว่ามันมืด (หัวเราะ) หนูกับเนยใช้เวลาข้างใน teamLab คุ้มมาก”

ความฟูลฟิลของน้อง fluffy

จิบลิมิวเซียมในช่วงเช้าวันเสาร์ผู้คนคึกคัก ระหว่างต่อแถวเข้าไปข้างในได้ยินเสียงร้องของกาอันเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของโตเกียวดังก้องมาจากยอดไม้ พร้อมเสียงสีไวโอลินจากนักดนตรีเปิดหมวกบริเวณสวนข้างๆ ลอยมา

เนย-ปรรณสรณ์ จารุศิริพจน์ 1 ใน 12 ครีเอเตอร์ผู้ชนะการประกวด ผู้เป็นคู่ซี้ประจำทริปของส้ม เป็นแฟนคลับตัวยงของสตูดิโอจิบลิ เธอบอกว่า รู้สึกอิ่มเอมกับการมาที่นี่มาก

“ทริปนี้ชอบที่จิบลิเป็นพิเศษค่ะ เพราะส่วนตัวเป็นแฟนคลับของค่ายนี้อยู่แล้ว พอได้เข้าไป ชอบตรงที่เขาใส่ดีเทลในทุกๆ สิ่งที่เราได้ไปเหยียบ ตรงผนัง ที่ประทับใจมากๆ ก็ตรงกระจกที่เขาทำให้แสงมันส่องลงมาเป็นสีๆ รู้สึกสวยมาก แล้วเหมือนเขาไม่ได้แค่เอาตัวละครมาแปะๆ ในสถานที่ แต่เขาคิดมาแล้วดีเทลว่าต่างๆ บ้านในยุคนั้นเป็นยังไง และก็ชอบที่เขาทำออกมาให้เราได้ดูวิธีคิดของเขา โปรเซสการทำงาน มีห้องที่โชว์งานวาดมือ พอได้ไปดูด้วยตาจริงๆ ก็รู้สึกว่า เขาเก่งมาก ฟูลฟิลเรา”

เนย-ปรรณสรณ์ จารุศิริพจน์ 1 ใน 12 ครีเอเตอร์ผู้ชนะการประกวด

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายที่ที่สร้างความประทับใจให้กับเนย

“จริงๆ ชอบสนูปปี้อยู่ด้วย ประทับใจอย่างทางตรงบันไดก็จะมีสัญลักษณ์เป็นหมาวิ่งลงบันไดน่ารักมาก พอได้ไปก็ได้เห้นว่าสนูปปี้ยุคแรกเป็นยังไง ยุคต่อมาเป็นยังไง โดเรมอนก็ประทับใจ เหมือนกับว่าเราโตมากับสิ่งนี้ พอได้ไปเห็นของจริง อย่างโมเดลที่เป็นบ้านโนบิตะ ก็รู้สึกว่าที่เราจินตนาการไว้มันออกมาเป็นรูปร่างจริงๆ ชอบความดีเทลของเขา 

“อีกที่ที่ชอบก็จะคือ teamLab เขาทำได้ถึงมาก คือเราอาจจะเคยไปบางที่ที่เขาทำคล้ายๆ กัน แต่ว่าเราไม่ได้รู้สึกถึงมันได้ขนาดนั้น แต่อันนี้คือเราเข้าไปแล้วรู้สึกถึงความตั้งใจที่เขาอยากจะแสดงให้คนที่ดูได้รับรู้ ซึ่งก็ได้แรงบันดาลใจมาเยอะมาก อย่างเช่นห้องที่เป็นดอกไม้ ก็เอาแรงบันดาลใจจากตรงนั้นไปทำสติกเกอร์ LINE เซตล่าสุดด้วย” 

เป็นครั้งแรกที่เนยได้มาญี่ปุ่นเช่นเดียวกับส้ม ซึ่งเธอได้ข้อคิดมุมมองต่างๆ กลับไปมากมาย

“เราได้เห็นว่าการคิดคาแรกเตอร์ของเขาเป็นการคิดที่เจาะลึก ทุกตัวมีความเป็นมา มีรายละเอียด ไม่ใช่อยากวาดก็วาดขึ้นมา ก็เลยเหมือนคาแรกเตอร์นั้นมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ซึ่งรู้สึกประทับใจ และได้นำเอาความรู้สึกนั้นมาใส่กับคาแรกเตอร์ของเรา” 

ปัจจุบันเนยทำแบรนด์ของตัวเอง ชื่อว่า Butter Club (Instagram: butterclub.th) ทำทั้งฟิสิคัลโปรดักต์และดิจิทัลโปรดักต์ พวกสติกเกอร์ โปสการ์ดโปสเตอร์ ควบคู่ไปกับการเป็น LINE ครีเอเตอร์ด้วย โดยทำทั้งสองอย่างมาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว

“จุดเริ่มต้นคือ ช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ เป็นความฝันอยู่แล้วที่อยากทำแบรนด์ตัวเอง อยากออกสินค้าที่ตัวเองวาด แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่ลายเส้นของเรายังไม่คงที่ เลยเกิดความคิดว่า อยากฝึกการวาดของเรา ก็เลยได้ไปลองวาดสติกเกอร์ LINE เพราะว่าสติกเกอร์ LINE มี 40 แอคชั่น เราก็เลยใช้จุดนี้ฝึกวาด ค่อยๆ พัฒนาคาแรกเตอร์ของเราขึ้นมา จนเราพอใจในลายเส้นนี้แล้ว ก็ทำควบคู่กันมาเรื่อยๆ จริงๆ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะมาเป็นครีเอเตอร์เต็มตัว แต่ทำไปทำมา เราเริ่มรู้สึกชอบที่จะได้คิดได้วาด ได้พัฒนา”

เนยบอกว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นงานที่ซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน เธอไม่ทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป 

“อย่างเช่น เวลาเราออกสินค้าอะไรมาแล้ว คาแรกเตอร์ในสินค้านั้น เราก็ดึงคาแรกเตอร์ในสินค้านั้นออกมาเป็นสติกเกอร์ LINE ด้วย ตอนแรกที่ทำสติกเกอร์เป็นงานอดิเรก เวลาทำแบรนด์จริงจังไป คิดไม่ออก ก็เลยทำควบคู่กัน ให้มันส่งเสริมกัน ทำให้เรามีไอเดียต่อยอดไปเรื่อยๆ เราเริ่มสนุกที่ได้ทำอะไรแตกต่างจากเดิมเรื่อยๆ พอเราเริ่มสติกเกอร์ทำจริงจัง เราก็เริ่มมองเทรนด์ต่างๆ สติกเกอร์ก็พัฒนาไปพร้อมกับเรา”

สติกเกอร์เซตที่ชนะการแข่งขันสติกเกอร์ยอดนิยมของเนย

ปัจจุบันเนยมีสติกเกอร์ในระบบเกือบ 40 เซต โดยมีคาแรกเตอร์หลักคือ fluffy 

“ชอบที่จะวาดเป็นน้องนุ่มฟู น้องอ้วนๆ ขนปุย ส่วนเซตชนะจะเป็นน้องที่เขียนว่า ‘ตัวตึง chubby cheeks gang’ ในหัวข้อจิกกัด โดยที่อยากวาดน้องที่น่ารัก แต่คำพูดคือจิกมาก คนที่ได้สติกเกอร์ไปก็คือไม่โกรธ ปกติจะถนัดแนวกวนๆ คนจะชอบพูดว่าสติกเกอร์ของเรา ส่งให้ยังไงก็ไม่โกรธ”

ร่วมเวิร์กช็อปกับทีม LINE ประเทศญี่ปุ่น 

มาถึงวันที่ทุกคนได้ไปเยือน LINE Corporation Headquarter ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากทีมงาน LINE ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับเจ้าตุ๊กตาหมี Brown ตัวใหญ่ที่ยืนอยู่ในออฟฟิศให้ทุกคนได้ถ่ายรูปกัน

สำหรับเนื้อหาจากการบรรยายของ นาโอโตโมะ วาตานาเบะ (Naotomo Watanabe) Executive Officer, LINE Corporation ประเทศญี่ปุ่น สรุปเนื้อหาสาระได้ดังนี้ 

ภาพรวมของสติกเกอร์ในปัจจุบัน

  • มีครีเอเตอร์ชั้นนำมากกว่า 200 คน ที่ทำรายได้ทั่วโลกรวมมากกว่า 1 แสนล้านเยนใน 7 ปีที่ Creators Market เปิดขึ้นมา (ข้อมูลรายได้รวม 7 ปี ณ สิ้นเดือนเมษายน 2021 / LINE CREATORS MARKET เปิดในเดือนเมษายน 2014) โดยทำให้เราสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจของครีเอเตอร์ (Creators Economy) ขึ้นมาได้
  • สถานการณ์โควิดเป็นช่วงที่ทำให้เราได้มาทบทวนคุณค่าหลักของสติกเกอร์อีกครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่คนพบ เจอะเจอกันได้น้อยลง การแสดงอารมณ์ผ่านทางสติกเกอร์มากขึ้น
  • ความท้าทายของธุรกิจไลน์สติกเกอร์ในปีนี้ คือ LINE Messenger ยังคงมีปริมานการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณการเติบโตของการส่งสติกเกอร์ยังมีในปริมาณที่น้อยกว่า
  • ภาพรวมการใช้งานอินเทอร์เน็ตของกลุ่มวัยรุ่นมีการปรับเปลี่ยนไป เนื่องจากในปัจจุบันมี Applications ที่ตอบโจทย์การใช้งานในด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น ทำให้ LINE ต้องมีการปรับตัวเพื่อนำเสนอสิ่งที่ต่อใจต่อใช้งานต่อไป
การบรรยายของ นาโอโตโมะ วาตานาเบะ (Naotomo Watanabe) Executive Officer, LINE Corporation ประเทศญี่ปุ่น

ความท้าทายในอีก 10 ปีข้างหน้าของสติกเกอร์

  • จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้งาน LINE สติกเกอร์ยังคงอยู่ในระดับสูงมากที่ 86% และมีกว่า 90% ของผู้ใช้งานที่แจ้งว่ามีประสบการณ์การใช้งานที่สามารถปรับปรุงเพิ่มขึ้นได้
  • เรายังคงเชื่อใน Value ของสติกเกอร์ในการแทนความรู้สึก ซึ่งเรามองว่าเรายังสามารถดึงพลังของสติกเกอร์ที่แท้จริงออกมาได้ไม่ครบ 100% ซึ่งนั่นแปลว่าเราต้องทำงานให้หนักขึ้นเพื่อผลักดันศักยภาพของสติกเกอร์ออกมา
  • อีกทั้งเรายังมีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะช่วยสร้างให้ผู้ใช้งานมีประสบการณ์ใช้งานที่ดีขึ้น เพราะเรื่องที่ LINE STICKERS มักพบจากผู้ใช้งานบ่อยๆ คือ การหาสติกเกอร์ไม่เจอ ซึ่งทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่า LINE STICKERS ใช้งานยาก ซึ่งเรากำลังมองการพัฒนาฟีเจอร์ให้หลากหลายมากขึ้น เช่น
    • การขายสติกเกอร์แยกเป็นรายตัว (จากที่ปกติขายเป็นเซต)
    • การแนะนำสติกเกอร์ในห้องแชทแบบอัตโนมัติให้เหมาะสมกับบทสนทนามากขึ้น
    • ในไต้หวันและญี่ปุ่น เราเปิดมีบริการ LINE STICKERS แบบรายเดือนแล้ว และกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาตลาดและปรับปรุงระบบเพื่อให้บริการในประเทศไทยต่อไป

หลังอาหารมื้อค่ำในวันนั้นที่ Tokyo Station เราได้มีโอกาสสนทนากับผู้บริหารของ LINE ประเทศไทย บี-อิสรี ดำรงพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ Consumer Business ซึ่งได้เล่าให้เราฟังถึงทิศทางของสติกเกอร์ LINE ที่วางไว้ในปีนี้  

“ปีนี้เราเน้นเรื่องควอลิตี้คอนเทนต์ค่ะ ที่ผ่านมาครีเอเตอร์อิงความเป็นโควิดเยอะ คอนเทนต์ก็จะถูกจำกัดอยู่ไม่กี่เรื่อง เหมือนคนยังไม่ได้กลับมาใช้ชีวิต 3 ปีที่ผ่านมาเราใช้ชีวิตแบบลักษณะเดียวกันหมดเลย เพราะฉะนั้นสติกเกอร์มันเลยคล้ายๆ กันทั้งหมด แต่ตอนนี้โลกกลับมาเปิดแล้ว เลยต้องพยายามดึงกลับมาว่า ให้คอนเทนต์หลากหลายได้มากพอ เช่น ช่วงที่ผ่านมาไม่มีสติกเกอร์เรื่องท่องเที่ยวเลย จะมีแต่สติกเกอร์เรื่องทำงาน เรื่องอยากออกจากงาน แต่เป็นอารมณ์ที่มีโควิด เลยไม่สามารถเลือกได้ ไม่สามารถไปไหนได้ ก็ต้องอดทน” 

เธอเล่าต่อถึงเทรนด์สติกเกอร์ที่มาแรงในบ้านเรา   

“ตอนนี้สิ่งที่มาคือ สายมูที่มีความน่ารัก คือธีมนี้แบบที่เป็นรูปจริงๆ ขายไม่ค่อยได้ แต่ถ้ามาเป็นแนวการ์ตูนเมื่อไหร่ปุ๊ป แล้วมีความเชื่ออยู่นิดๆ ขายได้ดีเลย ทางเราก็คือสนับสนุนเต็มที่” 

สำหรับครีเอเตอร์หน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาจับงานนี้ เธออยากสื่อสารว่า ครีเอเตอร์สติกเกอร์ LINE เป็นงานที่จริงจัง และต้องการการวางแผนที่ชัดเจน

“บีอยากให้ครีเอเตอร์เข้าใจว่า สติกเกอร์ 2 ชุดแรก อาจจะขายได้ด้วยความที่ว่า ฉันอยากจะทำสติกเกอร์ตามแนวของฉัน แต่พอเริ่มเซต 3 ปุ๊ป ถ้าเกิดแกนหลักหรือสไตล์ไกด์เขาไม่มั่นคง จะเริ่มไปต่อไม่ได้ หรือไม่ก็ซ้ำของเดิม เพราะเหมือนเขาไม่ได้ดูว่าตัวคาแรกเตอร์เขาจะโตไปยังไง ตรงนี้เลยกำลังหาทางกันอยู่ว่า จะทำยังไงให้เขาเข้าใจว่า มันต้องมีการวางแพลนไปมากกว่าสิ่งที่ตัวเองอยากทำ

“เพราะฉะนั้น ช่วงนี้ถ้าเราได้มีการทำอะไรร่วมกับครีเอเตอร์ ส่วนมากเราจะให้เขาทำสไตล์ไกด์ อย่างตอนที่เราเข้าไปมิวเซียมของโดเรมอน จะมีกระดาษที่เขาวาดไว้ อันนี้เรียกว่าสไตล์ไกด์ คุณต้องรู้ไปเลยว่าคาแรกเตอร์คุณหนึ่งตัว จะให้เขามีนิสัยแบบไหน เช่น เป็นผู้หญิงเรียบร้อยที่ไม่ค่อยพูดนะ แล้วเซตโทนไปเลยว่า อันนี้คือภาพปกติของเขา อันนี้คือเซตที่เขาโกรธ การแสดงออกก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง”

เราถามเธอว่า ทริปนี้จุดไหนที่อยากเน้นให้ครีเอเตอร์ได้รับเป็นพิเศษ 

“จุดที่เราพาไปแต่ละที่ เพื่อจะบอกเขาว่า มันไม่ใช่แค่ 2D ไม่ใช่แค่การกระดุ๊กกระดิ๊กแล้วนะ จะต้องเห็นแล้วนะว่า โดเรมอนก็อยู่ในกระดาษมาก่อน แต่ตอนนี้มีพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง สนูปปี้มาจากการ์ตูนในหนังสือพิมพ์นะ ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ แล้วพิพิธภัณฑ์ที่พาไป ทุกที่มีสตอรี ว่าเขาค่อยๆ โตมายังไง ตัวนี้บีว่าหลักๆ คือแรงบันดาลใจ แล้วก็คือพยายามบิลด์เขาว่า ถ้าคุณไปได้เราพร้อมส่ง เพราะบีไม่ได้มองว่า ครีเอเตอร์ทุกคนจะต้องจบอยู่แค่ที่ LINE ครีเอเตอร์สติกเกอร์ 

“อยากให้เขามองว่า LINE สติกเกอร์เป็นจุดที่คุณจะเทสต์ คือคาแรกเตอร์ เรารักคนเดียวไม่ได้ ถ้าเราอยากได้เงิน เรามาเทสต์ก่อนเลย แล้วการเทสต์ที่ง่ายที่สุดคือออนไลน์ เพราะมันไม่มีต้นทุน ถ้าคาแรกเตอร์เริ่มเป็นที่ยอมรับปุ๊ป คุณยอมปรับนิดหน่อย ให้เลือกได้เลยว่า ต่อไปในอนาคตอยากจะโตต่อไปในตลาดไทย อยากจะโตไปเมืองนอก หรืออยากจะออกจาก LINE สติกเกอร์ เราก็จะมีเวย์ของการซัพพอร์ตเขาทั้งสามทาง” 

ครีเอเตอร์สติกเกอร์ LINE ในฐานะอาชีพ    

ทิ้งท้ายทริปญี่ปุ่น LINE STICKERS CONTEST 2022 กับสองสาวครีเอเตอร์ส้มกับเนย ซึ่งได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ดีๆ ไปมากมาย พวกเธอมีเป้าหมายต่อไปอย่างไรเกี่ยวกับอาชีพทำสติกเกอร์ LINE 

ส้มบอกว่า ตอนแรกก็ไม่คิดว่าเป็นอาชีพได้

“คิดว่าเป็นอาชีพเสริมมากกว่า ในความคิดหนูตอนแรกนะ แต่ว่าพอเห็นพี่ๆ ที่ไปด้วยกันแล้ว ทำไมพี่เขาทำเยอะมาก แล้วขายดี หนูอิจฉาเลย หนูอยากทำเยอะอย่างนั้นบ้าง หนูคิดว่ามันก็เป็นอาชีพหลักได้จริงๆ ถ้าเราขยัน เพราะว่าพี่หลายคนก็เอาอันนี้เป็นงานประจำเหมือนกัน รายได้คือเลิศ แต่ว่ามีพี่คนหนึ่งบอกว่า พี่ใช้หนี้ในการเป็นแพสชัน พอเรามีหนี้สินแล้วเราจะขยันมาก (หัวเราะ)” 

ส่วนเนยบอกว่า ขอแค่มีความชอบและความตั้งใจจริง โอกาสในวงการครีเอเตอร์ยุคนี้เปิดกว้างสำหรับทุกคน 

“จากเมื่อก่อนที่เรายังไม่ได้เข้ามาทำ รู้สึกว่าอาชีพนี้มันดูห่างไกล ดูคนที่เป็นครีเอเตอร์เก่งจังเลย พอยุคสมัยผ่านไป ได้มาทำ รู้สึกว่าเราเข้ามาเป็นครีเอเตอร์ได้ แค่เรามีความชอบ เราอยากจะสร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมา รู้สึกว่าวงการครีเอเตอร์เปิดรับนักวาดใหม่ๆ ได้เยอะขึ้นมาก ด้วยความที่มีโซเชียลมีเดียต่างๆ ส่วนเป้าหมายหรือว่าแพลนของตัวเองในการทำอาชีพนี้ต่อไป จริงๆ ตอนนี้มองแค่เป้าหมายเล็กๆ คือ อยากทำคาแรกเตอร์ของเราให้ชัดขึ้น ให้แข็งแรงขึ้น ทำยังไงก็ได้ให้คนเห็นคาแรกเตอร์นี้แล้วจำได้ว่าเป็นของเรา”

AUTHOR