สิ่งหนึ่งที่ทำให้แอพพลิเคชั่นอย่าง LINE ประสบความสำเร็จในบ้านเราคือ การมีฟังก์ชั่นอย่าง LINE Stickers เพราะหัวใจของการสื่อสารระหว่าง ‘มนุษย์’ ไม่ได้มีเพียงแค่ความหมายของถ้อยคำอย่างเดียว การถ่ายทอดอารมณ์หรือความรู้สึกก็สลักสำคัญไม่แพ้กัน
ด้วยความที่สติกเกอร์ไลน์แบกรับหน้าที่ของการสะท้อนน้ำเสียงของคนใช้งาน ไม่แปลกที่ปีที่ผ่านๆ มานี้เราจะเห็นวิวัฒนาการของสติกเกอร์ไลน์ที่ลูกเล่นเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ
จากสติกเกอร์คาแร็กเตอร์นิ่งๆ ก็เริ่มมีตัวหนังสือ (ที่นับวันจะขยายขนาดฟอนต์ใหญ่ขึ้นเพราะว่าคนใช้งานไลน์ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของพวกเรา) ขยับมาอีกยุคก็เริ่มเติมความดุกดิกหรือลูกเล่นอย่างเสียง เดี๋ยวนี้ยิ่งเล่นกับความ ‘เฉพาะบุคคล’ มากขึ้น เช่น สติกเกอร์แบบ custom ที่สามารถใส่ชื่อตัวเองเข้าไป หรือสติกเกอร์ภาษาถิ่นอย่างอีสาน เหนือ เป็นต้น
LINE Creators Market คือแพลตฟอร์มตลาดที่เปิดให้คนทั่วไปอย่างเราๆ สามารถเอาสติกเกอร์ที่ตัวเองออกแบบมาวางขายบนช็อปของไลน์
เรื่องหลังบ้านที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้คือ ไลน์มองครีเอเตอร์เป็นเหมือนพาร์ตเนอร์คนสำคัญที่ต่างฝ่ายต่างช่วยกันทำงาน ในแต่ละประเทศจึงมีทีมที่ดูแล ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ครีเอเตอร์ในการสร้างสรรค์สติกเกอร์ ยาวไปจนถึงดูแลการตลาดให้กับครีเอเตอร์ด้วย
เรื่องน่าสนใจที่ อิสรี ดำรงค์พิทักษ์กุล หัวหน้าธุรกิจ LINE Stickers บริษัท LINE (ประเทศไทย) แชร์ให้เราฟังคือ ทุกวันนี้ทั่วโลกมีไลน์ครีเอเตอร์ราวๆ 2 ล้านคน ในระบบนี้มีไลน์ครีเอเตอร์ชาวไทยราวๆ 5.3 แสนคน (10 เปอร์เซ็นต์ของคนกลุ่มนี้เป็นคนที่ทำสติกเกอร์ไลน์ขายเป็นงานหลัก) และตั้งแต่เปิดตัวในปี 2014 จำนวนไลน์ครีเอเตอร์ไทยโตอยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์โดยเฉลี่ย ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยใช่เล่น
ทว่าความจริงแล้วไทยมีไลน์ครีเอเตอร์ที่แอ็กทีฟหรือทำสติกเกอร์ขายอย่างต่อเนื่องเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนทั้งหมด ฉะนั้นเป้าหมายของ LINE Creators Market ไทยในปีหลังจากนี้คือการทำให้ตลาดไลน์ครีเอเตอร์ไทยแข็งแรงขึ้น ทั้งในแง่จำนวนไลน์ครีเอเตอร์ที่แอ็กทีฟ จำนวนคนที่หันมาทำสติกเกอร์ขายเป็นอาชีพหลัก รวมทั้งคุณภาพของคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศมากขึ้น
หากมองในมุมยูสเซอร์ โดยเฉลี่ยคนไทยหนึ่งคนจะมีสติกเกอร์ราวๆ 40 เซตอยู่ในแอพพลิเคชั่นไลน์ของตัวเอง (คิดแบบถัวเฉลี่ยกับคนที่รักการซื้อสติกเกอร์ที่สถิติบอกว่าบางคนมีมากถึง 500 เซต)
แนวโน้มตลาดที่โตขึ้นเรื่อยๆ คงเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าไลน์ครีเอเตอร์คืออาชีพเสริมที่คนในยุคปัจจุบันให้ความสนใจ และไม่แน่ว่าอาจมีคนวาดสติกเกอร์ไลน์ขายเป็นงานหลักเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เห็นภาพรวมของตลาดสติกเกอร์ไลน์ในไทยกันแบบหอมปากหอมคอแล้ว ขอชวนทุกคนเปิดดูสถิติสติกเกอร์ขายดีในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา เผื่อจะเป็นทิศทางของเทรนด์การสร้างสรรค์สติกเกอร์ปีหน้าดีกว่า
5 อันดับสติกเกอร์ขายดีประจำปีนี้ (นับจากยอดขายตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม) อันดับ 1 คือ Miedie Big Word สติกเกอร์สาวน้อยผมบ๊อบของ TeTezz
ตามด้วยอันดับ 2, 3 และ 4 ที่เป็นสติกเกอร์ซีรีส์เด็กหญิงแก้มยุ้ย ฝีมือ Kitti Ruirekanusorn ได้แก่ Kanoon cute girl animated, Khing Khing hot girl, และ Kanoon cute girl
ส่วนอันดับ 5 คือ Miedie Good Job เซตสติกเกอร์เอาใจคนรักงานของ TeTezz เจ้าเดิม
ไม่แปลกที่ไลน์ครีเอเตอร์ทั้งสองเจ้านี้ติด Top 5 ไลน์ครีเอเตอร์ไทยที่มียอดจำหน่ายสติกเกอร์สูงสุดในปี 2019 ด้วย
ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนชัดเจนว่ากลุ่มสติกเกอร์เจ้าตลาดของบ้านเราส่วนใหญ่มักเต็มไปด้วยอินไซต์ของผู้หญิง ซึ่งตรงกับข้อมูลหลังบ้านที่ว่ากลุ่มคนที่ยอมจ่ายเงินซื้อสติกเกอร์กลุ่มใหญ่ที่สุดคือผู้หญิง
อย่างสติกเกอร์ที่มีฟังก์ชั่นไว้อ้อน ดุ หรือกลัวแฟน (สำหรับคุณผู้ชาย) ก็ถือว่าเป็นเซตสติกเกอร์ที่น่าจับตาเช่นกัน
อีกหนึ่งกิจกรรมที่ LINE Creators Market ไทยจัดต่อเนื่องมาถึงปีที่ 5 คือแคมเปญประกวด LINE Creators Market Sticker Contest ตั้งโจทย์ให้ไลน์ครีเอเตอร์ทำสติกเกอร์มาประชันโฉมกัน รางวัลสำหรับผู้ชนะคือทริปเดินทางท่องเที่ยวและพบปะกับครีเอเตอร์คนเก่งจากประเทศญี่ปุ่น
ทำไมถึงเป็นประเทศญี่ปุ่น? คำตอบคือตลาดไลน์ครีเอเตอร์ฝั่งญี่ปุ่นเป็นตลาดที่แข็งแกร่งที่สุด ทั้งในแง่จำนวนครีเอเตอร์ที่แอ็กทีฟและพื้นฐานของคนญี่ปุ่นที่รักในคาแร็กเตอร์หรือตัวการ์ตูนกันอยู่แล้ว การได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับครีเอเตอร์ญี่ปุ่นน่าจะช่วยเสริมแรงให้ครีเอเตอร์ไทยรักและอยากพัฒนาผลงานของตัวเองมากขึ้น
และนี่คือ 5 แนวทางในการสร้างสติกเกอร์ยังไงให้ขายดี ที่ Yasushi Ishikawa จาก LINE Creators Market ญี่ปุ่นอยากแชร์ให้ครีเอเตอร์ชาวไทยฟัง
1) ออกแบบสติกเกอร์ที่ตรงกับอารมณ์ของผู้ใช้งาน
ถ้าจะทำสติกเกอร์สักเซต สิ่งที่ต้องคิดมากกว่าความน่ารักน่าใช้กับความสวยเนี้ยบคือสีหน้าและท่าทางของคาแร็กเตอร์
อย่างที่บอกว่าเหตุผลหลักๆ ที่คนชอบส่งสติกเกอร์ให้กันเพราะมันสื่อสารถึงอารมณ์ความรู้สึกได้มากกว่าข้อความ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตหลากอารมณ์ (แถมบางครั้งบางทีอารมณ์ก็ซับซ้อนเกินไป) หากสติกเกอร์ตอบโจทย์เรื่องการแสดงอารมณ์หรือบอกความรู้สึกได้อย่างชัดเจน ยูสเซอร์จะตัดสินใจซื้อมันง่ายขึ้น
2) ทำการบ้านเรื่องเทรนด์เข้าไว้
คำว่า ‘เทรนด์’ ในที่นี้เราหมายถึงความสนอกสนใจของผู้ใช้สติกเกอร์ไลน์ที่ based on กลุ่มตลาดที่เราอยากเจาะ เช่น ถ้าเราอยากทำสติกเกอร์ให้กับคนรุ่นพ่อแม่ เซตสติกเกอร์แบบสวัสดีวันจันทร์ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดี รวมทั้งเทรนด์ที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย ณ เวลานั้นๆ อย่างช่วงที่บ้านเราฮิตพูดคำว่า ‘ออเจ้า’ กันทั้งบ้านทั้งเมือง แน่นอนว่าสติกเกอร์จากละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเลยล่ะออเจ้า
3) สร้างซีรีส์หรือคอลเลกชั่นของสติกเกอร์ให้หลากหลาย
หยิบคาแร็กเตอร์ที่ยูสเซอร์โปรดปรานมาสร้างเป็นซีรีส์ที่หลากหลาย หรือเรียกได้ว่าเป็นการสร้าง storytelling เอาใจแฟนคลับให้พวกเขาได้อยู่กับคาแร็กเตอร์ของเราไปนานๆ บอกเลยว่าเคล็ดลับนี้อาศัยความขยันหรือการทำงานอย่างต่อเนื่องของครีเอเตอร์ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
4) ปล่อยสติกเกอร์ในช่วงเวลาที่ถูกที่ควร
นโยบายของไลน์ทั่วโลกคือ พวกเขาจะเปิดตัว official sticker กันเฉพาะวันอังคารและพฤหัสเท่านั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะช่วงกลางสัปดาห์เป็นช่วงเวลาที่คนใช้งานไลน์ค่อนข้างเยอะ และชั่วโมงที่คนเข้าแอพพลิเคชั่นมากสุดก็คือช่วงพักกลางวันและหลังเลิกงาน เพราะงั้นช่วงเวลานี้นี่แหละที่คนจะมีโอกาสเห็นสติกเกอร์เซตใหม่ของเราได้มากที่สุด
5) สร้างงานใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
จะว่าไปแล้วคนทำสติกเกอร์ไลน์ก็เหมือนกับวงดนตรีสมัยนี้ที่ต้องขยันออกซิงเกิล ทำงานให้เยอะเข้าไว้ ด้วยความหวังที่ว่าคงมีสักเพลงหนึ่งที่ฉุดให้เรามีชื่อเสียงได้ในช่วงเวลาข้ามคืน ก่อนที่ครีเอเตอร์หลายๆ คนจะประสบความสำเร็จได้อย่างวันนี้ พวกเขาล้วนเคยทำสติกเกอร์ออกมาไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเซต แต่ระหว่างทางพวกเขาก็ได้ลองผิดลองถูก พัฒนาโปรดักต์ของตัวเองไปเรื่อยๆ จังหวะของแต่ละคนช้า-เร็วต่างกัน ขอแค่ครีเอเตอร์ทุกคนอย่ายอมแพ้กลางทางก็พอ
ภาพ LINE Creators Market