เวิ้งเหล็กแดง : โรงงานขนมปังร้อยปีที่กลายเป็นชุมชนสร้างสรรค์ริมถนนท่าแพ

Highlights

  • เวิ้งเหล็กแดง คือเวิ้งริมถนนท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ห้อมล้อมไปด้วยอาคารอายุกว่าร้อยปี ซึ่งเคยถูกทิ้งร้างมานาน
  • ปัจจุบันเวิ้งเหล็กแดงได้ถูกชุบชีวิตอีกครั้งจากกลุ่มนักออกแบบและคนทำงานคราฟต์ต่างๆ ตั้งแต่สินค้า เสื้อผ้า ไปจนถึงอาหาร
  • ภายในเวิ้งเหล็กแดงมีร้านค้า ร้านอาหาร บาร์ดนตรี รวมถึงแกลเลอรีและสตูดิโอให้เข้าชมถึง 12 แห่ง รู้ตัวอีกทีคุณอาจเผลอใช้เวลาที่นี่ไปทั้งวันก็ได้

ยามขับรถจากสะพานนวรัฐมุ่งสู่ประตูท่าแพ ภาพที่ชาวเชียงใหม่เห็นจนชินตาคือกลุ่มอาคารโบราณรุ่นคุณปู่ขนาบสองข้างถนนเกือบตลอดสาย แต่หากสังเกตมากขึ้นสักนิด เราอาจพบว่าท่ามกลางหมู่ตึกแถวที่พยายามรักษาโครงสร้างเดิมเอาไว้ อาคารหนึ่งกลับทุบส่วนตรงกลางให้ทะลุ เปิดเป็นทางเดินเข้าไปสู่เวิ้งด้านในที่มีโครงสร้างเหล็กสีแดงตั้งเด่นอยู่ท่ามกลางต้นไม้ร่มรื่น

ผู้คนบริเวณนี้เรียกที่นี่ว่า เวิ้งเหล็กแดง

เวิ้งเหล็กแดง

เวิ้งเหล็กแดง

เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว เวิ้งแห่งนี้เป็นอาคารและที่ดินรกร้าง ไม่มีใครสนใจ กระทั่งมีดีไซเนอร์กลุ่มหนึ่งลองเดินเท้าเข้ามาสำรวจและพบกับบรรยากาศพิเศษบางอย่าง พวกเขาจึงตัดสินใจเข้ามาเปิดสตูดิโอ เปิดร้านขายสินค้าที่ออกแบบและทำด้วยมือของตัวเอง จากนั้นก็ค่อยๆ ชวนเพื่อนฝูงที่มีความสนใจเดียวกันเข้ามาเรื่อยๆ จนเต็มพื้นที่

เพื่อนฝูงที่ตกปากรับคำตบเท้าเข้ามาต่างหอบเอาความถนัดและความฝันของตัวเองมาหย่อนเอาไว้ ทั้งงานคราฟต์ ศิลปะ ร้านอาหารที่ใส่ใจถึงคุณภาพวัตถุดิบไปจนถึงช่วยเหลือผู้ผลิตวัตถุดิบรายย่อย ร้านกาแฟใต้โครงเหล็กแดง ร้านดนตรีที่รวมยอดฝีมือทางดนตรีของเชียงใหม่เอาไว้และจัดอีเวนต์ดนตรีสนุกๆ ทุกเดือน ไปจนถึงร้านขายเครื่องประดับลูกปัดโบราณที่มีอายุมากถึง 500 ปี

จากเวิ้งที่เคยเงียบเชียบ วันนี้หากเข้าไปที่เวิ้งเหล็กแดงเราจะได้ยินเสียงพูดคุยของดีไซเนอร์ในชุมชน เสียงหัวเราะเริงร่าของเด็กๆ ลูกหลานของคนในเวิ้งที่วิ่งเล่นอยู่อย่างอิสระ และอาจจะประกอบด้วยเสียง โอ้โห ของตัวคุณเองเมื่อได้เห็นงานที่แต่ละสตูดิโอตั้งใจทำ

เวิ้งเหล็กแดง

 

สถานที่เก่าแก่ที่สร้างความคิดใหม่

หากวัดกันที่คุณค่าทางประวัติศาสตร์ เวิ้งเหล็กแดงบนถนนท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่นั้นมีคุณค่ามากอย่างไม่ต้องสงสัย อาคารแห่งนี้ก่อสร้างตั้งแต่ต้นปี 1900 เพื่อใช้เป็นสถานที่พักแรมของพ่อค้าแม่ค้าที่เดินทางมาขายของที่กาดหลวง ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนเป็นโรงงานทำขนมปังกะโหลกในเวลาต่อมา แต่ดันเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ขึ้นซึ่งยังเห็นรอยได้ถึงปัจจุบัน

หลังเกิดเหตุร้าย อาคารโรงงานจึงถูกทิ้งร้างกลายเป็นเพียงอาคารเก็บของ กระทั่งปี 1940 เจ้าของพื้นที่ก็สร้างอาคารพาณิชย์ 5 ห้องติดถนนด้วยสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกเป็นที่แรกๆ ของย่านท่าแพ ปัจจุบันอาคารเหล่านี้เป็นมรดกตกทอดมาถึงทายาทปัจจุบัน ภูมิสวรรค์ ศิลปิศรโกศล หรือ ลุงภูมิ ผู้มีส่วนทำให้เวิ้งเก่าแก่แห่งนี้กลับมาฮิปได้อีกครั้งในหมู่คนรุ่นใหม่

เวิ้งเหล็กแดง

“คุณตาของผมเป็นคนออกแบบอาคารบริเวณนี้ เขาเคยไปเรียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ พอกลับมาเชียงใหม่เลยตัดสินใจสร้างอาคารพาณิชย์รูปทรงแบบตะวันตกตามที่เคยเห็นมา ถือเป็นอาคารแรกๆ ของท่าแพ ในอดีตพื้นที่ตรงนี้เคยมีร้านขายหนังสือและอุปกรณ์เครื่องเขียนชื่อดังอย่างเจริญการค้า มีร้านขายนาฬิกาชื่อเข็มทิศ และร้านก๋วยเตี๋ยวสามชัยซึ่งล้วนเป็นร้านที่คนเชียงใหม่สมัยก่อนรู้จักกันดี”

สุดท้ายเมื่อความเจริญเข้ามา กาลเวลาก็ทำให้ร้านเหล่านี้ต้องทยอยปิดตัวลงไป ที่แห่งนี้จึงถูกปล่อยให้รกร้างอีกครั้ง

“ตอนที่ผมกลับมาเชียงใหม่ในปี 2001 และต้องดูแลเวิ้งแห่งนี้ ผมไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับมันดี กระทั่งมีนักลงทุนคนหนึ่งติดต่อมาขอใช้ที่ตรงนี้ทำเป็นโรงแรม เราก็ตัดสินใจเจาะทะลุห้องแถวหนึ่งห้องให้กลายเป็นทางเดินจากถนนเข้าไปสู่บริเวณเวิ้งด้านหลังซึ่งจะเป็นที่ตั้งของโรงแรม แต่ปรากฏว่าสุดท้าย เข้าใจว่าคนลงทุนกู้เงินไม่ผ่าน โครงการโรงแรมจึงต้องพับไปเหลือไว้แต่โครงสร้างเหล็กสีแดงที่สร้างขึ้นมาแล้ว ยิ่งมีโครงสร้างถูกทิ้งไว้แบบนี้ผมยิ่งไม่รู้จะเข้าไปทำอะไรกับมัน จนกระทั่งมีน้องๆ กลุ่มดีไซเนอร์ติดต่อเข้ามาอยากขอเช่าที่ทำสตูดิโอ”

เวิ้งเหล็กแดง

เวิ้งเหล็กแดง

ดีไซเนอร์กลุ่มแรกที่ติดต่อลุงภูมิคือแบรนด์ Dibdee Binder แบรนด์เย็บสมุดทำมือชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ ที่เข้ามาเช่าห้องในอาคารพาณิชย์เมื่อปี 2015 และชวนเพื่อนๆ ให้มาอยู่ด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ ปอ–ภราดล พรอำนวย นักดนตรีและนักเคลื่อนไหวทางสังคมผู้เป็นเจ้าของร้านดนตรีแจ๊สชื่อดังของเชียงใหม่อย่าง North Gate Jazz Co-Op ที่เปลี่ยนอาคารเก่าแก่ที่เคยเป็นที่พักของพ่อค้าสัญจรและโรงงานทำขนมปังให้เป็นบาร์ดนตรีที่มีนักดนตรีชั้นเยี่ยมเวียนมาแสดงทุกคืนในนาม Thapae East

“ต้องขอบคุณน้องๆ ที่พกไอเดียน่าสนใจเข้ามาภายในพื้นที่แห่งนี้” ลุงภูมิเล่าด้วยรอยยิ้ม “ผมเองชอบสิ่งใหม่ๆ และสิ่งที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดี พอได้เจอน้องๆ ผมจึงตั้งใจไว้ว่าเวิ้งเหล็กแดงจะต้องเป็นพื้นที่ที่สนับสนุนให้นักออกแบบและเด็กรุ่นใหม่ที่มีไฟในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้มีร้านเล็กๆ ทำให้เขาได้มีพื้นที่แสดงผลงานและสนับสนุนตัวเองได้” 

ภายในเวิ้งเหล็กแดงมีอะไร ทำไมที่นี่จึงกลายเป็นย่านคราฟต์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รีบเดินตามเราเข้าไปทำความรู้จักกับผู้คนที่นี่กัน

เวิ้งเหล็กแดง

 

Rivers and Roads

หลังจากที่แบรนด์ Dibdee Binder เข้ามาเปิดสตูดิโอได้ประมาณสองปี เมื่อจะย้ายออกพวกเขาก็ชวนเพื่อนๆ ให้มาใช้พื้นที่แทนจนเกิดเป็นร้าน Rivers and Roads ขึ้นมา

Rivers and Roads คือชื่อเพลงของวงดนตรีโฟล์ก The Head and the Heart ที่มีเนื้อหากล่าวถึงกลุ่มเพื่อนที่เคยอาศัยอยู่ด้วยกันแต่ต้องแยกจากกันไปตามทางของตนเอง กระทั่งความคิดถึงได้พาให้พวกเขากลับมาเจอกันอีกครั้ง เช่นเดียวกับเรื่องราวของเจ้าของร้าน นัด–ณัฐพร วรรณปโก, บี๋–นับวงศ์ ช่วยชูวงศ์, อาร์ม–ภัทรพล ประสิทธิ์ และ จิ๊กกี๋–วันวิสาข์ นาสิงห์ 4 เพื่อนพี่น้องนักทำงานคราฟต์ที่ตัดสินใจร่วมกันเปิดร้าน selected shop วางขายสินค้าที่พวกเขาออกแบบเอง รวมถึงสินค้าที่พวกเขาใช้รสนิยมและสายตาของนักออกแบบคัดสรรของมือสองและของที่พบเจอจากการเดินทางมาวางขายภายในร้าน ตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องครัว เครื่องประดับ กระเป๋า และอีกมากมายที่หาไม่ได้ทั่วๆ ไป

คีย์เวิร์ดแรกๆ ที่เรานึกถึงตอนจะทำร้านนี้คือ เพื่อน เราปฏิบัติกับทุกคนที่เข้ามาในร้านเหมือนเพื่อน แต่เราก็ไม่คาดคิดเหมือนกันว่าของภายในร้านที่เราคัดเลือกกันมาจะกลายเป็นของที่ลูกค้าหลายคนเข้ามาเลือกซื้อไปเป็นของฝากให้กับเพื่อนๆ ของพวกเขาต่อ ณัฐพรเล่า

เวิ้งเหล็กแดง

เวิ้งเหล็กแดง

เวิ้งเหล็กแดง

 

YakkaJon

YakkaJon หรือยักษ์กะโจน คือโปรเจกต์ร้านอาหารของ เยาว์–เยาวดี ชูคง ที่นำชื่อของ อาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) และ โจน จันใด สองบุคคลที่เยาว์นับถือมาตั้งเป็นชื่อร้าน

ร้านยักษ์กะโจนเป็นร้านอาหารที่เน้นเมนูปลาจากท้องทะเล ซึ่งทางร้านจะใช้ปลาจากประมงชาวบ้านทางภาคใต้ที่ไม่ทำร้ายธรรมชาติเท่านั้น และต้องเป็นวัตถุดิบสดที่ไม่มีการใส่สารใดๆ เมื่อลองนับดูทางร้านได้สนับสนุนชาวประมงเป็นจำนวนคร่าวๆ 30 ลำหรือ 60 ครัวเรือน ดังนั้นนอกจากจะได้รับประทานอาหารทะเลสดๆ แล้ว แขกของที่นี่ยังได้สนับสนุนวิถีชีวิตชาวประมงพื้นถิ่นอีกด้วย

ที่สำคัญร้านยักษ์กะโจนไม่มีเมนูตายตัวเพราะไม่อยากบังคับว่าเรือประมงแต่ละลำจะต้องพยายามตกปลาชนิดไหนเป็นพิเศษ และตั้งโจทย์ให้ตัวเองว่าจะใช้ปลาทุกชนิดที่ชาวบ้านจับขึ้นมาได้ เมนูของร้านแห่งนี้จึงสร้างเซอร์ไพรส์ได้ตลอดแม้จะแวะไปกินบ่อยๆ ก็ตาม

นอกจากวัตถุดิบจากทะเล พวกเขายังสนับสนุนวัตถุดิบพื้นถิ่นจากบนดอยใกล้ตัว เช่น สิหม่า เครื่องเทศสำคัญที่ชาวอาข่าใช้ปรุงอาหารซึ่งร้านนำมาทดลองผสมกับวัตถุดิบทะเลเพื่อทำเมนูใหม่ๆ ด้วย

เวิ้งเหล็กแดง

 

Thapae East

Thapae East หรือท่าแพอีสต์ คือร้านดนตรีที่ปอ (เจ้าของร้านดนตรีแจ๊ส North Gate Jazz Co-Op), เอ๋–พัชรียา ประหา และเพื่อนๆ ก่อตั้งขึ้นภายในเวิ้งเหล็กแดงด้วยบรรยากาศคลาสสิก จุดเด่นอีกอย่างคือโครงสร้างอาคารแบบเก่าที่มีกำแพงอิฐถึงสองชั้นช่วยส่งเสริมเสียงดนตรีภายใน

แต่ละคืนท่าแพอีสต์จะเปลี่ยนแนวดนตรีไม่ให้จำเจตั้งแต่แจ๊ส, พังก์, บลูส์ ฯลฯ โดยมีนักดนตรีชาวไทยและต่างชาติผลัดกันขึ้นมาแจมอย่างสดชื่น นอกจากนั้นที่ร้านยังมีอีเวนต์น่าสนใจให้คอยติดตามเสมอ อย่างคืนดนตรีแจ๊สในนวนิยายของฮารูกิ มูราคามิ หรืองานระลึกถึงยอดนักดนตรีต่างๆ 

เวิ้งเหล็กแดง

 

Barefoot Cafe

ร้านอาหาร open kitchen ของ เอิน–สาธิตา สลับแสง ที่มีครัวเปิดเป็นเวทีให้เธอแสดงการทำอาหาร และเป็นพื้นที่เล่าถึงที่มาที่ไปของอาหารและวัตถุดิบต่างๆ ในร้านให้ลูกค้าที่สนใจได้ฟังผ่านเมนูตรงหน้า

เอินตั้งใจเลือกวัตถุดิบทุกชนิดด้วยตัวเองจากเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ใช่สารเคมี เธอจึงเล่าได้หมดว่าวัตถุดิบแต่ละชนิดเดินทางมาจากไหนรวมถึงมีประโยชน์ยังไง เพราะสำหรับเธอการรู้จักอาหารที่กินเข้าไปนั้นสำคัญอย่างยิ่งยวด การกินอาหารที่ Barefoot Cafe จึงให้บรรยากาศเหมือนได้เดินเท้าเปล่าเข้าป่าไปสัมผัสธรรมชาติผ่านสื่อกลางคือเมนูอร่อยในจานอาหารตรงหน้าคุณนั่นเอง

เวิ้งเหล็กแดง

เวิ้งเหล็กแดง


 

Spices Indian Food

สำหรับคนชอบเครื่องเทศโดยเฉพาะอาหารอินเดีย เราอยากแนะนำให้มาลองอาหารที่ Spices Indian Food ร้านอาหารของสองแม่ลูก สาวิตรี โกตาเมย์ และ โมนา โกตาเมย์ ที่เสิร์ฟอาหารคุณภาพเดียวกับที่พวกเขาทำให้ครอบครัวกินที่บ้าน ทั้งวิธีการใช้วัตถุดิบที่ไม่มีการหั่นทิ้งไว้และการปรุงใหม่จานต่อจาน รวมถึงยังมีรสแบบอินเดียแท้ๆ จากฝีมือแม่ครัวที่เคยทำอาหารอินเดียใส่ปิ่นโตต่อวันจำนวนมากเหมือนในหนังเรื่อง The Lunchbox

ที่สำคัญ​ หลังจากได้ทานอาหารรสจัดจ้านแล้วอย่าลืมลองสั่งโยเกิร์ตโฮมเมดของทางร้านมาปิดท้ายด้วยนะ

เวิ้งเหล็กแดง

เวิ้งเหล็กแดง

 

Jibberish

Jibberish คือแบรนด์ผ้าย้อมสีธรรมชาติของ นัด–ณัฐพร วรรณปโก ซึ่งเลือกเปิดสตูดิโอเล็กๆ อีกแห่งบนโครงสร้างเหล็กแดงเพื่อใช้ทำเวิร์กช็อปย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติโดยเฉพาะสีคราม ซึ่งเธอได้ไปเล่าเรียนเทคนิคมาทั้งจากในไทยและต่างประเทศ เช่น เทคนิค Katazome ที่เธอได้เรียนจากเพื่อนฝูงชาวญี่ปุ่น

ด้วยความที่สตูดิโอของเธอตั้งอยู่ในเวิ้งเหล็กแดงที่เต็มไปด้วยศิลปินหลายแขนง บางครั้งพวกเขาจึงทำเวิร์กช็อปคู่กัน เช่น เราอาจไปหัดทำเส้นพาสต้าด้วยตัวเองที่ Barefoot ก่อนแล้วค่อยมาลองย้อมผ้าครามที่ Jibberish ได้ทั้งอิ่มท้องและอิ่มตาในวันเดียว

เวิ้งเหล็กแดง

เวิ้งเหล็กแดง

 

EMPTYDAY GALLERY

ไอเดียการสร้าง EMPTYDAY แกลเลอรีขนาดกะทัดรัดข้างใต้สตูดิโอ Jibberish เกิดขึ้นจากนัดแห่ง Jibberish กับเพื่อนๆ ร้าน Rivers and Roads ที่อยากสร้างพื้นที่แสดงงานสำหรับคนทำงานศิลปะที่ไม่ได้เป็นศิลปินหรือนักออกแบบเต็มตัว

ที่สนุกคือห้องอันว่างเปล่าแห่งนี้ไม่ได้เป็นแค่แกลเลอรีแต่ยังพร้อมรับไอเดียที่หลากหลาย ที่ผ่านมา Empty Room จึงเป็นทั้งนิทรรศการแสดงภาพวาดของเด็กสาวอายุ 3 ขวบ ที่แสดงงานภาพพิมพ์ของกราฟิกดีไซเนอร์ หรือกระทั่งกลายเป็นสถานที่ชงชาและกาแฟจากชาวปกาเกอะญอ แถมนัดยังบอกว่าในอนาคตพวกเขายังมีไลน์อัพกิจกรรมน่าสนใจที่นี่อีกเพียบ

เวิ้งเหล็กแดง

 

Pantang Studio

สตูดิโอของสองสถาปนิก ต่อ–สุวิชญ์พงศ์ อาสนจินดา และ Arthur Vergne สองสถาปนิกสองสัญชาติที่ขนานนามตัวเองว่าเป็น ‘สถาปนิกพันทาง’ ทั้ง ‘พันทาง’ ที่หมายถึงส่วนผสมของวิธีการออกแบบที่แตกต่างกันของทั้งคู่ รวมถึง ‘พันทาง’ ที่หมายถึงความเป็นไปได้พันแบบซึ่งเห็นได้ในงานออกแบบของพวกเขาทั่วเชียงใหม่ ตั้งแต่บ้าน ร้านกาแฟ ไปจนถึงร้านอาหาร เช่น บุญปั๋น ร้านโซบะเส้นสดของศิลปินเซรามิก

เวิ้งเหล็กแดง

 

Baka-Nok

Baka-Nok คือร้านหนังสือและงานคราฟต์สำหรับเด็กโดย อิ๋ว–ปุณย์ศิริ สกุลวิโรจน์ แวร์ญ ภรรยาของอาเธอร์ แวร์ญ สถาปนิกประจำสตูดิโอพันทาง เดิมที่นี่เคยเป็นร้านขายเสื้อผ้าและของคราฟต์มาก่อน แต่หลังจากมีลูก อิ๋วจึงตัดสินใจเปลี่ยนร้านของเธอให้กลายเป็นร้านหนังสือและงานคราฟต์สำหรับเด็กเพื่อให้เวิ้งเหล็กแดงมีพื้นที่เล่นและเรียนรู้สำหรับเด็กๆ

ภายในร้านมีทั้งหนังสือเด็กดีๆ มือสองที่อิ๋วคัดสรรเองและเมื่อเด็กๆ โตขึ้น ร้านก็มีบริการรับซื้อหนังสือมือสองคืน ทุกๆ เดือนทางร้านจะจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ได้มาทำงานคราฟต์ด้วยกัน เช่น การสร้างสมุดภาพร่วมกัน การมีพื้นที่แบบนี้จึงทำให้เวิ้งเหล็กแดงไม่เป็นเพียงพื้นที่แสดงออกทางศิลปะของผู้ใหญ่ แต่ยังเป็นพื้นที่ให้เด็กๆ เติบโตผ่านศิลปะเช่นกัน

เวิ้งเหล็กแดง

เวิ้งเหล็กแดง

 

Chapter 2WO

Chapter 2WO ของ ตู๋–ปรัชญา ยานะศรี คือร้านกาแฟเพียงแห่งเดียวภายในเวิ้งเหล็กแดง ด้วยดีกรีแชมป์ Speed Latte Art ของตู๋ เมนูกาแฟภายในร้านจึงมีให้เลือกจำนวนมากโดยเฉพาะเมนูที่เขาอยากให้ผู้ที่ไม่ชินกับกาแฟขมสามารถลิ้มรสกาแฟดำแบบไม่ใส่นมได้ เกิดเป็นเมนูอเมริกาโนที่เลือกได้ว่าจะใส่ส้ม ลิ้นจี่ หรือพีชลงไป

เดิมตู๋เคยเปิดร้านกาแฟรถเข็นอยู่บริเวณฝั่งตรงข้ามของเวิ้ง ก่อนตัดสินใจย้ายมาสร้างร้านใหม่ภายใต้โครงสร้างเหล็กแดง โดยมีต่อจากสตูดิโอพันทางช่วยออกแบบร้านให้โดดเด่นไม่เหมือนใคร คือแม้จะอยู่ใต้โครงสร้างเหล็กแดงพวกเขาก็สามารถจัดการให้บรรยากาศร่มรื่น น่านั่ง นับว่าเป็นพื้นที่เดียวในบริเวณท่าแพด้วยซ้ำที่เปิดให้ผู้คนได้มานั่งพักผ่อนท่ามกลางร่มเงาของต้นไม้

เวิ้งเหล็กแดง

เวิ้งเหล็กแดง

เวิ้งเหล็กแดง

 

Fabric Chang

ร้านเสื้อผ้าที่เข้ามาเปิดขายลำดับแรกๆ ในเวิ้งเหล็กแดงของ วรรณ–อุทัยวรรณ บุญระชัยสวรรค์ ที่ขายเสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติออกแบบโดยลูกสาวของเธอ ร้านนี้ถูกใจชาวญี่ปุ่นจำนวนมากจนหลายคนกลายมาเป็นลูกค้าประจำจนถึงทุกวันนี้

 

Nima Arts and Silver

ร้านเครื่องประดับของ อ้อม–สมยุภัทร เสียงสุวรรณ ที่เปิดมาแล้วกว่า 10 ปี มีจุดเด่นคือลูกปัดชนิดต่างๆ ที่สามีชาวทิเบตของเธอสะสมไว้ ตั้งแต่ลูกปัดที่ทำจากแก้ว พลาสติก หิน ทองเหลือง เงิน ซึ่งมีอายุให้เลือกตั้งแต่ไม่กี่ปีจนถึงพันปี มีกรรมวิธีผลิตหลากหลาย ตั้งแต่กระบวนการผลิตในปัจจุบันจนถึงวิธีแบบดั้งเดิมที่เผารมควันลูกปัดด้วยสมุนไพรชนิดต่างๆ และครบทุกช่วงราคา นอกจากลูกปัด ที่นี่ก็ยังมีเครื่องเงินและเข็มกลัดเงินให้เลือกสรรด้วย

AUTHOR