มากกว่ากระบะทรายและเรื่องบังเอิญ มองวงการสตาร์ทอัพเกาหลีใต้ผ่านซีรีส์ Start-Up

Highlights

  • แม้ความสำเร็จของซัมซันเทคหรืออินแจคอมปานีในซีรีส์ Start-Up จะดูคล้ายกับภาพฝันที่ยากจะเป็นจริง แต่แท้จริงแล้ววงการสตาร์ทอัพเกาหลีนั้นพรั่งพร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความเป็นไปได้แบบที่เราเห็นในซีรีส์จริงๆ
  • ด้วยเล็งเห็นแล้วว่าสตาร์ทอัพจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศต่อไปในอนาคต รัฐบาลเกาหลีจึงลงเงินสนับสนุนสตาร์ทอัพจำนวนมหาศาล และถึงขั้นจัดตั้งกระทรวง SMEs และสตาร์ทอัพเพื่อดูแลงานด้านนี้อย่างจริงจัง
  • แซนด์บอกซ์ที่คอยสนับสนุนทั้งเงินทุนและคำแนะนำแก่สตาร์ทอัพหน้าใหม่อย่างที่เราเห็นในซีรีส์​ก็มีตัวตนอยู่จริงในชื่อ Born2Global ยังไม่นับโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพขั้นเริ่มต้นอื่นๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน
  • นุนกิลหรือยองชิลที่เราเห็นในซีรีส์นั้นล้วนมีที่มาจากโครงสร้างด้านโทรคมนาคมที่แข็งแกร่ง เทคโนโลยีต่างๆ ที่ครบครัน รวมถึงแหล่งข้อมูลสำหรับริเริ่มธุรกิจที่มีให้หยิบมาใช้มากมาย

ซีรีส์ Start-Up กำลังจะจบ ไม่ว่าคุณจะเทใจให้ฮันจีพยอง นักลงทุนในสตาร์ทอัพมาดเท่ผู้มากับความรู้และชั้นเชิงธุรกิจพร้อมสรรพ หรือนัมโดซาน นักพัฒนาอัจฉริยะที่อ่อนหัดทางธุรกิจแต่มักขี่ม้าขาวมาแก้ปัญหาเชิงเทคนิคมูลค่าหลายพันล้านในยามคับขัน สิ่งหนึ่งที่พวกเราเห็นตรงกันน่าจะเป็นบรรยากาศของวงการสตาร์ทอัพในเกาหลีที่คึกคักเสียเหลือเกิน

แน่นอนว่าประสบการณ์การคว้าความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของซัมซันเทคคงไม่ใช่สิ่งที่สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ได้ลิ้มรส บางคนอาจบอกว่านี่เป็นซีรีส์ชวนฝันสร้างแรงบันดาลใจ แต่ในโลกความจริง การที่ประเทศเล็กๆ อย่างเกาหลีใต้เติบโตโดยเน้นการส่งออก กระโดดมาเป็นดาวเด่นด้านสตาร์ทอัพในโลกก็เป็นอีกหนึ่ง ‘มิราเคิล’ ที่ดูเหนือจริงของประเทศนี้ที่เราต้องจับตามอง

เมื่อเราดูซีรีส์ หลายคนอาจมีคำถามว่าหน้าตาแวดวงสตาร์ทอัพที่เราเห็นนั้นเป็นแค่จินตนาการหรือเปล่า ฉากของแซนด์บอกซ์ที่ดูเป็นดินแดนความฝันที่เป็นไปได้ (วัดจากกระดาษข้อความที่ติดเรียงกันเป็นแพในเรื่อง) อาจจะเป็นแค่ความฝันถึงโลกอนาคตในเกาหลี ประเทศที่เรามักจะนึกถึง ‘แชโบล’ หรือบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงหรือฮยอนแด (ฮุนได) มากกว่า

แต่อนาคตที่ว่านั้นก็ค่อยๆ กลายเป็นปัจจุบันของเขา เพราะหากพูดกันในแง่ความคึกคักของการทำสตาร์ทอัพ ข้อมูลจากรายงาน Doing Business 2020 ของ World Bank บอกว่าสภาพแวดล้อมในแง่บรรยากาศที่เกื้อหนุนต่อการดำเนินธุรกิจของเกาหลีอยู่อันดับ 5 ของโลก ส่วนสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการทำสตาร์ทอัพโดยเฉพาะเจาะจงนั้นอยู่อันดับที่ 33 โดยสตาร์ทอัพแต่ละรายใช้เวลาเตรียมการเฉลี่ยเพียง 8 วันก่อนเริ่มต้นกิจการ

ปัจจุบันมียูนิคอร์นจากเกาหลีแล้ว 12 แห่ง เช่น บริษัท Coupang (ธุรกิจด้าน e-commerce มูลค่า 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) บริษัท Krafton Game Union (ผู้พัฒนาเกม PUBG และอื่นๆ มูลค่าธุรกิจ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) บริษัท Yello Mobile (มือถือและโทรคมนาคม) บริษัท Toss (ด้าน FinTech) บริษัท Wemakeprice และ MUSINSA (ด้าน e-commerce) และอื่นๆ อีกมากมาย

กราฟ : ยูนิคอร์นเกาหลีที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก (ที่มา Statista)

แต่ดูเหมือนตัวเลขยูนิคอร์นเท่านี้จะยังไม่สะใจ รัฐบาลเกาหลีเล็งเป้าว่าจะช่วยผลักดันให้สตาร์ทอัพในเกาหลีประสบความสำเร็จและมียูนิคอร์นถึง 20 แห่งให้ได้ภายในปี 2022 ทั้งนี้ทั้งนั้นจำนวนยูนิคอร์น 12 แห่งในปัจจุบันนี้ก็ยังห่างไกลกับสถิติจำนวนยูนิคอร์นจากสหรัฐฯ (265 แห่ง) จีน (204 แห่ง) และยังเป็นรองสหราชอาณาจักร (24 แห่ง) อินเดีย (21 แห่ง) และมีจำนวนพอๆ กับเยอรมนี (12 แห่ง)

ยังไงก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าจำนวนเท่านี้ก็น่าทึ่งแล้วสำหรับประเทศเล็กๆ อย่างเกาหลีใต้ที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่าใครเขา

Start-Up

 

เบื้องหลังความเฟื่องฟู

เหมือนกับที่ซอดัลมี–ผู้ใช้ชีวิตอยู่กับคุณย่าที่ตรากตรำขายฮอตด็อกมาทั้งชีวิต คงไม่มั่นใจลาออกมาทำธุรกิจแบบนี้หากไม่มีโครงการแซนด์บอกซ์เป็นจุดเริ่มต้นของความฝัน สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเหล่านี้ก็ไม่ได้งอกขึ้นมาเฉยๆ เพียงเพราะประชาชนเกาหลีเกิดอยากจะเป็นผู้ประกอบการด้วยตัวเองแล้วทำได้เลย

โครงสร้างพื้นฐานในการทำธุรกิจและการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐอย่างเป็นระบบนั้นมีบทบาทสำคัญมาก และรัฐบาลเกาหลีก็ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นแนวหน้าในการนำพาเหล่าภาคเอกชนวิ่งซอยเท้าไปสู่เป้าหมายของประเทศร่วมกันมาแต่ไหนแต่ไร

Start-Up

 

รัฐวาดหวังอนาคต รัฐจึงลงทุนกับปัจจุบัน

ในปี 2015 รัฐบาลเริ่มอัดฉีดเงินลงทุน 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไปที่เหล่าสตาร์ทอัพ และเพิ่มเป็น 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 ซึ่ง Forbes ระบุว่าสัดส่วนปริมาณงบสนับสนุนจากภาครัฐเกาหลีที่มีให้กับวงการสตาร์ทอัพต่อจำนวนประชากรนั้นถือว่าสูงที่สุดในโลก

เหตุผลเบื้องหลังการผลักดันนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะการเติบโตของเศรษฐกิจเกาหลีโดยรวมเริ่มชะงัก จะหวังพึ่งพิงการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณมากที่ราคานับวันจะยิ่งถูกลงๆ อย่างเดียวไม่ได้ ขนาดบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ยังเริ่มไปต่อไม่ถูก สตาร์ทอัพจึงกลายเป็นคำตอบใหม่ของนวัตกรรมการขับเคลื่อนการเติบโต (growth engine) ของเศรษฐกิจเกาหลียุคใหม่

พูดง่ายๆ สตาร์ทอัพคือความหวังใหม่ของเศรษฐกิจประเทศในอนาคต เพราะถ้าหวังหรือยึดติดอยู่กับอะไรเดิมๆ ที่เคยดีทั้งที่รู้ว่าจะไม่พาประเทศไปไหน สังคมเกาหลีคงไม่ยอมและอยู่กันไม่ได้แน่

Start-Up

นอกจากโครงการสนับสนุนที่มีมาเรื่อยๆ ในปี 2017 ก็ได้มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMBA) ให้ขยายกลายเป็นกระทรวง SMEs และสตาร์ทอัพ (Ministry of SMEs and Startups) ออกหน้าสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง

นอกจากเงินทุน ภาครัฐยังทำหน้าที่ประสานงานในด้านต่างๆ เช่น ช่วยจับคู่สตาร์ทอัพกับนักลงทุนนานาชาติ สร้างโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และเปิดสถาบันวิจัยหลายแห่งเพื่อรองรับตำแหน่งงานให้กับนักวิทยาศาสตร์ในประเทศ

ล่าสุดกรุงโซลลงทุนเงินจำนวน 1.9 ล้านล้านวอน (หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท) เพื่อแผนการพัฒนาเมืองหลวงนี้ให้เป็นสตาร์ทอัพซิตี้ระดับท็อป 5 ของโลกภายใน 4 ปี บวกกับโครงการอีก 7 โครงการ ซึ่งจะสนับสนุนทั้งด้านการเงินให้กับสตาร์ทอัพที่เริ่มตั้งไข่และยังหานักลงทุนภาคเอกชนไม่ได้ และให้บริการการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ (เหมือนที่ฮันจีพยองทำ) การออกแบบผลิตภัณฑ์ การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ไปจนถึงเชื่อมโยงเข้ากับโรงงานผู้ผลิตภายในระยะเวลา 180 วันถึง 6 เดือน

ส่วนในด้านกฎหมาย ภาครัฐก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีด้วยการลดค่าธรรมเนียมการจดสิทธิบัตรสำหรับเหล่าสตาร์ทอัพ และภาคการธนาคารที่ช่วยให้บริษัทเหล่านี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อต่างๆ จากมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาที่ถือครองอยู่

จะเห็นได้ว่าการที่สตาร์ทอัพจะมีมูลค่าในตัวเองเพื่อไปสร้างมูลค่าเพิ่มเติมให้กับประเทศได้นั้น ไม่ใช่แค่คำหวานที่เชิดชูสตาร์ทอัพอยู่ในใบปลิว แต่หน่วยงานต่างๆ ในประเทศต้องมองเห็นและให้ค่านวัตกรรมเพื่ออนาคตเหล่านั้นร่วมกันด้วย

 

แซนด์บอกซ์ในชีวิตจริง

หากจำกันได้ จุดเริ่มต้นของซอดัลมี นางเอกที่ไม่มีใบปริญญา ได้เริ่มทำธุรกิจของตัวเองจากการเข้าร่วมโครงการแฮกกาทอนของแซนด์บอกซ์ที่ตั้งอยู่ในเกาะกลางแม่น้ำฮัน แซนด์บอกซ์ช่วยเปิดทางให้กับเธอผู้ไม่มีทุนแต่มีทักษะการจัดการและไอเดียธุรกิจได้เข้ามาเสนอไอเดียให้กับนักลงทุนในขั้นต้น ซึ่งในขั้นแรกนี้นักลงทุนก็คือแซนด์บอกซ์นั่นเอง

จะล้มในก้าวแรกก็ไม่เป็นไร ขอแค่ให้ได้ลอง แถมยังมีเมนเทอร์ผู้เชี่ยวชาญอย่างฮันจีพยองมาคอยตักเตือนเรื่องที่สตาร์ทอัพหน้าใหม่มักพลั้งพลาด หรือเสนอทางออกให้กับไอเดียของกิจการที่ครั้งแรกดูเป็นไปไม่ได้อย่างโปรเจกต์นุนกิลของซัมซันเทค ที่ยังไม่มีโมเดลสร้างรายได้ แต่จีพยองก็เสนอให้ไปขอทุนจากบริษัทที่มีงบ CSR

Start-Up

หน่วยงานหนึ่งของรัฐที่ทำหน้าที่เป็นกระบะทรายบ่มเพาะสตาร์ทอัพคล้ายๆ แซนด์บอกซ์ในละคร คือ Born2Global ภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และไอซีทีที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2013 แต่ละปี Born2Global จะเลือกสตาร์ทอัพ 100 รายที่มีศักยภาพสูงพอที่จะเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกเข้ามาในโครงการ โดยให้บริการทั้งการปรึกษาด้านกฎหมาย สิทธิบัตร บัญชี การตลาด การลงทุน การพัฒนาธุรกิจ และการพัฒนาทักษะ ต่อมาสตาร์ทอัพกว่า 50 รายจะได้รับเลือกให้ตั้งบริษัทอยู่ใน K-Global Startup Hub ใน Startup Campus ซึ่งตั้งอยู่ในย่านพันกโย เมืองซองนัม อยู่เยื้องไปทางตอนใต้ไม่ห่างจากโซลนัก ในเขตจังหวัดคยองกี

อีกหนึ่งโครงการของภาครัฐที่มุ่งดึงดูดสตาร์ทอัพต่างชาติ คือ K-Startup Grand Challenge ที่จัดโครงการ Acceleration ระยะเวลา 3 เดือนและ Demo-day ให้กับสตาร์ทอัพ 60 รายจากทั่วโลก โดยจะให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับสตาร์ทอัพ 30 อันดับแรก และเงินรางวัลสำหรับ 5 อันดับสูงสุด

นอกจากนี้ยังมี Incubator และ Accelerator อีกหลากหลายเจ้าจากภาคเอกชนทั้งบริษัทเครือแชโบลและอื่นๆ เช่น SparkLabs ที่จัดโครงการ ‘เร่ง’ การเติบโตของสตาร์ทอัพในเวลา 3 เดือน โดยให้เงินตั้งต้น 1 ล้านบาท (พอๆ กับแซนด์บอกซ์ในละคร)

เหล่านี้คือการช่วยกันเปลี่ยนให้เรื่องที่ดูเกินตัวสำหรับคนธรรมดาอย่างดัลมีหรือบริษัทเล็กๆ อย่างซัมซันเทคได้ต่อยอดไอเดียของพวกเขาให้เป็นไปได้ โดยไม่พลั้งพลาดกับเรื่องที่ใครๆ ก็พลาดได้ระหว่างทาง

Start-Up

 

โครงสร้างพร้อม เราทำได้

ตัวละครอีกหนึ่งตัวที่อาจจะดูเจ้าเล่ห์หน่อยอย่างอเล็กซ์จากทูสโต สะท้อนให้เห็นภาพของคนเกาหลีที่เข้าไปคลุกวงในกับซิลิคอนแวลลีย์ และกลับมามีบทบาทกับวงการสตาร์ทอัพที่บ้านเกิด (แม้ว่าบทบาทล่าสุดอาจทำให้คนดูเจ็บใจ)

ทิม แช ผู้ก่อตั้งและซีอีโอแห่ง 500 Startups Korea ในเครือบริษัท venture capital ระดับโลก ก็มีที่มาที่ไปคล้ายๆ กับอเล็กซ์ จากประสบการณ์การตั้งสตาร์ทอัพในบอสตัน เขาเคยเดิมพันไว้ในปี 2015 ว่าเกาหลีใต้จะกลายเป็นซิลิคอนแวลลีย์แห่งเอเชีย เพราะเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีคุณสมบัติสามอย่างของการเป็นฮับทางเทคโนโลยี ได้แก่ เป็นประเทศที่ร่ำรวย ทันยุคสมัย และเท่

นอกจากนี้โซลยังเป็นเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เหมาะกับการทดลองเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ผู้บริโภคเกือบทุกคนใช้สมาร์ตโฟนและหลายคนมีบัตรเครดิต ประชากรส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลาง มีโครงสร้างโทรคมนาคมที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพซึ่งพัฒนาต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ มีอัตราการเข้าถึงของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดในโลก (97 เปอร์เซ็นต์) (หากเหลือบสายตาขึ้นไปดูรายชื่อยูนิคอร์นของเกาหลีข้างต้นจะเห็นว่าต้องโตมาพร้อมกับโครงสร้างโทรคมนาคมที่แข็งแกร่ง)

พื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมเหล่านี้เองที่ทำให้เกาหลีใต้เป็นแดนสวรรค์ของสตาร์ทอัพทั้งในและนอกประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น บริการนุนกิลของซัมซันเทคที่อาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์ระบุสิ่งของที่อยู่ในกล้องให้กับผู้มีความบกพร่องทางสายตาได้รับรู้ผ่านการฟัง การจะขยายกลุ่มผู้ใช้งานได้ในเวลาอันสั้นคงไม่ใช่แค่นักเบสบอลชื่อดังช่วยโปรโมตให้ แต่ต้องเป็นเพราะมีกลุ่มผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนและเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงรองรับบริการนี้ได้ในระดับหนึ่ง

Start-Up

สำหรับฝั่งตลาดภายในประเทศ แม้ว่าจะมีคนหลายส่วนยึดติดอยู่กับการทำธุรกิจแบบเดิมๆ อยู่บ้าง แต่พวกเขาก็เริ่มปรับตัวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการ บรรดาพ่อแม่ก็เริ่มเข้าใจแนวคิดเหล่านี้ว่าอาจเป็นทางเลือกสายอาชีพในอนาคตของลูกๆ ได้เช่นกัน อย่างพ่อแม่ของนัมโดซานที่ภาคภูมิใจในตัวลูกที่เก่งคณิตศาสตร์ระดับประเทศก็เชื่อใจและยอมลงทุนให้กับกิจการของลูกมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท

Start-Up

 

หนีการย่ำอยู่กับที่ด้วย R&D พุ่งกระฉูด

เป็นที่เลื่องลือไปทั่วว่าเกาหลีมีสัดส่วนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ต่อ GDP ที่สูงมากเป็นอันดับสองของโลก (รองจากอิสราเอล) หรืออยู่ที่ 4.81 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018

เทียบให้ดูเล่นๆ กับประเทศไทยที่เงินลงทุน R&D อยู่ที่ 1.11 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในปี 2018 และคาดว่าจะปรับลงอีกหลังเจอพิษโควิด-19 ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สวนทางกับนโยบายของเกาหลีที่หลังจากเจอโควิด-19 เข้าไปก็ตัดสินใจว่ายิ่งต้องวางแผนอัดฉีดเงินไปที่ R&D เพิ่มขึ้นอีก 12.3 เปอร์เซ็นต์จากงบปีนี้ เพื่อสร้างฐานรากอุตสาหกรรมที่กระตุ้นการเติบโตในอนาคต หรือที่เรียกว่า New Deal Project ซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะช่วยให้ทุกภาคส่วนฟื้นตัวกันได้เร็วขึ้น

ถามว่า R&D กับสตาร์ทอัพเกี่ยวกันยังไง ที่เกี่ยวก็เพราะภาครัฐเกาหลีกำลังสนับสนุนให้สตาร์ทอัพในประเทศเหล่านี้นำเอาผลผลิตจากการวิจัยและพัฒนาอันเข้มข้นของประเทศที่มีอยู่แล้วไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในทางธุรกิจ ผสานงานวิชาการเข้ากับโลกธุรกิจซึ่งสามารถนำไปสร้างเงินสร้างอาชีพได้จริง

ในละครเราจะเห็นได้ว่าการสร้างโมเดลธุรกิจของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นอินแจคอมปานีหรือซัมซันเทค ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์เสียทีเดียว แต่ต่างก็อาศัยการต่อยอดองค์ความรู้ (ฐานข้อมูลลายมือ ฐานข้อมูลรูปพรรณยา) และเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีที่มีมาก่อนแล้ว (เอานุนกิลมาผสานกับระบบของลำโพงอัจฉริยะยองชิล) จนเกิดเป็นบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานจำนวนมาก

 

เอกชนก็ร่วมหาทำ

แม้ว่าสตาร์ทอัพจำนวนมาก (61 เปอร์เซ็นต์) จะยังให้เครดิตกับหน่วยงานรัฐส่วนกลางว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้วงการสตาร์ทอัพพัฒนา แต่รองลงมา (26 เปอร์เซ็นต์) มองว่า VCs และนักลงทุนอื่นๆ ก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันพวกเขา ในขณะที่มีเพียง 7 เปอร์เซ็นต์มองว่าบริษัทยักษ์ใหญ่หรือแชโบลช่วยสนับสนุนพวกเขาในด้านนี้

ในปี 2020 เกาหลีมี VCs ประมาณ 37,000 ราย เพิ่มขึ้นมานับตั้งแต่ปี 2004 และพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงปี 2009 การเพิ่มขึ้นของจำนวน VCs อาจยังไม่ค่อยน่าตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่หากดูที่จำนวนเงินลงทุนจะเห็นว่าช่วงปี 2018-2019 มานี้ เม็ดเงินลงทุนในสตาร์ทอัพนั้นขยับขึ้นรวดเร็ว คือเพิ่มขึ้นปีละราวๆ เกือบ 1,000 ล้านวอน ในปี 2019 มีสตาร์ทอัพหน้าใหม่ได้เงินลงทุนไปราว 1,600 ราย

เทรนด์การลงทุนของ VCs ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็คือเงินลงทุนส่วนใหญ่อัดฉีดเจาะไปที่กลุ่มไบโอเทค ซอฟต์แวร์ และธุรกิจการกระจายสินค้า ในขณะที่การลงทุนกลุ่มบริษัทเกมและอุตสาหกรรมการผลิตที่เคยฮอตฮิตในอดีตนั้นเริ่มชะลอตัว

สำหรับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในเกาหลี พวกเขาหวังได้รับเงินลงทุนจากตัวละครอื่นๆ มากกว่า เช่น สถาบันทางการเงินและธนาคาร (10 เปอร์เซ็นต์) นโยบายค้ำประกันสินเชื่อของรัฐและเงินทุนจากภาครัฐ (13 เปอร์เซ็นต์) มีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คาดหวังเงินลงทุนจาก VCs และ 6 เปอร์เซ็นต์จาก angel investors และโครงการ accelerators ต่างๆ

Start-Up

 

ดูโฉมหน้าสตาร์ทอัพแห่งโซล

แล้วสตาร์ทอัพเกาหลีเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน

จากรายงานของ Born2Global ปี 2019 สำรวจเฉพาะสตาร์ทอัพในโซลและจังหวัดคยองกี ระบุว่าผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (65 เปอร์เซ็นต์) เอกวิศวกรรมศาสตร์ (66 เปอร์เซ็นต์) ช่วงอายุ 30 ปี (36 เปอร์เซ็นต์) และ 40 ปี (47 เปอร์เซ็นต์) ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ส่วนทีมงานในสตาร์ทอัพจำนวนมากเกิดจากการรวมตัวกันของเพื่อนร่วมงานในบริษัท

อย่างนัมโดซานและเพื่อนก็เป็นคนที่เรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ แม้ภาษาอังกฤษจะงูๆ ปลาๆ แต่ก็พอจะพูดได้บ้างในวิดีโอพรีเซนเทชั่นสุดฮาที่ถ่ายเพื่อไปเปิดในงานประกาศรางวัล CODA

Start-Up

ว่าแต่ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพหญิงอย่างวอนอินแจกับซอดัลมีอย่างในละครล่ะ มีเยอะแค่ไหน?

ความเป็นจริงคือผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพมากถึง 91.3 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นผู้ชาย แต่นั่นก็อาจจะเป็นสิ่งที่ละครพยายามจะเปลี่ยน ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจและเปลี่ยนทัศนคติต่อวงการเทคโนโลยีที่ผู้ชายโดดเด่นกว่า

ยังไงก็ตาม เมื่อถามสตาร์ทอัพเหล่านี้ว่าทักษะอะไรที่ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพจำเป็นต้องมี 74 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าทักษะด้านเทคโนโลยี และมีเพียง 49 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าต้องมีทักษะด้านการวางแผนธุรกิจและการตลาด ซึ่งเรื่องนี้อาจเป็นประเด็นเกี่ยวพันว่าทำไมผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพเกาหลีส่วนใหญ่จึงเป็นเพศชาย นั่นก็เพราะสัดส่วนบัณฑิตหญิงที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในสาขา STEM มีเพียง 26 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (คิดเป็นอันดับที่ 99 จาก 114 ประเทศทั่วโลก)

แต่อย่างที่เราเห็นในละคร หลายๆ ครั้งที่นัมโดซานและเพื่อนๆ แม้จะเก่งเรื่อง coding และงานในสายนักพัฒนาระดับเทพแค่ไหน ก็พลั้งพลาดและไม่เข้าใจกระทั่งว่าธุรกิจต้องมีโมเดลสร้างรายได้ และติดกับกลลวงในการทำธุรกิจจนเกือบโดนขโมยเทคโนโลยีหากไม่มีฮันจีพยองมาช่วยขัดคอไว้ก่อน

การไม่รู้เรื่องการวางแผนธุรกิจก็ทำให้พวกเขาติดแหง็กอยู่กับกิจการที่ไม่สร้างรายได้มานาน จนกระทั่งได้พบซอดัลมีและแซนด์บอกซ์ นี่อาจเป็นสิ่งที่ละครพยายามจะเตือนผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพหน้าใหม่ว่าลำพังแค่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีก็อย่ามั่นใจจนเกินไปว่าจะไม่ร่วงลงมา

สิ่งที่แตกต่างในละครคือ ในกลุ่มสตาร์ทอัพที่ตอบแบบสอบถามเหล่านี้ มีแค่ 1.9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ให้ความสำคัญของสถาบันการศึกษาที่จบมาหรือระดับการศึกษาสูงสุด แตกต่างจากภาพลักษณ์ของเกาหลีที่ให้ความสำคัญกับการเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ แม้กระทั่งในละครตอนที่ชอลซานสแกน QR Code ของซอดัลมีในงานแฮกกาทอนแล้วพบว่าเธอเรียนไม่จบมหาวิทยาลัย เขายังกังขากับความเป็นผู้นำของเธอถึงขั้นโน้มน้าวให้นัมโดซานย้ายทีม ทั้งๆ ที่ซอดัลมีได้ตำแหน่ง CEO มาก็เพราะความรู้รอบของเธอที่เหนือชั้นกว่าคนจบมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ

ในมุมของคนหางาน มีคนสัดส่วนราวๆ 1 ใน 5 ที่มองว่าการเริ่มงานในสตาร์ทอัพเป็นเรื่องที่ดีหรือดีมาก (ส่วน 36 เปอร์เซ็นต์ยังตอบว่าไม่แน่ใจ) และตอนนี้สตาร์ทอัพดาวรุ่งพุ่งแรงในมุมมองของพวกเขาคือแพดัล มินจก (บริษัท Woowa Brothers) บริษัทแอพฯ ส่งอาหารที่ตอนนี้ใครๆ ในเกาหลีไปร้านไหนก็จะต้องได้ยินเสียงประกาศของแอพฯ นี้บ่อยๆ แต่ที่ไม่ได้ปรากฏชื่อในยูนิคอร์นเกาหลีข้างต้นเพราะบริษัทสัญชาติเยอรมันได้ซื้อไปแล้ว คงเหมือนกับตอนที่ทูสโตซื้อกิจการซัมซันเทคหายวับไป

แม้ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะพูดภาษาอังกฤษได้และภาครัฐก็พยายามสร้างโครงการที่ดึงคนต่างชาติเข้ามาร่วมสร้างสรรค์สตาร์ทอัพในเกาหลี เช่น การออก OASIS Startup Visa Program ที่ทำให้ชาวต่างชาติขอวีซ่าเข้ามาทำสตาร์ทอัพได้ง่ายขึ้น แต่บรรยากาศก็ยังไม่ค่อยเอื้อต่อการเป็นนานาชาติเท่าไหร่นัก (ในมุมมองของเขา) เพราะอุปสรรคด้านภาษาอังกฤษของคนเกาหลีและเอกสารหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่ยังเป็นภาษาเกาหลีแทบทั้งหมด ตอนนี้มีสตาร์ทอัพเพียง 16 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีทีมงานต่างชาติทำงานอยู่ด้วย ซึ่งนี่อาจจะเป็นอุปสรรคของสตาร์ทอัพเกาหลีหลายแห่งที่จะดันเพดานในประเทศแล้วก้าวไปสู่ระดับโลกแบบซัมซันเทค นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ละครมักเน้นเรื่องจุดเด่นของคนที่พูดภาษาอังกฤษได้

ทั้งหมดนี้คือบรรยากาศอันคึกคักของสตาร์ทอัพในเกาหลี เบื้องหลังความสำเร็จ และความท้าทายของวงการที่ยังต้องรอการเปลี่ยนแปลงของสังคมมาสนับสนุนต่อยอดในอนาคต

 

อ้างอิง

รูปภาพจาก Netflix, giaallana.com, hancinema.net

AUTHOR