ภาพจำของเกาหลีใต้ในความคิดใครหลายคนคงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมบันเทิง กระแส K-pop เทคโนโลยีล้ำสมัย และการขนส่งสาธารณะที่ทั่วถึง แต่ในอีกมุมหนึ่งเกาหลีใต้ก็ยังมีวัฒนธรรมความเชื่อที่ขัดกับภาพลักษณ์ดังกล่าว อย่างการดูดวงที่ยังได้รับความนิยมอยู่และดูเหมือนจะมากขึ้นในปัจจุบัน
สำหรับคอซีรีส์หรือคอหนังเกาหลีส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมเหล่านี้อยู่บ้าง อย่างการดูดวงนั้นก็ปรากฏอยู่หลายฉาก เช่น ซีรีส์เรื่อง Reply 1988 (2015) ที่แม่ๆ ทั้งสามคนชวนกันไปตำหนักเทพธิดาพยากรณ์เพื่อดูดวงชะตาของลูกว่าจะได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ หรือไม่ แม่ของท็อกซอน (แสดงโดย ฮเยรี) ถึงกับต้องทำตามคำแนะนำของหมอดูว่าต้องเปลี่ยนชื่อท็อกซอนเป็นซูยอนจนกว่าจะได้เข้ามหาวิทยาลัย


หรือซีรีส์แนวโรแมนติกคอเมดี้เรื่อง Lucky Romance (2016) ก็มีตัวละครชิมโบนี (แสดงโดย ฮวังจ็องอึม) ที่เชื่อคำทำนายของหมอดูว่าเธอจะต้องตายหากไม่ได้หลับนอนกับชายหนุ่มเวอร์จิ้นที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ จนกลายเป็นเรื่องราวต่างๆ ตามมา
หรือแม้แต่ซีรีส์ที่ว่าด้วยธุรกิจของคนรุ่นใหม่อย่าง Start-Up (2020) ก็ยังมีฉากที่ซอดัลมี (รับบทโดย แพซูจี) นอนกระวนกระวายว่าจะเข้าร่วมการประมูลแพลตฟอร์มรถขับเคลื่อนอัตโนมัติดีหรือไม่ จนสุดท้ายเธอก็เลือกที่จะเปิดแอพฯ ดูดวง ‘เชื่อหรือไม่ไพ่ทาโรต์’ ขึ้นมาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ (แม้สุดท้ายเธอจะตัดสินใจอีกแบบก็ตาม)


แต่นอกจากในสื่อบันเทิงแล้ว ในชีวิตจริงของคนเกาหลีก็ใกล้ชิดกับการดูดวงไม่แพ้กัน ยืนยันด้วยจำนวนสถานที่ดูดวงในย่านต่างๆ ที่มีเยอะชนิดที่ต่อให้ไม่สนใจหรือไม่เชื่อเรื่องดวงก็ต้องเคยเห็นผ่านตาแน่นอน
สถานที่ดูดวงที่ว่าล้วนมีจุดเด่นที่น่าสนใจ ทั้งประเภทที่อยู่ในและนอกอาคาร ภาพที่คุ้นตาที่สุดในสื่อบันเทิงคือสำนักดูดวงซึ่งตั้งอยู่ภายในอาคาร เป็นห้องที่มีลักษณะคล้ายตำหนักดูดวงของไทย ซึ่งประกอบไปด้วยเทียน เครื่องบูชา และรูปภาพเทพยดาทั้งหลาย ให้บรรยากาศที่ขลังและน่าเกรงขาม
ถัดมาในยุคหลังๆ ก็เริ่มมีสถานที่ดูดวงที่เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งเรียกว่า ‘ซาจูคาเพ่’ (사주카페) หรือคาเฟ่ดูดวงนั่นเอง บรรยากาศจะเหมือนร้านกาแฟ มีการขายเครื่องดื่มต่างๆ และดูดวงไปด้วย ส่วนค่าดูดวงในคาเฟ่ก็ถือว่าย่อมเยามากขึ้น เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่มีรายได้ เช่น นักเรียน นักศึกษา

หากสังเกตดีๆ เราจะเห็นคาเฟ่ดูดวงอยู่มากมายหลายที่ แม้กระทั่งย่านที่วัยรุ่นนิยมไปรวมตัวกัน เช่น แถวหน้ามหาวิทยาลัยฮงอิก (หรือที่เรียกกันว่าฮงแด) ย่านยอนนัมดง และแทฮังโน เป็นต้น ส่วนย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องการดูดวงโดยเฉพาะเลยก็มีเช่นกัน อย่างชั้น 1 ของตลาดซอ-มย็อน เมืองปูซาน จะมีตรอกหนึ่งที่เต็มไปด้วยสำนักดูดวงหลายสำนัก นิยมใช้ชื่อว่า ‘ชอลฮักกวัน’ (철학관) หรือ ‘ชอลฮักวอน’ (철학원) หากแปลตรงตัวจะหมายถึง ‘สำนักปรัชญา’ แต่จริงๆ ก็คือตำหนักรับดูดวงนั่นเอง

อย่างที่เกริ่นไปว่าสถานที่ดูดวงแบบเอาต์ดอร์ของคนเกาหลีก็มีอยู่ไม่น้อย นั่นคือเต็นท์ดูดวงริมทางเดิน มองจากภายนอกจะคล้ายเต็นท์แดงที่เป็นร้านขายอาหารและเหล้าโซจูแบบที่ปรากฏในหนังเกาหลีอยู่บ่อยๆ แต่จะมีขนาดเล็กกว่า และมักจะมีป้ายระบุชัดเจนว่ารับดูดวงชะตา ดวงเนื้อคู่ หรือดูไพ่ทาโรต์

เมื่อสถานที่ดูดวงเข้าถึงได้ง่ายขนาดนี้ เป็นไปได้ว่าคนเกาหลีจำนวนมากคงจะมีประสบการณ์ในการดูดวง จากผลสำรวจในปี 2018 พบว่า วัยรุ่นอายุสิบกว่าไปจนถึงคนวัยสามสิบปลายๆ นิยมดูดวงกันเป็นจำนวนมาก ในกลุ่มคนที่อายุ 10-39 ปี คนที่เคยมีประสบการณ์ดูดวงมีจำนวน 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่ดูดวงอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้งขึ้นไปนั้นมีจำนวน 24 เปอร์เซ็นต์ และคนที่ดูดวงทุกวันมีจำนวน 11 เปอร์เซ็นต์
เหตุผลที่ทำให้คนเกาหลีดูดวงมากที่สุดก็คือ เพราะสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง ส่วนเหตุผลรองลงมาคือดูดวงเพื่อเป็นการปลอบขวัญและกำลังใจให้กับตัวเอง และเหตุผลอันดับที่สามคือ ดูดวงเพื่อคลายเครียดและคลายความกังวลใจ

นอกจากนี้ผลสำรวจในปี 2020 พบว่า ในบรรดาคนที่กำลังหางานทำอยู่จำนวนกว่า 300 คน มีคนที่ดูดวงเกี่ยวกับเรื่องการงานมาแล้วหรือมีแผนว่าจะไปดูดวงนั้นมีจำนวนถึง 65.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหตุผลในการดูดวงสามอันดับแรกคือ เพื่อการปลอบใจตัวเอง รู้สึกอึดอัดใจเกี่ยวกับการหางาน และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตของตัวเอง
จากตัวเลขที่ว่ามาทั้งหมดสามารถยืนยันได้ว่าคนเกาหลีนิยมดูดวงกันเป็นจำนวนมาก แต่พวกเขาจะเชื่อคำทำนายหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ที่น่าสนใจคือ มีคนที่เชื่อการทำนายว่าน่าจะตรงทั้งหมดอยู่เพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และคนเกาหลีจำนวน 49.4 เปอร์เซ็นต์เชื่อเฉพาะการทำนายที่มีความหมายดี ส่วนคนที่ไม่เชื่อเรื่องดวงเลยมีอยู่ 22.3 เปอร์เซ็นต์
มีคนเกาหลีได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ถ้าคำทำนายออกมาดีก็จะเชื่อตามนั้น แต่ถ้าคำนายออกมาไม่ดีก็จะลืมมันเสีย” ซึ่งสอดคล้องกับที่บางคนกล่าวว่า “ไม่ได้เชื่อเรื่องดวงร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าคำทำนายออกมาดีก็ว่าดี แต่ถ้าออกมาไม่ดีก็คิดเสียว่าต้องระมัดระวังให้มากขึ้น”

อีกผลสำรวจหนึ่งในปี 2019 ระบุว่า ในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,000 คนในช่วงอายุ 19-59 ปี มีคนที่มีความเห็นว่าสาเหตุที่คนนิยมดูดวงกันมากขึ้นนั้นมาจากความไม่สบายใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบันอยู่ถึง 73.9 เปอร์เซ็นต์
แอพพลิเคชั่นต่างๆ กันมากขึ้นเป็นประวัติการณ์
ในช่วงปี 2020-2021 คนเกาหลียิ่งนิยมดูดวงกันมากขึ้นเพราะความรู้สึกไม่สบายใจ อัดอั้นตันใจ รู้สึกต้องการปลอบประโลมใจ และด้วยสถานการณ์โควิดจึงนิยมดูดวงผ่านไม่ใช่แค่การดูดวงเท่านั้นที่ใช้ระบบออนไลน์ คนเกาหลียังสั่งซื้อยันต์เพื่อเสริมดวงอีกด้วย บริษัทที่เปิดแพลตฟอร์มไว้สำหรับบริการรับดูดวงที่มีชื่อเสียงในเกาหลีแห่งหนึ่งได้เริ่มขายยันต์เสริมดวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก การงาน สุขภาพ โชคลาภ และเรื่องอื่นๆ ราว 20 เรื่อง ปรากฏว่ามีคนสั่งซื้อยันต์ต่างๆ เป็นจำนวนมากจนขายหมดเกลี้ยงภายในหนึ่งเดือน จึงต้องทำออกมาใหม่ตามความต้องการของลูกค้า
ในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ สิ่งที่พอจะเป็นที่พึ่งทางใจสำหรับคนเกาหลี นอกจากการหวนระลึกถึงวันวานแล้ว การดูดวงก็ดูจะเป็นสิ่งที่ช่วยเยียวยาและปลอบประโลมใจคนเกาหลีอีกทางหนึ่ง
อ้างอิง