บันทึกบทสนทนาในเย็นวันหนึ่งกับ คิม รันโด นักเยียวยาความเจ็บปวดของวัยรุ่นเกาหลี

บันทึกบทสนทนาในเย็นวันหนึ่งกับ คิม รันโด นักเยียวยาความเจ็บปวดของวัยรุ่นเกาหลี

‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ หรือ ‘Youth It’s Painful’ หนังสือปกสีส้มจนใจเจ็บ แต่อ่านแล้วไม่เจ็บใจ เปิดตัวในฉบับภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี 2555 และขึ้นอันดับหนังสือขายดีไม่แพ้ต้นฉบับภาษาเกาหลีที่สร้างยอดขายนับล้านเล่มในเวลานั้น คิม รันโด ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโซล ประเทศเกาหลี กลายเป็นนักเขียนเบสต์เซลเลอร์ และได้ชื่อว่าเป็นผู้ปลอบประโลมชีวิตของวัยรุ่นเกาหลี รวมทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ทั่วโลกด้วยก็ว่าได้ เพราะหนังสือของเขาได้รับการแปลไปแล้วกว่า 10 ประเทศทั่วโลก

เราเองก็เริ่มอ่านหนังสือของเขาเป็นครั้งแรกในตอนนั้น 

น้ำเสียงที่ไม่ได้สั่งสอนกับการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรที่เรียบง่ายแต่กระตุ้นให้คิด ผ่านการตั้งคำถามธรรมดาๆ เช่น 

“ฉันต้องการอะไร”

“ฉันทำอะไรแล้วมีความสุข” 

“ฉันทำอะไรได้ดีที่สุด”

“ฉันเป็นใคร”  

(หน้า 29 จากหนังสือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’) 

อาจทำให้วัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่หลายต่อหลายคน ได้คำตอบที่พิเศษให้กับชีวิตตัวเอง 

จะว่าไปแล้ว ในวันนั้น สถานการณ์หลายๆ อย่างรอบตัวและทั่วโลก ยังไม่หมุนเร็วและเหวี่ยงผู้คนให้มึนงงและล้มลงระเนระนาดอย่างทุกวันนี้ โซเชียลมีเดียสารพัดเจ้ายังไม่ดูดกลืนชีวิตเราจนติดหล่ม โควิดยังไม่เกิดมาพรากสิ่งใดไปจากเรา ชีวิตไม่สิ้นก็ดิ้นกันไป

แต่ไม่ถึงขนาด ดิ้นจนเกือบสิ้น ก็ยังแทบจะดิ้นไม่ไหว แบบทุกวันนี้ 

เราเดินไปหยิบหนังสือของอาจารย์คิม รันโด ออกมาจากชั้นหนังสืออีกครั้ง เนื่องจากได้รับเชิญให้ไปสัมภาษณ์เขาเนื่องในโอกาสที่อาจารย์มาพบปะพูดคุยกับแฟนๆ ชาวไทยเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา 

ผ่านไปหลายปีนับจากอ่านหนังสือเล่มแรกของเขา วันนี้เรามีหนังสือของเขาเพิ่มขึ้นอัดแน่นบนชั้นหนังสืออีกหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ ‘พันครั้งที่หวั่นไหวกว่าจะเป็นผู้ใหญ่’ ‘ในเวลาที่หม่นเศร้า ชีวิตก็ยังเป็นของเรา’ ‘แด่งานของฉัน แด่วันพรุ่งนี้’ ‘จงหางานที่มีแต่คุณเท่านั้นที่ทำได้’ 

หนังสือของเขายังอ่านสนุกเหมือนเดิม และมันยังตอบคำถามสำคัญๆ กับชีวิตของเราได้อยู่เสมอ อาจเพราะว่าคำถามในหัวใจของผู้คนยังเหมือนเดิม คำตอบในหนังสือจึงยังไม่เปลี่ยนไป 

เกือบหนึ่งชั่วโมงของเย็นวันหนึ่ง ที่เรามีโอกาสพบปะกับอาจารย์คิม รันโด ในคาเฟ่เล็กๆ เราเตรียมประเด็นพูดคุยกับเขาไว้เท่าที่เวลาจะอำนวย 

การรีบร้อนประสบความสำเร็จ นิยามของความสำเร็จ ความเจ็บปวดเท่าที่วัยรุ่นและผู้ใหญ่ในวัยนี้จะเผชิญได้ AI และการเข้ามาทำงานแทนที่คน ฯลฯ​ 

หลายคำถามต่อไปนี้ ไม่ได้ต้องการคำตอบที่ถูกที่สุด แต่อย่างน้อย ถ้ามันมาในเวลาที่เหมาะสมที่สุด มันก็อาจจะเป็นคำตอบที่ใครหลายๆ คนตามหามานานเช่นกัน 

การไม่จำเป็นต้องรีบร้อนประสบความสำเร็จ เป็นเรื่องที่คุณเคยบอกไว้ในคำนำหนังสือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ แต่เมื่อดูวัยรุ่นยุคนี้ เราจะเห็นว่าเขาเองก็ต้องการประสบความสำเร็จเร็วมาก ไม่ว่าจะทำยูทูบหรือช่องทางไหนก็ตาม เพราะมันหมายถึงรายได้ การมีชื่อเสียง คุณมองเรื่องนี้ยังไง

เป็นประเด็นที่ดีมากที่ถามนะครับ เพราะยุคนี้ ผมก็เห็นด้วยว่าเด็กๆ พยายามทำคอนเทนต์เพื่อให้คนมาติดตามกันเยอะๆ อยากให้มีคนมากดไลค์เยอะๆ แต่สิ่งที่ผมอยากจะโฟกัสมากกว่านั้นก็คือ เวลาที่เรามองย้อนกลับไปในชีวิตของตัวเอง เราควรจะถามตัวเองว่าสิ่งที่ทำมามีความสุขไหม เราพอใจกับชีวิตตัวเองหรือเปล่า เรารู้สึกว่าเราก้าวหน้าหรือเปล่า อยากให้โฟกัสกับตรงนั้นมากกว่าจำนวนคนกดไลค์หรือระยะเวลาที่เราประสบความสำเร็จว่าจะเร็วหรือช้า 

ถ้าสมมติเราพูดถึงนักกีฬา หรือแม้กระทั่งดาราที่เราคิดว่าเขาหาเงินได้มากๆ ตั้งแต่เด็ก เราจะคิดว่า โอ้โห ถ้าหาเงินได้เท่านี้ ทั้งชีวิตก็สบายแล้ว มีความสุขแล้ว แต่จริงๆ ถ้าเราลองศึกษาดูดีๆจะเห็นว่ามีหลายกรณีมากที่ประสบความสำเร็จในวัยเด็กแล้วมาแย่ตอนวัยกลางคนหรือบั้นปลายชีวิต หรือไม่ก็ไม่ได้มีความสุขขนาดนั้น 

ผมหมายความว่าการประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยไม่ใช่เรื่องผิด แต่อยากจะบอกว่ามันไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิตเราเท่านั้นเอง 

โดยเฉพาะการที่เราเห็นคนในรุ่นราวคราวเดียวกับเราประสบความสำเร็จกันมากมาย แล้วเรามัวแต่คิดว่าทำไมเราประสบความสำเร็จได้ไม่เท่าเขา อันนี้เป็นความคิดที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะคนเรามันไม่จำเป็นต้องประสบความสำเร็จในช่วงเวลาเดียวกันก็ได้ เพราะชีวิตไม่ใช่การวิ่งแข่งแค่ร้อยเมตร ไม่ใช่เรื่องของใครถึงเส้นชัยได้เร็วกว่ากัน แต่มันเป็นการวิ่งมาราธอนที่เราต้องวิ่งต่อไปเรื่อยๆ แล้วคนที่ชนะก็คือคนที่ยังไงก็เข้าเส้นชัยได้ไม่ว่าจะช้าแค่ไหน ทุกคนมีจังหวะเวลาของตัวเอง เวลาจะย้อนกลับไปดูชีวิตตัวเองก็ควรจะย้อนดูทั้งหมด ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง 

ถ้าอย่างนั้นตอนอาจารย์เขียนเรื่อง ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ อยากรู้ว่าเมื่อมองย้อนกลับไป ความเจ็บปวดในช่วงวัยรุ่นของอาจารย์คือเรื่องอะไร

มันมีสองเรื่อง อย่างแรก ความเจ็บปวดของผมคือรู้สึกว่าเราไม่สามารถทำตามความหวังหรือความคาดหวังที่ผู้ปกครองหรือพ่อแม่ตั้งไว้กับเราได้ อีกอย่างคือเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันแล้ว เรารู้สึกล้าหลังหรือตามไม่ทันเพื่อน ผมคิดว่าสองเรื่องนี้ มักจะเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่รู้สึกเหมือนกัน เป็นความเจ็บปวดที่ยิ่งใหญ่สำหรับผมเลยในตอนเด็กๆ จะว่าไปมันก็เป็นความเจ็บปวดที่เป็น Universal Pain นะ 

อาจารย์เขียนไว้ในหนังสือว่า เป้าหมายที่ตัวเองต้องการ วิธีที่เหมาะสม และการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง จะเป็นปัจจัยหลักสามประการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ แต่หลายคนก็บอกว่าทำทุกอย่างตามนี้เหมือนกัน แต่ยังไม่สำเร็จ อาจารย์มองเรื่องนี้ยังไง สรุปแล้วมันมีสูตรในการประสบความสำเร็จจริงๆหรือ?​

สมมติว่าเป้าหมายของเรามันใหญ่แล้วมันอยู่ไกล ในมุมมองของผมคืออยากให้โฟกัสทีละก้าว และทำในสิ่งที่เราสามารถทำได้ในวันนี้ก่อน เพราะถ้าเราเซ็ตเป้าหมายไว้ไกล หรือว่าเอาเป้าหมายเราไปเทียบกับคนอื่นที่เขาสำเร็จไปแล้ว การมองไปไกลแบบนั้น อาจทำให้เรารู้สึกเหนื่อยระหว่างทางหรืออยากจะยอมแพ้ก็ได้ แต่ในทางกลับกัน แทนที่จะไปมองระยะไกลแบบนั้น เราลองคิดแค่ว่า วันนี้ วันพรุ่งนี้ เราสามารถทำอะไรได้บ้าง ตรงนี้จะเป็นการฝึกตัวเองที่ดีกว่านะผมว่า 

เวลาที่เราฝึกไปทีละก้าว แล้วหันกลับมาดูตัวเองอีกที เราจะรู้ว่าเราเข้าใกล้เป้าหมายขนาดไหนแล้ว อย่างที่ผมยกตัวอย่างไว้ในหนังสือว่า มันจะมีหนอนตัวเล็กๆ ที่เวลาจะเดินไปสิบเมตร อาจจะต้องใช้เวลาทั้งวัน เพราะมันต้องคลานไปเรื่อยๆ ทีนี้สมมติเราไปให้โจทย์กับหนอนตัวนั้นว่าให้เดินสิบกิโลเมตร คิดว่าหนอนตัวนั้นจะทำได้ยังไง เพราะมันไกลมาก จริงไหม

แต่ถ้าหนอนตัวนั้นมีความขยัน แล้วก็พยายามจะผลักดันตัวเองไปข้างหน้าเสมอ การจะไปให้ถึงสิบกิโลเมตรก็สามารถทำได้เช่นกัน ด้วยการที่วันหนึ่งหนอนตัวนั้นเติบโตไปเป็นผีเสื้อ แล้วก็บินไป 

ดังนั้นในกระบวนการที่หนอนตัวนั้นจะกลายเป็นผีเสื้อได้ สิ่งที่สำคัญที่ต้องมีเลยก็คือการฝึกฝนตัวเอง แล้วก็ค่อยๆ เดินไปทีละก้าว เหมือนที่คุณถามว่า ถ้าทำทุกอย่างแล้วยังไม่ประสบความสำเร็จจะทำยังไงต่อ ผมก็คงตอบได้ว่า บางทีเราอาจจะแค่อยู่ในกระบวนการที่กำลังเติบโตไปสู่ความสำเร็จเท่านั้นเอง แต่ถ้าเรายอมแพ้ตั้งแต่แรก เราก็จะไม่ประสบความสำเร็จจริงๆ ตรงกันข้าม ถ้าเราเดินไปทีละก้าว เราก็อาจจะสำเร็จได้ในวันหนึ่ง เปรียบเหมือนเวลาที่เราต้มน้ำ เราจะเห็นว่าอุณหภูมิของน้ำจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละนิดไปจนถึง 100 องศา แต่สมมติมันไปถึงจุดที่เดือดแล้ว ต่อให้เราต้มต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะไม่ร้อนไปกว่านี้แล้ว เพราะน้ำจะเดือดที่ 100 องศา ดังนั้นถ้าเรายอมแพ้ในช่วงแรกๆ แล้วปิดไฟ ไม่ต้มต่อ น้ำก็จะกลับมาสู่สภาวะเดิม คือจะกลับมาเย็นเหมือนเดิม แต่ถ้าเราต้มน้ำต่อไปเรื่อยๆ มันย่อมมีวันที่น้ำเดือด 

เหมือนที่หนอนกลายเป็นผีเสื้อ มันต้องใช้ความอดทน ในการก้าวไปทีละนิด 

เราไม่ต้องเป็นผีเสื้อได้ไหม แต่เป็นหนอนที่จะเดินไปสิบกิโลฯ ให้ได้

(หัวเราะ)​ หนอนน่ะ ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งกิโลฯ หรือสิบกิโลฯ ถ้าใจมันอยากจะไปมันก็อาจจะไปได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนสภาพตัวเองก็ได้ แต่แม้จะเป็นอย่างนั้น ผมก็คิดว่าความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง มันก็ยังสำคัญมากๆ อยู่ดี ซึ่งสิ่งที่ผมคาดหวังจากคนทั่วไปที่อ่านหนังสือ หรือพวกลูกศิษย์ของผม ก็คืออยากให้เขามีความพยายามเกิดขึ้นจนกระทั่งวันหนึ่ง สิ่งที่พวกเขาลงมือทำ จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงกับชีวิตได้จริงๆ มันจะมีคำพูดที่บอกว่า ยิ่งทำบางสิ่งบางอย่างให้มากขึ้นและซ้ำๆ มันจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในที่สุด สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำก็คือ ถ้าเราเป็นหนอนที่เดินต่อไปเรื่อยๆ วันหนึ่งจะเดินได้สิบกิโลฯ​ หรือ กี่กิโลฯ ก็ตามแต่ หากลงมือทำ วันหนึ่งมันก็ต้องเปลี่ยนเป็นผีเสื้อได้แน่นอน

ในหนังสือ ‘พันครั้งกว่าจะเป็นผู้ใหญ่’  บอกว่า ถ้าไม่ชอบบริษัทที่ทำอยู่ตอนนี้ ให้อดทนสักหน่อย แต่ถ้าคุณเจอสิ่งที่ทำให้อยากทำ แล้วมันทำให้หัวใจเต้นแรงแล้วจริงๆ ก็ขอให้ตัดสินใจเด็ดเดี่ยว เพื่อไปทำสิ่งนั้น หลายคนก็อาจจะคิดแบบนี้ว่า ถ้าไม่ชอบก็ลองอดทนอีกนิด มองย้อนกลับไป อาจารย์คิดว่าข้อความนี้ยังถูกอยู่ไหมในวันที่เราต่างก็เจอ Post Covid หรือวันที่ชีวิตไม่แน่นอน ไม่มั่นคง เราจะยังทำในสิ่งที่อยากทำในวันที่อะไรก็ไม่แน่นอนได้เหรอ

ผมว่าคำพูดนี้ยังใช้ได้อยู่ และยิ่งเห็นชัดเจนในตอนนี้ด้วยซ้ำ และยิ่งมั่นใจมากขึ้นในคำพูดนี้ด้วย จริงๆ ข้อความนี้ถ้าอ่านผ่านๆ คนอ่านอาจจะเข้าใจผิดในสิ่งที่ผมจะสื่อ ยกตัวอย่างเช่น เรารู้สึกว่างานเรามันน่าเบื่อ ไม่อยากทำแล้ว ถ้าเป็นเหตุผลนี้ที่เราอยากเปลี่ยนงาน ผมมักจะแนะนำว่า ให้ทนทำไปก่อน เพราะแม้เราจะเปลี่ยนงานไป โอกาสที่เราจะรู้สึกเบื่อกับงานที่เราทำ ก็อาจยังเกิดขึ้นได้อยู่ดี แต่ที่ผมเขียนว่าให้ตัดสินใจแน่วแน่ที่จะเปลี่ยนงาน หมายความว่า ในกรณีที่งานที่ทำอยู่ก็ไม่ได้น่าเบื่อขนาดนั้น หรือมันก็โอเคดี แต่ในใจเรามีเป้าหมายว่าต้องไปทำสิ่งอื่นให้ได้ ถ้าไปถึงจุดนั้นแล้วก็ค่อยเปลี่ยน เอาเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบกับการต้มน้ำเดือดก็ได้ ถ้าเราต้มน้ำเดือด ยังไงมันก็เดือดที่อุณหภูมิ 100 องศา ดังนั้น เราจึงต้องรอเวลาให้เหมาะสมจริงๆ 

เหมือนหนอนที่เดินไปข้างหน้า เขาก็ไม่รู้หรอกว่าเขามีสิทธิ์จะเปลี่ยนเป็นผีเสื้อหรือเปล่า หรือช่วงเวลานั้นมันจะมาถึงเมื่อไหร่ แต่มันต้องถึงเวลาสักวัน บทสรุปก็คือ เวลาเจองานที่มันน่าเบื่อ สุดท้ายเราก็อาจจะต้องทนทำมันต่อไป เพราะมันเป็นขั้นตอนของการเจริญเติบโต แต่ถ้าเราเบื่อหน่ายจนอยากจะละทิ้งงานตรงนี้ไป มันต้องมีสิ่งอื่นที่ปักใจและมั่นใจแล้วว่า นี่คือสิ่งที่เราอยากจะทำมันจริงๆ จากใจ เขาถึงได้มักจะพูดว่าให้หางานที่รักจริงๆ  เพราะเวลาใครสักคนรักงานที่ตัวเองทำ สิ่งที่เขาทุ่มเทลงไปกับงานนั้นมันจะมากกว่าคนที่ทำเพียงเพราะมีงานให้ทำเฉยๆ 

ผมเข้าใจว่าหลายคนอยากเปลี่ยนงาน เพราะไม่สนุก ไม่พอใจ แต่แทนที่จะตัดสินใจเปลี่ยนงานโดยทันที ผมอยากให้หันกลับมามองตัวเอง สำรวจตัวเองก่อนว่าเราต้องการอะไรกันแน่ เพราะถ้าเรายังไม่รู้จักตัวเองดีพอ ไม่รู้ว่าเราต้องการอะไรกันแน่ ต่อให้เราเปลี่ยนงานไป เราก็จะรู้สึกแบบเดิมกับงานใหม่อยู่ดี แต่ถ้าวันหนึ่งมีงานที่เราคิดว่ามันจุดประกายไฟให้เรา ชนิดที่ว่าถ้าไม่ทำงานนี้เราจะอยู่ไม่ได้ แบบอยากทำมากจริงๆ ถ้ารู้สึกแบบนั้นก็ค่อยย้ายงาน อย่าย้ายแค่เพราะคิดว่างานนี้ไม่สนุกหรือแค่ไม่พอใจ

แล้วสิ่งที่คนทั่วไปควรสำรวจตัวเอง หรือขั้นตอนในการสำรวจตัวเองที่สำคัญที่สุดคืออะไร เพื่อให้ได้คำตอบว่าเราเป็นใคร 

ช่วงโควิด เราจะเห็นว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนไปเยอะ ไม่ว่าจะ AI หรือ Big Data ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองมากขึ้น ทีนี้สิ่งที่สังคมต้องการจากเรา มันจะมากขึ้นเรื่อยๆ และสังคมหรือองค์กรก็ต้องการคนที่มีความสามารถหลากหลายมากขึ้น ดังนั้นขั้นตอนแรกของการที่เราจะรู้จักตัวเองและสำรวจตัวเอง ก็คือ เราต้องดูว่า ตัวเราเอง สามารถมอบอะไรให้ในสิ่งที่สังคมปัจจุบันต้องการได้บ้าง เราต้องรู้ว่า สังคมมีปัญหาอะไร และต้องการอะไร และตัวเราสามารถทำอะไรได้ 

ในฐานะที่อาจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับผู้บริโภคและเป็นนักวิจัยเทรนด์ เทรนด์ที่เราต้องเตรียมตัวรับมือในตอนนี้หรือในอนาคตคืออะไร

จริงๆ ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นเทรนด์ที่ค่อนข้างน่าเศร้า นั่นคือทุกคนโฟกัสที่ตัวเองเป็นหลัก สมัยก่อน เวลาเราใช้ชีวิตเราจะไม่ค่อยคิดถึงตัวเราเองฝ่ายเดียว แต่จะคิดถึงคนที่อยู่รอบข้างหรือคนที่อยู่ในกลุ่มก้อนเดียวกับเราด้วย ซึ่งแปลว่าเมื่อเกิดอะไรขึ้นกลุ่มก้อนนั้นก็จะปกป้องเราไปโดยปริยาย แต่ว่าปัจจุบันมันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว สมัยนี้ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือเป็นของตัวเอง เวลาเราอยากตามหาคนที่มีไอเดียเดียวกับเรา คิดเหมือนกับเรา เราแค่ติด Hashtag ก็เจอแล้ว ดังนั้นด้วยเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนไป ทุกสิ่งทุกอย่างมันเลยต้องโฟกัสไปที่ความต้องการของบุคคลเป็นปัจเจกมากกว่า ดังนั้น สิ่งที่จะสำคัญมากขึ้นคือความสามารถส่วนบุคคล ว่าเราจะใช้ชีวิตยังไง ถึงจะสามารถใข้ชีวิตในสังคมที่โฟกัสกันที่ส่วนบุคคลมากขึ้น หรือในวันที่คนเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ดังนั้นผมว่าเรื่องของการพัฒนาตัวเอง การสำรวจตัวเองว่าเราสามารถตอบโจทย์ที่สังคมต้องการได้ก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน 

คำถามอะไรที่อาจารย์มักจะถามเวลาอยากสำรวจตัวเอง

ผมมาคิดๆ ดูนะ เวลาที่เราคิดถึงสิ่งที่ทำได้ งานที่อยากทำ หรืองานที่เราเก่ง เรามักจะชอบใช้คำว่าสำรวจตัวเอง ผมว่าเอาจริงๆ แล้วคำนี้มันมีนัยยะของความกังวลอยู่ บางทีคำศัพท์เหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นไปในทางบวกเท่าไหร่ เพราะคำว่า ‘สำรวจ’ บางสิ่งบางอย่าง มันเป็นสิ่งที่ต้องผ่านกระบวนการคิดก่อนที่จะลงมือทำ แต่ว่าถ้าเราแค่คิดหรือไปกังวลกับสิ่งเหล่านี้ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าคำตอบคืออะไร ทางเดียวที่เราจะรู้ก็คือการลงมือทำด้วยตัวเอง นั่นแหละเราถึงจะรู้ 

ดังนั้นในขั้นตอนการสำรวจตัวเอง แทนที่เราจะถามเป็นคำถาม ก็ให้เราเน้นลงมือปฏิบัติไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม ดังนั้นแทนที่จะใช้สมองในการคิด เราก็ให้มันผ่านมือในการลงมือทำ ผ่านประสบการณ์ ผ่านสิ่งที่เป็นตัวเรา มันจะทำให้เรารู้จักตัวเองได้ดีกว่า สมมติง่ายๆ นะ คนชอบไปนั่งตามคาเฟ่เก๋ๆ แล้วก็คิดว่า เออ วันหนึ่งฉันอยากเปิดคาเฟ่แบบนี้ มีร้านกาแฟแบบนี้ คาเฟ่แบบนี้เป็นพื้นที่ให้คนมานั่งทำงาน นั่งคิดไอเดีย หรือแม้แต่ศึกษาตัวเองให้มากขึ้น แต่เราจะค้นหาตัวเองในคาเฟ่ได้เหรอ? ดังนั้น แทนที่เราจะมานั่งคิดวันละ 4-5 ชั่วโมง ว่าเราเป็นคนยังไงกันแน่ เราอยากทำร้านกาแฟยังไงกันแน่ ให้ลองไปทำงานเป็นบาริสต้าพาร์ตไทม์ดูไหม เดี๋ยวก็รู้จักตัวเองว่าเราเป็นคนแบบไหน หรือถ้าคิดว่าออกจากงานแล้วมาเปิดคาเฟ่ มันจะทำได้จริงไหม แทนที่จะมานั่งคิดหรือถามคนอื่น ก็ลองลงมือทำ หาข้อมูลจริงไปเลย  

สุดท้ายแล้ว สำหรับผมนะ สิ่งสำคัญจึงไม่ใช่การสำรวจตัวเองหรือตั้งคำถาม แต่เป็นการลงมือทำ ผมเลยอยากจะบอกกับคนที่พยายามจะเปลี่ยนงานหรือหาเส้นทางที่เหมาะกับตัวเอง ว่าไม่ต้องคิดมากเกินไป แต่ให้ลงมือทำก่อนเลย 

ถ้าอาจารย์ต้อง revise หนังสือเล่ม ‘จงหางานที่มีแต่คุณเท่านั้นที่ทำได้’ อาจารย์อยากจะเติมประเด็นอะไร ในยุคนี้ที่หลายงานถูกแทนที่ด้วย AI ไปหมดแล้ว

ตอนที่เขียนเล่มนี้ออกมาหลายปีมาแล้ว มีนักข่าวมาสัมภาษณ์และถามคำถามประมาณนี้ว่า ถ้าเกิดเทคโนโลยีพัฒนามากๆ มันจะกระทบกับชีวิตมากไหม ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่มันใหญ่ขนาดนั้น มันยังไม่น่าเกิดขึ้นภายใน 10 ปีอย่างแน่นอน ยังไม่น่าจะกระทบชีวิตแพร่หลายขนาดนั้น นั่นคือตอนนั้นที่ผมตอบไปนะ ผมเลยอยากขอบคุณมากที่พูดถึงหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพราะตอนที่หนังสือเล่มนี้ออกมา เรื่อง AI หรือสิ่งประดิษฐ์ที่มาแทนการทำหน้าที่ของคน ยงไม่แพร่หลายขนาดนี้ ดังนั้นถ้าจะตอบคำถามเมื่อกี้ ก็ต้องบอกว่า ไม่มีเนื้อหาไหนที่ผมอยากจะแก้หรือว่าอยากจะเพิ่มลงไปแล้ว

แล้วมันยังมีอยู่ไหม งานที่มีแต่คุณเท่านั้น ที่ทำได้ เหมือนชื่อหนังสือ

ผมคิดว่ามีแน่นอน แต่ต้องลองทำดู หาทางของตัวเอง

ย้อนกลับไปตอนเขียน ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ ซึ่งเป็นเล่มที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คุณคิดว่ามันจะประสบความสำเร็จขนาดนี้ไหม แล้วรับมือกับความสำเร็จในวันนั้นยังไง

ไม่ได้คิดเลยครับว่าจะประสบความสำเร็จขนาดนี้ แต่แทนที่จะมองว่าผมเขียนหนังสือได้ดี ผมคิดว่ามันสำคัญกว่าที่จะมองว่าปัญหาต่างๆ ที่พูดถึงในหนังสือเล่มนี้ได้หยั่งรากลึกลงไปในกลุ่มวัยรุ่นจริงหรือเปล่า ซึ่งปัญหาที่เกิดกับวัยรุ่นที่กำลังจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตมันมีเยอะนะ แต่ถ้าให้เลือกสักเรื่อง ผมคิดว่าเรื่องที่น่ากังวลมากที่สุดคือเรื่องความมั่นใจในตัวเอง ผมอยากให้เด็กๆ มีความมั่นใจในตัวเองมากกว่านี้ เพราะยุคนี้ที่เรามองว่าเป็นยุคของ AI เป็นยุคของโซเชียลมีเดียและอัลกอริทึม ที่จะกำหนดให้เราเห็นในสิ่งที่ทำให้เราเหมือนถูกเปรียบเทียบตลอดเวลา มันเลยยิ่งส่งผลให้ความมั่นใจในตัวเองของเด็กๆ ยิ่งลดน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นความมั่นใจในตัวเองมันเลยเป็นเรื่องสำคัญมากๆ สมมติว่าเรามีความเชื่อมั่นในตัวเอง เราจะรู้จักตัวเองและลงมือปฏิบัติในสิ่งที่เราอยากเป็นและอยากก้าวไปในทางนั้น 

ถ้ามองจากภายนอก เราจะเห็นว่าสังคมเกาหลีเน้นเรื่อง K-Culture ซึ่งหลายคนจะเห็นว่ามันพัฒนาไปไกลมาก ดูมีอนาคตสดใส ดูดีไปหมด แต่ถ้ามองลึกลงไปในระดับตัวบุคคล สิ่งที่พวกเขาต้องรับมือ เช่น การเปรียบเทียบที่รุนแรง มันจะทำให้ความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ ทำให้เกิดปัญหาเรื่องโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายตามมา

ฟีดแบกจากคนอ่านที่คุณประทับใจและมักจะพูดถึงบ่อยๆ คืออะไร

เรื่องที่ผมประทับใจและภาคภูมิใจมากที่สุดในการเขียนหนังสือ ก็คือตอนที่หนังสือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ วางขาย แล้วมีคนอ่านที่ก่อนหน้านั้นเคยคิดว่า ชีวิตเขาหาทางออกไม่ได้และพยายามจะฆ่าตัวตาย แต่พอเขาได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เขาถึงคิดได้ว่า ชีวิตยังเหลือเวลาอีกเยอะมาก ยาวไกลมาก ชีวิตเขายังมีอะไรที่ต้องทำอีกมาก เขาเลยไม่ฆ่าตัวตาย เรื่องนี้ประทับใจผมมาก มันทำให้ผมคิดได้ว่าสิ่งที่ผมทำอยู่นี้มีคุณค่ากับคนอื่นมากเลย 

ขอเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟังแล้วกัน ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งที่ไปบังเอิญเกี่ยวพันกับเรื่องไม่ดีและต้องติดคุก ตอนที่ผมไปเยี่ยมเพื่อน ผู้คุมที่นั่นจำผมได้ เลยมาบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่เขาอ่านให้นักโทษในคุกฟังบ่อยที่สุด และทำให้คนที่อยู่ในเรือนจำเกิดความหวังในชีวิตมากที่สุดด้วย 

ต้องบอกก่อนว่า คนที่อยู่ในคุกส่วนใหญ่จะมองแค่ระยะเวลาที่ต้องติดคุก ซึ่งมันยาวนานมาก แล้วก็คิดว่านี่คือจุดจบของชีวิต แต่พอพวกเขาได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เขาเลยเปลี่ยนความคิดได้ว่า สมมติได้ออกจากคุกตอนอายุ 40 ถ้าเทียบกับนาฬิกาชีวิตที่เป็นเรื่องที่ผมเปรียบเทียบไว้ในหนังสือ มันก็เท่ากับเราอยู่ในช่วงเที่ยงวันเอง ยังเหลืออีกตั้งครึ่งวันที่เราจะได้ใช้ชีวิต ดังนั้นเขาเลยมีความหวังขึ้นมา รอวันพ้นโทษเพื่อจะได้ไปใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ให้ดีกว่าเดิม 

โดยเฉพาะกับนักอ่านชาวไทย ผมก็ได้อ่านจดหมายที่เขียนมาหาผมด้วยลายมือ เขามักจะเล่าเรื่องความกังวลส่วนตัว ความรู้สึกหมดหวังในชีวิต ผมก็บอกไปว่า ชีวิตคนเรานะครับ ถ้าหากลงมือทำในสิ่งที่เราคิด และมุ่งมั่นทำไปอย่างไม่ยอมแพ้ เราจะเห็นว่าชีวิตมีหนทางและความหวังเสมอ แต่โดยทั่วไป เวลาที่มีคนอีเมลหรือเขียนจดหมายมาถามผม ผมคิดว่าพวกเขามีคำตอบให้กับตัวเองอยู่แล้วด้วยซ้ำนะ แต่แค่ยังไม่กล้าลงมือทำในสิ่งที่พวกเขาคิดว่ามันเป็นคำตอบเลยมาถามผม 

ดังนั้นบทบาทที่ผมจะสามารถทำให้เขาได้ ไม่ใช่การให้คำตอบในสิ่งที่เขาถาม แต่อาจจะเป็นการเสริมให้เขามั่นใจในคำตอบที่เขามีอยู่แล้ว

วันนี้คุณนิยามคำว่า ‘ความสำเร็จ’ ว่าคืออะไร

ผมว่ามันคือการเป็นตัวเราที่ดีกว่าเมื่อวาน

คุณบอกว่า การหลงลืมความฝันเป็นเรื่องที่น่ากลัวกว่าการไม่สามารถทำความฝันให้เป็นจริง อยากทราบว่าความฝันของตัวเองที่ยังไม่เคยลืมคืออะไร

ความฝันของผมคือการได้เป็นอาจารย์ที่ดี ตอนเด็กๆ ความฝันของผมจะเป็นแค่อยากเป็นอาจารย์หรือแค่อยากเป็นข้าราชการ เพราะที่เกาหลี การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยได้ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่สิ่งที่ผมเรียนรู้ก็คือวันที่เราได้เป็นอาจารย์อย่างที่ฝันไว้แล้ว มันเหมือนกับว่าความฝันของเราสิ้นสุดลงแล้ว ไม่รู้จะทำอะไรต่อ 

แต่จริงๆ แล้วเรื่องของความสำเร็จ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่เราได้ แต่มันขึ้นอยู่กับขั้นตอนในระหว่างที่ลงมือทำว่าเราทำมันอย่างไร เปรียบเหมือนเรารับบทแสดงละครเวทีอยู่เรื่องหนึ่ง แล้วเราตั้งใจกับการแสดงครั้งนี้มากๆ แต่พอถึงเวลาที่การแสดงนี้จบลง เราจะรู้สึกว่ามันว่างเปล่า มันไม่เหลืออะไรเลย คนดูก็กลับไปหมดแล้ว 

ดังนั้นถ้าเอาความฝันมาเทียบกับละครเวที ก็หมายความว่า อย่าไปปักใจว่าความสำเร็จคือการได้เล่นละครเวที แต่เราควรจะโฟกัสว่าเราจะเป็นนักแสดงที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตได้อย่างไรมากกว่า ดังนั้นนี่คือสิ่งที่ผมย้ำว่าความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ แต่อยู่ที่ขั้นตอนที่เราลงมือทำ ดังนั้นความฝันที่ยังไม่หายไปของผมคืออะไร ก็คือการเป็นอาจารย์ที่ดีกว่าเมื่อวาน นั่นแหละครับ 

ขอนอกเรื่องถามเรื่องการเขียนบ้าง อาจารย์มีวิธีเลือกประเด็นในการเขียนหนังสือยังไง ทำยังไงให้มีวินัยในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ

ผมเป็นคนชอบจดเมมโมหรือ Journal อาจจะไม่ได้จดในเรื่องทั่วๆ ไปในทุกวัน แต่ถ้าวันไหนไปเจอประโยคที่ดี วันไหนได้ทำกิจกรรม หรือประสบการณ์อะไรที่แปลกใหม่ เช่น การมาเมืองไทยอย่างตอนนี้ ผมก็มักจะเอาเรื่องนั้นมาจดเป็นเมมโมเอาไว้ เช่น วันนี้ทำอะไรบ้าง กี่โมง อยู่บนเครื่องดูหนังเรื่องอะไร อ่านหนังสือเรื่องอะไร อ่านหนังสือพิมพ์เรื่องไหน ผมจะจดเอาไว้ในไดรฟ์นี่แหละ แล้วก็เซฟเอาไว้ตลอด เผื่อมันจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผมหยิบมาใช้ได้ เก็บไว้เป็นคลังความรู้ส่วนตัว พอต้องไปบรรยาย หรืออยากออกหนังสือเล่มใหม่ ผมก็มักจะมาหยิบเรื่องพวกนี้ไปขยายความ นำไปเป็นวัตถุดิบในหนังสือได้

คำถามสุดท้าย ทุกคนย่อมจะมีวันที่ดีและวันที่แย่ หรือมี Bad Day มี Good Day เวลาคุณเจอ Bad Day คุณทำยังไง

เป็นคำถามที่ยากมาก ต้องตอบยาวมาก แต่ถ้าให้ตอบสั้นๆ ผมจะตอบว่า เวลาเราไปยืนใต้แสงแดด มันไม่มีใครหรอกที่จะไม่มีเงา มันก็เหมือนวันแต่ละวันในชีวิตเรานั่นแหละ ไม่มีหรอกที่เราจะมีแต่วันที่ดี วันที่แย่ก็เหมือนเงาที่เราต้องมี มีเรื่องดี ก็ต้องมีเรื่องไม่ดี นี่แหละชีวิตของคน ปัญหาที่เราควรคิด ไม่ใช่เรื่องที่ว่าเราจะเจอเรื่องที่ดีหรือไม่ดี 

แต่สิ่งที่เราต้องคิดก็คือ มุมมองของเราที่มีต่อเรื่องนั้นๆ ว่าเป็นยังไง สิ่งที่เราคิดว่ามันไม่ดีกับชีวิตมันอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเจริญก้าวหน้ามากขึ้นด้วยซ้ำ ดังนั้นเราน่าจะคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไงเพื่อทำให้เราเป็นคนที่ดีกว่าเมื่อวาน ผมเชื่อว่าการรับมือกับเรื่องที่ไม่ดีในชีวิตถือเป็นเรื่องสำคัญ 

ผมจะพูดเสมอว่า Don’t waste your failure สำหรับผมแล้ว ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่มีค่า เป็นเรื่องดี มันทำให้คนเราเติบโตได้อย่างแท้จริง เวลาเราประสบความสำเร็จ เราจะไม่ค่อยได้เรียนรู้อะไรมากจากความสำเร็จ เราก็แค่ดีใจแล้วก็จบ แต่ถ้าล้มเหลวเมื่อไหร่เราจะเริ่มตระหนักรู้ และตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมฉันถึงล้มเหลวและครั้งต่อไปฉันควรต้องผ่านมันไปยังไง ช่วงเวลาแบบนั้นแหละที่ทำให้คนเราเติบโต 

ดังนั้นเวลาล้มเหลว อย่าปล่อยให้ความล้มเหลวสูญเปล่าก็แล้วกัน 


ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ

AUTHOR