Kim Ji-Young, Born 1982 เหตุผลที่เราควรย้อนไปยุค 80 เพื่อเรียนรู้ว่าเกิดเป็นผู้หญิงเกาหลีเองก็ลำบาก

Kim Ji-Young, Born 1982 (คิมจียอง เกิดปี 82) เริ่มต้นจากการเป็นหนังสือที่วางจำหน่ายในปี 2016 และทำยอดขายได้มากกว่า 1 ล้านเล่มภายในเวลา 2 ปี ผลงานของ โชนัมจู นักเขียนบทรายการโทรทัศน์ที่นำชีวิตส่วนตัวมาถ่ายทอดเป็นหนังสือที่เธอบอกว่าเขียนทั้งหมดออกมาในเวลาเพียง 2 เดือน

หลังปรากฏการณ์ #Metoo การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และสร้างพลังให้กับผู้หญิงทั่วโลก ในปี 2019 ภาพยนตร์เรื่อง Kim Ji-Young, Born 1982 เข้าฉายในเกาหลีใต้ รวมถึงหลายประเทศทั่วโลกในเวลาต่อมา โดยเป็นผลงานเรื่องแรกของผู้กำกับหญิง คิมโดยอง ที่ร่วมเขียนบทภาพยนตร์เองด้วย 

‘คิมจียอง’ เป็นการเปิดเผยรอยแผล ความเจ็บปวด และการถูกกดทับในสังคมชายเป็นใหญ่ ทำให้เสียงของผู้หญิงเกาหลีที่ไม่ค่อยมีใครได้ยินกลายเป็นเสียงที่ดังขึ้น และได้ยินไปทั่วโลก ผ่านการทำงานที่ทุ่มเท ลึกซึ้ง และให้เป็นธรรมดาที่สุดระหว่างผู้กำกับคิมโดยอง นักแสดงจองยูมี และกงยู เพื่อถ่ายทอดชีวิตของผู้หญิงเกาหลีที่ไม่ได้มีทางเลือกมากนักภายใต้ระบบสังคมที่ถ่ายทอดความคิด ความเชื่อ กรอบทางวัฒนธรรมที่เป็นมาอย่างยาวนาน และหยั่งรากลึกจนทำให้เราได้เห็นความพังทลายที่เกิดขึ้นกับชีวิตของคิมจียอง

ปี 2020 คิมโดยองได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่ยอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัล Baeksang Arts Awards ส่วนจองยูมี นักแสดงผู้รับบท คิมจียอง ที่ถ่ายทอดตัวละครนี้ออกมาได้อย่างหม่นเศร้าแต่งดงาม เธอได้รับรางวัลนักแสดงนำหญิงจากหลายเวที ทั้ง Women in Film Korea Awards, Grand Bell Awards, Buil Film Awards และ Korean Association of Film Critics Awards 

ส่วน กงยู ที่มารับบทสามีของคิมจียอง ได้กลายเป็นตัวแทนของผู้ชายยุคปัจจุบันที่มองเห็นถ่องแท้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากโครงสร้างสังคมที่บีบคั้นมาตลอดหลายยุคสมัย และกระทั่งตัวนักแสดงเองก็ยังเสียน้ำตา เพราะรู้ว่าที่ผ่านมาผู้หญิงในครอบครัวของเขาต้องอดทนกับอะไรมาบ้าง

ท้ายที่สุด เรื่องราวของคิมจียองกลายเป็นอีกหนึ่งความรู้สึกร่วมของผู้หญิงทั่วทั้งเอเชีย อย่างที่นักเขียนโชนัมจูตั้งใจเอาไว้ “ฉันคิดถึงคาแรกเตอร์ของคิมจียองในแบบที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และความรู้สึก เหมือนกับชีวิตทั่วไปของผู้หญิงเกาหลีทุกคน” 

ย้อนอดีตปี 82 บนเส้นขนาน เกาหลี-ไทย-โลก

ปี 1982 ที่คิมจียองลืมตามาสู้โลก เกาหลีใต้อยู่ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีชอนดูฮวาน (ระหว่างปี 1980-1988) อดีตนายพลที่เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง คนสำคัญที่มีส่วนในเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจูในปี 1980 ซึ่งกลายเป็นบาดแผลอันเจ็บปวดของคนเกาหลีจำนวนมากมายที่สูญเสียคนที่รักและความหวังในประชาธิปไตยช่วงระยะเวลานั้น

สำหรับประเทศไทย ค.ศ. 1982 ตรงกับ พ.ศ. 2525 ปีที่ประเทศไทยมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ภายใต้การปกครองของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (ระหว่างปี 2523-2531) อดีตผู้บัญชาการทหารบกที่มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเป็นรัฐบาลที่ใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร

ข้ามฝั่งไปที่สหรัฐอเมริกา อยู่ในสมัยของประธานาธิบดีคนที่ 40 โรนัลด์ เรแกน (ระหว่างปี 1981-1989) อดีตผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียที่ต่อมามีอิทธิพลต่อแนวคิดอนุรักษ์นิยมสมัยใหม่

การทำความเข้าใจพื้นฐานประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น ทำให้เราเข้าใจและเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ Kim Ji-Young, Born 1982 ได้มากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อไล่เลียงดูแล้วจะพบว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความพยายามในการล้มล้างระบบคอมมิวนิสต์ แต่ขณะเดียวกันหลายประเทศที่เพิ่งได้ลิ้มรสประชาธิปไตยครึ่งๆ กลางๆ ก็ยังไม่ได้มีอิสรเสรีภาพมากนัก ภายใต้การปกครองและสังคมที่การเมืองการทหารมีอำนาจในการจัดการข่าวสารให้เป็นไปตามต้องการ 

ผู้หญิงเกาหลี กับบทบาทแม่ เมีย ลูกสาว ลูกสะใภ้ ผู้เสียสละ

ภาพยนตร์ Kim Ji-Young, Born 1982 เน้นการเล่าเรื่องที่แสดงให้เห็นสถานะของผู้หญิงเกาหลีใต้คนหนึ่งที่เกิดในปี 1982 เป็นผู้หญิงธรรมดาๆ ที่เติบโตมาในบ้านที่แม่ พี่สาว รวมถึงตัวเธอเองต้องเสียสละเพื่อให้สมาชิกครอบครัวเพศชายมีโอกาสที่ดีกว่า ทั้งพ่อและพี่น้องผู้ชาย ซึ่งเป็นไปตามขนบของครอบครัวเอเชียที่มองว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า เป็นคนออกไปทำงานหารายได้ให้ครอบครัว

ไม่ใช่แค่ภาพของครอบครัวตัวเอง ภาพยนตร์ยังย้อนไปให้เห็นถึงครอบครัวคุณยาย และครอบครัวใหม่ของตัวคิมจียองเอง ที่เธอต้องสวมทับสิ่งที่แม่เคยเป็น กับการเป็นลูกสะใภ้ที่ดี เมียที่ดี แม่ที่ดี และแม้ว่าจะมีสามีแสนดีในอุดมคติเพียงใด กรอบที่สังคมกำหนดไว้มันแข็งแรงเกินกว่าที่ใครจะลุกขึ้นมาต่อต้านได้ง่ายๆ คิมจียองและชองแดฮยอน สองสามีภรรยาในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เช่นกัน

ในแวดวงการทำงาน เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับเพศชาย ความไม่เท่าเทียมในการทำงานชัดเจนมากๆ ผ่านทั้งหนังและซีรีส์มากมาย เราจะได้เห็นว่า ‘พนักงานผู้ชาย’ มักเป็นตัวเลือกแรกของบริษัทในการเลื่อนตำแหน่ง เพราะเขามองว่าหน้าที่ของผู้หญิงคือการเป็นแม่และเมีย ไม่ว่าจะทำงานเก่งแค่ไหนก็ตาม ความสามารถของพวกเธอจะ ‘ไม่เคยถูกมองเห็น’

คิมจียองเองก็เช่นกัน เธอต้องวางความฝันชีวิตตัวเอง ลาออกจากงานมาเลี้ยงดูลูก ดูแลสามี รวมถึงครอบครัวสามี เพราะนี่คือความสำเร็จสูงสุดเท่าที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะทำได้ในกรอบความคิดวัฒนธรรมดั้งเดิม ขณะเดียวกัน ผู้หญิงที่ไม่อาจทำหน้าที่นี้และออกนอกกรอบด้วยการหย่าร้างก็จะต้องกลายเป็นบุคคลนอกรีตที่ถูกดูแคลน ทั้งที่ในความเป็นจริง การหย่าร้างก็ไม่ใช่ความผิดของใครคนใดคนหนึ่งก็ตาม 

เราจึงได้เห็นว่าคอนเทนต์เกาหลีมีการนำเสนออย่างชัดเจนว่าเป็นลูกผู้หญิงต้องอดทน ตอนยังเด็กก็ต้องเรียนเก่งๆ เพื่อให้ได้มีงานดีๆ ทำ จะอยู่เป็นโสดคาบ้านก็ไม่ได้ จะมีแฟนก็ต้องมีหน้ามีตาทางสังคม แต่งงานไปแล้วไม่ดูแลสามีและลูกๆ ก็ไม่ได้ ครั้นโดนทำร้ายร่างกายหรือมีปัญหากับสามีไปจนถึงครอบครัวสามี ก็ต้องก้มหน้ารับชะตากรรม เพราะการเป็นผู้หญิงม่ายคือตราบาปว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ไม่ดีพอ

สิ่งทั้งหลายที่กดทับทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว จึงส่งผลให้เกิดความพังทลายในผู้หญิงแต่ละคนแตกต่างกันไป กับคิมจียอง มันส่งผลโดยตรงกับสภาพจิตใจในแบบที่ภาพยนตร์พาเราไปดำดิ่งในโลกของเธอ ขณะเดียวกันก็ช่วยปลอบประโลมทั้งตัวละครและคนดูที่อาจเคยมีประสบการณ์ร่วม หรือมีชีวิตในรูปแบบเดียวกัน 

คิมจียอง จึงเป็นเหมือนตัวแทนผู้หญิงเกาหลีที่เพราะเป็นผู้หญิง ถึงจะเก่งแค่ไหน ดีแค่ไหน มันก็ยังไม่ดีพอในสายตาคนอื่น 

Kim Ji-Young, Born 1982 สู่ซีรีส์เพื่อนหญิงพลังหญิง 

อย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับคือหนังและซีรีส์เกาหลีเป็นหนึ่งในสิ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยเช่นกัน นับจากช่วงก่อนปี 2000 ที่เราได้เห็นภาพผู้หญิง Candy Girl ที่มีความโรแมนติกเกินจริง ดิ้นรนต่อสู้จนมีชีวิตแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ยิ่งเวลาพัดผ่าน ภาพของผู้หญิงในหนังและซีรีส์ก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามขนบสังคมที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามยุคสมัย 

ในปัจจุบันเราจึงยิ่งเห็นคอนเทนต์ที่สร้างโดยผู้หญิง เพื่อผู้หญิง และอย่างน้อยๆ ก็เป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงที่ส่งต่อไปยังผู้หญิงทุกคนว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ถึงเวลาที่เราจะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวของเราเองเสียที ดังจะเห็นได้จากซีรีส์หลายต่อหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นภาพผู้หญิงที่ตรงกับยุคสมัยนี้ที่เราพยายามสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้น อย่างเช่น When the Camellia Blooms, 18 Again, Thirty-Nine, Something in the Rain 

โดยเฉพาะซีรีส์ Thirty-Nine ที่หากสังเกตจะพบว่านักแสดงนำของเรื่อง ซนเยจิน ชอนมีโด และคิมจีฮยอน ล้วนแต่เกิดในปี 1982 ปีเดียวกับคิมจียอง แต่พวกเธอกลับยังคงเป็นโสด ได้ทำงาน มีชีวิตสนุกสนาน และมีความมั่นใจในตัวเองแบบที่เราพบเห็นได้เป็นปกติของผู้หญิงทำงานในเมืองใหญ่ 

ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ผู้หญิงบนโลกใบนี้จำนวนมากมายยังคงติดอยู่ในกรอบสังคมแบบดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็มีอีกมากมายที่ก้าวออกมาจากกรอบเหล่านั้น และสำหรับภาพยนตร์ Kim Ji-Young, Born 1982 ก็คือแสงสว่างที่อยากแนะนำให้ได้ดูกัน ไม่ว่าเราจะอยู่ในเพศสภาพใดก็ตาม

To Know:

  • ถ้าคิมจียองเป็นคนไทย เธอจะเกิดใน พ.ศ. 2525 ปีเดียวกับ บี น้ำทิพย์, พลอย เฌอมาลย์, นุ่น ศิรพันธ์  
  • เรื่องย่อ Kim Ji-Young, Born 1982 ชองแดฮยอน (กงยู) สามีที่อายุมากกว่า 3 ปีของ คิมจียอง (จองยูมี) พวกเขามีลูกสาวหนึ่งคน อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ย่านชานเมืองตามแบบฉบับของคู่สามีภรรยาเกาหลีโดยทั่วไป จนกระทั่งวันหนึ่ง คิมจียองเริ่มมีท่าทาง บุคลิก และน้ำเสียงที่เปลี่ยนไปเป็นคนอื่น ทำให้ชองแดฮยอนต้องพาเธอไปพบจิตแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นกับเธอกันแน่
  • Kim Ji Young, Born 1982 มีให้รับชมได้ทาง Netflix, Disney+, VIU 
  • ตัวอย่างภาพยนตร์ https://www.youtube.com/watch?v=tb0nibzBoT8 
  • ติดตามชมรายการ ดูซีรีส์ให้ซีเรียส ซีซัน 2 อีพี 1 ได้ที่ https://youtu.be/FMgPxtr7ulI

AUTHOR