Kidtofer ศิลปินไทยในอเมริกา เจ้าของผลงานสีสันสดใสที่ถ่ายทอดเรื่องเพศได้อย่างเสรี

ปกติเราไม่ได้เป็นแฟนคลับงานเซรามิกมากเท่าไหร่ แต่ทันทีที่ได้เห็นผลงานของ Kidtofer ในอินสตาแกรม เราก็อยากคว้าแก้วเซรามิกลายตัวการ์ตูนน่ารักแกมทะเล้นเหล่านั้นมาไว้ในครอบครองทันที

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งในผลงานของ Kidtofer หรือ นราวิชย์ คริสโตเฟอร์ เกลล์ ศิลปินชาวไทย-อเมริกัน ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจากคาแร็กเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ ตานิด จมูกหน่อย แต่นอกจากบรรดาเซรามิกแล้วเขาคนนี้ก็ยังมีภาพประกอบสีสันสดใสที่มองเผินๆ อาจดูเหมือนเหล่าตัวละครกำลังโลดแล่นในภาพ แต่ถ้าเพ่งดูดีๆ จะเห็นว่าการ์ตูนของคริสล้วนแล้วแต่กำลังทำกิจกรรมทางเพศหรือมีท่าทีที่บ่งบอกถึงตัวตนทางเพศของตัวเอง

ทั้งหมดคือสิ่งที่เขาตกตะกอนตัวตนออกมาเป็นงานศิลปะ หลังจากตัดสินใจบอกลาไทย เดินทางไปเติบโตในเส้นทางอาชีพที่รักในดินแดนเสรีภาพอย่างอเมริกาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

การเล่าเรื่องเพศ โดยเฉพาะการนำเสนอเพศสภาพ เป็นจุดประสงค์หนึ่งที่คริสตั้งใจให้ปรากฏในผลงานแทบทุกชิ้น เพราะเขาเชื่อว่าเรื่องเพศควรเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้อย่างปกติในสังคม งานศิลปะสีสันสดใสเหล่านี้จึงเหมือนเป็นการเชื้อเชิญให้คนที่เห็นได้มองเรื่องเพศผ่านป๊อปคัลเจอร์และชีวิตประจำวันได้อย่างสนุกสนานและเป็นมิตร 

มากกว่าความสนุกสดใส ลึกลงไปภายใต้เบื้องหลังตัวการ์ตูนเหล่านี้ยังซ่อนเรื่องราวในชีวิตศิลปินของคริสเอาไว้ ถ้าหากคุณพร้อมแล้ว ขอชวนไปทำความรู้จักกับ Kidtofer ได้ตั้งแต่บรรทัดถัดไป

จากความชอบสู่อาชีพที่ใช่ในฐานะศิลปิน

ตั้งแต่จำความได้ คริสชื่นชอบการวาดรูปมาโดยตลอด ขนาดว่าพ่อแม่จูงมือเข้าไปดูหนังตอน 5 ขวบ กลับออกมาเขาก็นั่งวาดรูปหนังเรื่องนั้นออกมาเป็นเวอร์ชั่นของตัวเอง

“อย่างตอนจบของ Titanic เรือล่ม น้ำเย็นเลยทำให้แจ็คหนาวตายใช่ไหม แต่ในตอนจบของเราแจ็คตายเพราะฉลามมากัด” เขาเรียกเสียงหัวเราะระหว่างการสนทนา ด้วยการยกตัวอย่างไอเดียแสนบรรเจิดของตัวเองในวัยเด็ก

“ตั้งแต่นั้นมาเราก็วาดรูปมาเรื่อยๆ ไม่เคยหยุด แต่พอมาช่วง ม.5-6 และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเราก็ไม่ค่อยได้วาดเท่าไหร่” 

แม้จะเคยหมายมั่นปั้นมือว่าอยากจะเรียนต่อด้านศิลปะในมหาวิทยาลัยศิลปากร แต่เพราะกังวลว่าการเป็นศิลปินในไทยอาจเป็นเรื่องยากเกินไปที่จะเลี้ยงชีพ ประกอบกับเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าศิลปินสามารถทำงานศิลปะคอมเมอร์เชียลร่วมกับแบรนด์อื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ เขาจึงตัดสินใจเบนเส้นทางชีวิตในที่สุด

“สุดท้ายเราเลือกเรียนนิเทศฯ ที่ ม.กรุงเทพ ด้านวิทยุโทรทัศน์ฯ ซึ่งนี่ไม่ใช่สายอาชีพที่อยากทำ แต่เพราะเห็นรุ่นพี่เรียน เห็นเพื่อนเรียน แล้วเราคิดไม่ออกว่าอยากจะทำอะไร เลยเรียนตามไปเพราะคิดว่า เออ น่าสนุกดีนะ” 

แต่ถึงอย่างนั้นจังหวะชีวิตก็ยังช่วยให้เขาได้จับดินสอวาดรูปอยู่บ้าง อย่างตอนไปฝึกงานในรายการเพลง Channel V คริสก็หยิบดินสอและกระดาษมาวาดรูปทีมงานในออฟฟิศเล่นๆ แต่กลับเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้คนในทีมอย่างมาก 

“หลังจากที่ฝึกงานเสร็จ การวาดภาพก็กลายเป็นงานฟรีแลนซ์ของเราเลย” ในเวลานั้นเขาก็ยังไม่ได้คิดว่าจะเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว หลังเรียนจบคริสจึงชวนเพื่อนๆ อีก 5-6 คนมาลงขันเปิดบาร์บนดาดฟ้าในย่านทองหล่อ โดยที่ยังคงรับจ้างทำงานศิลปะอยู่เนืองๆ

“ช่วงหลังมาเรารู้สึกสับสนนิดหนึ่ง เพราะเราเป็นคนพาเพื่อนมาทำร้านนี้เอง แต่งานวาดภาพของเรามันดีขึ้นเรื่อยๆ เราก็คิดว่าทำไมไม่ทำอันนี้เต็มตัวเลยล่ะ สุดท้ายจึงขอออกจากการเป็นพาร์ตเนอร์บาร์ แล้วก็ย้ายมาอเมริกาเพื่อเป็นศิลปิน” 

ฟังจากที่คริสเล่าแบบย่นย่ออาจจะดูเหมือนง่ายที่เขาตัดสินใจทิ้งบทบาทเจ้าของธุรกิจมาเป็นศิลปินเต็มตัว แต่ในความเป็นจริงเขามีเหตุผลสนับสนุนให้ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางชีวิตอยู่ 2 อย่างคือ

หนึ่ง–จากการทำงานเป็นฟรีแลนซ์นักวาดภาพประกอบมา เขาคิดว่าเมืองไทยยังไม่ตอบโจทย์ในระบบทำงานอย่างที่ควรจะเป็น 

“เมื่อ 7 ปีก่อน เวลาคนจ้างงานเขาต้องการงานจากเรา เขามักจะเข้ามาบอกว่าชอบงานเรานะ แต่เขาก็มักจะมีเรฟเฟอเรนซ์มาให้แล้วบอกว่าอยากให้เราวาดตามนี้ ซึ่งมันไม่ค่อยตอบโจทย์กับที่เราอยากจะทำ เพราะเขาไม่ได้เห็นว่างานที่เราวาดมันเป็นสไตล์ยังไง อาจจะแค่เห็นว่าเราวาดรูปได้ หรือเห็นว่างานเราสไตล์คล้ายๆ คนนั้นแต่ไม่ได้ติดต่อไป เลือกที่จะมาติดต่อเราแล้วบอกให้เราวาดให้เหมือนแทน”

สอง–คนรอบตัวสนับสนุนให้เขาเป็นศิลปินมาโดยตลอด โดยเฉพาะพี่สาวของคริส ผู้ย้ายไปอยู่อเมริกาก่อนหน้านั้นกว่า 10 ปีก็ชวนเขาไปเริ่มต้นเป็นศิลปินที่นู่น

“เขาบอกว่างานของเราน่าจะบูมกว่าถ้ามาที่อเมริกา เราเลยค่อยๆ เก็บเงินแล้วตัดสินใจไปอยู่นู่นเลย” 

อิสระของตัวตนสู่ผลงานที่มีสไตล์ของตัวเอง

ใครๆ ก็รู้ว่าอเมริกาเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องเสรีภาพ ซึ่งในทางศิลปะ เสรีภาพก็นำมาสู่อิสระที่จะคิด สร้างสรรค์ หรือต่อยอดงานศิลปะให้กว้างขวางแค่ไหนก็ได้ นั่นคือสิ่งที่ยืนยันได้จากคริส ศิลปินผู้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองลงไปในผลงานจนกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างทุกวันนี้

“ตอนอยู่ไทย งานแรกๆ ของเราจะค่อนข้างหวาน สดใส สไตล์ของตัวการ์ตูนยังไม่ชัดเท่าไหร่ ย้อนกลับไปตอนนั้น Suntur เขาเพิ่งโชว์งานแรกๆ เราชอบงานเขามากเพราะรู้สึกว่าเป็นศิลปินไทยที่มีเอกลักษณ์ เขาทำให้เรารู้สึกว่าจะต้องค่อยๆ มองหาสไตล์ของตัวเองบ้าง แรกๆ ก็เคยเอางานเขามาเป็นแรงบันดาลใจด้วย แต่ตอนหลังก็รู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ตัวเรา”

แม้ยังไม่เจอกับสไตล์ที่ใช่ แต่คริสก็ยังคงลงมือวาดเรื่อยๆ เหมือนเป็นการหาตัวตนตัวเองไปพร้อมกัน ซึ่งเขาหยิบเอาความชอบในชีวิตประจำวันมาใส่ในงานเป็นหลัก เช่น การกิน การดูหนัง ฟังเพลง และแฝงไปด้วยการใส่ตัวการ์ตูนในป๊อปคัลเจอร์ที่เขาชอบลงไป 

“สิ่งที่เราชอบและใส่ลงไปในงานนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของตัวตน แต่เราคิดว่ามันยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะสุดท้ายงานมันยังไม่ได้บ่งบอกถึงตัวตนลึกๆ ข้างในว่าตัวเราคือใคร”

จนกระทั่งย้ายไปอยู่อเมริกาแล้ว คริสจึงค่อยๆ ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมรอบตัว ทำให้เขาเริ่มพัฒนาผลงานไปทีละนิด ทั้งตัวคาแร็กเตอร์ที่เขาได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูนอเมริกันยุค 50s (แน่นอนว่าต้องเป็นเวอร์ชั่นที่ดัดแปลงให้เป็นสไตล์ของตัวเอง) และสิ่งที่น่าจะเปลี่ยนมากที่สุดคือเนื้อหาในภาพที่เขาถ่ายทอดเรื่องตัวตนและเพศสภาพลงไปด้วย เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่คริสได้รับอิทธิพลจากอเมริกา แต่มาจากปมในใจของตัวเองที่เขาไม่เคยพูดมาก่อน

“ตอนอยู่ไทยเรารู้นะว่าเราเป็นเกย์ เพื่อนๆ ก็รู้ แต่เราไม่เคยบอกพ่อแม่ กลัวเขารับตัวตนของเราไม่ได้ สมมติถ้าเขาไม่ชอบเราจะทำยังไง จะโดนไล่ออกจากบ้านหรือเปล่า

“เราเศร้านะ เราอึดอัดกับการที่ไม่ได้เป็นตัวของตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ สิ่งหนึ่งที่ติดใจเรามาตั้งแต่เด็กคือเราไม่ชอบตัวเอง เพราะการเป็นเกย์มันทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นตัวประหลาด เราเลยไม่แฮปปี้กับตัวเอง ทั้งๆ ที่เราเป็นคนที่แฮปปี้เสมอเมื่ออยู่ต่อหน้าคนอื่น” 

เมื่อย้ายมาอยู่อเมริกา ได้ทำงานหาเงินใช้ชีวิตด้วยตัวเอง วันหนึ่งเขาจึงตัดสินใจบอกทุกอย่างกับพ่อแม่

“เราไม่ได้มีโมเมนต์ที่เราพร้อม แค่รู้สึกว่าควรจะบอกให้เร็วที่สุดที่จะทำได้ เพราะถ้าไม่บอกเราอาจจะไม่มีความสุขไปตลอดชีวิต เราก็เลยบอกเขาไป ปรากฏว่าเขาเปิดรับเลยทันที เขาโอเคมากๆ และเราก็โอเคมากๆ” 

คริสยอมรับว่าบริบทความหลากหลายทางเพศในอเมริกาเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เขากล้าและพร้อมจะบอกกับคนที่บ้าน 

“คือเราจะรู้ว่าที่ไทยก็เปิดรับเรื่องเกย์นะ แต่ที่อเมริกามันเปิดรับแล้วก็ celebrate มากกว่า คือเขาชอบความแตกต่างกันมาก มันทำให้เรารู้สึกกล้า ไม่ต้องกลัว ทุกคนพูดถึงเรื่องสิทธิการเป็นเกย์ การเป็นทรานส์ ทุกคนต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกับคนอื่น ต่อให้คนที่เป็น straight ชายหรือหญิง เขาก็ยังสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศ” 

“จากตรงนั้นมันทำให้เราเปิดมากขึ้น ใช้ชีวิตสบายมากขึ้น งานเราก็เลยเร่ิมกลายเป็นตัวของเรามากขึ้น”

นอกจากนี้ อิสระที่จะทำงานศิลปะยังทำให้เขากล้าที่จะเล่าเรื่องที่ตัวเองสนใจอย่างเซ็กซ์ลงไปในงาน ด้วยเหตุผลที่อยากทำให้เซ็กซ์กลายเป็นเรื่องที่เราสามารถพูดกันได้ปกติในสังคม

“เราไม่แน่ใจว่าที่ไทยตอนนี้เรื่องเพศเปิดกว้างแค่ไหน แต่ตอนเราลงงานแรกๆ มีคนเลิกติดตามเราไปเยอะมาก เราเข้าใจนะเพราะว่างานมันเปลี่ยน แต่ก็ด้วยเรื่องวัฒนธรรมด้วย ที่นี่อาจจะเปิดเผยเรื่องเซ็กซ์กันได้มากกว่า เราก็ยังอยากจะวาดสิ่งเหล่านี้เพื่อบอกว่าการเป็นเกย์ เลสเบี้ยน ทรานส์ก็เป็นเรื่องโอเค และเซ็กซ์ก็เป็นเรื่องโอเคที่จะเปิดเผยเหมือนกัน” 

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่น่าสนใจในเส้นทางศิลปินของคริสคือ ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เขาเริ่มขยับจากการวาดภาพประกอบมาสู่การทำงานเซรามิก ความสนุกของเขาคือการได้ปั้นจินตนาการตัวเอง แล้วเข้าเตาเผาให้เซรามิกออกมาเป็นหน้าตาแบบที่ใจเขาต้องการ 

เราจึงได้เห็นแก้ว โถ แจกันที่มีคาแร็กเตอร์ทะเล้นๆ สีสันน่ารักละลานตาในอินสตาแกรม

“เพื่อนเราเป็นคนปั้นเซรามิกอยู่แล้ว เราเห็นแล้วคิดว่ามันสนุกดี แล้วตั้งแต่เด็กเราชอบของเล่นด้วย เลยอยากจะเห็นงานของตัวเองในรูปแบบของเล่นดูบ้าง แต่ถ้าสั่งผลิตมันก็จะแพงเกิน เราเลยลองเริ่มด้วยงานเซรามิกดูก่อน เริ่มจากปั้นให้มันเป็นคาแร็กเตอร์จนออกมาเป็นแบบนี้

“เรารู้สึกว่าอยากจะทำทั้งวาดรูปและเซรามิกควบคู่กัน เพราะทุกวันนี้ก็ยังมีความสุขกับทั้งคู่ หลังๆ ก็เริ่มคิดให้งานทั้งสองเทคนิคมาผสมกัน เราจะมีสมุดสเกตช์ที่วาดหน้าคาแร็กเตอร์ไว้ก่อนจะมาปั้น เสร็จแล้วพอเข้าสตูดิโอเราจะลองดูว่าวันนี้อยากทำอะไร แก้วน้ำชา แก้วใบใหญ่ กระถางต้นไม้ แล้วก็หยิบคาแร็กเตอร์ที่ร่างไว้มาปั้น บางครั้งก็อาจจะมีคาแร็กเตอร์ที่เป็นเซรามิกมาอยู่ในงานวาดของเราด้วย งานเราก็จะผสมกัน” 

แสวงหาที่เติบโตในฮับศิลปะของอเมริกา

ว่ากันว่าอเมริกาเป็นฮับที่ศิลปินจากทั่วโลกมาแสวงหาโอกาสในอาชีพที่รัก ก่อนที่คริสจะเดินทางมาถึง เขาก็เชื่ออย่างนั้นเช่นกัน จนกระทั่งได้ก้าวเข้าสู่วงการศิลปะในตลาดอเมริกาจริงๆ

“เราอยู่ซานฟรานซิสโก ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าที่นี่เป็นเมืองศิลปะ เพราะมีศิลปินเยอะ เราอาจจะเคยคิดว่าย้ายมาอยู่นี่ก็ต้องมีพื้นที่เยอะแน่ๆ เลย แต่เราไม่ได้คิดว่ามันจะต้องไปแข่งขันกับคนอื่นด้วย แล้วคนพวกนี้เก่งกันหมดเลย” นั่นทำให้คริสตระหนักว่าโอกาสหลายอย่างต้องสู้เพื่อให้ได้มา 

มีหลายครั้งที่คริสแอบนึกถึงการเป็นศิลปินที่ไทย ถ้าเขายังคงทำงานอยู่บ้านเกิดเส้นทางอาชีพอาจจะไปได้ไกลมาก เพราะการมาอยู่อเมริกานั้นหมายความว่าเขาต้องเริ่มต้นทุกอย่างใหม่หมด

“เราเห็นศิลปินที่อยู่ไทยทำงานในรุ่นเดียวกับเรา เขาได้ทำงานกับห้างใหญ่ๆ เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่าถ้าวันนั้นเรายังอยู่ไทยจะเป็นยังไง แต่พอกลับมามองตัวเองก็คิดว่า เออ อยู่ที่นี่ก็ดีกว่าตรงที่ทุกวันนี้สไตล์งานเราเปลี่ยน และเราคิดว่ากลุ่มเป้าหมายเราก็เปลี่ยนด้วย ซึ่งยอมรับว่าคนที่นี่ค่อนข้างเปิดรับผลงานของเรามากกว่า อีกอย่างคือเราอาจจะมีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์ระดับสากลได้ง่ายขึ้นด้วย” 

อีกเทคนิคหนึ่งที่เขาได้รับคำแนะนำจากเพื่อนศิลปินในอเมริกา คือการส่ง business card หรือพอร์ตฟอลิโอให้แบรนด์ใหญ่ เพื่อสื่อสารว่าเราอยากร่วมงานด้วย 

“ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากทำงานกับ Nike เราก็ต้องลองออกแบบรองเท้าหรือเสื้อให้ไนกี้ในสไตล์ของเราเอง เพื่อให้เขาเห็นว่ามันจะหน้าตาเป็นยังไง จากนั้นก็ส่งอีเมลไปหาเขาเพื่อบอกว่า เข้าใจนะว่ายูไม่ได้หาศิลปินตอนนี้ แต่ว่าเราชอบงานยูมาก เราอยากจะทำงานด้วย หวังว่าถ้ายูชอบงานนี้ เราอาจจะได้ทำงานร่วมกันในอนาคต

  “ซึ่งเพื่อนเราทำแบบนั้น และเขาก็ได้ทำงานกับไนกี้จนเกือบ 2 ปีแล้ว”

ส่วนคริสเอง เขาก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับ The North Face เพื่อออกแบบเต็นท์ แม้กระบวนการจะเดินทางไปถึงการทำโปรโตไทป์แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติวางขายจริง เพราะสไตล์งานของคริสยังไม่ตรงกับแบรนด์เท่าไหร่ แต่คริสก็บอกว่าแค่ได้ออกแบบตามที่แบรนด์ติดต่อมาเขาก็ดีใจแล้ว 

“นอกจากนี้เราก็ได้ออกแบบผ้าเช็ดตัวให้กับแบรนด์โลคอลที่โอ๊กแลนด์ แล้วก็มีงานภาพประกอบที่เราทำให้ Intercom และ WIRED ด้วย” 

แต่งานที่เขาไม่ได้คาดคิดว่าตัวเองจะได้ก้าวเข้ามาทำในฐานะศิลปิน คือการแสดงงานในแกลเลอรีที่ซานฟรานซิสโก คริสเล่าว่าช่วงแรกๆ ที่มาถึงอเมริกา เขาสัมผัสได้ว่าแกลเลอรีส่วนใหญ่ของที่นี่จะไม่ค่อยเปิดรับงานจากศิลปินหน้าใหม่เท่าไหร่ เขาเลยคิดว่าการจะแสดงงานได้จำเป็นต้องมีชื่อเสียงก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากท่ามกลางการแข่งขันในตลาดศิลปินที่สูง

“7 ปีที่แล้วเรามาอยู่ที่นี่โดยไม่คิดเลยว่าตัวเองจะได้แสดงงานในแกลเลอรี จนกระทั่งปีนี้มีแกลเลอรีแห่งหนึ่งที่เราชอบมาก ชื่อว่า Hashimoto Contemporary มาชวนเราไปแสดงงาน ที่นี่ไม่ใช่แกลเลอรีใหญ่ เป็นห้องเล็กๆ แต่มีชื่อเสียงมาก งานที่เขาเลือกมาแสดงจะเป็นคล้ายๆ สไตล์เรา ที่สำคัญคือเขาเปิดรับศิลปินหน้าใหม่ เขามองเห็น potential ว่าศิลปินที่เขาเลือกมาแสดงจะไปได้ไกล

“ตอนที่เขามาชวนเราไปแสดงงาน ธีมตอนนั้นคือ vessel เขาไม่ได้บรีฟอะไรมากมาย เขาให้คำมาแล้วเราต้องตีความเอาเอง ซึ่งในความหมายของเรา vessel มันคืออะไรที่เป็นเชป สิ่งของ ถ้วย กระถางต้นไม้ เราเลยทำกระถาง 1 ใบกับแจกัน 3 ใบ ส่วนคอนเทนต์ ตอนแรกเราคิดหนักว่าจะเล่าอะไร แต่สุดท้ายก็คิดว่าทำไมเราไม่ทำคาแร็กเตอร์ของตัวเองแบบที่ทำปกติ เราก็ใส่มันเข้าไปทั้งหมด รวมถึงเรื่องเซ็กซ์ด้วย” 

ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน คริสยังได้แสดงงานที่แกลเลอรี GEM STUDIO ที่เมืองโอ๊กแลนด์ ในธีม big gay actual เขาทำแก้วเซรามิก 10 ใบที่เป็นรูปเกย์แต่มีหลายสีผิว พร้อมกับรูปปั้นเกย์ตัวใหญ่ใส่ต่างหูแบบที่เขาชอบวาด

“เราไม่เคยแสดงงานในแกลเลอรีใหญ่พร้อมกันแบบนี้ เห็นงานแล้วมันแฮปปี้นะ รู้สึกภูมิใจที่ได้โชว์ผลงาน ไม่เคยคิดว่ามันจะมาถึงจุดนี้ เราอยากจะทำอีก อยากจะไปโชว์ในงานที่ใหญ่กว่านี้ อยากจะมีงานแสดงเดี่ยวของตัวเองด้วย” เขาตอบด้วยความรู้สึกตื่นเต้น เมื่อสัมผัสได้ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ในเส้นทางอาชีพศิลปินของตัวเอง

หลังจากประสบความสำเร็จจนได้แสดงงานในแกลเลอรีที่อเมริกาแล้ว เราถามเขาว่าเรื่องกลับไทยยังอยู่ในความคิดเขาอยู่ไหม

“ปัจจุบันเราอยู่ที่นี่จนเหมือนบ้านอีกหลัง งานศิลปะเราก็ไปได้ดีก็เลยยังไม่ได้คิดเรื่องกลับไทย แม้ว่าจะมีความรู้สึกว่าจริงๆ เราควรอยู่กับพ่อแม่หรือเปล่า เราควรอยู่ดูแลเขาที่เมืองไทย แต่มาคิดดูแล้วที่นี่หาเงินได้ง่ายกว่า ถ้าเรากลับกลัวงานจะหายหมด” 

คริสยังบอกด้วยว่าเขาเพิ่งจะเปิดสตูดิโอเล็กๆ ในเมืองโอ๊กแลนด์ร่วมกับเพื่อน ซึ่งก็ไม่ทำให้เราแปลกใจแต่อย่างใด เพราะการได้ลงหลักปักฐานในพื้นที่ที่เปิดรับตัวตนและโอบกอดความหลากหลายของเขาไว้อย่างเต็มใจเช่นนี้ ย่อมมีแต่ผลดีต่อการผลิตผลงานและเส้นทางศิลปินในอนาคตของเขา

AUTHOR