ในเครดิตเปิดเรื่องของ ‘โทน’ หนังเรื่องแรกของผู้กำกับ เปี๊ยก โปสเตอร์ เมื่อปี 2513 นำสมาชิกวงดิอิมพอสซิเบิ้ล มาร้องเพลง ‘ปิดเทอม’ ในสไตล์ที่ในทศวรรษถัดมาเรียกกันว่า ‘เอ็มวี’
‘ข้าวนอกนา’ เมื่อปี 2518 ของเปี๊ยก โปสเตอร์ หนังไทยที่นำปัญหาทางสังคมจากสิ่งตกค้างของสงครามเวียดนามด้วยชีวิตเด็กลูกครึ่งผิวดำ ในซีนเปิดเรื่องก็เลือกให้เป็นภาพม้วนเทปกำลังถูกส่งเข้าไปในเครื่องเล่นตรงคอนโซลหน้ารถ ก่อนที่เสียงร้องของ ฉันทนา กิติยพันธ์ จะดังขึ้นเป็นทำนองบลูส์กับเนื้อเพลง ‘ข้าวนอกนา’ ซึ่งก็ยังคงนำ ‘ดิอิมฯ’ มาบรรเลง
ทั้ง 2 เรื่องเป็นเพียงบางตัวอย่างถึงความใส่ใจในเพลงประกอบของเปี๊ยก โปสเตอร์ หรือ สมบูรณ์สุข นิยมศิริ อดีตช่างเขียนใบปิดผู้ปักหลักเขตสำคัญให้ทั้งใบปิดหนังไทย สื่อประชาสัมพันธ์ของภาพยนตร์ในยุคหนึ่งเมื่อหลายสิบปีก่อน รวมทั้งความแปลกใหม่ให้หนังไทย 35 มม. มาตั้งแต่เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว
แต่ในผลงานหลายเรื่องหรือตั้งแต่เรื่องแรก ไม่ใช่แค่เพียงสร้างความแตกต่างแก่วงการหนัง กับวงการเพลงไทย หนังของเปี๊ยก โปสเตอร์ ยังเคยบันทึกบางช่วงสำคัญเอาไว้ สำหรับวิวัฒนาการของสิ่งที่เคยเรียกกันเชยๆ ว่า ‘เพลงไทยสากล’ ในระยะที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากความบันเทิงไร้ระบบธุรกิจมาตรฐาน มาสู่ยุคธุรกิจบันเทิงจริงจังเมื่อปลายทศวรรษที่ 2520
หนังของเปี๊ยก โปสเตอร์ ทำหน้าที่ตั้งแต่บันทึกเพลงไทยที่เริ่มร้อง-บรรเลงโดยวง ‘สตริงคอมโบ’ อย่างเพลงของดิอิมฯ ในเรื่องแรกๆ จนมาถึงเพลง ‘โฟล์กซอง’ จาก ‘วัยอลวน’ ในปี 2519 ตามด้วยยุคเพลงดิสโก้ใน ‘แก้ว’ เมื่อปี 2523 กระทั่งเริ่มจะ ‘ฮาร์ดร็อก’ ใน ‘วัยระเริง’ เมื่อปี 2527 คือการลำดับจากหนังของเปี๊ยก โปสเตอร์ จนพอมองเห็นสรรพเสียงของเพลงไทยว่าเดินทางกันมาอย่างไรในช่วงนั้น
แต่เนื่องจากในปีที่กำลังจะผ่านไป เราสูญเสียบุคคลในวงการหนังไปมากมาย หนึ่งในนั้น-เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนก็เป็นวันลาลับของ ลินดา ค้าธัญเจริญ อดีตนางแบบที่เปี๊ยก โปสเตอร์ เลือกให้มารับบทสำคัญในหนังเรื่องแรกของเธอที่มีชื่อเดียวกับชื่อเรื่อง พื้นที่ตรงนี้จึงขอกล่าวถึงเพียง ‘แก้ว’
“จากประสบการณ์ชีวิตใน…ดิสโกเท็คส์ จากริมฝีปากหญิงสาวที่กล่าวถึง…คนรัก” คือถ้อยความที่ปรากฏขึ้นในตอนต้นเรื่อง เพราะในเวลานั้น ‘ดิสโกเท็คส์’ หรือ ‘ดิสโกเธค’ ยังเป็นทั้งชื่อแนวเพลงป๊อปและแหล่งบันเทิงฮิตสำหรับหนุ่มสาวเมืองไทย
“ไนท์คลับสำหรับเต้นรำด้วยเพลงแสดงสดหรือแผ่นเสียง ด้วยระบบเสียงที่ซับซ้อน แสงสีมากมาย ร่วมกับเอฟเฟ็กต์อื่นๆ” คือคำอธิบายในพจนานุกรมของคอลลินส์สำหรับความหมายของ “ดิสโกเธค” และด้วยต้องการนำเสนอประสบการณ์ของหนุ่มสาวในสถานบันเทิงยามค่ำคืนแบบนั้น เปี๊ยก โปสเตอร์ จึงเลือกสาวเฉี่ยวสไตล์นางแบบอย่างลินดามาเป็น “แก้ว”ซึ่งออกจะแตกต่างจากความงามโดยทั่วไปของ “นางเอก” ในยุคนั้น เพราะเธอไม่ได้สวยสะระดับนางงามผิวพรรณเป็นสีน้ำผึ้ง ไม่ขาวใสมีวงหน้าน่าเอ็นดูแบบ จารุณี สุขสวัสดิ์ หรือ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ นางเอกเบอร์ต้นในช่วงนั้น
ส่วน “คนรัก” ก็หมายถึงนักดนตรี-นักแต่งเพลงนาม“นที” เปี๊ยก โปสเตอร์ นำ ทูน หิรัญทรัพย์ หนุ่มเชื้อสายฟิลิปปินส์มารับบทนำเป็นครั้งแรก แม้ในช่วงนั้นและก่อนหน้าจะมีชาวตากาล็อกเข้ามาเป็นนักดนตรีตามสถานบันเทิงอยู่หลายวง ที่มีชื่อเสียงก็เช่น อาดิง ดีล่า และ โทนี อากีล่าร์ บิดาของ คริสตินา อากีล่าร์ เป็นตัวอย่าง แต่ทูนเพียงแค่ชอบร้องเล่น ไม่ใช่นักดนตรีตัวจริง ยืนยันโดย เล็ก วงศ์สว่าง โฆษกวิทยุชื่อดังและเจ้าของหนังสือเพลงพร้อมคอร์ดอย่าง “ไอเอสซองฮิตส์” ครั้งหนึ่งแกเคยบอก ก่อนจะเป็นนักแสดง เขาก็เป็นแฟนหนังสือเพลงเล่มนี้
และต่อมาในปี 2528 ทูนก็เป็นนักแสดงคนแรกๆ ที่หันมาออกเทป ก่อนกระแส “ดาราออกเทป” จะเกิดขึ้นจริงจังในทศวรรษที่ 2530 โดยบุคคลที่เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับทูนก็คือ เรวัต พุทธินันทน์ ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลงแกรมมี และคนเขียนเพลงประกอบเรื่องนี้
ความโมเดิร์นในบทหนัง นอกจากจะนำชีวิตที่ได้รับฟังจากนักเที่ยวในดิสโกเธคมาเป็นต้นเรื่อง เปี๊ยก โปสเตอร์ยังนำเสนอชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่การ “อยู่ก่อนแต่ง” กันตามห้องเช่าเริ่มมีมากขึ้น ผิดไปจากขนบหรือความเหมาะสมของคนรุ่นก่อน แต่มันก็เกิดขึ้นและมีอยู่รวมทั้งชีวิตของสาวสวยที่ยอมเป็น “เมียน้อย” เพื่อแลกกับความปลอดภัยทางเศรษฐกิจของครอบครัว แก้วจึงไม่ใช่นางเอกประเภทดีงามตามอย่างนางเอกหนังไทยและลินดาก็เหมาะกับภาพเหล่านั้นที่ผู้กำกับพยายามนำเสนอ
ส่วนเพลงประกอบ แม้เรื่องราวจะเกี่ยวกับบทเพลงแต่กลับมีอยู่ไม่กี่เพลง แถมเพลงเด่นที่ผู้คนจดจำยิ่งกว่าตัวหนังก็ไม่ใช่เพลงดิสโก ผู้กำกับยังคงเลือกดิอิมในยุคที่เหลือเพียงร่องรอย เพราะสมาชิก “ดิโอเรียนเต็ลฟังก์”วงดนตรีที่บรรเลงเพลงประกอบเรื่องนี้ นอกจากเรวัต พุทธินันทน์ ยังมี วินัย พันธุรักษ์ อดีตสมาชิกดิอิมรวมอยู่ด้วย
ทั้งสองคนมาทำหน้าที่เขียนเนื้อและขับขานเพลงนี้ตามลำดับ ส่วนทำนองก็โดยสมาชิกของดิโอเรียนเต็ลฟังก์อย่าง ศรายุทธ สุปัญโญ ซึ่งต่อมากลายเป็นสมาชิกวงดังอย่างแกรนด์เอ็กซ์ และเด่นที่สุดคือเสียงแซ็กโซโฟนของ เทวัญ ทรัพย์แสนยากร ที่ถูกนำมาใช้แทนเครื่องดนตรีและบทเพลงสำคัญของนทีกับแก้ว
ในเพลงดังเพลงนี้มีให้ได้ยินในหนังมากกว่าหนึ่งครั้ง เริ่มตั้งแต่เป็นเพียงท่วงทำนองในช่วงที่นทีกำลังแต่งขึ้น หลังจากได้พบกับแก้วในดิสโกเธค แล้วได้ใช้ชีวิตร่วมกันที่แฟล็ตอย่างมีความสุข ก่อนจะมีเหตุให้พรากจากกันไป จากนั้นมันก็ถูกบรรเลงขึ้นอีกแบบเต็มเพลงพร้อมเนื้อร้อง และยังทำหน้าที่เหมือนจีพีเอสนำพาให้สองคนมาพบกันอีกครั้ง
ในตอนท้ายเรื่อง (ใครทนการสปอยล์หนังอายุ 42 ปีไม่ได้ ขอให้ข้ามย่อหน้านี้ไป) ระหว่างงานเลี้ยงหรูหราแก้วกำลังเมามาย ภายหลังพยายามออกตามหานทีแต่ไร้วี่แวว กระทั่งได้ยินทำนองจากเสียงแซ็กฯของเขา เธอจึงแหวกผู้คนพร้อมขับขานเพลงนี้ออกมาดังๆ หวังให้คนรักได้ยิน แล้วแก้วก็ได้พบนทีอีกครั้ง เพียงแต่เขาไม่อาจมองเห็นใบหน้าที่กำลังเอ่อน้ำตาของเธอ ดวงตาหลังแว่นดำมองไม่เห็นสิ่งใดอีกแล้ว
“ขาดดวงใจ โอ้ชีวิตจะดำเนินอย่างไร โอ้ชีวิตดำเนินเพื่ออะไร โอ้ชีวิตไยมืดมน หนทางเลือน” คือบางท่อนของเพลงสำเนียงแจ๊ซที่บนปกแผ่นเสียงพิมพ์ว่า ‘เพลงรักเพรียกหา’ เพราะมันมีหน้าที่แบบนั้น ไม่ใช่ ‘ความรักเพรียกหา’ หรือ ‘ความรักเรียกหา’ อย่างที่เพี้ยนกันในเวลาต่อมาจากเวอร์ชั่นอื่นหลังจากนั้น
แต่ในบางความทรงจำที่ยังเพี้ยนไปไม่มาก ระบุชัดว่าในวันนี้ที่ไม่เหลือดิสโกเธคที่ไหนอีก มันก็ยังระลึกถึงภาพของความรักในเรื่องนี้ตลอดมา และน่าจะตลอดไปในทุกครั้งที่เพลงนี้ถูกบรรเลง
ด้วยความอาลัยแด่ ‘แก้ว’ ลินดา ค้าธัญเจริญ (2499-2565)