รอนแรมบนถนนกลางทะเลทรายในเม็กซิโก

…ท้องฟ้าหัวเราะเริงร่าอีกครั้ง อากาศเริงรำหลากไหลไปเหนือทุกสิ่ง ดินแดนแปลก แสนไกลนี้ตกเป็นของฉันอีกครั้ง ดินแดนต่างถิ่นได้กลับกลายเป็นบ้าน…

(บางประโยคในหนังสือ ‘รอนแรม’ โดย แฮร์มันน์ เฮสเสอะ แมกไม้ : แปล)

การเดินทางรอบใหม่เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง 

เครื่องเทกออฟ ออกจากสุวรรณภูมิ ต้องเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินในหลายเมืองเพราะเป็นวิธีการข้ามฟากจากเอเชียไปยังอีกซีกโลกแบบประหยัด ถ้ามีเงินเป็นถุงถัง ยอมจ่ายแพงก็อาจจะบินตรงได้เลย จุดหมายปลายทางคือเมืองมอนเตอร์เรย์ (Monterrey) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเม็กซิโก (Mexico) ผมตั้งใจจะออกปั่นจักรยานจากที่นั่น ค่อยๆ ไล่ลงไปยังพื้นที่ทางตอนใต้ แล้วทะลุเข้าประเทศต่างๆในอเมริกากลาง (Central America)

มีเวลาเบ็ดเสร็จห้าเดือนครึ่ง ระยะทางกับเวลาค่อนข้างสอดคล้องกัน ดังนั้น จึงไม่ถึงกับต้องรีบร้อน แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นสามารถเอื่อยเฉื่อยได้เช่นกัน 

ก่อนออกเดินทางผมเตรียมตัวหาข้อมูลพอสมควร ใช้แผนที่กูเกิลช่วยวางแผนเส้นทางคร่าวๆ พร้อมกับคำนวณระยะทาง รู้ว่าช่วงแรกจะต้องผ่านพื้นที่กึ่งทะเลทรายราวพันกิโลเมตร แห้งแล้งและห่างไกลความเจริญ จึงฝังหัวตัวเองด้วยการนึกถึงประโยค Hope for the best, expect the worst คือหวังว่าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันก็คาดหวังว่าอาจจะต้องเจอสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดด้วยเช่นกัน

การไปถึงยังสถานที่ใหม่ๆ ย่อมสับสนเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมีความแตกต่างในแทบจะทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาษา อาหาร จริตผู้คน สภาพอากาศ การจราจร บ้านเมือง แต่สิ่งเหล่านี้สร้างสีสันให้แก่ชีวิตและการเดินทาง เป็นสัญญาณที่บอกว่าเรากำลังออกนอกพื้นที่ความเคยชิน ชิมรสชาติที่จัดจ้านกว่ายามอยู่กับที่ พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าการเดินทางเป็นสิ่งที่ดีกว่าการไม่ไปไหน เพียงแต่การได้สลับสับเปลี่ยนที่ทาง ได้ทำกิจกรรมใหม่ๆ ได้เอาตัวเองไปโลดโผนโจนทะยานบ้าง ก็เป็นวิธีการรีเฟรชและชาร์จแบตชีวิตที่ดีมากอย่างหนึ่ง สำหรับคนบางจำพวก การเดินทางนับเป็นความจำเป็นที่ขาดไม่ได้ของชีวิตเลยทีเดียว

ผมใช้เวลาสามวันปรับตัวทางวัฒนธรรมใหม่และพักร่างกายจากการต้องเดินทางข้ามทวีปกินเวลาหลายสิบชั่วโมง เมืองมอนเตอร์เรย์เองมีสิ่งน่าสนใจหลายอย่าง จึงรู้สึกเพลิดเพลิน เมืองนี้ใหญ่เป็นอับดับสามของประเทศ ผมโฟกัสแค่ย่านเมืองเก่าซึ่งมีตึกเก่าแก่ที่ได้รับการรีโนเวต คืนชีวิตให้แก่อดีต กลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของเมือง คนต่างถิ่นเพลินเดิน กิน ช้อปปิ้ง เมื่อค่ำคืนมาเยือน ตึกหลายหลังเปิดเป็นผับบาร์ ดึงดูดฝูงแมลงกลางคืนซึ่งคือคนหนุ่มสาวทั้งหลาย คึกคักเริงรำกินดื่มไปตามจังหวะดนตรีกระแทกหนักร่วมกับเพื่อนฝูง  

ถนนไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ 

จากราวห้าร้อยเมตร ในที่สุดขึ้นไปอยู่บนที่ราบสูงเฉลี่ยพันห้าร้อยเมตรถึงสองพันเมตรเศษจากระดับน้ำทะเล การปั่นจักรยานต้านแรงโน้มถ่วงโลกนี่เล่นเสียเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเอาการ การจราจรคับคั่ง โดยเฉพาะรถบรรทุกทั้งหลาย จึงต้องค่อนข้างจดจ่อ บางทีเส้นขมับขมึงตึงเพราะต้องใช้สมาธิในการปั่นโดยไม่สามารถรื่นรมย์กับสิ่งที่อยู่สองข้างทาง แดดยามบ่ายแรงตัดกำลังมาก ร่มเงาไม่ค่อยมี ต้องอาศัยหลบตามใต้สะพานหรือทางต่างระดับ ไม่ก็ตามพุ่มไม้เตี้ยหนามเยอะ และต้องดื่มน้ำมากประหนึ่งอูฐแห่งทะเลทราย บ่ายแก่หนังก้นระบมแสบ ทรมาน แต่นี่เป็นความลำบากที่เราเป็นคนเลือกเอง จึงทำให้อดทนกับมันได้ ตรงกันข้าม เรื่องง่ายๆ สบาย แต่ถ้าต้องทำเพราะโดนบังคับ แบบนั้นก็อดทนกับมันยากกว่าเยอะ

ยังดี ลมพัด ดันท้ายหลายช่วง ช่วยลดทอนความหนักหนาได้โข 

มีบ้านน้อยเมืองใหญ่เป็นระยะๆ สงสัยว่าคนที่อาศัยอยู่แถบนี้เขาเอาน้ำมาจากไหน เพราะภูมิประเทศโดยรอบแห้งแล้ง กึ่งทะเลทราย มองไปทางไหนก็มีแต่ภูเขาไร้ต้นไม้ใหญ่ ไหล่เขาเป็นร่องลึกจากการกัดกร่อน ต้นกระบองเพชรและปาล์มคือพืชหลัก พวกมันทนแล้งได้ดี

ผมไม่ได้ปั่นบนทางหลวงหลักเท่านั้น บางวันเลือกปั่นอ้อมไปตามทางหลวงชนบท สัญญาณโทรศัพท์ขาดหาย ไม่ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกล จึงไม่สามารถติดต่อโลกภายนอกได้ แต่ข้อดีก็คือถนนโล่งมาก นานๆ ทีจึงมีรถสวนมาหรือแซงผ่านไป แวะซื้ออาหารแห้งกับขนมตามร้านชำประจำหมู่บ้าน และสื่อสารภาษาสเปนงูๆ ปลาๆ เมื่อต้องขอกรอกน้ำดื่มกับชาวบ้าน ผู้คนเป็นมิตรดี เสียแต่พูดกันไม่ค่อยเข้าใจ

คนชนบทเม็กซิกันชื่นชอบเพลงพื้นบ้านท่วงทำนองสนุกสนาน คล้ายจังหวะสามช่า ถ้าเปรียบเทียบน่าจะประมาณหมอลำทางอีสาน อาหารเม็กซิกันหากินได้ทั่วไปคือทาโคส (Tacos) เน้นแผ่นแป้งเรียกว่าตอร์ติยา (Tortilla) ลักษณะคล้ายแผ่นนานหรือโรตี กินกับแกงถั่ว ชีส แกงผัก หรือเนื้อต้มหรือย่างเอามาสับละเอียด โปะลงบนแผ่นตอร์ติยาแล้วพับครึ่ง ขาดไม่ได้คือผักเคียงซอยเป็นชิ้นเล็ก เติมซอสแบบต่างๆ ตามใจชอบ มีทั้งแบบโฮมเมดทำไว้ใส่ครกหิน ไม่ก็ซอสเป็นขวดขายกันตามร้านค้าทั่วไป สนนราคาอาหารริมทางแบบนี้แพงกว่าข้าวราดแกงบ้านเราหน่อยนึง ไก่ย่างหรือหนังหมูกับเครื่องในทอดก็หาซื้อกินได้ทั่วไปเช่นกัน

รอบนี้เดินทางโดยไม่ได้พึ่งไกด์บุ๊ก ค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตบ้าง นอกนั้น ปล่อยให้ถนนนำไปเจออะไรก็ตามแต่ที่สมควรจะพบ เมืองน่าสนใจสองแห่งที่ผ่าน คือกัวดาลาฮารา (Guadalajara) แวะพักและสำรวจเมืองนี้ ทำความรู้จักความเป็นเม็กซิโกมากขึ้นอีกหน่อย อีกเมืองคือเตกิลา (Tequila) ใช่แล้วครับ มันคือเมืองซึ่งเป็นที่มาของชื่อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเลื่องชื่อ แวะทำความรู้จักพืชทะเลทรายอย่างอะกาเว (Agave) ซึ่งนำไปใช้ผลิตเตกิลา อันที่จริง ยังมีอีกบางเมืองที่ผ่านและรู้สึกชอบเพราะผสมผสานตึกรามความเก่าตามแบบโคโลเนียลปลูกสร้างตามเนินเขา คนประเทศนี้ทาสีบ้านตามใจผู้อยู่โดยแท้ ลานกลางเมืองปกติมีโบสถ์เก่าแก่ บางทีเขาทำพิธีทางศาสนา ผู้คนสวมใส่เสื้อผ้าสีสันสดใส จุดพลุกันเสียงดังสนั่นหวั่นไหวประหนึ่งคนจะเข้าสู่สงคราม วงดุริยางค์บรรเลงไพเราะ ในขณะนักบวชเดินพรมน้ำมนต์ 

พักแรมริมทาง

โยกย้ายที่กางเต็นท์ไม่ซ้ำไปตามระยะทางที่เดินทางได้ในแต่ละวัน การไม่รู้ว่าจะซุกหัวนอนที่ไหนสร้างความกังวลแบบ healthy เพราะมันทำให้เลือดลมสูบฉีด มีชีวิตชีวา และต้องคอยแก้โจทย์เล็กๆ ของการพยายามหาที่เหมาะเพื่อสยายบ้านเคลื่อนที่หลังน้อย ประเทศนี้เขาพากันล้อมรั้วรอบขอบชิดด้วยลวดหนามแทบทุกหนแห่ง แต่มีข้อยกเว้นเสมอ เราตัวเล็กนิดเดียว ที่ไม่กี่ตารางเมตรเพื่อกางเต็นท์หาไม่ได้นั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอน 

ช่วงค่ำ แดดร่มลมตก ได้ผ่อนคลาย ทักทายสายลม พูดคุยกับเพื่อนไม้ทะเลทรายทั้งหลาย คุยและสื่อสารกับตัวเองผ่านการขีดเขียนอะไรต่างๆ ลงไปในสมุดบันทึก เดินทางคนเดียว ทำอะไรคนเดียว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยวเหงาเสมอไปนี่นา อย่างต้นยัคคาหรือยุกคา (Yucca) ก็เพิ่งจะมารู้จักกันนี่แหละ เห็นตอนแรกเรียกเขาว่าต้นชะลูด มองดูคล้ายยีราฟขายาว สูงเด่นเป็นสง่ากว่าใครๆ ตอนที่เขายังเด็กลำต้นเจริญตั้งตรง แต่พอเริ่มเป็นผู้ใหญ่ก็แตกกิ่งตามใจ ทรงพุ่มคล้ายเมดูซา ดูสวยมีเสน่ห์เพราะความไร้สมมาตรนี่แหละ ชีวิตเองเช่นกัน ให้มันเอียง ไม่สมดุล ขาด-เกิน (ไม่ต้องเพอร์เฟกต์) บ้าง มันก็สวยงามได้เหมือนกันนะ

อากาศค่อนข้างหนาวเย็นยามค่ำคืน ดีที่เครื่องนอนเอาอยู่ ความเหน็ดเหนื่อยก็ช่วยให้หลับสนิทด้วย ธรรมชาติของทะเลทราย คือช่วงกลางวันนั้นร้อนจัด แต่อุณหภูมิจะลดต่ำตอนกลางคืน 

ต้องคอยเตือนตัวเองบ้างเหมือนกันเรื่องการรีบร้อน อย่างเวลาหลังจากตื่นนอนตอนเช้า แทนที่จะรื่นรมย์อ้อยอิ่ง กลับรีบเก็บข้าวของแพ็กขึ้นท้ายจักรยานแล้วออกปั่น ถามตัวเองว่าทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร นี่คือเวลาซึ่งควรจะสโลว์ไลฟ์ที่สุดไม่ใช่หรือ

เดินทางแบบนี้ไม่ได้อาบน้ำเป็นเรื่องเป็นราว ก่อนจบวันต้องหาที่กรอกน้ำใส่ขวด กันไว้สองลิตรเพื่อเอาไว้ล้างตัว โควตามีอยู่เท่านั้น ชนิดสองลิตรก็ต้องสะอาดให้ได้ แปรงฟันก็บ้วนปากครั้งเดียวพอ ทุกๆ สี่ถึงห้าวันจึงยอมเข้าพักตามโรงแรมราคาถูกซึ่งเป็นโอกาสชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ถือโอกาสอาบน้ำถูสบู่ขัดขี้ไคลด้วย 

ถามว่า แบบนี้เรียกว่าคุณภาพชีวิตลดลงไหม มองในแง่หนึ่งลดลงแน่นอน แต่ถ้ามองในแง่ได้ความรู้สึกอิสระที่มาพร้อมกับความยืดหยุ่นสูง แบบนี้ก็นับว่าร่ำรวยมากแล้วครับ

AUTHOR