9 เรื่องเบื้องหลังที่ทำให้ JOOX ‘เป็นได้มากกว่า’ มิวสิกสตรีมมิ่งอันดับหนึ่งของไทย

Highlights

  • JOOX คือแอพฯ ผู้บุกเบิกมิวสิคสตรีมมิ่งในไทย การทำงานด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์และหมุดหมายที่อยากพัฒนาวงการเพลงไทยมาตลอด 4 ปี วันนี้ JOOX ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่มีจำนวนยูสเซอร์และการกดฟังมากที่สุดจนได้ตำแหน่งมิวสิคสตรีมมิ่งอันดับหนึ่งของประเทศไทยมาครอบครอง
  • หัวใจสำคัญของ JOOX คือการคิดถึงสิ่งที่ยูสเซอร์หรือคนฟังเพลงไทยต้องการจริงๆ ก่อนเสมอ เช่น การเข้าถึงเพลงถูกลิขสิทธิ์ได้แบบฟรีๆ รวมทั้งความหลากหลายของคอนเทนต์ และยังคิดถึงประโยชน์ที่คนทำเพลงหรือศิลปินควรได้รับ ตอบแทนในรูปแบบรายได้และรางวัลที่เปรียบเสมือนการสร้างกำลังใจให้พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานเจ๋งๆ ต่อไป

ถ้าพูดจากใจคนฟังเพลง พอทุกมิวสิกสตรีมมิ่งมีเพลงที่เราชอบฟังเหมือนๆ กันหมด บางทีเราเองก็หัวหมุนเหมือนกันว่าจะเลือกจิ้มฟังจากเจ้าไหนดี

แต่เชื่อว่าแอพฯ ฟังเพลงอย่าง JOOX คงเป็นชอยส์แรกที่หลายๆ คนคงนึกถึง ไม่ว่าจะด้วยภาพของผู้บุกเบิกมิวสิกสตรีมมิ่งในไทย หรือการเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่มีจำนวนยูสเซอร์และการกดฟังเยอะสุดๆ จนได้ตำแหน่งมิวสิกสตรีมมิ่งอันดับหนึ่งของประเทศมาครอบครอง

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเราเห็นตลาดมิวสิกสตรีมมิ่งไทยคึกคักปนดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามากี่รายต่อกี่ราย ดูเหมือนว่า JOOX ยังคงเป็นแบรนด์ที่ยืนหยัดและยึดที่ทางของตัวเองได้แข็งแรง หากเปรียบกับนักสู้ คงเป็นนักสู้สุดเก๋าที่มีลูกล่อลูกชน มีท่าทางใหม่ๆ ให้คนดูริมเวทีอย่างเราตื่นเต้นอยู่เสมอ

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่เรามาคุยกับ อ้น–กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหาร JOOX ประเทศไทย หาคำตอบว่ากว่า JOOX จะยืนหนึ่งในวงการมิวสิกสตรีมมิ่งได้อย่างวันนี้ พวกเขาขับเคลื่อนแบรนด์ด้วยความเชื่อแบบไหน

 

01 สตรีมมิ่งเจ้าแรกๆ ที่เข้าถึงอินไซต์คนไทย

แม้ว่า JOOX จะอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทเทคระดับโลกอย่าง เทนเซ็นต์ แต่ด้วยข้อได้เปรียบที่ว่า JOOX เป็นรุ่นน้องของเว็บไซต์ Sanook พวกเขาจึงเข้าใจดีว่าคนไทยชอบอะไร และต้องการเสพสื่อแบบไหน รวมทั้งการใช้ทีมงานคนไทยเกือบทั้งหมด การเข้าถึงอินไซต์ของคนฟังเพลงไทยจึงไม่ยากเย็นนัก

ย้อนกลับไปที่ pain point ของคนฟังเพลงเมื่อ 4-5 ปีก่อน การฟังเพลงยังมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง อย่างการฟังออนไลน์ที่เผลอไปกดปิดหน้าจอเพียงเสี้ยววินาทีเดียว เพลงนั้นก็จะหยุดเล่นทันที หรือการฟังเพลงสตรีมมิ่งในยุคนั้น ที่ฟังได้เพียงแค่ 30 วินาที ถ้าอยากฟังต่อต้องเสียเงิน รวมถึงการต้องเสียเวลาโหลดเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตที่เป็นการฟังเพลงฟรีแบบไม่ถูกลิขสิทธิ์

จาก pain point ที่เกิดบวกกับเข้าใจพฤติกรรมที่คนไทยเคยชินกับการฟังเพลงฟรี ปี 2016 JOOX จึงเดินหน้าเปิดตัวในฐานะมิวสิกสตรีมมิ่งที่แก้ pain point ต่างๆ ให้คนสามารถเปิดฟังเพลงแบบ ‘เต็มเพลง’ ได้ แถมยังสามารถฟังได้ฟรีแม้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต JOOX เลยได้ใจคนไทยไปแบบเต็มๆ 

 

02 สตรีมมิ่งที่กล้าบุกเบิกการฟังเพลงแบบ ‘Freemium’

โมเดลในการสมัครเข้าไปฟังเพลงใน JOOX มีสองโมเดลคือ หนึ่ง ฟังฟรีแบบมีโฆษณาคั่นระหว่างเพลงและมีข้อจำกัดในการเข้าฟังเพลงต่างประเทศบางเพลง และสอง คือการจ่ายเงิน 129 บาทเพื่อเป็นสมาชิกระดับพรีเมียม นอกจากไม่มีโฆษณามาคั่นอารมณ์แล้วยังได้ฟังเพลงที่คุณภาพเสียงดีกว่า เก็บเพลงไว้ฟังแบบออฟไลน์ได้มากกว่าด้วย การให้ทางเลือกกับผู้บริโภคคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ JOOX เป็นเพื่อนกับคนฟังเพลงทุกคนได้

ในแง่การทำธุรกิจ Freemium เป็นโมเดลที่น่าสนใจเอามากๆ เพราะถ้ามองจากมุมของ JOOX แล้ว ทั้งสองโมเดลนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมเพลงได้ อย่างโมเดลแรก ถึงแม้ว่าจะดูเป็นการแจกของฟรี แต่อย่าลืมว่าการมีสปอนเซอร์เข้ามาในแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งก็เท่ากับว่ารายได้ก้อนนี้ถูกแบ่งปันให้กับคนสร้างคอนเทนต์ได้เหมือนกัน แต่ถ้าหากปลายทางของเราทุกคนคือการสร้างความยั่งยืน การรู้จักมองเห็นคุณค่าและมูลค่าของเพลงเพลงหนึ่ง และยอมเสียเงินให้กับมัน ยังไงเส้นทางนี้ก็ดีกว่าเห็นๆ

03 สร้างประโยชน์ให้ทุกคนที่อยู่ใน ecosystem ก่อน แล้วค่อยสร้างประโยชน์ให้แบรนด์

เมื่อมีหมุดหมายในการทำธุรกิจในอุตสาหกรรมเพลงของบ้านเรา (ที่ซึ่งก่อนหน้านี้อยู่ในภาวะซบเซาด้วยปัจจัยหลายอย่าง) สิ่งแรกที่ JOOX คิดถึงตั้งแต่วันที่สร้างแบรนด์ขึ้นมานั่นคือ ‘ยูสเซอร์’ คำถามแรกที่ผู้บริหารรวมทั้งทีมงานถามตัวเอง ไม่ใช่คำถามที่ว่ายูสเซอร์ของพวกเขาควรมีหน้าตาแบบไหน หรือจะทำยังไงให้คนเหล่านั้นยอมจ่ายเงินให้ แต่กลับเป็นคำถามที่ว่า ยูสเซอร์จะได้ประโยชน์อะไรจากการฟังเพลงบนแพลตฟอร์มอย่าง JOOX ต่างหาก ซึ่งประโยชน์นั้นคือความสะดวกสบายในการฟังเพลง เปิดที่ไหน เปิดเมื่อไหร่ก็ได้

นอกจากนี้ พอพูดถึง ecosystem อีกตัวละครสำคัญของวงการดนตรีคงหนีไม่พ้นผู้สร้างสรรค์ผลงาน ‘พาร์ตเนอร์’ เช่น ค่ายเพลง นักร้อง นักดนตรี กระทั่งนักเขียนเพลง หรือโปรดิวเซอร์ ในฐานะ ‘คนกลาง’ ระหว่างคนเหล่านี้ การบาลานซ์ประโยชน์ของคนสองฝั่งจึงสำคัญ เพราะ JOOX มีรายได้จากคนฟังเพลงที่เชื่อในการเสียเงินเพื่อเคารพ ‘ลิขสิทธิ์’ ผู้สร้างคอนเทนต์ทั้งหลายก็ควรได้รับสิ่งตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อกับที่ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานเหล่านั้นออกมาด้วย เป็นกำลังใจให้พวกเขาสร้างผลงานใหม่ๆ ออกมาให้คนฟัง ซึ่งแน่นอนยูสเซอร์ของ JOOX เองก็ได้ประโยชน์นี้ไปเต็มๆ

04 พื้นที่แห่งความหลากหลาย

ทุกวันนี้ JOOX มีจำนวนเพลงทั้งไทยและต่างประเทศอยู่ในระบบมากกว่า 30 ล้านเพลง มีทุก genre ทั้งเพลงไทย เพลงสากล เพลงอินดี้ และเพลง K-pop

ช่วงเวลาที่ JOOX เปิดตัวเป็นช่วงเวลาที่ออนไลน์เริ่มเฟื่องฟู เราเห็นศิลปินหนุ่มสาวหน้าใหม่ที่แต่งเพลงเอง ปล่อยเพลงเองได้ง่ายมากขึ้น สีสันของแนวดนตรีที่มีในตลาดก็ฉูดฉาดน่าสนใจขึ้น ต้องบอกว่ายูสเซอร์ส่วนใหญ่ของ JOOX ก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่ชอบฟังเพลงหลากหลาย โดยเฉพาะแนวเพลงแปลกใหม่ ในวันแรก JOOX จึงไม่เพียงแต่นำเพลงจากค่ายใหญ่ๆ ในตลาดมารวมไว้ในแพลตฟอร์มตัวเองเท่านั้น แต่ยังพกพาความตั้งใจที่จะช่วยโปรโมตศิลปินแต่ละคน ไม่ว่าจะมาจากค่ายเล็ก ค่ายใหญ่ หรือศิลปินอิสระก็ตาม 

 

05 เชื่อในการ ‘ให้โอกาส’

นอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มที่มีเพลงหลากหลายแนว เปิดโลกในการฟังเพลงให้กับพวกเราแล้ว สิ่งที่ JOOX เชื่อไม่แพ้กันคือการเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้กับนักดนตรีหน้าใหม่ หลังบ้านของพวกเขาจะมีทีมงานที่ค่อยสอดส่อง เป็นแมวมองหาว่าในโลกออนไลน์ตอนนี้มีศิลปินหน้าใหม่คนไหนมีแววไปได้ไกล หรือผลงานชิ้นไหนน่าสนใจ น่าหยิบขึ้นมาฟีเจอร์บนหน้าแรกของแพลตฟอร์มบ้าง การทำให้เพลงนอกกระแสเพลงหนึ่งกลายเป็นเพลงแมสหรือเป็นจุดสนใจของผู้คน หรือการสอดส่องศิลปินหน้าใหม่ๆ โปรโมตให้พวกเขากลายเป็นศิลปินที่ไม่ว่าใครก็รู้จักคือพลังของ JOOX

06 คนเบื้องหลังบทเพลงคือคนสำคัญ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้ JOOX ประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจ นั่นคือการมีคนติดตามหลายสิบล้านคน รวมทั้งการเปลี่ยนมายด์เซตของคนไทยให้ยอมเสียเงินกับการฟังเพลง ด้วยการเห็นคุณค่าของการสร้างสรรค์ผลงาน พูดได้ว่าพวกเขาได้สร้างประโยชน์ที่คนส่วนรวมควรจะได้รับ ยิ่งในยุคที่ไม่ค่อยมีใครซื้อซีดีกันแล้ว ดังนั้นรายได้จากสตรีมมิ่งจึงมีบทบาทกับความเป็นอยู่ของศิลปินมากขึ้นเรื่อยๆ 

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา JOOX ทำกิจกรรมและมีแคมเปญมากมายที่ซ่อนเมสเซจเรื่องการฟังเพลงอย่างถูกลิขสิทธิ์ ขณะเดียวกัน ในเดือนมีนาคมของทุกปีพวกเขาจะจัดงานใหญ่ที่ชื่อว่า JOOX Thailand Music Awards (JTMA) เป็นเวทีมอบรางวัลหรือเวลาเฉลิมฉลองความสำเร็จให้กับศิลปินและนักสร้างสรรค์ทุกคนที่พวกเขาอยากเอาใจช่วย (ซึ่งปีนี้ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากโควิด-19) นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นการดึงโลกออนไลน์มาสู่โลกออฟไลน์ เช่น จัดแฟนมีตติ้ง หรือทำ live session ถ่ายทอดสดผ่านแอพฯ สร้างกำลังใจเล็กๆ ให้กับศิลปินและแฟนคลับที่ติดตามพวกเขา

 

07 สร้างจุดต่างด้วย Original Content 

เพราะเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง พวกเขาจึงมีข้อมูลหลังบ้านที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือตัวเลขที่บอกได้ว่าศิลปินหรือแนวเพลงไหนกำลังติดหูคน รวมทั้งคาดเดาได้ว่าในโมงยามหน้าเทรนด์การฟังเพลงจะเป็นแบบไหน หลังเปิดตัวได้สองปี พวกเขาจึงนำข้อมูลน่าสนใจเหล่านี้มาสร้างสรรค์ผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์อย่างค่ายเพลง สร้างโปรเจกต์ collaboration เช่น โปรเจกต์ NEXTPLORER ที่มีเพลงดังอย่าง ดวงจันทร์กลางวัน ของ Getsunova และ Violette Wautier หรือโปรเจกต์ 100 x 100 ชวนศิลปินลูกทุ่งเจ้าของร้อยล้านวิวในยูทูบ และศิลปินร้อยล้านวิวของ JOOX ที่มีทั้งแนวป๊อป ร็อก และฮิปฮอป มาสร้างงานชิ้นใหม่ด้วยกัน

อย่างต้นปีที่ผ่านมาพวกเขาก็ปล่อยอัลบั้มพิเศษอย่าง Throwback The 90’s ที่หยิบเอาเพลงเพราะๆ เมื่อ 20-30 ปีก่อนมารีเมคและขับร้องโดยศิลปินยุคปัจจุบันอย่างเพลง เหนื่อยใจ ของ XL Step ที่เอามาขับร้องใหม่โดย INK WARUNTORN ที่กลายเป็นเพลงฮิตติดลมบนอยู่ตอนนี้ ซึ่งความตั้งใจเบื้องหลังโปรเจกต์นี้คือการอยากให้คนรุ่นใหม่เห็นว่าเพลงเก่าๆ นั้นไพเราะและมีคุณค่า ทางเดียวกันก็อยากให้คนที่มีอายุมากกว่าได้หวนกลับไปคิดถึงบทเพลงในวันวานของพวกเขาด้วย

 

08 ฝันอยากจะเห็นวงการเพลงเติบโต

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของการทำมิวสิกสตรีมมิ่งคือ แต่ละปีเราจะเห็นจำนวนเพลงใหม่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างในสถิติของ JOOX ในปี 2018 พวกเขามีเพลงใหม่เข้ามาในระบบราวๆ 600 เพลง ส่วนปีถัดมาเพิ่มเป็น 950 เพลง การได้มองเห็นตลาดเพลงขยายใหญ่ขึ้น แถมยังเกิดเพลงที่มีความครีเอทีฟแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ และอุตสาหกรรมดนตรีไทย นักร้อง ผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ยังเดินทางตามเส้นทางนี้ต่อไปได้ ถือเป็นความฝันที่เป็นจริงของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มนี้

 

09 เป็นได้มากกว่ามิวสิกสตรีมมิ่ง 

ประสบความสำเร็จ, ส่งเสริมอุตสาหกรรมดนตรีให้กลับมาคึกคัก และเป็นที่หนึ่งอย่างที่ต้องการ แล้วยังไงต่อ ?

คำว่า entertainment สำหรับพวกเขามีความหมายกว้างกว่าที่เราเข้าใจ เพราะนอกจากการเป็นพื้นที่ให้เราได้ทอดหูฟังเพลง JOOX ยังเดินหน้าพัฒนาระบบต่างๆ ทั้งหน้า AI และ machine learning ให้รู้ใจคนฟัง รวมถึงฟีเจอร์พิเศษต่างๆ ที่ทำให้พวกเขาต่างจากมิวสิกสตรีมมิ่งเจ้าอื่นๆ ให้สมกับอยู่ภายใต้บริษัทเทคระดับโลก อย่างฟีเจอร์คาราโอเกะและฟีเจอร์ไลฟ์สตรีมมิ่ง ให้ยูสเซอร์ได้เอนจอยและสร้างคอนเทนต์ รวมถึงสร้างคอมมิวนิตี้ของตัวเองด้วย และหลังจากนี้ JOOX ไม่ได้โฟกัสแค่กับคอนเทนต์จากฝั่งศิลปินเท่านั้น แต่เป็นอินฟลูเอนเซอร์หรือคนทั่วไปที่อยากสร้างรายได้จาก follower ของพวกเขาบนแพลตฟอร์ม JOOX ก็สามารถทำฝันให้เป็นจริงได้

ภาพ tencent.co.th

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

นักเรียนฟิล์มที่มาฝึกงานช่างภาพ รักการถ่ายรูป ชอบกินของอร่อย และชอบใช้เวลากับครอบครัว เพื่อนสนิท คนรัก