5 หนังที่เป็นดั่งมาสเตอร์ของมาสเตอร์หนังฟีลกู้ด ‘จิระ มะลิกุล’

หนังเรื่องไหนที่เป็นต้นทางของ 15 ค่ำ เดือน 11 หนังเรื่องไหนเป็นแรงบันดาลใจของคิดถึงวิทยา และหนังเรื่องไหนที่เป็นที่มาของคำว่า ‘ฟีลกู้ด’

ในขณะที่คนทำหนังรุ่นใหม่หลายคนมีภาพยนตร์ของ ‘จิระ มะลิกุล’ หรือ ‘พี่เก้ง’ ผู้กำกับรุ่นใหญ่แห่งค่าย GDH เป็นดั่งมาสเตอร์ ในวันวัยที่ยังไม่ได้กำกับ 15 ค่ำ เดือน 11 มหา’ลัยเหมืองแร่ รัก 7 ปี ดี 7 หน และพรจากฟ้า มาสเตอร์คนนี้ก็มีภาพยนตร์ที่เป็นเหมือนครูของตัวเองเช่นกัน

a day ทำฉบับ Meet the Master ทั้งที เราจึงใช้โอกาสนี้ขอให้พี่เก้งแนะนำหนัง 5 เรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจของเขา ตั้งแต่เรื่องที่สอนวิชาเขียนบท 101 สอนวิธีตัดต่อหนังแบบมืออาชีพ ไปจนถึงเรื่องที่แนะนำหัวใจของการเป็นผู้กำกับที่ดี กระทั่งเขาได้กลายเป็นตัวอย่างของคนทำหนังหลายคนในวันนี้

 

จิระ มะลิกุล

A Passage to India (2527)

“หนังเรื่องนี้พูดถึงอินเดียในยุคที่อังกฤษปกครอง เขาเก่งมากตรงที่เล่าเรื่องยากๆ ให้ง่ายและสนุก ในเรื่องจะเห็นได้ชัดว่ามีคนตะวันตกที่ยังเป็นตะวันตก คนตะวันตกที่อยากเป็นตะวันออก คนตะวันออกที่ยังเป็นตะวันออก และคนตะวันออกที่อยากเป็นตะวันตก

“พอมาวิเคราะห์ทีหลังผมถึงรู้ว่ามันเป็นต้นตอความคิดที่ทำให้ผมทำ 15 ค่ำ เดือน 11 คือในเรื่องมีคนอีสานที่เชื่อในเทคโนโลยี คนอีสานที่ยังเชื่อในความเชื่อ นักวิทยาศาสตร์ที่เชื่อในเทคโนโลยี และนักวิทยาศาสตร์ที่ยินดีกับความเชื่อ แม้จะไม่ชัดมากแต่ก็เห็นว่ามันมีอิทธิพลต่อการเขียนตัวละครของเราเหมือนกัน”

 

จิระ มะลิกุล

Cinema Paradiso (2531)

“director’s cut ของหนังเรื่องนี้ให้บทเรียนกับผมเยอะมาก เพราะมันยาวกว่าเวอร์ชั่นที่ฉายจริง 30 นาที เล่าเรื่องความรักของพระเอกตอนโตซึ่งผมเดาว่าโปรดิวเซอร์คงตัดออกเพราะเส้นเรื่องทำให้โฟกัสของเรื่องเฉออกไปจากเรื่องหลักคือโรงหนัง พอทำหนังเองผมพบว่าในวินาทีสุดท้าย ถ้าเราเอาตัวออกมาเป็นคนนอกและโฟกัสมัน หนังจะเฉียบคมมาก

Cinema Paradiso เวอร์ชั่นที่ออกฉายนั้นดีกว่า director’s cut จริงๆ และผมรับรองได้ว่าหนังของ GDH ทุกเรื่อง เวอร์ชั่นที่ฉายจริงดีกว่า director’s cut หมดเลย”

 

จิระ มะลิกุล

Otoko wa Tsurai yo (2512–2538)

“เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ชุดเล่าเรื่องของ Tora-san ผู้ชายที่เร่ร่อนไปทั่วประเทศ แต่ละตอนเขาจะไปพัวพันกับผู้หญิงเพราะเขามีเสน่ห์และใจดี เป็นหนังที่จริงใจมาก ไม่มีความเท่ ความนิ่ง ไม่มีผู้ร้าย แต่เล่าเรื่องความสุขของชีวิตชนบท ความสุขของคนที่มีญาติ เป็นความ emotional แบบคนเอเชีย เอาเข้าจริงหนังเรื่องนี้อาจจะเป็นต้นกำเนิดของคำว่าฟีลกู้ดโดยที่ผมไม่รู้ตัวก็ได้นะ”

 

มือปืน (2526)

“หนังของท่านมุ้ย (ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล) ผมทึ่งตรงที่หนังไทยสมัยนั้น ถ้าว่ากันด้วยเรื่องดราม่ามันก็จะเป็นหนังผัวเมีย หนังบู๊มันก็จะใส่แจ็กเก็ตยีนส์ยิงกัน แต่เรื่องนี้เป็นหนังแอ็กชั่นใส่ดราม่าที่ดีมาก ผมชอบสุดๆ

“ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของท่านมุ้ย ท่านบอกว่าหนังจะประสบความสำเร็จได้จากหัวใจ 4 ห้อง คือการเขียนบท การกำกับ การตัดต่อ และการถ่ายภาพ ยิ่งผู้กำกับกุมหัวใจ 4 ห้องได้มากเท่าไหร่หนังยิ่งดีเท่านั้น อ่านแล้วก็รู้สึกว่าท่านมุ้ยพูดถึงตัวเองเลยนี่นา เพราะหนังเรื่องนี้สมบูรณ์มาก มันมีอิทธิพลกับผมมาก เวลาทำหนังหรือเลือกทีมงานผมจะเน้นหัวใจ 4 ห้องนี้มากเลย”

 

Witness (2528)

Witness เป็นเรื่องของเด็กชาวอามิชที่เข้านิวยอร์กไปเห็นการฆาตกรรมเลยโดนคนร้ายหมายหัว พระเอกเป็นตำรวจที่ทำคดีนี้จึงต้องช่วยพาเด็กกลับเข้าหมู่บ้านอามิชซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรมที่เคร่งครัด ไม่พึ่งเทคโนโลยี ไม่ติดต่อโลกภายนอก ฉากหนึ่งที่ผมชอบคือตอนพระเอกซ่อมรถ วิทยุในรถมันดังขึ้นมา เขาดีใจมากจนจับนางเอกเต้นไปกับเพลงทั้งๆ ที่ชาวอามิชห้ามฟังเพลง เวลาดูถึงฉากนี้มันจึงเหมือนจังหวะที่โลกที่มีการสื่อสารกับไม่มีการสื่อสารได้มาเจอกันในรสชาติแปลกๆ ผมรู้สึกว่ามันเป็นโลกที่น่าสนใจ

“หนังเรื่องนี้คงฝังใจผมมาก พอได้อ่านเรื่องครูสามารถที่สอนในเรือนแพและไม่มีโทรศัพท์มือถือผมก็ชอบมากจนทำเป็นหนังเรื่อง คิดถึงวิทยา


อ่านบทสัมภาษณ์ของจิระ มะลิกุล และมาสเตอร์คนอื่นๆ ในแวดวงสร้างสรรค์ได้ใน a day 240 สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่นี่

AUTHOR