JUMP IN JOY : รวมแคมเปญสุดสนุกที่ Weekly Shonen Jump คิดและทำฉลองครบรอบ 50 ปี

“ชอบบาสเกตบอลหรือเปล่า?”

เรายังจำคำถามที่ฮารุโกะ น้องสาวของอาคางิถามซากุรางิในเรื่อง Slam Dunk ได้ดี เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พระเอกของเราเริ่มสนใจกีฬาชนิดนี้ นำไปสู่เรื่องราวของมิตรภาพ การแข่งขันและความพยายามอันเข้มข้นชวนประทับใจ ที่เรายกให้เป็นการ์ตูนในดวงใจอันดับหนึ่งตลอดกาล

ในขณะเดียวกัน พอมองย้อนกลับไปสมัยที่เลือกเรียนเอกภาษาญี่ปุ่น ถ้ามีคนถามว่า “ชอบภาษาญี่ปุ่นหรือเปล่า” เราก็คงคล้ายๆ กับซากุรางิ ที่จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ชอบบาสหรอก แต่เลือกทำเพราะมันเป็นหนทางไปสู่สิ่งที่ชอบจริงๆ ต่างหาก (สำหรับซากุรางิคือฮารุโกะ ส่วนเราก็คือการ์ตูนไงล่ะ) ซึ่งพอได้ลองสัมผัสจริงๆ ดันชอบ และจริงจังจนกลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่ใช้หาเงินได้ สำหรับคนที่โตมากับดราก้อนบอล สแลมดังก์ กัปตันซึบาสะ และผองเพื่อนจากนิตยสาร Weekly Shonen Jump อย่างเรา การ์ตูนพวกนี้มีตัวตนอยู่ในความทรงจำหลายช่วงของชีวิต งานฉลองครบรอบ 50 ปีของนิตยสารจึงเป็นสิ่งที่พิเศษมาก

สำหรับคนที่ไม่รู้จัก Weekly Shonen Jump คือนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์สุดฮิตและสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ชาวญี่ปุ่นและต่างประเทศจำนวนมาก ส่วนมากเป็นการ์ตูนที่ตัวเอกเป็นเด็กนักเรียน เล่าเรื่องมิตรภาพ ความฝัน ความพยายาม พลังของวัยรุ่น ผ่านการ์ตูนหลายสไตล์ทั้งการ์ตูนต่อสู้ การ์ตูนกีฬา การ์ตูนแฟนตาซี การ์ตูนตลกต่างๆ ในช่วงยุครุ่งเรืองอย่าง 90s มียอดขายพุ่งปรี๊ดทะลุ 6 ล้านเล่มต่อสัปดาห์ ตัวอย่างผลงานยอดฮิตตลอดกาลได้แก่ ดราก้อนบอล, คนเก่งฟ้าประทาน, กัปตันซึบะสะ, หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ, สแลมดังก์, ซามูไรพเนจร, โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ, นารูโตะ, บลีช, วันพีซ, จอมเก บลูส์ ฯลฯ

ในวาระดิถีตีพิมพ์มาครบ 50 ปี พี่เขาจึงจัดนิทรรศการการ์ตูนทั้งหมดที่ Mori Arts Center Gallery โดยแบ่งการ์ตูนในสังกัดเป็น 3 ช่วง 3 ยุค ยุคบุกเบิกจัดไปเมื่อปีที่แล้ว ยุค 2 จัดตั้งแต่ 19 มีนาคม – 17 มิถุนายน ส่วนยุคปัจจุบันคือตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาจะจัดช่วง 17 กรกฎาคม – 30 กันยายนปีนี้

งานนิทรรศการที่พี่เขาจัดถือว่าเจ๋งมาก โดนใจติ่งรุ่นก่อนยิ่งนัก ทั้งการนำผลงานต้นฉบับมาจัดแสดง การเลือกเปิดเพลง การเรียงร้อยเรื่องราว การใช้เทคโนโลยีผสมผสานกับงาน 2 มิติให้มีชีวิตชีวาและน่าสนใจ รวมไปถึงบทสัมภาษณ์นักเขียนการ์ตูนในดวงใจที่ทำให้เราได้รู้จักผลงานแต่ละเรื่องในอีกแง่มุม การต่อสู้ของนักเขียนในชีวิตจริงเพื่อสร้างผลงานจากจินตนาการ (บางพาร์ตถึงกับทำน้ำตาซึม แต่ไม่อยากสปอยล์ ถ้ามีโอกาสอยากให้ได้ลองไปสัมผัสกันด้วยตัวเองนะ) และที่เลิฟที่สุดคือ มุมขายสินค้าลิมิเต็ดอิดิชั่นที่สมัยเป็นนักเรียนไม่มีทั้งเงินและโอกาสที่จะครอบครอง

ที่สำคัญ นอกเหนือจากงานนิทรรศการเหล่านี้ เขายังจัดกิจกรรมและแคมเปญต่างๆ มากมายให้แฟนๆ ได้ใกล้ชิดและระลึกถึงความสนุกในอดีตอย่างต่อเนื่องไปพร้อมๆ กัน เริ่มตั้งแต่เบสิกอย่างการขายสินค้าพิเศษ ซึ่งปกติการ์ตูนที่จบไปนานแล้วมักจะไม่มีสินค้ามาขาย เว้นแต่ถูกนำไปทำแอนิเมะภาคใหม่, หนังหรือละคร, JUMP Cafe ที่มาพร้อมเมนูเด็ดจำนวนมากชวนให้รักพี่เสียดายน้อง, ไลน์สติกเกอร์ก็ทำออกมาให้ซื้อเพียบ, เกมรวมดาวฮีโร่จากเรื่องต่างๆ ที่ไฟต์กันด้วยการเรียงลูกบอลสีอย่าง Jumputi Heroes ก็ได้รับความนิยมไม่น้อย, ร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ยังร่วมทำเกมจับฉลากชิงรางวัล มีทั้งหมอนอิงลายนิตยสาร Weekly Shonen Jump ฉบับในตำนาน เช่น ฉบับแรกที่ วันพีซ, ดราก้อนบอล, นารูโตะ, กินทามะ ตีพิมพ์ (แต่หมดเขตร่วมสนุกไปแล้ว), แผ่นซีดีรวมเพลงการ์ตูนฮิต 50th Anniversary BEST ANIME MIX และแน่นอนเสื้อยืดยูนิโคล่ที่เชื่อว่าหลายๆ คนไปโดนกันเรียบร้อยแล้ว เอาเถอะ #ของมันต้องมี

แต่ที่เราประทับใจมากจริงๆ คือความเข้าใจหัวอกแฟนคลับ และการพยายามมอบประสบการณ์ร่วมกับการ์ตูนเรื่องโปรดของแต่ละคนแบบดีพๆ และครบวงจรทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน กิน วาด เช่น

แคมเปญกาแฟ+การ์ตูนกระป๋อง Georgia จับการ์ตูน 19 เรื่องมาลงกระป๋อง 40 รูปแบบ

มองผ่านๆ มันก็แค่การตัดการ์ตูนช่องนึงไปแปะกระป๋องกาแฟ แต่ถ้าอ่านดีๆ จะพบว่าเขานำคำพูดคมๆ วลีโดนๆ ของเรื่องนั้นๆ มาบิดเนื้อหาให้เข้ากับกาแฟ เช่น ‘พูดแล้วไม่คืนคำ นี่แหละวิถีนินจาของฉัน’ จากเรื่อง นารุโตะ กลายเป็น ‘ยึดมั่นในความใส่ใจเรื่องรสชาติ นี่แหละวิถีกาแฟของฉัน’ ที่สำคัญยังใช้โค้ดที่เขียนบนกระป๋องไปอ่านการ์ตูนนั้นๆ ฟรี 1 ตอน แต่เดี๋ยวก่อน! ถ้าสะสมโค้ดครบ 5 อันสามารถลุ้นชิงโชคกระป๋องพิเศษรุ่นลิมิเต็ดที่ไม่มีขายด้วยนะ ตอนนี้เริ่มวางขายส่วนหนึ่งแล้ว ยิงยาวๆ กันไปถึงเดือนกรกฎาคม

แคมเปญ DON’T STAY กับ Honda FIT

อันนี้ขอน้อมตัวลงกราบให้ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่ได้นำคาแรกเตอร์ดังมายืนเป็นพริตตี้สวยหล่อโฆษณารถเฉยๆ แต่ทำเป็นคลิปให้คนดูรับบทเป็นผู้โดยสารนั่งอยู่ในรถซึ่งขับผ่านโลกสองมิติที่ขยับได้ของการ์ตูนเรื่องโปรด กิมมิกเก๋คือเราสามารถหมุนดูได้ 360 องศา ดูคอนโซล ดูเบาะ ดูการ์ตูนไปพร้อมกันอย่างเนียนๆ บางเรื่องทำละเอียดเว่อ ถ้าเราดูแบบมองข้างๆ จะมีตัวการ์ตูนมาเกาะรถด้วย เพลงมัน แอ็กชั่นปัง ให้ 3 ผ่าน!

JUMP Music Festa

เทศกาลดนตรีที่ Summer Sonic ก็ทำไม่ได้ Cochella ก็อย่าหวัง มีแต่จัมป์เท่านั้นแหละที่ทำได้ เพราะเป็นงานที่มีแต่เพลงการ์ตูนล้วนๆ ซึ่งส่วนมากได้ศิลปินดังๆ มาทำเพลงให้ทั้งนั้น ไลน์อัพส่วนหนึ่งเปิดเผยแล้ว เช่น Little Glee Monster, KANA-BOON, SPYAIR ใครสนใจ 7-8 กรกฎาคมนี้เชิญที่ Yokohama Arena ตอนนี้ข้อมูลยังปล่อยมาไม่เยอะ แต่เราเชื่อมั่นว่าสินค้าลิมิเต็ดต้องมา คาเฟ่ต้องมี

แต่ถ้าไม่ว่างและฟังภาษาญี่ปุ่นได้ ขอให้ฟังคลื่น Radio Jump ที่รวบรวมเรื่องราวหลายแง่มุมและเชิญนักเขียนมากมายมาพูดคุยให้ฟังทุกวันเสาร์ตอนเที่ยงคืน

JUMP TOSHOKAN และ JUMP Party

ห้องสมุดที่รวมจัมป์ทุกเล่มตั้งแต่ปี 1968-2018 เล่มใหม่ล่าสุดมาให้อ่านอย่างจุใจ แถมเป็นคาเฟ่ในตัวด้วย สิ่งดีที่สุดคืออ่านฟรี โต๊ะเก้าอี้ถูกออกแบบมาให้เข้ากับโลกการ์ตูนโดยเฉพาะ เชิญเลือกมุมที่ชอบ หยิบเล่มที่ใช่มาอ่านให้สบายใจ น่าเสียดายที่เปิดแค่ 12 วันเท่านั้น (ตั้งแต่วันที่ 15-26 มีนาคมที่ผ่านมา) แต่ไม่ต้องเสียใจไป ดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน JUMP Party ซึ่งมีการ์ตูนให้อ่านฟรีมากกว่า 100 เรื่องตลอด 2 เดือน แถมยังมีภารกิจให้เล่นเกม มีห้องแชตให้ถกเรื่องการ์ตูนกับคอเดียวกันอย่างสนุกสนานมาแทนก็ได้

JUMP Paint

อธิบายง่ายๆ คือแอพฯ วาดการ์ตูน มือใหม่อาจเริ่มจากการเลือกการ์ตูนที่ชอบมาวาดเส้นทับฝึกตามไปก่อนก็ได้ ใครพอเป็นบ้างแล้วน่าจะชอบพาร์ตที่เป็นบทเรียนสอนเทคนิคต่างๆ ทั้งการวาดและการสร้างสตอรี่ซึ่งได้อาจารย์ดังๆ มาให้คำแนะนำทั้งนั้น เช่น อาจารย์เออิชิโร โอดะ แห่ง วันพีซ ส่วนใครที่โปรแล้วสามารถวาดแล้วส่งต้นฉบับให้กอง บ.ก.ของจัมป์ได้เลยผ่านแอพฯ นี้ สำหรับโอตาคุบางคนที่ความฝันสูงสุดคือการเป็นนักเขียนการ์ตูน นี่คือวิธีเดบิวต์สู่ฝันที่เร็วที่สุด

***

ส่วนตัวเราคิดว่า ข้อดีของประสบการณ์หลายรูปแบบที่ โชเน็นจัมป์ พยายามนำเสนอคือ มันสามารถทำให้ร่องรอยความสนุก ความประทับใจในอดีตกลับมาแจ่มชัด และเน้นย้ำอีกสิ่งหนึ่งที่จัมป์ทำได้ดีเสมอมาคือ การสร้างแรงบันดาลใจ

ตัวอย่างง่ายๆ คือการส่งต่อไฟระหว่างนักเขียนแต่ละรุ่น เช่น อาจารย์อากิระ โทริยามะ ผู้เขียน ดราก้อนบอล เป็นไอดอลของนักเขียนการ์ตูนดังยุค 90 อย่างอาจารย์โยชิฮิโระ โทกาชิ (ฮันเตอร์xฮันเตอร์), อาจารย์มาซาชิ คิชิโมโตะ (นารูโตะ), อาจารย์เออิชิโร โอดะ (วันพีซ) และการ์ตูนเรื่อง กัปตันซึบาสะ ที่ทำให้กีฬาฟุตบอลเป็นที่นิยมขึ้นมาในญี่ปุ่นและสร้างแรงบันดาลใจให้นักเตะชื่อดังหลายคน เช่น ฮิเดโตชิ นาคาตะ หรือ ชินจิ คากาวะ

แฟนนักอ่านในช่วงวัยรุ่นที่ยังมีแรงและฝันฟุ้งไกลคงได้แรงบันดาลใจกันไปบ้างไม่มากก็น้อย ส่วนการ revisit ความทรงจำเหล่านั้นตอนที่อายุล่วงเลยมาพร้อมประสบการณ์น่าจะช่วย remind และ refill พลังงานแง่บวกให้ได้โขเชียว

ตัวเราที่แอบอินและฟินกับกิจกรรมช่วงนี้ขอชูมือสุดแขนสนับสนุนคำพูดของอาจารย์โทริยาม่าที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

“There’s energy in the drawings”

ในรูปวาดมีพลังจริงๆ

ภาพ shonenjump-ten.com/cafe.html, sn.bpnavi.jp/jump_50th/, shonenjump.com/j/sp_toshokan/, jump.party/pc/, jumputi.game.line.me/, medibangpaint.com/jumppaint/, honda.co.jp/Fit/shonenjump/, shonenjump-ten.com/vol2.html, www.georgia.jp/jump/

AUTHOR