เพราะความโสดคือทางเลือก – เจาะใจ #สาวยุ่น2018 ผู้สะบัดบ๊อบไม่สนใจผ้ากันเปื้อน

“ความฝันของฉันคือการได้เป็นคุณแม่ยังสาวค่ะ” นี่คือคำตอบของสาวญี่ปุ่นต่อคำถามที่ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” ที่เราได้ยินบ่อยมากเมื่อ 10 ปีก่อน

ตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาจำนวนเด็กน้อยลง จำนวนคนแก่มากขึ้น และเริ่มเข้าสู่สังคมคนสูงวัยก่อนใครเพื่อน แน่นอนว่าคนแต่งงานน้อยลง อายุเฉลี่ยของคนที่แต่งงานเพิ่มสูงขึ้น จากสมัยก่อนที่ถ้าอายุ 25 ยังไม่แต่งนี่สาวๆ เริ่มเครียดกันแล้ว แต่ตอนนี้ 30 ยังสบาย กรีดนิ้วคีบซูชิกินสวยๆ อยู่ที่กินซ่าเก๋ๆ

เรามาลองสำรวจความโสดผ่านตัวเลข* กันดีกว่า

กราฟแสดงความเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนคนที่ไม่แต่งงาน (ซ้าย-ผู้ชาย ขวา-ผู้หญิง) ใน ค.ศ. 1980 หญิงสาวอายุ 25 ปีที่ยังโสดมี 41 เปอร์เซ็นต์ แต่ใน ค.ศ. 2010 เพิ่มมากถึง 74.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนอายุ 30 ปีที่ยังโสดมีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ใน ค.ศ. 1980 แต่ตัวเลขพุ่งสู่ 40 เปอร์เซ็นต์ใน ค.ศ. 2010

นอกจากนี้ จำนวนคนที่คิดว่า ‘อยู่คนเดียวก็ไม่ได้เหงาอะไร’ เพิ่มขึ้นไม่น้อย ผู้ชายเพิ่มจาก 41.5 เปอร์เซ็นต์ เป็น 48.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้หญิงเพิ่มจาก 28.7 เปอร์เซ็นต์ เป็น 36.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่ไม่มีแผนแต่งงานมีเยอะถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และเหตุผลที่คน (อาจจะมีแฟนแต่) ไม่แต่งงาน อันดับหนึ่ง คือยังไม่รู้สึกถึงความจำเป็น ส่วนอันดับ 2 คือกลัวเสีย ‘อิสระ’

คำว่า ‘อิสระ’ นี้มีความหมายยิ่งใหญ่เกินกว่า ‘การสละความโสด’ ไปไกลนักสำหรับสาวญี่ปุ่นที่คิดจะเปลี่ยนสถานภาพ เพราะนอกจากจะทำข้อผูกมัดทางหัวใจ ยังต้องสละความต้องการส่วนตัวอีกนิดหน่อย เพราะค่านิยมสมัยก่อนคือ เมื่อผู้หญิงแต่งงานควรจะลาออกมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว ดูแลบ้าน ทำกับข้าว เลี้ยงลูก ปรนนิบัติสามี การละทิ้งความฝันหรือความทะเยอทะยานในหน้าที่การงานคือสิ่งจำเป็นเพื่อเป็นแม่บ้านที่ดีตามขนบ

สำหรับผู้หญิงหลายๆ คนสมัยก่อน จะมองว่าบทบาทแม่และภรรยาเต็มเวลาคืออาชีพในฝันก็ได้ การได้เป็นแม่บ้านเต็มตัวคือรูปแบบชีวิตในอุดมคติ การฝึกทักษะงานบ้าน, การทำอาหาร, การจัดการบริหารตารางเวลาชีวิตเพื่อดูแลสมาชิกทุกคนในบ้านให้ดีที่สุดคือความงดงามของชีวิตที่เจ้าตัวภาคภูมิใจ (ดูระดับความทุ่มเทของแม่บ้านญี่ปุ่นได้ง่ายๆ จากความอลังการของข้าวกล่องลูกที่นับวันจะวิจิตรขึ้นเรื่อยๆ)

แต่เมื่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นบีบให้ผู้หญิงต้องออกมาทำงานมากขึ้น ตั้งแต่ฟองสบู่แตกในยุค 1990 ผู้หญิงทำงานหนักมากขึ้น มีบทบาทมากขึ้น เพราะพึ่งเงินเดือนของผู้ชายอย่างเดียวไม่พอ ยิ่ง ค.ศ. 2000 มีลีแมนช็อก (Lehman shock) ยิ่งส่งผลให้คนคิดเรื่องเงินเรื่องงานมากขึ้น จนมาถึง ค.ศ. 2010 ในที่สุดผู้หญิงก็มีบทบาทในสาขาอาชีพที่เคยมีแต่ผู้ชายผูกขาด ค่านิยมเรื่องอาชีพในฝันเริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ผู้หญิงหลายคนเริ่มรู้สึกถึงความสนุกและท้าทายในงานประจำ

และที่สำคัญก็คือ อิสรภาพทางการเงิน

หนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนไม่แต่งงานเยอะมากคือ การจัดงานแต่งงานต้องใช้เงินเยอะ นอกจากนี้ผู้ชายวัย 30 ปีที่หาเงินได้เกินปีละ 6 ล้านเยนมีน้อยมากในปัจจุบัน พอคิดว่าแต่งงานไปก็ต้องไปเป็นแม่บ้าน เงินที่หามาได้ก็ต้องแบ่งกันอีก งานเพิ่มแต่เงินถูกจำกัด หลายคนเลยบอกว่า อยู่เป็นโสดเอาเงินไปลงทุนกับตัวเองทั้งเสริมสวย ช้อปปิ้ง ซื้อของกินอร่อยๆ ดีกว่า

นิตยสารผู้หญิงฉบับหนึ่งทำสกู๊ปเรื่องสาวโสด สรุปลักษณะเด่นของผู้หญิงที่เลือกจะไม่แต่งงานไว้ว่า ‘พึ่งพาตนเองได้ อาชีพมั่นคง มั่นใจในตัวเอง และสนุกกับความโสด’

แต่ความโสดในที่นี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีใครเลย

ในกลุ่มคนที่ยังไม่แต่งงาน 43.6 เปอร์เซ็นต์มีเพื่อนซั่มหรือ friends with benefits (แต่ดูเหมือนว่าความนิยมในคอนเซปต์นี้จะลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับจำนวนชาวเวอร์จิ้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ยังไม่แต่งงาน)

มีตัวอย่างสาวโสดสุดมั่นหลายเคสสะท้อนสภาพสังคมญี่ปุ่นบางอย่างได้ดี เช่น CEO หญิงวัย 32 คบแฟนอายุน้อยกว่า 5 ปี อยู่ด้วยกันเลยในฐานะ ‘พาร์ตเนอร์’ ที่จริงจังจะอยู่กันยาวๆ แต่ไม่แต่งงานเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยาก เช่น ต้องสานสัมพันธ์กับครอบครัวของสามี ที่สำคัญนางเป็น provider ในความสัมพันธ์นี้ จึงรู้สึกสบายใจที่จะเป็นคนตัดสินใจอะไรหลายอย่างในการคบกัน

สาวอีกคนผิดหวังกับความรักมาหลายครั้ง พออายุเข้า 30 ก็เลิกตามหา Mr. Right ประจวบเหมาะกับหันมาเป็นโอตะนักร้องเครือจอห์นนี่พอดีเลยตัดสินใจทุ่มเทความรักทางนี้ดีกว่า เพราะนักร้องหรือตัวการ์ตูนไม่มีทางนอกใจ!

ส่วนสาวคนนี้วางแผนอย่างดีหลังเจอยอดชายจอมเจ้าชู้ผู้คบซ้อนทีละ 10 คน นางหันไปหาคนที่จะไม่นอกใจชัวร์ๆ อย่างฮิคิโคะโมะริ! (คนที่มีปัญหาในการเข้าสังคม เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน) แต่ก็เจอปัญหาใหม่คือผู้ชายไม่มีงานทำเป็นเรื่องเป็นราว แถมไม่คิดเรื่องอนาคต สุดท้ายเลยตัดสินใจเลิก แต่ยังมิวายต้องช้ำใจอีกรอบ เพราะมารู้ทีหลังว่าแม้แต่พี่ฮิคิฯ ของเราก็แอบปันใจให้กับสาวเปรี้ยวที่เจอกันในเน็ต!

เอาล่ะ สาวไทยตั้งใจอ่านตรงนี้ดีๆ…ในขณะที่สาวญี่ปุ่นดูจะมีความสุขดีกับความโสดและอิสรภาพ แต่ผู้ชายญี่ปุ่นกลับอยากโดนเป็นเจ้าของ อยากมีคนจับจองนะ! ผลสำรวจบอกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของหนุ่มโสดยังอยากแต่งงาน แถมยังอยากแต่งงานไวขึ้น! สมัยก่อนหนุ่มๆ บอกว่าอยากแต่งงานตอนอายุ 35 ตอนนี้ลดลงมาเหลือ 30 แล้ว

กราฟแสดงสัดส่วนเงื่อนไขสำคัญที่มองหาในตัวคู่สมรส (1.นิสัย 2.สภาพทางการเงิน 3.หน้าที่การงาน 4.รูปร่างหน้าตา 5.ประวัติการศึกษา 6.ความสามารถในการดูแลบ้านและการเลี้ยงลูก 7. ความเข้าใจในหน้าที่การงาน (ของฝ่ายชาย) 8.ความสนใจร่วมกัน)

เงื่อนไขในการเลือกคู่ที่สำคัญอันดับ 1 คือนิสัย อันดับ 2 คือความสามารถในการดูแลบ้านและการเลี้ยงลูก ถ้าใครมั่นใจว่าคุณสมบัติครบ มีเงินก้อนพร้อมจัดงาน ขอให้มากอบกู้สถานการณ์ที่ญี่ปุ่นโดยด่วน

เพราะตอนนี้ถ้าไปถามผู้หญิงญี่ปุ่นว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร นี่คือคำตอบยอดฮิตในปัจจุบันล่ะ

“ความฝันในตอนนี้คือการได้แชร์บ้านอยู่กับเพื่อนตอนแก่ ตอนนี้ฉันวางแผนเก็บเงินเผื่ออนาคตไว้แล้วค่ะ”

*ข้อมูลทางสถิติและกราฟจากรายงานประจำปี 2013 ของ Ministry of Health, Labour and Welfare (ข้อมูลรายงานปีที่ใหม่กว่านี้ไม่ได้ทำสำรวจเรื่องการแต่งงาน) และรายงานการสำรวจ Marriage and Childbirth in Japan Today: the Fifteenth Japanese National Fertility Survey 2015 โดย National Institute of Population and Social Security Research

ภาพประกอบ ฟาน.ปีติ

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา