“ห้องให้นมคือการทำให้เห็นว่าแม่ก็มีตัวตน” คุยกับ แจม-ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายที่อยากเห็นห้องให้นมแม่เป็นสวัสดิการ

“ห้องให้นมแม่คือเรื่องของการทำให้คุณแม่สามารถออกมาใช้ชีวิตปกติได้โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะมีที่ที่จะจัดการตัวเองไหม”

เพียงแค่ประโยคสั้นๆ ของมนุษย์แม่คนหนึ่งที่มีต่อห้องให้นมในที่สาธารณะ ก็สะท้อนถึงการจัดการของรัฐได้หลากหลายมิติ

ใครๆ ก็บอกว่าเด็กคืออนาคตของชาติ และคาดหวังว่าคนเป็นแม่ต้องดูแลลูกน้อยให้เติบโตได้อย่างดี หนึ่งในนั้นคือการมีแม่เลี้ยงดูและให้ลูกได้กินนมแม่จนถึง 6 เดือน และการกินนมผงเป็นเรื่องผิดบาป ในขณะที่สวัสดิการลาคลอดมีเพียงแค่ 3 เดือน ยังไม่นับรวมกับการที่ไม่มีห้องให้นมในที่สาธารณะอย่างเพียงพอซึ่งทำให้การให้นมหลังจากนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก

แจม-ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ทนายความอิสระด้านสิทธิมนุษยชน และว่าที่ ส.ส. เขตสายไหม จากพรรคก้าวไกล จึงออกมาผลักดันประเด็นสวัสดิการห้องให้นมแม่อย่างจริงจัง ในฐานะแม่ลูกสองที่เข้าใจความยากลำบากของการเลี้ยงลูกอ่อนด้วยตัวเอง

ก่อนหน้านี้หลายคนอาจรู้จักเธอในนามของนักขับเคลื่อนประเด็น #ทนายความหญิงมีสิทธิสวมใส่กางเกงไปศาล นอกจากการรณรงค์แล้ว เธอยังใส่กางเกงไปว่าความในศาลทุกครั้งนานกว่า 1 ปี จนเราเริ่มได้ยินข่าวดีว่าคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศมีวินิจฉัยให้สภาทนายความและเนติฯ แก้ข้อบังคับการแต่งกายไม่ให้เลือกปฏิบัติทางเพศแล้ว เมื่อ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามก็ยังคงต้องติดตามการแก้ข้อบังคับนี้ต่อไป

เช่นเดียวกับการต่อสู้เพื่อห้องให้นมในครั้งนี้ เธอตั้งใจส่งเสียงเพื่อบอกว่าแม่ทุกคนมีสิทธิใช้ชีวิตของตัวเอง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เรานัดเจอกับทนายแจม เพื่อพูดคุยถึงห้องให้นมแม่ เราเริ่มต้นด้วยคำถามธรรมดาๆ อย่างจุดเริ่มต้นของการผลักดันห้องให้นมแม่ การเกิดขึ้นของสวัสดิการห้องให้นมแม่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร แล้ววิธีการใดที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง

แต่หลังจากใช้เวลาไปไม่นาน บทสนทนาก็นำพาเราไปถึงเรื่องต่างๆ อย่างไม่ตั้งใจ ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำจากการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลรัฐ สุขภาพและจิตใจที่เปลี่ยนไป ก่อนที่เรื่องทั้งหมดจะผูกโยงไปถึงคุณค่าของคนเป็นแม่

บ่ายวันหนึ่ง บนพื้นที่ของสวนสาธารณะเล็กๆ เพียงแห่งเดียวในเขตใหญ่ของกรุงเทพฯ อย่างสายไหม เธอรอเราอยู่ที่นั่นพร้อมจะเล่าให้เราฟัง

1

ใครจะรู้ว่านอกจากการเป็นทนายแล้ว แจมยังสวมหมวกอีกหลายใบไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นแม่ เจ้าของเพจ มี้มี้รีวิว และล่าสุดคือผู้สมัคร ส.ส. เขตสายไหม

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้แจมเดินทางเข้าสู่สายการเมืองคือการเป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2556 ในโครงการนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และได้เข้าไปจับงานสิทธิผู้บริโภค หลังจากหันหลังให้กับอาชีพมั่นคงอย่างการเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้กับบริษัท Big 4

จนกระทั่งปี 57 หลังสอบได้ตั๋วทนาย การทำงานช่วยเหลือประชาชนทำให้เธอรู้สึกสนุกและจับพลัดจับผลูเข้ามาเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนในช่วงเหตุการณ์รัฐประหาร การดีลกับทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าเพื่อช่วยเหลือลูกความที่โดนคดีขณะนั้นทำให้เธอรู้สึกท้าทายและชอบการเมืองมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เธอเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่างคดีการเมืองคดีแพ่งและคดีอาญา

“คดีการเมืองมันจะต่างจากคดีแพ่ง อาญาทั่วไป คือการไม่ได้สู้ด้วยกฎหมาย บางอย่างกฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้ บางอย่างกฎหมายและคำพิพากษาก็ตายตัว ก็เลยรู้สึกว่ามันท้าทายมาก พอทำทนายมาได้ 7-8 ปี ก็เริ่มรู้สึกว่าอยากทำอะไรที่มันชาเลนจ์ขึ้น ที่รู้สึกว่ามันแก้ปัญหาได้มากกว่านี้ 

“โอเค เป็นทนายมันแก้ได้ แต่มันมีกรอบของกฎหมายอยู่ อย่างเราจะยื่นเรียกพยานเข้ามาในศาลพยานก็ต้องมีความเกี่ยวข้องกับคดี หรือบางทีเรามีหมายเรียกพยานเป็นประยุทธ์ ศาลก็ไม่เรียกให้ สุดท้ายมันก็ทำได้แค่กรอบกฎหมาย และอำนาจที่เขาจะให้เราทำได้”

จนกระทั่งเธอมีโอกาสได้ทำงานกรรมาธิการอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนเห็นทางว่าการเมืองสามารถแก้ปัญหาภาพใหญ่ได้ นอกจากเรื่องของกระบวนการยุติธรรมแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แจมลง ส.ส. คือเรื่องสวัสดิการแม่และเด็กที่นักการเมืองไม่ค่อยพูดถึง

“เราพยายามไปคุยกับนักการเมืองหลายคนที่เรารู้จัก เขาไม่อินเรื่องนี้กันเลย ผู้ชายบ้าง หรือแม้แต่ ส.ส.หญิงก็จะมีลูกน้อย หรือถ้ามี เขาก็จะมีพี่เลี้ยงหรือเข้าถึงอะไรพวกนี้ได้มากกว่าคนธรรมดา เขาจะมองว่าเรื่องแม่ลูกอ่อนเป็นคนกลุ่มเล็ก เป็นเรื่องชนชั้นกลางขายไม่ได้และไม่แมสพอจะพูดเป็นประเด็น

“ก่อนหน้านี้เราก็อยากจะฝากไปกับ ส.ส.ในพรรคก้าวไกล เราคงไม่เข้าไปยุ่งหรอก เขาก็พูดมาคำหนึ่งว่าในเมื่อพี่อินขนาดนี้ พี่มาทำเองเลย มาช่วยกันทำ เราก็เออ ก็ดีเนอะ ก็ได้ ก็มาลง ส.ส.เขต ได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่แค่มาลงก็รู้สึกว่าก็ได้มาชิมลางการเป็นผู้แทนดูบ้าง” 

แล้วจากนั้นแจมจึงเริ่มจุดประเด็นนี้ผ่าน change.org เพื่อเป็นตัวแทนให้กับคุณแม่ธรรมดาที่ยังต้องเลี้ยงดูลูกด้วยตัวเอง

ย้อนกลับไปเด็กหญิงแจมคือคนที่กล้าลุกขึ้นมาส่งเสียงต่อความไม่ปกติมากที่สุดคนหนึ่ง ตั้งแต่ประถมจนถึงมหาวิทยาลัย ทุกครั้งที่เธอสงสัยจะเอ่ยถามอย่างตรงไปตรงมา หรือแม้แต่แก้ไขเรื่องนั้นด้วยตัวเองตามกติกา

“พ่อเราเป็นคนพเนจรมากเลย” เธอเล่าพลางหัวเราะถึงพ่อที่เป็นทนาย สมัยเด็กครอบครัวแจมเจอกับมรสุมใหญ่จากการเป็นหนี้ 10 กว่าล้าน ทำให้เธอต้องย้ายโรงเรียนบ่อยๆ 

 “ช่วงเวลาย้ายโรงเรียนมา 6-7 ที่ เราเป็นคนที่ชอบตั้งคำถามกับทุกที่ที่เราไป เราไม่ได้เป็นเด็กที่เชื่องในระบบการศึกษาไทยเท่าไหร่ เราจะเป็นเด็กที่โดนคุณครูแอนตี้ตลอดว่าชอบตั้งคำถาม ทำไมต้องมีปัญหากับการสอน เพราะพ่อจะปลูกฝังให้เราชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก 

“เราลงประธานนักเรียนตั้งแต่ประถม เพราะเคยถามครูว่าทำไมถังขยะมันน้อยจัง ครูก็บอกว่าต้องเบิกงบประมาณ คุณต้องไปเป็นประธานนักเรียนก่อน ถึงจะทำเรื่องเบิกถังขยะได้ เราก็ไปลงสมัครเลย นโยบายง่ายมาก จะมีถังขยะเพิ่มขึ้นกี่อัน ก็ได้รับเลือกขึ้นมา พอย้ายไปอีกที่หนึ่ง ทำไมห้องน้ำมันถึงไม่มีกระจก เขาก็บอกว่าต้องไปสมัครประธานนักเรียนสิถึงจะเบิกงบมาทำกระจก เราก็ไปลงสมัคร นโยบายก็มีกระจกห้องน้ำอยู่ทุกที่ เอาจริงๆ เรารู้สึกว่ามันง่ายๆ อย่างนั้นเลย เราเป็นเด็กแบบนี้ ไปที่ไหนก็จะเป็นหัวหน้าห้องบ้าง จะเป็นประธาน เพราะรู้สึกอยากจัดการปัญหา”

2

ไม่ต่างจากเรื่องห้องให้นม เธอออกมาส่งเสียงเพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเรื่องปกติเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไข เพราะเป็นปัญหาที่ไม่ว่าเธอหรือแม่ในประเทศนี้ต้องเจอ เหมือนเรื่องถังขยะไม่พอ หรือไม่มีกระจกห้องน้ำในโรงเรียน 

แจมเห็นความเหลื่อมล้ำของการตั้งท้องตั้งแต่การเลือกโรงพยาบาล นอกเหนือไปจากการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชนแล้ว แม้แต่ภายในโรงพยาบาลรัฐเองก็ยังมีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน นั่นจึงทำให้เธออยากออกมาเป็นตัวแทนของแม่ธรรมดา เพื่อบอกว่าทุกคนควรเข้าถึงสิทธิและได้รับการปฏิบัติที่ดีเหมือนกัน

“ตอนคลอดคนแรกก็คือน่ากลัวมาก” เธอเล่าย้อนกลับไปตอนการคลอดครั้งแรกในโรงพยาบาลรัฐ “เราโดนพยาบาลดุเหมือนการคลอดลูกนี่เราไปทำอะไรผิดมา ด่าสารพัด ตอนคลอดมันก็เจ็บอยู่แล้ว เราก็ร้องจนพยาบาลบอกว่าร้องทำไม เงียบ! อย่างนี้เลย เราก็เก็บความเจ็บด้วยการไม่ร้อง กลัวโดนด่า อยากจะเถียงกับพยาบาลแต่มันไม่มีแรงเถียง เป็นประสบการณ์คลอดที่แบบทำให้เรารู้สึกแย่ขนาดนั้น

“พอท้องที่ 2 เราก็ยังฝากโรงพยาบาลรัฐนะ ที่เดิมด้วย แต่ฝากพิเศษ เขาจะเรียกชื่อเราเปลี่ยนไปทันทีเลย มีหมอมาดูแลพิเศษ แล้วตอนที่คลอดพยาบาลที่มาดูแลเราคือคนเดิม เราจำได้ แต่ครั้งนี้เขาดูแลเราดีมากเลย คือเราเข้าใจคำว่าพริวิเลจเลยอะ นี่คือพริวิเลจในโรงพยาบาลรัฐด้วย ในขณะที่อีกห้องก็โดนตะโกนด่าเหมือนที่เราโดน นี่มันคือสิ่งที่เราเจอ

“นักการเมืองคนอื่นก็คงจะมีเงินที่จะเข้าโรงพยาบาลเอกชน ก็จะได้รับการดูแลอีกแบบหนึ่ง แต่มันไม่ควรจะเป็นแบบนี้ ทุกคนควรจะได้รับสิทธิที่จะเข้าถึงเหมือนกัน” เธอย้ำ

การที่แจมท้องโดยยังออกมาทำงานและเดินทางด้วยตัวเองเหมือนปกติ จึงเห็นว่าทั้งสถานที่ราชการหรือการเดินทางยังไม่มีการซัพพอร์ตคนท้องที่ดีเท่าที่ควร ยังไม่นับคนชรา และคนพิการ ที่ไม่สามารถจัดการอะไรได้ด้วยตัวคนเดียว

“เราสืบคดีสุดท้ายก่อนจะคลอดเราท้องได้ 8 เดือน 2 สัปดาห์ ท้องใหญ่มาก แต่มันทำให้เราเจอปัญหาเยอะเหมือนกันนะ อย่างศาลไม่มีลิฟต์ในการขึ้นไปบนบัลลังก์ ตอนเราท้อง 8 เดือน เราตะคริวกินอยู่ตรงบันไดศาล ถ้าเคยเห็นบันไดมันจะสูงและชันทุกที่เลย ไม่รู้ทำเพื่ออะไรเหมือนกัน การเดินขึ้นบันไดศาลเป็นสิ่งที่เรากลัวทุกครั้ง เราต้องค่อยๆ ประคองตัวเอง มีกระเป๋าเอกสารส่วนตัว 1 ใบ แล้วก็ท้องที่มันใหญ่มาก”    

เธอเล่าต่อไปว่าช่วงเวลาที่ยากลำบากในการใช้ชีวิตไม่ได้เริ่มต้นแค่ตอนท้องเท่านั้น แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือหลังคลอดลูกแล้ว โดยเฉพาะห้องให้นมซึ่งเป็นปัญหาที่เธอทุกข์มากที่สุด

“หลังคลอดมาปุ๊บ เราก็ไม่เคยเห็นความสำคัญของการลาคลอดมาก่อน เราก็คิดว่า 3 เดือนมันก็น่าจะพอ เราเคยคิดแบบแย่มากๆ เลยนะ พวกลาคลอดแม่งดีว่ะ ได้นอนอยู่บ้านเลี้ยงลูกเฉยๆ การได้อุ้มลูก เห็นลูกมีความสุข เราก็เลยทำงานจนชนวันลาคลอด เพราะอยากเก็บวันลาคลอดไว้ ซึ่งมันคือ 3 เดือนที่ทรมานมากในชีวิต ไม่เคยคิดว่าในชีวิตต้องมาทรมานอะไรขนาดนี้ เคยคิดว่ากูไม่น่าท้องตั้งแต่แรก มันคือการที่เราไม่ได้นอนตั้งแต่คืนแรกที่เราท้องเลย”

นับตั้งแต่วันแรกที่คลอดเด็ก แจมต้องให้นมเด็กทุก 2 ชั่วโมง ทั้งยังต้องอุ้มเด็กหลังให้นมเพื่อให้เรอออกมาอีกกว่าครึ่งชั่วโมง หากเด็กยังไม่หลับก็ต้องกล่อมอีกสักพัก ก่อนจะครบ 2 ชั่วโมงที่เธอต้องให้นมอีกครั้ง วนไปจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนเป็นของตัวเอง

“มันเหนื่อยถึงขนาดเราไม่ใส่เสื้อเลย เราเปลือยหน้าอกไว้ 24 ชั่วโมง เพราะมันเหนื่อยที่ต้องมาถอดเสื้อใส่เสื้อ เราก็นอนเปลือยๆ ตอนนั้นเรารู้สึกอนาถตัวเองมากเลยว่า นี่กูเป็นอะไรวะเนี่ย เหมือนเครื่องผลิตนม ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าเราเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอด พอไปอ่านก็เลยรู้ว่ามันเป็นภาวะที่อยากตัดลูปชีวิตอะ เหมือนเรานอนแล้วเด็กก็มากินนมเรา แล้วก็วนมาใหม่ มันเหมือนเป็นลูปอะไรสักอย่างที่เราอยากตัดฉึบ ให้มันจบลูปนี้”

หน้าที่ของแม่ไม่ได้จบเพียงแค่หลังลาคลอด 3 เดือนเท่านั้น ช่วงเวลาสั้นๆ นี้ยังคงไม่เพียงพอต่อการให้นมเด็กทารก ดังนั้นแม้ว่าเหล่าแม่ๆ จะต้องกลับไปทำงานหลังวันลาคลอดหมด แต่พวกเธอก็ยังต้องคอยปั๊มนมไว้เสมอ ในทางกลับกันหากไม่ปั๊มออกความเจ็บปวดก็ย้อนกลับมาที่ร่างกายของคนเป็นแม่ 

“ตอนเราว่าความที่ศาล แล้วเราก็อยู่แบบนี้ (งอตัว) จนศาลถามว่าเป็นอะไร คือ ถ้า 2 ชั่วโมงแล้วไม่ได้เอาออกมันจะเหมือนช็อต แล้วถ้าเรายังอดทนไปต่อสักประมาณ 3-4 ชั่วโมง เสื้อเราจะเปียกเลย เพราะว่านมมันจะพุ่งออกมา แล้วมันจะแข็งแบบถ้าใครมาแตะจะร้องไห้เลย เราเคยอดทน 8 ชั่วโมง เพื่อที่จะกลับบ้านไปให้ลูกดูด ลูกดูดไม่ได้เลย 

“เราต้องจัดการกับมันด้วยการไปหาผ้าชุบน้ำร้อนประคบๆ จนกว่ามันจะอ่อนลง แล้วค่อยบีบ หรือถ้ามันหนักมากถึงขนาดเป็นไวท์ดอต หรือหัวนมมันตัน ต้องเอาเข็มถูกับแอลกอฮอลล์ แล้วต้องจิ้มออกทีละอัน จนครบ แล้วเลือดก็จะออกมานิดหน่อย นมก็จะเป็นสีชมพู แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยๆ ดีขึ้น แต่ถ้าไม่เกิดการไวท์ดอตจะเกิดอะไรขึ้น คือเป็นฝี ซึ่งถ้าเป็นฝีต้องผ่าตัดอย่างเดียวเท่านั้น ฟังแล้วกลัวการมีลูกเลยใช่มั้ย” เธอหันมาถามเราพลางหัวเราะ 

ขณะนั้นเราได้แต่นึกว่าคนเป็นแม่ต้องอดทนกันมากขนาดไหนกัน

3

ในเมื่อไม่มีห้องให้นมทำให้แม่ๆ ต้องลำบากขนาดนี้ แล้วนมแม่ยังจำเป็นอยู่แค่ไหน ในปัจจุบันที่มีนมผงหลากหลายสูตรผลิตขึ้นมาทดแทน

แจมบอกว่าจริงๆ แล้วเธออาจไม่ใช่สายนมแม่ลัทธิ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเข้าใจข้อจำกัดของคนเป็นแม่ในประเทศนี้ที่ถูกคาดหวังว่าต้องให้นมแม่เท่านั้น แต่ขณะเดียวกันกลับไม่มีอะไรมาช่วยซัพพอร์ต ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการลาคลอด หรือห้องให้นม

“เราเข้าใจนะ เพราะเราเห็นคนที่ให้ความสำคัญกับการให้นมลูก อย่างลูกคนโต เราให้นมเขาถึง 2 ขวบ กับคนเล็กให้นมได้ไม่ถึงขวบดี คนเล็กป่วยบ่อยมาก คนโตแทบไม่ป่วยเลย เพราะว่าความแข็งแรงมันต่างกัน แต่ก็ไม่อยากให้แม่ทุกคนเครียดว่ากูให้นมผงแล้วกูเลว มันไม่ใช่ รัฐบาลมันห่วยต่างหาก สวัสดิการมันไม่มีไง คุณก็ต้องเอาตัวเองไว้ก่อน เราจะบอกเพื่อนทุกคนว่าถ้าไม่ไหว ให้นมผงไปเลย เพราะสุดท้ายถ้าแม่เครียดลูกจะลำบาก ลูกจะได้รับความเครียดจากแม่ไปด้วย”

นอกจากนี้แจมยังบอกอีกว่าคนเป็นแม่ในประเทศนี้ไม่ต่างอะไรจากหนังเรื่อง ‘คิมจียอง เกิดปี 82’ ที่เล่าถึงชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตภายใต้ความกดทับทางเพศ ผู้หญิงถูกคาดหวังว่าต้องเลี้ยงลูกอย่างเดียว จนรู้สึกว่าชีวิตมันไม่มีคุณค่าอย่างอื่นแล้วนอกจากเป็นแม่ให้เด็กคนหนึ่ง ส่งผลให้ตัวตนของคุณแม่ฟูลไทม์ค่อยๆ หายไปช้าๆ แต่จริงๆ เขาก็คือคนหนึ่งที่ต้องการการยอมรับ

“เรื่องห้องให้นมลูกมันคือเรื่องนี้เลย ทำให้เห็นว่ากูมีตัวตนนะ รัฐให้ความสำคัญกับกูนะ กูไม่ใช่แค่ที่ผลิตน้ำนมให้กับเด็กคนหนึ่งนะ แต่รัฐก็เห็นความสำคัญ รัฐก็มีห้องให้นมให้ฉัน เรารู้สึกดี เวลาเราอยู่ในห้องให้นมของต่างประเทศเรารู้สึกว่าทำไมรัฐเขาถึงคิดถึงเราขนาดนี้ เรามีคุณค่าในการเลี้ยงเด็ก 

“ในขณะที่อยู่ไทยเราเคยนั่งร้องไห้ตอนให้นมลูกในห้องน้ำ” เธอระบายออกมาถึงประสบการณ์ที่ฝังใจในอดีต “ตอนนั้นเรารู้สึกแบบทำไมกูต้องมานั่งให้นมลูกในห้องน้ำที่เหม็นมาก แล้วเราก็นั่งร้องไห้เพราะสงสารลูก แล้วก็สงสารตัวเองที่แบบทำไมกูต้องมาอยู่ที่นี่ ทำไมลูกกูต้องมากินนมในที่ที่มันเหม็นมาก มันสกปรก มากินนมบนชักโครก เพราะว่าข้างนอกไม่มีที่ให้เรา 

“แล้วเราก็นั่งร้องไห้เพราะพอเราจะล้างก้นให้ลูกตรงอ่างล้างมือ เราก็จะโดนคนมองด้วยสายตาแบบว่ากูไร้ความรับผิดชอบมากเลย เป็นแม่ที่แย่มาก ทำไมถึงไม่ล้างก้นในชักโครก เราก็เลยเอาลูกไปล้างก้นที่ชักโครก แล้วลูกเราก็หล่นไปที่ชักโครก แล้วเราก็นั่งร้องไห้ว่าทำไมวะ ทำไมลูกกูต้องมาอยู่ในประเทศเฮงซวยด้วย ทำไมลูกเราต้องตกลงไปในชักโครก” 

4

ถ้าห้องให้นมหมายถึงการยอมรับตัวตนการมีอยู่ของแม่ในสังคม แล้วห้องนี้ควรมีอยู่ที่ใดบ้าง? สนามบิน ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะ ที่ทำงาน สถานที่ราชการ หรือโบกี้รถไฟ

คำตอบคือทุกที่ที่กล่าวมา

แจมเล่าว่าการพาลูกน้อยออกไปนอกบ้านแต่ละครั้งเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยหน่าย เพราะเธอต้องเตรียมของสำหรับเปลี่ยนแพมเพิร์สหรืออุปกรณ์ให้นมหลากหลายชิ้น ในขณะที่ต่างประเทศที่มีทั้งห้องเปลี่ยนแพมเพิร์สและห้องให้นมทุกที่ ก็ทำให้แม่ๆ กล้าออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงลูกมากขึ้น 

“ห้องให้นมมันทำให้คนทุกคนสามารถใช้ชีวิตปกติได้ เพื่อให้คุณแม่ที่ทำงานก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้ สิงคโปร์ลงเครื่องปุ๊บออกจาก gate นิดเดียวมีห้องให้นมแล้ว แค่ไม่กี่ก้าว เราเข้า ตม.ปุ๊บเราเดินหาห้องให้นมก่อนเลย แล้วป้ายใหญ่มาก ป้ายทางเดินทุกอัน นอกจากจะบอกทางไปห้องน้ำหรือลิฟต์แล้ว ยังมีห้องให้นม 

“หรือเราไปต่างจังหวัดของไต้หวันด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูง มีโบกี้ห้องให้นมเลย โบกี้นี้เปิดเข้าไปจะมีเฉพาะผู้หญิงให้นมลูกเท่านั้น เข้าไปจัดการตัวเองได้ แล้วทุกสถานีมีห้องให้นมเยอะมาก มีป้ายตลอดทาง ฉันสามารถให้นมได้ทุกที่ คือใช้ชีวิตปกติมาก ไม่ต้องกังวลว่าพอมีลูกมันจะลำบาก”

ตัดภาพกลับมาที่ไทยหลังจากที่เธอต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ ด้วยพื้นที่จำกัดจึงทำให้เธอใช้พื้นที่ในครัวเป็นที่ปั๊มน้ำนมแทน 

“เราทำงานศูนย์ทนายความ น้องๆ ทนายผู้ชายทุกคนเห็นนมเราหมดแล้วอะ น้องๆ ผู้ชายบอกเราว่านมเจ้ เหมือนนมแม่แล้วอะ เพราะเราปั๊มในห้องครัวที่ทุกคนเข้ามาได้ แรกๆ เราก็เขินแหละ คนเข้ามาก็หลบๆ แอบบีบหน่อย หลังๆ ไม่แอบบีบแล้ว มึงจะเดินเข้าห้อง มึงเอาเลย กูจะปั๊มนม อะไรแบบนี้”

หากพื้นที่จำกัดเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่มีห้องให้นม ตึกใหญ่ๆ อย่างรัฐสภาก็น่าจะเป็นที่ที่มีห้องให้นมมากที่สุด แต่แจมเผยว่ารัฐสภามีห้องให้นมเพียงแค่ห้องเดียวเท่านั้น แถมยังต้องเดินเข้าไปในห้องฉุกเฉินด้วย

“พอเราไปถึงถามใครก็ไม่มีใครรู้ว่าห้องให้นมอยู่ที่ไหน ยามยังงงเลย ห้องให้นมคืออะไรครับ พนักงานประชาสัมพันธ์บอกไม่มีนะคะ เราก็เลยบอกว่าไม่มีได้ยังไง มันมีออกข่าวว่ารัฐสภาให้ความสำคัญกับคุณแม่มีห้องให้นม ออกข่าวใหญ่โต มีการตัดริบบิ้นกันเว่อร์วังมาก เราก็ไปตามหา ไม่มีป้ายบอกว่าที่นี่มีห้องให้นม แล้วไปเจออยู่ในห้องฉุกเฉินของรัฐสภา ก็ต้องเข้าไปอีกเพื่อจะไปห้องให้นม ห้องก็ใหญ่นะ มีโซฟา ก็คือมีครบนั่นแหละ แต่แค่อยู่ลึก ทำให้การเข้าถึงยาก ความจริงมันต้องง่ายกว่านั้น รัฐสภาควรจะมีทุกชั้นและควรมีป้ายบอกด้วยซ้ำ ที่ไหนมีห้องละหมาดหรือห้องศาสนาได้ ที่นั่นก็ต้องมีห้องให้นมได้เหมือนกัน”

แล้วห้องให้นมจริงๆ แล้วควรมีหน้าตาอย่างไร? 

แจมบอกว่าคนอาจจะติดภาพห้องให้นมของห้างที่ใหญ่อลังการ จนทำให้การผลักดันเรื่องห้องให้นมถูกคนตั้งคำถามว่าต้องใช้งบมากมาย แต่ความจริงแล้วห้องให้นมไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าผ้ากั้น โซฟานุ่มๆ และโต๊ะอย่างละหนึ่งตัว เพื่อทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากที่สุดเนื่องจากมีผลต่อการไหลของน้ำนมด้วย 

ที่ผ่านมาเราจึงเห็นบางที่อาจใช้ห้องเปล่าๆ ในตึกดัดแปลงเป็นห้องให้นม หรือบางประเทศที่ต้องการความสะอาด ในห้องนั้นก็อาจจะเพิ่มไมโครเวฟ หรือเครื่องกดน้ำอุ่น สำหรับสเตอริไลซ์ป้องกันน้ำนมปนเปื้อน

“พอเราสนใจมากๆ เราก็มานั่งค้นว่าเมืองไทยมีที่ไหนบ้าง ทำไมเมืองไทยถึงไม่มี แล้วทำไมต่างประเทศมี เราก็เลยรู้ว่าเขาตราเป็นกฎหมาย บางประเทศตราอยู่ในกฎหมายแรงงาน บางประเทศตราอยู่ในกฎหมายสาธารณสุขและสวัสดิการ เขาก็บังคับไปเลยว่าห้องให้นมพับลิคต้องมีอยู่แล้ว สถานที่ราชการต้องมีเพราะว่าคนไปใช้เยอะ 

“ส่วนกฎหมายของเอกชนก็มีบังคับ บางทีก็ base on พนักงานผู้หญิงที่มีอยู่ในนั้น ต้องมีห้องให้นมอย่างน้อย 1 ห้อง บางประเทศก็บอกว่า 20 คนขึ้นไปต้องมี 1 ห้อง หรือ 50 คนขึ้นไปมี 1 ห้อง บางประเทศจำกัดจากพื้นที่การทำงาน ไม่ได้ดูที่พนักงานผู้หญิง เช่น ถ้าพื้นที่มีเกินกี่ตารางเมตรขึ้นไป ควรมีห้องให้นม 1 ห้อง ซึ่งห้องให้นมที่บางที่จะมีกฎหมายบังคับเลยว่าต้องมีขนาดเท่าไหร่ จริงๆ 1×1 ก็ทำได้แล้วนะ แค่ครึ่งนี้ก็ทำได้แล้วนะ” 

เธอว่าพลางกะให้ดูจากศาลาทรงกลมในสวนสาธารณะที่เรานั่งคุยกัน ซึ่งจัดว่าเล็กมากทีเดียว

5

สุดท้ายแล้วการผลักดันห้องให้นมให้เกิดขึ้นได้จริงๆ สำหรับแจมมองว่าต้องมากกว่าการขอความร่วมมือ หากแต่เป็นการขยับขึ้นไปสู่การตรากฎหมาย

“พอเป็นเรื่องห้องให้นม เขาบอกว่าคนที่จะมาอินด้วยมันน้อย พวกแม่ๆ เขาก็จะขลุกอยู่กับลูกนั่นแหละ เขาก็จะแบบฉันทรมานมาก ก็ไม่มีเวลามานั่งตามเท่าไหร่ แต่เราคิดว่าต่อให้ไม่มีคนสนใจเราก็ควรจะต้องทำ 

“เราค้นกฎหมายต่างประเทศมา เรื่อง พรบ.การให้นมในพื้นที่สาธารณะ กฎหมายเกี่ยวกับการลาคลอด หรือการมีห้องให้นมในเอกชนต่างๆ เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องขับเคลื่อนตอนที่เราเป็นรัฐบาล ตอนที่เราเป็น ส.ส. หรือรัฐสภาจริงๆ สิ่งพวกนี้มันจะแบบขอความร่วมมือมันก็ไม่ยั่งยืน ขอความร่วมมือให้เขต เขาก็บอกทำยาก จะเอางบที่ไหน แล้วทำไมต้องมีด้วยล่ะ เพราะมันไม่มีอะไรที่เป็นกรอบบังคับ สิ่งพวกนี้มันต้องเกิดในการเมืองภาพใหญ่จริงๆ 

“หรือในอนาคตมีการกระจายอำนาจท้องถิ่น ถ้าท้องถิ่นมีงบประมาณ ท้องถิ่นก็ทำได้ แต่มันก็ต้องมีกฎหมายที่เป็นตัวคุมก่อน ว่าทำไมต้องมี แล้วก็บังคับว่าทำไมต้องมี ถ้ามายด์เซ็ตผู้บริหารเขาเห็นว่ามันไม่สำคัญ ระดับล่างเขาก็ไม่เห็นว่ามันสำคัญ มันต้องเกิดจากข้างบนลงมาจริงๆ”

น่าสนใจว่ากระแสย้ายประเทศกลายเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของหลายๆ คน ที่อยากออกไปใช้สวัสดิการที่มีพร้อมอยู่แล้วของต่างประเทศ อาจจะง่ายกว่าด้วยซ้ำหากเทียบกับการลุกขึ้นมาเรียกร้องสวัสดิการด้วยตัวเอง แล้วทำไมเธอจึงยังทำเรื่องนี้อยู่ เราก็ได้คำตอบที่น่าสนใจจากเธอ

“​การย้ายประเทศมันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ก็ประเทศนี้มันแก้ไขไม่ได้แล้วต้องย้ายประเทศ แต่อีกมุมคือเราก็ไม่อยากมองประเทศที่เราอยู่ถอยไปกว่านี้ เราก็ยังรู้สึกว่าอะไรที่มันทำให้มันดีขึ้นได้ 

“เราก็จะเห็นความหวังมากกว่ายุคก่อนนะ เราจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น เข้าใจเรื่องสิทธิมากขึ้น เหมือนเรื่องสิทธิลาคลอด เราพูดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดนด่าร้อยเปอร์เซ็นต์เลย ไม่มีใครเข้าใจ ไม่มีใครเห็นด้วย แต่พอมายุคนี้พอพูด เห็นด้วยประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ น้อยมากที่จะไม่เห็นด้วย 

“กลายเป็นว่าเราเห็นความเปลี่ยนแปลง สังคมพร้อมจะเปลี่ยนแปลงแล้ว มันมีไทม์มิ่งของมัน ถ้าสังคมพร้อมจะเปลี่ยนแปลง สิ่งที่พรรคก้าวไกลบอกคืออย่ารอการเปลี่ยนแปลง แต่จงเป็นส่วนหนึ่งของมัน เรารู้แหละว่ามันจะเปลี่ยนแปลง เรายืนมองให้มันพัฒนาก็ได้ แต่อีกมุมหนึ่ง ทำไมเราไม่เข้ามาพัฒนาเลย”

“จริงๆ เราก็แพลนเรื่องลูกเหมือนกัน ลูกเราจะอยู่ต่างประเทศก็ได้ แต่อีกมุมถ้าเขาอยากอยู่ไทย เราก็ต้องพัฒนาประเทศไทยไปด้วย เพื่อให้วันหนึ่งต่อให้เขาไปเมืองนอกหรือไม่ไป เขาก็ยังมีชอยส์ในการตัดสินใจได้ ไม่ใช่ว่าต้องไปเมืองนอกอย่างเดียว เราว่ามันต้องขับเคลื่อนประเทศไปด้วยได้ เหมือนเป็นเฮือกสุดท้าย ทำให้ประเทศนี้มันน่าอยู่”

ทันทีที่สิ้นสุดบทสนทนา ฝนก็เริ่มโปรยปรายและบรรยากาศเริ่มมืดลง ระหว่างที่รอให้ฝนซาเธอเริ่มคุยกับคนที่มาสวนเล็กๆ แห่งนี้ ถึงปัญหาทั่วไปไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะไม่พอ การเดินทางยากลำบาก หรือแม้แต่หลอดไฟดวงเล็กๆ ซึ่งดับอยู่บนศาลาที่เรายืนอยู่นี้ ก่อนที่แจมจะขอตัวกลับและบอกลากันที่ป้ายรถเมล์ที่มีรถเมล์สายเดียวของสายไหมวิ่งอยู่ ท่ามกลางรถติดหนัก

นั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมทุกครั้งที่แจมออกมาพูดเรื่องอะไรสักเรื่องก็มักจะกลายเป็นเรื่องที่คนทั่วไปเข้าใจได้เป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้มาจากคนที่อยู่ในปัญหานั้นจริงๆ

ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้แม่ทุกคนเข้าถึงห้องให้นมได้ที่: https://bit.ly/3Wjozsf

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

พิชญุตม์ คชารักษ์

ชีวิตหลักๆ นอกจากถ่ายภาพ ชอบชกมวยเป็นชีวิตจิตใจ ฟังเพลงที่ดนตรีฉูดฉาดกับเบียร์เย็นๆ