“ทะเลหรือภูเขา?” ไม่ใช่คำถามสำหรับบาหลีแน่ๆ อย่างน้อยก็ในทริปนี้ของเรา
เพราะไม่ว่าจะเป็นภูเขาสูงวิวอลังการหรือทะเลสีครามหาดสวยๆ เกาะทางตอนใต้ของอินโดนีเซียแห่งนี้ก็มีให้หมด และคงน่าเสียดายเอามากๆ ถ้ามันจะถูกหลงลืมไปท่ามกลางความหวาดกลัวฤทธิ์เดชของภูเขาไฟอากุง ซึ่งตอนนี้ได้สงบลงเรียบร้อยแล้ว ดอกไม้บูชาตามแท่นบูชาเทพเจ้าที่มีอยู่ทุกหัวระแหงของเกาะก็ยังคงสดใสอย่างเคย
ในวันที่ลมฤดูร้อนพัดชื่นฉ่ำ เราไปถึงที่นั่น และเริ่มต้นด้วยทะเล
อูลูวาตู: เยือนวิหารศักดิ์สิทธิ์ ดูทะเลแซฟไฟร์ และลิงที่มองไม่เห็น
หลังจากแลนดิ้งสู่สนามบินนานาชาติเดนปาซาร์ เราก็มุ่งหน้าไปที่อาหารเป็นอย่างแรก หลังจากชิม Local Bowl ของร้านอาหารขึ้นชื่อไปนิดหน่อย และพบว่าอาหารท้องถิ่นอินโดนีเซียยังคงไม่ใช่ทาง ด้วยความอิ่มแค่พอประมาณ เรามุ่งหน้าต่อไปยังอูลูวาตู (Pura Luhur Uluwatu) วัดฮินดูที่อยู่ร่วมกับทะเลและหน้าผาสูงอย่างกลมกลืนกัน
อูลูวาตูคือหนึ่งในวัดเก่าแก่ที่สุดในเกาะบาหลี ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงที่ประชิดติดทะเล โดยที่นี่ถูกสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้เทพเจ้าแห่งท้องทะเล ด้วยความที่อินโดนีเซียนับถือศาสนาฮินดูเป็นศาสนาแรกๆ ความเชื่อเรื่องเทพเจ้าที่คอยปกปักรักษาสรรพสิ่งจึงฝังรากแน่น มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับการสักการะเป็นจำนวนมาก เมื่อเวลาผ่านไปจึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
คำเตือนแรกจากไกด์เมื่อมาถึงอูลูวาตูก็คือ “ระวังลิงให้ดี” เราเลยเก็บหมวกและแว่นกันแดดอย่างมิดชิด แต่ตลกดีที่ลงไปแล้วก็ไม่เห็นเงาลิงสักตัว แม้แต่สระน้ำที่สร้างไว้ให้ลิงคลายร้อนก็ยังไม่มีลิงมาใช้บริการ แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าครั้งก่อนที่มาที่นี่ เราก็ไม่เจอลิงสักตัวเหมือนกัน
เราเคยมาที่บาหลีครั้งหนึ่งเมื่อสองปีก่อน แต่อูลูวาตูก็ยังไม่น่าเบื่อ ไม่ใช่แค่ทัศนียภาพของมัน แต่เป็นผู้คนหลากสัญชาติที่มาเยือนแลนด์มาร์กแห่งนี้ ด้วยความที่ทางวัดยังเคร่งเรื่องการเคารพสถานที่ ผ้าถุงหลากสีจึงถูกแจกให้นักท่องเที่ยวที่สวมกระโปรงหรือกางเกงขาสั้น แต่ที่สุดแล้วคนที่ทำการบ้านมาดีย่อมชนะ เพราะกลุ่มคุณป้าชาวจีนที่มาพร้อมกับชุดกระโปรงยาวกรุยกรายประดับดอกไม้สีสันสดใสท้าแดด ก็สามารถเซย์โนผ้าถุงสีมิกซ์ยาก แล้วเข้าวัดไปพร้อมกับ total look ที่เตรียมมาพร้อมสลับกันถ่ายรูปกันอย่างเพลิดเพลินจำเริญใจ
ในบริเวณเดียวกันเราสามารถพบเห็นชาวฮินดูที่เข้ามาสักการะเทพเจ้า ปะปนกับชาวอินโดนีเซียศาสนาอื่นที่มาเยือนในฐานะนักท่องเที่ยว เราจึงเห็นภาพสังคมสหวัฒนธรรมของเขาได้ชัดเจน
แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดสำหรับอูลูวาตู และทำให้เรามุ่งหน้าไปหาโดยเร็วก็คือวิวจากแนวกำแพงวิหาร ที่มองลงไปเห็นเท็กซ์เจอร์สวยงามของน้ำทะเลสีแซฟไฟร์ที่เข้ากระทบกับโขดหินสีดำ ผุดเป็นฟองคลื่นสีขาว เป็นลวดลายของทะเลที่สวยที่สุดเท่าที่เคยเห็น มองกี่ทีก็ไม่เบื่อ เราก้มมองอยู่อย่างนั้น นานจนรู้ตัวอีกทีก็ต้องย้ายที่เสียแล้ว
หาดจิมบารัน: ตะวันตกสีชมพู และความโรแมนติกทันทีที่ฟ้ามืดลง
เราย้ายมาที่หาดจิมบารัน (Jimbaran Beach) เพื่อจัดการกับซีฟู้ดเซ็ตมหึมา โดยอาหารทะเลเป็นหนึ่งในของขึ้นชื่อของบาหลี แต่ถ้าเป็นเราคนไทยที่คุ้นชินกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสแซ่บคงไม่ประทับใจเท่าไหร่ เพราะน้ำจิ้มสีจัดๆ ของเขาดูท่าจะร้อนแรง แต่พอชิมแล้วมีแต่เค็มปะแล่มๆ กับหวานนิดๆ เท่านั้น หามีรสเผ็ดหรือเปรี้ยวใดๆ ไม่ จึงเป็นอีกครั้งที่เราต้องทำใจกับอาหารแล้วเสพสุขกับวิวตรงหน้าแทน
หาดจิมบารันอยู่ทางตะวันตกของเกาะบาหลี ขึ้นชื่อในการชมตะวันตกดิน (ขณะที่ทะเลบริเวณใกล้ๆ กันนั้นขึ้นชื่อเรื่องคลื่นแรงเหมาะกับการเล่นเซิร์ฟ) น่าเสียดายที่วันนั้นมีเมฆเยอะจนไม่เห็นดวงอาทิตย์ เห็นแต่แสงสีทองรางๆ ด้านหลังเมฆ เราได้แต่แงะซีฟู้ดกินหงอยๆ ทำใจว่าคงไม่ได้เห็นวิวที่เขาว่า แต่แล้วพอเวลาผ่านไปอีกหน่อยก็มีซีนพิเศษของวันเกิดขึ้นจนได้ แสงจากดวงอาทิตย์ย้อมสีริ้วเมฆทั้งหมดที่บังซีนอยู่ ให้กลายเป็นสีชมพูสวยจับใจ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงฉานในที่สุด และพอฟ้ามืดลง บรรดาโรงแรมตามแนวเขาและโต๊ะอาหารทั่วทั้งหาดก็พร้อมใจกันเปิดไฟส่งเสริมบรรยากาศอย่างยอดเยี่ยม กลายเป็นชั่วเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงที่เป็นอีกเมจิกโมเมนต์ง่ายๆ ในชีวิต
ตีร์ตากังกา: ความสงบงามของสายน้ำ กับปลาคาร์พร้อยพันตัว
วันต่อมาได้นอนเต็มอิ่มและตื่นเช้ามาสูดบรรยากาศสดใส ไม่ต้องรอช้า วันนี้เรามุ่งหน้าขึ้นภูเขา และจุดหมายแรกของวันก็คือวิหารเลมปูยัง (Pura Lempuyang Temple) ที่มีเสาคู่ของวิหารเป็นจุดชมวิวระดับท็อป มองไกลออกไปจะเห็นภูเขาไฟอากุงอันยิ่งใหญ่ที่แผลงฤทธิ์เอาไว้เมื่อปี 2017 จนหลายคนกลัวเกรง แต่ปัจจุบันมันได้สงบลงแล้ว และด้วยความที่ทางวัดยังคงไว้ซึ่งความเคารพองค์เทพเจ้า ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนอย่างเราจึงถูกห้ามขึ้นวัด (เขาถามมา เราก็ตอบไปอย่างมึนๆ ว่าเป็นค่ะ) เลยไม่มีอะไรจะเล่ามากนัก ขอเลื่อนผ่านไป
จุดต่อมาที่เรารักมากก็คือ ตีร์ตากังกา (Tirta Gangga) สถานที่แห่งความสงบร่มเย็นที่เหมาะกับการนั่งจิบชากับฟังดนตรีพื้นเมืองอินโดนีเซียเป็นที่สุด
ตีร์ตากังกาเคยเป็นทรัพย์สินของราชวงศ์ Karangasem ที่ปัจจุบันเสื่อมอำนาจไปแล้ว ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1948 เป็นสวนน้ำบนภูเขาที่ชาวบาหลีเชื่อว่าใครที่ได้อาบน้ำจากน้ำพุข้างบนนี้จะได้รับความเยาว์วัยกลับไป (Gangga คือคำเดียวกับ คงคา ที่แปลว่าสายน้ำ) เมื่อไปถึงเราก็พบกับสวนน้ำกว้างใหญ่ ทำจากแท่นหินกลมๆ เรียงรายเอาไว้ให้คนเดินเข้าไปได้ ในน้ำที่ใสแจ๋วเต็มไปด้วยปลาคาร์พสีสดตัวเขื่องฝูงใหญ่ ที่คุ้นชินกับผู้คนและพร้อมจะว่ายไปหาใครก็ตามที่เดินไปบนแท่นหิน
รอบๆ สระเต็มไปด้วยรูปปั้นและสิ่งปลูกสร้างแบบ ‘บาหลี้บาหลี’ กับสวนสวยแบบทรอปิคอลจ๋า เมื่อบวกกับฟ้าสีสวย ลมเย็นๆ และเสียงดนตรีพื้นเมืองจากเด็กๆ ที่บรรเลงอยู่ด้านในสุดของสวน เราก็รู้สึกได้ถึงความสงบขั้นสุดชวนนิพพาน
และขณะที่อินๆ อยู่นั้น ฝนก็ตกลงมา เปลี่ยนอารมณ์ให้กลายเป็นเหงาไปเสียเฉยๆ ก็เป็นอันว่าย้ายที่
ชิมสละสดๆ ถึงสวน ชมการร่ายรำขยับตาเร็ว-แรง แบบ Baliness Dance
ชาตินี้เคยกินแต่สละไซเดอร์ที่เป็นรสชาติในขนมหวาน เราเลยได้ชิมสละที่แท้จริงครั้งแรกที่บาหลีนี่เอง แถมไกด์ท้องถิ่นที่พาเราขึ้นภูเขาไปยังเคลมว่าสละที่นี่อร่อยที่สุดในโลกอีกต่างหาก (ไม่เคยชิมสละของที่อื่นเลยไม่สามารถเคลมต่อให้ได้)
บนภูเขาสลับซับซ้อน เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านสิเบตัน (Sibetan Village) ที่มีสวนสละขนาดใหญ่อันลือชื่อของบาหลี วันนั้นที่เราไปเยือนพร้อมกับคณะสื่อฯ และตัวแทนเอเจนซีท่องเที่ยว จึงมีโอกาสได้ชมการร่ายร่ำแบบโบราณจากเด็กๆ ในหมู่บ้านด้วย ระหว่างดื่มด่ำกลิ่นหอมเฉพาะตัวและรสหวานเจี๊ยบของสละ ก็เลยได้เพลินกับการรำอันทรงพลัง ขยับคอ ไหล่ เอวต้องเป๊ะ ล็อกท่าต้องแน่น และมีจุดเด่นคือการขยับลูกตาให้เร็วแรง เห็นชัด ประกอบกับการแต่งหน้าแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นตัวละครต่างๆ ในความเชื่อ เช่นนก Garuda หรืออื่นๆ แล้ว เลยเป็นการแสดงที่ดูเพลินและประทับใจมาก (คืนนั้นกลับโรงแรมก็แอบลองซ้อมท่าหน้ากระจกแล้วพบว่ายากโคตรๆ)
ชิมสละจนลิ้นร้อนกันไปแล้ว ก็ถึงเวลาเยี่ยมชมสวนสละ นี่เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่เราเห็นต้นสละ ลักษณะคล้ายต้นปาล์มเตี้ยๆ แต่เต็มไปด้วยหนามแหลมในทุกส่วนของกิ่งก้าน เดินไปก็เพลินๆ ดี แต่อีกใจก็เหมือนซ้อมลงนรกขุมต้นงิ้ว การเดินเซเพราะง่วงของเราก็เรียกเสียงหวีดจากเพื่อนร่วมทริปได้หลายที ยังดีที่รอดมาได้ มีแค่โดนยุงกัดเท่านั้น
พ้นออกจากสวนสละไป เราเดินเล่นไปตามแนวป่าจนถึงจุดชมวิวของหมู่บ้าน เรายืนมองไปสุดลูกหูลูกตา ที่เห็นทั้งหมดคือป่าและทะเล เท่านี้จริงๆ หากแต่มันดูยิ่งใหญ่มาก และความตั้งใจของชาวบ้านที่เตรียมพื้นที่ เตรียมการแสดง พาเราชมสวนสละ เล่าวิถีชีวิตให้เราฟัง ก็ยิ่งทำให้พบว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสำคัญกับพวกเขามากจริงๆ
สู่ใต้น้ำกับกิจกรรม Seawalker
ลงจากภูเขา วันต่อๆ มาเราก็ได้เต็มอิ่มกับทะเล และก็เป็นอีกครั้งที่อินโดนีเซียทำให้เราไปถึงสุดขอบของคำว่ากลัวตาย โดยครั้งก่อนหน้าเราไปที่คาวาอีเจี้ยน ซึ่งเป็นการไต่เขาลงไปยังก้นภูเขาไฟที่คุ้งไปด้วยไอกำมะถันแต่วิวสวยลืมตาย ครั้งนี้เรามาที่ทะเลซึ่งห่างจากชายฝั่งแค่ประมาณ 500 เมตร (ล่ะมั้ง) น้ำลึกก็แค่ 4.5 เมตร แต่คนที่กลัวเรื่องแรงดันน้ำและการหายใจไม่ออกอย่างเราก็ตัวสั่นจนต้องขอลงเป็นคนสุดท้าย
ที่นั่นเป็นหาดของโรงแรม Puri Santrian เรานั่งเรือออกไปจนถึงสถานีเล็กๆ ของกิจกรรม เราค่อยๆ ก้าวลงบันไดเพื่อลงสู่ใต้น้ำ เห็นน้ำสีเขียวครามกับแรงดันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกอัดอัด ส่งสัญญาณออกไป หวังจะขอขึ้นมาก่อน ไกด์ก็บอกให้ลองเอามืออุดจมูกแล้วดันลมออกมาทางปาก ขยับกรามซ้ายขวา กลืนน้ำลาย ในที่สุดก็ผ่านไป เราลงไปต่ออีกหน่อยก็ถึงพื้นทะเล ปลาเริ่มมาทักทายจนลืมความกลัวเป็นปลิดทิ้ง เมื่อไปถึงข้างล่างก็มีราวให้จับเดินไปเรื่อยๆ
พอลงไปถึงพื้นทะเลเท่านั้นแหละ รู้สึกเหมือนเราได้ก้าวผ่านอะไรบางอย่าง (ทั้งที่จริงนี่คือกิจกรรมโคตรเบสิกสำหรับคนที่ชอบอะไรง่ายๆ) นั่นล่ะ เราสวมหมวกออกซิเจนที่ถูกออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ และมีหน้าตาเหมือนหมวกอวกาศ แล้วจากนั้นก็เป็นเรื่องของทะเล ปลาหลากชนิดอยู่ตรงหน้าแค่คืบเดียว เห็นลวดลายของมันชัดเจน
เจอปะการังพุ่มใหญ่พุ่มหนึ่ง เราคิดจะมองมันเงียบๆ แต่ไกด์ก็ส่งสัญญาณให้เราลองจับสัมผัสพวกมันดู นุ่มหยุ่น และไม่เหมือนอะไรที่เคยจับมาชั่วชีวิต ใกล้ๆ กันมีปลาผีเสื้อสีดำตัวเล็ก ปลาการ์ตูนเล็กน้อยมาทักทาย เข้าใจความรู้สึกของเงือกน้อยแอเรียลขึ้นมาเบาๆ
เป็นระยะเวลาไม่ได้นานมาก แต่ครั้งแรกใต้ท้องทะเลแห่งนี้คงเป็นอะไรที่เราไม่ลืม—บาหลีครั้งที่สองนี้ก็เช่นกัน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการท่องเที่ยวจะทำลายบาหลีไปไม่น้อย และไม่แน่ว่าการคำรามของภูเขาไฟอากุง ในทางหนึ่งอาจจะเป็นการให้บาหลีได้พักหายใจหายคอ จัดการกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม และทบทวนเรื่องวิถีการท่องเที่ยวของเกาะ เพื่อจะกลับมาครองตำแหน่งสวรรค์แห่งดินแดนทรอปิคอลได้ดังเดิม สิ่งที่เราพบเห็นในทริปนี้คือความตั้งใจของคนท้องถิ่นที่พร้อมจะสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงวัฒนธรรมกันมากขึ้น และความตั้งใจอันแรงกล้าของพวกเขานั้น ก็ทำให้เราอยากชวนใครก็ตาม
ถ้ามีเวลา ไปบาหลีเถอะ
ขอขอบคุณ AirAsia ที่เอื้อเฟื้อการเดินทางและทริปสนุกๆ บนเกาะบาหลี และเที่ยวบินตรงไป-กลับ จากสนามบินดอนเมือง สู่สนามบินนานาชาติเดนปาซาร์
ภาพ ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย