BEAMS–a very short introduction : ประวัติศาสตร์ BEAMS และแฟชั่นญี่ปุ่นฉบับกะทัดรัด

ชายหนุ่มผู้หลงไหลของแท้

Osamu Shigematsu คือชายหนุ่มผู้หลงใหลเสื้อผ้าอเมริกัน แตกต่างไปจากเพื่อนคนอื่นๆ ที่แม้ว่าจะสวมใส่เสื้อผ้าอเมริกันเหมือนกัน ทว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นก็เป็นเพียงเสื้อผ้าสไตล์อเมริกันที่ผลิตในญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่ใช่เสื้อผ้า ‘อเมริกันแท้ๆ’ ที่ผลิตในสหรัฐอเมริกาอย่างที่ชิเกมัตสึสวมใส่ มันเป็นช่วงต้นของทศวรรษ 1970 และคุณอาจสงสัยว่าชายหนุ่มคนนี้ไปหาเสื้อผ้าอเมริกันแท้ๆ ที่เขาหลงใหลหนักหนานี้มาจากไหน คำตอบคือ หนึ่ง–เขาไปไหว้วานให้นาวิกโยธินอเมริกันซึ่งตั้งฐานทัพเรืออยู่ที่เมืองซุชิ จังหวัดคานางาวะ ไปซื้อมาให้จากข้างในฐานทัพ และสอง–เขาโชคดีที่มีพี่สาวเป็นแอร์โฮสเตส ทำให้ตอนที่เขาอายุ 19 มีโอกาสได้เดินทางไปฮาวาย และกวาดซื้อเสื้อผ้าที่หาซื้อไม่ได้ที่ญี่ปุ่นกลับมาจากที่นั่น แน่นอนว่าชิเกมัตสึไม่ได้พยายามทำทั้งหมดนี้แค่เพราะเขาอยากจะใส่มันแค่คนเดียว มันมีโอกาสทางธุรกิจที่เขามองเห็นอยู่ มันมีความเป็นไปได้ที่จะขายเสื้อผ้าอเมริกันแท้ๆ พวกนี้ให้กับคนญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น

Etsuzo Shitara คือเจ้าของบริษัทผลิตลังกระดาษ Shinko Inc. หลังจากที่ผลกำไรของบริษัทเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่การส่งออกของญี่ปุ่นเฟื่องฟูอย่างมาก แต่แล้ววิกฤตน้ำมันโลกในปี 1973 ก็ส่งผลให้บริษัทของชิตาระแทบจะขายลังกระดาษไม่ออกจนเสี่ยงว่าจะต้องปิดตัวหากยังไม่สามารถหาทางแก้สถานการณ์ของบริษัทได้ และในเมื่อลังกระดาษดูไม่น่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดไปอีกพักใหญ่ๆ จะทู่ซี้สู้ต่อในสังเวียนเดิมก็ดูป่วยการ ท้ายที่สุดชิตาระจึงตัดสินใจแสวงหาธุรกิจใหม่ที่จะสร้างผลกำไรให้กับบริษัทได้มากกว่าลังกระดาษเดิมๆ นั่นเองจึงนำไปสู่การร่วมมือกันระหว่างชิเกมัตสึและชิตาระ เมื่อฝ่ายแรกเสนอโมเดลธุรกิจที่จะขายเสื้อผ้าอเมริกันแท้ๆ ให้กับวัยรุ่นในย่านฮาราจูกุ ฝ่ายหลังที่พอได้ยินไอเดียนี้เข้าก็ตกลงเล่นด้วยในทันที บ้าจี้ถึงขั้นยอมขายที่ดินหลายผืนที่เขามีเพื่อไปลงทุนซื้อที่ดิน 20 ตารางเมตรท่ามกลางเสียงคัดค้านของทุกคนในครอบครัวเพื่อจะไปเปิดเป็นร้านขายเสื้อผ้าอเมริกันเล็กๆ ในย่านฮาราจูกุ ชื่อของร้านเสื้อผ้าแห่งนี้คือ ‘American Life Shop BEAMS’

BEAMS
ภาพ American Life Shop BEAMS

เปิดศักราชใหม่

“ในช่วงปี 1970s น่ะ อเมริกาเป็นอะไรที่ดูห่างไกลจากเรามากๆ ในชีวิตประจำวันเราแทบจะไม่สามารถแตะต้องเสื้อผ้าหรือรองเท้าอเมริกันได้เลยด้วยซ้ำ แต่อยู่ๆ ร้าน BEAMS ก็ปรากฏขึ้นพร้อมกับสินค้าอเมริกันเหล่านี้” Katsuhiko Kitamura สไตลิสต์แห่งนิตยสาร POPEYE เล่าย้อนความทรงจำของเขาในช่วงที่ BEAMS เพิ่งจะเปิดใหม่ๆ ซึ่งก็จริงอย่างที่คิตามูระว่า เพราะกว่าที่ BEAMS จะได้สินค้าแต่ละชิ้นมาชิเกมัตสึจำเป็นจะต้องบินไปสหรัฐอเมริกาด้วยตั๋วเครื่องบินราคาถูกที่ได้จากพี่สาวพร้อมกระเป๋าว่างๆ หลายใบเพื่อจะไปขนบรรดาเสื้อผ้าและรองเท้าจากซีกโลกหนึ่งกลับมาขายในอีกซีกโลกหนึ่ง

เป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1976 ที่ร้าน BEAMS สาขาแรกเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยที่สินค้าซึ่งวางจำหน่ายในร้านก็แปลกประหลาดอย่างที่วัยรุ่นญี่ปุ่นไม่ค่อยจะคุ้นเคย มีตั้งแต่เสื้อยืดลายมหา’ลัยในอเมริกา (collegie t-shirt) กางเกงทรงกว้างสไตล์ช่างทาสี (painter’s pants) สเก็ตบอร์ด ไปจนถึงรองเท้าไนกี้ ในช่วงแรกๆ BEAMS ยังเป็นที่รู้จักแค่เฉพาะคนในวงการแฟชั่นเท่านั้น แต่ไม่กี่เดือนให้หลัง BEAMS ก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ด้วยยอดขายสินค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะแผ่ว ชิตาระและชิเกมัตสึเลยตัดสินใจเปิด BEAMS สาขาสองที่ย่านชิบูย่า ตามหลังสาขาแรกในเวลาเพียงไม่นาน

ต่อมาในปี 1978 แฟชั่นสไตล์ Ivy ซึ่งหมายถึงการแต่งตัวสไตล์นักเรียนมหา’ลัยเอกชนชั้นนำของอเมริกาอย่าง Harvard และ Princeton ก็ได้กลายมาเป็นกระแสในวงการแฟชั่นญี่ปุ่น จน BEAMS เห็นโอกาสจากเทรนด์นี้เลยเปิดร้านอีกสาขาชื่อ BEAMS F. ในย่านฮาราจูกุ โดยเลือกวางจำหน่ายสินค้าจากแบรนด์ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มนักเรียนมหา’ลัยอเมริกันโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น Brooks Brothers, Lacoste และ L.L.Bean

BEAMS
ภาพแฟชั่นสไตล์ Ivy ในญี่ปุ่น

การมาถึงของ BEAMS ส่งผลกระทบต่อแฟชั่นในญี่ปุ่นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นที่ครั้งหนึ่งเคยสวมใส่เสื้อผ้าสไตล์อเมริกันที่ผลิตในญี่ปุ่น แต่พอพวกเขาได้สัมผัสเสื้อผ้าแท้ๆ จากอเมริกา วัยรุ่นญี่ปุ่นจึงละทิ้งเสื้อผ้าที่ผลิตในญี่ปุ่นซึ่งพวกเขามองว่าเป็นของปลอม และหันมาสวมใส่เสื้อผ้าของแท้ที่วางจำหน่ายในร้าน BEAMS แทน ยิ่งเมื่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลับมาเข้มแข็งอีกครั้งในช่วงปลายปี 1970 และประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น จึงไม่มีวัยรุ่นคนไหนอยากจะใส่ของเลียนแบบที่ผลิตในท้องถิ่นอีก มันเป็นยุคที่ใครๆ ก็พากันอยากใส่เสื้อผ้าอเมริกันแท้ๆ กันทั้งนั้น

ในวันที่ถูกท้าทาย

ในหนังสือ Ametora: How Japan Saved American Style ของ W. David Marx เล่าว่า ปรากฏการณ์ที่วัยรุ่นญี่ปุ่นนิยมซื้อสินค้าแฟชั่นราคาแพงกันมากขึ้นได้นำไปสู่การเกิดขึ้นของนิยามใหม่ที่ใช้เรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า ‘kurisutaru-zoku’ (crystal tribe) หมายถึงวัยรุ่นที่เกิดหลังวิกฤตน้ำมันโลกซึ่งไม่เคยรับรู้ถึงความลำบาก เพราะถือกำเนิดขึ้นพร้อมความมั่งคั่งของประเทศ กล่าวให้ชัดขึ้นคือ kurisutaru-zoku คือคำวิพากษ์ต่อเจเนอเรชั่นใหม่ที่หมกมุ่นอยู่กับคุณค่าทางวัตถุ 

ในช่วงเวลานั้น นิตยสารแฟชั่น POPEYE กลายเป็นนิตยสารที่โดนผู้ปกครองโจมตีอย่างรุนแรง เพราะถูกมองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ความคลั่งไคล้สินค้าแฟชั่นแพงๆ กลายเป็นบรรทัดฐานปกติในกลุ่มวัยรุ่น กระทั่ง Kohei Kitayama หนึ่งในนักเขียนของ POPEYE ถึงขนาดกล่าวว่า “POPEYE คือนิตยสารที่ลั่นไกให้เกิดกระแสวัตถุนิยมในสังคมญี่ปุ่น” 

BEAMS
ภาพปกนิตยสาร MEN’S CLUB ปี 1979 ฉบับ ‘What is PREPPIE?’

อีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันในช่วงเวลานี้คือการเกิดขึ้นของ ‘Preppie’ เทรนด์การแต่งตัวที่หากมองเผินๆ ก็ชวนให้เข้าใจว่าคือแฟชั่นสไตล์ Ivy ทว่าก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ด้วยความที่ไอเทมต่างๆ ที่ Preppy และ Ivy สวมใส่จะคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง ถึงอย่างนั้นก็อาจกล่าวได้ว่า การแต่งตัวสไตล์ Ivy จะค่อนจริงจังกว่าภายใต้โทนสีเสื้อผ้าที่เคร่งขรึม ในขณะที่ Preppie จะรีแลกซ์กว่าหน่อย ด้วยการแต่งตัวที่ไม่เนี้ยบเท่า และโทนสีที่ดูจะสว่างสดใสกว่า และถึงแม้ว่า Preppie จะเป็นสไตล์การแต่งตัวที่หยิบยืมมาจากอเมริกัน ทว่าหนึ่งในสิ่งที่ทำให้สไตล์ Preppie ในสหรัฐอเมริกาจะเป็นเสื้อผ้าสำหรับนักศึกษาในรั้วมหา’ลัยเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ญี่ปุ่น แฟชั่นสไตล์ Preppie คือเสื้อผ้าของวัยรุ่นในเมือง หากคุณสามารถย้อนอดีตกลับไปญี่ปุ่นในช่วงปี 1980 ทุกๆ วันอาทิตย์คุณจะพบวัยรุ่นจำนวนมากที่ฮาราจูกุ ชิบูย่า หรือย่านช้อปปิ้งใหญ่ๆ ยืนจับกลุ่มรวมตัวกันในเสื้อผ้าสไตล์ Preppie ไม่ว่าจะเป็นเบลเซอร์ตัวโคร่งใหญ่ลายตาราง เสื้อเชิ้ตออกซ์ฟอร์ด และบ้างก็คาดหูกระต่ายขนาดเล็กไว้ตรงช่วงคอ

Preppie คืออีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความคลั่งไคล้กระแสนิยมของวัยรุ่นญี่ปุ่นในยุค 80s ที่พุ่งสูงถึงขีดสุด จนอาจกล่าวได้ว่า การช้อปปิ้งเสื้อผ้าได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของพวกเขา ความน่าสนใจอีกอย่างที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์นี้คือ การเกิดขึ้นของคำว่า ‘city boy’ ซึ่งนิตยสาร POPEYE เป็นผู้นิยามขึ้นมา Hirofumi Kurino อดีตพนักงาน BEAMS และผู้ร่วมก่อตั้ง UNITED ARROWS หนึ่งใน selected shop ชื่อดังของญี่ปุ่นเล่าว่า “ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ปารีส ลอนดอน มิลาน หรือโตเกียว เหล่านี้ล้วนเป็นเมืองทั้งหมดใช่ไหมล่ะ ก่อนหน้านี้น่ะ เรามีเพียงแนวคิดเรื่อง ‘ประเทศ’ (country) กับ ‘ชาติ’ (nation) เท่านั้น แต่ในยุคนั้นน่ะ ‘เมือง’ (city) กลายมาเป็นหน่วยที่สำคัญกว่าชาติไปแล้ว นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ที่เราเรียกว่า ‘โลกาภิวัตน์’” 

ในความหมายของ Kurino 1980s เป็นทศวรรษที่เศรษฐกิจโลกเริ่มจะเชื่อมต่อถึงกันอย่างเป็นรูปธรรม นิยามความเป็นชาติไม่ได้สำคัญเท่ากับการเมืองที่ถูกรับรู้ในฐานะ ‘จุดเชื่อมต่อ’ ทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่สินค้าจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจะขนส่งถึงกันได้สะดวกและง่ายดายขึ้นเท่านั้น ข้อมูลข่าวสารก็เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแฟชั่นที่เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน ในแง่นี้ นิยามของ city boy จึงหมายถึงวัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในเมืองอันเป็นพื้นที่ซึ่งจะสามารถรับรู้ข่าวสารจากทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยที่ภายใต้ความพยายามที่จะวิ่งให้ตามเทรนด์แฟชั่นโลก นิยามของแฟชั่นที่พวกเขารับรู้จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่เสื้อผ้าสไตล์อเมริกันอีกต่อไป แต่ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการรับรู้สไตล์แฟชั่นของวัยรุ่นในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปารีส ลอนดอน หรือมิลาน พูดอีกอย่างคือ การพยายามวิ่งไล่ตามแฟชั่นสไตล์อเมริกันได้ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลงไปจากการที่วัยรุ่นญี่ปุ่นเพ่งมองไปยังขอบฟ้าใหม่ที่ตื่นตาและหลากหลายกว่าเสื้อผ้าแบบคนอเมริกัน

ในปี 1981 BEAMS จึงได้เปิด International Gallery BEAMS ซึ่งตั้งอยู่บนชั้นสองของสาขาเดิม โดยที่ความแตกต่างระหว่าง BEAMS กับ International Gallery BEAMS คือ ในขณะที่ฝ่ายแรกจะขายสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ฝ่ายหลังจะเน้นเสื้อผ้าจากยุโรปซึ่งมีราคาที่สูงกว่ามากๆ หากคุณเดินขึ้นไปชั้นสอง คุณจะไม่เจอแบรนด์อเมริกันอย่าง Ralph Lauren และ Alden แต่คุณจะได้พบกับแบรนด์สัญชาติอังกฤษอย่าง Paul Smith และแบรนด์สัญชาติอิตาลีอย่าง Giorgio Armani แทน ทว่าในช่วงเวลาเดียวกับที่ BEAMS ได้เปิด International Gallery BEAMS หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่จะปฏิวัติวงการแฟชั่นญี่ปุ่นไปตลอดกาลก็ได้เกิดขึ้นอย่างพอดิบพอดี เหตุการณ์ที่ว่านี้คือ Rei Kawakubo แห่งแบรนด์ Comme des Garçons และ Yohji Yamamoto ได้เดบิวต์ผลงานของพวกเขาบนเวทีแฟชั่นที่ปารีส เมืองหลวงของแฟชั่นตะวันตก การปรากฏตัวของ Kawakubo และ Yamamoto ได้สั่นสะเทือนนิยามแฟชั่นของโลกตะวันตก และชักพาสายตาของชาวต่างชาติเหล่านั้นให้หันมาจับจ้องแฟชั่นจากดีไซเนอร์ญี่ปุ่นในฐานะคลื่นลูกใหม่

BEAMS
ภาพ International Gallery BEAMS ช่วงปี 1990

การแจ้งเกิดบนเวทีโลกของ Comme des Garçons และ Yohji Yamamoto ได้ก่อให้เกิดกลุ่มก้อนสาวกใหม่ๆ ที่เชิดชูดีไซเนอร์ทั้งสองนี้และนำมาซึ่งแฟชั่นสไตล์ใหม่ที่รู้จักในชื่อ ‘karasu-zoku’ (crow tribe) ที่หมายถึงเผ่าพันธ์อีกา จากการที่วัยรุ่นจำนวนมากหันมาสวมใส่เสื้อผ้าสีดำสนิทตั้งแต่หัวจรดเท้าตามสไตล์เสื้อผ้าของคาวาคูโบะและยามาโมโตะ ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่แปลกประหลาดอย่างที่สุดอีกครั้งหนึ่งของแฟชั่นญี่ปุ่น นั่นเพราะก่อนหน้านี้ การสวมใส่เสื้อผ้าสีดำสนิททั้งตัวจะเกิดขึ้นแค่เฉพาะในงานศพเท่านั้น ทว่า karasu-zoku กลับช่วงชิงความหมายของการแต่งดำให้กลายมาเป็นเสื้อผ้าในชีวิตประจำวันไปในที่สุด การมาถึงของ karasu-zoku และแฟชั่นสไตล์อาว็อง-การ์ดได้ส่งผลให้เสื้อผ้าสไตล์อเมริกันกลายเป็นแฟชั่นคร่ำครึตกกระป๋องไปโดยทันที วัยรุ่นในโตเกียวไม่ได้คำนึงถึงการพยายามเลียนแบบแฟชั่นต่างประเทศอีกต่อไป ทว่าพวกเขาเรียนรู้ที่จะพัฒนาสไตล์แฟชั่นที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง 

BEAMS
ภาพ karasu-zoku

ควบคู่ไปด้วยกันกับการเกิดขึ้นของเทรนด์ใหม่ BEAMS ก็ถูกรับรู้ว่าเป็นร้านขายเสื้อผ้าที่ดูล้าสมัยอย่างช่วยไม่ได้ ซ้ำร้าย ในปี 1986 แบรนด์แฟชั่นจากแฟชั่นดีไซเนอร์จากทั่วทุกมุมโลกยังได้หลั่งไหลเข้ามาเปิดช็อปในโตเกียวกันอย่างล้มหลาม แบรนด์อย่าง Jean Paul Gaultier, agnès b. และ Margaret Howell ต่างก็มีร้าน stand alone เป็นของตัวเอง จากที่ในครั้งหนึ่งเสื้อผ้าจากแบรนด์แฟชั่นต่างประเทศจะสามารถหาได้แค่เฉพาะบางร้านในโตเกียวเท่านั้น ทว่าตอนนี้ในย่านช้อปปิ้งอย่างฮาราจูกุ ชิบูย่า และโอโมเตะซันโดกลับแน่นขนัดไปด้วยแบรนด์แฟชั่นต่างประเทศจนไม่ใช่ของแปลก และสินค้าหายากอีกต่อไป 

BEAMS ไม่ใช่สถานที่เพียงแห่งเดียวที่จะสามารถหาซื้อเสื้อผ้าแฟชั่นใหม่ๆอีกต่อไป

หวนคืนสู่บัลลังก์

แม้ว่า BEAMS และแฟชั่นสไตล์อเมริกันจะดูตกเทรนด์ไปช่วงหนึ่ง แต่เมื่อได้ชื่อว่าเป็นแฟชั่น สิ่งใดที่เคยล้าสมัยไปแล้วก็ย่อมจะเวียนกลับมาอยู่ในกระแสได้อีกครั้งเสมอ มันเป็นช่วงปลายทศวรรษ 1980 หลังจากกลุ่มวัยรุ่นชุดดำยืนอยู่ที่จุดศูนย์กลางของแฟชั่นญี่ปุ่นหลายปี ที่อยู่ๆ ‘Amekaji’ (american casual) ก็กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง จากการที่วัยรุ่นยุคใหม่มองว่าแฟชั่นสไตล์ karasu-zoku นั้นแปลกประหลาด การย้อนกลับไปหาแฟชั่นสไตล์อเมริกันจึงคือความพยายามที่จะสร้างเส้นแบ่งที่แยกขาดพวกเขาออกจากแฟชั่นชุดดำ ด้วยเหตุนี้ Amekaji จึงหมายถึงการหวนกลับไปหาแบรนด์เสื้อผ้าอเมริกันอย่าง Brooks Brothers, Levi’s และ Nike อีกครั้ง จุดตัดที่สร้างความแตกต่างระหว่าง Amekaji กับ Preppie หรือ Ivy อยู่ตรงที่ว่า Amakaji จะมีความสปอร์ตกว่า และไม่เคร่งครัดเท่ากับสไตล์อเมริกันในยุคก่อนหน้า เช่น การเสื้อผ้าหลวมๆ พร้อมกางเกงวอร์มและรองเท้าผ้าใบ เหล่านี้ช่วยส่งให้ลุคของ Amekaji ดูคล่องแคล่วและไม่เป็นทางการสักเท่าไหร่นัก

กระแส Amekaji ส่งผลให้ BEAMS หวนคืนตำแหน่งกลับมาเป็นร้านยอดฮิตในกลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง BEAMS เองก็ได้ปรับเปลี่ยนจากร้านนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ไปสู่ร้านที่จะคัดเลือกไอเทมแฟชั่น (selected shop) ซึ่งตอบสนองกับความต้องการของตลาดที่ค่อยๆ ถอนตัวออกห่างจากการสวมใส่เสื้อผ้าของดีไซเนอร์ตั้งแต่หัวจรดเท้า ไปสู่การผสมผสานเสื้อผ้าแบรนด์ต่างๆ ด้วยรสนิยมของตัวเอง Hirofumi Kurino แห่ง UNITED ARROWS เล่าว่า “แนวคิดของแฟชั่นในตอนนั้นคือ คุณอยากจะสวมใส่เสื้อผ้าที่คุณอยากใส่ในแบบที่คุณอยากใส่ ซึ่ง selected shop ก็กลายเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยคัดเลือกเสื้อผ้าให้กับคุณ”

ต่อมาในปี 1988 Amekaji ก็ได้พัฒนาไปสู่สไตล์ที่ชัดเจนขึ้นนั่นคือ ‘Shibukaji’ (Shibuya casual) จากบรรดาเด็กๆ โรงเรียนเอกชนที่กลายเป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญในย่านชิบูย่า นิยามของ Shibukaji นั้นคล้ายคลึงกับ Amekaji อยู่มาก ถึงอย่างนั้นหลักคิดสำคัญของ Shibukaji คือการเลือกแบรนด์เสื้อผ้าที่เหมาะกับตัวคุณเสมือนว่าคุณไม่ได้พยายามหรือให้ความสำคัญกับเทรนด์แฟชั่นด้วยซ้ำ Shibukaji ได้ต่อยอดจิตวิญญาณของ Amekaji และกลายเป็นสไตล์ที่วัยรุ่นในโตเกียวให้การตอบรับอย่างล้นหลาม นั่นเพราะแฟชั่นได้กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น คุณไม่จำเป็นต้องมีเงินจำนวนมากเพื่อซื้อเสื้อผ้าดีไซเนอร์แพงๆ อีกต่อไป และแฟชั่นก็ไม่ใช่อะไรอื่นไกล แต่คือการสวมใส่เสื้อผ้าสบายๆ ในชีวิตประจำวัน ทศวรรษ 1990 BEAMS และร้าน selected shop อื่นๆ อย่าง UNITED ARROWS ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและทยอยเปิดสาขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยที่นิยามของร้าน selected shop ที่จะคอยคัดเลือกสินค้าใหม่ๆ มาให้ลูกค้าเรื่อยๆ ก็กลายเป็นจุดแข็งที่ช่วยให้ BEAMS ยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายที่จะยังมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาอยู่เสมอจนกระทั่งปัจจุบัน

BEAMS
ภาพ Shibukaji

BEAMS ในวันนั้น BEAMS ในวันนี้

1988 คือปีที่ชิตาระ อดีตประธานบริษัทผลิตลังกระดาษ Shinko inc. ได้ประกาศวางมือจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้ Yo Shitara บุตรชายของเขาขึ้นมาเป็นประธานของ BEAMS แทน ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมา อาณาจักรของ BEAMS ก็ไม่ได้โฟกัสอยู่แค่ตลาดเสื้อผ้าแฟชั่นอีกต่อไป แต่กระโดดไปบุกตลาดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดแผ่นเสียงผ่าน BEAMS Records และตลาดเฟอร์นิเจอร์และสินค้าภายในบ้านผ่าน BEAMS Modern Living และ bPr BEAMS

BEAMS
ภาพ BEAMS สาขาชิบูย่าในปัจจุบัน

ภายใต้ความยิ่งใหญ่ของ BEAMS ในปัจจุบัน น่าสนใจว่า หากเราย้อนมองกลับไปยังจุดเริ่มต้นของมัน BEAMS เริ่มต้นจากความหลงใหลแฟชั่นสไตล์อเมริกันของชายคนหนึ่งที่บ้าจี้ถึงขั้นยอมตีตั๋วเครื่องบินไปสหรัฐอเมริกาเพียงเพื่อจะได้มาซึ่งเสื้อผ้าอเมริกันแท้ๆ ที่หาไม่ได้ง่ายๆ ในยุคนั้น คงไม่เป็นการพูดเกินจริงหากจะบอกว่า โอซามุ ชิเกมัตสึ คือชายผู้วางรากฐานให้กับ selected shop ก่อนหน้าที่โลกจะรู้จักคำคำนี้ด้วยซ้ำ เป็นรสนิยมและความคลั่งไคล้ของเขาที่ปูทางให้ BEAMS กลายเป็น selected shop อันดับหนึ่งของญี่ปุ่นในปัจจุบัน คงต้องขอบคุณชิเกมัตสึและชิตาระที่ทำให้เรามี BEAMS ในวันนี้

BEAMS

อ้างอิง :

Ametora: How Japan Saved American Style – W. David Marx

BEAMS: Beyond Tokyo

Fashioning Japanese Subcultures – Toby Slade

Japanese Fashion: A Cultural History – Toby Slade

Japanese Fashion Cultures: Dress and Gender in Contemporary Japan – Masafune Monden

Japanese Fashion Designers: The Work and Influence of Issey Miyake, Yohji Yamamoto and Rei Kawakubo –  Bonnie English

BEAMS

grailed

heddles

AUTHOR