อินเทอร์เซ็กซ์ (intersex) เป็นเงาของกลุ่มตัวอักษรย่อ LGBTQIA มาโดยตลอด ก่อนปี 1990 เรื่องราวของอินเทอร์เซ็กซ์ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบผ่านวาทกรรมทางการแพทย์ มีงานวิจัยที่คำนวณสัดส่วนคร่าวๆ ว่ามีจำนวนคนที่เป็นอินเทอร์เซ็กซ์เพียง 1 คน จากจำนวนเด็กเกิดใหม่ 2,000 คน
ตั้งแต่ปี 1950 หมอจะแจ้งว่าอินเทอร์เซ็กซ์เป็นความผิดปกติทางเพศที่ควรได้รับการ ‘แก้ไข’ พ่อแม่ควรเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ ไม่ควรบอกให้ใครรู้แม้กระทั่งตัวเด็กเองเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา อินเทอร์เซ็กซ์มักผ่านการผ่าตัดนับครั้งไม่ถ้วนในวัยเยาว์เพื่อปรับปรุง ‘ความบกพร่อง’ นี้
อินเทอร์เซ็กซ์ในภาพจริง vs อินเทอร์เซ็กซ์ในภาพจำ
อินเทอร์เซ็กซ์คือบุคคลที่มีอวัยวะเพศและ/หรือโครงสร้างทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับการสืบพันธุ์แตกต่างไปจากเพศชายและเพศหญิง อินเทอร์เซ็กซ์ไม่ได้มีรูปแบบชัดเจนตายตัวเหมือนกันทุกคน ดีกรีความแตกต่างกระจัดกระจายหลายเฉดสี เช่น
อินเทอร์เซ็กซ์อาจเกิดมามีอวัยวะภายนอกเป็นเพศหญิง แต่ด้วยโครโมโซม XY ทำให้มีอัณฑะอยู่ภายในแทนที่จะเป็นรังไข่และไม่มีมดลูก
อินเทอร์เซ็กซ์อาจเกิดมาพร้อมโครโมโซมเพศหญิงและมีอวัยวะภายในแบบเพศหญิง แต่คลิตอริสขนาดใหญ่ยื่นออกมาจนดูเหมือนอวัยวะเพศชาย หรือในบางกรณีช่องคลอดก็ปิด ทำให้กายภาพภายนอกดูไม่เหมือนเพศหญิง
อินเทอร์เซ็กซ์อาจจะเกิดมาพร้อมโครโมโซมเพศชาย แต่อวัยวะเพศเล็กและถุงอัณฑะถูกแบ่งออกมาในลักษณะที่ดูเหมือนแคมของเพศหญิง
ความเชื่อผิดๆ ที่อินเทอร์เซ็กซ์ไม่ปลื้มคือ อินเทอร์เซ็กซ์มีทั้งอวัยวะเพศชายและอวัยวะเพศหญิง
จากความจริงทางการแพทย์สู่ความจริงของเนื้อตัวและร่างกาย
เหตุการณ์หลังปี 1990 เป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญสำหรับอินเทอร์เซ็กซ์ นักวิทยาศาสตร์สายสตรีนิยมชื่อ Anne Fausto-Sterling ตีพิมพ์บทความทางวิชาการที่ยอมรับการมีอยู่ของอินเทอร์เซ็กซ์ในสังคม สร้างแรงขับเคลื่อนจนเกิดการจัดตั้ง The Intersex Society of North America (ISNA) หรือสมาคมอินเทอร์เซ็กซ์แห่งทวีปอเมริกาเหนือ ขึ้นในปี 1993 การก่อตั้งสมาคมฯ อย่างเป็นทางการกระตุ้นให้อินเทอร์เซ็กซ์หลายคนกล้าออกมาแบ่งปันประสบการณ์ ลดความรู้สึกโดดเดี่ยวลงไปบ้าง แต่วงสนทนาก็ยังคับแคบอยู่เพียงแค่ในทวีปอเมริกาเหนือตามชื่อสมาคม
ข้ามมาอีกซีกโลก ประเทศออสเตรเลียเริ่มตื่นตัวเรื่องอินเทอร์เซ็กซ์ช่วงหลังปี 2000 เหตุการณ์หนึ่งที่จุดประกายความสนใจของสังคมคือ คดีสะเทือนขวัญที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ในปี 2010 Kathleen Worrall ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมน้องสาวตัวเองที่เปลี่ยนรหัส Wi-Fi ที่บ้านแล้วไม่ได้บอกให้ทราบ ข่าวหลายสำนักรายงานว่าแคทลีนมีความผิดปกติทางอารมณ์ ของขึ้นง่าย เพราะหยุดกินยาที่หมอสั่งเพื่อรักษาอาการ congenital adrenal hyperplasia (CAH) ซึ่งอาการ CAH นี้เป็นองค์ประกอบสำคัญ 1 ใน 5 ที่ส่งสัญญาณว่าแคทลีนอาจจะเป็นอินเทอร์เซ็กซ์ คดีนี้เป็นที่สนใจของสังคม นักข่าวกรูกันไปสัมภาษณ์ขอความเห็นทางการแพทย์ แต่กลับละเลยความเป็นไปได้เรื่องฮอร์โมนที่มีผลต่อพฤติกรรมความรุนแรงในอินเทอร์เซ็กซ์ นักกิจกรรมด้านอินเทอร์เซ็กซ์ที่พยายามตั้งข้อสังเกตก็รอเก้อหน้าแห้งกันไป
กรณีของแคทลีนเปิดประเด็นถกเถียงเรื่องภาพแทนของอินเทอร์เซ็กซ์ในสื่อสังคม โซเชียล ตลอดจนวรรณกรรม ว่ามีน้อยเหลือเกิน และที่มีอยู่ก็แสดงภาพอินเทอร์เซ็กซ์ผิดเพี้ยนไปหมด แถมยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันอีก วาทกรรมทางการแพทย์กำหนดจินตนาการความนึกคิดของสังคมที่มีต่ออินเทอร์เซ็กซ์ นักกิจกรรมและสมาคมเกี่ยวกับอินเทอร์เซ็กซ์ร่วมกันรณรงค์ว่าการตื่นรู้ (intellectuality) เรื่องนี้ไม่ควรเกิดจากช่องทางเดียว และเชื้อเชิญให้อินเทอร์เซ็กซ์ออกมาเล่าประสบการณ์ตรง เป็นการเล่าเรื่องคู่ขนานไปกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ แล้วคอยดูว่าสองอย่างมีจุดตัดกันตรงไหนและยังไง ซึ่งจุดตัดที่ว่าถือเป็นการสร้างการตื่นรู้เรื่องอินเทอร์เซ็กซ์ที่แท้จริง ผสานความจริงจากเนื้อตัวและร่างกายเข้ากับความจริงทางวิทยาศาสตร์
อินเทอร์เซ็กซ์ในวรรณกรรม ซีรีส์ และภาพยนตร์
การตื่นรู้ผ่านประสบการณ์ตรงของอินเทอร์เซ็กซ์ผลักดันการศึกษาภาพแทนอินเทอร์เซ็กซ์ในงานวรรณกรรมและสื่อต่างๆ ที่ผลิตขึ้นหลังปี 2000 เมื่ออินเทอร์เซ็กซ์กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น นิยาย Annabel ของ Kathleen Winter นักเขียนสัญชาติแคนาดา ตีพิมพ์ในปี 2010 และนิยาย Middlesex ของ Jeffrey Eugenides ผู้แต่งใช้เวลาหาข้อมูลถึง 9 ปีกว่าจะแต่งนิยายเรื่องนี้จนจบและเผยแพร่ในปี 2002 จนได้รับรางวัลพูลิตเซอร์
อินเทอร์เซ็กซ์ตอบรับนิยาย 2 เล่มนี้ค่อนข้างดี เพราะที่ผ่านมาอินเทอร์เซ็กซ์เป็นเหมือนเมืองลับแล แล้วอยู่ดีๆ นักเขียน 2 คนนี้ก็นำแว่นขยายมาส่องให้คนอื่นๆ เห็นอินเทอร์เซ็กซ์ปรากฏอยู่บนแผนที่ แต่ก็มีท้วงบ้างเล็กน้อยว่าผู้แต่งสร้างตัวละครเอกอินเทอร์เซ็กซ์ให้เกิดและเติบโตช่วงปี 1960 เหมือนละครพีเรียดที่ย้อนเวลากลับไป 50-60 ปี ถึงแม้ข้อมูลเกี่ยวกับบริบททางสังคมในสมัยนั้นจะเป๊ะจริง แต่ภาพจำที่เกิดขึ้นไม่ช่วยให้อินเทอร์เซ็กซ์ก้าวข้ามมาถึงบริบทสังคมในปัจจุบันเท่าไหร่
ซีรีส์อเมริกัน 2 เรื่องที่แตะประเด็นนี้คือ House และ Grey’s Anatomy ตอนที่ออกฉายในปี 2006 ซีรีส์ทั้งสองเรื่องถูกจัดเป็น medical drama ทั้งคู่ สุดท้ายแล้วอินเทอร์เซ็กซ์ก็ยึดโยงอยู่กับแวดวงวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างหลีกหนีไม่พ้น ซีรีส์ทั้งสองพยายามเสนอว่าอินเทอร์เซ็กซ์ควรมีสิทธิเหนือเรือนกายของตนเอง การผ่าตัดรักษาไม่ควรทำตั้งแต่แรกเกิด และการตัดสินใจไม่ควรตกเป็นของหมอหรือพ่อแม่ สิ่งที่พ่อแม่ของอินเทอร์เซ็กซ์สามารถทำได้คือเลี้ยงดูจนลูกมีวุฒิภาวะ สามารถตัดสินใจเองได้ว่าต้องการทำยังไงกับร่างกายของตน
ในซีรีส์ Grey’s Anatomy ตอน Begin the Begin (S2E13) แพทย์ฝึกหัดชื่อจอร์จต้องคอยดูแลคนไข้ที่เขาค้นพบภายหลังว่าเป็นอินเทอร์เซ็กซ์ พ่อแม่ต่างยืนยันว่าลูกเป็นผู้หญิง จะให้ผ่าตัดให้ได้ แต่จอร์จรู้สึกว่าการทำแบบนั้นไม่ยุติธรรม คนไข้ของเขาควรรับทราบข้อมูลครบถ้วนก่อนการรักษา จะบอกพ่อแม่อย่างนี้ก็กลัวล้ำเส้นแพทย์เจ้าของเคสและก้าวก่ายการตัดสินใจของครอบครัวคนไข้ แต่เขาก็ตัดสินใจบอกไป ในตอนแรกคนไข้ของจอร์จงงเพราะไม่เคยรู้มาก่อน คิดว่าตัวเองเป็นเด็กผู้หญิงที่แปลกประหลาด โดนเพื่อนล้อเพราะไม่มีหน้าอก จนต้องแอบไปกินฮอร์โมน เมื่อความจริงเปิดเผย ตัวละครอินเทอร์เซ็กซ์ถามทุกคนว่า “นี่หมายความว่าฉันจะเป็นเด็กผู้ชายก็ได้งั้นเหรอ?” แล้วก็ยิ้มพร้อมพูดว่า “Yes!” แสดงว่าสิ่งที่พ่อแม่คิดกับสิ่งที่ลูกอยากเป็นอาจจะไม่ตรงกันก็ได้ พ่อแม่ของอินเทอร์เซ็กซ์ไม่ควรไปลิดรอนโอกาสในชีวิต
ทว่าปัญหาของซีรีส์คือยังไงอินเทอร์เซ็กซ์ก็ต้องเลือกระหว่างชายหรือหญิง ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง จะอยู่ในภาวะก้ำกึ่งโดยไม่รับการผ่าตัดไม่ได้
ทางฝั่งลาตินอเมริกาก็ปล่อยเรื่องราวเกี่ยวกับอินเทอร์เซ็กซ์ที่น่าสนใจออกมาเช่นกัน เป็นหนังเรื่อง XXY ของผู้กำกับ Lucía Puenzo เรื่องนี้เคยมาฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ และได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วย
XXY ถ่ายทอดเรื่องราวของอินเทอร์เซ็กซ์วัยรุ่นอายุราว 15 ปี ชื่อ อเล็กซ์ ตอนเกิดพ่อแม่ตัดสินใจว่ายังไม่ให้อเล็กซ์รับการผ่าตัด แล้วพากันอพยพย้ายถิ่นฐานจากอาร์เจนตินาไปอยู่ที่บ้านชายทะเลห่างจากผู้คนในประเทศอุรุกวัย เพื่อปกป้องอเล็กซ์จากการถูกกลั่นแกล้ง ล้อเลียน ชีวิตเงียบสงบไปสักพักจนอเล็กซ์เข้าสู่วัยรุ่น แม่ก็เริ่มกังวลว่าจะยังไงต่อ จึงชวนเพื่อนเก่าที่เป็นศัลยแพทย์ฝีมือดีมาเที่ยวบ้านเพื่อขอคำปรึกษาและคงคิดเลยไปถึงเรื่องผ่าตัดด้วย คุณหมอมาพร้อมกับภรรยาและลูกชายชื่อ อัลบาโร ที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกับอเล็กซ์
จุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการใช้วิทยาศาสตร์แย้งกับวิทยาศาสตร์ พ่อของอเล็กซ์ชื่อคราเคน เป็นคู่ปรับกับหมอศัลยกรรม พอรู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการมาเยี่ยมก็รู้สึกไม่ชอบหน้าสักเท่าไหร่ อเล็กซ์ชวนอัลบาโรคุยว่างานของพ่อพวกเขาคล้ายๆ กัน พ่อของอัลบาโรผ่าตัดคน แต่พ่อของตัวเองผ่าตัดสัตว์ทะเล คราเคนหมกมุ่นอ่านหนังสือและศึกษาเรื่องเต่าทะเลเป็นพิเศษ นอกจากนี้ก็มีปลาการ์ตูนมาเข้าฉากบ้าง สัตว์ทะเลสองประเภทนี้มีความสำคัญกับหนังเพราะสามารถเปลี่ยนเพศได้โดยสิ่งแวดล้อมเป็นผู้กำหนด อย่างปลาการ์ตูนระยะแรกจะไม่รู้ว่าเป็นเพศใด จนโตเต็มวัยจึงสามารถแยกได้ และเมื่อตัวเมียตายไป ตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงที่สุดจะเริ่มเปลี่ยนเป็นเพศเมียแทนที่
ส่วนเพศของเต่าทะเลนั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิความร้อน (temperature-dependent sex determination หรือ TSD) ถ้าไข่ถูกฟักอยู่ในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 27.7 องศาเซลเซียส เต่าก็จะออกมาเป็นเพศผู้ แต่ถ้าถูกฟักอยู่ในอุณภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส เต่าจะออกมาเป็นเพศเมีย ถ้าไข่ถูกฟักอยู่ในอุณหภูมิขึ้น-ลงระหว่าง 27.7 กับ 31 องศาเซลเซียส เต่าที่เกิดมาจะเป็นส่วนผสมระหว่างเพศผู้และเพศเมีย เขาถึงได้บอกว่าต่อไปภาวะโลกร้อนจะส่งผลต่อระบบนิเวศ ทำให้เต่าทะเลที่เกิดมาเป็นเพศเมียทั้งหมด ความลื่นไหลทางเพศของสัตว์ทะเลเหล่านี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับพ่อของอเล็กซ์ โดยมันช่วยเปิดโลก เปลี่ยนมุมมอง
ย้อนกลับมาที่หนัง XXY หมอศัลยกรรมพ่อของอัลบาโรเชื่อว่า ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียวด้วยวิธีทางการแพทย์ เขาอยากผ่าตัดแปลงเพศอเล็กซ์เพราะคิดว่าเป็นเคสที่ท้าทายความสามารถ ในขณะที่คราเคนพยายามใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เข้าใจความเป็นไปได้ของสรรพสิ่งในโลก ว่าไม่ได้มีข้อเท็จจริงเพียงหนึ่งเดียว และอเล็กซ์ไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง
ในตอนจบของเรื่อง อเล็กซ์รู้สึกมีอำนาจเหนือเรือนกายของตนเหมือนคนไข้ในซีรีส์ Grey’s Anatomy แต่ความต่างคืออเล็กซ์ไม่ได้เลือกระหว่างของเพียง 2 สิ่ง แต่ตัดสินใจให้เพศสภาพค้างคาอยู่ตรงกลางแบบนั้น พ่อและแม่ก็เคารพเชื่อมั่นในทางเลือกของอเล็กซ์เช่นกัน
นอกจากการใช้สัญลักษณ์แล้ว ผู้กำกับยังสร้างสถานการณ์ผกผัน (situational irony) เพื่อล้อเล่นกับความคาดหวังเรื่องบทบาททางเพศด้วย หลังจากครอบครัวของศัลยแพทย์เดินทางมาถึงอุรุกวัย อเล็กซ์แสดงออกอย่างเปิดเผยว่าสนใจอัลบาโร เดินหน้าจีบ อยากได้ทั้งความรักและความใคร่ อเล็กซ์ซื้อสร้อยที่ทำมาจากกระดองเต่าให้อัลบาโรเป็นที่ระลึก ออกแนวรักโรแมนติก พออีกฉากหนึ่งอเล็กซ์เดินมาชวนเขาไปมีเพศสัมพันธ์กันเพราะเห็นอัลบาโรแอบช่วยตัวเอง ตอนแรกอัลบาโรมองว่าอเล็กซ์แปลก ตีตัวออกห่าง ไม่ยุ่งด้วย แต่ตอนหลังเริ่มชอบ สองคนแอบไปมีเพศสัมพันธ์กัน อเล็กซ์ที่กายภาพภายนอกเป็นผู้หญิงกลับอยาก ‘รุก’ อัลบาโร เขาไม่ได้ขัดขืน แถมแสดงออกว่าชื่นชอบเสียด้วย อัลบาโรพิจารณาว่าตนเองอาจเป็นเกย์ เป็นความย้อนแย้งระหว่างสิ่งที่เห็นภายนอกและความต้องการภายใน จะว่าไปผู้กำกับก็ใส่เบาะแสพอให้ผู้ชมเดาได้จากพฤติกรรมเดินหน้าจีบไม่กลัวเกรงของอเล็กซ์และความเขินอายของอัลบาโรว่าเรื่องจะคลายปมออกมาประมาณนี้
ผู้กำกับ ลูเซีย พูเอนโซ สอดแทรกสาระเกี่ยวกับอินเทอร์เซ็กซ์ไว้ในหนังเรื่องนี้เยอะเหมือนกัน อย่างตอนต้นเรื่องอเล็กซ์ไปชกต่อยกับเพื่อนผู้ชายที่ตัวเองไว้ใจจนยอมบอกความลับว่าเป็นอินเทอร์เซ็กซ์ คนดูเห็นว่าสาเหตุที่อเล็กซ์โกรธไม่ใช่แค่รู้สึกว่าเพื่อนทรยศ แต่เป็นเพราะอเล็กซ์หยุดกินยาตามหมอสั่งด้วย ทำให้ฮอร์โมนเพศชายพลุ่งพล่านพร้อมบวกทุกสถานการณ์ ชวนให้ย้อนกลับไปทบทวนแรงจูงใจกรณีของแคทลีน วอร์รัลล์ ก่อนหน้า ที่หยิบยกมาไม่ใช่จะแก้ต่างว่าแคทลีนไม่ผิด แค่ต้องการจะเสนอว่ายังมีความจริงเกี่ยวกับอินเทอร์เซ็กซ์อีกหลายมิติที่ถูกละเลย เหล่านี้เป็นสิ่งประกอบสร้างความเข้าใจของสังคมต่อตัวตนอินเทอร์เซ็กซ์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เรื่องราวของอินเทอร์เซ็กซ์ที่กล่าวมาทั้งหมดเล่าผ่านมุมมองของอเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา และออสเตรเลีย ตอนนี้ที่อยากเห็นคืออินเทอร์เซ็กซ์ในบริบทสังคมเอเชีย แม้กระทั่งในประเทศไทย
อาจจะมาช้า แต่มาแน่