สิทธิศิริ มงคลศิริ : ในวันที่ ‘แสงกระสือ’ เข้าฉาย และเป็นหนังที่ใครๆ ต่างเชียร์ให้ไปดู

Highlights

  • 'แสงกระสือ' คือหนังที่กำกับโดย โดม–สิทธิศิริ มงคลสิริ ที่วันดีคืนดีก็มีกระแสปากต่อปาก หนังถูกทั้งชื่นชม และเขียนถึง ที่น่าสนใจคือ หนังทำรายได้ในต่างจังหวัดรวมกันมากกว่ากรุงเทพฯ และเชียงใหม่
  • คำถามสำคัญคือ อะไรคือแนวคิดที่ซุกซ่อนอยู่ในบางฉากบางตอน และมุมมองของคนทำหนังเป็นอย่างไร จึงส่งผลให้ แสงกระสือ กลายเป็นหนังที่ใครๆ ต่างเชียร์ให้ไปดู

9 มีนาคม 2562 คือวันที่ ‘แสงกระสือ’ เข้าฉาย 

21 มีนาคม 2562 คือวันที่เรานัดคุยกับ โดม–สิทธิศิริ มงคลสิริ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้

เพราะเชื่อว่าระยะเวลาร่วมสองสัปดาห์น่าจะเพียงพอต่อการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนในหนังผ่านบทสัมภาษณ์ และเพราะสนใจปรากฏการณ์ที่ไม่เพียงแต่ผู้ชมและเพจหนังต่างชื่นชม แสงกระสือ เป็นเสียงเดียวกัน แต่ยังรวมถึงนักเขียน นักวิจารณ์ และนักวิชาการที่ต่างก็พากันออกมาถอดรหัสตีความนัยต่างๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในหนังเรื่องนี้ ก่อนจะกดปุ่มเริ่มต้นอัดเสียงในโทรศัพท์ เราจึงบอกโดมว่า “สปอยล์ได้เลยนะครับ”

เช่นกันกับคุณผู้อ่านที่กำลังจะเริ่มต้นอ่านบทสัมภาษณ์นี้ เราขอเตือนก่อนว่า เนื้อหาข้างล่างนี้จะเปิดเผยเรื่องราวบางส่วนที่ปรากฏในหนัง ใครที่ยังไม่ได้ดูและไม่อยากสูญเสียอรรถรสใดๆ ไป คงจะดีกว่าหากคุณจะกลับมาอ่านบทสัมภาษณ์นี้อีกครั้งหลังจากที่ได้ดูแสงกระสือแล้ว แต่สำหรับใครที่ดูไปแล้ว บทสนทนาต่อจากนี้จะเปิดเผยให้เห็นถึงมุมมองจากฝั่งคนทำหนัง ว่าอะไรคือแนวคิดที่ซุกซ่อนอยู่หลังฉากนี้หรือซีนนั้น จนส่งผลให้ แสงกระสือ กลายเป็นหนังที่ใครๆ ต่างพากันเชียร์ให้ไปดู

นับจากวันแรกที่หนังเข้า จนถึงวันที่เราได้คุยกับโดม แสงกระสือ ทำรายได้ทั่วประเทศไปแล้วกว่า 50 ล้านบาท แวบแรกที่ได้ยินจำนวนตัวเลขเราตื่นเต้นยินดี แต่โดมกลับบอกว่า ตัวเลขเท่านี้ยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนด้วยซ้ำ

“พอหนังได้ฉายในโรงน่ะ รายได้ที่ได้จะถูกหารสอง สมมติว่าหนังเรื่องหนึ่งทำเงินได้ 200 ล้าน เงินจะเข้าเราจริงๆ แค่ 100 ล้านนะ ส่วนอีกครึ่งจะเข้าโรงหนัง แบ่งกัน 50/50 อย่าง แสงกระสือ นี่ต้นทุนสูง ถ้ารวมค่าโปรโมตด้วยก็เกือบๆ 50 ล้าน เท่ากับว่ารายได้ตอนนี้ถ้าหารครึ่งก็จะยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน เพราะจุดคุ้มทุนจริงๆ ของหนังเรื่องนี้คือต้องแตะร้อยล้าน” 

แม้ว่าหนังอาจยังต้องเดินทางต่ออีกสักพักกว่าจะแตะจุดคุ้มทุน โดมก็บอกว่าปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจคือการที่หนังทำรายได้ในต่างจังหวัดรวมกันมากกว่ากรุงเทพฯ และเชียงใหม่

“ตอนทำเราไม่คิดเลยว่าจะเกิดปรากฏการณ์ที่คนดูเอาใจช่วยหนัง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เขาชอบและเชียร์ เราดีใจมากเลยนะ ส่วนหนึ่งคือเรารู้สึกว่าเคยดูถูกคนในต่างจังหวัดมาโดยตลอด เราจะคิดว่าภาษาหนังแบบนี้เขาจะทนดูกันได้ไหม แต่ปรากฏว่าไม่จริงว่ะ วันนี้รายได้ส่วนใหญ่ของหนังมาจากต่างจังหวัด กลายเป็นเราที่คิดผิด ถูกโซเชียลหลอก ถูกทุกอย่างหลอก เป็นเราเองที่ไปแบ่งแยกเขา

“เราพบว่าคนต่างจังหวัดเอนจอยกับหนังมากๆ คือเขาก็คงไม่สามารถเขียนถึงหนังได้เหมือนอาจารย์ประวิทย์ (ประวิทย์ แต่งอักษร–อาจารย์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์) หรือนิ้วกลมหรอก แต่เขาสนุกและซาบซึ้งไปกับมัน นี่เป็นฟีดแบ็กที่เราภาคภูมิใจมาก ทีมดีใจมากที่คนต่างจังหวัดไปดูกันและเขาปรบมือให้หนัง ร้องไห้ไปกับหนัง หรือบางฉากมีคนตะโกนว่า ‘ไอ้เหี้ย’ ซึ่งคนทำหนังต้องการแค่นี้แหละ เราว่าการทำหนังเป็นศิลปะที่คุณไม่ต้องตีความก็ได้นะ แค่ไปเอนจอยกับช่วงเวลาในโรงภาพยนตร์ ซื้อตั๋วแล้วหลบหนีไปอีกโลกหนึ่ง”

 

พูดได้ว่า แสงกระสือ ประสบความสำเร็จในการมอบประสบการณ์บันเทิงให้กับผู้ชมอย่างตรงไปตรงมา แต่ในขณะเดียวกัน อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันคือ การที่นักคิด นักเขียน และนักวิชาการเองต่างก็ออกมาตีความหนังกันอย่างเป็นจริงเป็นจัง โดมหัวเราะขณะสารภาพกับเราว่า บางฉากในหนังเขาเองก็ทำไปโดยไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดเป็นสัญญะอย่างที่นักวิจารณ์เขียนถึงกันแต่อย่างใด

“เราอ่านบทวิจารณ์ของใครหลายๆ คนก็เจอการตีความที่ไม่คาดคิดนะ เพียงแต่เราก็เข้าใจแหละว่าบางเรื่องน่ะคงอยู่ในตัวเราและมะเดี่ยว (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล–ผู้เขียนบท) ไปแล้ว อย่างประเด็นความรักความเกลียดชังน่ะอยู่ในตัวพวกเราอยู่แล้ว ไม่ได้คิดจะซ่อนประเด็นเหล่านี้ด้วยซ้ำ แค่ทำไปตามบท ทำไปตามตัวละครของเรา แต่เผอิญว่าพอหนังออกมาแล้วมีคนดูกลุ่มหนึ่งเขาเกิดจับได้ แล้วก็เขียนมันออกมาอย่างตั้งใจ แต่ละคนเสียเวลาเขียนอะไรยาวๆ ถึงหนังเราขนาดนี้เราก็ดีใจนะ

“หนังหลายๆ เรื่องเคยพูดถึงประเด็นการบูลลี่และการไม่ยอมรับความแตกต่าง เพียงแต่ แสงกระสือ อาจไปสุดทาง ตรงที่เราพูดถึงความแตกต่างในระดับของการกลายร่าง เป็นสัตว์ประหลาดที่จับต้องได้จริงๆ ไม่ใช่ metaphor เราดีใจที่หนังเรื่องนี้กลายเป็นตัวแทนของการพูดถึงประเด็นใหญ่ๆ ไม่ใช่แค่หนังโรแมนติก

สำหรับเรา การที่มีคนดูกลุ่มหนึ่งเข้าใจหนังอย่างลึกซึ้งมันเลยเป็นจุดหนึ่งที่เรารู้สึกประสบความสำเร็จเล็กๆ แหละ” ผู้กำกับหนุ่มยิ้มกว้างระหว่างเล่า

อย่างที่ผู้กำกับโดมได้กล่าวไป แสงกระสือ ได้สร้างสัตว์ประหลาดให้เห็นกันชัดๆ เป็นตัวเป็นตน กระสือในเรื่องไม่ใช่เพียงดวงไฟสมมติ หรือจินตนาการหลอนในตอนค่ำ แต่เป็นหัวของมนุษย์ที่ลอยอยู่จริงๆ เพียงแต่จุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่หนังเลือกจะรื้อสร้างภาพจำเดิมๆ เปลี่ยนจากกระสือที่หน้าตาน่ากลัว ชอบกินขี้ และมีลำไส้โยงระยาง ให้กลายเป็นกระสือวัยขบเผาะ มีใบหน้างดงาม พร้อมเส้นแสงโปร่งใสยาวเป็นระยาง ที่ดูสะอาดสะอ้านกว่ารูปลักษณ์เดิมๆ ของกระสือเป็นไหนๆ

“เราตั้งโจทย์เลยว่าจะไม่มองกระสือแบบรังเกียจ เราบอกทีมงานตลอดว่าหนังเรื่องนี้เราจะเห็นใจกระสือนะ กระสือจะสวยงาม จะเป็น ugly & beauty สองคำนี้ทุกคนจะต้องเขียนใส่กระดาษ แล้วแปะไว้ข้างฝา ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราจะต้องไปให้ถึงจุดนี้ คือเราตั้งคำถามระหว่างความงามกับความน่าเกลียดที่ปะทะกันอยู่ มันเลยเกิดเป็นหนังอย่างที่เห็น หรือในดีไซน์เองที่ถึงแม้ว่าจะน่าเกลียด แต่ก็ต้องมีความสวยงามรวมอยู่ด้วย

“จริงๆ แล้วกระสือไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่ชัดเจน เพราะที่เห็นว่าเป็นไส้น่ะมาจากผลงานของอาจารย์ทวี วิษณุกร ท่านเป็นนักเขียนการ์ตูนในอดีต ในละคร หรือหนังทั้งหมดที่ทำมาใช้ภาพวาดของอาจารย์ทวีเป็นต้นแบบหมด แต่สำหรับเรา กระสือคือดวงไฟ หน้าคล้ายผู้หญิง ลอยไปลอยมา แต่ที่เห็นยังมีหัวใจอยู่เพราะเป็นจุดสำคัญของหนัง เป็นหัวใจที่ส่องแสง เพื่อให้กลับมาสู่เรื่องความรัก”

ไม่ใช่ความกลัว แต่เป็นความรักที่เป็นพลังขับเคลื่อนหนังเรื่องนี้ ผ่านโศกนาฏกรรมรักสามเส้าระหว่างสาย น้อย และเจิด ที่เด็กหนุ่มสาววัยแรกรุ่นหน้าตาดีกลุ่มนี้ได้ก้าวพ้นขวบวัยอันไร้เดียงสา ไปสู่ช่วงเวลาแห่งความหมกมุ่น ว้าวุ่น และคึกคะนอง 

“เราเลือกมองตัวตัวละครอย่างที่ควรจะเป็น เราไม่คิดว่าการที่เขาจะอยากมีผัวหรือมีแฟนเป็นเรื่องผิดนะ เพราะเรามองเป็นความงามของช่วงวัยมากกว่า ถ้าคุณอายุเท่านั้นแล้วคุณสวย แต่คุณกลับไม่ใช้ความสวยให้เป็นประโยชน์ เราคิดว่าโง่นะ คุณมีสิทธิที่จะรักใครก็ได้ มีสิทธิจะใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ แต่คุณก็ต้องไม่ปล่อยให้ความคิดเหล่านี้มาทำลายคุณในอนาคต สิทธิ ความสวย และความเปล่งปลั่งน่ะอยู่กับเราไม่นานหรอก คุณก็ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์สิ 

“มีคนดูบางคนที่เขาไม่เชื่อเหมือนกันนะว่าทำไมสายถึงไปชอบน้อยง่ายๆ แบบนั้น เราก็ไม่ได้จะไปเถียงเขานะ เพราะทุกคนก็สามารถคอมเมนต์ได้ว่ามันไปรักกันตอนไหนวะ แต่เราว่านี่แหละโคตรวัยรุ่นเลย เป็นอารมณ์ล้วนๆ เลย คือสายอาจคิดกับน้อยแค่ว่า เฮ้ย แม่งเป็นเด็กพระนครว่ะ แล้วแม่งก็หล่ออะ ไม่ใช่เด็กบ้านนอกเหมือนไอ้เจิด แล้วกูก็ชอบมึงเลย ชอบเพราะรูปลักษณ์ล้วนๆ ไม่มีอะไรลึกไปกว่านั้น”

ใบหน้าที่หล่อเหลาและแบ็กกราวนด์เด็กเมืองกรุงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งให้สายตกหลุมรักน้อย แต่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วเมื่อน้อยเกิดรู้ความลับว่าสายเป็นกระสือ

“น้อยเป็นเหมือนที่พึ่งเดียวของสาย แม้ว่าทีแรกเขาจะไม่เชื่อว่ากระสือมีจริง แต่พอเห็นกับตา น้อยก็เลือกที่จะไม่หนี และยังคงกลับมาหาสาย น้อยเป็นตัวแทนของการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับปีศาจ ผ่านการใช้วิธีแก้ปัญหาแบบวัยรุ่น โง่ๆ บื้อๆ นะ คือเอาไก่ไปให้กินทุกวัน เป็นการก้าวข้ามเส้นแบ่งไปเลย แต่ถามว่าสองคนนี้รักกันปานจะกลืนกินไหม เราไม่ได้ทำหนังที่จะให้ตัวละครต้องรักกันขนาดนั้น แม้กระทั่งฉากที่จูบกัน เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะรักกันขนาดนั้นนะ 

“เราว่าคนกำลังตีค่าความรักในระดับที่ไม่เท่ากันอยู่ อย่างมุมมองความรักของเราในตอนนี้ กับเราตอนที่เป็นวัยรุ่นก็ย่อมจะต่างกัน สมัยที่เราอายุเท่าตัวละครในเรื่อง ความรักก็ไม่ได้ว่าจะลึกซึ้งนะ เป็นอารมณ์ล้วนๆ แค่ว่าคนนั้นสวย คนนี้น่ารัก คุยสนุกจัง แค่อยู่ด้วยกันแล้วแฮปปี้ ที่เคยบอกว่ารักกันปานจะกลืนกินน่ะไม่จริงหรอก เพราะพอเราโตขึ้นมา ความรักก็เริ่มมีเหตุผลมากขึ้น เราเลยให้ตัวละครในหนังคิดแบบวัยรุ่น เป็นความรักแบบวัยรุ่น อย่างจูบของน้อยกับสายก็เป็นความคิดที่โง่ๆ มากเลยนะ จะเจ็บไม่เจ็บเพราะน้ำลายกระสือก็ช่างแม่งก่อน ค่อยไปคิดเอาข้างหน้า ตอนคุณอายุแค่ 14-15 คุณไม่คิดอะไรมากหรอก”

พ้นไปจากประเด็นความรักวัยรุ่น อีกจุดหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ท้าทายกับขนบความเชื่อแบบไทยๆ อยู่ไม่น้อย คือการเลือกจะลดบทบาทของศาสนาลง เพราะอย่างที่เราคุ้นเคยกันในหนังผีไทยหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ บทสวด และเครื่องรางของขลัง มักจะถูกให้ความสำคัญในฐานะพลังที่จะมากำราบผีร้าย ทว่า แสงกระสือ กลับฉีกตัวเองสู่อีกเส้นทางที่ต่างออกไป 

“เราไม่ได้จะให้หนังต่อต้านสังคมอะไรหรอก แต่ความคิดที่ว่า พอถึงจุดหนึ่งศาสนาก็ไม่ได้ช่วยอะไรขนาดนั้นมันอยู่ในสายเลือดคนรุ่นเรา หนังเรื่องนี้เลยไม่เลือกจะอยู่ข้างศาสนา อย่างวันที่เราเวิร์กช็อปนักแสดง เราถึงขนาดพูดกับนักแสดงที่เล่นเป็นพระว่า ‘การบวชตลอดสิบปีของพี่น่ะ พี่ไม่ได้เหี้ยอะไรเลยนะ’ เราบอกแค่นี้เขาเก็ตเลย เล่นได้เลย เพราะพระในหนังเรื่องนี้ถึงจะบวชมาเป็นสิบปีหรือท่องตำราธรรมะมาสักเท่าไหร่ แต่เขายังคงคิดถึงคนหนึ่งอยู่ตลอดเวลา เขาไม่เคยลืมเลย เราว่าไม่ใช่พระทุกรูปหรอกที่จะก้าวพ้นความรู้สึกในชีวิตได้ พระในเรื่องนี้เองก็พยายามจะข่มความรู้สึก จะก้าวผ่านอดีตให้ได้ เพียงเพื่อจะได้พบว่า เขาข้ามไปไม่พ้น”

เมื่อพูดถึงพระ ฉากสำคัญของหนังที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือไคลแมกซ์ ที่ตัวละครพระหยิบปืนลูกซองขึ้นมายิงทะลุอกผีกระหังจนร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน ไม่เพียงแค่ฉากนี้จะสร้างความตื่นตะลึงให้กับคนดูจนเรียกเสียงฮือฮาลั่นโรงเท่านั้น หากยังเป็นการตัดสินใจที่กล้าบ้าบิ่น แต่ก็น่าหวาดเสียวอยู่ไม่น้อย 

“ไม่กลัวว่าฉากนี้จะทำให้หนังไม่ผ่านกองเซนเซอร์เหรอ” เราถามไปตรงๆ 

“กลัวสิ แต่เราไปคุยกับกองเซนเซอร์แล้วว่าให้มองฉากนี้เป็นการปราบมาร เป็นความเชื่อ คือสำหรับคนไทย ถ้าเป็นการปราบมารน่ะยังโอเค แต่ถ้ายิงคนก็เป็นอีกเรื่อง พระในหนังจึงเป็นผู้มาช่วยชาวบ้านจากปีศาจร้าย พอพูดอย่างนี้สถาบันศาสนาเลยยังโอเคอยู่ เรายังมีพระสไนเปอร์คอยปกป้องอยู่ ซึ่งมันก็ย้อนแย้งกับความตั้งใจที่จะไม่เลือกอยู่ข้างศาสนาในหนังของเรานะ (หัวเราะ) ในมุมเรา ฉากที่พระยิงปืนมันเลยเวิร์ก เพราะคนดูเขาไม่เคยเห็นว่าจะมีพระสะบัดจีวรยิงปืนขนาดนี้มาก่อนเลย (หัวเราะ)”

แสงกระสือ ยังเป็นหนังที่ฉายภาพให้เห็นถึงความขัดแย้ง และการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันเองระหว่างประชาชนด้วยกัน ในยุคที่การเมืองของประเทศได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญในวงสนทนาของคนทุกๆ ช่วงวัย เราอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่า หนังเรื่องนี้ตั้งใจจะพูดถึงสภาวะของบ้านเมืองในปัจจุบันด้วยหรือเปล่า 

“เรามักจะตอบคำถามอยู่เสมอว่า เป็นเพราะเหตุการณ์ของประเทศในตอนนี้หรือเปล่าที่ทำให้หนังเรื่องนี้มีความเป็นการเมือง แต่เราจะบอกว่า ไม่ครับ เพราะเราทำเรื่องนี้มาสามปีแล้ว แต่จริงๆ ประเทศนี้ก็ติดหล่มมาสิบปีแล้วนะ (หัวเราะ) ระหว่างที่ทำเราไม่คิดถึงเรื่องการเมืองนะ แต่เราว่ามันอยู่ในตัวคนทำและคนเขียนบทโดยไม่รู้ตัว แล้วมันไม่ใช่แค่ปัจจุบันหรอก แต่เป็นทุกยุคทุกสมัย ที่ความขัดแย้งและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจะมีอยู่ในทุกระดับของสังคม

“เรากับมะเดี่ยวเชื่อเรื่องการต่อสู้ของคนตัวเล็กๆ คือขณะที่คนใหญ่ๆ เขาก็ตีกันไป แต่คนตัวเล็กๆ เขาก็มีความทุกข์อยู่ สายก็ทุกข์ที่ตัวเองเป็นกระสือ น้อยกับเจิดก็ทุกข์เพราะคนที่รักเป็นกระสือ หรือชาวบ้านในเรื่องก็ไม่รู้หรอกว่าที่พระนครกำลังมีสงครามอยู่ แต่พวกเขารู้ว่าควายในหมู่บ้านมันตาย เป็นความทุกข์ในสเกลเล็กๆ แต่เป็นความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่นะ เราเชื่อว่าในทุกสงครามจะมีสงครามเล็กๆ อยู่ ในชีวิตเรามันมีเรื่องที่เราต้องต่อสู้ด้วยตัวเอง เรื่องที่ไม่มีใครมาช่วย หรือรัฐเองเขาก็ไม่มาสนใจหรอก เป็นปัญหาที่เรียกว่าทุกข์ชาวบ้านน่ะ ซึ่งเราสนใจประเด็นเหล่านี้”

นับถึงวันที่เราคุยกัน แสงกระสือ ยังคงทำรายได้เรื่อยๆ แม้จะไม่หวือหวา หากแต่เป็นกราฟนิ่งๆ ที่บางวันรายได้ก็พุ่งขึ้นบ้าง หรือต่อให้วันที่รายได้ตก ก็ไม่ได้หล่นวูบจนน่าใจหาย แถมยังมีเสียงชื่นชมให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ และมีการแนะนำกันต่อในกลุ่มเพื่อนๆ ให้ได้เห็นอยู่ในโลกออนไลน์

“ในแง่ของกระแสตอบรับ คุณยังหวังจะให้ แสงกระสือ เดินทางไปได้ไกลกว่านี้ไหม” เรายิงคำถามสุดท้าย 

“ในแง่ฟีดแบ็คเราโอเคแล้วนะ อย่างน้อยมีคนเห็นข้อดี และพูดถึงข้อเสียในแบบที่เราจะอยากเอากลับมาปรับปรุงตัวเองได้ แค่นี้เราถือว่า success แล้ว แต่ถ้ามีสักเรื่องหนึ่งที่อยากจะให้หนังไปไกลกว่านี้คือเรื่องเงิน เพราะเราคิดว่าเงินสำคัญ การพูดว่าเงินไม่สำคัญน่ะผิด เพราะหนังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินเยอะ ใช้คนเยอะ และใช้เวลานาน การทำหนังที่ได้แต่คำชม ไม่ได้เงิน ไม่เมคเซนส์สำหรับเรา อาจมีคนถามว่า แล้วหนังอาร์ตล่ะ? แต่หนังอาร์ตขายได้นะครับ เพราะเขาขายทั้งโลก มันมีตลาดของมัน ขายไปขายมาเขาได้กำไรนะ เผลอๆ ขายได้ดีกว่าหนังสตูดิโอที่เราทำอยู่อีก

“แต่เมื่อทำหนังแล้วไม่ได้เงินมันเกิดอะไรขึ้น? เม็ดเงินก็จะถูกบีบให้เราทำหนังถูกลง เพราะการทำหนังแพงๆ น่ะเสี่ยง ต้นทุนหนังมันเลยต้องถูกลง พอต้นทุนหนังถูกลงมันเลยแยกเป็นสองทาง คือหนึ่งทำหนังถูกๆ เขียนบทให้ถูก กับสองทำหนังที่แพง แต่กดราคาทีมงานให้ถูก ปัญหาคือ คุณไม่อายกันเหรอวะ หนังออกไปคนได้เครดิตคือผู้กำกับ แต่ทีมงานอื่นๆ เขาไม่ได้อะไรเลยนะ ค่ายหนังได้เครดิตไป แต่คนตัวเล็กๆ เขาไม่ได้อะไรเลย ถามว่าเราควรจะให้เครดิตเขาไหม ก็ไม่นะครับ เพราะในโลกนี้ก็ไม่ใช่จะให้เครดิตกันขนาดนั้น เพียงแต่ทีมงานต้องได้เงินตอบแทนในระดับที่มันเมคเซนส์

ในขณะที่คุณรวยเอาๆ มีชื่อเสียงขึ้นทุกวัน แต่กับคนตัวเล็กๆ ที่เขาไม่ได้อย่างคุณ เราก็ยิ่งต้องจ่ายเงินที่สมเหตุสมผลเพื่อให้ชีวิตของเขาดีขึ้น เราเลยอยากให้หนังที่ตั้งใจทำ ในความหมายที่ว่า ทีมน่ะตั้งใจทำ ให้มันได้เงินบ้าง เพราะถ้าได้เงิน ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิด ผู้กำกับก็ได้เครดิต ทีมงานก็ได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย พอเราไปชวนเขาทำหนังเรื่องหน้าเขาก็จะอยากทำอีก อุตสาหกรรมภาพยนตร์บ้านเราไม่ได้ขาดคนเก่งนะ แต่ประเด็นคือเงิน เพราะถ้าไม่ได้เงิน สุดท้ายคนเก่งๆ เขาก็ท้อ ไม่ไหว กลายเป็นว่าคนมีความสามารถต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน เพราะเขาทำหนังไม่ได้ ทำแล้วไม่รอด เราว่านี่แหละคือปัญหา ก็เลยอยากให้ แสงกระสือ ได้เงินอีกสักนิด อย่างน้อยก็จะได้ไม่เจ็บตัว (หัวเราะ)”

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!